fbpx

เรียนรู้วัฒนธรรม “ละครน้ำเน่า” ต้นเหตุฉุดรั้งอุตสาหกรรมทีวีไทยไม่ไปไหนสักที?

ว่าจะกล่าวบทไป จากกระแสการเปิดห้อง Clubhouse เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเกี่ยวกับประเด็นละครไทยภายใต้ชื่อห้องและชื่อ Hashtag #เพราะอะไรละครไทยถึงไม่ไปไหนสักที ได้สร้างปรากฎการณ์การวิจารณ์ถึงละครที่มีฉากที่ไม่เหมาะสม ทั้งการเหยียดอัตลักษณ์ทางบุคคล ฉากข่มขืน จนไปถึงการวิจารณ์ความไม่เหมาะสมของบทและการไม่สนับสนุนขององค์กรภาครัฐ รวมไปถึงช่องเองก็ทำให้ขาดมิติในการพัฒนาละครไทยได้

วันนี้ส่องสื่อจะพาไปทำความเข้าใจมากขึ้นว่าละครไทยแบบน้ำเน่าเกิดขึ้นอย่างไร และมันแฝงอะไรเอาไว้บ้าง ซึ่งข้อมูลบางส่วนหยิบยกมาจากหนังสือชื่อ “อ่านทีวี : การเมืองวัฒนธรรมในจอโทรทัศน์” ซึ่งเขียนและเรียบเรียงโดย สมสุข หินวิมาน (สนใจไปลองหาซื้อกันได้นะ) แน่นอนว่าเราจะเอามากลั่นอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เนื้อๆ กันเลยทีเดียว ติดตามในบทความนี้กันครับ

ทำความเข้าใจนิยามของละครน้ำเน่าก่อน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าละครน้ำเน่ามีรากฐานศัพท์มาจากคำว่า “Melo-drama” ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าคำว่า “melody” และ “drama” แปลกันง่ายๆ เลยก็คือการแสดงที่ใช้ท่องทำนองผสมเข้ามาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความรู้สึก หรือการกระทำ ซึ่งในเมืองไทยมีละครหลายประเภทมากที่ถูกแบ่งออกมา ไม่ว่าจะเป็น ละครแนวชีวิตที่เน้นการต่อสู้ชีวิต จากแร้งแค้นสู่ความสำเร็จ (คงจะประมาณคล้ายๆ อายุน้อยร้อยล้านไรงี้) หรืออีกประเภทที่ถูกสานต่อมาถึงปัจจุบันคือละครหลังข่าว อันเป็นช่วงเวลาบันเทิงที่พักผ่อนจากข่าวสองทุ่มบ้าง อีกแนวที่ถูกวิจารณ์บ่อยๆ และเป็นภาพติดตาไปแล้วคือละครแนวผัวๆ เมียๆ ที่มีเนื้อหาซ้ำซาก วนอยู่แต่เรื่องในครอบครัว ซึ่งมีแยกออกมาเป็นละครแนวอิจฉาริษยาด้วย แนวชิงรักหักสวาท รักๆ ใคร่ๆนี่แค่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะแบ่งเป็นแบบไหน ก็จะสื่อไปในแง่ลบทั้งสิ้นเลย

คำถามคือแล้วนิยามของละครน้ำเน่าคืออะไรกันแน่? ถ้าจะถามแบบนี้ก็คงต้องถามกลับไปว่า “แล้วเธอถามใครล่ะ?” ถ้าเธอถามคนทำ (ในทีนี้คือ “ผู้ผลิต” อันประกอบไปด้วยสถานีโทรทัศน์ หรือผู้จัดละคร) ก็คงจะตีความว่า เป็นงานสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ ซึ่งรายได้ก็มาจากผู้สนับสนุนละคร (โฆษณานั่นแหละ) ส่วนในมุมมองของคนดูบางส่วนก็คงจะมองว่าก็คือความสุขชั่วครั้งชั่วคราว เพราะละครแต่ละเรื่องมักมีจุดเริ่มและจุดจบที่แตกต่างกันไป

สำหรับในมุมมองของนักวิชาการด้านสื่อ กลับตีความของละครน้ำเน่าคือวัฒนธรรมประชานิยม หรือ popular culture ซึ่งถ้าตีความประเภทของละครน้ำเน่าตามที่ Raymond Williams ได้วิเคราะห์ไว้ก็จะแบ่งเป็น 4 นิยาม คือ

