fbpx

อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี นักแปลวรรณกรรมผู้ส่งต่อสิ่งที่เขาต้องการบอกผ่านงานแปล

เมื่อก้าวขาเข้าร้านหนังสือ โซนแรกๆ ที่สะดุดตาเราเป็นอย่างมากก็คงหนีไม่พ้น ‘วรรณกรรมจีน’ เพราะนิยายจีนเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในไทยมาโดยตลอด หลายคนไม่ทราบว่านิยายจีนไม่ได้มีแค่แนวย้อนยุคหรือกำลังภายใน แต่นิยายจีนร่วมสมัยเองก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กันในปัจจุบันเนื่องจากพล็อตที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน และภาษาที่สวยงาม 

วันนี้ Modernist จึงชวนฟันเฟืองสำคัญในการทำหนังสือนิยายจีนอย่าง ‘นักแปล’ มาพูดคุยกัน คุณเบียร์-อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี นักแปลผู้มีประสบการณ์กว่า 20 ปี จนได้รับฉายา “ราชานักแปลนิยายจีนร่วมสมัย” เจ้าของผลงานแปลชื่อดังหลายๆ เรื่องอย่าง บันทึกจอมโจรแห่งสุสาน หรือ เทพยุทธ์เซียน Glory

ร่วมสำรวจแง่คิดและประสบการณ์ของคุณเบียร์ ตั้งแต่บทบาทนักแปลไปจนถึงการเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ Mangmoom Book

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

จุดเริ่มต้นของนักแปลผู้ไม่ถูกตีกรอบ 

เริ่มต้นเรียนภาษาจีนตั้งแต่เมื่อไหร่

เราเรียนในรูปแบบนอกตำรา หมายถึงว่าไม่ได้จบเฉพาะทาง ไม่ได้มีใบปริญญาทางภาษาโดยตรง แต่ที่บ้านส่งเราไปเรียนที่โรงเรียนศาสนา มันจะมีลัทธิหรือสำนักจากต่างประเทศทั้งของจีนและไต้หวันเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในไทย แล้วในการเรียนกับเขาจะต้องใช้ภาษาจีน จึงเรียนภาษาจีนในเชิงศาสนาควบคู่กันไป เราคลุกคลีกับภาษาชั้นสูงมาตั้งแต่ 10 ขวบ ภาษาชั้นสูงคือภาษาเชิงปรัชญาและพุทธศาสนาที่ต้องใช้การตีความอีกทีหนึ่ง เราติดนิสัยพวกนั้นมาใช้ในการทำงานแปล 

อะไรทำให้คิดว่าสามารถทำงานแปลได้

มันเป็นเรื่องของ ‘กรอบ’ หมายความว่าถ้าเราเข้าไปในกรอบๆ หนึ่งแล้วมีคนบอกเราว่าอะไรคือถูกอะไรคือผิด เราก็จะกลัว แล้วมันเป็นดาบสองคมในการเรียนการแปล มีหลายคนเรียนการแปลเสร็จแล้วไม่กล้าแปล ในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนมากที่ลงมือแปลโดยไม่ได้เรียนการแปล เราก็น่าจะเป็นลักษณะที่สอง แต่ว่าการลงมือแปลโดยที่ไม่ได้เรียนมาสักวันหนึ่งมันจะมีอะไรที่หลุดตำรา ทั้งในแง่ดีและไม่ดี

เพราะฉะนั้นเราเข้ามาโดยที่ไม่ถูกตีกรอบเกณฑ์ว่าอะไรคือ ‘ต้อง’ อะไรคือ ‘ห้าม’ ในการแปล เราลงมือแปลเลยแล้วฝากความมืออาชีพไว้กับทีมบรรณาธิการ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาความรู้นอกตำราเพื่อจะชดเชยในสิ่งที่คนที่เรียนมาโดยตรงมีแต่เราไม่มี

เราก้าวข้ามจุดที่ถามตัวเองว่าทำไมคิดว่าตัวเองทำได้ เพราะเรามุ่งมาในทางนี้อยู่ และเอาผลงานเป็นที่ตั้ง ตอนเริ่มต้นคนอ่านจะเป็นคนรอบตัว ในสมัยก่อนก็เอางานแปลไปเผยแพร่บนเว็บบอร์ดแล้วดู Feedback อีกขั้นหนึ่งคือการสร้างความเชื่อมั่น กล้าเอาไปเสนอบรรณาธิการ เมื่อ 10-20 ปีก่อนนักแปลต้องเอางานไปเสนอเขาเอง ถ้าบก.อ่านได้นักอ่านก็ต้องอ่านได้ 

