fbpx

การเดินทางของ Alcazar คาบาเรต์โชว์ที่อยู่คู่เมืองพัทยามานานกว่า 40 ปี

ในเดือน Pride Month ที่ผ่านมา สังคมให้ความสนใจต่อเรื่องราวและชีวิตของกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น งานไพรด์ที่จัดตามที่ต่างๆ ในทุกสัปดาห์ได้การตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก กลุ่มเคลื่อนไหวและภาคประชาสังคมที่ผลักดันประเด็นเหล่านี้ก็กลายมาเป็นที่สนใจของสังคมเช่นกัน

ขณะเดียวกันอีกมิติหนึ่งที่เรารู้สึกสนใจก็คือภาคธุรกิจของ LGBTQ+แม้ในช่วงเดือนไพรด์ เราจะเห็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเสมอภาคและความเท่าเทียมจาก LGBTQ+ เป็นจำนวนมาก แต่ในอีกมิติหนึ่งพวกเขาก็ไม่ได้เป็นเพียงนักเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ก็ยังเป็นคนธรรมดาที่ตื่นเช้าไปทำงาน มีอาชีพ และเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเช่นเดียวกันกับประชาชนคนอื่นๆ 

ดังนั้น หากจะคิดถึงธุรกิจสักธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดย LGBTQ+ อย่างเต็มรูปแบบ ในทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ แผนก และเป็นธุรกิจที่พวกเขาสามารถแสดงอัตลักษณ์ ตัวตน รวมไปถึงความภาคภูมิใจในความเป็นตัวเองได้ออกมาอย่างเต็มที่ได้ ธุรกิจแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวเราก็คือคาบาเรต์โชว์

เรายกทีม Modernist เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังพัทยา ที่นอกจากจะเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นเมืองแห่งสวรรค์ของ LGBTQ+ ที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์มากมายไว้อยู่ในเมืองเดียว จุดหมายปลายทางของพวกเราก็คือ Alcazar Cabaret Show โรงละครคาบาเรต์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอยู่คู่กับเมืองพัทยามากว่า 40 ปี

Alcazar มีความหมายว่า ‘ป้อมปราการ’ ในภาษาเติร์ก ซึ่งเมื่อมาถึงสถานที่จริง ก็ดูเสมือนป้อมปราการจริงๆ แต่เป็นป้อมปราการที่กำลังพลก็คือเหล่านางโชว์ที่ฝึกฝนลีลา ท่วงทา อย่างหนักแน่น เข้มแข็ง แต่ก็อ่อนหวาน มีเสน่ห์ ชวนให้หลงใหล กำลังพลของ Alcazar ต่างก็ฝึกซ้อมกันอย่างหนัก เพื่อต่อสู้กับแขกหลายร้อยคนในทุกๆ วัน โดยชัยชนะของพวกเขาก็คือการได้รับเสียงปรบมือและได้ส่งมอบความประทับใจไปสู่คนดู

เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ Alcazar เองก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกัน และในโอกาสที่พวกเขาได้กลับมาทำการแสดงอีกครั้ง เราจึงเดินทางมาคุยกับพวกเขา โดยมี กิติวงศ์ ชัยศุภกิจ หนึ่งในเสาหลักที่ช่วยบริหารอัลคาซาร์มาอย่างยาวนาน และ อ้อย-วิชา พ่วงรอด อดีตนางโชว์ ที่ปัจจุบันรับหน้าที่เป็น Designer และ Art Director ของโรงละคร มาร่วมเปิดประวัติศาสตร์การเดินทางตลอด 40 ปีของป้อมปราการแห่งนี้ให้พวกเราได้ฟัง

