fbpx

ย้อนชีวิตของหญิงรักหญิง: ในวันที่ความเข้าใจเรื่องเพศยังมาไม่ถึง

หลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยมีการตื่นตัวในการพูดถึงความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวาง คนรุ่นใหม่จำนวนมากทั้งชาย หญิง และกลุ่มคนเพศหลากหลายต่างออกมาแสดงความคิดเกี่ยวกับสิทธิความหลากหลายทางเพศในฐานะสิทธิมนุษยชน สีรุ้งและสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศถูกโบกสะบัดอยู่ทั่วทุกเวทีของการชุมนุมเรียกร้องสิทธิ อัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง เป็นสิ่งที่สามารถประกาศ และแสดงออกได้ผ่านการแต่งกาย วิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ตัวตนในฐานะเพศที่แตกต่างจึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องปกปิดหรือหลบซ่อนจากผู้คนดังเช่นในอดีต

เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่การเดินทางของสิทธิความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะหฺญิงรักหญิง ได้ค่อยๆ ลงหลักปักฐานในสังคมไทย จากวันที่คนรักเพศเดียวกันเคยถูกตีตราในฐานะบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ต้องได้รับการรักษาแก้ไขให้เป็นปกติ หรือแม้แต่การถูกบอกว่าเป็นบุคคลที่ต้องหลีกเลี่ยงในการคบหาพูดคุย หรือการถูกมองว่าเป็นคนที่น่าสงสาร สู่การขยายมุมมองเรื่องเพศในฐานะอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศที่เป็น “ทางเลือก” อันเป็น “สิทธิส่วนบุคคล” ที่ต้องได้รับการเคารพปกป้องอย่างเท่าเทียม กว่าจะถึงวันนี้ที่ฟ้าเกือบจะสดใสหลายคนต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานับประการ

ข้อเขียนชิ้นนี้ตั้งใจจะบอกเล่าถึงการก่อตัวขึ้นของชุมชนหญิงรักหญิงแห่งแรกในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นจากการฝังกลบตัวตนของผู้หญิงรักผู้หญิงในอดีต ผ่านจุลสารที่มีชื่อว่า “อัญจารีสาร” ในฐานะพื้นที่ที่ให้ “เสียง” ของผู้หญิงได้ออกมาบอกเล่าเรื่องราวของตนเองในแต่ละย่างก้าวของชีวิต ทั้งความเหงา ความหวัง มิตรภาพ และอุปสรรคที่พวกเธอต้องเผชิญในฐานะ “การรักเพศเดียวกัน” ผ่านการพยายามหาที่ทางของตนเองท่ามกลางสังคมรักต่างเพศที่ปฏิเสธการมีอยู่ของพวกเธอ เพื่อกลับมาทบทวนว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ สิทธิความหลากหลายทางเพศของเราเดินทางมาไกลแค่ไหน สิทธิใดที่เราได้มาและสิทธิใดที่เรายังคงต้องต่อสู้ต่อไป

บทบาทอัญจารีสาร

ภาพประกอบจากอัญจารีสาร ฉบับที่ 13 เดือนกันยายน-ตุลาคม หน้า 26
คอลัมน์ สัมภาษณ์

แน่นอนว่า ในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารสามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในทุกที่ทุกเวลา การจะหาเพื่อน คนรักที่เข้าใจถึงความเป็นหญิงรักหญิงของเราอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นเข็นใจ แต่หากลองมองย้อนกลับไปในวันวาน ในยุคที่ผู้หญิงส่วนใหญ่แทบจะไม่มีสิทธิ์เลือกทางเดินชีวิตเป็นของตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ ที่สังคมบอกว่าผู้หญิงต้องคู่กับผู้ชายเพียงเท่านั้น ทำให้ผู้หญิงหลายคนที่รับรู้ว่าตนเองนั้นแตกต่าง จำเป็นต้องปิดบังอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศกับบรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนที่ทำงาน เนื่องด้วยกังวลว่าจะถูกรังเกียจ เหยียดหยาม หรือได้รับการปฏิบัติที่ต่างออกไป