คุณสมบัติที่ดีของนักแปล

หนึ่ง นักแปลต้องเป็นนักอ่าน ถ้าคุณทำอาชีพอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักอ่านก็ได้ อย่างเช่น เราเคยได้ยินกันประจำว่า “นักเขียนต้องเป็นนักอ่าน” แต่เราเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของนักเขียนที่เขียนงานมาร้อยเล่ม เขาบอกว่าเขาไม่อ่าน พอเราเอาสิ่งที่ฝังหัวออกไปก็คิดได้ว่านักเขียนมีจินตนาการ ใช้ภาษาของตัวเองในการสื่อสารได้ ต่อให้คุณไม่อ่านคุณก็เขียนในสิ่งที่อยู่ในหัวคุณออกมาได้ สิ่งที่คุณไม่รู้ก็ไม่ต้องเขียน แต่การเป็นนักแปลมันไม่ได้เพราะเราไม่ได้เขียนเรื่องของเรา เราเขียนสิ่งที่อยู่ในหนังสืออีกเล่ม หรือเขียนเกี่ยวกับศาสตร์ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งนักเขียนสามารถเลือกจะไม่เล่าศาสตร์ที่เขาไม่รู้ได้ แต่นักแปลทำไม่ได้

ผมเป็นคนอ่านหนังสือเยอะเป็นนิสัย ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเล่มแต่เวลาไปไหนมาไหนก็จะอ่านตามป้าย ใบปลิว อ่านและฟังเพื่อเปิดรับคำศัพท์ต่างๆ มันทำให้เรารู้ว่าเรารู้หรือไม่รู้อะไร 

ในการแปล ถ้าเรารู้ก็ไม่มีปัญหา แต่จะมีความน่ากลัวตรงที่เราไม่รู้ แต่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ แล้วเราจะไม่ไปค้นข้อมูล เพราะฉะนั้นควรรู้ว่าจะค้นหาแหล่งข้อมูลที่ไหน คำว่า ‘หาข้อมูล’ ของนักแปลไม่เหมือนกับนักเขียน ของนักเขียนอาจจะไปค้นวิจัยความรู้ทางวิชาการ แต่หาข้อมูลของนักแปลคือหาคำๆ นี้ในภาษาวิชาการทั้งในเชิงลึกและเชิงตื้นว่าเขาใช้คำว่าอะไร ภาษาปากคือคำว่าอะไร อย่างศัพท์ทางพยากรณ์อากาศ ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ชื่อสัตว์ที่อาจจะไม่มีในประเทศไทย เราต้องค้นข้อมูลให้ถูกต้องไม่ใช่สักแต่จะแปล 

เคยมีปัญหาในการหาคำแปลไหม

มีอยู่แล้วครับ เพราะภาษาไทยไม่ได้มีคำทุกคำในภาษาจีน และภาษาจีนไม่มีคำทุกคำในภาษาไทย แต่บางภาษาจีนกับอังกฤษเขามีกันและกัน แล้วภาษาไทยกับอังกฤษก็มีกันและกัน ฉะนั้นถ้าเราหาคำจีน-ไทยไม่เจอก็จะไปจีน-อังกฤษ แล้วค่อยแปลเป็นภาษาไทย ตัวอย่าง ในงานที่แปลอยู่ตอนนี้มีคำจีนที่อธิบายบุคลิกคนว่า “มีนิสัยดุร้าย ชอบโจมตี” คำๆ นี้ไม่มีในภาษาไทย เราเลยไปเสิร์ชไขว้ซึ่งจะได้คำแปลออกมาเป็นสิบคำ เรามีหน้าที่ในการจับคู่คำ นี่คือความแตกต่างระหว่างคนแปลกับเครื่องแปล นักแปลจะมีวิจารณญาณในการเลือกคำให้เข้ากับบริบทและระดับภาษา 

