fbpx

ครบรอบ 19 ปี เบญจา คีตา ความรัก กับหลักไมล์ละครทีวีคุณภาพที่จากไปแล้ว

“เมื่อเรามีกัน มีความฝัน มีดนตรี”

เนื้อเพลงที่คุ้นหูจากละครในตำนานอย่างเบญจา คีตา ความรัก (2546-2547) ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกระแสรำลึกการครบรอบ 19 ปี และเป็นผลงานไว้อาลัยให้กับการจากไปของนักแสดงสาวอย่างแตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ ในช่วงที่ผ่านมา อาจจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าละครไทยนั้น จริงๆ แล้วก็ “ยังมีพลังสร้างสรรค์” อยู่ไม่น้อย และอาจจะไม่ใช่คำเพ้อเจ้อดูถูกต่อวงการคอนเทนต์ของบ้านเราไปเสียทั้งหมด หากแต่การเปลี่ยนแปลงของสังคม การเมือง และวัฒนธรรมป๊อปในบ้านเรา มันเหมือนจะถดถอยไปจนไม่เหลือสิ่งขึ้นหิ้งไว้อีก

การเดินทางมาอย่างยาวนานของเบญจา คีตา ความรัก นั้นไม่เพียงแต่สร้างการรำลึกเป็นหลักไมล์รายปี แต่หากเรามองไปในรายละเอียดต่างๆ ในเนื้อละครเรื่องนี้ มันคือปรากฎการณ์ครั้งใหญ่ในหน้าคอนเทนต์ไทย ที่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีเรื่องไหนสร้างปรากฎการณ์ที่เป็นตำนานแบบนี้ได้อีก

ในวันที่เจอกับความเหงา ก็มีเพื่อนเราที่คอยชิดใกล้

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ช่องเจ็ด ถือเป็นช่องตลาดการละครที่มีหลากรสชาติ ครองใจตลาดละครบ่ายและเย็นเรื่อยมา ด้วยรูปแบบการถ่ายละครประเภท “ถ่ายไป-ออนไป” รายสัปดาห์ จึงทำให้ตัวละครเป็นเรื่องราวที่อัพเดทใกล้ชิดกับกลุ่มคนดูเป็นประจำ ในยุคที่ช่องทีวียังมีตัวเลือกไม่มากเท่าปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ละครช่องเจ็ด ในสมัยก่อนนั้น เนื้อหายังวนเวียนอยู่กับเรื่องราวความรักของชนชั้น ความรวยความจน ความทุกข์ระทมของรักที่โดนกดทับจากความลำบาก หรือตำรับละครตบตีเมียหลวงเมียน้อย ก็ยังวนเวียนมาออนแอร์แยู่ตลอด

จนกระทั่งการมาถึงของเบญจา ตีตา ความรัก เหมือนมาเพื่อพลิกทุกอย่างที่เคยเป็นในตอนนั้น กับการที่แปลกมาตั้งแต่ชื่อเรื่องที่เป็นวลีสามคำ บอกเป็นคอนเซปต์ของเรื่องแทนที่จะเป็นคำคล้องตามชื่อละครทั่วไป “เบญจา-5” “คีตา-ดนตรี” นำมาประกอบกับคำว่า “ความรัก” และรวมกันนำเสนอเป็น “ละครวัยรุ่น” อย่างเต็มรูปแบบ เรื่องราวหลักของเรื่องไม่ใช่การตะกายดาว การสู้ชีวิตของชนชั้นหนึ่ง หรือครอบครัวของเด็กกำพร้าแบบที่ผ่านมา แต่เป็น “วัยรุ่น ดนตรี และความรัก” ซึ่งเป็นการเข้าถึงกลุ่มคนดูอีกชุดหนึ่งอย่างสิ้นเชิง เรื่องราวของมิตรภาพในรั้ววิทยาลัยดนตรี โดยเล่าผ่านกลุ่มนักแสดงรุ่นใหม่ยกเซ็ตของช่องทั้งหมด ละครที่มาในรูปแบบโรแมนติกคอมมาดี้อารมณ์ดี ไม่ต้องดราม่านองน้ำตาเหมือนเรื่องอื่นๆที่ผ่านมา