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

จุดเริ่มต้นของ Alcazar

กิติวงศ์: เราเห็นความสำคัญของสาวประเภทสอง เพราะจริงๆ เราก็ได้สัมผัสและเห็นความสามารถของเขา ว่ามันสามารถมาพัฒนาส่งเสริมพวกเขาได้ แล้วผมก็มีโอกาสได้ดูโชว์ที่มันมีอยู่มาก่อน ก็รู้สึกเหมือนว่าดูถูกคนไทย ตอนเริ่มต้นต้นโปรเจคเมื่อ 41 ปีที่แล้ว ผมเป็นพนักงานคนแรก ตั้งแต่ยังไม่มีสถานที่ เราวางแผน คุยกันที่กรุงเทพฯ แล้วถึงจะมาหาที่ที่พัทยา 

แล้วจังหวะที่อดีตนายกเมืองพัทยา คุณโสภณ เพ็ชรตระกูลมาทำประปาบุกเบิกพัทยาพอดี เราก็เลยเช่าที่ดินที่ปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนเริ่มจากแปลงเดียว แล้วขยับมาถึง 4 แปลง ก็ประมาณ 11 ไร่ เกือบๆ จะ 12 ไร่ โรงโชว์หรือ theater ช่วงแรกๆ ก็จะเหมือนโรงละครเล็กๆ ถ้าพูดถึงอดีตก็คือโรงลิเก ที่นั่งประมาณ 300 ที่นั่ง ชั้นเดียว ในเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ ยุคแรกเปิดมาเมื่อ พ.ศ. 2524 พนังงานรวมทั้งหมดประมาณ 100 ชีวิต 

ระหว่างที่ทางพัทยาก่อสร้างโรงโชว์ไป ทางกรุงเทพฯ ก็ไปซ้อมที่ซอยราชครู ไปหาทีมงานจากสุริวงศ์ เขาจะมีบาร์เกย์ ก็ได้ไปรู้จักหลายๆ คนและรวบรวมสมาชิกมาเปิดการแสดง เราแสดงรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 เปิดมายุคแรกยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็ใช้เวลาเป็นปีกว่าเราจะเป็น Alcazar Cabaret Show เพราะตอนนั้นเราเป็น New Brand New Product ไม่มีคนรู้จัก 

กระบวนการทำงานช่วงแรกๆ เป็นอย่างไร

กิติวงศ์: เราต้องศึกษาเส้นทางทัวร์เขาว่าเราจะเจาะยังไง เริ่มต้นก็จากนายปื๊ด เพื่อนผมเขารู้จักทัวร์ เพราะเขาค้าขายผ้าไหมกับทัวร์ยุโรป เขาก็เห็นทัวร์จีนไปดูเยอะ ยุโรปก็มีแต่มันจะเป็น High กับ Low ผมก็เลยได้เรียนรู้จากเขา โดยไปโรงแรม ไปดูว่ารถทัวร์จอดปั๊บ รอเขาทำงานเสร็จ เราถึงจะไปประชามสัมพันธ์ตัวเองได้ว่ามาจาก Alcazar มีโชว์สาวประเภทสองที่นี่นะ จะเปิดวันนู้นวันนี้ 

พอเปิดเราก็เชิญเขามาดู เพราะเราไม่มี Product เราซ้อมกันอยู่กรุงเทพฯ ที่โรงละครแห่งชาติรัชดาลัย พอมาถึงที่นี่มันจึงใหม่มากๆ โปสเตอร์ไม่มีสักใบเลย โบรชัวร์ก็ไม่มี ต้องไปเช่าถ่ายที่โรงแรมมณเฑียรเพื่อทำโปสเตอร์ นิวแบรนด์มากๆ เลย

อ้อย: สมัยก่อนพอถ่ายรูปเสร็จก็อัด A4 เสร็จแล้วก็ไปยื่นว่าจะมีโชว์แบบนี้นะ อันนั้นคือจุดเริ่มต้นเลย

