fbpx

กว่าจะมาเป็น “สืบสกุล พันธ์ดี” และ “ไทยรัฐตามล่าหาคอเล่า”

THE MODERNIST x THAIRATH TV 

เมื่อเราพูดถึงผู้ประกาศข่าวที่มากความสามารถ และเป็นที่ยกย่องด้านการทำงาน หนึ่งคนที่หลายคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น “สืบสกุล พันธ์ดี” กันอย่างแน่นอน เพราะด้วยความสามารถในการทำงานที่ไม่เป็นสองรองใคร รวมถึงพัฒนาการที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนวันนี้เขาก้าวมาสู่บ้านไทยรัฐทีวีได้ร่วมๆ 8 ปีแล้ว และเขาก็ตั้งใจที่จะต่อยอดผู้ประกาศข่าวคนใหม่ๆ ให้สามารถเฉิดฉายออกมาได้ ผ่านการเป็นหัวหน้าผู้ประกาศข่าว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขายอมรับว่าเปรียบเสมือนเป็น “นักปั้นผู้ประกาศ” ออกมาก็ว่าได้

วันนี้ผมและทีม The Modernist มีโอกาสได้กลับมาเจอ “สืบสกุล พันธ์ดี” อีกครั้ง หลังจากที่ผมได้เจอในฐานะ 1 ในคณะกรรมการโครงการ “ไทยรัฐตามล่าหาคอเล่า” โครงการที่พี่บุ๊คตั้งใจสร้างร่วมกับไทยรัฐทีวีในการเฟ้นหาผู้ประกาศข่าว รวมถึงเรามาคุยถึงเส้นทางชีวิตจากผู้ประกาศข่าวช่องอื่นจนมาที่บ้านไทยรัฐทีวี เขาได้เรียนรู้อะไรไปบ้างในสายงานที่เขาบอกว่า “ไม่ได้ตั้งใจจะเป็น แต่เป็นแล้วเขารักและมีพลังในการทำงานในทุกๆ วัน”

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

มาเป็นผู้ประกาศข่าวได้อย่างไร

ถ้าย้อนไปวัยเด็กนิดนึง คือเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองเลย ขาดความมั่นใจ พูดคุยก่อนไม่เป็น ยิ้มได้อย่างเดียว ยิ้มเก่ง แต่ไหนแต่ไรก็คือยิ้ม จนกระทั่งวัยเรียน มัธยมเรียนสายวิทย์ จนกระทั่งเข้า Entrance ดันหันไปเลือกสายศิลป์ก็คือ นิเทศศาสตร์ คือตอนนั้นมันเป็นแฟชั่น (หัวเราะ) ใครๆ ก็เลือกเรียนนิเทศศาสตร์ และเราก็รู้สึกว่าที่เรียนสายวิทย์เนี่ย วิชาเคมี ฟิสิกส์เราก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น ได้แต่ชีวะ ก็เลยไปเรียนสายศิลป์ เลือกนิเทศศาสตร์แทบทุกอันดับ แต่ไม่ติดสักมหาวิทยาลัยเลย

ตอนนั้นเราเลือกนิเทศจุฬาฯ, วารสารฯ ธรรมศาสตร์, ม.เชียงใหม่ และม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งแต่ก่อนคะแนนมันจะสูงมาก (ลากเสียง) จนแบบว่าสมัยนั้นเนี่ยเป็นอันดับต้นๆ เลยนะ เราก็เลือกแต่ท็อปๆ เลยนะ (หัวเราะ) ตัวเองเรียนสายวิทย์มา จะไปสู้กับคนสายศิลป์ ปรากฎไม่ได้  ก็เลยจับพลัดจับผลูมา มาเข้าที่หอการค้า มันใกล้ๆ บ้าน ก็เลยโอเค ซึ่งเราก็เล็งนิเทศอยู่ อยู่มาเรื่อย ๆ จนมารู้ตัวเอง ตอนนั้นตัวเองเรียนอยู่ทีวีและวิทยุ ไม่ชอบทำหน้ากล้องเลยตั้งแต่เรียน คือไม่ทำเลย พอปีสามที่มันแยกสาย คือไม่ทำเลยที่มันเกี่ยวกับหน้า กล้อง หรือว่าเป็นพิธีกร คือไม่ทำเลย