ส่วนการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเองต้องสุดวิสัยจริงๆ ถ้าคุณบัญญัติศัพท์เองบ่อยแสดงว่าคลังคำศัพท์คุณมีปัญหา เพราะถึงแม้ว่าไม่ใช่ทุกคำในแต่ละภาษาจะมีคู่คำของมันแต่ก็ไม่ได้พร่องเยอะขนาดนั้น ถ้าคุณเป็นนักแปลที่มีความรับผิดชอบคุณต้องค้นหาข้อมูลให้มากที่สุด

ความท้าทายในการแปลวรรณกรรม

สำหรับคนที่มาสายแปลวรรณกรรม การแปลวรรณกรรมก็ไม่ใช่เรื่องท้าทาย แต่การแปลสารคดีหรือ Non-Fiction จะเป็นเรื่องท้าทาย ซึ่งผมก็แปล Non-Fiction มาหลายเล่ม เช่น เฉินหลง : Never Grow Up ซึ่งใช้ภาษาชีวประวัติ สารคดี เราใช้เวลาทำงาน (แปล) 7-8 เดือนเพราะต้องศึกษาฉบับภาษาอังกฤษก่อน แล้วการเล่าเกี่ยวกับหนังฮ่องกงในยุคนั้นมันมีขนบของมันที่คนอ่านแนวนี้จะชิน นอกจากอ่านภาษาอังกฤษแล้วเรายังต้องอ่านข่าวที่คนเขียนถึงเฉินหลง รีวิวหนังฮ่องกง แล้วเอาสำนวนเหล่านั้นมาเกลา สรุปคือการแปลสิ่งที่อยู่นอก Comfort Zone ต่างหากที่เป็นความท้าทาย 

งานส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมร่วมสมัย มีเหตุผลอะไรที่ไม่เลือกแปลวรรณกรรมย้อนยุค

อย่างที่บอกว่านักแปลต้องเป็นนักอ่าน แล้วงานแปลนิยายย้อนยุคจะมีของว.ณ เมืองลุงหรือน.นพรัตน์ (นักแปลนิยายจีนย้อนยุค) ที่เขาสร้างเอกลักษณ์ทางภาษาเอาไว้อย่างชัดเจน คุณจะแปลหรือผลิตซ้ำสำนวนเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อคุณอ่านงานของเขามาเยอะ อ่านเหมือนเรียนภาษานี้มา เวลาแปลคุณไม่ได้แปลจีนเป็นไทยแต่คุณแปลจีนเป็นภาษากำลังภายในไทย แต่ผมอ่านกำลังภายในเป็นภาษาจีนตั้งแต่เด็กทำให้ไม่มีความรู้เรื่องภาษากำลังภายในไทย และผมก็อ่านนิยายตะวันตก นิยายแปล นิยายไทย ทั้งหมดอยู่ในลูปปัจจุบัน บวกกับความรู้ที่ Google มีสามารถพาเราย้อนไปหาคำศัพท์ได้แค่ในกลุ่มศัพท์ปัจจุบัน พูดง่ายๆ คืออิงความรู้ที่เรามีกับฐานศัพท์ที่สะสมมาตั้งแต่เด็ก เรามีแค่คลังศัพท์กลุ่มนี้ทำให้เราแปลแค่งานร่วมสมัย 

คิดว่านักอ่านไทยมองหาอะไรในวรรณกรรมจีน

ผมว่าความสนุกนั่นแหละ ผมเคยคุยกับนักเขียนเขาบอกว่าถ้าจะเขียนนิยาย อันดับแรกต้องสนุก คุณจะยัดสารพัดอุดมการณ์ลงไปก็ได้แต่ต้องสนุก ถ้าทำไม่ได้คุณก็ควรไปเขียนสารคดีหรือหนังสือคู่มือ ผมจึงคิดว่าคนอ่านคงอยากผ่อนคลายเพราะเวลาอ่านหนังสือมันเหมือนได้ตัดขาดจากโลกที่อยู่ แล้วก็ได้สัมผัสกับหลายๆ สิ่ง แต่ทุกวันนี้คนสัมผัสมันได้น้อยลง ล่าสุดผมกลับไปดู โฉมงามกับเจ้าชายอสูร (Beauty and the Beast) แล้วหดหู่ตรงช่วงแรกที่เบลล์เป็นคนเดียวในหมู่บ้านที่อ่านหนังสือ แล้วคนทั้งหมู่บ้านมองว่านางเป็นตัวประหลาด ซึ่งเราก็รู้สึกเหมือนกันว่าในยุคนี้ก็เริ่มทำให้คนอ่านหนังสือเป็นตัวประหลาด 

