fbpx

เมียงมอง ’เมล์ไทย ผ่านสายตาแฟนพันธุ์แท้รถเมล์ “อ่ำ Bangkokbusclub”

เวลาคุณเห็นรถเมล์คุณจะนึกถึงอะไรเป็นอันดับแรก ?
รถเก่า สีถลอก ล้าสมัย ความแออัด รอก็นาน ความปลอดภัยก็น้อย

นั่นอาจจะเป็นภาพของรถเมล์ในสายตาผู้คนทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ชายที่นั่งตรงหน้าเราคิดทั้งหมด เพราะรถเมล์ในความคิด และความทรงจำของเขาเต็มไปด้วยอดีตอันหอมหวาน และการมองเห็นมันอย่างลึกซึ้งในหลากหลายแง่มุมที่เขาพอจะมองได้

เขาคืออ่ำ-มารุต จันทน์โรจน์ ชายผู้เรียนจบด้านสถาปัตยกรรมตกแต่งภายใน เป็นนักออกแบบโมเดลรถเมล์ เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับรถเมล์ และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Bangkokbusclub community ที่รวบรวมคนรัก และคนใช้รถเมล์มากหน้าหลายตา และยังเคยออกรายการแฟนพันธุ์แท้ เพื่อบอกเล่า และป่าวประกาศผู้คนถึงความชอบเกี่ยวกับรถ ขสมก. ที่เขามีอยู่เต็มเปี่ยม

เราเลยอยากมาพูดคุยกับเขา ในฐานะที่เขายังคงชื่นชอบ ติดตาม คลั่งไคล้รถเมล์เสมอมา ในฐานะที่เขาเฝ้ามองรถเมล์ในทุกอิริยาบทที่เกิดขึ้นรายล้อมมัน และในฐานะผู้โดยสารคนหนึ่งที่ใช้งานมันอยู่ ว่าเขาในหลากหลายฐานะที่ว่ามานี้ จะมีมุมมองต่อสิ่งที่เขารักเป็นแฟนขนานแท้ในยุคนี้สมัยนี้อย่างไรบ้าง

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

เริ่มสนใจรถเมล์ได้ยังไง

จริงๆ สนใจรถเมล์ตั้งแต่ประมาณ 4-5 ขวบแล้วครับ ผมชอบรถอยู่รุ่นหนึ่ง สีครีมแดงนี่แหละ ตอนนั้นคือมันยังใหม่ๆ อยู่ ช่วงที่ผมจำความได้ประมาณปี 35-36 รถครีมแดงปัจจุบันเนี่ยแกะกล่องมาใหม่ๆ เลย ผมก็รู้สึกว่ามันสวยดีนะ มันมีรถยี่ห้อแดวู ตอนนี้ไม่อยู่แล้ว สวยมาก

ช่วงนั้นได้นั่งรถเมล์บ่อย เพราะที่บ้านยังไม่มีรถเลยได้ใช้บริการมัน รู้ตัวอีกทีก็เริ่มชอบ เริ่มสนใจ เริ่มศึกษาเอาตัวรถมาวาดรูป ทำโมเดลตั้งแต่เด็กแล้ว แล้วก็ค่อยๆ มาเริ่มจำสาย จำเส้นทาง แล้วก็เริ่มมานั่งรถเมล์เล่นเองตอนที่โตขึ้นแล้ว

ด้วยความที่เรียน Interior design เลยสนใจจุดเล็กๆ ด้วยหรือเปล่า

ผมเป็นคนที่ชอบโมเดลตั้งแต่เด็กแล้ว ก็เลยอยากจะทำโมเดลรถเมล์ตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นใช้การจำก่อนแล้วค่อยมาวาดเหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง แต่แค่รู้ว่าเป็นรุ่นนี้ แต่พอโตขึ้นเราเริ่มถ่ายรูปเอง เริ่มเรียน interior design เริ่มเขียนแบบเป็น ก็เลยทำออกมาให้เหมือนจริงขึ้น จนตอนนี้ผมมีเพจชื่อ 49 SCALE เป็นเพจเกี่ยวกับโมเดลรถเมล์ และก็สามารถสั่งทำได้ด้วยครับ จากที่เป็นงานวาดและลงสีไม้ เป็นเขียนแบบแล้วก็ปริ้นออกมาประกอบได้