แล้วตอนนั้นทำอะไรอยู่

ตอนนั้นเขียนสคริปต์ เขียนบท เป็น Creative ใครให้อยู่หน้าจอคือไม่เอาเลย งานเทคนิคก็ไม่ได้นะ ตัดต่อ กราฟิก คือทำไม่ได้ทั้งนั้น ทำได้แนวเดียว จนกระทั่งเรียนจบ เกรดก็ใช้ได้ ก็ไฟแรง เลยไปทำบริษัท Production House แต่อยู่ได้แปปเดียวก็ออกมา เพราะเราไม่อยากไปทำงานในบริษัทที่มันอยู่แบบครอบครัว แบบใช้ทำงานอะไรก็ได้อะ บางทีเราทำตำแหน่ง Creative อยู่ แต่ใช้เราแบบ ‘ไปรับลูกหน่อย’ (หัวเราะ) 

ก็เลยถามแล้วตรงนี้ใครจะทำ ถามเขาไปอย่างงี้นะ เขาก็บอกว่า ‘ก็ให้พ่อมาทำ’ จริง ๆ นะ เขาพูดกับเราแบบนี้ พี่วางเทปทุกอย่าง และลาออกทันทีเลย เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ และเรายังไฟแรงอยู่ เราอยากทำงานแบบที่เขาไม่ได้ใช้ไปเรื่อยแบบนี้ ประสบการณ์ไม่ดีคือมันเป็นกันเองเกินไป พอทีนี้ พ่อพี่เป็นทหาร เขาก็เลยบอกว่า มาอยู่ช่อง 5 สิ แต่พ่อก็ไม่ได้รู้จักใครนะ เขาก็พาพี่ไปหา ที่ช่อง 5 กรรมการผู้อำนวยการเขาก็ขอดูทุกอย่าง และก็สัมภาษณ์เอง สรุปว่าพี่ดูเป็นรุ่นใหม่และน่าจะทำได้ เลยได้เข้ามาทำ ก็ได้เข้ามาทำในตำแหน่งผู้สื่อข่าวและนักข่าว 

แสดงว่าก็เป็นนักข่าวมาก่อน

คืองานนักข่าวเป็นงานที่ไม่เคยคิดถึงนะ เพราะแต่ก่อนเรารู้สึกว่านักข่าวมันงานยาก ไม่ชอบ ต้องไปตามคน ต้องไปเฝ้า ต้องไปทำข่าวเป็นชั่วโมงๆ เป็นวันๆ แต่ไม่เป็นไร พี่ทำไปก่อน พอทำไปทำมา คือมันชอบ มันก็กลายเป็นจิตวิญญาณของนักข่าวเหมือนกัน ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าสิ่งที่เรารู้จากแหล่งข่าวมา เราเป็นคนเดียวที่จะถ่ายทอด ให้คนเป็นล้านคนรู้ได้ ตั้งแต่นั้นมาเลยเปลี่ยนความคิดว่านักข่าวก็เป็นอาชีพที่สุดยอดเหมือนกัน 

ถามว่ามาเป็นหน้าจอได้ไง ก็จับพลัดจับผลูอีก เพราะว่าไม่มีคน รู้สึกว่าวันนั้นคนขาด ไม่มีคนลงเสียงสกู๊ป พอไปลงให้เขา หัวหน้าก็ชอบอีก เขาก็ให้ลองมาขึ้นหน้าจอสิ ก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วพี่เป็นคนที่ไต่เต้ามาตั้งแต่ข่าวพยากรณ์ ข่าวต้นชั่วโมง กว่าจะมาเป็นผู้ประกาศหลัก เพราะแต่ก่อนมันต้องไต่เต้าใช่ไหม เป็นข่าวดึกก่อน มืดตึ๋ดตื๋อเลย ตีหนึ่ง ตีสาม และก็มาตีห้า ก่อนจะไปข่าวเช้า ข่าวเที่ยง ข่าวเย็น ข่าวค่ำ เพราะแต่ก่อนเรามีแค่ฟรีทีวี ที่สุดของทุกช่องก็คือ ข่าวค่ำ แต่ก่อนผู้ประกาศจะเป็นสเต็ปแบบนั้น แต่รุ่นใหม่ก็จะเป็นอีกสเต็ปหนึ่ง คือถ้าคุณมีความสามารถ ก็ขึ้นมาเลย มาอ่านข่าวหลักเลย พี่ก็เลยจะบอกว่า บางทีโอกาสมันมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ คนเราบางทีอาจจะไม่ได้ตั้งใจจะเป็นเส้นทางนี้ แต่ถ้าโอกาสมาก็ต้องทำให้ดีที่สุด พี่เลยอยู่มาถึงทุกวันนี้ ช่อง 5 ร่วม 17 ปี ไทยรัฐอีกประมาณ 8-9 ปี ก็นับรวมปีเอา

