fbpx

“ตัวจริง ชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน” บทเรียน 22 ปีในชีวิตนักข่าวบันเทิงของบอย วันบันเทิง

พี่บอย-ธิติพร จุติมานนท์ อยากให้คนจำว่าเป็น “นักข่าว” มากกว่าบทบาทอื่นๆ ในวงการบันเทิง

ตำแหน่งปัจจุบันของพี่บอยคือ บรรณาธิการบริหารวันบันเทิง ภายใต้สำนักข่าว One News ของช่องวัน 31 แต่ถ้ามองย้อนไปแล้ว พี่บอยมีจุดเริ่มต้นในสายวิชาชีพข่าวและบันเทิงด้วยการเป็นผู้สื่อข่าวไอทีของสำนักข่าวไทย บมจ.อสมท ก่อนจะได้รับมอบหมายให้ทำข่าวบันเทิงในชื่อรายการ Nine Entertain ที่เบิกทางให้ข่าวบันเทิงเป็นข่าวบันเทิงจริงๆ รวมถึงการนำเสนอข่าวศิลปะ วัฒนธรรมปกิณกะเชิงลึกบนหน้าจอโทรทัศน์อย่างแพร่หลาย และการวิเคราะห์ข่าวบันเทิงที่เข้มข้นจนยกระดับข่าวบันเทิงไทยให้แตกต่างไปได้อีกขั้น

ยังไม่นับรวมถึงงานประกาศรางวัลเพดานใหม่เพื่อเชิดชูคนบันเทิงที่พร้อมทั้งหมดงาน และดีทั้งตัวตนในคอนเซปต์ “หน้าม่านคุณภาพ หลังม่านคุณธรรม” อย่าง Nine Entertain Awards นี่ก็มาจากพี่บอยเหมือนกัน

วันนี้พี่บอยยังคงทำข่าวในแบบที่เธอเชื่อ เพราะเธอคัดข่าวบันเทิงมานำเสนอด้วยวิธีคิด-วิเคราะห์อย่างที่เราคุ้นเคยบนหน้าจอวันบันเทิง รวมถึงการสรุปข่าวที่ทำให้เราฉุกคิด เห็นภาพ และถอดบทเรียนในแบบ “ชีวิตสอนชีวิต” ในสกุ๊ปเรื่องนี้ต้องถึงบอย รวมถึงการเป็นเบื้องหลังรายการข่าวปกติทั้งแซ่บทะลุจอ หรือข่าวแหกโค้ง

เหมือนที่เราพร่ำพูดเสมอ-การที่คนๆ หนึ่งยืนระยะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นช่วงเวลานานๆ ถ้าไม่ใช่จักรวาลจัดสรร ก็ต้องเป็นคนที่เชี่ยวชาญหรือเป็นตัวจริงในเรื่องนั้นๆ ถึงจะหยัดยืนในวงการนี้ได้อย่างสง่างาม ซึ่งเรื่องราวของบอยก็ไม่ต่างกัน

“ถ้าคุณคือตัวจริง คุณจะอยู่ในใจของผู้ชมตลอดเวลา” พี่บอยย้ำอย่างนั้น

และตลอดการคุยกันกว่าสองชั่วโมง ประสบการณ์ของพี่บอยสามารถถอดออกมาเป็นบทเรียนการทำงานวงการสื่อได้หลากหลายมิติ ซึ่งเราเชื่อว่าใครที่อยากยืนหยัดหรือชิมลางทำงานในวงการนี้

เรื่องราวของพี่บอยจะเป็นคำตอบ

บทเรียนที่ 1
เห็นเป้าหมายให้ชัดเจน

“พี่เป็นคนที่ชัดเจนตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม ว่าอยากทำงานในวงการสื่อ เด็กๆ ดูลุงสุทธิชัย (หยุ่น) พูด แล้วก็ดู อ.สมเกียรติ (อ่อนวิมล) แล้วก็คิดว่าทำไมกูต้องมาดูมึงพูดปัญหาสังคมการเมือง ตอนเด็กๆ โตมากับสนทนาปัญหาบ้านเมือง แล้วก็ชอบดูข่าวทีวี ดูจักรพันธุ์ ยมจินดา ดูสิทธิชาติ บุญมานนท์ เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แล้วก็คิดได้ว่า เออเว้ย ถ้าจะเป็นแบบนี้ต้องเรียนนิเทศ ก็แค่นั้นเอง 