คนที่สนใจโมเดลเขาชอบอะไรในงานของเรา

เขาบอกว่าเราทำได้เหมือน เพราะเวลาผมทำโมเดลเนี่ยถ้าไม่เหมือน มันจะไม่ค่อยอิน จะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แต่ถ้าเราทำเหมือนกับเราจำได้เป๊ะๆ มันจะรู้สึกอิน โมเดลสวยก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้ามันเหมือน มันจะรู้สึกว่ามีอารมณ์ร่วมกับตัวโมเดลนั้น จุดแข็งตรงนี้แหละที่น่าจะทำให้ลูกค้าชอบงานเรา

ส่วนไหนของการออกแบบโมเดลที่ชอบที่สุด

พาร์ทที่ชอบที่สุดน่าจะเป็นตอนที่เสร็จแล้ว ช่วงเขียนแบบก็จะรู้สึกว่ามีแต่เส้นยังไม่เห็นภาพ พอลงสีก็จะเริ่มเห็นภาพมากขึ้น ปริ้นออกมาก็จะเห็นชัดขึ้น มันคือการทำให้ทุกอย่างชัดขึ้นเรื่อยๆ มันเหมือนกับรูปถ่ายที่เราจำได้ ตอนนั้นแหละเรารู้สึกว่ามันสำเร็จแล้ว มันเหมือนได้ขนาดนี้เลยหรือ ประมาณนี้ครับ

อย่างตัวนี้คนก็ชอบเยอะ เพราะว่ามันไม่อยู่แล้ว (พูดพลางชี้มือไปยังโมเดลรถเมล์สีครีมล้วนที่วางอยู่บนโต๊ะสัมภาษณ์) ตอนที่ผมชอบรถเมล์ครั้งแรกสีมันเป็นครีมเยอะๆ แบบนี้แหละ แต่ตอนนี้มันเป็นคนละแบบกันแล้ว สีนี้คือสีเก่าของรถเมล์สีครีมแดงที่มันมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ตอนนี้ก็ 31 ปีแล้ว ทยอยสั่งตั้งแต่ช่วง สิงหาคม พ.ศ.2534 จนถึงกลางปี พ.ศ.2535

ถ้าให้เปรียบตัวเองเป็นรถเมล์ คิดว่าตัวเองเป็นรถเมล์สายไหน

ผมว่าชีวิตผมมีทั้งเศร้า สนุก เหนื่อย รีบเร่ง ผมนึกถึงรถเมล์สาย 36ก เป็นรถเมล์ที่วิ่งเส้น สวนสยาม-อนุสาวรีย์ชัย  ไม่รู้ว่าจะแทนสิ่งที่ตัวเองเป็นรึเปล่า แต่ผมรู้สึกว่าผมสนุกกับการนั่งรถเมล์สายนี้

ไม่ใช่รถเมล์สาย 8 หรอกหรือ

ในมุมที่ผมนั่งรถเมล์ ผมว่ามีที่น่ากลัวกว่าสาย 8 เยอะมาก เมื่อก่อนสาย 8 เกิดอุบัติเหตุบ่อย แต่ก็เป็นเพราะว่ามีจำนวนรถเยอะจึงมีร้องเรียนเยอะ ยุคที่เป็นรถร้อนล้วนๆ สาย 8 มี 72 คัน เยอะมาก แล้วก็ผ่านในเส้นทางที่มีคนเยอะ เพราะแบบนั้นเลยมีโอกาสสูงที่คนจะเจอรถได้ง่าย แล้วก็กลายเป็นภาพจำไป แต่อาจจะมีสายอื่นที่แย่กว่าสายนี้ก็ได้

