หลังจากวันที่ศาลตัดสินให้ปล่อยตัวจอร์จ ซิมเมอร์มัน จำเลยในคดีฆาตกรรมเทรย์วอน มาร์ติน วัยรุ่นชาวแอฟริกันอเมริกัน เมื่อปี 2013 แฮชแท็ก #BlackLivesMatter ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนดำ และกระแส “ชีวิตคนดำก็สำคัญ” นั้นก็ยิ่งลุกลามมากขึ้นกลายเป็นการเดินขบวนประท้วง อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของชาวแอฟริกันอเมริกันอีกสองคน ได้แก่ ไมเคิล บราวน์ และเอริก การ์เนอร์ จนกระทั่งในปี 2020 ภาพของจอร์จ ฟลอยด์ ที่ค่อยๆ หมดลมหายใจอยู่ใต้เข่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจมินนิอาโพลิส ก็ทำให้กระแส #BlackLivesMatter ได้รับความนิยมไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน
#BlackLivesMatter เกี่ยวโยงกับ “วัฒนธรรมการตื่นรู้” หรือ “Woke” ซึ่งหมายถึงการตื่นตัวต่อประเด็นอคติทางเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งใช้กันมานานตั้งแต่ทศวรรษ 2010 และพัฒนาจากอคติทางเชื้อชาติไปสู่การตระหนักรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในแง่มุมอื่นๆ เช่น เพศ การเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม หรือสถานะทางเศรษฐกิจ
หลังจากการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า ไม่กี่ปีต่อมา “การตื่นรู้” นั้นจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ภาพยนตร์หลายเรื่องปรับบทให้มีตัวละครที่หลากหลายในแง่ของเชื้อชาติ สีผิว รูปร่างและเพศ ไม่เว้นแม้กระทั่งงานวรรณกรรม ที่ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
มีนาคม 2023 The Telegraph รายงานว่า สำนักพิมพ์ HarperCollins ผู้ถือลิขสิทธิ์ตีพิมพ์นวนิยายชุดแนวสืบสวนระดับตำนานของอกาธา คริสตี จะปรับปรุงและตัดทอนถ้อยคำหรือบทบรรยายที่สร้างอคติต่อสีผิวและชาติพันธุ์ออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมตื่นรู้ของคนในยุคปัจจุบัน
เรื่องราวของนักสืบหนวดงาม แอร์คูล ปัวโรต์ และนักสืบหญิงมือใหม่อย่างมิสมาร์เปิล จะถูกแก้ไขใหม่ โดยตัดคำที่กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น คนดำ ยิว หรือยิปซี การเรียกเรือนร่างของตัวละครหญิงว่าเป็น “หินอ่อนสีดำ” รวมถึงตัดประโยคที่มิสมาร์เปิลแซวรอยยิ้มของพนักงานโรงแรมว่า “such lovely white teeth” (ช่างเป็นฟันที่ขาวสวยจัง) ออกไป
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่งานวรรณกรรมคลาสสิกถูกนำมาปรับปรุงแก้ไขแบบ major change เพราะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นวนิยายของโรอัลด์ ดาห์ล นักเขียนชาวเวลส์ ผู้มีชื่อเสียงด้านวรรณกรรมเด็กที่ทั้งสนุกสนานและหม่นมืดในเวลาเดียวกัน ก็ถูกนำมาปรับแก้คำและภาษาที่ใช้ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้คำว่า รูปร่างใหญ่ (enormous) แทนคำว่า อ้วน (fat) หรือการเปลี่ยนให้ตัวละครอูมปา ลูมปาส์ เป็นเพศกลาง ไม่ใช่เพศชายหรือหญิงอีกต่อไป รวมทั้งยังมีการเติมบางข้อความที่ดาห์ลไม่ได้เขียนเองลงไปด้วย เช่นย่อหน้าหนึ่งในเรื่อง The Witches อธิบายว่าเหล่าแม่มดนั้นหัวล้านและต้องใส่วิก ถูกแก้ไขข้อความใหม่ว่า “There are plenty of other reasons why women might wear wigs and there is certainly nothing wrong with that.” (มีเหตุผลมากมายที่ผู้หญิงจะใส่วิก และไม่ใช่เรื่องผิดอะไร)