“แล้วโจทย์ของชีวิตพี่ก็คือ แม่ขอร้องว่าให้อยู่เชียงใหม่ พี่สอบ มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ไม่ได้ พี่ก็เลยเรียน ม.พายัพ ที่ใกล้บ้าน เรียนเอกชนนี่แหละ แม่ให้เรียน โจทย์แค่อยากเรียนนิเทศฯ และอยากอยู่เชียงใหม่ ไม่อยากไปไหนเลยเพราะเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความสุข ได้ท่องเที่ยว ไปเที่ยวทุกดอย ชีวิตคือมันมีความสุข รถไม่ติด อากาศดี พอจบป.ตรี สอบเสร็จวันนี้ วันรุ่งขึ้นไปทำงานเลย มีคนมาชวนไปทำงานเลย ทำงานที่ Pinn Magazine เทอมสุดท้ายของปีสี่ เขาก็มาล็อกตัวเลย

“หลังจากนั้นก็ไปสอบเข้าปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ แล้วก็สอบได้คะแนนอันดับหนึ่งเลย เพราะตอนสัมภาษณ์ อาจารย์บอกว่า “เธอได้คะแนนอันดับหนึ่งนะ” “เธอเก่งจังเลย เธอทำข้อสอบได้หมดเลย” พอวันที่สอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ อสมท. ก็ตามมาทำงานเหมือนกัน เขาบอกว่า “ฉันบอกเธอแล้วไงถ้าอยากได้งานให้มาเลย” เพราะพี่ฝึกงานกับ อสมท. พอฝึกจบวันสุดท้ายเขาก็บอกว่าเรียนจบแล้วให้มาสมัครงานที่แผนกวิทยุเลย”

บทเรียนที่ 2
อะไรที่น่าเชื่อถือ มันดี

“ด้วยความที่เติบโตมากับงานในในองค์กรที่มันเป็นทางการ มันเป็นสื่อของประเทศ เป็นสื่อที่ โอ้โห มีความน่าเชื่อถือ เพราะถ้าประเทศจีนมี CCTV ญี่ปุ่นมี NHK เกาหลีใต้มี KBS ถูกมั้ยคะ ประเทศไทยคือ MCOT นี่คือสื่อที่เป็นทางการของประเทศนั้น เพราะงั้นมันถึงชื่อองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย 

“ข่าวที่พี่ทำใน Day One ที่เราเลือกตรงข่าวบันเทิง เราก็ ก็มี Gossip แต่ว่า ก็จะเป็น Gossip แบบน่าเชื่อถือ เพราะงั้น พี่ก็เลยเติบโตมากับคอนเซ็ปต์ชีวิตพี่ว่า อะไรที่มันน่าเชื่อถือ มันดี เพราะงั้นความน่าเชื่อถือมันคืออะไร มันคือ การเช็กแล้ว ตรวจสอบแล้ว พี่ถูกสอนมาแม้กระทั่งชื่อดาราต้องพิมพ์ถูก สมมติว่าดาราชื่อ ‘เกม’ มี  ‘ส’ ไม่มี ‘ส’ สะกดยังไง คำว่า ‘เฟิร์ส’ สะกดภาษาไทยยังไง มันเติบโตมากับการเช็คแล้วเช็คอีก นั่นคือสิ่งดีที่ติดตัวพี่มา

“ตั้งแต่ทำข่าวบันเทิงตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ สิ่งที่มันไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือคนเลือกเสพตัวจริง คำว่าตัวจริงของพี่คือ ทำงานให้มันเป็นตัวจริงให้ได้ และพี่เชื่อว่าที่ผ่านมา พี่ไม่ได้พูดว่าพี่เป็นตัวจริง แต่พี่มั่นใจว่าสิ่งที่พี่ทำ คือสิ่งที่คนเราดู มันถึงเกิด”

บทเรียนที่ 3
อย่าเกี่ยงงอนโอกาสที่เข้ามา

“พี่เข้ามาที่ อสมท. พี่ได้ทำข่าวไอทีที่โต๊ะข่าวสังคม ซึ่งพี่เป็นคนไม่ปฏิเสธงานนะ หรือตอนที่ผู้ใหญ่บอกว่า ‘เดี๋ยวบอยจะไปเป็นนักข่าวบันเทิงนะ’ ก็แค่ถามว่า ‘หนูต้องทำอะไรพี่’ ก็คือปรับตัว 