รวบรวมข้อมูลรถเมล์ทั้งใหม่และเก่ายังไงบ้าง

ผมชอบรถเมล์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 – พ.ศ.2536 ช่วงนั้นเข้าใจว่าผมชอบสิ่งนี้อยู่คนเดียวในโลก พอเห็นรถเมล์ผมจะจำรุ่นรถ ยี่ห้อรถ สายก่อน บางทีก็จำเบอร์รถ พอช่วงประมาณ ป.5 ป.6 ผมก็นั่งรถเมล์อ้อมตอนขากลับจากโรงเรียน แล้วก็หาเรื่องไปทำรายงานที่หอสมุดแห่งชาติ หาเรื่องนั่งรถเมล์เล่นไปเรื่อยๆ พอนั่งเป็นก็เริ่มไปเส้นทางแปลกๆ แล้วเริ่มจำได้ เห็นของจริงมากขึ้น อันนั้นเป็นวิธีการเก็บข้อมูลของผมช่วงเด็กๆ พอเข้าช่วงปี 2550 ผมไปเจอเว็บบอร์ดเกี่ยวกับรถเมล์ แต่ช่วงนั้นเว็บกำลังจะปิดตัวพอดี ผมเลยรวมกลุ่มใหม่กับเพื่อนที่ชอบรถเมล์ด้วยกัน เพื่อเปิด Bangkokbusclub ขึ้นมา

จุดประสงค์ของ Bangkokbusclub คืออะไร

ตอนนั้นมีเว็บไซต์เกี่ยวกับระบบขนส่ง แล้วกระทู้ของรถเมล์กรุงเทพฯ มีคนเข้าไปเล่นในห้องนั้นเยอะมาก เราเลยคิดว่าถ้าแยกออกมาเป็นเว็บไซต์เดี่ยวๆ สำหรับคนที่ชอบรถเมล์ด้วยกันเลยน่าจะดีกว่าไปรวมกับของคนอื่น ก็เลยมารวมตัวกัน

กลุ่มคนชอบรถเมล์ในเว็บไซต์มีช่วงอายุกว้างมากขนาดไหน

ช่วงนั้นจะเป็นช่วงของเด็กมหาวิทยาลัยก่อน แล้วก็เป็นเด็ก ม.ปลาย มีเด็ก ม.ต้นนิดเดียว นั่นคือตอนปี พ.ศ.2550 ปัจจุบันมีทุกวัย พอเป็นเว็บเรารู้สึกว่าคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้น ยิ่งมี Facebook มีกลุ่ม มีเพจ ก็ดึงกันเข้ามาจนตอนนี้วงการกว้างมาก ผมแทบจะไม่รู้จักใครแล้ว เดี๋ยวนี้วงการรถเมล์จะหาข่าวสารอะไรสักอย่างมันง่ายแล้ว ส่งต่อกันง่ายขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนต้องไปหาเอง จำเอง อย่างมากก็แค่จด

คนในกลุ่มเขาพูดถึงเรื่องอะไรกันบ้าง

เราจะไม่พูดเรื่องเดิมๆ ทุกวัน มักจะพูดเรื่องใหม่ๆ ที่ตื่นเต้นกัน เช่น วันนี้คุยเรื่องรถเมล์ติดโฆษณานี้กัน เมื่อวานคุยเรื่องรถเมล์สายนี้เคยมี อยู่ๆ ขาดระยะ เกิดอะไรขึ้น ในกลุ่มก็มักจะคุยเรื่องใหม่ๆ กันตลอด 

เมื่อก่อนผมรู้สึกว่ารถเมล์เยอะกว่าสมัยนี้มากๆ จนเริ่มค่อยๆ หายไปจากระบบ ผมก็คุยกับเพื่อนว่าแล้วเด็กสมัยนี้จะสนุกกับอะไร ตอนนี้ก็มีรถสำรองวิ่งที่จะมาแทนรถที่เสียซึ่งเดาได้ยากว่าจะไปแทนสายไหน เด็กรุ่นใหม่ก็จะไปสนใจถ่ายแบบนี้กันเหมือนเป็นแรร์ไอเทม ซึ่งเราทันหมดแล้ว แต่เด็กรุ่นใหม่เขาไม่ทัน เป็นความสนุกไม่กี่อย่างของกลุ่มคนรักรถเมล์ที่เหลือในยุคนี้

