fbpx

พัชราภรณ์ หนังสือ กับปรากฏการณ์ครั้งใหม่ เด็กไทยหันมาสนใจการเรียนวรรณคดีอังกฤษ

เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทปอ. หรีอที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยรายชื่อสาขาที่มีผู้สมัครมากกว่า 3,000 คน ประจำปีการศึกษา 2565 มีทั้งสิ้น 24 สาขา ส่วนมากเป็นสาขาสายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ ในขณะที่สาขาสายสังคมศาสตร์มีเพียง 10 สาขาเท่านั้น 1 ใน 10 สาขาจากฝั่งสังคมศาสตร์ มีสาขาหนึ่งที่สะดุดตาเรา นั่นก็คือ สาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เปิดรับสมัครนักศึกษาเพียง 35 คนเท่านั้น แต่มีผู้สมัครมากถึง 3,011 คน นับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าสนใจของวงการวรรณกรรมอังกฤษ เพราะนี่คือครั้งแรกที่มีคนให้ความสนใจในการสมัครมากขนาดนี้ 

สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ เป็น 1 ใน 2 หลักสูตรการศึกษาวรรณกรรมที่มีการเปิดสอนในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และเป็นสาขาที่ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงมากนัก แต่ในปีนี้กลับมีผู้สนใจสมัครมากกว่าปกติ ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงถึง 1:86 เลยทีเดียว

วันนี้เราได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อพูดคุยกับอาจารย์กิฟ-พัชราภรณ์ หนังสือ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ บุคคลที่เป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอนมามากกว่า 10 ปี เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงแง่มุมต่างๆ ในการศึกษาวรรณกรรม

และชวนพูดคุยเกี่ยวกับหลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษในประเทศไทย

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ในฐานะอาจารย์สาขาวรรณกรรม ทำไมถึงสนใจในการศึกษาวรรณกรรม

เรื่องอาจจะยาวนิดหนึ่ง ความสนใจจริงๆ แล้ว เริ่มจากตอนแรกไม่รู้มาก่อนเลยว่ามันมีสาขานี้ แต่ก่อนที่จะมาเรียนสาขานี้ สมัยก่อนคณะศิลปศาสตร์ไม่มีการเข้าเอกโดยตรง เพราะฉะนั้นเราจะเข้ามาเป็นเอกรวมก่อน พอเราจบปี 1 เขาก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘มัจฉิมนิเทศ’ เขาก็จะมาอธิบายให้เราฟังว่าเอกหรือภาควิชามีอะไรบ้าง ตอนนั้นเราตัดสินใจอยู่ระหว่างเอกอังกฤษกับเอกจีน แต่เราไม่รู้เลยว่ามีเอกภาษาและวรรณคดีอังกฤษอยู่ในนั้นด้วย 

ทีนี้ก็มีอาจารย์คนหนึ่งกับรุ่นพี่เขามาพูดให้เราฟังว่า เฮ้ย แท้จริงแล้วเอกภาษาวรรณฯ ใช้ทักษะภาษาอังกฤษในการวิจารณ์วรรณกรรม แล้วเราก็ได้เรียนตั้งแต่พื้นฐานเพื่อนำไปวิจารณ์วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม แล้วะเอาข้อมูลเหล่านี้มาผนวกกันเพื่อสร้างบทวิจารณ์ขึ้นมา

ในสมัยที่เราเรียนมันเป็นวรรณกรรมอย่างเดียว ตอนที่เรียนปี 1 เราชอบอ่านหนังสือ แต่หนังสือที่เราชอบอ่านเป็นนิยาย เหมือนกับเวลาเราดูละครหลังข่าว เหมือนเราได้รู้เรื่องของคนอื่น อีกประเภทที่ชอบอ่านคือ non-fiction มันเหมือนได้ฟังความคิดเห็นคนอื่น สมัยก่อนในประเทศไทยก็จะมี (นักเขียน) ปราบดา หยุ่น หรือ โน๊ต อุดม ก็เป็นหนังสือที่เราอ่านช่วงแรกๆ แล้วตอนเป็นเด็กมัธยมมันไม่มีใครมาคุยกับเรา ที่บ้านทำธุรกิจ จะให้ไปถามพ่อแม่เขาก็อาจจะตอบไม่ได้ 