พอโชว์วันแรกเสร็จเป็นยังไงบ้าง

กิติวงศ์: แขกแฮปปี้ เอเย่นต์ประทับใจ ตอนนั้นเราเชิญคนในพื้นที่เยอะ หนึ่งในนั้นก็ยังอยู่กับเรา เธอชื่อพิมพ์ใจ ไต่หลังคา ทำบริษัททัวร์ ตอนนี้มาเป็น Director of Sale ของ Alcazar 

แสดงวันที่สองเป็นยังไงบ้าง

กิติวงศ์: รอบแรกมีแขก 2 คน รอบที่ 2 ไม่มีแขก 

ทำไมเป็นแบบนั้น ทั้งๆ ที่เสียงตอบรับจากวันแรกก็ค่อนข้างดี

กิติวงศ์: เพราะว่ามันไม่มีการตลาด ไม่มีอะไรเลย โบรชัวร์ โปสเตอร์ก็ไม่มี

อ้อย: เมื่อสมัยก่อนทางสาย 2 ตรงนี้มันมืดเหมือนป่าเลย แล้วอยู่ดีๆ ก็มี Alcazar เข้ามา เป็นที่เล็กๆ มีลานจอดรถเล็กๆ ขับต่อไปก็มีแต่ป่าหญ้า คือมันไม่เจริญเลย ทุกอย่างมันใหม่หมดเลย น้าวงศ์ก็ใหม่ การตลาดก็ใหม่ เราไม่รู้อะไรเลย อย่างพี่ก็เป็นแค่นักแสดง มีหน้าที่ที่จะต้องเอนเตอร์เทนแขกให้ได้ เพราะว่าเวทีกับคนดูใกล้กันมากแล้วโชว์สาวประเภทสองทำยังไงจะมีคนไทย มีต่างชาติมาดู ก็ต้องเป็นการตลาดละที่จะต้องออกไปขาย 

กิติวงศ์: จริงๆ ยุคแรกเรายังไม่ได้คิดถึงคนไทย คนไทยยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายหลักๆ คือนักท่องเที่ยวฮ่องกง ยุโรป มาเลเซีย สิงคโปร์ 

อ้อย: เหมือนเราต้องทำทุกอย่างเอง ทำการตลาด ทำบัญชี น้าวงศ์ก็เป็นเสาหลักหนึ่งในแกนที่จะต้องขับเคลื่อนให้ได้ว่าจะต้องทำยังไง ผู้บริหารเองก็ไม่ได้มีความรู้ทางนี้เพราะว่าเขาทำเกี่ยวกับประปา เราโชคดีมากเลยที่สามารถผ่านมาถึงจุดนี้ได้

การแข่งขันในยุคแรกเป็นอย่างไร และเราสร้างความแตกต่างได้อย่างไร

กิติวงศ์: ต้องพูดตรงๆ ว่าเรามาทีหลัง แล้วจุดเด่นของเราเอาง่ายๆ ดูแล้วมันตราตรึงใจ เพราะมันกระชับมาก แถวหลังสุดจนถึงสเตจไม่น่าถึง 12 เมตร ยุคแรกเราใช้ชื่อว่า Alcazar Stand-in Show คือมีตัวเหมือน จนกระทั่งเราสร้างอาภัสรา 2 (อาภัสรา หงสกุล) ขึ้นมา คนนี้เขารับได้ทุกบท

อ้อย: สมัยก่อนการตลาดมันยังชี้จุดไม่ได้ว่ามีโชว์สาวประเภทสอง สแตนอินความหมายคือเป็น Copy Show แล้วก็สมัยก่อนการโชว์คาบาเรต์ต่างๆ จะนิยมให้แต่งเป็นดารา เป็นมาริลิน มอนโร เป็นไมเคิล แจ็คสัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสร้างคนพวกนี้ขึ้นมาเพื่อเอามาเป็นสแตนด์อินโชว์ สมัยก่อนเขานิยมแบบนี้ พอมาดูตอนแรกเราไม่รู้หรอกว่าเราเหมือนใคร แต่เราจะถูกพูดถึงจากคนที่มาดูว่าเราหน้าเหมือนใคร มันก็จะกลายเป็นเหมือน copy คนนี้ขึ้นมา เช่น เหมือน ปุ๋ย พรทิพย์ โดยที่เขาอาจจะไม่ได้เหมือนหรอก แต่เราสร้างคาแรคเตอร์ขึ้นมา

