fbpx

ทิศทางใหม่ของประธาน art4D จากนิตยสาร 50 บาท สู่ Studio Monograph ที่พิสูจน์ว่าสิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย

ประธาน ธีระธาดา คือหนึ่งในหัวเรือใหญ่ของ art4d ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา 

ตั้งแต่ยุคสมัยที่รุ่งโรจน์ จนถึงวันที่มรสุมจากความนิยมในสื่อสิ่งพิมพ์ถดถอย ปัจจัยทั้งหลายเหล่านั้น กลับไม่สามารถทำลายความแข็งขันของนิตยสารดีไซน์เล่มนี้ลงได้ 

Modernist จึงขอพาทุกท่านไปร่วมค้นหาคำตอบของคำถามมากมาย เบื้องหลังความแข็งแกร่งของนิตยสารดีไซน์และสถาปัตยกรรมเล่มนี้ พร้อมเจาะลึกไปถึงทัศนคติและการปรับตัวทั้งของบริษัท และตัวของพี่ประธานในประเทศที่งานศิลปะกำลังงอกเงยไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

“มันเป็นสปิริตครับ พอทำๆ ไปมันใช้พลังงานที่บ่งบอกว่าเรารักอันนี้จริงๆ ความใส่ใจพวกนั้น ก็ออกมาในผลงานเอง ซึ่งมันอาจจะอธิบายให้คนทั่วไปฟังไม่ได้ แต่ผมว่าทุกคนจะรู้สึกได้ ว่ามันเกิดจากการตั้งใจอย่างพิถีพิถันจริงๆ” 

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

นิยามความเป็นตัวเองของประธาน ธีระธาดา 

ก่อนอื่นเลยผมต้องออกตัวก่อนว่าจริงๆ ทุกวันนี้ผมไม่ได้เป็นบรรณาธิการนะ แต่ว่าถ้ามันติดก็เป็น เราเปลี่ยนบรรณาธิการมาเยอะ ซึ่งสุดท้ายมันก็คือสถาปนิก ที่มีงานประจำกันทุกคน อยู่ได้ปีสองปีก็ออก คนล่าสุดที่เป็นสถาปนิกก็เป็นคนเก่ง อยากให้อยู่นานๆ (หัวเราะ) 

อะวนกลับมาที่คำถาม ผมเป็นคนที่มีรสนิยมหลากหลาย ตอนเด็กๆ ผมมีความรู้สึกว่าไม่อยากแก่แล้วมีความคิดเหมือนคนรุ่นนั้น เช่น ผมฟังเพลงวงดนตรีใหม่วงหนึ่ง มันก็มีรุ่นน้าผมบอกว่าไม่เห็นจะดีเลย ทำไมไม่ฟังวงที่มันเก่ากว่านั้น ผมก็คิดว่ามันเทียบได้หรอ ทุกๆ ยุคมันมีไอดอลของตัวเอง ทำไมจะต้องหยุดวัฒนธรรมตอนที่ตัวเองเป็นวัยรุ่น เพราะวัยรุ่นมันมีเวลาก็จะอยู่กับเพลง แฟชั่น หนัง มีเวลาที่จะเข้าใจในยุคของตัวเอง 

แต่ผมไม่อยากเป็นคนแบบนั้นไง ดังนั้นถ้าจะให้นิยามตัวเองก็ ‘ผมเป็นคนสนใจของใหม่เสมอ’ น่าจะเป็นคนแบบนี้นะ โดยนิสัยก็ดูหนังทุกเรื่องที่เข้า ดีไม่ดีก็ดู พยายามฟังเพลงทุกเพลง เร็วๆ นี้มันมีเพลง ‘พ่อมึง’ ออกมา ผมก็ฟัง ‘พ่อมึง’ ก่อนเลย ตอนนี้ผมก็รู้จัก ‘พ่อมึง’ แล้ว (หัวเราะ) คือผมว่ามันยากมากที่ผู้ใหญ่ปกติจะเป็นวัยรุ่นที่อัปเดตแข่งกับผมได้ ผมว่าต้องเป็นคนที่บ้ากว่าผมเยอะ เพราะผมอัปเดตตัวเองตลอดเวลา ไม่มีสาระเลยนะ แต่ผมชอบความเคลื่อนไหวในโลก ชอบทัศนคติของมนุษย์ ชอบฟังความคิดเห็นและรสนิยมต่อมนุษย์คนอื่น รสนิยมมนุษย์ต่อสังคมที่เขาอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้รู้ว่ากระบวนการคิดเขาเป็นยังไง

ทำไมต้องสถาปัตยกรรม

จริงๆ ผมไม่ได้สนใจแค่ในสถาปัตยกรรม ผมสนใจศิลปะทุกประเภท ภาพยนตร์ ดนตรี จะตื่นเต้นเสมอเวลามีคนคิดอะไรใหม่ๆ แต่ส่วนที่ตัดสินใจทำสถาปัตยกรรม หนึ่งก็คือเพราะทีมที่ทำเป็นสถาปนิก แต่ก็เป็นคนประเภทเดียวกับผมคือชอบศิลปะอื่นๆ ด้วย แต่ว่าทำไปแล้วคอนเทนต์มาออกทางนี้ซะเยอะ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะงานศิลปะประเภทอื่นทำเงินค่อนข้างยาก สมมติถ้าเราจะลงคอนเทนต์เป็น Fine Arts ไปเรื่อยๆ มันก็จะหาสปอนเซอร์ลำบากเหมือนกัน ถ้าจะแข็งแรงทางแฟชั่น ก็คงสู้สื่อที่เขาแข็งแรงอยู่แล้วไม่ได้ คือมันไม่ใช่ช่องทางของเรา แต่จริงๆ ผมสนใจแฟชั่นมากนะ แต่งตัวแบบนี้แต่ก็ชอบแฟชั่น (หัวเราะ) ถ้าให้สรุปคือ สถาปัตย์เป็นทั้งช่องทางทำมาหากินด้วย แล้วก็เป็นความสนใจของทุกคนที่ทำงานตรงนี้ด้วยครับ

