fbpx

ชีวิตของเอ๊ะ อิศริยา ว่าด้วยความเกี่ยวพันกับปริญญาทางการศึกษาและปริญญาชีวิต

ในวงการละครไทยเมื่อสมัย 10 กว่าปีก่อน เชื่อว่าผู้ชมต้องรู้จักนักแสดงสาวผิวสีน้ำผึ้ง ที่ตีบทแตกทุกครั้งเมื่อได้รับบทบาทใดๆ ก็ตามในจอแก้ว ของเอ๊ะ-อิศริยา สายสนั่น ไม่ว่าจะบทดี บทร้าย บทแฝดที่มีทั้งดีและร้าย เธอสวมองค์ และลงสนามการแสดงได้ราบรื่นทุกครั้ง

ผู้เขียนเองได้มาพบเธออีกครั้งในมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ เธอสวมองค์ของความเป็น “อาจารย์” ผู้สอนในคลาสการละครทั้งในมหาวิทยาลัยของผู้เขียน และมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกมากมาย จากประสบการณ์การเป็นนักแสดงของเธอตลอด 15 ปี และบทบาทที่ท้าทายขึ้นกับการเป็นผู้จัดละครแห่งช่อง 8 ในอีก 10 ปีให้หลัง ซึ่งขณะนี้ก็มีผลงานละครที่เธอดูแลให้ติดตามอยู่อย่าง มงกุฎกรรม และ เลือดกากี ละครที่เธอกลับมาเล่นอีกครั้งในรอบ 10 ปี

ถ้าเทียบเคียงเวลาชีวิตของเด็กไทย ระยะเวลา 25 ปีอาจจะเทียบเท่าเวลาที่เด็กคนหนึ่งสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้แล้ว 1 ใบ ซึ่งอาจจะศึกษาต่อปริญญาโทก็ได้ตามแต่ใครจะต้องการ แต่สำหรับเธอเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เธอกลายเป็นอีก 1 นักแสดงสามารถเรียกได้ว่า “ด็อกเตอร์เอ๊ะ” จากการศึกษาจบปริญญาเอกที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราพอจะมองเห็นว่าชีวิตการเรียน และการทำงานของเธอล้วนเติบโตในพื้นที่ที่ต่างกัน แต่ทั้งสองพื้นที่นั้นก็ทำให้เธอเติบโตขึ้นอย่างมีคุณค่า ทั้งคุณค่าที่เกิดขึ้นกับตัวเองและผู้อื่น

วันนี้ Modernist จึงชวนเธอมาพุดคุย และมอบประสบการณ์จากทุกการเติบโตในชีวิตการเรียน และการทำงานของเธอให้คุณได้ติดตามกัน

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ปริญญาตรีของชีวิต
ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และบนเวที Miss Motor Show 1997

หากต้องเขียนอุปนิสัยบนสมุดพก ของ ด.ญ.อิศริยา สายสนั่น ผ่านสายตาของ ดร.อิศริยา สายสนั่น จะเขียนอย่างไร

เป็นเด็กที่มีความตั้งใจเหลือล้น มุ่งมั่นแบบสุดๆ ไม่ทำคือไม่ทำเลย แต่ถ้าทำแล้วจะทำสุดตัวค่ะ”

“พี่เป็นคนที่ถ้าตัดสินใจทำอะไรแล้วจะทำให้เต็มที่ที่สุด ไม่อยากเสียใจทีหลัง ซึ่งก็มีบางเรื่องที่ตอนแรกปฏิเสธว่าไม่ทำ แต่เราต้องทำ ข้อดีของพี่คือ พี่ก็จะทำยังไงก็ได้ให้ต้องรักสิ่งที่ทำ อย่างเวลารับเล่นละคร เราก็รับจากความรู้สึกของเรา บางเรื่องปฏิเสธไปแล้ว ผู้ใหญ่บอกอยากให้เราเล่น สุดท้ายเราก็ต้องยอมเล่น พอถึงจุดนั้นแล้วถ้าเราเล่นโดยที่เราไม่รักเลย มันทำไม่ได้ เลยคิดว่าถ้าวันนี้ตัดสินใจเล่นก็ต้องรัก ต้องหาข้อดีของมันให้ได้ เป็นคนสไตล์นี้ค่ะ ถ้าทำอะไรก็อยากทำให้เต็มที่ จะได้ไม่เสียใจทีหลัง