การอ่านหนังสือ ทั้งนิยายและไม่ใช่นิยาย มันเหมือนการทำให้เรามีเพื่อนคุยไปในตัวโดยที่เราไม่ต้องเดินออกไปนอกบ้าน เพราะสมัยก่อนมันไม่ได้มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพราะฉะนั้นพอรุ่นพี่บอกว่ามันเรียนแบบนี้ เราปิ๊งมาก “เฮ้ย กูสามารถอ่านนิยายแล้วได้เกรดได้ด้วยว่ะ” แล้วเป็นนิยายที่ไม่ใช่แค่เรื่อง ความสุขของกะทิ หรือ แมงมุงเพื่อนรัก มันก็เริ่มจากจุดนั้นเป็นต้นมา

อะไรคือความสำคัญของการศึกษาวรรณกรรม

วรรณกรรมสอนให้เราคิดเป็นและเข้าใจสภาวะแวดล้อมและมนุษย์ ตอนเด็กๆ ที่ยังเรียนอยู่คณะศิลปศาสตร์ มีคำหนึ่งที่เป็นเหมือนคำขวัญของคณะที่ว่า “เข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์” ตอนนั้นรู้สึกว่ามันโคตรจะคลุมเครือเลย อะไรคือเข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์ จนเรียนจบก็ยังตะขิดตะข่วงกับมัน 

แต่พออยู่ในสายนี้เข้าไปเรื่อยๆ และด้วยอายุที่มากขึ้น เราหันกลับไปแล้วก็ค้นพบจริงๆ ว่าวรรณกรรมมันทำให้เราเข้าใจโลกเข้าใจมนุษย์ และอาจจะให้เครื่องหรือวิธีการในการหาคำอธิบายกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา เช่น เราจะอธิบายว่าทำไมขบวน Pride ถึงเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ในขณะที่เมื่อสิบก่อนมันมีในประเทศอื่นแต่เราไม่มี ทำไมมันถึงเกิดขึ้นได้ในตอนนี้ 

การเรียนวรรณกรรมให้คำตอบกับคุณตรงนั้นได้ เราคิดว่าความสำคัญของมันไม่ได้อยู่ในเนื้อหาวิชาด้วยซ้ำ แต่มันให้วิธีมองโลกกับคุณ แล้วสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เรารักในการเรียนวรรณกรรมและเป็นสิ่งที่ทำให้เรายังคงอยู่ตรงนี้ 

อยากให้อธิบายสำหรับคนที่ไม่รู้ ภาษาและวรรณคดีอังกฤษเรียนเกี่ยวกับอะไร แตกต่างจากเอกภาษาอังกฤษอย่างไร

อันดับแรกคือไม่อยากอธิบายเอง อยากให้นักศึกษาเป็นคนอธิบาย เพราะเรามองในมุมของเราว่าเราทำสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์นี้ แต่นักศึกษาอาจจะรู้สึกแตกต่างได้ ถ้ามองจากมุมเรา การวิเคราะห์วรรณกรรมโดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสาร แล้วมีทฤษฎีวิจารณ์ มีประวัติศาสตร์ มีแง่มุมอื่นๆ แล้วก็ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสังคมที่มันเป็นกระแสมาร่วมกัน จริงๆ แล้ววรรณกรรมเป็นแค่สื่อตัวหนึ่งเท่านั้น เราจะมองมันผ่านอะไรก็ได้ 

แล้วถามว่าต่างจากเอกอังกฤษอย่างไร ถ้าคนที่เรียนธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะคณะศิลปศาสตร์ ถ้าเรียนทั้งของเราทั้งของเอกอังกฤษก็จะรู้ว่าแตกต่างกันค่อนข้างมาก สำหรับเอกอังกฤษ ถ้าเกิดคุยอยากเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ทักษะเก่งไปเลย รวมถึง Public Speaking หรือทักษะในเชิงภาษาศาสตร์ อันนี้คือสิ่งที่เอกอังกฤษทำ แต่ถ้าภาษาวรรณฯ จะสังเกตได้ว่าเราอยู่รวมกับเอกประวัติศาสตร์ ปรัชญา เรามองตัวเองเป็นสาขาวิชาที่ใช้การคิดวิเคราะห์แล้วทำออกมาเป็นคอนเทนต์ 