เสน่ห์ของสถาปัตยกรรม ในทัศนของประธาน ธีระธาดา

สถาปัตยกรรมก็เหมือนศิลปะอื่นๆ น่ะครับ เพียงแต่มันยากกว่า Fine Art ตรงที่มันจบด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ผมคิดว่าสถาปัตย์กับภาพยนต์มันคล้ายๆ กันนะ มันจะมีผู้กำกับ คนเล่าเรื่อง แต่ในเงื่อนไขของการเล่าเรื่อง มันทำเองไม่ได้มันต้องมีคนมาถ่าย จัดแสง เด็กตีสเลท มันทำคนเดียวไม่ได้ สเกลมันใหญ่เกิน 

สถาปนิกเองก็เป็นคนเล่าเรื่องที่เขียนแบบขึ้นมาน่ะครับ ก็ต้องร่วมมือกับคนอื่นเป็นทีม ความน่าสนใจของมันคือมันมีฟังก์ชั่นด้วย มีความสวยงามด้วย แต่ในคำนิยามของมันนะ ถ้าเวลาผ่านไปมันอาจจะไม่มีฟังก์ชั่นก็ได้ เดี๋ยวนี้มันแยกยากมากว่าอันนี้งานดีไซน์ อันนี้ศิลปะ อันนี้ไม่ใช่ศิลปะ บางคนบอกว่าสถาปัตยกรรมเป็นอะไรก็ได้ คนที่นิยามกันมาเขาเลิกเชื่อไปแล้ว Form follow Function อะไร มันคืออารมณ์ล้วนๆ บางอันมีความเป็นนามธรรมมากจนคนตั้งคำถามว่าอันนี้เป็นสถาปัตยกรรมหรอ แม้แต่ลมก็มีสถาปัตยกรรมลม มองไม่เห็นอีกต้องยื่นหน้าไป มันคือพลังของศิลปะ แต่สถาปัตยกรรมมันจะมาช้ากว่าเพราะประกอบไปด้วยหลายส่วนกว่า สมมติมีศิลปินท่านนึงจะสร้างงานมินิมอล เขาขีดเส้นหนึ่งออกมามันก็อาจจะจบแล้ว แต่ถ้าเป็นสถาปัตย์มินิมอล เราต้องมีพื้นที่ ก่อกำแพง ก่อเพดาน ทิ้งพื้นที่ไกลๆ โล่งเหมือนไม่มีอะไร เนี่ยฮะมันจะช้ากว่า เพราะงั้นมันจะมาช้าเป็นศิลปะที่มาทีหลังเพื่อน

การเดินทางของสถาปัตยกรรมจากวันที่เรียนจนถึงปัจจุบัน

ผมเรียนรัฐศาสตร์มาด้วยซ้ำ แล้วผมก็ไปเรียนธุรกิจ แต่ว่าผมคลุกคลีกับคนทำงานสร้างสรรค์มาตั้งแต่เด็กจนโต เฉพาะทำหนังสือนี่ก็เกือบ 30 ปีแล้วนะฮะ แต่ผมน่ะเกี่ยวข้องกับองค์กรทางวิชาชีพ อาจจะเป็นงานตกแต่งภายใน ออกแบบผลิตภัณฑ์ งานออกแบบกราฟิก สถาปัตยกรรม ผมเกี่ยวกับเขาไปหมดล่ะ จนบางครั้งลืมไปแล้วว่าพื้นฐานตัวเองเป็นยังไง แต่ผมเชื่อในเรื่องการผลักดันนะ ผมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ๆ ให้มีบทบาทอนาคตต่อไปในเรื่องงานออกแบบ และผมก็ทรีตตัวเองเป็นหน่วยหนึ่งของคนวงการออกแบบน่ะครับ ถ้าจะให้พูดว่าวงการนี้มันเปลี่ยนไปแค่ไหน ก็ต้องพูดว่าโลกมันไปไกลเสมอ พื้นที่มันเบลอเข้าหากันอยู่เรื่อย แม้ว่างานออกแบบจะตีราคาได้น้อยกว่างานศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะสะสมที่ต้องประมูล คือสถาปัตยกรรมถ้าต้องประมูล มันคือต้องทำให้ถูกที่สุด แต่โลกมันไปไกลแล้วครับ ศิลปะทุกอย่างมันไปข้างหน้าเสมอ

สิ่งที่เรียนสู่สายงานที่ (อยาก) ทำ

จริงๆ ผมชอบหนังมากนะ ก็คลุกคลีมาตลอด เพราะเพื่อนในวัยเด็กผมก็เป็นผู้กำกับเกือบหมดละ  จริงๆ ก็คิดว่าถ้าไม่ทำหนังก็ต้องอยู่วงการดนตรี ไม่งั้นก็เป็นแบบป๋าเต็ดทำคอนเสิร์ต ลึกๆ แล้วชอบความเป็นงานสาธารณะ ที่มันไปทำงานกับสมองคนแล้วเกิดความคิดในเชิงสุนทรียภาพ แล้วคิดต่อๆ ไปได้อีก ก็ไม่แปลกที่ผมเลือกทำนิตยสารครับ ผมสะสมนิตยสารเต็มไปหมดเลย เมื่อก่อนมีนิตยสารไทยตั้งกี่เล่มน่ะครับ สารคดีก็มีหมดเลย สมัยก่อนมีหนังสือชื่อ คาราวาน (1963)  สวยมากผมก็สะสม หนังสือเมืองนอกไม่ต้องพูดถึงครับ ซื้อทั้งแผง พอดีผมเรียนอยู่ New York มันก็มีหนังสืออินดี้เต็มเลย ซึ่งผมก็ซื้อนะ บางทีไม่ได้อ่านหรอกแต่เราเป็นเจ้าของก็เอามาลูบ หนังสือสวยๆ พิมพ์กระดาษดีๆ มันเหมือนเป็นความหลงใหล ถ้าเขาห่อมาก็ไม่อยากแกะ ถุงมันสวย ปกสวย ภาพประกอบสวย ทั้งหนัง เพลง หรือหนังสือก็ดี 

คือผมจะมองด้านของคนผลิตมากกว่าผู้บริโภค ก็มีความเข้าใจภาษาที่เขากำลังจะสื่อสาร การวางพื้นที่ วางตัวหนังสือ เหมือนดูหนังเลยว่าทำไมเขาวางกล้องแบบนี้ ทำไมเขาเล่าเรื่องแบบนี้น่ะครับ รวมๆ คือชอบสื่อ แต่หนังมันใช้เงินเยอะไง เพลงก็สนใจ คือชอบแต่ไม่ได้เก่งขนาดนั้น  บังเอิญว่าหนังสือเนี่ย เรา อยู่บนเงื่อนไขตอนนั้นไม่ต้องลงทุนอะไร ทำเลยเดี๋ยวไปหาโฆษณาเอาก็ง่ายดี อะก็เลยเริ่มเป็นหนังสือตั้งแต่ตอนนั้น 