อะไรเป็นแรงดึงดูดว่าไทยรัฐคือที่ที่ใช่ของเราในวันแรกที่เข้า

คือช่วงนั้นเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงทีวีเป็นทีวีดิจิทัล แต่ละช่องก็เกิดมากขึ้น แต่ไทยรัฐคือสื่ออันดับหนึ่งอยู่แล้วในหนังสือพิมพ์ เราก็เลยมองว่า ถ้าไทยรัฐจะก้าวเข้ามาทำในวงการทีวี มันก็คือที่สุดเหมือนกัน และพี่ก็เชื่อมั่นในแบรนด์และชั้นเชิงของไทยรัฐ นั่นคือสิ่งที่สำคัญมาก หลายที่ที่มีการแข่งขัน มีการเปิดประมูล แต่พี่ว่าไทยรัฐนี่แหละ ที่เป็นที่หนึ่ง จนกระทั่งเข้ามาอยู่ไทยรัฐ และนี่ก็เป็นทางเลือกที่สำคัญในชีวิตเหมือนกัน

พอเข้ามาอยู่ไทยรัฐ สิ่งที่เรามีอยู่มันต้องปรับเปลี่ยนบ้างไหม

เรามีประสบการณ์มา แต่มันก็เปลี่ยนทุกอย่าง ทีวีดิจิทัลมันคือการเริ่มต้นใหม่ทุกอย่าง ความเป็นคนฟรีทีวีที่เคยมีมา เราเอาแค่ประสบการณ์มาใช้ แต่เรื่องการแข่งขันมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ในวงการสื่อมันเปลี่ยนไปเลย ฟรีทีวีแต่ก่อนเราไม่ได้แข่งขันกับใครมาก เรามี 4 – 5 ช่อง เรานำเสนอข่าว เราเป็นพันธมิตรกันส่วนหนึ่ง แต่การแข่งขันในเชิงธุรกิจมันก็ยังมีอยู่ 

ดังนั้นสิ่งที่เราปรับเปลี่ยนก็เยอะครับ เพราะว่าเราต้องเป็นคนที่ทั้งสร้างความมั่นคงให้ไทยรัฐ และสร้างในมุมของธุรกิจให้ไทยรัฐด้วย ผู้ประกาศหน้าจอเหมือนต้องขายสินค้าสำคัญของช่อง ด้วย แต่ก่อนถ้าเป็นฟรีทีวี เราอาจจะเป็นแค่คนอ่านข่าวที่สำคัญของช่อง แต่ถ้าอยู่ในทีวีดิจิตอล มันกลายเป็นอีกแบบหนึ่้งเลยครับ 

อะไรทำให้ต้องทำโครงการ “ไทยรัฐตามล่าหาคอเล่า”

มันเป็นโครงการที่เหมือนเปิดโอกาสเนอะ เปิดโอกาสมาก ๆ ในการที่จะให้คนเข้ามาเป็นผู้ประกาศข่าวไทยรัฐทีวี เพื่อเสริมทัพ แม้ผู้ประกาศข่าวที่เรามีอยู่คือคนที่มีศักยภาพที่ดีที่สุด ส่วนหนึ่งแล้ว แต่ว่าเราก็อยากคัดคนใหม่เข้ามา เพื่อให้มาเสริมศักยภาพของไทยรัฐให้มากขึ้น 

ดั้งนั้นจึงเกิดเป็นโครงการตามล่าหาคอเล่า และชื่อของโครงการนี้ ตอนนั้นเราก็คิดกันว่า ชื่อโครงการจะเป็นยังไง ที่มันสามารถแสดงให้เห็นตัวตนของคนที่จะเข้ามาในโครงการเลย ทีม Marketing ก็เสนอ ‘คอเล่า’ ทีนี้ก็มีการโหวตกันว่าจะเอาคำว่า ‘คอเล่า’ ไหม ซึ่งพี่ก็ชอบคำว่า ‘คอเล่า’ เพราะเราไม่ได้หาคนอ่านข่าว เราหาคนเล่าข่าว พี่บุ๊คก็เติมเข้าไปอีกว่า ‘เล่าข่าวที่ใช่ถึงใจคนดู’ มันก็เลยกลายมาเป็นที่มาของโครงการตามล่าหาคอเล่าที่หาตัวตนของคนที่มาเล่าข่าวจริงๆ

อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ไทยรัฐได้รับการยอมรับจากผู้ที่สมัครเข้ามา

แน่นอนด้วยชื่อชั้นของไทยรัฐ ความเป็นไทยรัฐตั้งแต่อดีตกระทั่งมาเป็นทีวีดิจิทัล มาเป็นไทยรัฐออนไลน์ ทุกอย่างมีการพัฒนาทางด้านสื่อทั้งหมด เพื่อรองรับทั้งปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นพี่เลยมองว่าไทยรัฐก็ยังเป็นอันดับหนึ่งในทุกด้านจริง ๆ  และทำให้คนสนใจ ในนามสกุลของไทยรัฐทีวี 

ทำไมไทยรัฐถึงอยากมีโครงการนี้ขึ้นมา

เราต้องมองไปถึงอนาคตด้วย ผู้ประกาศข่าวก็เป็นอีกอาชีพหนึ่ง ที่เราเรียกว่าเป็น ‘Generation’ ผู้วิเคราะห์ข่าวรุ่นใหญ่ขยับขึ้นไป ก็ต้องมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเติม และก็ต้องมีคนรุ่นใหม่ ๆ ที่มันสุดขึ้นเข้ามาเติมอีก และเมื่อผู้ประกาศใหม่เข้ามา นอกจากเขาจะเข้ามาเริ่มต้นแล้ว เขาจะกลายเป็นอนาคตของไทยรัฐด้วย เพราะถ้าเรามีผู้ประกาศข่าวอยู่เท่านี้ แม้ทุกคนมีศักยภาพ ทุกคนเก่งหมด แต่พอถึงวันหนึ่งที่เราขาดคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาต่อ มันจะหมดไป การมีโครงการตามล่าหาคอเล่า มันก็จะมีคอเล่าหนึ่ง คอเล่าสอง คอเล่าสาม มันจะมีอนาคตของมันไปเรื่อยๆ 

คุณมีส่วนร่วมในโครงการนี้ยังไงบ้าง

โห เยอะเลย (หัวเราะ) ในฐานะหัวหน้าผู้ประกาศด้วย และก็การทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆ ด้วย เป็นส่วนสำคัญในการคิดรูปแบบวิธีการ คิดเรื่องการดำเนินกิจกรรม คิดกติกา คิดการคัดเลือก อย่างเช่น ในเรื่องของการคัดเลือก มันจะตกมาอยู่ที่พี่ ว่าคนที่จะเข้ามาเป็นผู้ประกาศของไทยรัฐได้ จะต้องเป็นคนแบบไหน จะต้องมีศักยภาพยังไงบ้าง ก็จะต่อเนื่องไปในเรื่องของการคิดกติกา ซึ่งก็จะตกมาอยู่ที่พี่เหมือนกัน

แล้วทำไมเราถึงต้องจัด Workshop?

จริง ๆ เรามองว่าจัด Workshop วันเดียวยังน้อยไปด้วยซ้ำ เราอยากจะทำ Workshop กับทุกคนที่เข้ามาสมัครเลย อย่างใน 300-400 คนที่สมัครเข้ามา เพราะเรารู้สึกว่าเขาเข้ามาไทยรัฐ เขาสนใจไทยรัฐ เขาก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เข้าต้องได้อะไรจากไทยรัฐ ไม่ใช่แค่ว่าเขาส่งใบสมัครเข้ามา เราดูผู้สมัครได้ แต่ผู้สมัครมองไม่เห็นเรา แต่ถ้าเรามีการ Workshop ผู้สมัครก็จะได้เห็นเราด้วย การให้ความรู้กับเขาเป็นสิ่งที่สำคัญ แม้ว่าบางคนที่ไม่ได้ผ่านเข้ารอบลึกๆ หรือไม่ได้ผ่านการคัดเลือก แต่พี่ก็บอกเขานะว่าการเข้า Workshop เป็นประสบการณ์ที่สำคัญมาก อย่างน้อยคุณได้ประกาศให้คนรู้แล้วว่าคุณได้ก้าวเข้ามาอยู่ในไทยรัฐ ได้ก้าวเข้ามามีประสบการณ์ Workshop กับไทยรัฐ พี่เห็นความสำคัญเรื่องนี้นะ ถึงแม้เขาไม่ได้เป็นแต่ก็สามารถถ่ายทอด ความรู้นี้ได้ หรือไม่ในอนาคตเขาเก็บพลังที่ได้จากการ Workshop  เข้ามาเป็นผู้ประกาศข่าวไทยรัฐในอนาคตได้ 