กลุ่มนี้ทำให้สิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับวงการรถเมล์ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเราจะหาความสงบสุขในกลุ่มคือไม่มีครับ แต่ว่ากลุ่มนั้นแหละคือกลุ่มที่ทุกคนพูดเรื่องจริงกัน เดือดร้อนจริง แต่บางอย่างก็ต้องกรอง อย่างน้อยตรงนั้นถ้ามีผู้โดยสารเดือดร้อนหรือร้องเรียนอะไร ผมก็ให้พื้นที่ผู้จัดการเข้ามาตอบนะ ถ้าเขาตอบทุกอย่างเคลียร์หมด บรรยากาศก็จะดีขึ้น แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ ทุกคนกลัวร้องเรียน กลัวโดนด่า ผมให้พื้นที่เต็มที่ทุกคน แต่ถ้ามีคอมเมนท์อะไรที่มันร้ายแรงหรือขัดต่อความมั่นคงผมก็จำเป็นต้องลบ

วงการรถเมล์ตอนนี้เปลี่ยนไปจากช่วงแรกที่ชอบยังไงบ้าง

ย้อนไปตั้งแต่รถครีมแดงมาแล้วกัน เมื่อก่อน ขสมก. สั่งรถใหม่ง่ายมาก ปี 2536 มีรถตัวใหม่เข้ามาเป็นรถ NGV รุ่นแรก ปี 2538 มีรถปรับอากาศ มีรถพ่วงเข้ามา แล้วปี 2541 มีรถยูโรทูเข้ามา ผมรู้สึกว่ายุคนั้นหารถเมล์ใหม่ๆ ง่ายขึ้นมากเลย หลังจากรถยูโรเข้ามา ผมใหม่รู้ว่าวิธีการจัดซื้อเปลี่ยนไปรึเปล่า แต่การมีรถใหม่สักคันเริ่มยากกว่าเมื่อก่อน เลยทำให้รถที่สั่งมาเริ่มเก่าลงและรถใหม่ก็ยังไม่มาแทน การเปลี่ยนแปลงของรถเมล์ที่รู้สึกตื่นเต้นอยู่ยุคนู้นหมดเลย

ยุคนี้เหมือนเปลี่ยนแปลงในทางที่ว่าค่อยๆ ตายลงเรื่อยๆ รถเมล์เก่าลง ผู้โดยสารมีทางเลือกอื่นๆ เยอะขึ้น รถไฟฟ้าเข้ามามีผล และรถเมล์ไม่ปรับตัวด้วย ตามความรู้สึกของพี่เองวงการนี้สนุกน้อยลงตั้งแต่ปี 2555 มันเปลี่ยนแบบ down ลงเรื่อยๆ ก็หวังว่าในอนาคตจะมีอะไรที่ทำให้เราตื่นเต้นมากขึ้น

เข้าร่วมแข่งขันในรายการแฟนพันธุ์แท้ Super fan ได้ยังไง

ผมส่งข้อมูลแนะนำตัววันสุดท้ายเลย คิดแล้วคิดอีกว่าจะไปดีมั้ย ปรากฏว่าได้ เขาก็เรียกไปสัมภาษณ์ มารู้อีกทีว่าเขาเปลี่ยนรูปแบบแล้ว กลายเป็นเราต้องออดิชั่นก่อน เขาให้พรีเซนต์ตัวเอง จนถึงเวลาที่ให้สภาแฟนพันธ์แท้โหวตผมคิดว่า 5-6 ก็ดีใจแล้ว แต่กลับได้ 10 เสียง ผมภูมิใจมากแต่ไม่รู้จะพูดกับใครเพราะรายการบอกห้ามสปอยล์คนอื่นก่อนออกอากาศ แต่รอบตอบคำถามผมได้ 8 โคตรยากเลย

ในรอบ 3 วินาที ใช้วิธีไหนในการจำรถเมล์ว่าคันไหนเป็นคันไหน

ไม่รู้วิธีครับ มันจำเอง ด้วยความที่ว่ามันเห็นบ่อยจากการถ่ายรูป บางคันผมเห็นเลขข้างรถก่อนแล้วตอบได้ แต่บางคันผมเห็นป้ายสายก่อนแล้วตอบได้ แล้วบางที 3 วินาทีตอบไม่ทันจริงๆ ก็มีนะ พอถึงเวลามันนึกไม่ออก

การแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ครั้งนั้นให้อะไรเราบ้าง

อย่างแรกคือให้ความภูมิใจ และก็ให้เรื่องของประสบการณ์ จำว่าครั้งหนึ่งเคยไปแข่งนะ และก็เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าครับ

มองในภาพกว้างกันบ้าง คิดว่าปัญหาอันดับหนึ่งที่คนใช้รถเมล์รับรู้ได้ คืออะไร

ในปัจจุบันปัญหาหลักๆ คือ รถขาดระยะ เพราะว่ามันมีการโยกย้ายต่างๆ ในช่วง COVID-19 ตอนนี้เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น แต่สิ่งที่หายไปคือพนักงาน ขสมก. ซึ่งตอนนี้ยังไม่รับคนเพิ่ม รถเมล์มีเท่าเดิม สายรถเมล์มีการปรับ ก็จะเริ่มเป็นปัญหาเรื่องของคนขับไม่พอกับรถ ทำให้รถออกน้อยลง ขาดระยะมากขึ้น บวกกับ ขสมก. เอง เสียหลายสายให้เอกชน แต่ดันเป็นช่วง COVID-19 อีกพอดีด้วย ทำให้รถเอกชนในระบบหายากขึ้น ผู้โดยสารก็เริ่มซื้อรถใช้เอง หรือเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า หรือการขนส่งอื่นๆ แทน พอคนขึ้นรถเมล์น้อยลง ก็ไม่เพิ่มคน ไม่เพิ่มรถ ทำให้รถในระบบน้อยลง

มีส่วนอื่นอีกมั้ยที่มองว่าเป็นปัญหาอยู่ แล้วควรจะแก้ไขหรือพัฒนา

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาภาพรวม ว่าทำไมรถเมล์ยังอยู่ได้แค่นี้ ผมรู้สึกว่ารถเมล์มันใช้งานยาก ทั้งเรื่องข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ การให้บริการ และขึ้นโดยสารยากเพราะเส้นทางมันน้อยลง เส้นทางเก่าหายไปเรื่อยๆ แต่เส้นทางใหม่กลับไม่ค่อยได้เปิด ทำไมเราไม่พัฒนาเส้นทางให้ครอบคลุม สร้างความจูงใจให้กับผู้โดยสาร มาเจอรถเมล์ในเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าอยู่แล้ว มันไม่มีประโยชน์ ต้องพัฒนาในเรื่องของเส้นทางด้วย เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้คนใช้บริการรถเมล์น้อยลง ถ้าจะพัฒนารถเมล์ ให้สร้างแรงจูงใจให้คนอยากใช้รถเมล์ ทั้งเรื่องเส้นทาง สภาพรถ ค่าโดยสารที่เป็นธรรม จะช่วยให้ผู้โดยสารกลับมาเชื่อมั่นในระบบขนส่งนี้อีกครั้งนึง

เอกชนหรือ ขสมก. ควรมีการแก้ปัญหายังไง เพื่อให้คนรู้สึกว่าการขึ้นรถเมล์ง่ายขึ้น

เคยคิดมั้ยว่าอยู่สถานีรถไฟฟ้าแล้วจะไปขึ้นรถเมล์ต้องออกประตูไหน นี่แหละครับมันคือเรื่องของการให้ข้อมูล

ปัจจุบันรถเมล์หลายสายหายไป บางสายมีการเปลี่ยนเส้นทาง เพิ่มเส้นทาง ไม่มีใครไปแจ้ง ทำไมถึงไม่ส่งข้อมูลให้ Mayday เพื่อให้แก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบันที่สุด ทำให้บางสายที่หายไปแล้วแต่ป้ายกลับยังอยู่ จุดนี้แหละที่ทำให้เราคิดว่ามันเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ยากจริงๆ

อะไรคือสิ่งที่คนต่างจังหวัดควรทำเป็นอันดับแรกในการเรียนรู้การขึ้นรถเมล์ที่กรุงเทพฯ

