สุ่มกาชา ล่า “อาร์ตทอยไทย” ก้าวใหม่ของอาร์ตทอยและพิพิธภัณฑ์

      ใครยังเล่นตุ๊กตาบ้าง? 

      เชื่อว่าคำตอบของคุณผู้อ่านหลายคนคงจะเป็น “ไม่” เนื่องจากภาระงานและความเติบโตของชีวิตที่ทำให้เราห่างจากความเยาว์วัยไปเรื่อย ๆ 

      งั้นขอแถมอีกคำถามว่า ใครยังไปพิพิธภัณฑ์บ้าง?

      เราเชื่อว่ามือที่ยกอยู่ยิ่งหายลงไปมากกว่าเดิม เพราะภาพจำของพิพิธภัณฑ์คือตึกเก่าคร่ำคร่า โบราณวัตถุที่จับต้องไม่ได้ และเรื่องราวโบราณที่ไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไม

      แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็นการสะสมตุ๊กตาแล้วล่ะก็ คำตอบอาจจะเปลี่ยนเป็นใช่มากขึ้น ด้วยมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไป จากของเล่นเพื่อนรักในวัยเยาว์สู่สิ่งของแห่งความทรงจำ

      ยิ่งเมื่อตุ๊กตาถูกผสมผสานด้วยเรื่องราวและวัฒนธรรมร่วมสมัย ตุ๊กตายิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีก และยิ่งศิลปินใส่ความเป็นตัวตนในตุ๊กตาเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ผู้สะสมพร้อมลงทุน แบบที่แพงเท่าไหร่ก็ยอมจ่าย หรือยิ่งหายากเท่าไหร่ก็ยิ่งไขว่คว้าให้ได้มา และเมื่อวงการศิลป์สร้างสรรค์ไทยเริ่มแบ่งบาน งานอาร์ตทอยก็ยิ่งบูมมากขึ้นเรื่อย ๆ 

      เราจึงอยากชวนทุกคนมาค้นราก ควานรักใน “อาร์ตทอย” ตุ๊กตาที่ผสมผสานกับศิลปะและความเป็นตัวตนอย่างชัดเจน ว่าสะท้อนสิ่งใดในสังคมไทยบ้าง

      ปลุกวัยเยาว์ในตัวคุณขึ้นมา แล้วออกเดินทางไปสำรวจโลกอาร์ตทอยไทยไปด้วยกัน

01 – ตุ๊กตาเป็นเรื่องของรสนิยม

      ว่ากันว่า เราสะสมสิ่งใด สิ่งนั้นจะบ่งบอกตัวตนของเรา

      สมัยก่อนการสะสมตุ๊กตาอาจถูกมองว่าเป็นการ “เล่นของ” เพราะโดยปกติแล้วเราจะไม่ทำรูปเหมือนของคนขึ้นมาแม้จะไม่เฉพาะเจาะจง จากความเชื่อว่าภูตผีปีศาจจะเข้ามาทำอันตรายแก่เรา (หรือคนที่เป็นเจ้าของรูป) ได้ ทว่าการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์จากการเข้ามาของชาติตะวันตกทำให้ตุ๊กตาเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น บนคอนเซ็ปต์ของ “ความเจริญ”

      บุคคลสำคัญคนหนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้คือ “เจ้าจอมเลียม” หนึ่งในเจ้าจอมของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์โมเดลจิ๋วจนกลายเป็น “บ้านตุ๊กตา” ซึ่งจำลองบ้านคนจริง ๆ ในยุครัชกาลที่ 7 อย่างชัดเจน แม้ตุ๊กตาที่อยู่ในบ้านหลังนั้นจะ realistic จนแอบน่ากลัว แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าของจิ๋วเหล่านี้ปุ๊กปิ๊กมากจริง ๆ และเช่นกัน ความนิยมตุ๊กตาในไทยก็ขยายจากชนชั้นนำสู่คนทั่วไป และแผ่ขยายออกไปเรื่อย ๆ 

