fbpx

ทำความรู้จัก BEC Studios ให้มากขึ้นกับบอย-อภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง

“ผู้นำด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย” 

นี่คือวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่ของ BEC World ในฐานะผู้นำทางด้านคอนเทนต์ที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อของ “ไทยทีวีสีช่อง 3” และล่าสุดทางช่อง 3 ก็ได้มีการก่อตั้ง BEC Studios ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ครบวงจร และสามารถยกระดับคอนเทนต์ไทยให้ไปสู่ระดับโลกได้ ซึ่งการทำงานเบื้องหลังที่ BEC Studios ให้ความสำคัญมีทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนของสตูดิโอ การพัฒนานักเขียน การผลิต และ Post Production 

วันนี้เราจึงชวนคุณบอย-อภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจบีอีซี สตูดิโอ บมจ.บีอีซี เวิลด์ มาร่วมพูดคุยแบ่งปันแง่มุมของคนทำงานเบื้องหลัง ประสบการณ์การเป็นผู้จัดที่พารายการและละครชื่อดังจากเกาหลีใต้บินลัดฟ้าสู่จอแก้วไทยอย่าง Show Me The Money (รายการ) , Voice และ Tunnel (ละคร) รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับ ‘เป้าหมาย’ ของ BEC Studios ที่ต้องการยกระดับคอนเทนต์ไทยสู่สากล

โดยมีอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศเกาหลีใต้เป็นโมเดล ในยุคที่ผู้ชมมีแพลตฟอร์มให้เลือกมากมาย มีวิธีใดบ้างที่จะพาคนรุ่นใหม่กลับสู่หน้าจอทีวีอีกครั้ง แล้วปัญหาที่แท้จริงของทีวีนั้นอยู่ที่แพลตฟอร์มหรือคอนเทนต์ที่อยู่ข้างในกันแน่

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

เล่าประสบการณ์คลุกคลีกับคอนเทนต์เกาหลี ก่อนที่จะมาทำ BEC Studios ให้ฟังหน่อย

เราทำธุรกิจเกี่ยวกับค่ายเพลงมาก่อน พี่ทำ Warner Music Thailand แล้วถูกชวนมาทำบริษัทร่วมทุนระหว่าง True กับ CJ ENM (Entertainment and Merchandising) ตอนนั้นเราอยากทำเพราะรู้สึกว่าสายเพลงเราทำมาหมดแล้ว พี่ก็เลยอยากทำอะไรที่มันท้าทายตัวเองบ้าง พอดีกับที่เราเห็นว่า ทำไมคอนเทนต์ไทยมันไม่สามารถไปต่างประเทศได้สักที ตอนทำเพลงก็ทำเพลงร่วมกับพี่บอย-โกสิยพงษ์ ก็คุ้นเคยกัน ผลักดันกันในหลายๆ มิติของการทำงาน แต่มันก็มีข้อจำกัด เราเลยรู้สึกว่าอยากลองมาทำมุมนี้บ้าง 

ตอนนั้นทำรายการทีวีด้วยคือรายการ Show Me the Money พี่เป็นคนเอา รายการเข้ามาในเมืองไทย ตอนเอาเข้ามาพี่จำได้ว่าไปเกาหลีแล้วมีคนถาม “เฮ้ย ทำไมไม่เอารายการนี้มาทำอะ” เราก็ดูรายการแล้วรู้สึกว่าจะไหวเหรอรายการแบบนี้ ก็ทำการหาข้อมูลว่ามันก็เป็น Hip-Hop ซึ่งพอได้ทำแล้วพี่พาทั้งซีซัน 1 ไปเกาหลีใต้ ได้ไปจับมือกับ Tiger JK (Rapper และ Producer ชาวเกาหลีใต้) จะเอาสร้อย Show Me the Money กลับมาเมืองไทย 

