fbpx

ระเบียบวินัย เสรีภาพ และเพศ ความไม่สมดุลของสามสิ่งที่กระทบเด็กไทย [ตอนที่ 2]

3 Point of Issue.
– กฏระเบียบที่อิงคนตรงเพศเป็นบรรทัดฐาน สร้างความหนักใจ กระอักกระอ่วนใจ ในการที่ต้องแต่งกายไม่ตรงกับเพศสภาพและเพศวิถี ด้วยเพราะการยึดโยงให้สวมใส่เสื้อผ้าตามเพศกำเนิด
– เพศตอนเกิด หรือ เพศที่ถูกกำหนดตอนเกิด ความแตกต่างของสองคำจำกัดความ กับการยึดโยงเพศที่กำหนดให้มี “โรงเรียนสห โรงเรียนชายล้วน หญิงล้วน” หากมองตามเพศตามอัตลักษณ์ คำว่า ‘โรงเรียนสห’ จะคลอบคลุมความหลากหลายทางเพศของเด็กนักเรียนได้มากกว่า
– บัณฑิตกับการแต่งกายตามเพศสภาพและเพศวิถีในวันรับปริญญา วันแห่งความภาคภูมิใจที่ใครๆก็อยากที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง ในขณะที่สถานศึกษาบางแห่งที่มีการอนุโลมแต่ยังมีเงื่อนไขบางประการ เช่น ต้องผ่านการยืนยันจากจิตแพทย์หรือต้องอยู่ในกระบวนการข้ามเพศ


จากความเดิมตอนที่แล้ว กับประเด็นเครื่องแบบการแต่งกายของเด็กนักเรียนและกฏระเบียบอันแสนหยุมหยิมของสถานศึกษา ที่บางข้อก็ต้องร้องออกมาว่า ‘อิหยังวะ’

เช่นกันนั้นกับปัญหาเรื่องเครื่องแบบการแต่งกาย ที่อิงตามมาตราฐานคนตรงเพศ ได้สร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจไม่ comfort ต่อกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานเดิมที่สังคมกำหนดให้แต่งตัวตามเพศตอนเกิด

เพราะว่าไม่ใช่ผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคนจะเป็นคนตรงเพศเสมอไป “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” คงเป็นคำคุ้นหู สำหรับคนในสมัยนี้ขึ้นมาบ้าง แต่คำคุ้นหูนี้ยังมีความไม่เข้าใจอีกมากมายกับการที่สังคมยังยึดโยงที่เพศที่ถูกกำหนดตอนเกิดของพวกเขาอยู่

“ต้องแต่งกายแบบนี้ ไม่อยากไปโรงเรียนเลย”

กฏระเบียบที่อิงมาตราฐานคนตรงเพศตามเพศกำเนิดได้ถูกกำหนดขึ้น เพราะว่ากลุ่มคนตรงเพศที่เป็นชายหญิงรักเพศตรงข้าม ตามบรรทัดฐานทางสังคม เป็นชนกลุ่มใหญ่ และมีสัดส่วนของประชากรในทุกภาคส่วนและแม้กระทั่งในฐานะผู้ออกกฏระเบียบในโรงเรียน ดังนั้น จะเห็นได้เลยว่ากฏระเบียบเครื่องแต่งกายส่วนใหญ่และที่นอกเหนือจากเครื่องแบบในสถานศึกษา ก็ล้วนแล้วแต่อิงตามคนตรงเพศ ซึ่งเป็นกรอบทางเพศที่ยึดโยงตามเพศกำเนิดเช่น เพศนี้ต้องใส่กระโปรง เพศนี้ต้องใส่กางเกง ถึงอย่างไร เราไม่สามารถตัดสินเพศของใครได้ด้วยตาเห็นภายนอก หรือจำกัดบทบาททางเพศด้วยกรอบเพศเดิมๆเสมอไป

เพศตอนเกิด หรือ เพศที่ถูกกำหนดตอนเกิด

อวัยวะเพศกับการยึดโยงทางเพศ เกิดมามีอวัยวะเพศอะไรก็ต้องเป็นเพศนั้น อาจเป็นคำขยายความดั้งเดิมของคำว่า ‘เพศตอนเกิด‘ แต่การเกิดมามีอวัยวะเพศอะไร ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องถูกยึดโยงว่าต้องเป็นเพศๆนั้นเสมอไป ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ จึงเป็นคำอธิบายความหมายของคำว่า ‘เพศ’ ได้ลึกซึ้งยิ่งกว่า ดังนั้น คำว่า ‘เพศที่ถูกกำหนดตอนเกิด‘ ดูจะเป็นคำจำกัดความ ที่คลอบคลุมไปถึงกลุ่มคนผู้ที่ไม่ได้เป็นไปตามบรรทัดฐานชายและหญิงของสังคม และถือเป็นการไม่ตัดสินเพศของคน ด้วยอวัยวะเพศ