แม้จะช่องเจ็ดจะมีการปูละครที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นมาก่อนหน้านั้นแล้ว อย่างแดนซ์ไม่เซ่อเลยเจอรัก (2546) มาเพื่อชิมลาง แต่ภาพนำเสนอของเบญจา คีตา ความรัก ที่มาพร้อมกับการเปิดไตเติ้ลละครด้วยเพลงป๊อป และรูปแบบของวงดนตรีขนาดใหญ่นั้นชัดกว่า เป็นเหมือนรายการดนตรีที่เอานักแสดงมาร้องเพลงมากกว่าเป็นละคร ยิ่งเป็นการทำให้ความแปลกใหม่นี้ ติดตาคนดูในตอนนั้นเป็นอย่างมาก จนทำให้ตลอดเวลาทั้ง 13 ตอนที่ออนแอร์ ก็สามารถพิชิตเรตติ้งที่ดีที่สุดของช่วงเวลานั้นไปได้

ถูกใจคนไหน ชอบคนไหน

นักแสดงที่มีความหลากหลายอย่างแท้จริงของเบญจา คีตา ความรัก แบ่งออกเป็น 5 คู่ 5 สไตล์อย่างชัดเจน คาแรกเตอร์ที่ชัด และมีความขัดแย้งกันอย่างลงตัว ทำให้เกิดกระแสการจับจอง “เมน” ของคนดูตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมป๊อปที่มาก่อนกาล ก่อนที่จะมีการผลิตไอดอลและกลุ่มแฟนคลับที่จับจองเมนคนโปรดที่เพิ่งมีมาในยุคหลังนี้เสียอีก

คู่พระนางทั้ง 5 คน มีความแตกต่างกันในหลายๆประเด็น เริ่มจากกลุ่มพระเอกที่เป็นตัวท็อปของโรงเรียน อยู่ฟากฝั่งของดนตรีสากล ที่เป็นตัวแทนของความติดตลาด การได้รับการชื่นชมในความหล่อเหลา กระแสนิยมสมัยใหม่ ถูกจับมาคู่กับขั้วตรงข้ามของกลุ่มนางเอกที่เรียนดนตรีไทย เป็นตัวแทนของสิ่งที่กำลังจะตายหายไปจากสังคมแล้ว ซึ่งทั้งสองขั้วนี้ ต้องหาจุดสมดุลที่จะต้องอยู่ร่วมกันเป็นสายสัมพันธ์แห่งดนตรีที่แน่นแฟ้นขึ้นมาได้ ซึ่งถือเป็นเนื้อหาที่ทันสมัยมาก และมีประโยชน์ต่อการอุ้มชูความเป็นไทย ให้ไปในรูปแบบป๊อปสากลได้อย่างสมดุล

ซึ่งการจับคู่พระนางทั้ง 5 เบญจานั้น ยังเน้นความเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างชัดเจน ผู้ชายสีขาวดนตรีคลาสสิค-นางเอกขาร็อคสีดำกีตาร์ไฟฟ้า ผู้ชายติดดิน-นางเอกติดเทคโนโลยี ผู้ชายเจ้าชู้-ผู้หญิงเรียบร้อย ผู้ชายมีระเบียบ-ผู้หญิงซุ่มซ่าม ผู้ชายสายกีฬา-ผู้หญิงนักดนตรี ความคู่ตรงข้ามที่ชัดเจนแบบนี้ ช่วยขับชูให้ตัวละครแต่ละคู่กลายเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์

และแม้แต่ฝั่งตัวร้ายเอง ที่ไม่ได้มาในรูปแบบของนางร้ายละครไทย ชุดแดง ทาปากแดง กรี๊ดกร๊าดวี้ดว้ายเพื่อเป็นบ้าหรือตายไป แต่เป็นครั้งแรกที่เราเห็นตัวละครเป็นแกงค์วัยรุ่นสาวร้ายๆในวิทยาลัยดนตรี เป็นตัวแม่ ตัวแรงรุ่นพี่ ที่ไม่ชอบให้ใครมาเทียบรัศมีของตัวเองได้ ประหนึ่งตัวร้ายของหนังวัยรุ่นอเมริกันผมบลอนด์ที่ทั้งแก๊งจะต้องมีสามเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทันสมัยมากในช่วงเวลาเดียวกัน และการนำเสนอภาพของตัวร้ายในลักษณะสาวมั่น ที่แม้แต่คนดู ก็อยากจะจับจองเป็นตัวละครฝั่งตัวร้ายไม่แพ้กับฝั่งตัวดี