เรามองว่ามันเป็นรูปแบบในการเป็นรายการ Survivor ตอนนั้นเราเถียงกันเยอะมากว่าใครควรจะเป็น Producer ในของรายการ ก็ลิสต์ไปตอนแรก คนดรามาเต็ม ในมุมของพี่ไม่ได้โกรธดรามานะ เพราะมันทำให้คิดถึงเรา พูดถึงเราก็สนุกไปอีกแบบ ซีซันสองเราก็เปลี่ยนเอาเด็กรุ่นใหม่ของบ้านเรามา ซึ่งการทำงานกับวงการนี้ก็สนุก พี่ทำเพลงอยู่แล้วเลยคุ้นเคย แต่ก็ชื่นชมผู้เข้าแข่งขันทุกคน มีความสุขทุกครั้งที่ทำรายการนี้เพราะคนที่มาเขามาด้วย Passion อยู่รอจนดึกเพื่อที่จะถ่ายรายการ

เราก็ทำรายการอย่าง ป๋าซ่าพาซิ่ง Grandpas Over Flowers ที่พาพ่อดม (อุดม ชวนชื่น) คุณอาหนิง (นิรุตติ์ ศิริจรรยา)  อาตุ่ม (ชลิต เฟื่องอารมย์) ไปเที่ยวด้วยกัน หรือรายการอย่าง สงครามทำเพลง ที่เอา Producer มาแต่งเพลงกัน ตอนนั้นเราก็คิดว่า Concept แบบนี้ที่เราอยากให้เกิด การคิดนอกกรอบ ไม่ได้จมอยู่กับวิธีแบบเดิมๆ แล้วพี่ก็ทำเกี่ยวกับซีรีส์ด้วย จริงๆ ตอนนั้นทำเยอะมากทั้ง Voice, Tunnel, Unlucky Ploy, Oh My Ghost และอีกหลายเรื่อง เราก็ได้เรียนรู้ 

สิ่งหนึ่งที่พี่ได้คือพวก Format วิธีคิด อ่านไปก็คิดไป ทำไมเขาถึงกล้าคิดทำ ทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ แล้วทางต่างประเทศ พี่ก็ได้ทำงานร่วมกับ Producer หรือผู้กำกับอะไรแบบนี้ พยายามคุยกับเขาเพื่อรับรู้มุมมองว่าเขามองอย่างไร สิ่งที่พี่เห็นเลยคือเกาหลีเขาเป็นประเทศที่มีความมุ่งมั่น มุ่งมั่นที่จะไปจุดนั้น แล้วพยายาม เป็นคนจริงจัง เราก็ได้เรียนรู้จากเขา เขาบอกพี่ว่าเมื่อก่อนเขาก็เรียนรู้จากที่อื่นเหมือนกัน กว่าที่เขาจะมีวันนี้เขาก็เรียนรู้และพัฒนาจนกระทั่งเขามี Signature เป็นของตัวเอง พอเขามี Signature ของเขาเองเราไม่เคยรู้สึกเลยว่าเกาหลีไปก็อปปี้ใคร แต่เรากลับรู้สึกว่านี่มันเป็น Signature ของเขา มันเป็นสิ่งที่เขาพัฒนาขึ้นมาจากสิ่งที่เขาเรียนรู้ จากประสบการณ์ที่เขาเป็นคนขวนขวายมา สิ่งหนึ่งที่เขาพูดกับพี่คือ “ยูรู้ไหม อีกหน่อยประเทศไทยจะไม่มีวัฒนธรรม เพราะ วัฒนธรรม(ของไทย)ตอนนี้เป็นเกาหลีหมดแล้ว” ฟังแล้วก็รู้สึกว่า อืม เราคงต้องสร้างวัฒนธรรมของเราให้ได้จริงๆ 

เขาบอกทำไม Entertainment ถึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันเป็นต้นกำเนิด เป็นวัฒนธรรม เราก็มีวัฒนธรรมร้องรำทำเพลงแบบของเรา แต่เรากลับไปกรอบมันไว้ไม่ยอมเปลี่ยน กลายเป็นว่าใครเปลี่ยนจากกรอบตรงนี้เท่ากับไม่เคารพกติกา ซึ่งมันไม่เกี่ยว มันมีการปรับเปลี่ยน มีการพัฒนาในยุคสมัยที่มันแตกต่างกันไป พี่ว่าอันนี้เป็นอีกหัวใจหนึ่งที่รู้สึกว่าพอเห็นแล้ว เออ มันท้าทาย