เรามองตัวเองเป็นสาขาที่ผลิตคอนเทนต์ เพราะฉะนั้นถ้าอยากได้ทักษะภาษา เอกอังกฤษให้คุณได้อย่างดี แต่ถ้าชอบคิดวิเคราะห์โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งบางครั้งจะให้สื่อสารเป็นภาษาไทย เราก็ทำได้ แบบนี้ก็ให้มาเรียนภาษาวรรณฯ 

นอกจากทักษะการคิดวิเคราะห์แล้ว อาจารย์คาดหวังในทักษะภาษาอังกฤษที่พัฒนาขึ้นของนักศึกษาหลังจากเรียนครบหลักสูตรไหม

อาจจะไม่เรียกว่าเป็นการคาดหวังของเราฝ่ายเดียว มันเป็นความคาดหวังของคนที่มาเรียนด้วย เพราะเวลาเราได้คำตอบจากนักศึกษา เขาบอกว่าอยากได้ภาษาอังกฤษที่ดีขึ้นด้วย แล้วทักษะการคิดวิเคราะห์กับภาษาอังกฤษดูจะแยกกันใช่ไหม แต่ทั้งสองอย่างนี้แท้จริงแล้วคือทักษะการสื่อสาร เมื่อทั้งสองอย่างมารวมกันก็จะกลายเป็นนักศึกษาหนึ่งคน ถ้าถามว่าคาดหวังไหม แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่หลักสูตรคาดหวัง แล้วเราก็หวังว่าจะเป็นสิ่งที่นักศึกษาอยากจะมาพัฒนาตัวเองในตรงนี้ด้วย รวมถึงทักษะการคิดวิเคราะห์ ถ้ามีอยู่แล้วก็หวังว่าเขาจะได้แง่มุมเพิ่มขึ้นไปจากเรา 

จากที่ได้เห็นยอดผู้สมัครปีนี้ (3,011 คน) ในฐานะผู้สอน รู้สึกอย่างไรบ้าง 

ตอนแรกช็อค มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราเรียนภาษาและวรรณคดีอังกฤษในรุ่นที่มีนักศึกษาเยอะที่สุดแล้ว คือประมาณ 60 คน แต่ไม่ทราบว่าตอนนั้นจำนวน Admission เท่าไหร่ พอเห็นสามพันคนปุ๊ป มันก็ “ฮึ้ย” คิดว่าเหตุผลคงมีหลากหลาย  แต่อีกครึ่งหนึ่งก็ดีใจ อย่างน้อยเห็นชื่อเอกแล้วคนเขาก็สนใจ

ตอนที่เห็นตัวเลขนี้ เคยมานั่งคิดไหมว่ามันเกิดจากปัจจัยอะไร 

ปัจจัยแรกที่รู้คือเราเอาคะแนนขั้นต่ำออก ซึ่งก่อนหน้านี้เรากำหนดคะแนนขั้นต่ำค่อนข้างสูงมาโดยตลอด หมายถึงคะแนนขั้นต่ำวิชาภาษาอังกฤษของ 9 วิชาสามัญ พอเราเอาขั้นต่ำออกแล้วจำนวนก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล อีกปัจจัยหนึ่งเราต้องยกเครดิตให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและนักศึกษา เราคิดว่ามันเกิดขึ้นจาก Podcast “มา มา มอย” (Podcast ของสาขา ให้นักศึกษาและอาจารย์ร่วมถกเถียงประเด็นต่างๆ) แล้วก็ LT Club (ชมรมของสาขา) ที่พาวรรณคดีอังกฤษเข้าไปสู่โลกของวัยรุ่นจริงๆ ที่ถูกส่งผ่านด้วยวัยรุ่นด้วยกันเอง ตอนแรกที่เริ่มทำ “มา มา มอย” ก็จะมีแต่อาจารย์กันเองเลือกประเด็นที่เราสนใจ 

และการมีอยู่ของเราในโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น ทั้ง Facebook, Twitter อีกส่วนหนึ่งอาจจะมีจาก Publicity ของอาจารย์หลายๆ ท่านที่ไปให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ เช่น อาจารย์สุธิดา (อ. ดร. สุธิดา วิมุตติโกศล) ที่ทำงานวิจัยเรื่องการอ่านวรรณกรรม คิดว่ามีปัจจัยประมาณนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากรู้จากแง่มุมคนสมัครเหมือนกันว่าทำไมเขาถึงสนใจ 