“ตั้งแต่เด็กจนโตสิ่งนึงที่พี่ทำมาเสมอก็คือ พี่ไม่ปล่อยโอกาสเลย รู้มั้ยว่าพี่มาจัดรายการวิทยุ ที่คลื่น FM100.5 (คลื่นความคิด) ได้เพราะอะไร คือวันนั้นนักจัดรายการติดปัญหา แล้วมันเป็นรายการคู่ พี่อีกคนเขามาบอกว่า ‘น้อง ขึ้นมาช่วยพี่หน่อย เพราะว่าอีกคนเขาไม่มา’ ก็บอกพี่เค้าไปว่า ‘หนูทำไม่เป็น’ ‘มึงคุยได้เชื่อเหอะมาเถอะ เดี๋ยวมึงเออออไปกับกู’ ก็เออออๆ ไป จากนั้นมามีคนลาออกไป พี่ก็เลยยาวเลย ช่วงนั้นพี่มาทำงานตั้งแต่ 9 โมง ถึง 5 ทุ่มทุกวัน อยู่ในตึกตลอดเป็น 10 ปี ตอนนั้นพี่มีความสุข สิ่งเดียวที่พี่คิดอย่างเดียวคือ ใช้ทุกโอกาสที่มีเวลามีคนบอก ‘เฮ้ยบอย ไปนี้สิ’ ‘ได้พี่ แต่พี่ต้องบอกหนูนะว่าทำยังไง’

“วิธี Success ในชีวิตพี่คือ ไม่ทิ้งโอกาส สำคัญที่สุด เพราะโอกาสหาไม่ได้ อยากได้ ถ้ามันไม่มีก็ไม่มี แต่เวลามันมา อย่าทิ้งโอกาส คนที่เขาให้พี่จากข้างหลังมานั่งหน้าจอโต๊ะข่าวบันเทิงคือ คุณสุทธิชัย ตอนเนชั่นกับช่อง 9 ร่วมกันทำรายการเช้าข่าวข้น คนข่าวเช้า คอนเซปต์ของคุณสุทธิชัยคือ ทำไมเราไม่เอาตัวจริงมาเล่า เขาก็เอานักข่าวบันเทิงมาแคสต์หน้ากล้อง จนได้รับเลือก แต่เราก็บอกผู้ใหญ่ว่า ‘พี่ ผมไม่มั่นใจเลย ผมไม่สนุก ผมเล่าไม่เป็นเลย’ คุณสุทธิชัยบอก ‘เชื่อผม คุณทำได้ คุณทำเลย คุณเล่าในสิ่งที่คุณรู้’ นั้นคือจุดเริ่มต้น เพราะพี่จะบอกตัวเองตลอดว่า ‘กูอ้วน กูไม่สวย กูไม่หล่อ กูผิวดำ กูหน้าเป็นสิว’ แต่คุณสุทธิชัยบอกว่า “ผู้ประกาศข่าวช่องใหญ่ๆ ในต่างประเทศบางคนไม่ได้สวย ไม่ได้เป็นดารา ไม่ได้หล่อ ทำไมคนอยากดูเขา เพราะเมื่อไหร่ที่คนดูข้ามภาพลักษณ์ไปได้ คุณจะอยู่ในใจเข้าตลอดเวลา ถ้าคุณคือตัวจริง นั้นคือจุดเริ่มต้นของพี่ เออว่ะ งั้นเราไม่ต้องแคร์ นั่นคือกำลังใจของพี่ พี่รู้สึกว่า ถ้าเกิดสมมุติคนอยากดูกู อยากดูกูไม่ใช่เพราะกูหล่อ แปลว่าอะไร แปลว่า Life Cycle ในวงการของเราจะยาว แต่ถ้าเกิดคนอยากดูกูเพราะหล่อ แปลว่าวันไหนกูเหี่ยว เขาก็ไม่ดูกูนะ”

บทเรียนที่ 4
เธอต้องเข้าใจหัวใจของคนดูนะ

“ในยุคนั้นไม่มียุคไหนที่มีข่าวบันเทิงต่างประเทศเลย พี่มิ่ง (มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์-อดีตผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย) น่าจะเป็นคนแรกๆ ในประเทศไทยที่ซื้อข่าวบันเทิงต่างประเทศจากหลายสำนักข่าว ทั้ง AP, Reuters, AFP แล้วมีพื้นที่ข่าวบันเทิงที่เยอะ เพราะสมัยนั้นบางช่องเน้นละครตัวเอง บางช่องเน้นข่าวกอสซิป ซึ่งช่องเก้าในยุคนั้นจึงเป็นยุคที่มองว่าแตกต่่าง แล้วก็หา Key Success ซึ่งคุณมิ่งจับทางถูกว่า มันไม่มีใครในยุคนั้นที่จะมีข่าวบันเทิงต่างประเทศ ก็ทำตรงนี้ ในยุคที่คุณไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 