อะไรที่จะพัฒนาคอนเทนต์ไทยให้ไประดับโลก

อันนี้ผมอยากชวนทำกิจกรรมด้วยเลยนะ ว่า “คนไทยดูอะไรกันแน่” เพราะบางคนก็บอกว่าอันนี้คนไทยไม่ดู อันนั้นคนไทยดู อันนู้นคนไทยดู แล้วเราเคยถามเขาจริงๆ เหรอว่าเขาดูอะไรกันแน่ ผมคิดว่าหัวใจสำคัญอยู่ที่คนดูนะ แล้วเราปฏิเสธคนดูไม่ได้อยู่แล้ว เราจะสร้างของมาแล้วคนไม่ดูไปทำไม เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่คนดู ผมอยากจะมีเวลาที่ทำให้คนดูสะท้อนมาถึงเรา เกาหลีบอกว่าการที่เขาพัฒนามาถึงตรงนี้ได้คือคนในประเทศเขานะ คนในประเทศเขาเป็นเหมือน Prosumer (บุคคลที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค) คือสามารถที่จะวิเคราะห์วิจารณ์เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต คนดูแข็งแรง เรารับคำวิจารณ์เขาได้ นั่นคือสิ่งที่จะทำให้เราพัฒนา ถ้าเราไม่สามารถรับคำวิจารณ์ใครแล้วเราจะพัฒนาได้อย่างไร 

แต่ผมไม่อยากให้เกิดกระบวนการกังวลแล้วกลัว เราคิดไปเอง อยากมีเวทีที่ได้ฟังมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ มุมมองของสื่อต่างๆ ที่จะพูดว่าทำไมเราไม่ไปทางนั้นทางนี้ อยากให้เสียงนี้มันดัง ผมเชื่อว่านี่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรมเลยนะ ถ้าอุตสาหกรรมมีมุมมองแบบนั้นพวกเราจะเปลี่ยน แต่ถ้าอุตสาหกรรมเรายังมีความเชื่อว่าผลิตไปให้เขา แต่ไม่ได้ฟังเสียงเขามากพอ มันก็ไม่ได้ ถ้าได้ฟังจริงๆ เราจะได้อะไรหลายๆอย่าง 

พี่จำได้ตอนพี่ทำรายการ Show Me the Money เป็นรายการที่พูดจาหยาบที่สุดในประเทศไทยเรา มันก็เสี่ยงนะตอนนั้น แต่ถ้าทำละคร พี่ก็จะบอกทีมว่าไม่อยากให้มีคำหยาบถ้าไม่จำเป็น ใน Show Me the Money ก็เหมือนกัน สบถได้ แต่ไม่ใช่ตั้งใจที่จะหยาบ เพราะเรากำลังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ สบถได้นะ โมโหได้ แต่ไม่ใช่เอะอะก็หยาบคาย แล้วพี่ก็บอกว่า Underground ก็ Underground นะ บนดินก็ต้องบนดิน ต้องแยกกัน ซึ่งถามว่าอะไรคือตัวขับเคลื่อนที่ดีที่สุด คำตอบคือคนดู

โจทย์ของการผลัก Show Me The Money ให้มาอยู่บนโทรทัศน์สำหรับทุกเพศทุกวัยโดยไม่สูญเสียความเป็น Hip-Hop ไปมันยากง่ายอย่างไร 

ไม่ยากนะ มันอยู่ที่ความเชื่อก่อนว่าคำว่า Hip-Hop จริงๆ คืออะไร มันไม่ใช่การพูดคำหยาบแต่ เป็นการพูดจากความรู้สึกข้างใน บรรยากาศเหมือนคุณเสียดสี พื้นฐานหนึ่งเดียวที่ Culture นี้ทำได้คือการได้พูดและร้องออกมาจากความรู้สึกก้นบึ้งของหัวใจ มันถึงจะคม ถ้าเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมก็คือคนดำที่โดนดูถูก เขาไม่มีเครื่องดนตรีอะไรเลย แต่สิ่งที่เขามีคือจังหวะในหัวใจเขาเท่านั้นแล้วเขาต้องการสบถมันออกมา มันเหมือน Punch Line ที่คุณจะง้างมือออกมาได้ก็ต่อเมื่อคุณถูก (เสียงต่อยมือ) Point of No Return หลังชนฝาแล้ว 

