“ไม่มีใครเก่งเท่า x กับแม่ x แล้วจ้า” ความเก่ง อีโก้ และคำด่าแห่ง 2023

ไม่มีใคร “เก่ง” เท่าคุณกับแม่คุณแล้ว

แม้ประโยคข้างบนนี้จะถูกเซนเซอร์คำหยาบ แต่เชื่อเหลือเกินว่าในปีนี้มันต้องมีสักครั้งหนึ่งที่คุณจะสบถประโยคนี้แบบหยาบคายออกมา ไม่ว่าจะเป็นกับ “เพื่อนรัก” กับคนในโลกออนไลน์ หรือแม้กระทั่งกับคนในสถานการณ์บ้านเมือง

แน่ล่ะว่าทุกคนอยากเป็นคนเก่ง และอาจอยากได้รับคำชมว่าเป็น “คนเก่ง” กลับกัน เมื่อความเก่งกลายเป็นคำด่า เรากลับมองเห็นอีกแง่มุมของความเก่งในบริบทสังคมไทย แถมสะท้อนลึกไปยันจิตใจของผู้คนอีกต่างหาก

เก็บคีย์บอร์ดลงก่อน สูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วไปสืบเสาะความ “เก่ง” ด้วยกัน

เก่งจริง ๆ เลยนะ ตัวแค่นี้
เมื่อความ “เก่ง” สะท้อนตัวตนของ generation

เมื่อเทียบจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เหล่าประชากรวัยรุ่นเจนซี (Generation Z; เกิดตั้งแต่ 1997-2009) และเจนอัลฟ่า (Generation Alpha; เกิดตั้งแต่ 2010 เป็นต้นมา) เป็นกลุ่มผู้ใช้ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังจะกลายเป็นประชากรกลุ่มหลักในโซเชียลมีเดีย

ด้วยความมั่นใจเป็นคุณสมบัติพื้นฐานร่วมกันของสองเจเนอเรชัน ประกอบกับความสดใหม่ของวัยเยาว์ ทำให้ความเก่งของคนเหล่านี้เจิดจรัสออกมา และไปได้ไกลหากได้รับการพัฒนา รวมไปถึง “ความกล้า” ที่จะพุ่งชนกับปัญหาแบบทะลุกรอบเกณฑ์ของสังคม

เรานึกถึงไวรัลโซเชียลมีเดียที่มีนักเรียนตบป้าที่เข้ามาคุกคามเคล้าบรรยากาศเพลงคริสต์มาส หรือแม้กระทั่งมีม “อีแก่บ้าน้ำลาย” จากละครดอกส้มสีทองที่แทนการสวนกลับเหล่าผู้สูงวัยที่ ใช้ความ “แก่” เข้าข่มผู้มีอาวุโสต่ำกว่า ไม่ว่าจะด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ ชาติวุฒิ

Mentality เช่นนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของเจเนอเรชันที่ไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบ ส่วนหนึ่งเราอาจมองได้ถึงโครงสร้างทางสังคมที่เป็นลำดับชั้น แบ่งแยกกันด้วยความอาวุโส และกฎระเบียบที่เคร่งครัดตามกลไกความแก่เหล่านั้น แต่เมื่อเราตระหนักรู้ได้ว่ากลไกความอาวุโสและโครงสร้างสังคมกดทับเราเพียงใด “เสียง” ที่ส่งออกมาโต้กลับระบบระบอบเหล่านี้ยิ่ง “ดัง” ขึ้นไปอีก “แรง” ขึ้นไปอีก

และสะเทือน “มารยาท” ทางสังคมขึ้นไปอีก

นัยหนึ่งเราอาจมองได้ว่าการ “ปีนเกลียว” ด่าข้ามเจเนอเรชันอาจไม่ใช่เรื่องที่สมควรทำเท่าไรนัก แต่หากการที่ผู้ใหญ่เข้ามาคุกคามผู้น้อย การป้องกันตัวหรือทวงสิทธิให้ตัวเองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นเช่นกัน แม้สังคมไทยเราจะนิยมการประนีประนอม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนไม่น้อยที่มี “บาดแผล” จากระบบอาวุโสนี้ ในยุคที่สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องตระหนักถึง การหันมาทำความเข้าใจกันระหว่างคนต่างเจเนอเรชัน และการตระหนักถึงขอบเขตของกันและกันจึงเป็นทางออกที่จะไม่สร้างบาดแผลให้กับผู้ใด

เก่งเหลือเกิน เก่งแต่เรื่องคนอื่น
เมื่อความเก่งผูกโยงกับคนรอบตัว

บางครั้ง คำว่า “เก่ง” ก็ตามมาด้วยคำว่า “เรื่องของคนอื่น” เราอาจคิดวิธีแก้ปัญหาให้คนอื่นได้มากมาย แต่พอเรื่องตัวเองก็ดันไปไม่เป็นซะงั้น

แน่ล่ะ แม้แต่การเล่าเรื่องด้วยมุมมองบุคคลที่ 3 ยังให้รายละเอียดได้ชัดเจนกว่าเล่าด้วยสายตาบุคคลที่ 1 ด้วยซ้ำ เมื่อชีวิตเราเผชิญปัญหา สิ่งที่เรามองหาคือคนที่จะช่วยรับฟังเรื่องเหล่านี้กับพวกเขา เช่นเดียวกัน เมื่อคนอื่น ๆ ประสบปัญหา มุมมอง “คนนอก” ก็มักจะมองขาดกว่าเสมอ