สำหรับผู้เขียน อัญจารีสารแม้เป็นจุลสารรายสองเดือนที่เผยแพร่ขึ้นในระยะเวลาไม่นาน แต่เป็นจุลสารที่มีชีวิตชีวาเล่มหนึ่งในอดีต อนึ่งเพราะจุลสารเล่มนี้ทำหน้าที่คอยตอบคำถามไขข้อข้องใจในเรื่องอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศของผู้หญิงที่ไม่สามารถพูดคุยปรึกษากับคนรอบข้างได้ใน ณ ช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น การรักเพศเดียวกัน หรือรักสองเพศซึ่งอาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ไม่คาดฝัน พร้อมไปกับการแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความทุกข์ยากซึ่งกันและกัน ดังนั้น อัญจารีสารจึงเป็นเสมือนชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่คอยสนับสนุนเติมเต็มความรู้สึกทางใจให้ผู้หญิงผู้ซึ่งมีอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศแบบหญิงรักหญิงซึ่งมีจำนวนมาก ไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งชุมชนเหล่านี้เป็นเสมือนเครือข่ายเชิงมิตรภาพ (friendship network) ที่เหล่าผู้หญิงต่างใช้เพื่อยืนยันถึงความเป็นคนรักเพศเดียวกันของตนเองภายในชุมชน

อย่างไรก็ตาม ความเป็นชุมชนแห่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดด ๆ แต่เริ่มต้นมาจากการที่ครอบครัว สังคม หรือคนรอบข้างที่ต่อต้านและละทิ้งพวกเธอ เนื่องด้วยมีอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง แต่การเกิดขึ้นของเครือข่ายเชิงมิตรภาพที่หลอมรวมกันเป็นชุมชนนั้น ไม่มีแต่เฉพาะกลุ่มคนความหลากหลายทางเพศ แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนที่ถูกผลักให้เป็นชายขอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มคนที่มีความยากจนทางเศรษฐกิจ (Dewaele, Cox, Berghe & Vincke, 2012, p. 312-320)

ภาพประกอบจากอัญจารีสาร ปีที่ 3 ฉบับที่ 15 เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2539 หน้า 26
ความทนทานของสังคมไทยต่อพฤติกรรมหญิงรักหญิง

อัญจารีสารในฐานะเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง จึงเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้หญิงผู้ซึ่งมีอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศแบบหญิงรักหญิงซึ่งมีจำนวนมาก ไม่ต้องรู้สึกว้าเหว่ ท่ามกลางสังคมที่ไม่ต้อนรับพวกเธอ ขณะเดียวกันเนื้อหาภายในเล่มก็มีการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิทางเพศ รวมถึงแบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์จากเหล่าสมาชิกผู้ซึ่งเคยประสบพบเจอกับอคติมายาคติที่มีต่อคนรักเพศเดียวกันในสังคม พร้อมกับวิธีหลีกเลี่ยงป้องกันจากสถานการณ์เหล่านั้น เพื่อเป็นคู่มือในการเรียนรู้อยู่รอดในสังคม สำหรับผู้เขียนอัญจารีสารเป็นพื้นที่ 4 แบบด้วยกัน ได้แก่ 1) พื้นที่หาเพื่อนหรือคนรู้ใจ 2) พื้นที่ปรับทุกข์ 3) พื้นที่เรียนรู้เรื่องเพศและพื้นที่เรียนรู้การใช้ชีวิต 4) พื้นที่ด้านสิทธิ

อัญจารีสารในฐานะ “พื้นที่หาเพื่อนหรือคนรู้ใจ”

“อยากรู้จักดี้น่ารัก และจริงใจ เพื่อเป็นเพื่อนหรือเป็นมากกว่านั้นยิ่งดี อายุ 20 ถึง 35 ปี รับรองจะไม่มีคำว่าผิดหวัง แน่ะ! กล้ารับประกันตัวเองด้วย ติดต่อมาด่วนนะฮะ” (อัญจารีสาร ฉบับที่ 13 กันยนยา-ตุลาคม, 2538, น.36)