คนต่างจังหวัดอาจจะเรียนรู้จากการศึกษาข้อมูลด้วยตนเองก่อนที่จะมาในกรุงเทพฯ และควรมีสิ่งซัพพอร์ตคือป้ายอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำเป็นป้าย infographic ไปเลยว่าจะไปที่นี่ต้องขึ้นรถเมล์สายไหน ผมว่าข้อมูลต้องซัพพอร์ตที่เขาจะใช้งานก่อน ส่วนหนึ่งอาจจะศึกษามาก่อนให้เคลียร์ ก็จะลดการปะทะคารมในการถามให้น้อยลง ถ้าทุกอย่างอธิบายได้ด้วยข้อมูล ทำให้เข้าใจได้ง่าย ลดการถาม ลดการหลงทางได้มากขึ้น

ปัญหาอะไรที่คนในวงการรถเมล์พบเจอเป็นส่วนมาก และร้องเรียนอยู่บ่อยๆ

หลักๆ จะเจอรถไม่จอด รถไม่จอดเนี่ยเป็นอะไรที่ร้องเรียนง่ายมากเพราะแจ้งได้เลย อย่างที่สองร้องเรียนแต่ไม่รู้จะได้ผลมั้ย คือรถขาดระยะ ผมเคยเจอปัญหานี้แต่พอร้องเรียนไปก็ยังคงเจอปัญหาเดิมอีก เรื่องร้องเรียนบนรถก็มีบ้างคือมารยาทแย่ ไม่สุภาพ ด่าผู้โดยสาร แต่จะไม่เยอะเท่ารถไม่จอดกับรถขาดระยะ

หากลบมุมที่ชอบออกไป มีอะไรที่เกลียดในรถเมล์ไทยบ้าง

เกลียดการไม่รับฟังความเห็นของผู้โดยสารมากกว่า แค่คุณเปิดใจยอมฟัง feedback จากผู้โดยสารก่อนแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขจะดีกว่า 

อีกหนึ่งข้อสงสัยของผู้คนทั่วไปที่อยากสอบถามผู้รู้ ว่าทำไมรถเมล์สีครีมแดงถึงยังวิ่งอยู่ทั้งๆ ที่มันเก่าขนาดนี้

ตอนนี้มีรถปรับอากาศรุ่นใหม่ๆ เข้ามา แต่ปัญหาของรถปรับอากาศบางรุ่นคือเรื่องของการซ่อมบำรุง ซ่อมแล้วซ่อมอีกในขณะที่รถเมล์ครีมแดงยังวิ่งได้อยู่ พอเริ่มมีปัญหาการซ่อมบำรุงมากๆ เขาก็จะเริ่มปลดระวางรถตัวนั้นไป รถใหม่เลยเข้ามาแทนรถที่ปลดระวางไปในขณะที่ครีมแดงยังไม่มีปัญหาเรื่องการซ่อมแซม อีกทั้งรถปรับอากาศยังมีราคาที่แพงกว่า ทำให้ยังมีคนต่อต้านการปลดรถเมล์ร้อนสีครีมแดงอยู่

สมมติหากตัวเองสามารถกำหนดราคารถเมล์ได้ จะกำหนดราคายังไงบ้าง

ผมจะไม่เก็บราคาเดียว ผมจะคิดเป็นระยะต่ำสุดใกล้ๆ ผมคิด 5 บาทพอแพงสุดอาจจะ max ที่ 10 หรือ 12 บาท ตามระยะ รถเมล์แอร์ก็เหมือนกัน รุ่นเก่าเก็บ 13, 15, 17, 19 ผมว่ามันแฟร์ดี แต่รถปรับอากาศรุ่นใหม่เนี่ย 15, 20, 25 เกินป้ายหนึ่งโดนบวก 5 บาททันที ผมก็เลยรู้สึกว่าราคาเนี่ยมันแพงจริงหรือคิดไม่ยุติธรรมกันแน่

ถ้าคิดในมุมว่าผมอยู่ได้ ผู้ประกอบการอยู่ได้ ผู้โดยสารขึ้นได้สบายๆ รถเมล์แอร์ผมให้ต่ำสุด 10 บาทไม่เกิน 25 บาท ดังนั้นราคามันควรอยู่ที่ผู้โดยสารจ่ายได้ รัฐสามารถช่วยเหลือได้โดยที่ไม่เป็นภาระมากเกินไป และผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ด้วย ต้องบาลานซ์สามอย่างนี้ให้อยู่ได้เสมอๆ กัน