แล้วอะไรทำให้เขาเลือกมาดู Alcazar

อ้อย: รูปแบบของโชว์มันอาจจะไม่เหมือนกันซะทีเดียว เวลาเราไปดูมันจะเห็นข้อแตกต่างกันเอง ในยุคนั้นเราจะรู้ว่า อ๋อ Alcazar โชว์แบบนี้ ทีนี่โชว์แบบนั้น ที่กรุงเทพฯ โชว์อีกแบบ บางที่อาจจะเน้นไปทางจีนเยอะหน่อย บางที่อาจจะเน้นหลายๆ ชาติ เขาจะสร้างจุดขายเอง

มีการปรับรูปแบบโชว์ตามความต้องการของตลาดบ้างไหม

กิติวงศ์: ช่วงที่จีนเริ่มเข้า บริษัททัวร์บอก “ถ้าลื้อไม่เปิดนมให้แขกดู อั๊วจะไม่ดู” เพลงมโนราห์คู่แข่งเขาเปิดนม แต่เราบอกว่าถ้าอยากดูให้ไปที่ กินรีนาวา ที่สวนลุมฯ ที่ Alcazar เราขายศิลปะการแสดงไม่ใช่เรือนร่าง

อ้อย: โชว์เราต้องให้เด็กดูได้

หลังจากที่วันแรกๆ คนไม่มาดูเลย แล้วช่วงไหนที่คนเริ่มมาดู

กิติวงศ์: ใช้เวลาเป็นปีเลยครับ ไม่ได้สร้างเดือนสองเดือน เกือบๆ 2 ปี คือเรื่อง Market Share เราก็ไปเชิญไกด์มาดูสถานที่ของเรา กลางคืนก็พาไปเอนเตอร์เทนสร้างความคุ้นเคยกับไกด์ เราจะต้องพยายามเข้าให้ถึงผู้นำ แต่นักแสดงก็ต้องดีด้วยเราต้องทำให้เขาประทับใจ

Alcazar โรงแรกมันมีแค่ 300 ที่นั่ง อันนี้เป็นโรงที่ 2 รับได้ 800 ที่นั่ง แล้วพอเริ่มมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ก็มาเกิด Alcazar โรงปัจจุบัน ที่ผมก็คิดว่ายังไม่ล้าสมัย พอเราได้รับความนิยมโดยลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเรามันกลายเป็นอินเตอร์แล้ว 

ยุคแรก พ.ศ. 2524 กลุ่มเป้าหมายคือฮ่องกง ช่วงนั้นจีนยังไม่เกิด ไต้หวันยังไม่มา เกาหลีก็น้อย อินเดียก็น้อย จะมีฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดฯ ส่วนยุโรปก็จะมีช่วง High Season ประมาณ 4-5 เดือนเท่านั้น ยุคแรกที่ Alcazar มาเขาจะเรียก High Season กับ Low Season พอถึงหน้า Low ก็จะมีแต่เอเชีย พอถึงหน้า High ก็จะหนาแน่นหน่อย ก็ได้รับค่าความนิยม กลุ่มลูกค้าเราก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน รัสเซียหายไปแล้ว (หัวเราะ) คือมันหายไปเป็นช่วง เหมือนกราฟที่ขึ้นสูงแล้วตกเลย มันมียุครุ่งเรืองกับยุคเสื่อม แต่ปัจจุบันนี้เป็นอินเดียที่มาชุบพัทยา แล้วก็เวียดนาม