จุดเริ่มต้นของ art4d

พอตัดสินใจว่าจะทำหนังสือ เราก็มาเจอทีมที่ทำกราฟิก ซึ่งคือเพื่อนผมที่ทำบริษัทกราฟิกพอดี ผนวกกับตอนนั้นเงื่อนไขมันไม่ต้องลงทุนอะไรมาก วิ่งหาโฆษณาเอาง่ายดี ดังนั้น art4d ในตอนแรกจึงเป็นการ ทำมาก่อนเลยแล้ววิ่งหาโฆษณาเอา บังเอิญว่าตอนที่เราทำนิตยสารเล่มนี้ เป็นช่วงที่ประเทศไทยเงินเยอะมากในตลาดโฆษณา ช่วงก่อนฟองสบู่จะแตก ถ้าคุณไปเอเจนซี่พวก Media Planner คุณจะเจอเอจนซี่ที่เครียดมากเลยเพราะใช้เงินลูกค้าไม่หมด ซื้อทุกสื่อแล้วเงินยังเหลืออะคุณ แล้วผมส้มหล่นมากมารับอานิสงส์ คือเข้ามารับแบบเนื้อหาหนังสือไม่เข้าใจ แต่โฆษณาสวยว่ะ จนฟองสบู่แตกแต่ผมก็ลอยตัวแล้ว หนังสือตกแต่งบ้านมีตั้งเยอะก็หายไปไหนไม่รู้ ไอ้ที่เหลือๆ ถ้าไม่ใช่พวกบ้านและสวนก็ไม่ใช่คู่แข่งเราแล้ว คือเราก็อยู่รอดมาได้ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวคว่ำ เราไม่ได้เป็นตัวท็อปขนาดที่เวลาเศรษฐกิจดีแล้วได้รับผลเยอะมาก แต่เวลาเสียก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น มันกลางๆ ก็อยู่มาเรื่อยๆ อะครับ 

กว่าจะเป็น art4d สักเล่ม

เริ่มจากเราสนใจคอนเทนต์ร่วมกัน อย่างที่บอกจริงๆ แล้วเราสนใจศิลปะ ดังนั้นเมื่อเราต้องเสนองานด้านสถาปัตยกรรม เราก็จะมองสถาปัตยกรรมในด้านของศิลปะมากกว่างานของการก่อสร้างฮะ เพราะฉะนั้น งานหลายๆ โครงการที่มันไม่ได้ถูกเลือก ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีคุณค่าทางศิลปะ ซึ่งเหตุผลก็ตอบยากเหมือนกัน อันนี้ผมก็เกรงใจหลายคนที่เสนองานเข้ามาแล้วเราไม่ได้เลือก แต่ย้อนกลับไปในยุคที่มันรุ่งเรืองมากๆ ใครๆ ก็อยากตีพิมพ์ในนี้ เหมือนมันการันตีว่านี่คือสถาปัตยกรรมที่ดี คือหนังสือมันบางนิดเดียว แต่ส่งมาสิบโครงการมันก็คงลงได้โครงการเดียว ก็จะเกรงใจหลายๆ คนฮะ

แก่นหลักของ art4d คือเราจะมีส่วนของ Project Review แนะนำศิลปะใหม่ สถาปัตยกรรมใหม่ๆ คนใหม่ๆ ด้วย หรืออาจจะเป็นคนเก่าแต่ประเด็นใหม่ มันมีความเป็น Contemporary culture  เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นพูดเรื่องสถาปัตยกรรม ศิลปะ หรืองานออกแบบ มันจะมีความเป็น Contemporary มากกว่างานอนุรักษ์ที่นานๆ มาที มันก็มีคนที่ใช้วิธีใหม่ๆ ในการอนุรักษ์ตัวโครงสร้าง ซึ่งเราก็สนใจครับ 

ในส่วนวิธีการทำงานของเราคือ หนึ่งจะมีคอนเทนต์ที่ตกลงร่วมกัน เราทำงานกับช่างภาพที่เราเชื่อว่าถ่ายภาพแล้วแตกต่าง ซึ่งส่วนมากเป็นสถาปนิกที่ไม่ชอบออกแบบอะแหละ ซึ่งเยอะ แถมชะตากรรมมันคล้ายกันหมด คือพอมาถ่ายให้เราสักพักจะดังมาก งานก็จะโหด แล้วก็รวย สุดท้ายก็จะเลิกมาถ่ายกับเราเพราะคิวเต็ม (หัวเราะ) บางทีคนเดิมก็ส่งลูกน้องของมันมา หน้าที่ของเราก็คือหาคนใหม่เรื่อยๆ ผมก็จะชินกับการหาช่างภาพใหม่ๆ นะ จนมีน้องคนปัจจุบันที่อยู่มานาน ผมก็พยายามจัดให้เขาทำงานอย่างอื่นนอกจากช่างภาพ จะได้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของหนังสือ ก็สนุกดีครับ

ที่จะพูดคือมันมีโอกาสได้ทำงานกับคนที่มีฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นกราฟิก นักเขียน เราสนุกกับการท้าทาย สนุกกับการคุยกับนักเขียนที่มา นักเขียนยุคแรกๆ อย่าง ดวงฤทธิ์ บุนนาค, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ ก็กลายเป็นคนสำคัญของประเทศในเวลาต่อมา เช่นเดียวกันกับคอนเทนต์ที่เราเลือกมา ผมมักจะบอกว่า 

“ความสุขอย่างหนึ่งในการเป็นสื่อ คือมันมีโอกาสได้เจอกับคนเก่งๆ มากเหลือเกิน”

ทั้งคนที่มีวิธีคิดที่เรานับถือ มีวินัยในการใช้ชีวิต มีมุมมองต่อโลกที่น่านับถือ จนเราเสพติดในบรรยากาศอันนี้ จริงๆ ต่อให้มันไม่ได้เงินเลย ถ้าให้เสียเงินแล้วอยู่ในบรรยากาศแบบนี้มันคุ้มนะ คุ้มที่จะลงทุนกับชีวิต แล้วได้มาอยู่กับคนในแวดวงที่มีเรื่องสร้างสรรค์ให้กับโลกนี้ครับ