เพราะฉะนั้นวัฒนธรรม Hip-Hop สำหรับพี่ การ Battle คือการต่อสู้กันด้วยหน้าตา แววตา ความรู้สึก กติกาบอกเลยว่าห้ามโดนตัว คุณใช้ภาษา แล้วคนที่ถูกกระแทกต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้ มันผิดตรงไหน? ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าทำไมมวยต่อยกันเรายอมรับได้? ทำไมด่ากันรับไม่ได้? อันไหนดู Civilized กว่ากัน? แล้วทำไมพี่ถึงจะทำรายการ Hip-Hop ไม่ได้? แต่พี่ก็บอกกติกาเหมือนกันว่าการออกมาจากหัวใจไม่จำเป็นต้องเป็นคำหยาบ ทุกเวทีมีกติกา ในเวทีนี้ก็มีกติกา คุณต้องฉลาดพอที่จะทำให้คนรู้สึกกดดันไม่ใช่เพราะคำหยาบ กระแทกได้ แต่ฉลาดที่จะพูดออกมา

วันที่รับสายจากช่องสามว่าให้มาทำ BEC Studios ตอนนั้นคุณต้องการอะไรมากที่สุด

เราอยากได้พื้นที่ มีคนที่มีความฝันเดียวกันมาทำ พี่ไม่สามารถบังคับใครได้ แล้วโครงการนี้เราก็รู้อยู่แล้วว่าถ้าไม่ได้มี Passion หรือเป้าหมายเหมือนกันมันก็ไม่ง่ายที่จะทำให้ทีมมันเป็นทีมเดียวกันได้ พี่ก็ถามทีมพี่ว่า “เอาไง เรายังมี Passion ที่จะผลักดันตรงนี้ไหม” สิ่งแรกคือถามทีมเลยว่าใครมี Passion ที่จะทำตรงนี้กับพี่บ้าง และเราก็เชื่อว่า BEC มีพื้นที่ให้เราได้ทำอะไรที่มันแข็งแรงขึ้น แต่ไม่ใช่บอกว่าที่เก่าไม่ดีนะ แต่เราก็ได้ทำอะไรที่มันใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น แล้วเราก็ถามทั้งเพื่อน พาร์ทเนอร์ทุกคนว่าช่วยกันไหม คืออยากทำจริงๆ อยากเห็นคอนเทนต์ไทยแข็งแรง เอาง่ายๆ นะ บน Netflix พี่อยากเห็นคอนเทนต์ไทยขึ้นทั้งสิบอันดับ ทุกวันนี้เราไม่เคยเห็นคอนเทนต์ไทยขึ้นสิบอันดับเลย

แต่ในทางปฏิบัติ ละครที่คุณเคยทำก็ขึ้นสิบอันดับบน Streaming มาแล้ว

เราก็หวังว่าเราจะทำได้แบบนั้น อย่างเมื่อกี้ที่ไปดูโครงสร้างการเล่าเรื่อง มันมีเหตุและผลของมันจริงๆ และถ้าเรายิ่งถ่ายทอดสิ่งนี้ให้ออกไปเยอะๆ พี่ไม่เคยกังวลเลยว่าใครจะเอาเทคนิคไปใช้ ไม่กังวลเลย 

พี่เคยไปงานต่างประเทศ เห็นบูธผู้ประกอบการไทยใหญ่มากเลย แต่กระจัดกระจาย พี่เดินไปถามบูธของเกาหลีเขามีทุกช่องในบูธเดียวกัน ออกมาคือต้องซื้อ SBS, JTBC, tvN สถานีโทรทัศน์สักช่องหนึ่ง แล้วก็ถามเขาว่า “เฮ้ย แข่งกันยังไงวะในประเทศยูอะ” ถ้าในประเทศเขาแข่งขันกันเป็นปกติ แต่ออกจากประเทศมาปุ๊บมันคือ South Korea พี่คิดว่าเขาก็มีความมุ่งมั่น พี่ก็อยากคิดแบบนี้เหมือนกันว่าเราแข่งกันได้นะในด้านความคิดสร้างสรรค์ เราต้องยอมรับในความสามารถซึ่งกันและกัน แถมเมื่อไหร่เราออกไปต่างประเทศ เราควรจะมีความรู้สึกว่า เฮ้ย เราเป็นไทยแลนด์ เราควรจะแข่งกับคอนเทนต์ต่างประเทศแล้วเราไปเผยแพร่ เราทำอะไรร่วมกันได้บ้างที่จะส่งต่อวัฒนธรรมเราให้มันเดินทางได้จริงๆ ซึ่งประเทศไทยนี่ดีขึ้นเยอะมากเลยนะในมุมความเชื่อของคนต่างชาติในอดีต เราเปลี่ยนเยอะมากแล้วเราจะกลับไปทำเหมือนเดิมเหรอ เรามีสิ่งสวยงามตั้งเยอะแยะแต่เราไม่ได้หยิบมันออกมาเล่า