ทำธุรกิจท่ามกลางคู่แข่งเยอะขนาดนี้ ก็ยังมีกำไรอยู่ใช่ไหม

กิติวงศ์: คือตลาดมันโตขึ้นแล้ว คนยอมรับ Product เรา คือการแข่งขัน ลดแลกแจกแถม ประสบการณ์ต่อสู้ชีวิตและเส้นเลือดของ Alcazar ที่ยืนหยัดจนถึงทุกวันนี้ พอมาเกิดอะไรใหม่ๆ ลูกค้าก็โตขึ้น จากเล่นวันละ 2 รอบก็เป็น 3 ช่วงเทศกาลเล่น 4 รอบ จนตลาดมันโต สังคมยอมรับ มาถึงที่นี่ถ้าคุณไม่ได้ดูสาวสองของ Alcazar ก็เหมือนมาไม่ถึง บริษัททัวร์ทั้งหลายก็ไปบรรจุลงโปรแกรมเขา ไม่ว่าจะรวมอยู่ในทัวร์หรือเป็นทางเลือกแยกต่างหาก 

อ้อย: ที่น้าวงศ์พูดหมายถึงว่าเราเริ่มเปลี่ยนเป็นแบรนด์ แล้วแต่ว่าแบรนด์นี้ขายอะไรและถูกจริตกับทัวร์ไหน อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง พี่ไม่ได้บอกว่าทุกอย่างจะต้องเป็นแบบนี้

เราบริหารนางโชว์อย่างไรให้อยู่ได้มาถึงตอนนี้

อ้อย:  เราให้นักแสดงดูแลรูปร่าง มีการทำศัลยกรรม ถ้าน้องอยากทำเราก็จะให้กู้ เป็นนโยบายของผู้บริหาร ถือเป็นการสร้างแบรนด์ด้วย เราอาจจะไม่ได้ขายคนสวยไปซะทุกอย่าง เราขายความสามารถของเขาด้วย ด้านรูปร่างคือเราดูแลไม่ให้อ้วนไป มีกำหนดความสูง อย่างเช่นเรารับ 165 ขึ้นไป ถ้าน้องอาจจะไม่ถึง 165 แต่น้องมีพรสวรรค์เราก็ยินดีรับ

บริหารจัดการต้นทุนโชว์อย่างไร

อ้อย: เราจะมีทีมของเราหมดเลย ผู้บริหารจะบอกว่าเขานำอะไรเข้ามาบ้าง อย่างพี่ทำเพลงหนึ่งที่มีเลเซอร์ อันนี้ทางผู้บริหารเขาไปซื้อมา คุยกันว่าต้องการควันแบบนี้หรือแสงสีแบบนี้ อย่างที่สองคือหาเพลงให้เข้ากับสิ่งที่เรามีอยู่ เพลงหนึ่งอาจจะเกิดจากเพลงหรือตัวนักแสดงที่เราอยากขาย

เราเอา Material ที่มีมา Match กันอีกทีใช่ไหม

อ้อย: ใช่ค่ะ เป็นลักษณะของแต่ละโชว์ไป ต่อมาการตลาดก็เกิดขึ้นแล้ว เราได้ไปขายแล้วทำไมคนอินเดียปรบมือจังเลย ทำไมคนเวียดนามปรบมือจังเลย อันนี้เกิดขึ้นจากการตลาด ตอนแรกเราเป็นโชว์แฟนตาซี ก็มีคนซื้อนะคะ แต่สมมติมีคนอินโดนีเซียมา อะ เราทำเพลงอินโดหน่อย แค่เราคิดว่าเอาใจเขาหน่อยมันก็กลายเป็นโชว์แบบ Culture ขึ้นมา เลยกลายเป็นการตลาดรูปแบบหนึ่งขึ้นมา