เพราะความยากสร้างความแข็งแกร่งให้กับ art4d 

ยากหลายแบบเลย คือทำนิตยสารเนี่ย เมื่อก่อนมันออกทุกเดือน เดี๋ยวนี้ออกทุกๆ 3 เดือน การออกทุกเดือนในขณะที่มันต้องทำอย่างอื่นด้วย คือพอมันเป็นองค์กร มันต้องหาเงินด้วยนะ ต้องมีรายได้ มีเงินสำหรับโบนัสพนักงาน มีออกนอกสถานที่ มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพราะงั้นทำหนังสือมันเป็นความสุข แต่ในที่สุดแล้วเราใช้เวลาในการทำหนังสือได้ไม่มากนักหรอก บางเล่มเมื่อก่อนทำสองสามวันเอง จากที่ทำเล่มแรกใช้เวลาหกเดือน จนเหลือสามวันก็คิดดูแล้วกัน เราก็มีแผนแต่ละเดือน เราประชุมกันแล้วว่าเดือนหน้ามีอะไรจะลงมาประกอบร่างทีหลัง ระหว่างนี้เราก็ไปทำงานอื่น เรารับจ้างองค์กรสาธารณะเกือบทุกอันทั้ง สมาคมฝรั่งเศส British Council งานแคตตาล็อกเรารับหมดครับ เพื่อให้ได้เงิน

แต่ทั้งหมดนี้มันก็ทำให้เรารู้ว่า พอทำไปถึงจุดหนึ่ง พลังงานที่เราใช้ทั้งหมดมันมาจากสปิริตที่แสดงว่าเรารักอันนี้จริงๆ และทั้งหมดนั้นแสดงออกมาในผลงาน ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย การตั้งชื่อ ตัวโปรย เลือกฟอนต์ เราเปลี่ยนฟอนต์ตลอดตามยุคสมัยนะครับ อย่างเมื่อก่อนก็จะใช้ฟ้อนต์ตัวหนาๆ พุ่งชนๆ ซึ่งมันอาจจะอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าทุกคนจะสัมผัสได้ ว่ามันเกิดจากการตั้งใจอย่างพิถีพิถัน เราจะเรียกว่าเป็นกลิ่นของมัน

แล้วแต่ละคอนเทนต์ที่เลือกมาจะมีความแตกต่างจากคนอื่น ทำให้มันมีความเป็นผู้นำของวงการขึ้นมาเองน่ะครับ แล้วพอมันถึงจุดนั้น กิจกรรมต่างๆ ก็จะเข้ามาเพิ่มเอง เดี๋ยวก็จัดบรรยาย จัดเวิร์คช็อป กิจกรรมกลายเป็นงานหลักขึ้นมาอีกอันนึง ซึ่งทาง art4d ก็มีกิจกรรมตลอดเวลาครับ จัดฉายหนัง ทอล์คโชว์ที่เชิญคนดังจากเมืองนอกมา บรรยาย เวิร์คช็อป ไปจนถึงการทำงานกับแบรนด์ต่างๆ ด้วย คือให้เขามาสนับสนุน ส่วนเราก็ได้ทำสิ่งที่เรารัก ทั้งหมดนี้มันก็ก่อเกิดเป็นชุมชนความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา อาจจะเป็นทั้งคนพูด คนฟัง เรียกว่ากลายเป็นคนที่มีความรักความผูกพันธ์ซึ่งกันและกันครับ

art4d ท่ามกลางกระแสพายุของสื่อออนไลน์หัวใหม่

ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกันนะว่ามันมีสื่ออันไหนบ้าง คือดิจิทัลมันเป็นไฟต์บังคับที่ต้องมีน่ะครับ ผมแบ่งเป็นสามส่วน คือเรารักษา art4d เดิมที่เป็นข่าวสารวงการกับรีวิวโครงการขึ้นแพลตฟอร์มดิจิทัลไปส่วนเรื่องการตลาด pain point ของการเป็นสิ่งพิมพ์ คือเราดูไม่ได้ว่าใครอ่านไปเท่าไหร่ อย่างดิจิทัลเราสามารถเลือกให้ได้ว่าลูกค้าจะลงอันนี้ ผมเลือกเลยคุณจะเอาใครล่ะ เราก็เลือกๆ หยอดเงินไป มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก็คิดเงินอยู่ตลอดเวลา คือทุกวันนี้เราทำงานส่งเฟซบุ๊ก ตอนนี้ผมว่าเราอยู่ในสเตจที่ยังต้องเรียนรู้นะ ว่าสุดท้ายเราจะหักหลังไอ้มาร์กได้ยังไงบ้าง (หัวเราะ) เดี๋ยวมันก็มีทางออกกันเอง แต่ผมว่ารายได้จากโฆษณาน้อยมากนะเป็นดิจิทัลเนี่ย แต่ถ้าเราออกไปข้างนอก เราก็ถ่ายภาพ มันก็พอจะทำเงินได้อยู่ ดังนั้นพูดง่ายๆ ทำงานเยอะหน่อย ไม่สิ ทำงานเยอะอ้วกแตกเลย แต่เราเป็นคนที่โตมากับงานสิ่งพิมพ์ไงครับ ถ้าเราไม่ได้ทำสิ่งพิมพ์เราก็ไม่ทำ art4d ดีกว่า ดิจิทัลน่ะเหมือนเป็นไฟต์บังคับว่าต้องมี แต่สื่อพวกนี้ในแพลตฟอร์มต่างๆ มันจำกัดการนำเสนอมากเลย รูปจะทำไซซ์ใหญ่เล็กไม่ได้ เพราะมีรูปแบบของมันอยู่ 

ในขณะที่สิ่งพิมพ์มันเปิดทางให้เรานำเสนอ อย่างบางทีเปิดมาเจอหน้าคู่มาตู้มใหญ่ๆ พวกเรารักมัน ใช้ชีวิตอยู่กับมันมานานจนมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันเป็นยิ่งกว่าอาชีพ เวลาปรู๊ฟชอบมาก ชอบที่ได้กลิ่นสี บางครั้งกระดาษบาดมือด้วย เป็นฟีลที่อธิบายลำบาก แต่นี่คือชีวิตของเราครับ 