โจทย์แรกที่ BEC Studios โยนให้คุณคืออะไร

เราต้องการที่จะเห็นการพัฒนาของคอนเทนต์ คือธุรกิจมันเปลี่ยนแปลงไป การที่ช่องสามมีทีมผลิตคอนเทนต์ของตัวเองไม่ได้หมายความว่าผู้จัดทุกคนไม่สำคัญ ไม่ใช่ แต่มันมีตลาดที่เรากำลังแข่ง เรากำลังแข่งกับโลกที่มันหมุนอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเราก็เป็นเหมือนแค่จุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พี่ไม่สามารถผลิตคอนเทนต์ 30-40 เรื่องทีเดียวได้หรอก หรือเราเห็น Studio ใหญ่ๆ เขาก็มีพันธมิตร เราจะเห็นว่าพี่ทำงานกับคุณตู่-ปิยวดี มาลีนนท์ พี่ก็ทำได้ ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลง เรายังคงต้องการกำลังจากพันธมิตรในการสร้างสรรค์ แต่บางครั้งเราอาจจะต้องเป็นหัวหอกในการเปิดให้เขา เพราะฉะนั้นการที่พี่ไปพัฒนาหรือไปชวนพาร์ทเนอร์ต่างประเทศให้เข้ามาร่วมลงทุนหรือการผลิตอะไรอย่าง เราได้ 2-3 อย่างเลยนะ หนึ่งเราได้ Know How สองเราได้ตลาด สามเราได้การเปลี่ยนแปลง ได้กลไกที่จะมาขับเคลื่อนภายในองค์กรเราเอง

ส่วนสำคัญในการพัฒนาเนื้อหาคืออะไรบ้าง

การเขียนบท มีโครงการเรียบร้อย ทำสัญญาเรียบร้อย สอนเสร็จเรียบร้อย ผลิตละครเราก็เริ่มผลิต เปิดกล้องแล้วทั้งหมด ตัว Post-Production CG ทั้งหลายก็มีทีมเข้ามาหมดแล้ว  คือเวลาดูละคร จริงๆ องค์ประกอบภาพมีความสำคัญมากในการเล่าเรื่อง ยกตัวอย่างละครเกาหลี เวลาเราดูมันเหมือนเขาดึงเราเข้าไปอยู่ในเรื่อง เขาเล่าชีวิตของเขาเป็นจังหวะๆ ดูไปแล้วก็เหมือนโดนดึงไปด้วย มันเป็นองค์ประกอบภาพที่เขาทำให้เรารู้สึกว่าเราดำเนินเรื่องไปกับเขา อันนั้นมันก็เป็นวิธีของเขา เพราะฉะนั้นพี่ก็มองว่าเวลาเราจะผลิตละครแบบนี้ เราก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบวิธีมองวิธีคิด ส่วนสุดท้ายก็คือ Studio ที่ต้องสร้าง อันนั้นพี่ยังทำไม่ได้ ถ้ามันเป็น Virtual (ภาพจำลอง) ก็กดได้เลย แต่ถ้ามันต้องตอกเข็มตอกเสาเนี่ยมันต้องใช้เวลา ต้องมีกระบวนการ แต่ใน 3 ส่วนที่เหลือพี่ดำเนินการไปหมดแล้ว

ตอนที่ทำละคร 3 เรื่องใหม่ (มือปราบกระทะรั่ว, เกมโกงเกมส์, ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ) เห็นศักยภาพอะไรในบุคลากรไทยที่จะพาคอนเทนต์ไทยไประดับโลกได้