เรียนรู้อะไรจากกิจวัตรประจำวันในการขึ้นรถเมล์บ้าง

เรียกว่าฝึกสกิลเรื่องการเดินทางมากกว่า ไปยังไงให้ไม่หลง มีการแก้ปัญหาหน้างานยังไงถ้ารถเมล์ยังไม่มา ตอนนี้มี GPS ทำให้เราสามารถวางแผนการเดินทางได้ ก็เริ่มฝึกสกิลการแก้ปัญหาในการเดินทางของเราได้ ในอนาคตก็อาจจะเก่งขึ้นหรือเจอปัญหามากขึ้น 

เคยคิดจะทำงานเกี่ยวกับรถเมล์โดยตรงบ้างมั้ย

เมื่อก่อนผมเคยคิดอยากเข้าไปทำงานใน ขสมก. แต่ปัญหาคือต้องเริ่มจากเป็นกระเป๋ารถเมล์ก่อนแล้วค่อยเลื่อนขั้น ซึ่งผมเป็นคนอารมณ์ร้อน ตอนนี้ก็เลยยังมีเป็นที่ปรึกษาให้บางหน่วยงานแทน

ในรายการแฟนพันธุ์แท้ว่า พี่พูดเอาไว้ว่า “ผมจะพัฒนาวงการรถเมล์ให้ดียิ่งขึ้น” คิดว่าตอนนี้ตัวเองพอจะพัฒนาวงการรถเมล์ไปทิศทางไหนได้บ้าง

ถ้าใน Bangkokbusclub ในฐานะเป็นกลุ่ม Facebook ก็จะช่วยเป็นสื่อกลางระหว่างผู้โดยสารกับผู้ประกอบการเดินรถ ช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ ถ่ายรูปหรือรีวิวเรื่องของเส้นทางให้ผู้โดยสารสามารถเห็นข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น แต่ในเรื่องของนอกเขต เช่น ตอนนี้ผมก็รับ job พัฒนาระบบขนส่ง บางทีก็ในรูปแบบการช่วยเหลือ การให้ข้อมูล การติชมต่างๆ ถ้ายังไม่หมดใจก็จะยังทำต่อ ซึ่งเอาจริงๆ ผมเกือบจะหมดใจให้วงการรถเมล์หลายรอบแล้ว

แล้วอะไรที่ทำให้ไฟตรงนั้นมันกลับมาเหมือนเดิม

ถ้าเขาเห็นพวกผม ก็จะรู้สึกว่าเรามีค่ามากขึ้น แล้วทำให้เรารู้สึกมีไฟ เช่น ตอนเปลี่ยน ผอ.ขสมก. คนใหม่ ตอนแรกเขาก็จะเชิญพวกกลุ่มคนรักรถเมล์ไปนั่งคุยถึงปัญหากันเลยว่ามีอะไรบ้าง ผมรู้สึกว่าอย่างน้อยการที่เขายอมรับฟังปัญหา เปิดใจฟังเราอะ แค่นี้มันก็ทำให้ผมโอเคแล้ว เลยคิดว่าการที่เขาเห็นค่าเรา เห็นความคิดของคนที่ใช้บริการจริงๆ แล้วไปสานต่อ ก็จุดไฟเราให้อยากพัฒนาตรงนี้ต่อมากขึ้นเหมือนกัน

ถ้ารถเมล์มันถูกปฏิวัติแล้ว ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จะยังรักรถเมล์อยู่หรือเปล่า

รักสิ มันควรจะทำตั้งนานแล้ว ผมชอบรถเมล์ยุคนั้นตอนที่รถเมล์สีครีมแดงยังใหม่ๆ ยุคนั้นคือยุคที่มีแต่ของใหม่ตลอดเวลา ตอนนี้ทุกอย่างมันเก่าลงแล้ว แถมมันจะแย่ลงเรื่อยๆ ในเรื่องของเส้นทาง การให้บริการ คุณภาพก็ตกลงเรื่อยๆ ถ้าวันหนึ่งมันดีขึ้น สิ่งที่หายไปก็แค่รถที่ผมชอบ ซึ่งต้องหายไปอยู่แล้วแหละ แต่ชีวิตดีขึ้น ทำให้คนขึ้นรถเมล์ได้ง่ายขึ้น ผมว่ามันดีครับ ดีกว่าที่เราไปยึดติดกับอะไรเดิมด้วยซ้ำ ผมอยากให้เป็นอย่างนี้มากกว่า