คิดว่า 3,011 คนที่มาสมัครเข้าใจความเป็นภาษาและวรรณคดีอังกฤษจริงไหม 

เราขอใช้ตัวเองเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เราไม่ได้มีความเข้าใจ แต่มันขึ้นอยู่กับว่าคุณเจอแล้วมันเป็นสิ่งที่คุณอยากอยู่ด้วยไหม เราโชคดีที่พบว่ามันเป็นตัวเรา ความเข้าใจในตอนแรกไม่สำคัญเท่ากับคุณเข้ามาแล้วรู้สึกโอเค สบายใจ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่คุณอยากจะทำ ไม่ว่าจะทำแล้วดีมาก กลางๆ หรือไม่ดี คุณก็ยังอยู่ได้ เราว่าอันนี้คือสิ่งสำคัญในการศึกษาอุดมศึกษานะ

จากที่ปีก่อนๆ มีกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำภาษาอังกฤษ นั่นหมายความว่าคนที่จะเข้ามาเรียนวรรณคดีอังกฤษได้ต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษมาประมาณหนึ่งแล้ว คิดว่าการยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อหลักสูตรไหม 

ต้องตอบว่าเป็นเรื่องของอนาคตค่ะ การที่ 2-3 ปีที่ผ่านมามีเกณฑ์ภาษาอังกฤษที่สูงขึ้นนั้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือ ในช่วงแรกที่ไม่ได้เป็นระบบ Admission นี้เราไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำ และมีการรับ TCAS รอบที่ 1 คือรอบ Portfolio จึงไม่ได้มีคะแนนส่วนอื่นมาใช้ในการพิจารณา นั่นทำให้นักศึกษาบางส่วนที่มีทักษาะภาษาอังกฤษแตกต่างกันมากๆ ในตอนนั้นเราจำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการให้อาจารย์ที่สอนวิชาเขียน (วิชาการเขียนเชิงวิจารณ์) ไปสอนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมให้กับนักศึกษา ซึ่งอาจารย์เรามีน้อยมาก ถ้าทำอย่างนั้นจะเหนื่อย เราจึงต้องเพิ่มเกณฑ์ขึ้นมา 

แล้วถามว่าเราสร้างบันไดขึ้นไปเรื่อยๆ ทำไมอยู่ดีๆ ถึงเอาบันไดออกเลย มันเกิดจากการที่อาจารย์ที่ทำส่วนนี้เห็นปรากฏการณ์บางอย่าง เห็นคำถามที่เกิดขึ้นในโซเชียลเน็ตเวิร์กแล้วเขาสนใจ เขาอยากลองเอาคะแนนขั้นต่ำออกแล้ว อยากรู้ว่าถ้าไม่มีอุปสรรคตรงนี้มันจะทำให้คนสนใจเรามากขึ้นไหม ผลก็คือจำนวนเท่านี้ค่ะ

การเอาคะแนนขั้นต่ำออกถือเป็นกลยุทธ์การตลาดของสาขาไหม 

จะเรียกว่าเป็น Marketing ไหม อาจจะไม่ใช่ค่ะ ด้วยวิธีที่เราเปิดรับ มันมีเกณฑ์ของทปอ. มาให้เราอยู่แล้ว เรามีสิทธิ์ตัดสินใจว่าเราจะใช้คะแนนส่วนไหนบ้าง ถามว่ามันเป็นการทดลองในเชิงการตลาดไหม อาจจะไม่ในตอนแรก เราแค่อยากรู้ว่าถ้าเอาขั้นต่ำออกเราจะได้นักศึกษาจำนวนมากที่สุด ด้วยคะแนนประมาณเท่าไหร่ range ประมาณเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาเรากำหนดสูงมาโดยตลอด 

ซึ่งมันก็มีกรณีที่นักศึกษาไม่ได้มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีเท่าเพื่อน แต่เขามีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ดีมากๆ แล้วการเรียนเอกนี้คือการพัฒนาทักษะเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นบางทีคนสอนก็เกิดความเสียดายว่าคนนั้นมีความคิดดี แต่การที่เรียนเอกเราทำให้เขาต้องไปเรียนเสริมเพื่อให้มีภาษาอังกฤษที่ดี เพื่อที่จะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เราก็เลยลองกลับไปสู่แนวคิดนี้ว่า เออ ภาษาอังกฤษอาจจะไม่ต้องดีขนาดนั้นก็ได้ 