ส่วนหนึ่งของบ้านตุ๊กตาของเจ้าจอมเลียม: ภาพโดยผู้เขียน

      กุลปริยา ยอดมูลคลี เขียนสารนิพนธ์เรื่อง “ปัจจัยที่ส่งผลกับพฤติกรรมการสะสมตุ๊กตาไอดอล” โดยเสนอว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสะสมตุ๊กตาไอดอลมีทั้งช่วงวัยซึ่งสอดคล้องกับกำลังซื้อ โปรโมชัน รวมถึงปัจจัยทางสังคมเพื่อความเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของกลุ่มด้วย หรือการสะสมตุ๊กตาอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น บาร์บี้ ซึ่งออกคอลเลกชันตามเทรนด์ แถมยัง empower ให้ผู้หญิงเป็นอะไรก็ได้ด้วย แง่หนึ่ง การสะสมตุ๊กตาอาจบ่งบอกถึงความเนิร์ด จุดยืน หรือแม้กระทั่งความทรงจำของคน ๆ หนึ่งด้วยว่า เขามีความคิด ความชอบ และความเชื่อแบบใด

      และมาถึงยุคนี้แล้ว เราเริ่มได้ยินคำว่า “อาร์ตทอย” หนาหูขึ้น มีศิลปินไทยมากมายกระโจนเข้าสู่วงการนี้ หลายคนประสบความสำเร็จด้วยสไตล์ที่โดดเด่น อย่างล่าสุด Crybaby ซึ่งจัดนิทรรศการ “Everybody/Cries/Sometimes” ก็เป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์มากทีเดียว ไม่แน่ว่า ในวงการนี้ คงจะมีอะไรให้เราค้นหาอยู่ไม่น้อยทีเดียว

02 – ตุ๊กตาเป็นเรื่องของ “การเรียนรู้”

      และใช่ว่าอาร์ตทอยไทยจะบ่งบอกรสนิยมเพียงอย่างเดียว เพราะอีกแง่หนึ่ง อาร์ตทอยยังมีฐานะเป็นเครื่องมือเสริมการเรียนรู้ และเสริมความนิยมในการท่องเที่ยวอีกด้วย

      ถ้าเดินสำรวจในย่านเมืองเก่า จะเห็นว่าอาร์ตทอยเป็นลูกเล่นสำคัญที่พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ นำมาใช้เรียกแขก และเป็นสิ่งของสร้างเสริมการเรียนรู้ไปด้วย อย่างช่วงเสาร์อาทิตย์สิ้นเดือน เป็นช่วงเวลาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะจัดงาน “ตลาดอาร์ตทอยในสวน” เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้ผลิตอาร์ตทอย และผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์หลากหลายวัย อย่างสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กองทัพอาร์ตทอยแมวตามธีม “วันแมวโลก” ได้ “ตก” เราด้วยความน่ารัก พร้อมกับการสร้างความตระหนักรู้เรื่องแมวไปด้วย ศิลปินเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นพันธมิตรในกลุ่ม “ศาลาอันเต – Sala Arte” 

      เชน-เณตม์ ประชาศิลป์ชัย แห่ง Little Turtle Studio อาสาเล่าเรื่องราวของ “อาร์ตทอยในสวน” ให้เราได้ฟัง

      “ก่อนที่จะมาเป็นตลาดอาร์ตทอย ก็เริ่มจากกาชาปองชุดนี้ (ชุดตุ๊กตาดินเผาแหลมทอง) ผมเป็นศิลปินอาร์ตทอยที่รู้จักกับบุคลากรในพิพิธภัณฑ์ แล้วเราอยากทำกาชาปองมาช่วยงาน ซึ่งกาชาปองชุดนี้จริง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย’ ที่เป็นนิทรรศการชั่วคราวเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งในงานนั้นจะมีตู้กาชาปองอยู่ด้วย แต่ว่าของข้างในจะเป็นเครื่องสังคโลก เครื่องกระเบื้องเคลือบที่เป็นงานของกองช่างสิบหมู่ เราก็อยากจะลองช่วยงานดูว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้างไหม ผมก็เลยทำกาชาปองชุดนี้ขึ้นมา มี 3 ตัว ทั้ง 3 ตัวก็เอามาจากแบบที่จัดแสดงในงาน”

      “ตอนแรกทำมาแค่ 130 ตัว ทำไปทำมามันดังขึ้นมา บางคนก็ต้องการครบชุดก็เหมาตู้เลย จนเราเห็นแล้วว่าสิ่งเหล่านี้มันดึงดูดคนได้จริง ๆ นะ คนให้ความสนใจเยอะ คนอยากได้เยอะมาก ก็เลยคิดแผนต่อไป ทางพิพิธภัณฑ์ก็ลองทำคอนเทนต์ของตัวเองดู แล้วก็เอาโจทย์มาให้ผมว่าถ้าแบบนี้จะทำกาชาปองได้ไหม ซึ่งโจทย์คือ เทวดานพเคราะห์”