“พี่มิ่งก็จะสอนว่า ‘บอยลองหามาสิว่าหัวใจของคนดูอยากรู้อะไร’ จึงเกิด Nine Entertain ขึ้นมา หนึ่ง-ในวันที่เขาไม่มีข่าวต่างประเทศ เราทำ สอง-ในวันที่ช่องอื่นๆ ทำเรื่องบันเทิงของตัวเอง แต่ถ้าคุณดูช่องเก้า คุณได้ดูทุกเรื่องทุกช่อง ทุกคนนะ และสุดท้าย Nine Entertain เป็นสื่อที่พูดถึงข่าวบันเทิงใน 20-30 เปอร์เซ็นต์ในสัดส่วนแอร์ไทม์ ในหนึ่งรายการของ Nine Entertain มันเลยจะถูกแบ่งออกเป็นเรื่องกอสซิป 20 เปอร์เซนต์ ข่าวต่างประเทศ 20 เปอร์เซนต์ ความเคลื่อนไหวในวงการบันเทิงกับผลงานดาราอีก 20 ก็เป็น 60 แล้วนะ และอีก 40 สุดท้ายมันจะไปพูดเรื่อง Business Business คืออะไร เช่น ‘สหมงคลฟิลม์ไปลงทุน เอาจาพนมไปฮอลลีวู้ด’ ดาราจะต้องไปออสการ์ จะต้องไปปูซานฟิล์ม ไปโตเกียวฟิล์ม เพราะอะไร ไปเพื่อที่จะไปดูว่าอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทยมันพูดเรื่องอะไรกัน เพราะคู่แข่งมันน้อย เงินยังมี ตลาดมันสี่ช่อง พี่ถูกส่งไปทั่วโลก เพื่อจะไปเห็นว่า ‘อู้หู มึง ดาราไทยแม่งเก่งเนอะ’ จาพนมแม่งเดินพรมแดงเข้าไปในคานส์ สมัยนั้นไม่มีนะคะ นี่ต้องไปทำ”

บทเรียนที่ 5
การทำข่าวต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง

Nine Entertain มันเกิดโตมาจากการหากลุ่มฐานคนดูเจอ หาตัวตนเจอ หาจุดแข็งเจอ แล้วก็ใช้ศักยภาพในการทำงาน เพราะมันเติบโตมาในความต่าง ซึ่งในยุคนั้นมันก็ได้แหละ เพราะคู่แข่งมันน้อย ในขณะเดียวกัน พี่เองก็โตมาด้วย Concept ที่มันแข็งแรง ถูกสอนมาด้วยคนที่มองธุรกิจขาด มันก็ทำให้พี่เรียนรู้อะไรได้ค่อนข้างได้ดี 

“กลับมาปัจจุบันอะ เราเลยเป็นนักข่าวบันเทิงที่ ถ้าจะทำกอสซิปก็ทำไป แต่พี่บอกน้องในทีมทุกคน ไม่ได้แปลว่าพี่แอนตี้กอสซิปนะ แต่พี่ก็ถามว่าจะทำยังไงให้ข่าวเม้าท์เป็นข่าวจริงอะ คือถ้ามึงเอาเรื่องจริงมาเม้าท์ ไม่เรียกว่ากอสซิป แต่ถ้าแบบว่า ‘ฉันเห็นนางเอกคนนึงตัวย่อ ค. เดินขึ้นคอนโดไปกับผู้ชายตอนสี่ทุ่ม’ อันนี้กอสซิปนะ ซึ่งพี่จะบอกน้องทุกคนว่า ไม่มีประโยชน์ พี่ไม่ให้น้องเอาตัวย่อออกเลยเพราะไม่มีประโยชน์ ถึงมึงเอาตัวย่อออก มึงได้วันละร้อยคนอะ นั่งเทียนเขียนก็ได้ แต่ถ้ามันมีมูลจริง ไปหาข้อมูลมา และถ้าข้อมูลมันจริงคุณค่อยพูด ต่อให้เขาไปนั่งคร่อมกันอยู่บนเตียง คุณเห็นด้วยตา แต่คุณไม่มีภาพ มึงเอามาออกเขียนข่าว ถ้าเขาฟ้องมึง เขาชนะ เพราะไม่มีหลักฐาน เพราะงั้น เราต้องทำข่าวบนพื้นฐานของความถูกต้องของข้อมูล มีหลายครั้งที่พี่เห็น พี่ไปเมืองนอกพี่ก็เห็นว่า อ่าว อีดาราคนนี้ มึงมึงมีเมียแล้วนี่ ทำไมมึงมาเดินควงกับอีนี่ละ คนก็จะถามว่าเราเอาเรื่องนี้มาพูดไหม พูดไปเขาก็ไม่ยอมรับ เพราะกูไม่ได้ถ่ายภาพมึง 