เส้นทางของฉัน

แม้จะเป็นละครวัยรุ่นอย่างเต็มรูปแบบ แต่ความช่องเจ็ด ความไทยที่ยังเข้มข้นก็ยังสอดแทรกอยู่ในเนื้อละครเหมือนเดิม กับการพูดถึงกลืนกินของทุนนิยมใหญ่ อย่างเจ้าของห้างที่พยายามจะไล่ที่ร้านโลงศพเล็กๆ ออกไปจากตรอก และการนำเสนอภาพของเพลงป๊อป ให้เหมือนเป็นภาพแทนของความทันสมัยของตะวันตกที่กำลังจะเข้ามากลืนกินสิ่งที่เป็นรากเหง้าเดิมของความเป็นไทย กลุ่มทุนที่พ่วงกับนักการเมือง และการใช้คลื่นเสียงในการควบคุมจิตใจของคนเพื่อผลประโยชน์ เป็นสิ่งที่สะท้อนการเมืองยุคสมัยการเมืองนั้น ซึ่งละครออนแอร์ในช่วงปี 2546 ถึงต้นปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดปัญหามากกับการที่กลุ่มทุนใหญ่มีโอกาสเข้ามาในสนามการเมืองนั่นเอง

แต่แม้จะเป็นการนำเสนอที่หนักหน่วงและยังติดกับดักความเป็นไทย ช่วงปัญหาของการมองกลุ่มทุนเป็นทุนนิยมสามานย์อยู่มาก แต่ด้วยการที่เรื่องได้พุ่งความสำคัญมายังวัยรุ่นแทนวัยผู้ใหญ่ และนำเสนอมันในรูปแบบของป๊อป ทำให้เนื้อหาที่หนักหน่วงนั้น กลายเป็นความคอมมาดี้ และไหลเรื่องราวไปอย่างมีท่วงทำนองที่น่าสนใจ รวมถึงการให้ตอนจบของเรื่องเป็นการหาจุดกึ่งกลางที่สมดุลได้ระหว่างความไทยและสากล กับฉากคอนเสิร์ตที่สาวๆจากดนตรีไทย ได้จัดแสดงคอนเสิร์ตร่วมกับดนตรีสากลอย่างทันสมัย ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่พบคอนเทนต์ที่เป็นละครเพลงไทยและสากลที่สามารถหาจุดกึ่งกลางสมดุลได้แบบเบญจา คีตา ความรักอีกเลย

และตลอดเวลา 19 ปี ก็มีการพูดถึงการนำละครเรื่องนี้มารีเมคอยู่บ่อยครั้ง แต่ทว่าโปรเจ็คก็ต้องพับปิดไป พร้อมด้วยการทักท้วงจากแฟนละครจำนวนมากว่า “อย่าหาทำ” เด็ดขาด เพราะเบญจา คีตา ความรัก เป็นตำนานและขึ้นหิ้งมาก ต้นฉบับทำไว้ดีเกินกว่าจะมีเวอร์ชั่นรีเมคมาทำให้ความศักดิ์สิทธิของมันหายไป

และนั่นทำให้ละครเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ไม่เคยมีการรีเมค และขึ้นเป็น Original Series ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งของวงการละครไทยตลอดกาล

ก็เพราะเรามีดนตรีในหัวใจ

“เหมือนพวกเราเป็นผู้มาก่อนกาลเลยนะ คือเรามีหลายคู่ แล้วก็มีเพลง ทุกคนก็ได้ร้องเพลง แล้วเพลงก็วัยรุ่น คือเรามาก่อนในหลายๆ เรื่อง”

– เมี่ยง อติมา (Sing With Me EP.9)

องค์ประกอบอีกอย่างที่สำคัญของเบญจา คีตา ความรัก ที่ทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมป๊อปที่ประสบความสำเร็จมาตลอด 19 ปี นั่นคือ “อัลบั้มเพลงประกอบละคร”​ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยืนยันความ “มาก่อนกาล” อย่างแท้จริงของความเป็น Soft-Power ที่ควรเป็น เพราะหากเรามองมาที่ยุคปัจจุบัน ที่วงการ Soft-Power ที่ประสบความสำเร็จไปทั่วโลกอย่าง K-Pop นั้น องค์ประกอบที่สำคัญนั้น ไม่เพียงแต่คอนเทนต์เท่านั้นที่ส่งออกไปทั่วโลก แต่เพลงของไอดอลและศิลปินในวงการ ที่ทั้งประกอบละครและซิงเกิ้ลเดี่ยวในอุตสาหกรรมดนตรี ก็เคียงคู่ตามไปด้วยกันอย่างสง่างาม