ต้องบอกว่ามั่นใจเพราะเราเคยทำมาแล้ว เพียงแต่วันนี้เราต้องการความต่อเนื่องในการทำ ไม่ว่าจะเป็นพี่ทำหรือใครก็ตาม ให้คอนเทนต์ไทยมันเดินทางอย่างต่อเนื่องได้ อันนั้นคือความสำเร็จของพวกเรา ไม่จำเป็นต้อง Studio ที่ใดที่หนึ่งก็ได้ แต่มันต้องไปในมิติที่เป็นสากลนิดหนึ่ง อุปสรรคมันก็มี แต่เราก็คิดว่ามันพัฒนาได้ดีขึ้นเรื่อยๆ นักแสดงก็เก่งขึ้น ทุกครั้งที่พี่ทำงานแล้วนักแสดงให้ความทุ่มเท ตั้งใจ เราจะรู้สึกว่าเราอยากทำ เขาตั้งใจเท่าไหร่เราก็อยากทำเท่านั้น 

ยกตัวอย่างการถ่ายทำแบบ Cinematic เราเน้นอินเนอร์ของนักแสดงออกมาให้คนดู เราพูดถึงความรู้สึกของตัวตนนักแสดงจริงๆ เพราะฉะนั้นองค์ประกอบภาพในการถ่ายมันก็ต้องไล่ตั้งแต่ความรู้สึก มุมกล้อง เราต้องนำพาทุกอย่างออกมาหมด ซึ่งทุกครั้งที่ทำเราจะบอกนักแสดงก่อนว่าเราจะทำแบบนี้ มันอาจจะเหนื่อยกว่าและนานกว่า แต่ทุกครั้งที่เขาบอกว่า “ดีครับ ผมชอบ” อันนี้คือ สัญญาณที่ดี 

ความสำเร็จที่ถูกต้องอันดับแรกมันต้องมาจากคนทำงานอยากทำก่อน ถ้าเขาไม่อยากทำมันก็เหมือนทำผ่านๆ ไป พี่เคยถ่ายรายการของเกาหลีนะ ประชุมของเขาคือโป๊ะป๊ะๆ แต่พอถ่ายจริงเงียบกริ๊บเลย ทุกคนรู้หน้าที่ว่าตัวเองต้องทำอะไร แล้วสิ่งที่พี่พูดตลอดคือทำไมเราไม่เพิ่มค่าตัวคนทำงาน เพราะถ้าเราเพิ่มค่าตัวคนทำงานได้ อะไรๆ มันก็จะเปลี่ยน 

ก่อนหน้านี้เขาพูดกันว่าการทำ Original Content แบบนี้จะไปตีกับผู้จัดรึเปล่า มีวิธีในการเจรจาและพูดคุยอย่างไรบ้าง

ข้อแรกเลยคือพี่ไม่เคยถูกทำให้รู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรค พี่ถูกปลูกฝังมาว่าทำอย่างไรที่จะช่วยผู้จัด เพราะว่าบางทีการลงทุนมันต้องเหมือน Shared Service ถ้าใครคนใดคนหนึ่งไปลงทุนมันก็อาจจะไม่คุ้มค่า และในเมื่อเราเป็นเหมือน Gate Way ของช่องสาม เราก็ควรจะต้องอำนวยเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่จะทำตรงนี้ คนก็จะกังวลไปเองว่าทำ 3 เรื่องมาเทียบอะไรกับ 30 เรื่อง ไม่ได้กระทบผู้จัดหรอก อย่ากังวลเลย พี่ทำงานกับคุณตู่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แค่ค่อยๆ มองกลับกัน ไม่ดีกว่าเหรอถ้าสมมุติว่าทำดี แล้วเรามีตลาดต่างประเทศรองรับเยอะๆ เราผลิตได้มากขึ้น ทำไมเราต้องมองลบไปข้างหลัง ทำไมเราไม่มองไปข้างหน้า 

อะไรคือข้อดีของการมาอยู่ BEC

ข้อหนึ่งเลยที่รู้สึกคือวิสัยทัศน์ สิ่งที่สำคัญสำหรับพี่คือถ้าวิสัยทัศน์ไม่ตรงแล้วพี่จะช่วยอะไรได้ แต่ถ้าตรงกันเราก็ทุ่มได้เต็มที่เพราะเรามี Passion อยู่แล้ว ถ้าเกิดไปคุยกับพี่บอย-โกสิยพงษ์ หรือคนที่เคยทำงานกับพี่ เขาก็อยากทำคอนเทนต์ไทยไปต่างประเทศ และนี่คือ Passion ของเรา ถ้าเราทำได้ โลกมันจะเปลี่ยนมากเลยนะ ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นเหมือนเกาหลีเราว่ามันกลับกันนะ ถ้าคอนเทนต์ไทยเป็นเหมือนเกาหลีแล้วทุกประเทศเป็น Culture หมด อะไรๆ มันก็จะดีขึ้นนะ