หลังจากที่ยอดโฆษณามันมีแนวโน้มตกลงมาเรื่อยๆ ตลอดห้าปีที่ผ่านมาจากสมัยที่แย่งกันลง พอตอนนี้เหลือจนแถมแล้ว พอยุคของอินเตอร์เน็ตคนก็ไม่อยากลงโฆษณาแล้ว อยากเขียนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหามากกว่า ทำให้สิ่งนึ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้คือเราเปลี่ยนจาก art4d ที่มีความเป็นวารสารของวงการ ให้มีความเป็นเอกสาร ทำมาสามสี่เล่มแล้วก็ประสบความสำเร็จมาก ตอนนี้มีสตูดิโอที่จองข้ามไปอีกสองสามปีแล้วฮะ ถึงขนาดที่เขาถามว่า ขอแทรกกลางทางได้มั้ยเพราะรอไม่ไหว ก็ดีนะครับ แต่สิ่งที่แลกมาคือพลังของนิตยสารมันหมดไป มันเหมือนเรากลายร่างเป็นแคตตาล็อก  เพียงแต่ว่าพอเราได้โฟกัสสตูดิโอเดียวเนี่ย มันมีมิติของความลึกมากขึ้น เราเข้าใจความคิดของสตูดิโอนั้น นอกจากออกแบบแล้วยังได้เห็นการบริหารองค์กร ได้รู้จักลูกค้าด้วย

จากนิตยสารสู่ Studio Monograph

เล่มแรกเลยที่เปลี่ยนมา เราได้ลูกค้าอย่างธนาคารกสิกรไทย มีบริษัทที่เกี่ยวกับบัญชี ความต้องการของเขาคือ อยากทำพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ทำยังงก็ได้ให้เขาอยากทำงานบัญชี วิธีแก้ไขเขาก็มีสีสัน ไม่มีโต๊ะทำงานเลย พอคนมาเมื่อไหร่ก็จองที่ใหม่ นี่ก็เป็นอีกมุมนึงที่เมื่อก่อนเรามองด้านสุนทรียศาสตร์เป็นหลัก แต่ตอนนี้เป็นการออกแบบเพื่อธุรกิจด้วย

อย่างเรื่องล่าสุด สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ เขาเป็นสถาปนิกที่ออกแบบวัดฟรีเยอะ แล้วช่วงหลังก็มีงานโรงแรม บ้านใหญ่ๆ ตอนทำหนังสืออาร์ตกันก็แทบไม่มีข้อความเลย มีแต่รูป ซึ่งขายหมดเกลี้ยงจนต้องพิมพ์เพิ่ม ผมก็ตกใจเหมือนกันว่าหรือทิศทางนี้จะดี หนึ่งก็คือเราเป็นสิ่งพิมพ์ที่ไม่เดือดร้อนเรื่องสิ่งพิมพ์เลย ผลิตไม่ทันด้วยซ้ำ ลูกค้าก็มีความสุขมาก เพราะได้เอาใจสตูดิโอที่ออกแบบ เดี๋ยวงานหน้าทำแบบนี้อีกได้มั้ย ได้มีเครดิตว่ามีผลิตภัณฑ์ในโครงการนั้น มัน win-win หมดเลย ผมก็คิดทำไมเราไม่ทำแบบนี้ตั้งแต่แรกนะ (หัวเราะ) ทิศทางตรงจุดนี้ก็เหนือความคาดหมายมาก เพราะความจริงเราแค่พยายามเอาตัวรอดแต่กลายเป็นดีไป เรื่องของพวกโซเชียลเราพยายามทำให้มี แต่ยังหาความแหลมคมของมันไม่ได้ หลายอันเหมือนเป็นของค่ายใหญ่ๆ ซื้อสื่อไป เงินมันก็จะออกเรื่อยๆ เพราะจ้างคน ซึ่งค่ายใหญ่ๆ เขาจะเงินเยอะเพราะมีงานจากองค์กรต่างๆ หรือบริษัทใหญ่ที่ทำ CSR แยกออกไป ซึ่งเรายังทำไม่ถึง แต่ว่าเพจอย่างเราเนี่ยมันก็ทำสนุกดี มีลูกค้าเยอะเหมือนกัน เยอะจนบางอาทิตย์ต้องขอลูกค้าว่าขอโพสต์คอนเทนต์ปกติบ้างเถอะ อันนี้ผมว่ามันเป็นช่วงที่ทั้งเราทั้งลูกค้าหาทางออกร่วมกัน โชคดีที่ลูกค้ายังต้องการทั้งสิ่งพิมพ์ ทั้งออนไลน์ แต่ที่ยากที่สุดสำหรับวงการคือ สมมติว่าเราหาเงินอยู่ในบ่อน้ำนึง มันก็มีคนในวงการดิจิทัลที่หาเงินจากน้ำบ่อเดียวกัน บางทีห้าพันบาทเองนะค่าแปะแบนเนอร์ มันจะอยู่ได้ยังไงล่ะ เมื่อก่อนโฆษณาหน้าคู่นี่แสนกว่าบาทนะที่คนเขาแย่งกัน ค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม พนักงานเหมือนเดิม มันเลยต้องหาน้ำบ่อใหม่ไง นี่คือโจทย์ของเรา 

เมื่อก่อนนี้เพราะเราเป็นนักกิจกรรม รายได้หลักของเราจริงๆ คืองาน On ground ที่เราจัดเยอะมากและเป็นรายได้หลัก อย่าง a day ก็งานจักรยาน (a day bike fest-ปัจจุบันยุติการจัดงานแล้ว) บ้านและสวนก็งานบ้านและสวนแฟร์อย่างนี้อะครับ สิ่งพิมพ์มันเจ๊งหมดแหละ แต่ว่ามันต้องมีไง ของเราโชคดีว่าไม่เจ๊ง แต่มันไม่พอหรอกถ้าเกิดว่าเราจะมีความยั่งยืน เราต้องสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา ซึ่งเราก็พยายามทำอยู่ครับ แต่พอมีโควิดก็สกัดดาวรุ่ง สามปีที่ผ่านมางานรับจ้างบรรยายไม่มีเลยเพราะจัดออนไลน์หมด ซึ่งไม่ต้องเสียค่าตัวด้วย ก็เสียรายได้ไปเลยนี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข คิดว่าในที่สุดแล้ว เราต้องสร้างยูนิตใหม่ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเองด้วยครับ อย่างตอนนี้กำลังร่วมพัฒนา NFT กับบริษัทเจ้าอื่นอยู่ ก็กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ครับ 