ด้าน Daily Telegraph รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงคำศัพท์บางคำก็ไม่สมเหตุสมผล ไม่ว่าจะเป็นการตัดคำว่า “ดำ” และ “ขาว” ออกจากเรื่อง ทำให้ยักษ์ใหญ่ใจดีใน BFG ไม่ต้องสวมเสื้อคลุมสีดำอีกต่อไป และตัวละครบางตัวก็ไม่ต้อง “กลัวจนหน้าซีดขาว” อีกแล้ว
Roald Dahl Story Company กล่าวว่า “การปรับปรุงแก้ไขภาษานั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ” ในระหว่างที่มีการพิมพ์ใหม่ และการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ “เป็นเพียงจุดเล็กๆ และผ่านการพิจารณามาอย่างรอบคอบ” เพื่อให้ผู้อ่านรุ่นใหม่สนใจอ่านงานของดาห์ลมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น วรรณกรรมสายลับแมนๆ อย่างเจมส์ บอนด์ ซึ่งเขียนโดย เอียน เฟลมมิง ก็ยังต้องปรับตัวตามความตื่นรู้ของผู้อ่านรุ่นใหม่ โดยในวาระครบรอบ 70 ปี การตีพิมพ์ Casino Royale และให้กำเนิดสายลับเจมส์ บอนด์ สำนักพิมพ์ได้ตีพิมพ์นวนิยายชุดเจมส์ บอนด์ อีกครั้งในเวอร์ชั่นที่ตัดถ้อยคำที่เหยียดเชื้อชาติและเหยียดเพศออก พร้อมข้อความเตือนว่า
“หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นในยุคที่ถ้อยคำและทัศนคติที่อาจสร้างความไม่พอใจให้กับคนรุ่นใหม่ถือเป็นเรื่องปกติ เราได้มีการปรับปรุงผลงานชิ้นนี้ในหลายจุด พร้อมกับพยายามรักษาเนื้อหาให้ใกล้เคียงกับตัวบทดั้งเดิมและยุคสมัยที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
The Guardian ระบุว่า ผู้อ่านที่มีความอ่อนไหวถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญของวงการสิ่งพิมพ์ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พวกเขาประเมินงานวรรณกรรมที่ตีพิมพ์ใหม่และงานเก่าในแง่ของภาษาและบทบรรยายที่รุนแรงและสร้างความขุ่นเคืองใจ และมุ่งที่จะพัฒนาความหลากหลายในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีกระแสข่าวเรื่องการแก้ไขและตัดคำบางส่วนในวรรณกรรมเยาวชนของโรอัลด์ ดาห์ล ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยชาวเน็ตในทวิตเตอร์มองว่า การแก้ไขผลงานของดาห์ลนั้นเป็นการตื่นรู้ที่ไร้สาระ ทำลายบันทึกทางประวัติศาสตร์ และทำให้วรรณกรรมขาดเสียงของยุคสมัย ขณะที่นักเขียนรุ่นใหญ่อย่างซัลมาน รัชดี ก็ระบุว่า การที่สำนักพิมพ์และบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ทำเช่นนี้ ถือเป็น “การเซ็นเซอร์ที่ไร้สาระ”
หลังจากที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรง ทั้ง Puffin ผู้จัดพิมพ์ผลงานวรรณกรรมเยาวชนของโรอัลด์ ดาห์ล และ HarperCollins ผู้ถือลิขสิทธิ์ตีพิมพ์นวนิยายชุดของอกาธา คริสตี ก็ใช้ทางออกเดียวกัน คือตีพิมพ์วรรณกรรมทั้งสองเวอร์ชั่น คือเวอร์ชั่นดั้งเดิม และเวอร์ชั่นที่ถูกปรับแก้เพื่อตอบสนองต่อคนรุ่นใหม่ผู้ตื่นรู้เรื่องความเท่าเทียมแล้วนั่นเอง
ที่มา : theguardian / deadline / theguardian / forbes / thairath