  1. ละครน้ำเน่าเป็นสิ่งที่นิยมในหมู่ประชากรจำนวนมาก
  2. ละครน้ำเน่าเป็นกากที่เหลือจากวัฒนธรรมชนชั้นสูง ซึ่งจะทำให้ตีความได้ว่าไม่มีคุณค่า ไม่จรรโลงสังคม ไม่มีราคาใดๆ
  3. ละครน้ำเน่าเป็นผลผลิตที่สร้างมาอย่างพิถีพิถัน เพื่อเอาชนะความรู้สึกของมวลชน ซึ่งถ้าเทียบเชิงทุนนิยม ละครน้ำเน่าก็เปรียบเสมือนสินค้าเพื่อบริโภค
  4. ละครน้ำเน่าเกิดขึ้นเพื่อตนเอง โดยตนเอง และเป็นของตนเอง

ละครน้ำเน่า : บ่อโคลนท่ามกลางแม่น้ำสีใส?

ภาพจากละคร “เมียแต่ง”

ถ้าพูดกันตามหลักความเป็นจริง ละครน้ำเน่ามักถูกสร้างขึ้นด้วยสองประการ ประการแรกนั่นก็คือการช่วงชิงเรตติ้งของผู้ชมและดึงเม็ดเงินโฆษณาให้เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่คนดูนิยมเปิดโทรทัศน์อย่างมาก กับประการที่สองคือการสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม บวกกับการให้ประสบการณ์หรือแง่คิดสอนใจต่างๆ กับเราได้

แล้วทำไมละครโทรทัศน์จึงสร้างความบันเทิงให้กับคนดูได้? Roger Silverstone ได้ใช้แนวคิดของการเล่นมาอธิบายว่าโดยปกติแล้วโลกของสื่อบันเทิงมักจะสร้างความแตกต่างกันไปในชีวิตประจำวัน และเป็นพื้นที่ที่ให้เราสามารถจินตนาการได้ โดยมีลักษณะสำคัญอยู่ 5 ข้อ ได้แก่

  • New Freedom ละครทีวีถือว่าเป็นเสรีภาพในยุคสมัยใหม่ ใครก็สามารถจินตนาการตัวละครขึ้นมาได้ตลอด
  • New Rule กฎต่างๆ ที่ในชีวิตจริงจะไม่เกิดขึ้น ในละครกลับสามารถทำแบบนั้นได้
  • New Pleasure การสร้างความพึงพอใจใหม่ๆ ขึ้นในชีวิตของละคร ที่ในชีวิตจริงไม่สามารถสร้างได้
  • Surprise ละครสามารถสร้างเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดที่ในชีวิตไม่สามารถเกิดได้เลย
  • Security ละครถือเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในการหยิบยกตัวอย่างละครมาพูดต่อได้

ซึ่งทั้ง 5 ข้อนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมของละครน้ำเน่ายังคงอยู่ และด้วยความที่ละครน้ำเน่าคือสื่อที่ผสมโลกความจริงกับโลกเสมือนเข้าหากันได้ชนิดว่าโคจรมาพบกันได้ ซึ่งหลายคนมักจะมองว่าละครคือเรื่องสมมติเท่านั้น หรืออาจจะมีเส้นแบ่งที่ค่อนข้างชัดเจน แต่ในบางทฤษฎีของนิเทศศาสตร์กลับบอกว่าโลกทั้งสองสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน เช่น Sigmund Freud นักทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่ให้คำนิยามนี้

ถ้าจะให้วิเคราะห์กันตามตรง ลักษณะของผู้ชมละครส่วนใหญ่มักจะนำประสบการณ์ของตนเองผูกโยงเข้ากับตัวเรื่อง นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ส่งผลไปยังผังรายการโทรทัศน์ที่ต้องจัดประเภทรายการผูกโยงกับผู้ชมรายการในช่วงเวลาต่างๆ เช่นกัน เช่นการจัดข่าวสลับกับละคร หรือการมีรายการวาไรตี้ตอนสายในสมัยก่อนที่เจาะจงถึงเพศหญิง ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ ผู้หญิงถึงผู้หญิง เป็นต้น

เกิดอะไรบ้างในละครน้ำเน่า : แกะฉากออกมาเล่าในมุมนิเทศศาสตร์

จริงๆ ถ้าจะลองแกะมุมมองของนิเทศศาสตร์ออกมา ละครน้ำเน่ามีโลกทัศน์และความคิด ความเชื่อต่างๆ บางอย่างอยู่เป็นอย่างมาก ซึ่งถูกแบ่งออกมาตามองค์ประกอบของบทแทบจะทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าคนเขียนบทบางส่วนต้องวางโครงสร้างเรื่องไว้อยู่แล้วว่าเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยขอเริ่มต้นจาก “แก่น” ของตัวเนื้อเรื่อง ซึ่งถูกแบ่งเป็น 4 อย่างที่ละครน้ำเน่าอาจจะต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน

  • ทุกอย่างล้วนถูกลิขิตด้วยชะตา : ไม่ว่าจะเป็นความรักที่เกิดกจากอุบัติเหตุหรือความบังเอิญต่างๆ ใดๆ ล้วนถูกคิดมาภายใต้สมการความเป็น “ชะตาฟ้าลิขิต” แทบจะทั้งหมด
  • ไม่ใช่ทุกคนที่จะสมหวังในโลกละคร : การที่พระเอกสมหวังกับนางเอก แต่พระเอกหรือนางรองมักจะอกหักจากคนที่เขาชอบ นั่นก็เป็นการปลูกฝังให้คนตระหนักถึงความเป็นจริงของโลกทุนนิยมที่ทรัพยากรมักจะมีอย่างจำกัดจำเขียด ฉะนั้นก็ต้องมีทั้ง “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” เสมอๆ
  • ความดีและความเลวมักจะไม่ถูกกันแบบชัดเจน : สังเกตว่าละครโทรทัศน์โดยส่วนใหญ่มักผูกติดกับความเป็นศาสนาพอสมควร โดยเฉพาะในบ้านเราเองที่มักปลูกฝังว่าคนทำดี ดีแบบโคตรจะดี มักจะได้สิ่งที่ดี ซึ่งข้อเสียก็คือเนื้อหาของละครที่แบนจนเกินไป ในขณะที่ตัวร้ายก็ร้ายจัดจ้าน ร้ายแบบอยากจะด่าด้วยคำว่า “อีดอก” แทนไปเลย
  • ให้ฉันรอแล้วได้อะไร? (ได้สิ แต่ต้องรอ) : ในเนื้อเรื่องพระเอกกับนางเอกกว่าจะสมหวังก็มักจะต้องรอ และในระหว่างรอก็ต้องพบเจอกับอุปสรรคต่างๆ นานาจำนวนมาก นั่นคือกลไกที่บอกว่าการอดทนฝ่าฟันและรู้จักคำว่ารอนั้นจะทำให้ฝันกลายเป็นจริง

หากจะพูดในเชิงมุมมองของสตรีนิยมแบบที่ Tania Modleski ได้เคยอธิบายไว้จะพบว่าละครน้ำเน่ามักจะบอกผู้หญิงให้รู้จักการรอสามีและลูกกลับมาบ้าน และไม่ว่างานที่บ้านจะหนักแค่ไหน หากอดทนรอคอยก็จะได้รับคำชมของสามีและลูกนั่นเอง

ภาพจากละคร “เมียแต่ง”

นอกจากประเด็นของแก่นเรื่องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยกมาเล่าก็คือ “การเล่าเรื่อง” ซึ่งตามหลักของนิเทศศาสตร์แล้วจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือการเปิดเรื่อง การขมวดปม และจบเรื่อง ซึ่งในแนวทางของละครน้ำเน่ามักจะมีสูตรการเล่าเรื่องที่แบ่งลักษณะออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งจะขออธิบายสั้นๆ

  • ละครแนว “ก่อนเป็นผัวเมีย” ซึ่งมีการเล่าในเชิงที่พ่อแง่แม่งอน จนมีปมที่ต้องเจอผู้ร้าย และจบด้วยความสุข ซึ่งเน้นเล่าถึงว่าความขัดแย้งนั้นสามารถแก้ไขหรือประณีประณอมได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ความรักจากพระเอก หรือการจับผู้ร้ายเข้าคุก เป็นต้น
  • ละครแนว “หลังเป็นผัวเมีย” ซึ่งมีการเล่าเริ่มต้นที่ครอบครัวเกิดขึ้น แล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปนอกใจ และกลับมาที่จบแบบเศร้า คือการหย่า หรือไม่ก็สามีภรรยากลับมาคืนดีกัน ซึ่งเป็นการย้ำแนวคิด “ผัวเดียวเมียเดียว” ซึ่งในระยะหลังการเล่าเรื่องมักจะถูกจินตนาการกว้างขึ้นไปอีก เช่น การเลือกของตัวนางเอกระหว่างการหย่าร้างพระเอก – การปรับความเข้าใจ หรือการไปคบกับพระรองแทน
  • ละครแนว “ตัวละครไม่เคยเป็นผัวเมียเลย” จะมีลักษณะการเล่าในเชิงของความขัดแย้งของคนกลุ่มหนึ่ง เช่นในเรื่อง มารยาริษยาที่ดีนี่และเพียงดาวมีความขัดแย้งกัน และพอเกิดความขัดแย้งมากมายเป็นตัวเดินเรื่องก็จะนำไปสู่โสกนาฎกรรม ซึ่งเป็นจุดจบของเรื่อง ซึ่งตอกย้ำการอยู่ในระบอบศีลธรรมอันดีของสังคมนั่นเอง