“อยากรู้จักใครสักคนที่มีความรู้สึกดีกับความจริงใจให้แก่กัน ไม่โกหกหลอกลวง ใครอยากมีเพื่อนเพิ่มอีกสักคน เขียนจดหมายมาทักทายได้นะคะ ตอบทุกฉบับและยินดีที่จะรู้จักกับทุกคน” (อัญจารีสาร ฉบับที่ 15 มกราคม-กุมภาพันธ์, 2539, น.35)

“กำลังรอทอมมาดเท่ห์ และดี้สาวสวยน่ารักทั้งหลายที่อยากจะมีเพื่อนที่จริงใจ ไว้แลกเปลี่ยนความคิดหรือปรึกษากันในทุก ๆ เรื่อง ยินดีตอบรับทุกฉบับทุกจังหวัดและกำลังรออยู่นะจ๊ะ” (อัญจารีสาร ปีที่ 2 ฉบับที่ 11 เดือนพฤษภาคม, 2538, น.33)

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระดานสนทนาของสมาชิกที่ต่างคาดหวังให้อัญจารีสารทำหน้าที่เป็นสื่อกลางและพื้นที่ปลอดภัยในการติดต่อหาเพื่อนหรือคนรักไว้คอยพูดคุย เติมความรู้สึกทางใจซึ่งกัน เพราะในโลกข้างนอก มีผู้หญิงอีกมากมายที่ยากที่จะเปิดใจสานสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน ด้วยมองว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ ขณะที่ผู้หญิงรักเพศเดียวกันอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่อาจไว้เนื้อเชื่อใจคนรอบข้าง จึงเลือกที่จะปกปิดหลบซ่อนอัตลักษณ์ทางเพศของตนด้วยกลัวการถูกรังเกียจตีตรา อัญจารีสารจึงทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้คนที่มีความรู้สึกเหมือนกันให้มีโอกาสได้ทำความรู้จักกัน

ภาพประกอบจากอัญจารีสาร ปีที่ 3 ฉบับที่ 16 เดือนมีนาคม-เมษายน 2539

อัญจารีในฐานะ “พื้นที่ปรับทุกข์”

อันที่จริงแล้ว อัญจารีสารไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงกระดานสนทนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่ที่คอยให้คำปรึกษาเรื่องราวชีวิตของหญิงรักหญิง ทั้งความเหงา ความฝัน ความหวัง ความสัมพันธ์ ตลอดจนอุปสรรคที่แต่ละคนต้องเผชิญภายใต้ทางเลือกที่แตกต่าง ในฐานะ “เพื่อน” ที่คอยปลอบประโลมใจยามทุกข์ยากเหนื่อยล้า ทั้งจากเพื่อนสมาชิกด้วยกัน หรือแม้แต่เหล่าคณะทำงานที่คอยพูดคุยเป็นกำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของทอมคนหนึ่งที่แฟนสาวเลือกที่จะคบหากับผู้ชายเพียงเพราะไม่ต้องการแปลกแยกจากสังคม  สามารถจะบอกกับพ่อแม่ได้ว่าตนมีแฟนแล้วคือผู้ชายคนนี้ เธอเขียนเล่าว่าแฟนบอกว่า “ถ้าเราเป็นผู้ชายก็ดีจะได้เปิดเผยได้” (อัญจารีสาร ปีที่ 2 ฉบับที่ 12 เดือนกรกฎาคม, 2538, น.5)

สำหรับผู้เขียนแม้เรื่องราวนี้จะผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี แต่ทว่า ในปัจจุบันทอมหลายคนหลังคงต้องเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้เพียงเพราะสังคมมองว่า พวกเขาไม่ใช่ผู้ชาย ทำให้ต้องเผชิญกับความตึงเครียดจากการเป็นเพศไม่ใช่ชายหญิง มีทอมคนหนึ่งเขียนเล่าเรื่องราวความรักของตนที่มีต่อเพื่อนสนิทคนหนึ่ง และเมื่อเธอคนนั้นรับรู้ก็กลับตีตัวออกห่าง