      เคาะไปเคาะมา สุดท้ายจากโจทย์เทวดานพเคราะห์ ก็ได้กลายเป็นกาชาปองชุด “นวพ่าห์” ที่หมายถึงสัตว์พาหนะประจำเทวดาประจำวันเกิดทั้ง 9 (ที่หมายถึงรวมวันพุธกลางคืน และพระเกตุซึ่งหมายถึงคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเกิดวันใดด้วย) ตอบโจทย์งานสงกรานต์ของพิพิธภัณฑ์ที่จะมีการสรงน้ำเทวดาประจำวันเกิดเหล่านี้ด้วย โดยนี่เป็นการสอดแทรกความรู้ไม่ว่าจะสีประจำวันแบบไทย ๆ แถมยังมี Rare Item เป็นพระพิฆเณศ ผู้คุมเทวดาทั้ง 9 และหนูมูสิกะซึ่งเป็นบริวารพระพิฆเณศด้วย

      “เราแบ่งเป็น 3 ช่วง ลองปล่อยวันอาทิตย์ จันทร์ อังคารก่อน แล้วค่อยปล่อยพุธ พฤหัส ศุกร์ ประมาณนี้ ชุดแรกทำมา 300 ตัว หมดภายใน 2 วัน ชุดที่ 2 ครึ่งวันหมด พอชุดที่ 3 ไม่ถึงชั่วโมงหมด ในช่วงนั้นคนให้ความสนใจเยอะ คนต่อคิวกันมากด บางคนเหมาไปหลาย ๆ ตัว ก็เป็นปรากฏการณ์ที่แปลก คือปกติคนไม่เข้าพิพิธภัณฑ์ พอมีกิจกรรมแบบนี้คนก็เข้ามาเยอะ ก็เลยต่อยอดไปว่า เราลองมาจัดงานอาร์ตทอยที่นี่กันเลย รวมศิลปินหลาย ๆ คนมาจัดงานที่นี่ โยนโจทย์ไปให้ว่าเป็น “พระพิฆเณศ” ที่เป็นเจ้าแห่งเทวดานพเคราะห์ทั้งหมด”

      “ส่วนที่ต้องเป็นกาชาปอง เพราะกาชาปองเป็นสิ่งที่ลงทุนไม่มาก คนพร้อมจะจ่ายได้ เราก็เลยให้ศิลปินแต่ละคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน้าใหม่ เพิ่งเรียนจบ ลองมาร่วมกันออกกาชาปองพระคเณศ ชื่อว่า “นวคเณศ” ในช่วงงานสงกรานต์ มีคนแย่งกันมากจนเป็นดราม่า ต้องบอกก่อนว่า เราเคยไปออกงานอาร์ตทอยกัน แล้วมันเงียบ ไม่มีคนเดิน เลยลองทำกาชาปองขึ้นมา พอมันดังจนที่อื่น ๆ ติดต่อมา ทางพิพิธภัณฑ์ก็มาบอกว่า งานสงกรานต์ที่เราจัดกันมีคนเข้างานมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากงานจิ๋นซีฮ่องเต้เมื่อหลายปีก่อน ทางกรมศิลปากรก็แฮปปี้ เราก็ได้ไฟเขียวแล้ว เลยเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้ ก็เลยลองพูดคุยว่าเราจัดงานอาร์ตทอยทุกเดือนไหม ตัวกาชาปองเราโยนโจทย์ให้ แล้วก็ไปทำมา”

ภาพโดยผู้เขียน

      ต่อจากงานสงกรานต์เดือนเมษายน พฤษภาคมเริ่มเข้าหน้าฝน “วันพืชมงคล” จึงกลายมาเป็นธีมของงาน ส่วนเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมมีอีเวนต์ทางภาษาและวรรณคดีอย่าง “วันสุนทรภู่” และ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ตามลำดับ และสำหรับเดือนสิงหาคมนี้ ก็เป็นธีม “แมว” อย่างที่เราได้เกริ่นนำ