ใช้ระยะเวลาซ้อมนานไหมสำหรับโชว์ Culture

อ้อย: เราเป็นคนไทย เวลาไปดูโชว์ประเทศใดประเทศหนึ่งที่คนไทยไปดูเยอะ เขาก็ทำโชว์ออกมาในรูปแบบที่เขาไม่เข้าใจว่า Culture เราเป็นอย่างไร คล้ายๆ กับเราเลย ต่อให้เราศึกษายังไงก็ไม่เท่ากับวัฒนธรรมจริงๆ ของเขา เราก็พยายามทำแบบนั้นแต่บางทีมันก็ได้เท่านี้ บางทีเราก็ถูกติเรื่องวัฒนธรรมที่นำมาเสนอบ้าง เพราะฉะนั้นบางอย่างเราก็ปรับไม่ให้เป็น Culture มากเพราะมันจะถูกง่ายกว่า

ตอนที่โควิด-19 ระบาด วันแรกที่รู้ว่าโรงละครต้องปิดตอนนั้นมืดแปดด้านเลยไหม

กิติวงศ์: บริษัทก็แบกรับสภาวะโควิด เราก็ต้องดูแลพนักงานให้เขาอยู่ได้ พนักงานก็ต้องเข้าใจบริษัท มาคุยลดเงินเดือน คือบริษัทต้องอยู่ได้ จนกระทั่งก่อนประมาณ 2 เดือน เจ้านายบอกให้เปิดวันที่ 1 มิถุนายน ผมกับทีมงานก็มาคุยกันว่าแขกมันไม่มี ปกติขาดทุนเดือนละ 5 แสน แต่เปิดมาอาจจะขาดทุนล้าน 5 อันนี้ยกตัวอย่าง เปิดแล้วมันอาจจะหนักกว่าเก่า พนักงานบางคนอยู่ไม่ไหวอยากจะกลับบ้าน เราก็ให้กลับไป แต่ถ้าเมื่อไหร่เราต้องการคุณเราจะตาม 

แต่พอเปิดปุ๊บอาจจะเป็นดวงของ Alcazar เพราะทัวร์อินเดียเยอะ เวียดนามเยอะ จังหวะซีเกมส์ ก็เลยเพิ่มรอบไปแต่ยังไม่เพิ่มวัน ยังไม่อยากขายเสริมที่นั่ง

อ้อย: คำว่าเสริมของเรา ในตอนนั้นเราไม่คิดเลย เพราะอย่างแรกเราเอาโต๊ะเสริมไปเก็บหมดเลย แต่สุดท้ายได้รับคำสั่งให้ขายที่เสริม ทุกคนไม่คาดคิด ต้องไปขนออกมา

เราจะบริหาร Alcazar ให้ยั่งยืนได้อย่างไร

อ้อย: อย่างที่บอกว่าเรากลายเป็นแบรนด์แล้ว พวกทัวร์จะเลือกเองว่าจุดขายที่นี่คืออะไร ตอบโจทย์แขกไหม เพราะบางอย่างมันจะถูกบอกเล่าเชิงเปรียบเทียบตรงนี้ดีกว่า แต่ถามถึงความยั่งยืนของเรา หนึ่งพี่คิดว่าแบรนด์เป็นตัวบอกว่าเราทำให้แบรนด์นี้ยั่งยืนแค่ไหน ทำให้แบรนด์นี้อยู่คู่กับเมืองพัทยาต่อไปได้

กิติวงศ์: เราเพิ่งกลับมาเปิดอีกครั้งหลังจาก 2 ปีที่ปิดไป เราต้องดูแลครอบครัว Alcazar ให้เขาอยู่ได้ บางทีมีคนมาคุยกับผมว่า Alcazar จะอยู่ยั่งยืนขนาดไหน ผมก็บอกไปว่าผมอยู่ตรงนี้ผมรักตรงนี้ จะอยู่จนกว่าไม่มีบุคลากรสำคัญก็คือ นักแสดงสาวประเภทสอง กับทีมงานที่เราอยู่กันมา ถ้าไม่มีสาวประเภทสอง Alcazar ก็ไม่เกิด พอเกิดแล้วเราก็ต้องดูแลเขา จนกว่าจะถึงวันที่มันจะไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องเลิก เพราะเราโกหกคนดูไม่ได้ ทุกวันนี้บางคนยังถามนะว่ามีผู้หญิงสักคนไหม ผมบอกไม่มี ยุคแรกอาจมีผู้หญิงที่มาช่วยเก็บเสื้อผ้า ให้เขามีงาน แต่ถ้านางโชว์ไม่มีเลยนะครับ