อยากเห็น BEC Studios เติบโตอย่างไรในอนาคต

การเติบโตมันมีทั้งหมด 3 ส่วนนะครับ สำคัญที่สุดเลยคือ หนึ่ง-บุคลากร สิ่งที่พี่กำลังทำทุกวันนี้คือพี่พยายามจะหา Transfer Knowledge เวลาพี่คุยกับพาร์ทเนอร์ทุกคน พี่มีเงื่อนไขว่าต้องแบ่งปันประสบการณ์กัน แล้วบุคลากรเราต้องพร้อมที่จะรับด้วยนะ ไม่ใช่เขาพร้อมจะแชร์อย่างเดียว มันต้องไปด้วยกันทั้งสองฝ่ายเพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเติบโตของพี่คือ บุคลากร

สอง-เมื่อมีบุคลากรแล้ว เราต้องมีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่มันยกระดับการทำงานได้จริงๆ อย่างพี่ทำ Virtual Production พี่จะไปดู ไปเอามาลงทุน มันก็เป็นเรื่องใหม่ในวงการผลิต ถ้าเกิดเรามีบุคลากร อุปกรณ์ สุดท้ายมันต้องมีผลงานแน่ๆ เพราะมันมีทั้งคนเก่ง มีทั้งอุปกรณ์ที่ดี งานมันต้องดีสิ แล้วเราจะมีตลาดที่ดี พี่คิดแค่นี้เลย ไม่ได้คิดอะไรมากกว่า 3 ส่วนนี้เลย จะคิดอันใดอันหนึ่งก็ไม่ได้ อยากได้ผลงานที่ดีแต่ไม่มีคนทำ มีคนทำแต่ไม่มีเครื่องมือ หรือมีเครื่องมือแต่ไม่มีคนทำ มีคนทำแต่ไม่มีตลาด มันก็วนอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นพี่ว่าสำคัญที่สุดคือบุคลากร

BEC Studios เน้นผลิตคอนเทนต์เพื่อ First Screen (TV) หรือ Second Screen (Online) มากกว่ากัน

อันนี้เป็นความเชื่อหนึ่งที่เรากำลังพิสูจน์ความเชื่อนี้อยู่ เด็กรุ่นใหม่ไม่ดูทีวี เด็กรุ่นใหม่ดู YOUTUBE แต่คำถามคือ คุณดูคอนเทนต์หรือคุณดูทีวี ทีวีมันไม่มีอะไร พี่ก็ไม่ดูทีวีเพราะทีวีมันมีแค่เครื่องกล่องเปล่าๆ (หัวเราะ) ก็ดูคอนเทนต์ข้างในไม่ใช่หรอ ถ้าเกิดดูถ่ายทอดสดก็ต้องดูทีวีใช่ไหม เพราะฉะนั้นพี่เชื่อว่าทีวีเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ทำให้คนบันเทิง มันอยู่ที่คอนเทนต์ข้างในมากกว่า มันมีคือประเด็นข้อเดียวเลยคือทีวีมันมีช่วงเวลาที่มันถูกวางไว้ แล้วเราก็เชื่อว่าคนดูทีวีชินกับพฤติกรรมนี้ เราลองถามกลับกันว่าถ้าวันหนึ่งเราชอบละครเรื่องนี้มากๆ เหมือนละครเกาหลีที่เราเคยดู เช่น Home Town Cha Cha Cha ที่ออกอากาศบน Netflix Weekly คุณจะเฝ้ารอดูมันทุกสัปดาห์ แต่ถ้าเกิดมันออนทางช่องสามตอน 2 ทุ่มครึ่งเหมือนกัน คุณจะดูผ่านออนไลน์หรือดูผ่านทีวีล่ะ