คือพี่เป็นคนคิดคอร์ส Outline เองว่าตั้งแต่เช้ายันเย็น ผู้สมัครควรจะเจอใครบ้าง และแต่ละคนควรจะได้รับการเรียนรู้ในเรื่องอะไรบ้าง และควรจะมีการตอบสนองกับการ Workshop อย่างไรบ้าง และจัดคนที่เหมาะสมมาเติม และเชิญอาจารย์สุภาพ คลี่ขจายมาด้วยตัวเอง

ทำไมถึงคิดไทมไลน์คอร์สแบบนี้ขึ้นมา และดูจากอะไรบ้าง

Concept พี่คือเติมเต็ม ใครที่จะมาเติมเต็มผู้สมัครได้บ้าง แน่นอนคือคนที่มีประสบการณ์ คนที่ผู้สมัครบางคนอาจจะเจอยาก อย่างอาจารย์สุภาพเนี่ยไม่ได้เจอกันง่ายๆ ที่ขนาดระดับปรมาจารย์ นักวิเคราะห์ ที่จะมาถ่ายทอดความรู้ให้กับน้องรุ่นหลาน พี่ก็เลยมองว่าต้องอาวุโสก่อน หลังจากนั้นก็เป็นพี่ ๆ ที่มีประสบการณ์ที่ต่างกันไป 

อย่างพี่มิลค์ (เขมสรณ์ หนูขาว) ที่ไม่ได้เข้ามาในวงการข่าวตั้งแต่ต้น แต่ก็มีความพยายามในการเข้ามาในงานข่าว จนเกิดความน่าเชื่อถือ กลายเป็นผู้ประกาศข่าวหญิงอันดับต้นๆ ของประเทศ เราก็อยากให้น้อง ๆ ได้เจอ ได้แรงบันดาลใจ หรือผู้ประกาศคนอื่น ๆ อย่างพี่เบิร์ด (ณัชฐพงศ์ มูฮำหมัด) เป็นคนที่มีพลัง เป็นพลังที่เขาได้ทำงานข้างนอกและข้างใน และพลังของเขามันมากโข  แล้วอย่างพี่กอล์ฟ (ทัศนัย โคตรทอง) ที่เป็นคนที่นักข่าวมืออาชีพที่ไปลุยพื้นที่ เหตุการณ์หมูป่าแบบนั้น ก็อยากให้เขาได้เรียนรู้ว่าการลงพื้นที่ การลุย คืองานของผู้ประกาศส่วนหนึ่ง ไม่ใช่แค่มานั่งอ่าน 

พี่ก็จะแบ่ง Section แบบนี้เลยว่าจะต้องเจอใครยังไงบ้าง ช่วงบ่ายก็จะมีทดสอบน้อง ๆ เขาหน่อย มีการรายงานสดในสถานที่ที่อาจจะมีปัญหา มีอุปสรรค การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามันเป็นยังไง เพื่อให้เราได้เห็นเขาด้วย เขาเห็นเราครึ่งวันเช้าแล้ว เราก็จะได้เห็นเขาในอีกครึ่งวันบ่าย เลยเป็นคอร์สที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายเลย

พูดถึงความยากง่ายในการคัดเลือกในฐานะกรรมการหน่อย

ยากมาก (หัวเราะ) สมัครเข้ามา 400 กว่าคน แล้วทั้ง 400 กว่าคลิปเนี่ย ดูหมดนะ คือต้องดูด้วยตา กรรมทุกคนต้องดูทั้ง 400 กว่าคลิป อย่างพี่เนี่ยดูหมดจริงๆ จดทุกคนด้วยซ้ำว่าแต่ละคนเนี่ยบุคลิกยังไง คนนี้น่าสนใจยังไง จดประวัติอีก เพราะนอกจากส่งคลิปมา ก็ต้องไปดูประวัติ ดูกันตาแฉะ แต่เราเห็นความตั้งใจของทุกคนจริงๆ บางคนทำคลิปอยู่แล้วใน Tiktok บางคนทำคลิปมาเพื่อไทยรัฐโดยเฉพาะ ซึ่งรอบนี้มันยากด้วยปริมาณ และเราก็ต้องดูคุณภาพของเขาด้วย พอถึงรอบ 10 คน มันตัดเร็วมากนะ คณะกรรมการก็มาสุมหัวคุยกันอีกว่าดีไหม ใช่ไหม บางทีเราเลือกมาเกินสิบเนอะ และก็มาโหวตกัน