“พี่มีความรู้สึกว่า ชั้นเชิง ประสบการณ์ในการทำข่าวบันเทิงมานานของพี่ มันก็มองอะไรทะลุ พี่ไม่ได้บอกว่าพี่ถูกหรือผิดนะ เออ เราก็มองทะลุว่ามันจะยังไง”

บทเรียนที่ 6
เป็นผู้บริหารองค์กรต้องแตกต่าง

“ตอนที่พี่เป็นหัวหน้าองค์กร ขับเคลื่อน 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือ ให้คนทำงานอย่างมีความสุข อันนี้สำคัญที่สุด กับอีกเรื่องที่สำคัญเลยก็คือ เราจะโต แต่เราจะโตด้วยอะไร เราจะโตไปทางไหน วันนึง Nine Entertain มันก็เป็นแผนก ในยุคที่ทีวีมี 4 ช่อง Nine Entertain ก็เคยทำงานโฆษณาทีวี ได้ปีหนึ่งแตะ 400 ล้าน จาก 30 เล็กๆ ปีแรก มาถึงปีที่ 5 ปีที่ 6 ปีที่ 7 ถึงร้อยล้าน ถึง 400 ล้าน เราได้เงินส่วนหนึ่งมาทำ Nine Entertain Awards นี่คือการต่อยอด เราทำ Nine Entertain Meet and Greet เป็นร้อยครั้ง เราทำ Nine Entertain Surprise พาคนดูรายการไปเดินพรมแดงออสการ์ ดูการประกาศผลออสการ์ในทุกๆ ปี เราเติบโตมาเนี่ยเพราะทำสิ่งที่แตกต่าง ทำให้อุตสาหกรรมนี้มันเปลี่ยนไป ก็น่าจะเห็นว่า Nine Entertain ก็ทำก็ค่อนข้างเยอะ ก็ลงทุนหลายๆ ส่วนที่มันเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรม 

“พี่ว่า Nine Entertain Awards เนี่ยเป็นอะไรที่แข็งแรง แล้วก็ยกระดับอุตสาหกรรมบันเทิงจริงๆ มันเกิดจากการที่เราได้ยินมาจากทีมข่าวในพระราชสำนัก ช่อง 9 เล่าว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริอยากให้จัดตั้งรางวัลนี้ขึ้น เพื่อจะส่งเสริมบุคลากรในวงการบันเทิงที่เป็นคนดี มีคุณธรรม และเป็นกำลังใจให้คนทำงาน เราก็เลยคิดจะทำงานประกาศรางวัลขึ้นมา ก็เลยไปกราบขอพระราชทานรางวัลจากพระองค์ท่านฯ มันก็เลยเกิดเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดขึ้นมาคือ รางวัลพระราชทานบันเทิงเทิดธรรม อันนั้นก็คือจุดเริ่มต้น เพราะว่าเราก็มองว่า เก่งอย่างเดียวไม่ได้ เล่นเก่งแต่มึงแย่งผัวชาวบ้าน เป็นนางเอกสวยแต่มึงแต่งตัวโป๊ หรือเป็นคนที่ไม่มีคุณธรรม คือรางวัลที่แจกให้คนเก่งมันเยอะอยู่แล้วในประเทศไทย แต่เก่งและดีจะมีไหม ไม่มี เราจึงเอา 2 อย่างนี้มารวมกัน ก็เลยเป็นเก่งบวกดี เพราะฉะนั้นการพิจารณารางวัลเนี่ยมันไม่ใช่แค่ว่า แม่งเล่นดีจังเลยว่ะ แต่ตัวจริงเป็นไง มากองสาย ติดยา เมาเหล้า หรือเรื่องเยอะ ก็ไม่ได้ เนี่ยมันคือที่มาของรางวัล”

บทเรียนที่ 7
ถ้าอยากได้คนมีจรรยาบรรณสื่อ ต้องกลับไปตั้งคำถามกับตัวเองก่อน

“คำว่าจรรยาบรรณมันถูกตั้งข้อสังเกตคำถามมาตลอด พี่ว่าทุกอาชีพก็โดนเมนชั่นมาแบบนี้ หมอ พยาบาล ตำรวจ ทุกอาชีพก็มีการพูดเรื่องแบบนี้ พี่มองว่ามันเป็นเรื่องปกติของทุกอาชีพ มันมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ในเมื่อเราจุดที่เราอยู่ก็คือเป็นหัวหน้าทีม เราอยู่ในจุดที่เราเกี่ยวข้องกับมัน เราก็ทำให้มันดีที่สุด 