เบญจา คีตา ความรัก เป็นอัลบั้มเพลงประกอบละคร ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 12 เพลง และแต่ละเพลงมีความหมายและสไตล์ที่แตกต่างมาก เพลงเปิดตัวอย่างดนตรีในหัวใจ ที่แค่เปิดตัวไตเติ้ลละครมาก็แปลกใหม่ ไม่เหมือนกับเพลงละครเรื่องอื่นๆ กับการขับชูเรื่องมิตรภาพและดนตรีเป็นเนื้อหาหลัก ไม่ปรากฎเรื่องราวความรักแบบเศร้าหมองแบบที่เพลงรักเพลงละครโดยทั่วไปนำเสนอ 

เมื่อเรามีกัน มีความฝัน มีดนตรี และยังคงมีพลังสร้างสรรค์

รวมถึงเพลงอื่นๆ อย่าง “ฉันไม่ใช่เจ้าชาย” ที่เป็นเพลงช้าบอกรักแบบวัยรุ่น ก็กลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ท เพลง “เพื่อวันที่ดีกว่า” ที่มีเนื้อหาแบบเพลงเพื่อชีวิต แต่นำเสนอในรูปแบบเพลงป๊อป หรือแม้แต่เพลง “ไม่ว่าง” ที่เนื้อหาจิกกัดประชดประชัน ก็กลายเป็นหนึ่งในเพลงตำนานที่หลายคนยังร้องมาได้จนถึงปัจจุบัน ทั้งๆที่เป็นเพลงของฟากฝั่งตัวร้ายของเรื่อง รวมไปถึงเพลงที่ดัดแปลงมาจากท่วงทำนองเพลงไทยสากลยุคเก่า อย่าง “สายชล” หรือ “ตราบสิ้นลมหายใจ” ที่มีเนื้อหาแบบยุคเก่า แต่กลับถูกรวมเข้ามาในอัลบั้มเพลงประกอบละครที่ป๊อป และร้องโดยนักแสดงวัยรุ่นได้อย่างลงตัว

ซึ่งตัวเพลงประกอบละครทั้ง 12 เพลง ได้นำเสนอความเป็นเบญจา คีตา ความรัก อย่างตรงประเด็นหลักของละครทั้งเรื่อง ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ที่ละครได้เล่าไปและมีเพลงประกอบ

แต่สิ่งที่เป็นความน่าทึ่งมากๆ อีกอย่างคือ เราต้องอย่าลืมว่าละครเรื่องนี้ถูกผลิตขึ้นมาผ่านกระบวนการแบบ “ถ่ายไปออนไป” ในสมัยนั้น ซึ่งกระบวนการทำงานอยู่บนพื้นฐานที่จำกัดและเร่งรีบ เหล่านักแสดงและทีมงานที่ต้องทำงานให้เสร็จตามเวลาออนแอร์ในแบบละครช่องยุคอนาล็อก ซึ่งถือเป็นงานหินของกองละครยุคนั้น ที่จะแหวกแนวออกมาทำละครเพลงวัยรุ่นจนประสบความสำเร็จได้ซักเรื่องจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งทีมงานและนักแสดงที่ทำงานในกระบวนการทีวียุคนั้น จะแทบไม่รู้ว่าหลักไมล์ความสำเร็จของตัวละครอยู่ในระดับไหนจนกว่าละครจะออนแอร์ไปแล้ว เพราะไม่มีโซเชียลมีเดีย มีเพียงระบบเรตติ้งที่เจ้าของช่องเป็นผู้ถือข้อมูลดูแลเท่านั้น

จนกระทั่งละครและเพลงประกอบ ยืนยันความสำเร็จอย่างงดงามในรายการ 7 สีคอนเสิร์ต เป็นครั้งแรกที่เหล่านักแสดงได้ไปโชว์ตัวครั้งแรกหลังจากละครออนแอร์ และกลายเป็นปรากฎการณ์เบญจา คีตา ความรักฟีเวอร์ไปทั่วประเทศ ถือเป็นจุดสูงสุดของละครเรื่องนี้ 