พี่ว่าสิ่งที่มันเปลี่ยนไปมากกว่าคือ Time Shift หมายถึงว่าคุณดูทีวีมันมีตารางเวลา แต่ถ้าคุณดู Netflix มันดูเมื่อไหร่ก็ได้ ประเด็นมันอยู่ตรงนั้นต่างหาก เวลาคุณดู Netflix คุณก็ดูบนทีวีอะ เคยติด Netflix ไหม มันออนวันไหนคุณยังจำได้แล้วต้องไปรอกว่าจะได้ดู ถ้ายูมีทีวีก็ไม่ต่างอะ เพียงแต่ว่าปัญหาคือคอนเทนต์ ที่คุณไม่ดูเพราะคุณไม่ดูคอนเทนต์ที่เขาทำ คุณเชื่อว่าคอนเทนต์ที่เขาเสนอมามันไม่ตอบโจทย์คุณมากกว่า ไม่อย่างนั้น tvN ในประเทศเขาก็ไม่ต้องโตแล้วสิ

พี่เชื่อว่าคอนเทนต์ดึงดูดคนให้กลับมาดู เพราะว่าคนดูคอนเทนต์เขาไม่ได้ดูทีวี เพียงแต่ว่าประเด็นมันมีนิดเดียวคือเงื่อนเวลา ที่แข่งกันเนี่ยมันแข่งกันเงื่อนเวลา กลับบ้านไม่ทันก็เลยไม่ได้ดู เขาถึงมี 3Plus ไง เพียงแต่ว่าตอนนี้มันยังอยู่ในช่วงให้ความรู้คน พี่เชื่อว่าคนติดคอนเทนต์ ถูกไหม คนต้องติดคอนเทนต์สิ คนติดทีวีได้ไง (หัวเราะ) 

ภาพรวมบุคลากรสาย Production ของเราเจ๋งขนาดไหน

จริงๆ เราเก่งนะ เพราะว่าต่างประเทศก็มาใช้บริการการผลิตเราเยอะมาก ธุรกิจเรามี แต่มากพอหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมว่าคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์เราขาดแค่โอกาสกับพื้นฐานบางอย่าง แต่ขนาดเราไม่มีพื้นฐานบางอย่างเรายังเก่งได้ ถ้าเรามีพื้นฐานที่แข็งแรงร่วมด้วยเราจะยิ่งเก่งขึ้นไปอีก พี่ทำโครงการหลักสูตรเขียนบท มีหลายคนที่เป็นนักเขียนบทอยู่แล้วก็มาเรียน แล้วก็มีการ Discuss กัน ก็ยังเห็นว่าบางคนเขาขวนขวายและเรียนรู้นะ เพราะฉะนั้นพี่เชื่อว่าคนไทยเก่ง พี่ไปคุยกับต่างประเทศเขาก็เชื่อว่าคนไทยเก่ง แต่ข้อจำกัดอีกข้อหนึ่งคือการสอน ภาษาเรา Unique มากๆ ของต่างประเทศเขามีภาษาที่เป็นสากลกว่า เราก็มีเฉพาะแค่ประเทศไทยที่พูดภาษาไทย เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถส่งต่อความรู้ได้ พี่เชื่อว่าเราเก่ง 

มองอนาคตหนึ่งปีหลังจากนี้ของ BEC Studios อย่างไร 

หนึ่งปีหลังจากนี้เราจะมีผลงานที่ดี แล้วเราก็หวังว่าผลงานที่เราทำออกมาคนจะชอบ และเมื่อคนชอบเรา เราก็จะทำงานแบบนี้ต่อไป ทุกครั้งที่พี่คิดจะทำละครขึ้นมา พี่ถามตัวเองว่าจะเล่าอะไรให้คนดู เราเป็นสื่อ งานเราให้อะไรกับคนดูบ้างนอกจากคำว่าบันเทิง คุณต้องมีข้อคิดร่วมด้วย อย่าง กระต่ายกับเต่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น หรือความประมาทเป็นบ่อเกิดของปัญหา มันต้องมีข้อคิดร่วมเพราะพี่เชื่อว่าสิ่งที่เราให้ความรู้คนได้คือความบันเทิงที่สร้างข้อคิดและวัฒนธรรมให้กับคนดู นั่นคือสิ่งที่พี่อยากเห็น 

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า