การอ่านหนังสือมันมีฟังก์ชันที่สื่ออื่นๆ ไม่สามารถแทนที่ได้ เช่น การมีสมาธิ ทักษะการอยู่กับตัวเอง ทักษะการอ่านอะไรยาวๆ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และการอ่านหนังสือเล่มกับการอ่านในสมาร์ทโฟนมันก็จะได้ความมีสมาธิไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือเกาหลี ญี่ปุ่น หนังสือการ์ตูน คุณก็อ่านไปเถอะ

ส่วนนักเขียนจะเขียนอะไรก็ได้ที่มันสนุก ขอแค่อย่าสอดแทรกสิ่งที่เป็นพิษทางความคิดจนเกินไป หรือถ้าคุณอยากจะใส่ลงไปในฐานะ Freedom of Speech ก็จงคำนึงวัยของคนอ่านด้วย

รีวิวอาชีพนักแปลในไทย

รายได้ของนักแปล อันนี้สามารถบอกได้ไม่ใช่ความลับอะไร มันมีวิธีคิด 3 แบบ หนึ่งคือการให้เป็นเปอร์เซ็นต์ ผกผันไปตามราคาหนังสือกับยอดพิมพ์ สมมติ 250 บาทนักแปลจะได้ 5-7% ขึ้นอยู่กับนโยบายของสำนักพิมพ์และชื่อเสียงนักแปล หนังสือทั่วไปพิมพ์ประมาณ 3,000 เล่มก็จะได้ 30,000-40,000 บาท ถ้าพิมพ์ซ้ำก็จะได้อีก แต่ก็ขึ้นอยู่กับราคาหนังสือด้วย ยิ่งราคาถูกยิ่งได้น้อย นี่เรียกว่าแบบลิขสิทธิ์ ถัดมาจะมีสำนักพิมพ์อีกกลุ่มใช้วิธีนับคำ มี 2 แบบคือนับคำไทยกับนับคำจีน เขาจะเอาคำไทยมาหารเป็นหน้า สมมติ 2,000 คำเท่า 1 หน้า ก็ต้องคิดราคาว่า 1 หน้าเป็นเงินเท่าไร อีกวิธีหนึ่งคือเหมา ตกลงราคาให้นักแปลแล้วถือว่าจบ จะพิมพ์แล้วทิ้งหรือพิมพ์ซ้ำก็เรื่องของคุณ เหมือนมือปืนรับจ้าง

นอกจากนี้ก็เป็นกลุ่มนิยายวายปัจจุบันที่จะเป็นเรื่องการเหมาและจำนวนคำจีนที่สูงขึ้น ผมได้ยินมาว่ากลุ่มนิยายวายพีคๆ ขายได้ 10,000 เล่มในงานหนังสือวันเดียว นักแปลก็น่าจะได้เงินสูงมากด้วย

ส่วนความมั่นคงในระยะยาวยังแย่อยู่ มันเป็นงาน Freelance ยิ่งรับเล่มต่อเล่มมันก็จะหมดแล้วหมดเลย แต่ถ้าเราทำเล่มที่มีโอกาส Reprint เราก็คาดหวังว่าจะเกิดการ Reprint แล้วก็คาดหวังว่าสำนักพิมพ์จะซื่อสัตย์กับเราในเรื่องของการ Reprint ด้วย แต่ในปัจจุบันคิดว่าการรับแบบเหมาแล้วเรียกราคาที่สูงหน่อยอาจจะคุ้มค่ากว่า ด้วยความที่งานเราไม่ได้มีสวัสดิการ แล้วยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งทำงานได้น้อยลง นักแปลหลายคนจึงเริ่มผันตัวไปทาง “ใครให้มากกว่า” 

แล้วการแข่งขันล่ะ

ถ้าย้อนกลับไป 2-3 ปีก่อนวรรณกรรมจีนจะบูม แต่มันเป็นลูปของแนวหนังสือที่วนมาแล้วก็วนไป จะมีหนังสือแนวทะเลทราย เกมออนไลน์ โรงเรียนเวทย์มนต์ แฟนตาซี ก็วนมาแล้วหายไป งานจีนก็เช่นกัน ช่วงนี้ผมว่ามันกำลังจะหายไป ดูจากหนังสือ Top 100 ในร้านหนังสือช่วงนี้จะมีเกาหลี ญี่ปุ่น แล้วก็แนว How-to หรือหนังสือที่คนดังแนะนำ 