      “จริง ๆ ที่นี่เราจะมีการจัดงานใหญ่ ปีละ 2-3 ครั้ง และเราไม่อยากให้กระแสมันเงียบ เพราะถึงแม้ว่าอาร์ตทอยจะเป็นกระแส เป็นที่นิยม แต่พื้นที่มีน้อยมาก ๆ ซึ่งตลาดอาร์ตทอยไม่ได้ใหญ่ เราเลยใช้ที่นี่เป็นเวทีของเรา อย่างที่บอกว่าเรามีธีม เขาก็อยากจะทำธีมต่าง ๆ”

      พอเริ่มรวมกลุ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็กลายเป็น “ศาลาอันเต” หรือชื่อเรียกในภาษาอังกฤษคือ Sala Arte  ซึ่งชื่อนี้ก็เป็นชื่อของสถานที่ประชุมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมัยรัชกาลที่ 5 แถมด้วยกลุ่มนี้ก็ทำงานในวังอีก แต่เปลี่ยนจากวังหลวง เป็นวังหน้าแทน เพื่อเพิ่มบทบาทของศิลปินหน้าใหม่ในวงการอาร์ตทอยไทยให้มากขึ้น แถมยังช่วยเป็นสื่อกลางในการส่งผลิตงานตุ๊กตาซอฟต์ไวนิลด้วย

ภาพโดยผู้เขียน

      Playground Studio ซึ่งเป็นหนึ่งในสตูดิโอที่มาร่วมงานนี้บอกกับเราว่า โจทย์กาชาปองแมวสำหรับพวกเขาคือการดูแลแมวป่วยตามวิธีที่ถูกต้อง ส่วน I.draw.jpg นำผลงานต่อยอดจากธีสิสเรียนจบอย่างอาร์ตทอยแมวและปลาทูมาเพื่อหารายได้ส่วนหนึ่งช่วยเหลือแมวจรไร้บ้านด้วย กระนั้น ก็ยังมีงานอาร์ตทอยอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อย่างเพจ “มหาภารตะ” ที่นำกาชาปองตัวละครพี่น้องปาณฑพมาจอยน์ในงานนี้ด้วย นอกเหนือจากนี้ ทีมศาลาอันเตยังใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของหออนุสรณ์เจ้าพระยายมราชในการจัด Workshop ที่เกี่ยวข้องกับอาร์ตทอยและงานศิลปะด้วย 

      จุดมุ่งหมายสำคัญของศิลปินเหล่านี้คือการใส่ “องค์ความรู้” เข้าไปในตุ๊กตาแต่ละตัว ในธีมแต่ละธีม เพื่อสร้างบทสนทนาส่งต่อความรู้เหล่านี้ไปสู่ผู้ที่สุ่มได้ หรือเข้ามาร่วมกิจกรรม ไม่ว่าจะวัยใดก็ตาม

ภาพโดยผู้เขียน

      “เราใช้โมเดลเดียวกับทางญี่ปุ่นที่เขาทำกาชาปองเป็นพระพุทธรูป เทพเจ้าต่าง ๆ เราพยายามจะยัดความรู้ที่เรามีย่อยลงไปในของเล่นเพื่อเกิดการพูดคุยกันได้ อย่างชุดแรกนาขวัญ มีพระยาแรกนา นางหาบเงิน-หาบทอง มีพระโค ซึ่งเราจำลองแบบจากขบวนจริง ๆ ซึ่งเราต้องดูว่าในขบวนมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วเราก็จำลองลงมา เราสามารถเรียนรู้ผ่านสิ่งเหล่านี้ได้” 

      “คือเราอยู่ในจุดที่ไม่ได้จริงจังมาก อยู่กึ่งกลางระหว่างความจริงจังและไม่จริงจัง แต่ว่าทั้งหมดแฝงด้วยความรู้ อย่างน้อย ๆ กาชาปองของเรามีความรู้ที่จะนำไปพูดต่อได้ และต้องมีความเป็นไทย ซึ่งค่อนข้างยูนีค และทุกอย่างที่ทำเป็น Soft Power หมดแหละ เราอยากจะนำเสนอความเป็นไทย เพราะกาชาปองทำให้คนอยากสะสม”

      และในเมื่อสารตั้งต้นของงานกาชาปองนี้เป็นเทพที่คนเคารพสักการะ เราจึงถามว่าเกิดข้อวิจารณ์ด้านการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ คำตอบที่เราได้คือ “ไม่มี”