นอกจากนั้น การใช้ร่างกายก็สำคัญเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่ที่ทำให้คนในสังคมหันมาคุยกันเมื่อหลายวันก่อน นอกเหนือจากเนื้อหาโดยส่วนใหญ่แล้ว คือฉาก หรือการใช้ร่างกายที่คงความเป็นอนุรักษ์นิยมไว้ค่อนข้างจะจ๋ามาก มากจนทำให้เราบางทีก็ข้ามและหันไปดูซีรีส์ในออนไลน์แทนเลยก็ว่าได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าใส่แนวคิดของสตรีนิยมตามที่ Erving Goffman ได้อธิบายไว้ ก็คงสามารถถอดรหัสได้ว่าลักษณะการใช้ร่างกายในละครล้วนถูกตั้งค่ารหัสของเพศภาวะแฝงไว้แทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการจูบที่ส่วนใหญ่ฝ่ายชายจะจูบก่อน นั่นหมายถึงว่าสิทธิในการจูบนั้นเป็นของผู้ชาย ไม่ใช่ของผู้หญิง เว้นแต่ผู้หญิงเคยแต่งงานมาแล้ว (เช่น สามีตีตรา) บางครั้งการใช้การจูบก็มาช่วยสลายความรุนแรงจากการตบ (ซึ่งแทนว่าเพศชายจะทำให้เพศหญิงรู้สึกเย็นลง)

หรือประเด็นที่สำคัญ คือการข่มขืน หรือการปล้ำ ซึ่งมันไม่ใช่แค่กิจกรรมทางเพศในละครเท่านั้น แต่คือการซ่อนเร้นการใช้อำนาจที่ฝ่ายหนึ่งแสดงอีกฝ่ายหนึ่งว่าเหนือกว่า (เพศชายเหนือกว่าเพศหญิง) ซึ่งละครบางเรื่องก็ได้ใช้ฉากการข่มขืนเป็นกลไกสลายความขัดแย้งระหว่างตัวละคร และในบางเรื่องก็ได้ตอกย้ำค่านิยมของการมีพรหมจรรย์ที่ดีของเพศหญิงที่ต้องเก็บไว้ให้ดีที่สุด เพื่อมอบให้พระเอกเท่านั้น ซึ่งทำให้ภาพนี้ถูกผลิตซ้ำขึ้นเป็นจำนวนมากนั่นเอง

นี่เป็นเพียงแค่บางส่วนที่แกะรหัสออกมาเพียงเท่านั้น แต่ก็คงปฏิเสธไปไม่ได้ว่าละครซึ่งนอกจากจะให้ความบันเทิงกับผู้คนแล้ว ยังสะท้อนค่านิยมต่อรัฐและสังคมที่มีต่อประชาชนอีกด้วย รวมไปถึงสะท้อนค่านิยมของผู้เขียนบท ผู้จัดละคร ตลอดไปจนถึงสถานีโทรทัศน์ที่อนุมัติการดำเนินงานด้วยซ้ำ แน่นอนว่าละครทุกเรื่องที่ออกอากาศในเมื่อมีคนทำก็ย่อมมีคนดู และก็คงปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่าละครมักจะปลูกฝัง รวมไปถึงเป็นพื้นที่ทดลองของใครบางคนก่อนนำไปปฏิบัติจริงด้วยซ้ำ จะดีกว่านี้ไหมหากผู้ผลิต และผู้ชมจะร่วมใจกันยกระดับวงการโทรทัศน์ไทยให้เดินหน้าไปด้วยการโละละครน้ำเน่าออก และสร้างสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เป็นที่ยอมรับแก่สังคม โดยไร้กรอบของมิติทางวัฒนธรรมแบบเก่า ศาสนาแบบเก่า และเริ่มต้นจากการมองคนเท่ากัน

เพราะโลกละครกับโลกในความเป็นจริงมันขนานไปด้วยกัน ไม่ใช่คนละโลกมาตั้งนานแล้ว…

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า