“พี่ก็ไม่ได้บอกนะว่าพี่เป็นนักข่าวที่มีจรรยาบรรณมากมายอะไร แต่ว่าตลอด 20 ปีมานี้ พี่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้รายงานข่าวแบบมีตัวย่อ พี่รู้สึกว่ามิติของการเล่าข่าวในปัจจุบันมีหลายมิติ แล้วเราเลือกได้หมดเลย พี่ก็ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวอะไรนะ ไอ้เรื่องที่มีจรรยาบรรณหรือไม่มีจรรยาบรรณ ไม่ได้ว่ากู เพราะกูไม่ใช่เป็นคนแบบนั้น นึกออกป่ะ บางทีก็คุยเป็นเพื่อนนักข่าวว่า ‘บก.เล่มนี้ หรือบก.คนนี้มันปล่อยข่าวแบบนี้ออกมาได้ยังไง’ 

“พี่ตั้งคำถามนะ ในยุคที่สังคมไทยหรือคนยุคนี้เสพข่าว โหยหาจรรยาบรรณของนักข่าวบันเทิง แล้วจรรยาบรรณของคนอ่านล่ะ คุณเลือกที่จะอ่านโดยที่คุณไม่แคร์สื่ออยู่แล้ว วันนี้พี่อาจจะตั้งเพจอะไรก็ได้ที่มันมีเพจขึ้นมาก็ได้ พี่ก็ไปด่าใครก็ได้สักคนนึง แล้วคุณก็เรียกว่ามันเป็นสื่อเหรอ แล้วคุณก็บอกว่ามันเป็นนักข่าวบันเทิงหรอ พี่ว่าถ้าพี่พูดแรงๆ ขอย้อนกลับไปถามว่า คนเสพข่าวบันเทิงมีจรรยาบรรณหรือเปล่า พี่ว่าสื่อกับสังคมมันล้อไปด้วยกัน ตราบใดที่คนไทยยังเอาอะไรไม่รู้ในโซเชียลเนี่ยหรือในสื่อที่ไม่มีตัวตน หรืออะไรก็ไม่รู้ มาเป็นประเด็น เป็นสรณะ มาด่ามาบ่นมาแชร์ต่อ มันก็ไม่ต่างอะไรกับการสนับสนุนคนแบบนั้น ในเมื่อคุณยังเสพข่าวโดยไม่เลือก กันแชร์กันกดไลก์กัน การคอมเมนต์เท่ากับคุณสนับสนุนเขา ก็เท่ากับคุณสนับสนุนคนไม่มีจรรยาบรรณใช่ไหม ข่าวดีๆ มีเยอะแยะนะคะบันเทิงดีๆ ก็เชื่อว่าสื่อหลัก ทุกเว็บ ทุกที่ มีข่าวบันเทิงดีๆ แต่คำถามคือ ข่าวบันเทิงดีๆ มึงดูกันไหม”

บทเรียนที่ 8
มีครูดี = เสาเข็มแข็งแรง

“จริงๆ มีทีมงานของคุณบอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ-ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)) ติดต่อพี่ไปตั้งแต่ตั้งสถานี (ช่องวัน 31) แล้ว แต่พี่ก็รู้สึกว่ายังสนุกับ Nine Entertain ยังทำอะไรได้เยอะ พอถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าพี่ปล่อยได้ น้องๆ ก็ทำงานได้ พี่เดียว (วรตั้งตระกูล-ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วันสามสิบเอ็ด จำกัด) ก็ชวนมา ก็อยู่ในจังหวะที่จะลองอะไรใหม่ๆ พี่อยากได้อะไรใหม่ๆ ในชีวิต มันไปต่อไม่ได้ มันไม่มีไฟ ไม่ท้าทาย ก็เลยไปบอกพี่มิ่งว่าจะลาออก หนูไม่ไหวแล้ว เบื่อ อิ่มตัวกับการเป็นนักข่าวบันเทิง พี่มิ่งก็เลยบอกว่าจะไปไหน ไปช่วยถกลเกียรติก่อนสักปีนึง พี่มิ่งก็พูดแหละว่าพี่มีอะไรที่น่าจะตอบโจทย์ให้กับช่องวันในยุคที่ข่าวบันเทิงยังไม่แข็งแรง