สังเกตจากงานของตัวเอง ช่วงนิยายจีนพีคสุดคือตอนทำเรื่อง เทพยุทธ์เซียน Glory หลังจากนั้นกระแสนิยายจีนก็เริ่มตก สำนักไหนที่เคยทำงานจีนหนักๆ ก็เริ่มถอยออกมาแล้วไปลงทุนกับงานเกาหลีมากขึ้น ซึ่งมันจะเป็นขนบงานอีกแบบหนึ่ง

เราไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ เราคือ “ผู้สร้างซ้ำ”

สังคมไทยในตอนนี้ให้ความสำคัญกับอาชีพนักแปลมากแค่ไหน 

อาชีพนักแปลถือว่าเป็นอาชีพที่น่าอาภัพ เพราะว่า หนึ่ง คนไม่รู้จักชื่อ ในเมืองนอกมันไม่เป็นไรถ้าคนไม่รู้จักชื่อเพราะเขาให้ค่าแปลสูง ก็อยู่ได้ เมืองไทยจะถูกกดจนนับวันนักแปลมีแต่จะน้อยลง แล้วคนที่เข้ามาใหม่ (บางส่วน) ก็มีมายาคติว่ามันสวยหรู อยากมีชื่ออยู่บนปกหนังสือ พอทำงานไปเรื่อยๆ มันก็มีเรื่องบั่นทอนจิตใจ เช่น แปลดีแต่คนคิดว่าเป็นเพราะคนเขียนเก่ง บก.เก่ง แต่ถ้าแปลแย่เท่ากับนักแปลแย่ แล้วการเป็นนักแปลหรือนักเขียนมันจะมีความเหงาอยู่แล้ว คุณต้องอยู่กับหน้าจอและกระดาษสองข้าง มันไม่ได้อยู่ในสังคมออฟฟิศที่ได้เจอผู้คน เพราะฉะนั้นถามว่าสังคมมองอย่างไร น่าจะมีแต่นักแปลรุ่นเก่าที่มีกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามและเคารพวิชาชีพนักแปล เรียกเขาว่าอาจารย์ รุ่นใหม่ๆ มีแต่จ้องจะจับผิดนักแปลกันเยอะ แต่ไม่โทษนักอ่าน มันเป็นเรื่องของการหมุนไปของโลก 

นักอ่านที่น่ารักก็มี แต่มักจะไม่ส่งเสียง แล้วคนที่ไม่น่ารักกับเราก็มักจะเสียงดัง

นี่ถือเป็นจุดที่นักแปลมีร่วมกับนักสร้างสรรค์ศิลปะแขนงอื่นๆ หรือเปล่า

ผมว่าไม่เหมือนกันนะ ถึงแม้การแปลหนังสือจะเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์แต่นักแปลเป็นงานที่ต้องเกาะคนอื่น นั่นคือนักเขียน ถ้าสมมติคุณเขียนเองได้คุณก็จะเป็นนักเขียน มันเป็นงานของคุณเอง แต่นักแปลเป็นเพียงเงาของคนอื่นอยู่แล้วด้วยตัวงานของมัน เทียบไม่ได้กับผู้สร้างสรรค์ เราคือผู้สร้างซ้ำ แต่การนำมาสร้างซ้ำก็สามารถทำให้สวยขึ้นหรือแย่ลงได้ 

แต่อย่างไรนักแปลก็เป็นศิลปินไม่ได้เพราะคุณไม่ได้สร้างสรรค์ทุกอย่างจากกระดาษเปล่า คุณเพียงย้ายของซีกซ้ายที่เป็นภาษาต่างดาวสู่ซีกขวาให้เป็นภาษาของนักอ่าน 