ตั้งแต่เด็กพี่เป็นคนที่ค่อนข้างจะมีความมุ่งมั่น อย่างสมัยเด็กชอบเรียนหนังสือ เพราะว่ามันเป็นความภูมิใจหนึ่งเดียวที่จะทำให้คุณแม่เราภูมิใจได้ เวลานั้นเราก็มีแค่การเรียน แล้วเราไม่ได้ทำแค่ให้คุณแม่ภูมิใจ ตัวเราเองก็ชอบ ไม่ได้ฝืนตัวเอง พอเราเห็นว่าผลการเรียนดี คุณแม่แฮปปี้เราก็ดีใจค่ะ

สำหรับพี่ การเรียนยังเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ใบปริญญาไม่ใช่แค่ใบกระดาษธรรมดาๆ ใบหนึ่งค่ะ พี่มองมากกว่าปริญญา เพราะว่าปริญญาของเรามันได้มายาก เพราะว่าพี่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เพราะฉะนั้นพี่มองระหว่างทาง พี่เป็นคนให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในห้องเรียนค่ะ นอกห้องเรียนด้วย อย่างการเรียนของพี่ พี่ว่าพี่คงจะเรียนไปจนแก่เฒ่า”

อะไรเป็นเหตุผลแรกในการเลือกเรียนนิติศาสตร์ และอะไรคือเหตุผลที่สองในการเลือกเรียนวารสารศาสตร์ฯ สาขาสื่อสารการเมือง

“การเรียนปริญญาใบแรกเนี่ย พี่คิดว่าก่อนหน้านั้นถ้าพี่ไม่ได้เป็นนักแสดง พี่ก็คงอยากเป็นอะไรที่เหมือนๆ คนอื่นแหละ อยากเรียนหมอ เพราะว่าทุกวันนี้เพื่อนสนิทพี่เวลาไปเลี้ยงรุ่นกัน นั่งเก้าอี้เรียงกัน 2 แถว เป็นหมอกันหมดเลย มีพี่กับเพื่อนอีกคนที่ไม่ใช่หมอ (หัวเราะ) แต่ในมุมเราวันหนึ่งก็มานั่งคิดว่า เราเข้าวงการก็ไม่น่าจะมีเวลาเป็นหมอได้สำหรับเรา เราเลยมาคิดต่อว่าอะไรที่มันเข้ากับเรา จนเราพบว่าเราเป็นเด็กที่ชอบสงสัยค่ะ ถ้าใครพูดอะไรมันจะมีความสงสัย แต่ไม่ได้เป็นเชิงความกวน เหมือนอาจารย์สอนก็จะแบบ ทำไมมันต้องเป็นแบบนี้คะ ถามเขาอย่างสุภาพนะ แล้วถ้าใครตอบคำถามเราแบบไม่เคลียร์ก็จะมีความสงสัยต่อ เราเลยรู้ว่าเราเป็นเด็กที่ชอบเหตุและผล เพราะว่ามันชัดเจน เลยคิดว่าเราก็ลองเรียนนิติศาสตร์ ไหม ก็เลยไปเรียน

ทุกวันนี้ไม่ได้ใช้ความรู้โดยตรงนะคะ แต่ใช้ทางอ้อมตลอด กฏหมายก็ใช้ทางอ้อม เคยมีใช้โดยตรงตอนที่ทำรายการ ผู้หญิงถึงผู้หญิง ช่วง ตอบปัญหากฏหมาย อยู่ช่วงหนึ่ง อันนั้นได้ใช้โดยตรง แต่ปัจจุบันก็มีอ่านสัญญาเอง ร่างสัญญาง่ายๆ หรือว่าช่วยเพื่อน ใครมีข้อสงสัยอะไรเค้าก็จะถามเรา