“โปรดช่วยฉันด้วย คุณเป็นคนเดียวที่ฉันคิดว่าจะให้คำปรึกษาเรื่องนี้ได้ ฉันรักผู้หญิงเราเคยทำงานด้วยกัน เธอลาออกมาเรียนต่อฉันก็ตามมาเรียนด้วย ทุกวันนี้เราเห็นหน้ากันเกือบทุกวัน ทุกครั้งที่อึดอัดสับสน ฉันจะเขียนเป็นบันทึกเก็บเอาไว้ แล้ววันหนึ่งฉันก็ทนตัวเองไม่ไหว เอาบันทึกทั้งหลายทิ้งไว้หน้าประตูห้องเธอ เธอไม่ติดต่อฉันเลย เราไม่เคยอยู่ด้วยกันตามลำพังอีกเลย ตอนนี้ฉันทรมานมาก และอยากร้องไห้เหลือเกิน ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ อย่างน้อยก็ได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจได้บ้าง โดยแน่ใจว่ามีคนรับรู้ เพราะฉันไม่เคยพูดเรื่องนี้กับใคร กว่าจะถูกหาว่าผิดปกติ” (ภินน์, 2539, น. 32-33)

เรื่องราวของภินน์บอกให้เรารู้ว่า ในอดีตผู้หญิงรักผู้หญิงรู้สึกเจ็บปวดและโดดเดี่ยวเพียงใดกับการต้องอยู่ลำพังในสังคมที่ไม่ยอมรับการมีอยู่ของพวกเธอ หรือแม้แต่เรื่องราวของกานต์ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วแต่ภายหลังเกิดชอบทอม เธอได้เขียนจดหมายมาระบายความเสียใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า

“ดิฉันแต่งงานอยู่เมืองนอกมาหลายปี ทุกๆปีดิฉันกับสามีจะกลับไปเที่ยวเมืองไทย จนเมื่อปลายปีที่ผ่านมาดิฉันได้กลับไปเที่ยวเมืองไทยคนเดียว อย่าได้มีทอมมาชอบตัวดิฉันและดิฉันเองก็ชอบเธอ แต่มันมีปัญหาตรงที่ดิฉันแต่งงานแล้วเท่านั้น จะทำอะไรต้องคิดถึงสามี ฉันสงสารเธอมากแต่ก็ตัดใจพูดปดว่าฉันไม่มีเวลา จนเดี๋ยวนี้ดิฉันก็ยังคิดถึงเธอคนนั้นอยู่ทุกวัน” (อัญจารีสาร ปีที่2 ฉบับที่ 11 เดือนพฤษภาคม, 2538, น.7)

การเขียนจดหมายเพื่อระบายความเสียใจของผู้หญิงรักผู้หญิงใช้ชีวิตอนู่ภายใต้บรรทัดฐานรักต่างเพศนี้ เป็นเสมือนการปลดปล่อยแบ่งปันความเจ็บปวดให้แก่กลุ่มเพื่อนหญิงรักหญิงที่เข้าใจหรือเคยเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันได้รับรู้รับฟัง อันมาสู่การปลอบโยนให้กำลังใจ ซึ่งหลายครั้งคำปลอบใจที่ดีที่สุดของคณะทำงานที่มีให้แก่เหล่าสมาชิกกลุ่มคือการย้ำเตือนว่า “พวกเราไม่ได้ผิดปกติดังที่สังคมพยายามตีตรา”  โดยเฉพาะเนื้อหาภายในที่บอกเล่าถึงสถานการณ์ความเป็นไปในชีวิต หรือที่ทางของผู้หญิงรักผู้หญิงทั้งในสังคมไทยสังคมโลกที่มีชีวิตไม่ต่างจากชายหญิงทั่วไป

อัญจารีในฐานะ “พื้นที่เรียนรู้เรื่องเพศ” และ “พื้นที่เรียนรู้การใช้ชีวิต”