ทำไมต้องจีน

วรรณกรรมจีนมีเสน่ห์อย่างไรสำหรับคุณ

เคยฟัง Youtuber คนหนึ่งพูดถึงภาษาว่าเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและความคิด ทำไมคนญี่ปุ่นมีความญี่ปุ่น คนที่เป็นฝรั่ง เยอรมันเป็นบุคลิกหนึ่ง อังกฤษเป็นอีกบุคลิกหนึ่ง เขาว่าภาษาเป็นตัวกลาง ดูได้จากการเรียงไวยากรณ์ ใครเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ เวลาขอโทษหรือขอบคุณใครมาก่อนใครมาหลัง พอไวยากรณ์เรียงไม่เหมือนกันความคิดคนก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามนั้น สำหรับผมวรรณกรรมจีนมันแฝงความคิดของจีนไว้เต็มๆ แล้วเราต้องแบ่งว่าวรรณกรรมจีนมันจะมี 2 ชาติใหญ่ๆ หนึ่งคือไต้หวันและฮ่องกง สองคือจีนแผ่นดินใหญ่ จีนในสมัยก่อนจะมีความเป็นยุคเดียวกันกับไต้หวันฮ่องกง แต่จีนยุคใหม่เกิดจากคนจีนในปัจจุบันที่ผ่านการเปลี่ยนผ่านทางสังคม การเมือง ระบบความคิด การศึกษาแล้ว แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังมีขนบธรรมเนียมแบบเก่าอยู่ อย่างเรื่องความกตัญญูจงรักภักดี 

จีนเคยผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรม การล้มล้างการปกครอง ทั้งหมดเกิดขึ้นใน 100 ปี จากที่รุ่งเรืองวัฒนธรรมกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย จนในปัจจุบันได้กลับมาเป็นยักษ์ใหญ่อีกครั้ง เมื่อผ่านตรงนี้มาคนจีนก็เหมือนได้เกิดใหม่ มันมีกรอบที่หายไป แล้วกรอบที่หายไปนี้มันทำให้เขาเขียนอะไรก็ได้ บ้านเราจะเขียนอะไรที่ย้อนกลับไปหาประวัติศาสตร์อย่างไม่เคารพนิดหนึ่งก็เป็นเรื่องแล้ว แต่เขาจะเขียนอะไรก็ได้ จินตนาการของเขาไม่ถูกจำกัด เราจึงจะเห็นพล็อตพิศดารจากเขาเยอะมากไม่ว่าจะเป็นการเกิดใหม่ การย้อนไปแก้ไขในอดีต แล้วเขามาฐานคนเขียนที่เยอะมาก เพราะฉะนั้นคนที่โดดเด่นคือคนที่ถูกคัดกรองแล้ว งานที่ออกมาถึงเราจึงเป็นงานเขียนที่ผ่านการแข่งขันอย่างดุเดือด

แต่ไต้หวันจะไม่ผ่านตรงนี้มาก่อนเลย เขาอพยพย้ายถิ่นมาไต้หวัน ผ่านความลุ่มๆ ดอนๆ ของการกลืนรวมชาติ การเป็นเมืองขึ้นญี่ปุ่น มันก็จะผสมผสานออกมาเป็นวรรณกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง พอมาสู่ยุคปัจจุบัน วรรณกรรมร่วมสมัยก็เริ่มมีสีสันที่หลากหลายเหมือนกับภูมิภาคบ้านเมืองของเขา พอเข้าไปสู่แวดวงอาชีพก็ดี ความรักในรั้วโรงเรียนก็ดี มันเป็นสิ่งที่หาอ่านไม่ได้ในงานตะวันตกและงานไทย เพราะทุกชาติมีแนวคิดของตัวเองที่ต่างชาติลอกเลียนแบบไม่ได้ ซึ่งจุดเด่นของงานจีนสำหรับผมคือความกว้าง มหาศาล แต่มันขาดความละเอียด 