แต่ก็รู้ดีว่าถ้ากลับไปเจอปัญหาแบบเดิมอีกเราก็ต้องเตรียมรับมือในส่วนนี้แล้ว เพราะฉะนั้นในตอนแรกมันไม่ใช่ Marketing plan แต่มันทำให้เราเข้าใจจุดยืนของเราในสายตาของคนที่เข้า Admission ด้วยเหมือนกัน

การเรียนวรรณกรรมไม่เคยอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในมัธยมเลย โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐบาล อาจารย์คิดว่าควรเพิ่มเข้าไปในหลักสูตรไหม

จริงๆ หลักการในการเรียนวรรณกรรม ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าหลักการได้หรือเปล่า แต่มันคือหลักการใช้ชีวิตด้วยนะ อย่างที่เราบอกว่ามันทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต อย่างตัวเราโชคดีอที่ได้ไปเรียนแลกเปลี่ยน ไปเห็นวิธีการเรียนภาษาอังกฤษที่อเมริกาว่าเขาเรียนอย่างไร เขาถามความคิดเห็นของคุณว่าคุณคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น คุณคิดเห็นอย่างไรกับตัวละครนี้ 

ถามว่าควรเข้าไปอยู่ในมัธยมหรือประถมไหม เราคิดว่ามันควรเข้าไปอยู่ในทุกแง่มุมของการใช้ชีวิตที่จะทำให้คนหนึ่งคนโตขึ้นมาอย่างมีความคิดความอ่านมากกว่า ไม่ใช่ว่าใส่วิชาวรรณกรรมลงไปแล้วพูดได้เลยว่าจะทำให้นักเรียนมีความคิดวิพากษ์ อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ มันขึ้นอยู่กับวิธีการเรียนการสอน การปลูกฝังวิธีคิดมากกว่า

รู้สึกว่าเด็กมัธยมไทยขาด Critical Thinking ไหม 

คิดว่าเราไม่ได้มีอำนาจในการตอบ 100% เพราะไม่ได้ใกล้ชิดกับเด็กมัธยมค่ะ แต่ถามว่ายังขาด Critical Thinking ไหม มันสามารถขาดได้ในทุกช่วงวัย ถ้าเกิดคุณไม่ได้สนใจโลกรอบตัว ไม่ได้สนใจคิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพื่ออะไร อาจจะยังไม่ต้องคิดถึงการแก้ปัญหาก็ได้ แต่สามารถว่ามองได้ว่ามันเป็นปัญหาหรือเปล่า 

อย่างเช่นมันมีการถกเถียงมากมายในโซเชียลเน็ตเวิร์กเรื่อง Bully และการพูดจา Body Shaming บางคนมองว่าเป็นปัญหาแต่บางคนก็มองว่าไม่เป็นปัญหา อันนี้คือช่องว่างใน Critical Thinking ของบางคน เราไม่ได้บอกว่าคนที่มองว่าไม่ได้เป็นปัญหาไม่มี Critical Thinking นะ แต่เขาเข้าใจมนุษย์คนอื่นมากน้อยแค่ไหน ทำไมถึงไม่รู้สึกว่าถูกละเมิดล่ะ เพราะฉะนั้น Critical Thinking ควรจะถูกปลูกฝังตั้งแต่ครอบครัวด้วยซ้ำค่ะ มันถึงจะทำให้คนๆ หนึ่งโตมาแล้วคิดได้รอบด้าน ตัวเราเองก็ยอมรับว่ามารู้จักกับมันจริงๆ ก็ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน แล้วก็รู็สึกว่าเราโตมาขนาดนี้แต่ก็ยังมีหลายอย่างที่เราขาด บางอย่างนักศึกษาให้แง่มุมกับเรามากกว่าอีก 

เราตอบไม่ได้ว่าเด็กมัธยมมีไม่พอหรือไม่ แต่อย่างหนึ่งที่ต้องบอกคือ จากที่ดู Twitter เด็กรุ่นนี้มี Critical Thinking มากกว่ามากกว่าคนรุ่นเรามากๆ อาจจะเป็นเพราะกระแสสังคม ความร้อนแรงทางการเมืองของบ้านเรา ถ้าถามว่ายังมี (Critical Thinking) ไม่พอหรือไหม คำตอบคือมันก็ใช้ไม่ได้กับกับทุกคนค่ะ 