สมมุติว่าคุณชัชชาติเดินมา ไลฟ์อยู่ มีปัญหาอะไรในรถเมล์ที่อยากจะแจ้งปัญหาให้ท่านผู้ว่าฯ แก้ไข

เชื่อมั้ยครับว่าคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ก็แก้ให้ไม่ได้ เพราะว่ารถเมล์ ขสมก. ไม่ได้อยู่ในสังกัด กทม. นี่คือปัญหา มันคนละหน่วยงานกันเลย มันโยงกันไม่ได้

แต่นโยบายของท่านชัชชาติที่เห็นคือ รถเมล์ที่ยังไม่ได้ถูกอยู่ในผู้ประกอบการรายใดรายนึง ไม่ได้เป็นรถเอกชนในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นขสมก. เขาจะพยายามผลักดันเส้นทางพวกนั้นให้ครบ ในนโยบายที่เขาเขียนไว้นะ ถ้าทำได้คือดีมาก

อีกเรื่องหนึ่งคือ ทำรถเมล์ให้ง่ายขึ้น อย่างที่ผมบอกสิ่งที่ กทม.รับผิดชอบคือป้ายรถเมล์ ทำให้มันครอบคลุมซะ เรื่องข้อมูลต่างๆ ทำให้รถไฟฟ้าสามารถบอกได้ว่าไปขึ้นรถเมล์สายนี้ต้องออกสถานีไหน ต้องออกทางออกไหน นี่คือสิ่งที่ กทม.ทำได้

จะบอกว่าโดยส่วนตัวต้องขอบคุณคุณชัชชาติ สมัยที่คุณชัชชาติทำที่กระทรวงคมนาคม ผมเขียน inbox ไปในเพจเขาว่าผมเป็นนักศึกษาลาดกระบัง เดือดร้อนเรื่องรถเมล์ อยากให้มีขนส่งสาธารณะจากลาดกระบังไปมีนบุรีได้ง่ายขึ้น ไม่เกินสองอาทิตย์ อยู่ดีๆ ลาดกระบังก็มีที่จอดรถเมล์

ฝากผลงานตัวเองหน่อย ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้างเกี่ยวกับวงการรถเมล์

หลักๆ ก็จะมีทำโมเดลรถเมล์อยู่ในเพจ 49 SCALE ก็ยังรับทำโมเดลรถเมล์อยู่ แต่ว่าตอนนี้ก็จะมีงานออกแบบภายในและก็ทำเกี่ยวกับเรื่องพัฒนารถเมล์ให้หน่วยงานต่างๆที่อาจจะต้องการข้อมูลจากเรา ทำกับเครือข่ายรณรงค์ขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคนด้วยครับ

คำถามสุดท้าย อยากให้คนทั่วไปเข้าใจอะไรในรถเมล์ให้มากขึ้นบ้าง

ผมไม่โทษผู้โดยสารเลยนะว่าเขาจะไม่ขึ้นรถเมล์ ผมเลยอยากฝากคนที่ดูแลรถเมล์ตั้งแต่คนเดินรถไปถึงคนที่เป็นเจ้าของกระเป๋าเงิน ว่าอย่าทิ้งระบบขนส่งมวลชนประเภทนี้ อยากให้ทุกคนช่วยกันทำให้รถเมล์มันน่านั่งกว่านี้ ให้มันเข้าถึงง่ายกว่านี้ ให้ผู้ประกอบการรถเมล์เขายิ้มได้ ให้พวกเขาเต็มใจที่จะให้บริการ สบายใจที่จะบริการพวกเรา และสร้างความเชื่อมั่นกลับมาให้กับผู้โดยสาร แล้วระบบขนส่งนี้มันจะดีขึ้นเองครับ

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า