นักแปลหัวแข็ง

เคยบอกไว้ว่าเป็นนักแปลหัวแข็งที่เลือกแปลเฉพาะงานที่ถูกใจ ทุกวันนี้ยังเป็นอยู่ไหม

เป็นครับ ยิ่งหลังๆ ตั้งแต่ทำหนังสือติดตลาดอย่าง รหัสลับหลังคาโลก 9 เล่ม บันทึกจอมโจรแห่งสุสาน 10 เล่ม เทพยุทธ์เซียน Glory 28 เล่ม กลับมาทำเล่มที่ทำอยู่ปัจจุบัน เมื่อผมเป็นเจ้าของคฤหาสน์สยองขวัญ 28 เล่มจบเหมือนกัน ทำให้เรารู้ว่านับวันยิ่งใช้เวลากับหนังสือแต่ละเล่มมากขึ้น ในขณะที่ชีวิตของเรานับวันก็ยิ่งสั้นลง มันตรงกับสำนวนจีนที่ว่า “หายใจได้ 100 ครั้ง หายใจทิ้ง 1 ครั้งเหลือ 99” ทำหนังสือ 1 เล่มเราต้องใช้เวลาอยู่กับมันขั้นต่ำ 3 เดือน ถ้าเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่ถูกโฉลก เราจะทนอยู่กับมันได้นานแค่ไหน แต่ถ้าจำเป็นต้องทำเพราะเรื่องเงนคุณก็ต้องทน ความหัวแข็งคือต้องใจแข็งเวลารับงาน ถ้าไม่ชอบต่อให้เงินดีก็จำต้องปฏิเสธเพราะเราต้องเป็นทุกข์อยู่กับมัน 

ความชอบตีความได้หลายอย่าง ชอบในแง่ที่มันถูกจริตสิ่งที่ต้องการจะสื่อ มันมีอุดมการณ์บางอย่างที่สิ่งๆ นี้บอกแล้วมันตรงกับสิ่งที่เราอยากจะบอกโลกเหมือนกัน อาจจะอ่านยาก เขียนยาก มีคนอ่าน 10-20 คนหรือ 100-1,000 คนแต่เขาได้ประโยชน์จากมันเราก็ยินดีทำ 

ผลงานแปลที่ชอบที่สุด

ถามใครก็ตอบไม่ได้ อย่างที่บอกว่ามันผ่านการคัดกรองมาแล้วทุกเล่ม เราสามารถเล่าได้ทุกเล่ม เราทำด้วยความชื่นชอบจริงๆ 

แต่ที่กำลังอินต้องเป็นเรื่องที่ทำอยู่ปัจจุบัน ชื่อว่า เมื่อผมเป็นเจ้าของคฤหาสน์สยองขวัญ ที่ดูเหมือนเป็นนิยาย Comedy แต่มันมีเรื่องของการตามหาฆาตกร ปิดคดีการตายปริศนา แล้วมันพาไปสู่เรื่องโรคทางวิตเวชเยอะมาก ซึ่งเป็นความท้าทายในการแปลของเราว่าจะทำอย่างไรให้มันไม่ส่อไปในแง่ลบ สิ่งที่ผมระวังในการใช้คำอย่างมาก หนึ่งคือเรื่องเพศ สองคือโรคทางจิตเวช คำว่า “คนบ้า” หรือ “กะเทย” จะถูกใช้อย่างระมัดระวัง

ผลงานที่ท้าทายที่สุดในการแปล

รหัสลับหลังคาโลก เพราะเต็มไปด้วยคัมภีร์ความเชื่อทางพุทธศาสนามหายานและก็สายทิเบตด้วย ต้องถอดเสียงภาษาทิเบตที่ถูกเขียนด้วยภาษาจีน ช่วงที่ทำต้องค้นข้อมูลอย่างหนัก แล้วก็เรื่องคำบรรยายเพราะเป็นนิยายที่ใส่วิทยาศาสตร์ลงไปเยอะมาก ใช้เวลาแปล 2 เดือนต่อ 1 เล่ม

แต่ บันทึกจอมโจรแห่งสุสาน ก็มีความท้าทายในด้านของภาษาในแง่ของก๊วนตัวละครที่เป็นโจร ก็มีการใส่คำหยาบลงไปบ้าง ในช่วงต้นๆ ก็มีกระแสตีกลับค่อนข้างเยอะ แต่คนที่ชอบก็มีเหมือนกัน 

บทบาทเจ้าของสำนักพิมพ์

ทำไมถึงหันมาทำสำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก 

เริ่มจากความรู้สึกเฟลที่หนังสือชุดหนึ่งไม่ได้รับการดูแลที่ดีเพียงพอจากสำนักพิมพ์ (เราคิดเอง) พอมันหลุดลิขสิทธิ์เราก็เอามาปัดฝุ่นทำใหม่ มันก็เหมือนกับจุดเริ่มต้นในการเป็นนักแปลของเราคือเราอยากทำเสนอไอเดียดีๆ เรามีสิ่งที่เราอยากจะบอกกับโลกผ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วก็เป็นโอกาสดีที่ได้ทำเล่มอื่นๆ ที่เกิดบ้าง ตายบ้าง แต่ก็เป็นตัวของเรามากขึ้น 

ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจาก 7 บรรทัดแล้วหรือยัง

ถ้ามองจากยอดขาย ก็น่าจะยังนะครับ ไม่รู้ว่านับรวมการอ่านออนไลน์ อ่านข่าวตามฟีดด้วยไหม แต่ถ้าอ่านหนังสือเล่มเรารู้สึกว่าจำนวนคนอ่านหนังสือมันไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ มันเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากผู้นำด้วย ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราเริ่มทำหนังสือเด็ก 

ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ที่รักการอ่านมักจะเริ่มจากการเป็นเด็กรักการอ่าน แล้วการเป็นเด็กรักการอ่านก็มาจากพ่อแม่ที่รักการอ่าน (แต่อาจจะไม่เสมอไปก็ได้) การอ่านจึงเริ่มต้นจากเด็ก น้อยมากที่โตมารักการอ่านโดยที่ตอนเด็กไม่ชอบอ่าน ถ้าอยากสร้างประชากรนักอ่านมากขึ้นก็ควรเริ่มต้นจากหนังสือเด็ก 

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้หันมาทำหนังสือเด็ก

ใช่ อีกเหตุผลหนึ่งคือแฟนผมไปเห็นหนังสือต่างประเทศ พอทำสำนักพิมพ์เราก็ต้องไปตระเวนหาหนังสือต่างประเทศ เราหันมามองหนังสือเด็กในบ้านเราว่ามีอะไรเทียบกับบ้านเขาแล้วก็อิจฉาเพราะเขามีสารพัดพล็อต มีลายเส้นทางศิลปะที่แตกต่าง มีความล้ำสมัยมากกว่าเรื่องของคุณธรรม 10 ประการ มากกว่าการล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำแล้วไปโรงเรียน 

หนึ่ง เราอยากให้เด็กไทยได้อ่าน สอง หนังสือแบบนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนเอาเข้ามา สามคือเราไม่โลภ เราไม่จำเป็นต้องขายได้แสนเล่มแล้วครองตลาด แค่รู้สึกว่าหนังสือ 1 เล่มมี 2,000 ครอบครัวมาซื้อเราก็อยู่ได้แล้ว 

หนังสือเด็ก

ใครคือกลุ่มเป้าหมายของ ‘หนังสือเด็ก’ กันแน่

หนังสือเด็กไม่ได้ทำให้เด็กอ่าน แต่ทำให้แม่อ่านเพราะแม่เป็นคนพาลูกไปซื้อ เพราะฉะนั้นเวลาทำหนังสือเด็กเราต้องดูคอนเทนต์ด้วย อยากให้เด็กอ่านแต่มันต้องผ่านด่านของแม่ในการซื้อ 

อย่างเล่มที่ขายได้เยอะที่สุดของสำนักพิมพ์ ผีเสื้อของตั๋วตั่ว เป็นเรื่องที่สอนให้เด็กรู้จักระวังตัวและป้องกันตัวจากการถูกคุกคามทางเพศโดยคนรู้จัก แบ่งเป็น 2 กรณีคือ ถูกคุกคามทางเพศ กับ คนรู้จัก เพราะเรามักจะสอนเด็กว่าให้ระวังตัวจากคนแปลกหน้าทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วภัยมักจะมาจากคนรู้จัก แล้วภัยจากคนรู้จักมันน่ากลัวกว่าคนแปลกหน้าเพราะสามารถทำซ้ำได้เรื่อยๆ ทุกอย่างนี้จะสร้างความบอบช้ำ เรื่องนี้ไปเล่าที่ไหนก็จะส่งผลต่อจิตใจหมดเพราะเด็กไทยมีเปอร์เซ็นที่เคยถูกล่วงละเมิดเยอะ เรามักจะคิดว่าเด็กจำไม่ได้แต่ความจริงมันจำได้ 

อีกเล่มคือ จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป เขียนโดยชาวไต้หวัน คนเขียนพบว่าเขามีปมบางอย่างที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย การทริกเกอร์ครั้งหนึ่งสะกิดความทรงจำในตอนที่อายุ 3-6 ขวบที่เขาถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยครอบครัวของแม่เลี้ยง หนังสือเล่าถึงเส้นทางของการเยียวยาบาดแผลจนเขาสามารถก้าวต่อไปได้ 

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า