การใช้แผ่นยางอนามัย (Dental Dam หรือ Rubber Dam) หรือการตัดถุงยางอนามัยออกมาให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยม เพื่อใช้เป็นสำหรับออรัลเซ็กซ์ระหว่างผู้หญิงนั้น เป็นเนื้อหาที่อัญจารีสารให้ความรู้อย่างตรงไปตรงมา เรื่องการป้องกันโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง

ภาพประกอบจากอัญจารีสาร ฉบับที่ 13 เดือนกันยายน-ตุลาคม 2538 หน้า 17
คอลัมน์ รักอย่างไรถึงจะปลอดภัย?

ทั้งนี้ อัญจารีสารไม่ได้เพียงเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องเพศหรือคู่มือทางเพศ แต่มียังเป็นสถานะเป็นพื้นที่เรียนรู้การใช้ชีวิตหรือคู่มือการใช้ชีวิตของผู้หญิงรักผู้หญิงผ่านมุมมองประสบการณ์ของผู้อื่นไปพร้อมกัน ดังเช่นทอมคนหนึ่งที่เขียนจดหมายเข้ามาสอนวิธีการชีวิตของผู้หญิงรักผู้หญิง ในทัศนะแบบพี่สอนน้อง โดนมองว่าทอมไม่จำเป็นต้องแสดงออกแบบทอมให้สังคมได้รับรู้

“พี่รู้ว่าน้อง ๆ บางคนมีความคิดว่าการแยกบุคลิกของตัวเองให้ใคร ๆ เห็นเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุข ถ้าหากมองกลับกันในลักษณะที่ว่าเราทุกคนล้วนเป็นหญิงต้องทำงานเรียนหนังสือการที่เราแต่งตัวแบบ กลางๆ ใช้ชีวิตแบบกลางๆ พี่ว่ามันน่ารักกว่าเยอะ เราไม่จำเป็นต้องตัดผมสั้นเกรียนใส่กางเกงเเบบผู้ชาย ทำแบบ Man 100% เหตุที่พี่วิจารณ์ถึงสิ่งนี้ เพราะพี่มองดูแล้วก็นึกขำ ว่าเรากำลังทำสิ่งใดกันอยู่ มันดีหรือเปล่าที่เราจะปลอมตัวเราเป็นผู้ชาย ขณะที่กายเราเป็นหญิง แต่หากเราสนใจของชายในร่างของหญิงที่มีบุคลิกอะไรจะดูดีกว่ากัน?” (นิดา, 2541, น. 24-25 )

มุมมองของทอมคนดังกล่าวที่คอยปรามวิถีชีวิตของหญิงรักหญิงด้วยกัน จึงไม่เพียงเกิดขึ้นจากความห่วงใยในฐานะผู้เฝ้ามอง แต่ยังกลัวการถูกเหมารวมว่าตนเองเป็นหนึ่งในกลุ่มหญิงรักหญิงที่สร้างความวุ่นวายแก่สังคม หรือมีการออกทางแสดงที่มากเกินความจำเป็น

ขณะที่คอลัมน์หนึ่งที่ชื่อว่า เก็บตกจากที่ทำงาน โดยยัยนกฮูก ก็ได้แนะนำถึงวิธีการเข้าห้องน้ำผู้หญิงซึ่งเป็นปัญหาหนักใจสำหรับทอมผู้ซึ่งมีบุคลิกรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายแบบผู้ชาย เขาแนะนำถึงวิธีการที่ใช้ได้จริงมาว่า