แต่สำหรับบุคคลบางกลุ่มที่มองปัญหาของคนอื่นเป็นของหวานหลังอาหารในวงเม้าท์ การ “เก่งแต่เรื่องคนอื่น” ของคนกลุ่มนี้ก็อาจเคลือบแฝงไปด้วยอคติก็ได้

บางที การโฟกัสเรื่องของคนรอบตัวอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของอาการ Fear of Missing out (FOMO) การตามทันเรื่องของผู้อื่นจึงเป็นส่วนสำคัญที่ประคองจิตใจ ในยุคสมัยที่ข่าวสารและความเคลื่อนไหวของผู้คนเร็วกว่าเข็มวินาที หากรู้สึกว่าสภาพจิตใจของคุณเริ่มห่อเหี่ยวจากการตามไม่ทันเหตุการณ์ เราขอให้คุณพักก่อน แล้วกลับมาโฟกัสใจของคุณก่อน และสำหรับเหล่าผู้รับคำปรึกษาทั้งหลาย เราอยากให้คุณคัดกรอง และคิดไตร่ตรองก่อนว่าคำแนะนำจากคนรอบตัวว่าสิ่งนั้น healthy ต่อจิตใจคุณจริงหรือไม่

ไม่มีใครเก่งเท่าคุณแล้ว
อีโก้เสียดฟ้า กับการไม่สู้แล้วจ้า

ไม่ว่าเราจะเก่งแค่ไหน แต่ถ้ามีใครมา “เก่ง” ใส่ เราก็คงทำได้แค่เบ้ปาก

ความเก่งเป็นตัวส่งเสริมสำคัญของ “อีโก้” หรือ “อัตตา” ของมนุษย์ให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเก่งทางวิชาการ อาชีพ หรือแม้กระทั่งการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

แต่ความเก่งไม่ได้เท่ากับความฉลาด เมื่อเกิดสถานการณ์วัดใจว่าจะใช้อะไรระหว่างสองสิ่งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามักเห็นการใช้ “ความเก่ง” เข้าสู้กับสถานการณ์มากกว่า จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดยอมแพ้ ไม่มีใครเก่งเท่าคุณแล้วจ้า หนักหน่อยก็พ่วงเอาบิดามารดามาด้วย

งานวิจัยเรื่อง “Ego functions and ego development: defense mechanisms and intelligence as predictors of ego level” ชี้ให้เห็นว่า อีโก้ของมนุษย์นั้นมีฟังก์ชันสองอย่างที่สัมพันธ์กัน คือ ความฉลาด และการเป็นกลไกป้องกันตนเอง โดยได้ทำการทดลองกับวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พบว่า การใช้อีโก้เป็นกลไกป้องกันตนเองสัมพันธ์กับระดับความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ที่ต้องพัฒนามากขึ้น ในขณะเดียวกัน การใช้การปฏิเสธและหลบเลี่ยงสะท้อนให้เห็นถึงระดับ IQ ที่สูงมากขึ้น เราอาจบอกได้ว่า “ความเก่ง” ที่คนเข้าใจกันคือเก่งที่จะจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า

นอกเหนือจากนี้ คนที่มีแนวโน้มจะมองตัวเองว่าเก่งที่สุดในโลกนี้ยังสัมพันธ์กับโรค Narcissistic Personality Disorder ซึ่งมีอาการสำคัญคือการ “หลงตัวเอง” โดยภาวะดังกล่าวนี้สอดคล้องกับความรู้สึกไม่ปลอดภัยและความรู้สึกผิดในจิตใจอีกด้วย การแสดงออกซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงสื่อให้เห็นถึงความต้องการการยอมรับจากคนรอบตัวด้วย

น่าสังเกตว่า สถานการณ์วัด “ความเก่ง” ที่เกิดขึ้นมักเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มเถียงกัน หรือการตัดสินใจในสถานการณ์คับขัน การใช้อีโก้นำทางอาจพาไปสู่ความล้มเหลวได้ ความฉลาดทางอารมณ์และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถก้าวข้ามความขัดแย้ง หรือแม้กระทั่งสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยงที่จะล่มจมแล้ว นัยหนึ่งการ “ฟีดอีโก้” ของคนอีโก้สูงเสียดฟ้าอาจนำไปสู่ “ภัยความมั่น” ​ได้ การไม่รู้จักยอมแพ้ หรือแม้แต่ไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความฉิบหายของสรรพสิ่ง

ไหน ๆ ก็กำลังจะขึ้นปีใหม่แล้ว นี่คือโอกาสที่คุณจะขจัดอีโก้ ทบทวนตัวเอง และหากใครมาเก่งใส่ ก็อย่าลังเลที่จะปล่อยให้เขาพิจารณาตัวเองสักนิด

ถ้าทุ่มเถียงกันไปแล้วไม่มีประโยชน์ ก็เดินออกมาเถอะ ไม่มีใครในโลกนี้เก่งเท่าเขาอีกแล้วล่ะ

แหล่งอ้างอิง: pubmed / bbc / nsm / mixmagazine

Content Creator