ต้นทุน art4d ในวันที่รุ่งเรือง vs วันนี้ที่เปลี่ยนทิศทาง

คือช่วงโควิดที่ผ่านมาเงินหายไปหมดเลย หายแบบทำอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นรายได้ที่ยิ่งกว่าใช้หล่อเลี้ยงอีก มันเป็นทั้งเงินเก็บเป็นทุกอย่าง คือพอเราเอาเงินเก็บมาใช้ตลอดเวลา ก็คิดไปว่าก่อนเงินเก็บหมดจะทำอะไรวะ ทำหมดแล้วจะเอาที่ไหนกิน จะมีชีวิตยังไง (หัวเราะ) 

แต่ถ้าพูดถึงต้นทุนอันนี้จะคนละเรื่อง คือเอาจริงผมเองไม่ค่อยรู้หรอกนะ แต่มันติดลบมาตลอดจนตอนนี้ไม่ติดลบแล้ว คือติดลบมาตลอด แต่เงินเก็บเยอะ แต่ก็มาหมดช่วงโควิดอย่างที่บอก (หัวเราะ) ดังนั้นช่วงยุครุ่งเรืองมีอะไรก็ฝากธนาคาร ฝากจนธนาคารมาถามว่าเปลี่ยนไปเป็นกองทุนมั้ย ธนาคารเขาก็สอนว่าโยกเงินยังไงงอกทุนเพิ่ม คือตอนนี้ดีขึ้นแล้วล่ะ แต่ก็ยังไม่ควรไว้วางใจ เพราะมันไม่มีความมั่นคงเลย ถ้าเขาเลิกจ้างเราหรือเทรนด์มันหมดแล้ว เราก็คงจะมีปัญหาเหมือนกันครับ  ไม่ควรลิงโลดจนเกินไป

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของสิ่งพิมพ์นะ คือโลกนี้มีนิตยสารเกิดใหม่เต็มไปหมด ที่บอกสิ่งพิมพ์ไม่ดีไม่จริงเลย คุณไปญี่ปุ่นนิตยสารเกิดใหม่เยอะมาก ไปเดินสนามบินที่เยอรมันนี่งงเลยสิ่งพิมพ์เต็มไปหมด ไม่นับสิ่งพิมพ์ที่ไม่เหมือนนิตยสารนะ สิ่งพิมพ์มันเจริญในตัวมันเองอยู่แล้ว คือต้องทำความเข้าใจนะว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดมันโยนให้ผู้บริโภคหมดเลย ต้นทุนร้อยนึงขายผู้บริโภคสามร้อย โมเดลนิตยสารเดิมมันหลอกหมดเลย จำนวนพิมพ์ไม่จริง ถูกหักจากแผง ต้นทุนสองร้อยต้องขายห้าสิบ คือยิ่งขายมากยิ่งเจ๊งมาก เหมือนถ้าหนังสือพิมพ์ขายวันละล้านเล่มก็ขาดทุนเท่านั้นเลย คือทุนมันเยอะกว่า แต่ทุกที่คงต้องการแมสเพราะจะกินโฆษณา เพราะถ้าโฆษณาไม่มีก็จบเลย ก็จากที่หนังสือพิมพ์บางเจ้ามีโฆษณาหน้าหลังเต็มไปหมด ตอนนี้มีเยอะมั้ยล่ะ

art4d 50 บาทคือเน้นแมส?

ไม่ฮะ คือมันไปเปรียบเทียบกับตลาดไง สมมตินิตยสารดิฉันเขาหนาขนาดนั้นขายร้อยบาท แล้วเราไปขายร้อยนึงมันก็ทุเรศรึเปล่า (หัวเราะ) แล้วก็ตอนนั้นอยากให้นักศึกษาซื้อได้ง่ายๆ ก็มีซื้อแหละแต่ก็ไม่ทุกคน ถ้าเปรียบเทียบกับยุคแรกๆ นะที่ผมออกมาเนี่ย การถือ art4d ขึ้นรถเมล์มันเท่ห์มากเลย คือคนยุคใหม่เขาก็ดูจาก ipad แล้วก็ไม่ได้เสพสื่อจากสิ่งพิมพ์แล้ว โลกมันเปลี่ยนไปแล้วเราแค่ไม่ยอมรับ เรายังชอบดมกลิ่นกระดาษไง ผมยังเชื่อว่ามันยังมีตลอดไปนะ Print Never Die 

มุมมองต่อสถาปัตยกรรมทั้งไทยและเทศ

ไทยมันก็มีหลายมิตินะ บริษัทใหญ่ก็รับงานใหญ่คืองานแน่นมาก ดูจากรถพนักงานที่เปลี่ยนเอาๆ และไลฟ์สไตล์ของเขาที่บอกสุขภาพของบริษัทเขาได้เป็นอย่างดี แล้วมันจะมีพวกคนดังๆ เช่น สตูที่ชนะงานส่งประกวดเป็นประจำ แล้วก็รุ่นใหม่เลยแน่นอนงานจะหายากหน่อย แต่ก็ต้องทำเป็นประสบการณ์ไป งานแรกๆ ของสถาปนิกนักออกแบบก็คือโครงการของญาติของเพื่อนอะแหละ พูดตรงๆ ยากนะครับ คือต้องเก่งจริงๆ หลายคนผมว่ามากกว่าครึ่งก็ไม่ได้ทำอาชีพที่จบมาหรอก เพียงแต่ว่าพอได้ฝึกมาเรื่องของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มันก็ไปประยุกต์กับงานอื่นๆ ได้ งานที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยมันยังไม่ได้ชัดมาก มันเป็นงานสเกลเล็กๆ งานสกิลรีโนเวทจะเด่น เราเลยไม่มีตึกเท่ห์ๆ เหมือนนิวยอร์ก โตเกียว ปารีส  เราก็มีที่เท่ห์สุดคือตึกมหานคร ซึ่งอันนั้นฝรั่งทำ (หัวเราะ) ก็คือส่วนมากตึกใหญ่ๆ ชื่อเจ้าของเป็นฝรั่งที่เลี่ยงกฎหมายมาจดทะเบียนกับบริษัทไทย ซึ่งไทยก็ไม่ได้ให้ราคาเหมือนที่จ้างฝรั่งทำอยู่ดี ดังนั้นงานก็จะออกมาตามเงินที่จ่าย