“ถ้าย้อนกลับไปมอง พี่โชคดีไงที่กว่าวันแรกพี่มีครูที่ดี เพราะฉะนั้นเสาเข็มเรื่องข่าวของพี่มันแข็งแรง มันก็เลยทำให้พี่มาอยู่ที่นี่แล้วมันช่วยข่าวบันเทิงของช่องวัน พี่ไม่ได้บอกว่าพี่เก่งแต่ว่า พี่ทำข่าวบันเทิงที่เป็นข่าวบันเทิง เพราะพี่ถูกสอนมาตั้งแต่เด็กในการเป็น DNA ข่าวอ่ะ ถ้าจะให้พูดตรงๆ ก็คือ DNA ข่าวบันเทิงพี่แม่งโคตรเต็มตัว และเสาเข็มในเรื่องข่าวบันเทิงหลักแน่น พี่มิ่งสอนพี่แน่น พี่ๆ บก. ที่เป็นหัวหน้าพี่ สอนพี่แน่น แล้วพี่ๆ น้องๆ ในสำนักข่าวไทย ใน อสมท. หลายๆ คนก็เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพี่

“เพราะฉะนั้นชีวิตการเป็นนักข่าวบันเทิงของพี่พี่ก็ภูมิใจ ทุกวันนี้เวลาพี่เจอลูกค้าในร้านอาหารของพี่ หรือว่าพี่ไปเจอคนตามห้าง เวลาไปเจอเขาจะบอกว่า ‘คนนี้ไงดารา’ ‘คนนี้ไงที่ที่เป็นดาราอ่านข่าวอยู่ช่องวัน’ แต่พี่ภูมิใจกับการที่คนจะเรียกพี่ว่าเป็นนักข่าวบันเทิงมากกว่าการที่บอกว่าพี่เป็นพิธีกรหรือมากกว่าการบอกว่าพี่เป็นดารา โอเค ชาวบ้านอะ เวลาใครออกทีวีเรียกดาราหมด แต่สำหรับพี่ในฐานะคนคนนึง สิ่งที่พี่ภูมิใจที่สุด พี่เป็นนักข่าว และเป็นนักข่าวบันเทิง พี่ไม่อายที่คนจะมองว่า อ๋อน้องคนนี้เป็นแค่นักข่าว หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นพิธีกรดูมีราศี แต่ไม่เลย พี่เป็นนักข่าวบันเทิงค่ะ อ้าวแต่เห็นไปออกเป็นพิธีกรด้วย อ๋อไม่ค่ะ เป็นนักข่าวบันเทิงค่ะเขาให้ไปยืนอ่านไปเล่าให้คุณฟังค่ะ พี่จะภูมิใจ ถามว่าทำไมต้องภูมิใจ เพราะมันเป็นอาชีพที่สร้างชื่อให้พี่ มีไม่กี่คนที่ทำข่าวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำด้วยตัวเอง 

เรื่องนี้ต้องถึงบอย 80 เปอร์เซนต์มาจากสิ่งที่พี่ทำ ไม่มีใครคิดบท เขียนบทให้พี่ โอเค มีน้องซัพพอร์ตช่วย แต่ 80 เปอร์เซนต์มันคือจากพี่ เพราะฉะนั้นพี่ภูมิใจว่าความสำเร็จของพี่ไม่ได้มาจากการที่พี่พูดเก่ง ไม่ได้มาจากการที่พี่กล้าที่จะถามดารา ไม่รู้ว่าสำเร็จรึเปล่าแต่พี่มองว่ามันสำเร็จ ความสำเร็จมันมาจากพื้นฐานการเป็นนักข่าวของพี่”

บทเรียนที่ 9
ข่าวบันเทิงคือชีวิตสอนชีวิต

“ไม่ว่าจะเป็นข่าวบันเทิงหรือข่าวอะไร สุดท้ายมันได้ประโยชน์กันทั้งหมด อยู่ที่ว่าคนเสพคิดได้รึเปล่า ข่าวบันเทิงคือชีวิตสอนชีวิต พี่เห็นมาเยอะนะ เวลาดาราดังๆ เข้าวงการหยิ่งเหลือเกิน สุดท้ายกู (พี่บอย) ยังอยู่อะ แต่มึงไปแล้ว คนเรามันต้องอยู่กับปัจจุบัน ดาราก็คือคนหนึ่งคน เขามีจิตใจ เขามีลุ่มหลง เขามีผิดพลาด เขามีสำเร็จ เขามีความรัก เขามีความใคร่ เขามีความโกรธ เหมือนคนปกติ เวลาพี่ทำข่าวบันเทิง พี่ก็ไม่ได้แปลกใจเวลาดารามีเหวี่ยงใส่นักข่าว พี่ก็เข้าใจแล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คนเรามันมีสิทธิ์ขึ้นสิทธิ์ลง แต่พี่มองว่าข่าวบันเทิงมันก็เหมือนข่าวอะไรอื่นๆ เพียงแต่ข่าวบันเทิงมันอาจจะใกล้ชิดคน และสะกิดคนได้ง่าย 