      “แต่ถ้าเป็นองค์อื่น ๆ ก็ไม่แน่ บางคนสุ่มกาชาปองไปแล้วนำไปไหว้ ก็เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้จริง ๆ เราต้องมองว่าอย่างพระพุทธรูปเป็นสิ่งแทนตัวพระพุทธเจ้า แต่ละยุคสมัยพระพุทธรูปเองก็มีทั้งที่เป็นแก้ว เป็นโลหะ เป็นไม้ ยุคนี้ก็เป็นพลาสติก เมื่อมีวัสดุอะไรก็ตามก็สามารถใช้สิ่งเหล่านี้ได้ อีกอย่างเราทำโดยมีความรู้ครอบเอาไว้ ฉะนั้นเรามีการตรวจแบบอยู่แล้วว่าทำได้หรือไม่ได้”

      “มันหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ที่จะเกิดคำถามว่าเรามูเตลูหรือเปล่า เพราะเราอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งของ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ที่นี่คือพระพุทธรูปกับเทวรูป จะบอกว่าไม่ใช่งานมูมันก็คงไม่ได้ แต่จุดประสงค์ของเราคืออยากให้ความรู้ แต่ end user เราควบคุมไม่ได้”

      กลางเดือนกันยายนนี้ ทางพิพิธภัณฑ์กำลังจะมีงาน “มหาคณปติบูชา” เนื่องในเทศกาลคเณศจตุรถี ซึ่งเราได้ฟังรายละเอียดคร่าว ๆ แล้ว บอกเลยว่านอกจากวัดแขก และห้วยขวางแล้ว ต่อไปที่นี่อาจจะเป็นอีกไฮไลต์ของเทศกาลนี้ในวันหน้าก็ได้

      “คือเราเอาสิ่งที่จริงจังมาก ๆ อย่างการบูชา การนำชมพระพิฆเณศ และสิ่งที่ไม่จริงจังอย่างกาชาปองมาอยู่รวมกันในงานนี้ ทุกคนก็จะทำกาชาปองพระคเณศด้วยลายเส้นของตัวเอง แบบบูชาก็มีเหมือนกัน” เณตม์สปอยล์ เช่นเดียวกับที่พันธมิตรศิลปินเริ่มเปิดพรีออร์เดอร์กาชาปองพระคเณศกันแล้วในงานนี้ แถมยังมีโปรเจ็กต์สนุก ๆ ต่อไปอีก เช่น กาชาปองธีม “ผี” นานาชาติในเดือนตุลาคมที่จะทำให้คนรู้จักผีไทย-ผีเทศมากขึ้น 

      นอกเหนือจากที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครแล้ว Little Turtle Studio ก็ยังมีโปรเจ็กต์สนุก ๆ อื่น ๆ อีก เช่น กาชาปองซูโม่ และตัวละครในโชเน็นที่เคยไปออกงานที่สยามพารากอนมาแล้ว หรือแม้กระทั่งการจัดทำของที่ระลึกที่นำอัตลักษณ์ของสถานที่นั้น ๆ มาประยุกต์อย่างเครื่องรางแบบญี่ปุ่นที่ทำเพื่อวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และวัดมังกรกมลาวาสด้วย หรือแม้กระทั่งการออกบูธแบบนี้ก็มีลูกค้าน่าสนใจ ๆ เข้ามาดูด้วย เช่น พระครูพราหมณ์ที่สนใจกาชาปองขบวนแรกนาขวัญ

ภาพโดยผู้เขียน

      “เราต้องบอกว่าความรู้บางอย่าง รุ่นเราอาจจะเป็นรุ่นสุดท้ายก็ได้ที่รู้เรื่องนั้น ถ้าเราสามารถถ่ายทอดได้ เราก็จะพยายามทำ”

      “เราไม่ได้อยากอยู่แค่ที่นี่ แต่ที่นี่เราก็ไม่ทิ้ง อย่างเราเริ่มติดต่อกับวัดต่าง ๆ คือวัดเป็นแหล่งรวมศิลปะที่ดีที่สุดตั้งแต่สมัยโบราณ วัดเองก็อยากให้คนเข้า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าวัดก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งในปัจจุบัน คนไทยไปญี่ปุ่นก็ยังไปวัดเซ็นโซจิ วัดอาซาคุสะ คนไทยไปไต้หวันก็ยังไปวัดหลงซาน ทำไมวัดเหล่านั้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เราต้องไป และไปแล้วเราก็ต้องไปสถานที่ท่องเที่ยว ไปซื้อของที่ระลึก สมมติเราไปวัดโพธิ์ เรามีของที่ระลึกของวัดโพธิ์ไหม เราเลยไปคุยกับวัดต่าง ๆ”

