fbpx

เข้าใจเมืองก่อนเข้าใจนโยบาย : เมื่อกทม. ไม่ได้มีแค่ “ชุมชนสลัม”

เมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมากขึ้นเท่าไหร่ บรรดาผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็มักจะมีไม้เด็ดมาพิชิตใจคนกรุงเทพมหานครอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ การหาเสียงและทำนโยบายซื้อใจประชาชน รวมไปถึงการพัฒนาผลงานให้เกิดการแข่งขันกันเองในกลุ่มผู้สมัคร เพื่อทำให้ตนเองโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าหัวใจหลักสำคัญในยุคนี้ที่ประชาชนต้องการคือ “นโยบายที่เข้าถึงชุมชนและทำได้จริง”

คำถามสำคัญคือ… แล้วเรารู้จักชุมชนในกรุงเทพมหานครดีพอแล้วรึยัง?

ข้อมูลจากกองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ได้สำรวจพื้นที่ชุมชนในแต่ละเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานครเอง พบว่าเรามีชุมชนรวมกันถึง 2,066 แห่ง! และมีการจำแนกชุมชนออกมาเป็นจำนวน 6 นิยามด้วยกัน แล้ว 6 นิยามนี้จะนิยามตัวตนว่าอย่างไรกันบ้าง? วันนี้ Modernist ในแคมเปญ “Modernist Next บางกอก 2022” จะพาพวกคุณทุกคนมาทำความรู้จักว่าแต่ละพื้นที่มีชุมชนแบบไหนมากที่สุดกัน?

รู้จักกับนิยามชุมชนในประเภทต่างๆ

เมื่อแยกนิยามชุมชนออกแล้ว ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน พ.ศ. 2555 ได้จำแนกประเภทของชุมชนเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ออกเป็น 6 ประเภท ซึ่งประกอบไปด้วย

1. “ชุมชนแออัด” หมายความว่า ชุมชนที่มีลักษณะบ้านเรือนหนาแน่น ประชากรอยู่อย่างแออัด
2. “ชุมชนเมือง” หมายความว่า ชุมชนที่มีลักษณะของบ้านเรือนอยู่รวมกันค่อนข้างหนาแน่น แต่ไม่แออัด มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการคมนาคมสะดวก
3. “ชุมชนชานเมือง” หมายความว่า ชุมชนที่มีพื้นที่ด้านเกษตรกรรม มีบ้านเรือนไม่แออัด
4. “เคหะชุมชน” หมายความว่า ชุมชนที่เคยอยู่ในความดูแลของการเคหะของชาติ รวมทั้งชุมชนที่การเคหะแห่งชาติยังคงดูแลอยู่ แต่ได้ให้ความยินยอมในการจัดตั้งเป็นชุมชนได้
5. “ชุมชนอาคารสูง” หมายความว่า ชุมชนที่มีสภาพเป็นแฟลต คอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ หรืออาคารอย่างอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน ยกเว้นแฟลตของการเคหะแห่งชาติที่เป็นนิติบุคคล
6. “ชุมชนหมู่บ้านจัดสรร” หมายความว่า ชุมชนที่มีการจัดสร้างขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ยกเว้นที่เป็นนิติบุคคล

หลายคนอาจจะนึกถึงเมืองกรุงเทพฯ ว่าชุมชนที่อาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่คงต้องเป็นชุมชนแออัดอย่างแน่นอน เพราะภาพจำในละครหลายๆ เรื่องก็สะท้อนถึงชุมชนแออัดเป็นหลัก ซึ่งในภาพละครก็บอกอีกว่าชุมชนแออัดเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ (ถ้าเราลองดูละครหลายๆ ช่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะนึกและจำได้อย่างแน่นอน) แต่ถ้าจำแนกตามประเภทจริงๆ แล้ว เราพบว่าประเภทชุมชนที่เยอะที่สุดคือ ชุมชนเมือง มีจำนวนมากถึง 658 แห่ง รองลงมาคือชุมชนชานเมือง 473 แห่ง ถัดจากนั้นถึงเป็นชุมชนอาคารสูง 426 แห่ง, ชุมชนหมู่บ้านจัดสรร 355 แห่ง, ชุมชนแออัด 85 แห่ง และเคหะชุมชน 69 แห่ง

5 อันดับเขตที่มีชุมชนเมืองมากที่สุด

หากนับจำนวนเฉพาะชุมชนเมือง จะพบว่าชุมชนที่มีจำนวนชุมชนเมืองมากที่สุด แบ่งตามเขตการปกครอง 5 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ 47 แห่ง, เขตธนบุรี 44 แห่ง, เขตบางพลัด 41 แห่ง, เขตคลองสาน 35 แห่ง และเขตบางกอกน้อย 33 แห่ง จากจำนวนชุมชนทั้งหมด 658 แห่ง

5 อันดับเขตที่มีชุมชนชานเมืองมากที่สุด

เมื่อมีชุมชนเมืองแล้ว ก็ต้องมีชุมชนชานเมือง และเมื่อกางแผนที่กรุงเทพมหานครมาดูก็จะพบว่าชุมชนชานเมืองที่มีจำนวนมากที่สุด อยู่ที่เขตสวนหลวง จำนวน 42 แห่ง รองลงมาได้แก่ เขตจอมทอง 36 แห่ง, เขตภาษีเจริญ 35 แห่ง, เขตประเวศ 30 แห่ง และเขตดุสิต 27 แห่ง จากทั้งหมดที่มีคือ 473 แห่ง