“โรงเรียนสห โรงเรียนชายล้วน หญิงล้วน” ใครเล่าเป็นผู้กำหนด

“เพศตอนเกิดเป็นญ…ก็ต้องใส่ชุดผู้หญิง
เพศตอนเกิดเป็นช…ก็ต้องใส่ชุดผู้ชาย”

เรื่องของการถูกบังคับให้สวมใส่กระโปรง กระทบต่ออัตลักษณ์ของนักเรียนชายข้ามเพศ ที่การสวมใส่กระโปรงสร้างความไม่มั่นใจและฝืนจิตใจที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นชายโดยสมบูรณ์ของพวกเขา (ชายข้ามเพศทั้งอยู่ในโรงเรียนสหและโรงเรียนที่ถูกเรียกว่า “โรงเรียนหญิงล้วน“)

การถูกบังคับให้สวมใส่กางเกงนักเรียน ก็กระทบต่อเด็กนักเรียนหญิงข้ามเพศ เพราะพวกเธอมักถูกจำกัดให้ต้องเป็นไปตามเพศที่ถูกกำหนดตอนเกิด ซึ่งขัดกับอัตลักษณ์ทางเพศในความเป็นหญิงโดยสมบูรณ์ของพวกเธอ และการถูกไถผม ก็สร้างความเจ็บปวดให้พวกเธอไม่น้อย (หญิงข้ามเพศทั้งอยู่ในโรงเรียนสหและโรงเรียนที่ถูกเรียกว่า “โรงเรียนชายล้วน“)

และอีกหนึ่งอัตลักษณ์ที่สังคมอาจยังไม่ค่อยรู้จักก็คือ กลุ่มคนนอนไบนารี ที่มีอัตลักษณ์ไม่ใช่ชายและหญิง หรืออาจมีความเป็นชายหรือหญิงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้ต้องการข้ามไปเป็นชายหรือหญิง หรืออาจมีความลื่นไหล ซึ่งพวกเขาอยู่ในร่มของนอนไบนารี ต่างจากชายและหญิงข้ามเพศที่อยู่ในร่มไบนารี (นอนไบนารีทั้งอยู่ในโรงเรียนสหและโรงเรียนที่ถูกเรียกว่า “โรงเรียนชายล้วน หญิงล้วน“)

ดังนั้น คำว่า “โรงเรียนสห” จะเป็นคำที่ใช้กล่าวถึงโรงเรียนได้ครอบคลุมที่สุด ก็ต่อเมื่อเราตัดสินเพศของกัน ตามอัตลักษณ์ทางเพศได้มากกว่าเพศที่ถูกกำหนดตอนเกิด และการที่กฏระเบียบของโรงเรียนอิงตามมาตราฐานของคนตรงเพศ ที่เพศตอนเกิดเป็นเพศอะไร ก็ต้องเป็นเพศนั้นๆ ได้สร้างผลกระทบต่อพวกเขาเหล่านี้โดยตรง

สถานศึกษากับบทบาทในการโอบรับความหลากหลาย [2]

– สถานศึกษากับความหลากหลายทางเพศ –

การถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยเพราะเพียงเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดหรือตามบรรทัดฐานของสังคม เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในแทบจะทุกสถานศึกษา โดยเฉพาะการไม่สามารถแต่งกายตามเพศสภาพ ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีสถานศึกษากำหนดขั้นตอนให้เด็กนักเรียนนักศึกษา พิสูจน์เพศของพวกเขาด้วยการให้จิตแพทย์ยืนยัน หรือแม้กระทั่งการที่สถานศึกษาบางแห่งสร้างเงื่อนไขที่ว่า ต้องรับฮอร์โมน ทำนม ผ่าหลี ทำจู๋ ก็ว่าไป ถึงจะสามารถทำเรื่องขอแต่งกายได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องยืนยันการันตีเพศเลย