LGBTQ+ มีความสำคัญต่อสังคม ต่อเศรษฐกิจ ต่อประเทศอย่างไร

อ้อย: ชาวเราปฏิบัติตัวต่อสังคมดีแล้วหรือยัง หนึ่ง ถูกกาลเทศะไหม สอง สิ่งที่เรียกร้องกลับไปในภาครัฐ เราได้ทำแบบนั้นหรือเปล่า สิ่งที่มันเป็นการกระทำของกลุ่มพวกเราเอง พี่ไม่อยากใช้คำว่าเพศที่สาม เพราะเราก็คือมนุษย์คนหนึ่ง แล้วใครจะมาบอกเราว่ามันมีแค่นี้ อันนั้นเป็นสิ่งที่สังคมต้องตอบกลับมา เราจะได้ไม่ต้องไปเรียกร้องหรือบอกว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ในประเทศ อยู่ในโลก ซึ่งมันมีอยู่แล้ว มันคือการยอมรับมากกว่า ต่อให้เป็นเพศชายเพศหญิงทั่วไปก็มีทั้งคนไม่หรือคนธรรมดา

เพราะฉะนั้นการยอมรับมันต้องเริ่มจากอดีตมาก่อนจะมาบอกว่าปัจจุบันยอมรับไหม พี่ว่า (LGBTQ+) ในสมัยก่อนก็เป็นเหมือนพวกเรานี่แหละเพียงแต่ว่ามันไม่ถูกเปิด พี่มองว่าการยอมรับมันเป็นเรื่องปกติที่ไม่จำเป็นต้องมีการเรียกร้อง พี่ว่าในสังคมสมัยก่อนพวกเราถูกแฝงอยู่ในทุกอาชีพอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้บอกว่าคนนี้เป็นเกย์ คนนี้เป็นสาวประเภทสอง แต่คนที่เป็นสาวประเภทสองเท่านั้นที่ปรากฏตัวแล้วทำให้สังคมรู้

กิติวงศ์: ผมว่าทุกสังคม มีคนดีก็มีคนไม่ดี เหมือนกับสามประเภทสอง บางคนอยู่ในสังคมที่มีอาชีพ บางคนไม่มีอาชีพไปเป็นผีทะเลที่สร้างความเสื่อมเสีย

อ้อย: คนชอบไปจับจ้องแบบนี้ ทั้งๆ ที่คนในกลุ่มเรามันมีคนที่ดีมากกว่าคนที่ทำให้เสื่อมเสียเยอะแยะเลย

กิติวงศ์: มันมีบวกกับลบ คนต้องแยกแยะ

อ้อย: อย่างพี่เห็นว่าศาสนาไม่ยอมรับคนกลุ่มนี้ คุณเอาอะไรมาคิด เพราะศาสนาของคุณมันถูกกดขี่ด้วยความเป็นศาสนาแล้วก็เอาใช้กับพวกเรา แต่ความจริงแล้ว LGBTQ+ เขาแฝงอยู่ในนั้นอยู่แล้ว เรารู้จักบางคนที่ไม่เปิดเผยในอดีต แต่ปัจจุบันมันมีมากขึ้นเพราะคนรู้สึกว่ามันไม่ได้ผิด ไม่ได้แปลกอะไร พี่มองว่าเป็นแบบนั้น

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า