ใบที่ 2 วารสารศาสตร์ฯ สาขาวิชาการบริหารสื่อและเนื้อหา พี่เรียนเพราะพี่รู้สึกว่าหลังจากได้ทำงานไปเรื่อยๆ เริ่มเป็นผู้จัดรายการ ผู้จัดละคร ก็รู้สึกว่าเราควรจะมีพื้นฐานทางด้านนี้ เลยเลือกที่จะเรียน

ส่วนใบสุดท้ายที่ วารสารศาสตร์ฯ สาขาวิชาสื่อและการสื่อสาร ด้วยความที่เราเรียนวารสารศาสตร์ฯ มาแล้วเราชอบ เวลาเรียนเรื่องนี้แล้วมันสนุกดี พอเขาเปิดที่ธรรมศาสตร์ มีสื่อสารการเมืองกับสื่อสารระหว่างประเทศ พี่รู้สึกว่าที่เหมาะกับพี่คือการเมือง เพราะเราชอบเรื่องนี้ เคยมีคนบอกเราว่า “ทำไมไม่ทำการเมือง” มีคนชวนไปเล่นการเมืองด้วย แต่เราคิดว่ามันยังไม่ใช่ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะชอบด้านนี้ หรืออย่างเวลาเราดูข่าวการเมืองแล้วเราสนุกกับมัน ดูเหมือนเป็นละครเรื่องหนึ่ง (หัวเราะ) บ้านพี่ก็ชอบดูข่าวการเมืองกันอยู่แล้ว แล้วก็มานั่งพูดคุยกัน พี่ว่ามันก็ตรงกับเรา แล้วก็ควรที่จะเลือกเรียนสิ่งนี้”

นิติศาสตร์สอนให้คุณเป็นคนอย่างไร

“นิติศาสตร์สอนให้พี่คิดแบบมีเหตุผล คิดแบบเป็นระบบ อย่าทึกทักขึ้นเอาเอง คือเราคดว่าความรู้กับความเชื่อมันต่างกัน อย่างความรู้เนี่ย จะเป็นพื้นฐานที่เรียกว่าเป็นข้อมูลที่มีที่มาที่ไป บางครั้งความเชื่อก็กลายไปเป็นความรู้ได้ แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง พี่ชอบอะไรที่เป็นระบบ มีเหตุและมีผล เพราะว่ามันพิสูจน์ได้ชัดเจน

แต่แปลกมาก ทุกวันนี้พี่เรียนปริญญาเอก คนก็จะบอกว่าเวลาเราเรียนเยอะๆ การเรียนมันจะเป็นตอบเราได้ในเชิงเหตุผล เชิงวิทยาศาสตร์ และเมื่อเราอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เราเชื่อเลยว่าบางอย่างวิทยาศาสตร์ตอบอะไรเราไม่ได้ทั้งหมด มันคือสาเหตุที่ทำไมเวลาเราจะไปสอบ เราถึงไปไหว้พระ หรืออย่างตอนละครของเรากำลังจะออนแอร์ ทำไมพี่ต้องบนบานแบบสุดฤทธิ์เลย (หัวเราะ) เพราะว่ามันมีอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่เหตุและผลอย่างเดียว มันมีอีกมุมหนึ่งที่เป็นเรื่องทางใจเรา อันนี้เป็นสิ่งที่รู้หลังจากจบปริญญาเอก แต่ก่อนหน้านั้นพี่จะเป็นคนที่ซีเรียสมาก ต้องชัดเจนที่สุดได้สิ เหมือนที่เวลาเราเรียนวิทย์-คณิตมา มาเรียนกฎหมาย มาเรียนปริญญาเอก ทุกอย่างที่เราเลือกเรียนมันเป็นวิทยาศาสตร์ มีการวิจัย เราชอบอะไรที่มันเป็นเหตุและผล เพราะว่ามันพิสูจน์ได้ง่าย สามารถเข้าใจอะไรไปในทิศทางเดียวกันได้”

การเรียนนิติศาสตร์ส่งผลอะไรต่อความคิดคุณบ้าง ที่ทำให้คุณมีมุมมองความคิดที่แตกต่างไปจากเดิม