“เริ่มจากเมื่อก้าวแรกเหยีบย่างเข้าห้องน้ำ อย่างน้อยก็ต้องมีพนักงานทำความสะอาดเหลียวมองตามหลัง สิ่งที่เพื่อนๆ น่าจะทำคือ ส่งยิ้มหวาน แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อาจส่งเสียงทักทายร่วมไปด้วยก็จะดี อย่างเช่นวันนี้เหนื่อยไหมพี่ (น้อง) หรือไม่ก็พี่ขยันจังเลยนะ ด่านที่สองก็คือสาวน้อยสาวใหญ่ อาจส่งปริศนาในดวงตามาให้จงยิ้มกราดไปให้ถ้วนทั่วไปไม่ต้องสะทกหรือสะท้าน การส่งยิ้มด้วยไมตรีนั้น การเสริมสร้างบรรยากาศรอบตัว ในขณะที่กำลังรอคอยเข้าห้องน้ำ” (นกฮูก, อัญจารีสาร ปีที่ 2 ฉบับที่ 9 พฤศจิกายน, น.31-34)

เนื้อหาในคอลัมน์จึงสะท้อนนานาปัญหาที่คนรักเพศเดียวกันต้องเผชิญ ผู้เขียนพบว่า แม้ความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยจะได้รับการลงหลักปักฐานมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่ทว่าหลายครั้ง อุปสรรคที่หญิงรักหญิงต้องเผชิญในอดีตและปัจจุบันนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

อัญจารีสารในฐานะ “พื้นที่ด้านสิทธิ”

ไม่เพียงการดำรงอยู่ในฐานะชุมชนหญิงรักหญิง ที่คอยทำหน้าที่สนับสนุนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็น รวมถึงคอยแบ่งปันเป็นที่พึ่งพาทางใจซึ่งกันและกัน แต่อัญจารีสารยังทำหน้าที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของการเป็นหญิงรักหญิง ที่สามารถจะรักผู้หญิงด้วยกันและปฏิเสธการแต่งงานกับผู้ชาย ในฐานะสิทธิมนุษยชนชั้นพื้นฐานแบบหนึ่ง เพื่อให้ผู้หญิงรักผู้หญิง ทอม ดี้ ทุกคนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจสิทธิของตนเอง ผ่านการนำเสนอข่าวสารความเป็นไปในโลกการรณรงค์ของกลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิงทั้งในสังคมไทยและสังคมต่างประเทศในประเด็นต่าง ๆ อันได้แก่ รณรงค์เรื่องไม่รับคนเพศเดียวกันเข้าทำงาน, ต่อต้านความความรุนแรงต่อผู้หญิงรักผู้หญิง, คนรักเพศเดียวกันไม่ใช่โรคจิต, เด็กในครอบครัวหญิงรักหญิงไม่ใช่สาเหตุทำให้เป็นหญิงรักหญิง, ครอบครัวหญิงรักหญิง ฯลฯ

ภาพประกอบจากอัญจารีสาร ปีที่ 3 ฉบับที่ 22 เดือนมีนาคม 2541 หน้า 19
รายงานพิเศษ มุมมองของจิตแพทย์ต่อรักร่วมเพศ

รวมถึงงานรณรงค์สำคัญของกลุ่มอัญจารี ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งใหญ่ของผู้หญิงรักผู้หญิงและคนรักเพศเดียวกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ผลักดันกรณีสถาบันราชภัฏไม่รับกลุ่มคนรักเพศเดียวกันเข้าเรียนครู, สายด่วนอัญจารี กับการให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงรักผู้หญิง, ผลักดันกรณีห้ามกะเทย ทอม-ดี้ ออกทีวี, ผลักดันเรื่องคนรักเพศเดียวกันไม่ใช่โรคจิต ซึ่งในปัจจุบันการรณรงค์เพื่อได้มาซึ่งสิทธิคนหลากหลายทางเพศในฐานะสิทธิมนุษยชนที่ทัดเทียมกับชายหญิงยังคงดำเนินต่อไปภายใต้สถานการณ์อันซับซ้อนขึ้นในเรื่องอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศของผู้คนที่ยังคงเลื่อนไหลไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และในวันนี้ยังคงมีอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสุขภาวะทางเพศ การยุติการตั้งครรภ์ ความหลากหลายทางเพศในสถานที่ทำงาน ฯลฯ ที่รอให้ทุกคนเดินหน้าขับเคลื่อนกันต่อไป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า