      “อย่างวัดราชประดิษฐ์เองน่าจะเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีบานประตูประดับมุกแบบนางาซากิ วัดแห่งนี้ก็เชื่อมโยงกับความเป็นญี่ปุ่นอยู่ ท่านเจ้าคุณ (พระพรหมวัชราจารย์ เจ้าอาวาสวัด) ก็เลยอยากให้ทำเป็นเครื่องรางแบบญี่ปุ่นในงานบานประตูประดับมุกนางาซากิซึ่งท่านทูตญี่ปุ่นมา คือบานประตูแบบนี้ที่ญี่ปุ่นไม่มีแล้ว เพราะนางาซากิโดนทิ้งระเบิด นี่เลยเป็นจุดขายของวัดที่ขนาดญี่ปุ่นยังไม่มีเลย และเป็นวัดที่มีอะไรให้เล่นเยอะมาก เราอยากรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันไปได้ถึงไหน จะได้รับการยอมรับไหม ตอนนี้ที่มีทำมีวัดราชประดิษฐ์ วัดเล่งเน่ยยี่ แล้วก็จะมีโบสถ์คริสต์”

      เมื่อโปรเจกต์ในอนาคตมีเยอะขนาดนี้ เราเลยถามเณตม์ถึงอนาคตของวงการกาชาปองอาร์ตทอยไทยในวันหน้า ว่าจะเติบโตอย่างไรต่อไป เมื่อโจทย์คือความรู้อย่างไทย ๆ ที่สอดแทรกไว้ในรูปแบบตุ๊กตา

      เขาตอบว่า เราจะโตไปแค่คนเดียวก็ไม่ได้ แต่ถ้าจะโตอย่างยั่งยืน ก็ต้องโตไปด้วยกันทั้งคอมมูนิตี้ เพื่อสร้างให้วงการอาร์ตทอยเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ และหยั่งรากในประเทศของเรา

      “จริง ๆ อาร์ตทอยมันไปได้ไกลกว่านี้แหละ แต่ขาดคนหนุนหลัง ตั้งแต่จัดงานสงกรานต์มาก็เหมือนกับว่าเราจะได้พื้นที่สื่อ เทียบกับปีที่แล้วที่กริบ ไม่เห็นข่าวอาร์ตทอยไทยเลยยกเว้นศิลปิน Pop Mart เหมือนกับว่ามีคนให้ความสนใจเยอะขึ้น”

      “ตอนที่จัดงานสงกรานต์ก็มีคนมาพูดว่า ไม่รู้เลยว่าพิพิธภัณฑ์ไทยจะทำดีแบบนี้ เกิดมา 60 ปีไม่เคยเข้าทั้งที่อยู่กรุงเทพฯ หรือตอนนี้ทำเหมือนต่างประเทศเลย”

      “ตอนนี้เราจับมือกับพิพิธภัณฑ์เพื่อจะเติบโต เรายังต้องอาศัยสื่อมวลชนที่จะช่วยโปรโมต เราจะต้องจับมือกับฝ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงท่องเที่ยว แม้แต่มูลนิธิ ชุมชนต่าง ๆ เพราะอาร์ตทอยเหล่านี้ เราเห็นเรายังชอบมาสคอตที่เราไปต่างประเทศเลย ถ้าเกิดเราอยากจะโต เราก็ต้องมีแผนงานที่ทำให้โตไปด้วยกันทุกฝ่าย”

      สิ้นบทสนทนา เราได้ยินเสียงเพื่อนร่วมจัดงานพูดคุยกันด้วยความสนุกสนาน ใบหน้าของผู้ที่เข้ามาเดินเลือกซื้ออาร์ตทอยและทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับตุ๊กตายิ้มแย้ม และตั้งตารอคอยที่จะถึงงานใหญ่ในกลางเดือนกันยายนอย่างใจจดใจจ่อ เพียงเท่านี้เราก็พอเห็นภาพแล้วว่าอาร์ตทอยเป็นวงการที่น่าตื่นเต้นเพียงใด

แหล่งอ้างอิง: sarakadeelite / mahidol / miami

Content Creator