และยังคงเป็นเช่นนั้นต่อมาอีก 19 ปีต่อมา

เพื่อวันที่ดีกว่า จะเดินไปข้างหน้า ด้วยศรัทธาที่เต็มเปี่ยมในหัวใจ

เนื่องจากเป็นละครยุคเก่า ทั้งรูปแบบการถ่ายไปออนไป ที่อาจจะทำให้มีบางช่วงบางตอนของเนื้อละครนั้นประดัดประเดิดอยู่หลายจุด แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การใช้แว่นของยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขันทางคอนเทนต์สูงแบบดิจิตอลสตรีมมิ่ง การกลับไปมองเบญจา คีตา ความรัก ในอดีต เราอาจจะรู้สึกติดขัดในหลายประเด็นอยู่บ้าง ซึ่งในปัจจุบัน เบญจา คีตา ความรัก ถูกนำกลับมาให้รับชมได้อีกครั้งใน Bugaboo Inter ซึ่งเป็นระบบ Streaming ของทางช่อง 7HD 

แต่ถึงแม้จะเป็นละครยุคเก่า ที่เต็มไปด้วยจุดสะดุดในแว่นสมัยใหม่ แต่ด้วยหลักไมล์ความ “ใหม่และสด” ของวงการคอนเทนต์ยุคนั้น ทำให้ตัวละครถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งและกลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำ ทั้งตัวเนื้อละคร นักแสดง และเพลงประกอบ เป็นสามองค์ประกอบที่เป็นฐานที่แข็งแรงของการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Soft Power แบบไทยที่ควรเป็น

“จริงๆ เบญจา คีตา ความรัก เนี่ย มีคนพูดถึงทุกปี แล้วเราโชคดีที่ได้เล่นเรื่องนี้ ได้มาเจอเพื่อน ได้มาเจอทีมวัยรุ่นด้วยกัน”

– บิ๊ก ภูชิสะ (Sing With Me EP.9)

และมันเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว ความสร้างสรรค์ของคอนเทนต์ไทยนั้นมี และมีมานานแล้ว แม้แต่ในยุคที่อะไรๆที่เป็นโลกดิจิทัลยังไม่พร้อมมาก ระบบการคิดละครยังยืนพื้นอยู่บนฐานของการป้อนละครให้ตรงตามเวลาออนแอร์อยู่เลยด้วยซ้ำ แต่ความป๊อปที่อมตะ ก็ยังสามารถงอกออกมาได้จนกลายเป็นตำนาน

ซึ่งเมื่อเทียบกับในยุคนี้ ที่ความพร้อมของการนำเสนอละคร กระบวนการทำงานที่มีโอกาสผ่านช่วงคิดที่ไม่เร่งร้อน การทำเพลง ระบบรีรัน การ Streaming คุณภาพงานที่พร้อมกว่าตอนนั้นมาก เรากลับมองหาคอนเทนต์น้ำดีที่จะกลายเป็นตำนานได้ยากขึ้นทุกที

“วันนี้เรามีแล้วทุกสิ่ง มีพร้อมแล้วทุกๆอย่าง สิ่งที่ฝันก็เป็นได้ดั่งใจ 
บนถนนของการเริ่มใหม่ มีแต่วันดีดี
แต่เราก็ยังไม่เคยลืม ทางที่เราได้ข้ามมา กับปัญหาทุกอย่างที่เคยมี 
เราเข้มแข็งได้ในวันนี้ ก็เพราะมีความฝันอันยิ่งใหญ่ 
เราไม่เคยท้อ ไม่เคยจะหมดหวัง ยังมีแรงที่จะมุ่งไป”

เนื้อเพลงเพื่อวันที่ดีกว่า จากตัวละคร ที่เหมือนจะส่งข้อความบางอย่างผ่านกาลเวลามาตลอด 19 ปี อาจจะพูดถึงสิ่งที่วงการคอนเทนต์ไทยจะเดินต่อไปได้เป็นอย่างดี ว่าหลังจากนี้เราจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าได้หรือไม่

ละครน้ำดีที่จะกลายเป็นตำนานขึ้นหิ้งต่อไปในอีก 19 ปีข้างหน้านี้จะเป็นไปได้หรีอไม่อย่างไร

ละครน้ำดี แบบที่เบญจา คีตา ความรัก เคยกรุยทางไว้ให้เรา

ภาพประกอบ: ช่อง 7 HD, ดาราวิดีโอ, Bugaboo Inter, Camy Channel

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า