แต่งกายตามเพศสภาพ” ปัจจุบัน ความก้าวหน้าของสถานศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้ปรับลดกฏระเบียบที่ให้อิงมาตราฐานความเป็นมนุษย์มากขึ้น แม้จะมีบางแห่งที่ยังมีการอนุโลมแต่ก็ยังมีเงื่อนไขบางประการที่ต้องผ่านการยืนยีนจากจิตแพทย์ หรือ การให้มีกระบวนการข้ามเพศเสียก่อน แต่เสียงจากพวกเขา บอกว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะทำหรือติดเงื่อนไขบางประการในการเข้าสู่กระบวนการ

ล่าสุด ไม่นานมานี้ ได้มีประกาศจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 63 ถึงเรื่อง “แนวปฏิบัติการแต่งกายของนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือวิถีทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด พ.ศ. 2563” โดยให้สิทธิแก่นักศึกษาและบัณฑิตสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถี โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการพบจิตแพทย์ แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามระเบียบของมหาวิทยาลัย

อีกทั้ง กำหนดให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย ต้องปฏิบัติต่อนักศึกษา ด้วยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมทางเพศ หากพบการกลั่นแกล้งทุกรูปแบบ จะถือว่าเป็นความผิดทางวินัย และยังห้ามไม่ให้หน่วยงานภายในออกประกาศหรือข้อบังคับ เกี่ยวกับการแต่งกายของนักศึกษาให้ตรงกับเพศกำเนิด

ชุดครุยกับวันแห่งความภาคภูมิใจด้วยปริญญาใบแรก

การแต่งกายตามเพศสภาพและเพศวิถีของกลุ่มคนที่ถูกแยกออกไปจากคำว่า ชายและหญิง ที่กำลังจะก้าวมาเป็นบัณฑิตหน้าใหม่ ต่างรู้สึกดีใจได้ไม่สุดนักกับวันแห่งความสำเร็จ ด้วยเพราะมหาวิทยาลัยที่ยังระบุขั้นตอนการแต่งกายที่ไม่สามารถแต่งได้ตามเพศสภาพและเพศวิถีของพวกเขา หรือแม้กระทั่งการอนุโลมที่มีเงื่อนไขว่าต้องได้รับการยืนยันจากจิตแพทย์ (ซึ่งการที่คนจะเป็นเพศอะไรนั้น ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาพิสูจน์เพศเลย)

การแต่งตามเพศสภาพและเพศวิถีจึงถือเป็นสิทธิ เสรีภาพของคน และรวมไปถึงความเท่าเทียมที่ บุคคลแต่ละคนควรจะได้เป็นผู้กำหนดเครื่องแบบการแต่งกายของตนเอง อย่างในวันรับปริญญา ถือเป็นวันที่คลับคลั่งไปด้วยการรวมญาติสนิทมิตรสหาย ไม่ว่าใครก็อยากที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจกันทั้งนั้น และการที่ได้สวมชุดครุยตามเพศสภาพและเพศวิถี จึงสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจไม่น้อย

บทสรุปส่งท้าย ถึงประเด็นปัญหาเครื่องแบบการแต่งกายที่กระทบเด็กนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะเห็นได้ว่า เรื่องเพศนั้นมีความเกี่ยวข้องกับมิติทางสังคมในแต่ละประเด็น อย่างที่แยกออกจากกันไม่ได้เลย และเนื่องด้วยเวลามีใครสักคนได้กล่าวถึงปัญหาเครื่องแบบการแต่งกาย และตั้งคำถามว่าสิ่งนี้ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของเด็กไทยหรือไม่ ก็อาจไม่ได้กล่าวครอบคลุมไปถึงกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ในขณะที่เด็กตรงเพศที่รักเพศตรงข้าม หรือเด็กตรงเพศที่รักเพศเดียวกันหรือมากกว่าสองเพศขึ้นไป อาจประสบปัญหาในเรื่องของการที่พวกเขารู้สึกว่าถูกริดลอนสิทธิและเสรีภาพ ไม่ต่างกันนั้น ที่เด็กอีกกลุ่มที่แตกต่างด้วยอัตลักษณ์ทางเพศ ก็ประสบปัญหาที่ว่าเครื่องแบบการแต่งกายตามกฏระเบียบ กระทบต่ออัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขาโดยตรง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะตรงเพศที่รักเพศตรงข้าม ตรงเพศหรือข้ามเพศที่มีรสนิยมหรือวิถีทางเพศแบบไหน หรือแตกต่างด้วยอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร ก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหาเรื่องเพศ เรื่องการถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแต่งกายเข้ามาเกี่ยวข้อง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า