“พี่พูดเสมอตลอดยี่สิบปีที่อยู่วงการก็คือแพ็กเกจความดัง นึกภาพตามนะ เมื่อมันมีความดัง มันจะมีเงิน มันจะมีงาน มันจะมีนักข่าว มันจะมีเรื่องสิทธิส่วนตัว มันจะมีเรื่องความวุ่นวายเกิดขึ้น นี่เป็นแพ็กเกจที่มาจากความดังของคุณ ดาราทุกคนจะผ่านจุดนี้ เพราะงั้นจะบริหารแพ็กเกจที่มีมาพร้อมกันได้อย่างไร เช่น พี่เวียร์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) อันนี้พี่ชื่นชมเขา พี่เวียร์เขารับมือนักข่าวอยู่ จะกี่ลบกี่บวก กี่ข่าว นี่คือการรับมือแพกเกจ เพราะจะนั้นดาราจึงต้องมีผู้จัดการส่วนตัวที่จะมาช่วยรับมือแพ็กเกจที่เข้ามา คุณดังนี่ คุณมีแฟนคลับ วิธีการบริหารแฟนคลับ นักข่าว การรับมือกับการรับงาน มันต้องมีคนจัดการ แม้กระทั่งชีวิตดาราคนนึงยังต้องจัดการมันเลย นี่คือดาราทุกคนหรือดาวค้างฟ้าทุกคนต้องเจอ

“การยืนระยะในวงการได้นาน มันก็เป็นเครื่องหมายยืนยันความดี ความเก่งของคนๆ นั้น ไม่ใช่ดาราทุกคนเป็นนางเอก แล้วจะเป็นนางเอกค้างฟ้า วันหนึ่งคุณเป็นดาวรุ่ง คุณจะเป็นได้กี่เรื่อง กี่ปี นานแค่ไหน จากนั้นคุณไปต่อด้วยอะไร วัฏจักรมันไม่ได้ยืดยาว มีขึ้นมีลง มีคนมาคนไป เพราะฉะนั้นการที่คุณเป็นดาราระดับซุปเปอร์สตาร์ คุณก็เหมือนคนที่ยืนอยู่บนยอดเขา ลมจะแรง มองไปคุณจะไม่เจอใคร คุณจะต้องเด็ดเดี่ยว คุณจะต้องหาทางของคุณ ทุกคนพร้อมจะเห็นเรา แต่เราไม่เห็นเค้า เราเป็นซุปเปอร์สตาร์ เราอยู่ข้างบน ลมจะเย็น อากาศจะหนาว แดดจะแรงอุปสรรคจะเยอะ การยืนระยะตรงนั้นสำคัญที่สุด คุณยืนได้นานก็เท่ากับว่าคุณเก่ง และไม่ใช่ดาราทุกที่จะยืนได้”

บทเรียนที่ 10
เป็นนักข่าวง่าย แต่เป็นนักข่าวบันเทิงที่ดียาก

“เป็นนักข่าวบันเทิงง่าย แต่การเป็นนักข่าวบันเทิงที่ดียาก ตัวพี่ก็ไม่ได้ว่าตัวเองเป็นนักข่าวที่ดี เราก็พยายามที่จะช่วยกันสะกิดคนรอบตัวว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ในยุคนี้ เร็วไม่ได้ชนะ กึ๋นและมุมมองในการทำสื่อที่ชัดเจน นั้นแหละทำให้เราชนะ วันหนึ่งพี่เป็นนักข่าวรุ่นใหม่มา 20 ปีที่แล้ว เร็วอย่างเดียวอาจจะชนะ แต่พอพี่โตขึ้นพี่มองว่า เร็ว เป็นแค่หนึ่งในตัวแปรในความชนะ สิ่งทีเราจะยืนหนึ่ง คือการเป็นตัวจริง ชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน หรือที่เราเรียกกันว่าถูกถ้วน นี่คือสิ่งที่พี่คิดว่าสำคัญ”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า