เป้าหมายสูงสุดของ art4d ตั้งแต่อดีตถึงอนาคต

ไม่รู้นะตอนนี้ แต่มีความคาดหวังว่าเราจะตีโจทย์แตกในเร็ววัน แต่เราจะทดลองไปเรื่อยๆ NFT หรืออะไรแบบนี้ หลังจากที่โควิดมันหายก็จะมีธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องลงพื้นที่ ซึ่งใจของเราอยากจะมีน้ำบ่อใหม่ ที่เราว่ายน้ำกับลูกค้าสบายๆ ชิลๆ ไม่มีฉลามว่าย ซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ครับ 

แต่โลกมันเปลี่ยนไปเยอะนะ สถาปัตยกรรมมันไม่ได้ดูแค่เพดาน ผนัง หรือว่าทิวทัศน์ มันเป็นเรื่องของการวางยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นนักออกแบบยุคใหม่ มันคือเรื่องของการออกแบบพื้นที่ของเมืองให้คนออกมาใช้ชีวิต มี social distance ทุกอย่างมันมีการเมืองของมันหมดเลย นักออกแบบไม่ใช่แค่ออกแบบเก่ง แต่ต้องมียุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม มันก็จะไปอีกระดับนึง 

ถ้าตอนนี้ไม่ได้ทำ art4d 

คงเป็นสื่ออะไรบางอย่างนี่แหละ เพราะผมสนใจการถ่ายทอดสิ่งที่คิดสู่คนจำนวนมาก อาจจะไม่ได้มากขนาดแมส แต่มีกลุ่มเป้าหมาย จริงๆ แค่โพสต์เฟซบุ๊กวันๆ นึงผมก็มีความสุขแล้ว มันมีคนเข้าใจสาระอะไรบางอย่างที่ผมถ่ายทอด งานผมก็จะเป็นแบบนี้ คือมีอะไรบางอย่างที่อยากจะเล่าก็หาคนเล่า ส่วนวิธีเล่าก็ขึ้นอยู่กับโอกาส จริงๆ ถ้ามีโอกาสทำหนังสักเรื่องก็อยากทำอยู่ ล่าสุดเห็นมันมีถ่าย Iphone เป็นหนังเรื่องผีตามคน มันมีคลิปบอกด้วยว่าถ่ายยังไง ซึ่งผมก็ว่าจะเอาบ้างนะ กล้องดิจิทัลตอนนี้ก็ไม่แพง เพื่อนผมที่ทำด้านนี้ก็พร้อมให้ยืมด้วย หรืออย่างตอนนี้ลูกผมอยู่ในธุรกิจอาหารผมก็สนใจนะ คนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จเร็วดี ผมก็อยากจะไปเรียนรู้อะไรบางอย่างในธุรกิจอาหารด้วยการทำอะไรของเราเอง ธุรกิจที่ทำอยู่ตอนนี้ได้เงินมาซับซ้อน อันนี้ขายฟรี อันนี้ขาดทุน แต่ธุรกิจอาหารมันดูเรียบง่ายกว่ามาก อยากให้องค์กรผมมีธุรกิจแบบนี้ ที่เรียบง่ายและได้เงินเยอะๆ เอามาหล่อเลี้ยงสิ่งที่เราทำด้วยจิตวิญญาณ ที่สำคัญอยากให้มันปลอดภัย แต่ปลอดภัยมันอาจจะไม่สนุกก็ได้ไง เราอาจจะหลงว่ามันต้องมั่นคงกับชีวิต

จากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ 

โห ผมไม่กล้าแนะนำเลยครับ คือผมว่ามันก็มีคนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ นะ  แต่เขามีดีมาจากบ้านอยู่แล้ว ก่อนนี้ผมเคยคิดว่าถ้าผมไม่ได้ทำคงไม่มีใครทำต่อได้เลย เพราะมันเสียเวลา คืองานนี้มันต้องการคน Over Qualify นะพูดตรงๆ มันจะต้องคิดไม่ธรรมดาถึงจะสร้างสรรค์คอนเทนต์อะไรแบบนี้ได้ แต่ผมคิดผิดมาตลอดเลย มันมีคนเก่งอยู่เสมอ เพราะเส้นทางระหว่างที่เขาเรียน เขาสั่งสมอะไรกันมาหมดแล้ว คือคนรุ่นใหม่นี่โคตรเจ๋งนะ ผมโคตรเชื่อมั่นเลยว่าอนาคตของโลกมันรุ่งแน่นอน เพราะว่าผมอายุเท่าพวกเขาก็ไม่มีปัญญาคิดได้แบบนี้ อย่างน้องท็อป bitkub ขายบริษัทเป็นพันล้านอย่างนี้ ไอ้รุ่นเก่าจะเอาอะไรไปคุยวะ เราทำได้แค่สนุกไปกับโลกใหม่ๆ เท่านั้นเลย เดี๋ยวก็มี Metaverse เทคโนโลยี AR คือผมไม่อยากอยู่บ้านแล้วไม่รู้เรื่อง เราที่เป็นผู้ใหญ่ทำได้แค่คอยสังเกต ไปพูดคุย ไปทำความเข้าใจ สำหรับผมไม่มีอะไรจะแนะนำเลยครับ เขาดีอยู่แล้ว 

แต่สิ่งที่อยากให้ทุกคนตระหนักเลยคือ ‘โอกาส’ มันมีหลายคนมากที่เก่งแล้วไม่ได้โอกาส อย่างลูกผมเองถ้าไม่มีโอกาสก็คงเป็นไอ้เด็กอ้วนเล่นเกม ตอนเขาไปแข่ง Iron Chef เนี่ย ผมยังไม่รู้เลยว่ามันทำอาหารได้ แล้วตอนผมดูผมก็คิดว่า ไม่มีทางที่คนทางบ้านจะไปชนะ Iron Chef ที่โคตรเก่ง ละวันนึงลูกผมแม่งชนะเฉยเลย ผมเลยมองว่าคุณรุ่นใหม่มีเรื่องให้ประหลาดใจเสมอครับ คนอื่นๆ ก็ด้วยนะ เกือบจะทุกๆ รุ่นเลย 