ให้วิจารณ์หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยม ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย

ส่วนตัวไม่เคยเห็นหลักสูตรมัธยมแต่เคยเห็นข้อสอบ TCAS ทั้ง O-Net และ 9 วิชาสามัญ มันมีความขึ้นๆ ลงๆ ค่อนข้างมาก แม้เราไม่อยากจะเชื่อมาตรฐานของตัวข้อสอบและระบบการเรียนการสอน แต่เราก็ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะไปทำตรงนั้น 

ถ้าถามความคิดเห็นของเราต่อการเรียนภาษาอังกฤษในมัธยม คือมันมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากกับระดับอุดมศึกษา ไม่อย่างนั้นทุกคนคงไม่ต้องไปแห่เข้าโรงเรียนไม่กี่โรงเรียนเท่านั้นหรอก 

การที่เด็กมาไม่เท่ากันมันก็เป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างศูนย์กลางการศึกษาของประเทศเรานั่นแหละ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในฐานะอาจารย์ตัวเล็กๆ จะเข้าไปแก้ไขอย่างไร เราทำได้แค่พูดอยู่ตรงนี้ คุณก็ทำได้แค่พูดอยู่ตรงนี้ แต่ว่าถ้ามีโอกาสก็อยากไปทำตรงนั้นเหมือนกัน 

มองว่ามันเป็น Privilege ไหมในการเรียนสาขานี้ เพราะหลายคนก็จำเป็นจะต้องเรียนพิเศษเพื่อจะมาสอบเข้า 

สำหรับตัวเราไม่ใช่ เราเรียนโรงเรียนต่างจังหวัดธรรมดา แต่เราชอบคิดชอบเถียง เวลาสอนนักศึกษาจะบอกเสมอว่าคนเรียนวรรณกรรมมักจะชอบเถียง ชอบคิดถึงความเป็นไปได้อื่นๆ แล้วพอคิดต่างจากคนอื่นก็ต้องหาเหตุผลมาสนับสนุน 

กลับมาที่ตัวภาษาอังกฤษว่าเป็นเรื่องของ Privilege หรือเปล่า ถ้านับจากเกณฑ์สอบเข้า เราปฏิเสธไม่ได้ค่ะ แต่เราขอพูดอย่างหนึ่งมันมีซอกมุมไหนในโลกของการศึกษาในประเทศนี้ หรือแม้กระทั่งโลกนี้ ที่มันไม่เกาะติดอยู่กับ Privilege บ้าง เราทึ่งกับปรากฏการณ์ที่พ่อแม่ต้องไปจองโรงเรียนให้ลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง มันมีความคิดเรื่อง Privilege ไหลเวียนอยู่ในสังคมของเราอยู่แล้ว 

ถามว่าทำไมต้องไปเรียนพิเศษ เพราะเราไม่เคยกลับมาแก้ปัญหาที่แท้จริงเลยว่าทำไมเด็กมัธยมเรียนภาษาอังกฤษมา 12 ปี ถึงใช้ภาษาอังกฤษอย่างดีไม่ได้ แล้วเราในฐานะเป็นคนที่อยู่ปลายทาง เราเห็นว่าเด็กหลายคนมาไม่เท่ากันเลย แล้วบางทีก็เสียดายที่ความคิดเขาดีมากแต่ไม่สามารถสื่อสารความคิดของเขาออกมาได้ดีมากพอ ถามว่ามันมีตัวช่วยจากการเรียนพิเศษภาษาอังกฤษไหม ก็อาจจะมี แต่ก็มีเด็กจำนวนหนึ่งที่มี Privilege มีเงินที่จะไปเรียนภาษาอังกฤษแต่ก็ยังไม่สามารถสื่อสารได้ดีเท่าที่พ่อแม่จ่ายให้ 

เพราะฉะนั้นรากฐานเริ่มจากเรียนรู้จะมีความคิดเห็นของตัวเองก่อน ถ้าถามว่าการเรียนภาษาอังกฤษมันมี Privilege ไหม ตอบว่าใช่ แต่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาที่ตรงไหน เพราะเราอยู่ปลายทางมากๆ แล้วก็ต้องยอมรับว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่จะทำให้คุณผ่านชีวิตมหาวิทยาลัย 4 ปีไปได้ 