และเกณฑ์รอบคัดจากคลิป จะยากแต่ชัดเจนว่าเราอยากได้อะไรบ้าง พอมารอบ 10 คน แล้วเหลือ 5 คนจะไม่เท่าไหร่แล้ว เพราะเราเห็นจากการทำ Demo จากการที่มาทดสอบหน้ากล้อง  จากความเป็นธรรมชาติของเขา จนกระทั่งรอบ 5 คน ก็จะเป็นรอบผู้บริหาร อันนี้ก็จะเจอผู้บริหารสูงสุด ผู้บริหารก็จะถามเอง เป็นรอบของ Attitude ด้วย Passion ด้วย 

ซึ่งในรอบนี้ทั้งสองคนนี้ก็เป็นสุดยอดเหมือนกัน อย่างขวัญ (นัฏฐนันท์ เต็มโชติโกศล) พี่บุ๊คนั่งฟังคำตอบ คือประทับใจมาก มันเป็นคำตอบที่มันมีพลังด้วย เป็นพลังที่เขาถ่ายทอดให้เราได้เห็นว่าเขาจะทำอะไรเพื่อไทยรัฐ และเขาจะทำอะไรเพื่องานข่าวด้วย พี่ก็ขนลุก พี่ก็คุยกับผู้บริหารว่า คนนี้เขามีทัศนคติที่ดีมากจริงๆ ส่วนน้องจูด้งก็จะเป็นแนวของเขาเนอะ ความตลก ความธรรมชาติ ความน่ารัก ความเปิดเผย มันก็เป็นแนวของเขา 

จากซ้ายไปขวา : สืบสกุล พันธ์ดี – เทพฤทธิ์ เอี่ยมต่อม และนัฏฐนันท์ เต็มโชติโกศล

จะพัฒนาสองคนนี้ให้ไปทางไหนต่อ

พอมาถึงตรงนี้เราก็จะเห็นความแตกต่างของทั้งสองคนเนอะ สายขวัญก็จะเป็น Hard News เป็นข่าวคอหลัก ก็จะต้องพัฒนาตามขั้นตอนต่อไป ตอนนี้น้องเขาก็เป็นข่าวหลักทั้งในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เป็นสิ่งที่มาเติมเต็มข่าววันเสาร์อาทิตย์ที่เราต้องการมากๆ และไทยรัฐก็ต้องการ ข่าวหลักวันเสาร์ในตอนเที่ยง เที่ยงนี่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคม เวลา 11:00 – 12:00 น. และทันข่าวเสาร์อาทิตย์ ก็คือข่าวหลักเที่ยงกับเย็นที่เราต้องการเอาน้องขวัญมาเสริมทัพตรงนี้ ส่วนจูด้ง (เทพฤทธิ์ เอี่ยมต่อม) ก็ต้องดูในรายการของ Soft News รายการตะลอนข่าว รายการคู่กัดสะบัดข่าว โดยการออกไปนอกพื้นที่ การลงพื้นที่ไปทำสกู๊ป ไปสร้างสีสันให้รายการมี Dynamic

เห็นอะไรจากโครงการนี้บ้าง

คือที่กรรมการทุกคนคุยกัน พี่มิลค์-เขมสรณ์, พี่อุ๋ย (ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์) หรือพี่เบิร์ด-ณัชฐพงศ์ คือเราเห็นคนที่มีศักยภาพเยอะมากนะ แม้ว่าพื้นที่ในการเป็นผู้ประกาศข่าว เปรียบเทียบอัตรา 1 ต่อหมื่น ต่อแสนเลยนะ กว่าจะได้มาหนึ่งคน แต่พอเปิดโครงการขึ้นมา เราได้เห็นคนที่มีศักยภาพเยอะพอสมควร ดั้งนั้นคนที่มีศักยภาพแบบนี้ สักวันหนึ่งเขาควรจะมาเป็นทีมของเรา ถ้าเรามีพื้นที่ให้เขา เราควรจะเปิดโอกาสให้เขาเรื่อยๆ มันเป็นความสำเร็จของโครงการแหละ ที่ได้เห็นศักยภาพ ของทุกคนที่เข้ามา แค่นี้ก็คุ้มแล้ว 