“วิเคราะห์จากการใช้ชีวิตที่บ้านเลย คุณแม่พี่เป็นคนมีเหตุและผลมาก แต่ในทางเดียวกันคุณแม่บอกพี่ว่า “เรื่องบางเรื่องไม่ต้องเหตุผลมาก ใช้หัวใจ ใช้ความรู้สึกบ้าง” เราก็เลย อ๋อ (เสียงยาว) เพราะเรื่องบางเรื่อง เหตุและผลอย่างเดียวมันก็ไม่ได้ตอบคำถามทุกอย่าง

อีกอย่างที่สอนพี่เลยว่าอย่าใช้เหตุและผลมากเกินไปคือ การทำงานในวงการบันเทิง การทำละคร อย่าใช้เหตุและผลมาก เพราะหากเราใช้สิ่งนี้มากเกินไป จะกลายเป็นการตีกรอบบทละครของเรา จะทำสิ่งนั้นก็ไม่ได้ ทำสิ่งนี้ก็ไม่ได้ เพราะมันอาจจะดูไม่สมเหตุสมผลอะไรแบบนี้ บางอย่างเราต้องปล่อยผ่านบ้าง เหมือนการหาตรงกลางระหว่างของ 2 สิ่งให้เข้ากันได้ เหตุผลอย่างเดียวก็น่าเบื่อ ความรู้สึกอย่างเดียวก็ไม่ได้ เหมือนการใช้ชีวิต หรือในแง่ของความรัก จะใช้แค่เหตุและผลอย่างเดียวก็ไม่ได้อีก มันต้องใช้ความรู้สึกด้วย ต้องผสมผสานกันให้ได้มากที่สุด”

สิ่งที่ภาคภูมิใจ หรือประทับใจที่สุดในการเป็นนักศึกษาคืออะไร

“คงเป็นตอนรับปริญญาตรีที่นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทั้งฮอลล์เขาก็รับกันเยอะ โห คนเป็น 100 คน สำหรับพี่ ตอนเพลงยูงทองขึ้นพี่น้ำตาคลอเลย เพราะว่ากว่าพี่จะได้ปริญญาใบนี้มาค่อนข้างลำบาก พี่เรียนจบแค่ ม.4 แล้วพี่เข้าวงการเลย เพราะโรงเรียนเขาไม่ให้เป็นนักแสดง เราก็คิดว่าเราอาจจะแอบๆ ไปเป็นได้ในช่วงนั้น

อีกอย่างคือช่วงก่อนเข้าวงการพี่เป็นเด็กเรียน ชนิดที่ว่าชีวิตมีแต่การเรียน คุณแม่พี่ไม่โอเคเลย เพราะว่าชีวิตเรามันเครียดไป ปกติบ้างบ้านอาจจจะชอบที่ลูกตั้งใจเรียน แต่พี่ตั้งใจเรียนมากเกินไป คุณแม่เลยบอกว่าต้องมีโลกอย่างอื่นด้วย โชคดีที่เราไปเจอพี่อุ๊บ – วิริยะ พงษ์อาจหาญ เขาบอกมาประกวด Miss Motor Show ไหม เราก็ มันคืออะไร (เสียงสูง) เราคิดว่ามันไม่ใช่สำหรับเราเลย แต่คุณแม่บอกให้ลองดู เพราะเป็นช่วงปิดเทอมพอดี อีกอย่างคือเขาคิดว่าเราไม่น่าจะได้ตำแหน่งด้วย ผลปรากฏว่าเราได้

สุดท้ายเราก็ต้องไปลาออกจากโรงเรียน เพราะว่าถ้าไม่ลาออก โรงเรียนก็จะไล่ออก โชคดีว่าสมัยนั้นมีการสอบเทียบค่ะ พอสอบเทียบไป ช่วง ม.5, ม.6 ไม่ได้เรียนเลย แต่ตอนเข้าปี 1 เอ็นทรานซ์ติดนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ โอ้ย ดีใจมากค่ะ เป็นความภาคภูมิใจ ซึ่งสุดท้ายเทอม 1 เราดรอปทั้งเทอมเลย เพราะว่าไปถ่ายละครที่ฮังการี ช่วงนั้นเราคิดว่าเราบริหารจัดการได้ แต่เราไม่ได้เช็คชื่อ พอเราเช็คชื่อไม่ครบตามที่กำหนดไว้ เลยดรอปทั้งเทอมเลยช่วงนั้น