5 อันดับเขตที่มีเคหะชุมชนสูงที่สุด

ในขณะที่เคหะชุมชน จากจำนวนทั้งหมด 69 แห่งนั้น มีเขตที่มีจำนวนมากที่สุด และคว้าไปเกือบครึ่งหนึ่งจากทั้ง 69 แห่ง คือเขตหลักสี่ มีทั้งหมด 31 แห่ง รองลงมาคือเขตลาดกระบัง 16 แห่ง, เขตบางขุนเทียน 6 แห่ง, เขตคลองเตย 4 แห่ง และเขตสายไหม 3 แห่ง นอกจากนั้นยังมีอีก 1 แห่งในพื้นที่เขตหนองจอก, สะพานสูง, มีนบุรี, ปทุมวัน, บางนา, บางเขน และคลองสามวา และที่เขตดินแดงมีอีก 2 แห่ง

5 อันดับเขตที่มีชุมชนอาคารสูงมากที่สุด

นอกเหนือจากนั้น ยังมีชุมชนอาคารสูงที่มีมากกว่า 426 แห่ง ซึ่ง 5 เขตที่มีชุมชนอาคารสูงมากที่สุด คือเขตดอนเมือง 73 แห่ง, เขตสายไหม 48 แห่ง, เขตบางเขน 36 แห่ง, เขตลาดพร้าว 26 แห่ง และเขตคลองสามวา 25 แห่ง

5 อันดับเขตที่มีชุมชนหมู่บ้านจัดสรรมากที่สุด

แน่นอนว่าถ้าไม่พูดถึงหมู่บ้านจัดสรร เราถือว่าพลาดเป็นอย่างมาก เพราะกรุงเทพมหานครขึ้นชื่อเรื่องหมู่บ้านจัดสรรพอสมควร ฉะนั้นถ้ามากางดูจากจำนวนทั้งหมด 355 แห่ง เขตที่มีชุมชนหมู่บ้านจัดสรรสูงที่สุดตกเป็นของ เขตหนองจอก 82 แห่ง, เขตคลองสามวา 56 แห่ง, เขตหนองแขม 44 แห่ง, เขตมีนบุรี 31 แห่ง และเขตลาดกระบัง 30 แห่ง

5 อันดับเขตที่มีชุมชนแออัดมากที่สุด

และมาถึงเขตที่มีชุมชนแออัดมากที่สุด ซึ่งการจากสำรวจของกรุงเทพมหานคร พบว่าเขตหลักสี่และพญาไท มีทั้งหมด 12 แห่ง รองลงมาคือเขตบางเขน 11 แห่ง, เขตดุสิต 10 แห่ง และสองเขตที่มีจำนวนเท่ากัน คือ 6 แห่ง ได้แก่ เขตจตุจักรและเขตราชเทวี ในขณะที่เขตประเวศมีทั้งหมด 3 แห่ง, เขตที่มีชุมชนแออัด 2 แห่ง ได้แก่ เขตหนองแขม, เขตลาดพร้าว, เขตปทุมวัน, เขตทุ่งครุ, เขตคันนายาว และเขตคลองเตย ในขณะที่เขตที่มีชุมชนแออัด 1 แห่ง ได้แก่ เขตคลองสาน, เขตจอมทอง, เขตบางกอกน้อย, เขตบางรัก, เขตบางนา, เขตบางซื่อ, เขตบางคอแหลม, เขตมีนบุรี, เขตสาทร และเขตห้วยขวาง

สรุป 5 อันดับเขตที่มีความหนาแน่นของชุมชนมากที่สุด

จากทั้ง 6 อันดับพื้นที่ชุมชนแต่ละประเภทที่มีจำนวนมากที่สุดแล้ว เมื่อมารวมกันจะพบว่าเขตที่มีประเภทชุมชนทุกประเภทรวมกันมากที่สุด คือเขตหนองจอก มี 97 แห่ง รองลงมาได้แก่ เขตดอนเมือง 95 แห่ง, เขตคลองสามวา 83 แห่ง, เขตหลักสี่ 81 แห่ง และเขตสายไหม 79 แห่ง โดยเขตหนองจอกเป็นเขตที่มีชุมชนหมู่บ้านจัดสรรมากที่สุด ในขณะที่เขตดอนเมืองเป็นเขตที่มีชุมชนอาคารชุดมากที่สุด ส่วนเขตหลักสี่เป็นเขตที่มีชุมชนแออัดและเคหะชุมชนมากที่สุด

มาถึงตอนนี้แล้ว เราก็อยากให้ข้อมูลชุดนี้เป็นข้อมูลชุดสำคัญสำหรับทั้งผู้อ่าน ซึ่งก็คือประชาชนทั่วไปได้เข้าใจมากขึ้นว่านโยบายที่สำคัญสำหรับเมืองหลวงยุคนี้ ต้องเป็นนโยบายที่เหมาะกับแต่ละพื้นที่เขตการปกครอง ในขณะที่คนกำหนดนโยบายก็ต้องจัดลำดับนโยบายและความสำคัญให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน เพื่อทำให้นโยบายที่นำเสนอไปเกิดขึ้นได้จริง

ติดตามกับซีรีส์ข้อมูล “Modernist Next บางกอก 2022” ได้ทางเว็บไซต์ themodernist.in.th/nextbangkok2022 และบน Facebook, Instagram และ Twitter ของ Modernist (@lifeatmodernist) ตั้งแต่วันนี้จนจบการเลือกตั้ง (22 พฤษภาคม 2565)

ข้อมูลอ้างอิง
ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน พ.ศ. 2555
กองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า