แล้วจริงๆ ต้องยอมรับว่าตอนแรกที่จะทำโครงการนี้เราไม่แน่ใจว่าจะได้คนรึเปล่า อย่างน้อยก็ได้สักคน อาจจะยังไม่ต้องขึ้นจอเลยก็ได้ แต่เอามาฝึกฝนก่อน เราคิดว่าจริง ๆ หลาย ๆ ช่องก็น่าจะเปิดรับประกาศเหมือนกัน พอทำมาจนจบ 5 คนที่ได้เข้ารอบมาก็มีศักยภาพทุกคน จริง ๆ ตั้งแต่ 10 คนก็ดีหมด มัน Success หมด เพราะแคมเปญนี้คนตอบรับสมัครมาเยอะมาก กลายเป็นว่านอกจากจะเยอะแล้ว ยังมีคุณภาพด้วย และพอได้สองคนมาก็ยิ่งตอบโจทย์อีกว่าเป็นคนสองที่แตกต่างกันด้วย Character ไทยรัฐเองก็แฮปปี้กับเคมเปญนี้ ถ้ามีโอกาสและมีพื้นที่ เราก็อยากจะมีอีกในปีต่อ ๆ ไป ขวัญเองก็อาจจะได้เป็นพี่บุ๊คในอนาคต พี่บุ๊คเองก็อาจจะทำ Workshop ในปีข้างหน้า ขวัญกับจูด้งอาจมาช่วยด้วยก็ได้ ขวัญกับจูด้งเองก็มีประสบการณ์มาแล้ว เขาอาจจะอยากถ่ายทอดให้กับรุ่นต่อไป

ตั้งแต่ทำงานมาในวงการข่าวมา ได้เรียนรู้อะไรในวงการข่าวบ้าง

ได้เรียนรู้เยอะนะ เพราะมันคือการเริ่มต้นในเรื่องที่เราไม่เคยสนใจเลย ไม่เคยคิดที่จะมาอยู่ตรงนี้เลย สิ่งที่เรียนรู้เยอะคือ เราเป็นสื่อ อันนี้สำคัญมาก เราเป็นสื่อ ขึ้นชื่อว่าเราเป็นสื่อกลาง มันคือคนที่ถ่ายทอดจริงๆ อย่างที่พี่บุ๊คบอกตั้งแต่ต้นว่า เราเป็นคนกลางคนเดียวที่รับสารมาจากแหล่งข่าว และเราเอาไปเสนอให้คนเป็นล้าน 60 ล้านคนในประเทศไทย คนนี้มันต้องเป็นคนสำคัญสิ มันเลยสอนเราว่า เราเป็นคนสำคัญในการที่จะสื่อสารข้อมูล และการสื่อสารนั้นต้องเป็นการสื่อสารที่ถูกต้อง ต้องมีจริยธรรม ถึงจะมาเป็นนักข่าวที่อยู่ตรงนี้ได้ หรือจะยั่งยืนได้ 

อีกเรื่องคือการพัฒนาตนเอง มันสำคัญมากนะ คือเราไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับใครหรอก ผู้ประกาศมีมากมาย คนเก่งมีเยอะแยะ เราก็ต้องยอมรับ แต่เราต้องแข่งขันกับตัวเอง พี่บุ๊คทำการบ้านทุกวันนะ ย้อนดูรายการตัวเองทุกวัน ถามว่าเสียเวลาไปกับการย้อนดูทำไม รายการสองสามชั่วโมงพี่บุ๊คก็ดูเต็มนะ แต่มันคือเราได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่นำเสนอไป เราพูดอะไรไปบ้าง เราทำอะไรไปบ้าง มันช่วยพัฒนาเราวันต่อวัน เหมือนเติมเต็มเราทุกวัน พี่บุ๊คทำแบบนี้มาประมาณ 20 กว่าปี ตั้งแต่อยู่ช่อง 5 ถามว่าอ่านข่าวเนี่ย ไม่ใช่อ่านเฉพาะหน้าจอ ทำการบ้านอยู่หลังจอเยอะกว่าอ่านข่าวอยู่หน้าจออีกนะ อย่างเราอ่านข่าวหน้าจออยู่ 2 – 3 ชั่วโมง แต่การทำการบ้านของผู้ประกาศข่าวคือทั้งวัน บางทีอยู่กับข่าวก็ประมาณ 6 ชั่วโมงแล้ว คือที่ต้องนั่งอยู่ตรงนั้นเลย 