อย่างล่าสุดผมทำงานกับนักออกแบบชื่อบอย Anonym Studio ฉุกละหุกมาก เพราะตอนนั้นต้องทำบูท art4d โจทย์คือลูกค้าบอกว่ามีไม้เก่าที่โรงงาน เขาบอกให้เอามาทำได้เลย แล้วสุดท้ายมันคิดว่าเอาไม้มามัดทำเป็นแพลตฟอร์มเหมือนต่อจิ๊กซอว์ ไม่น่าเชื่อว่ามันจะคิดได้ขนาดนี้ สวยมาก เนี้ยบมาก คือเรื่องแบบนี้มันปกติสำหรับอาชีพผมแล้วไง แต่สำหรับคนอื่นอาจจะไม่ปกติ ผมเจอคนเก่งจนรู้สึกว่า

“โลกนี้มันมีแต่คนเก่ง ไม่มีคนธรรมดาที่ไม่เก่งอะไรเลย ไม่รู้เรื่อง ทำอะไรไม่ได้เลย ลองคุยกับเขาสิ ทุกคนพิเศษเสมอแหละ”

ซึ่งคุ้มมากที่มีชีวิตคลุกคลีกับคนพวกนี้ คือชีวิตตื่นมาก็คิดเลยว่าวันนี้จะเจอใคร ผมก็จะมีเพื่อนฝูงพี่น้องที่คอยอินบอกซ์ส่งงานมาให้ดู แม้แต่งบประจำวันมันยังดูสร้างสรรค์มากเลย ผมรู้สึกว่าดีจริงๆ เลยโลกนี้ การได้พูดคุยกับแต่ละคนนี่เปิดโลกมากเลย ผมชื่อชนความเป็นมนุษย์นิยม ชอบศักยภาพของมนุษย์ ก็เลยไม่ค่อยจะสงสัยในความสามารถของคนรุ่นต่อๆ ไปนะ ซึ่งมันเจ๋งแน่นอน

art4d ความสุขที่ขาดไม่ได้

มีความสุขที่ได้ทำงานนะ แต่ชีวิตมันก็มีทั้งสุขทั้งทุกข์แหละ โชคดีที่มันสุขมากกว่าทุกข์ พอดีผมเป็นมนุษย์สุขนิยมไง เรื่องบางเรื่องที่ควรจะทุกข์ ผมก็มองในมุมบวกซะส่วนใหญ่ แต่ว่าไม่ได้เป็นคนที่มีความทะเยอทะยานอะไรมากมายนะ แค่ชอบศิลปะครับ โชคดีที่มาอยู่ในสภาพวดล้อมเดียวกับคนทำงานศิลปะที่เราชอบ ผมถือว่าเป็น Privillage เนื่องจากผมเรียนโรงเรียนลูกคนรวยมา เพื่อนๆ ผมก็จะเป็นเศรษฐีกันหมด แต่ผมรู้สึกว่าเขาไม่มีโอกาสรู้จักสิ่งที่ผมรู้จักอย่างทุกวันนี้เลย เอาเข้าจริงให้เลือกผมก็ยังเลือกเป็นตัวผมในวันนี้นะ แต่การที่จะบรรลุถึงสิ่งที่เราอยากทำมันมีหลายปัจจัย ความยากอยู่ที่ตรงนี้แหละ ผมโชคดีที่จัดการกับปัจจัยต่างๆ ที่หลายๆ คนจัดการไม่ได้ ผมไม่ลำบากเรื่องหาทุนมาทำ หาคนเก่งมาทำ ตอนนี้มันก็เป็นช่วงท้ายๆ ในอาชีพนะ แต่ไม่คิดเรื่องเกษียณครับ คงทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่ไหวนั่นแหละ 

art4d นิตยสารดีไซน์เพื่อดีไซเนอร์ทุกคน

art4d มี monograph ที่วางตลาดอยู่เป็นเอกสารของคุณสุริยะ ชื่อเล่มว่า “Invisible / Visible” เป็นงานที่พวกเราภูมิใจมาก เราเรียกว่าคราฟต์ ซึ่งมีน้องคนนึงให้นิยามคำนี้ว่าคือความใส่ใจ ซึ่งมันใช่เลย งานนี้มันคือการใส่ใจทุกๆ อณูของแผ่นกระดาษ มันจะส่งผลมาในภาพรวมของมัน เล่มต่อไปเป็นเล่มของ Plan ก็จะดีไปอีกแบบนึง เป็นเล่มที่โชว์ความเป็นสถาปัตยกรรม เราไม่รู้เลยว่าทุกวันนี้แปลนมันขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่เว้ย อย่างแปลนทำงานเพื่อสังคม แปลนพิพิธภัณฑ์ จริงๆ แล้วคนที่ขับเคลื่อนทุกวันนี้คือคนรุ่นใหม่ ซึ่งพวกเขามีแนวคิดการแก้ปัญหาที่น่าประหลาดใจเสมอ ผมคิดว่าเป็นอีกเล่มนึงที่น่าสะสมมาก มีความเป็นมืออาชีพสูง ถ้าคนสนใจอาชีพนี้ในฐานะผู้ออกแบบ หรือเจ้าของโครงการที่จะทำงานร่วมกับสถาปนิก หรือแม้กระทั่งผู้ใช้งานก็ควรจะมีไว้ มันจะทำให้เข้าใจว่า งานออกแบบทั้งหมด ถูกคิดมาแล้วว่าทำมาเพื่อให้ใช้งานยังไง ที่ว่างตรงนี้ทำไปเพื่ออะไร ผมว่ามันเป็นการเล่าเรื่องราวทางสถาปัตยกรรมที่ดีมากเลยครับ นอกนั้นก็ติดตามเพจได้ มีโพสต์ทุกวันฮะ อาจจะเป็นโฆษณาบ้าง แต่ผมจะพยายามทำโฆษณาเนียนๆ เร็วๆ นี้ก็จะมีโครงการใหม่ที่น่าตื่นเต้น หลายโครงการเราก็มีล้มเหลวบ้าง แต่มันสนุกตรงที่ได้ทำนั่นแหละครับ ถ้ามันไม่เวิร์คก็ไม่เป็นไรไว้ทำใหม่ แล้วก็ยินดีที่ได้รู้จักกับ Modernist นะครับ  

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า