มองว่าการเรียนวรรณคดีอังกฤษเป็นการศึกษาของ Elite ไหม ที่ผ่านมาเลยมีคนเรียนน้อย เพราะในอดีตคนจนมักจะไม่เลือกเรียนวิชาปรัชญา วรรณคดี 

ถ้าจะให้พูดตามตรงมันคือวิชาที่คุณเดินออกไปแล้วไม่สามารถจะรู้ได้ว่าคุณจะกำเงินได้เท่าไหร่ มันก็เลยไม่ Practical กับประเทศเรา แต่แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ของมันคือมาจาก Elite เพราะเขาไม่จำเป็นจะต้องหาเงินให้ตัวเอง 

แต่เราขอตอบอีกแง่มุมคือ ที่คนเรียนน้อย แม้แต่ตัวเราเองทุกวันนี้ยังต้องตอบคำถามญาติกับพ่อแม่อยู่เลยว่าทุกวันนี้ทำอะไร เรียนไปทำอะไร ถ้าเขาส่งลูกมาเรียนกับเรา เขาสามารถจะไปมองถึงเส้นทางอาชีพให้ลูกได้อย่างไร ซึ่งก็ยังเป็นคำถามที่เรายังตอบยากค่ะ 

สิ่งที่เรียนมันหลากหลายมาก แล้วจะสู้กับคนที่จบเฉพาะทางได้ไหม

เราถามได้แค่ว่านักศึกษามั่นใจพอหรือเปล่า สิ่งที่เราตั้งใจคือเราพยายามพัฒนานักศึกษาหนักมาก ต้องถามว่าสิ่งที่นักศึกษาได้ไป มั่นใจไหมว่าจะเอามันไปขายและไปต่อสู้กับคนอื่นได้ ถ้าเกิดว่าจับจุดถูกและใจสู้ เรามั่นใจว่านักศึกษาเราสู้ได้

ในปัจจุบัน การเรียนวรรณคดีอังกฤษสามารถนำมาปรับใช้กับเทคโนโลยีอย่างไร 

จริงๆ สิ่งที่เราเรียนจะมีเกม มีการศึกษาเรื่องมีเดีย ด้วยวิชาเหล่านั้นมันพานักศึกษาเราไปต่อยอดได้ เรามีนักศึกษาจำนวนมากที่ทำงานกับเทคโนโลยี อุตสาหกรรมใหญ่ที่นักศึกษาอยู่คือ Digital Agency มีคนไปทำงานการแปลที่นำไปสอน AI อีกที 

เพราะฉะนั้นเราขอตอบว่า พวกเรานี่แหละคือสิ่งที่จะไปเติมเต็มในสิ่งที่ AI ขาด และจะทำให้ AI มันใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น เช่น ถามว่าตอนนี้อะไรบูม UX/UI Design (การออกแบบเว็บไซต์หรือแอพลิเคชันให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้) เราต้องรู้พื้นฐานด้านการคิดวิเคราะห์วิจารย์ นำข้อมูลมารวบรวมแล้วใช้ทฤษฎีในการ apply หมดเลย ซึ่งมันเป็นความรู้พื้นฐานที่เราสอนค่ะ 

ในประเทศเรามีผู้นำทหาร ผู้นำที่เรียนวิศวะ ผู้นำที่เรียนรัฐศาสตร์ แล้วสมมติว่ามีผู้นำที่เรียนเอกวรรณคดีอังกฤษ คิดว่าผู้นำคนนั้นเขาจะมีจุดแข็งอย่างไรบ้าง 

อืม (ครุ่นคิด) อันนี้อาจจะเป็นอุดมคติเพราะเรายังไม่เคยเห็น ถ้ามีผู้นำที่เรียนวรรณคดีอังกฤษ จะเป็นผู้นำที่เข้าใจมนุษย์แล้วสามารถปรับตัว และหวังว่าความรู้ที่เขาปรับตัวเองได้จะทำให้เขามองเห็นปัญหาที่เกิด แล้วนำไปสู่วิธีแก้ไขได้  เพราะนี่คือแก่นในการเรียนของเรา 

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า