แล้วเติบโตอย่างไรในการทำงานข่าว

อย่างทุกวันนี้เราก็เติบโตมาจนมาเป็นหัวหน้าผู้ประกาศข่าว พี่ว่ามันคือจุดสูงสุดของการเป็นผู้ประกาศข่าวเหมือนกันนะครับ ในการที่จะต้องดูแลคนอื่น ๆ  ด้วย เติบโตมาจากคนที่ไม่คิดว่าจะมาทำงานข่าว จนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ และในอนาคตต่อไป พี่บุ๊คมองว่าการเติบโตของพี่คือการดูแลคนอื่นให้เติบโตมาเป็นแบบเรา อันนี้คือสิ่งที่เรามุ่งมั่น

บางคนมองว่าการเป็นผู้ประกาศข่าวอาจจะเป็นงานง่าย

เราเป็นคนสื่อสารเนอะ เราเป็นสื่อกลาง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะแค่หยิบ ตัวหนังสือมาอ่านเป็นข่าว แต่มันคือ ผู้มีอิทธิพลในการสื่อสาร ในการส่งข่าวสาร เราไม่ใช่แค่มานั่งอ่าน แต่เรามีอิทธิพลในการที่คนจะเข้าใจข่าวนั้น ๆ ว่ามันเป็นยังไง ว่าเป็นแบบไหน เราอาจจะแปลงสารนั้นได้ด้วยถ้าเกิดเราผิดพลาด มันมีอิทธิพลในการสื่อสาร มีอิทธิพลต่อการรับรู้  ไม่ใช่แค่คนอ่านข่าว

อยากบอกอะไรให้กับคนที่อยากเป็นผู้ประกาศข่าว

เราจะมีโครงการดีๆแบบนี้ และเปิดโอกาสให้กับทุกคน อยากให้ทุกคนหมั่นฝึกตัวเอง เริ่มต้นก่อนใคร ถ้าเราไม่เริ่มต้นก่อนคนอื่น เราอาจจะช้ากว่าเขา ดังนั้นถึงแม้ไทยรัฐจะเปิด หรือยังไม่เปิดก็ตาม แต่ถ้าเราฝึกฝนตัวเอง สักวันนึง ในวันที่ไทยรัฐเปิดรับ คุณจะเป็นคนที่พร้อมที่สุด และพร้อมจริงๆ เหมือนกับที่ขวัญและจูด้งเล่าให้ฟังว่าเขาศึกษามาก่อน เขาพร้อม เขามีความตั้งใจที่จะเป็น 

คิดว่าคุณสมบัติที่ดีของนักข่าวคืออะไรบ้าง

พี่ว่ามันคือการรู้ข่าวที่แท้จริง ก็คือการศึกษาทำการบ้านอยู่แล้วล่ะ และเราต้องเป็นผู้วิเคราะห์ นักคาดการณ์ นักมองการณ์ไกล พี่ว่าสำคัญมาก ถ้าเราเอาข่าวมาอ่าน หรือแหล่งข่าวพูดอะไร  และมองวิเคราะห์ไปถึงสิ่งที่เขาพูดว่า มันจะต่อยอดไปถึงอะไรได้บ้าง นั่นเป็นสิ่งสำคัญ มุมมองของข่าวก็เป็นสิ่งสำคัญ พี่ว่ามันต้องมีมุมมองข่าว วิเคราะห์ข่าวได้ มีมุมมองที่ดี มีคลังความรู้ 

ทุกท่านสามารถติดตาม “สืบสกุล พันธ์ดี” ได้ทาง
Facebook: https://www.facebook.com/suebsakul.pundee
Instagram: https://www.instagram.com/bookyman_trnews/
TikTok: Thairath_News / Thairath_Ent
และในรายการ “ข่าวเที่ยงไทยรัฐ” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 11.00 น.
ทางไทยรัฐทีวี หมายเลข 32

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า