พี่คิดเลย “เอาแล้ว เอ็นฯติด แต่ดรอปตั้งแต่เทอมแรก สุดท้ายฉันจะโดนรีไทร์ไหม” ยื้อกันไปมา เรียนก็ไม่ได้เข้าเรียน ช่วงนั้นชีวิตโหดมากเลยค่ะในฐานะเด็กเรียน เพราะไม่เคยเข้าเรียน เข้าเรียนแค่สัปดาห์แรกของการเปิดเทอม หลังจากนั้นไม่เคยเข้าเรียน แต่นิติฯ มันไม่เช็คชื่อได้ พอเขาบอกไม่เช็คชื่อได้ กองถ่ายก็เลยไม่ได้ให้เราไปเรียนเลย ทำให้เราต้องอ่านหนังสือเอง ซึ่งยากนะคะ ความรู้เราก็ไม่ค่อยมี ได้เพื่อนๆ นี่แหละเป็นห่วงเรา เอาเลคเชอร์มาให้เต็มไปหมดเลย แล้วเราจะอ่านยังไงเราไม่รู้เรื่องเลย เลยใช้วิธีการเน้นทำข้อสอบย้อนหลังค่ะ บางตัวก็ผ่าน บางตัวก็ไม่ผ่าน ซึ่งการไม่ผ่านสำหรับพี่ซึ่งเป็นคนตั้งใจเรียนถือว่าแย่มากนะคะ

อย่างเวลาเราสอบกฎหมายมันจะเป็นแบบนี้ค่ะ จะเป็นข้อสอบเขียนอย่างเดียว 5 ข้อ ได้คะแนนต่ำกว่า 60 คือตก แล้วพอพี่ตกปุ๊ป “เฮ้ยเราตกเหรอ เราเป็นคนเรียนดีทำไมเราถึงตกได้” แต่สุดท้ายก็ผ่านไปจนถึงรับปริญญา พี่จำได้เลยว่าพี่ติดจนถึงตัวสุดท้ายที่ทำให้พี่ต้องเรียน 5 ปี คือ วิชาที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พี่ทำไม่ได้ สุดท้ายพี่ท่องจำจนวิชานั้นเป็นวิชาที่พี่ได้คะแนนเยอะที่สุด 90 กว่าคะแนน คือท่องจนเชี่ยวชาญ จนเราเรียนจบยังฝันว่าตัวเองเรียนไม่จบ เพราะเป็นความฝังใจว่าเรายังเรียนไม่จบสักที

จนถึงวันที่เรารับปริญญา พอพี่ได้ปริญญามากับตัว หลังจากที่รับเสร็จเพลงยูงทอง ขึ้น พี่แบบน้ำตาคลอ รู้สึกว่าเราทำได้ เพราะก่อนหน้านั้นเราก็โดนคนว่าเราว่า “ทำไมถึงมาเข้าวงการ ม.5 ม.6 ก็ไม่ได้เรียน ลาออก” สำหรับเราคำพูดที่คนเขาว่ามันไม่เท่าไหร่หรอก แต่ความรู้สึกของตัวเราเอง เราเสียกำลังใจว่า “ฉันจะเรียนไม่จบหรือเปล่า กลายเป็นเสียคนหรือเปล่า” แต่สุดท้ายเราก็ทำได้ อันนั้นเป็นโมเมนต์ที่ประทับใจที่สุดค่ะ”

ทำไมถึงเลือกเขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิตอย่างผู้หญิงช่างฟ้อง ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายสำหรับผู้หญิง

“ช่วงนั้นเป็นกระแสนิยมที่นักแสดง หรือคนทั่วไปต้องทำ Pocket Book เป็นของตัวเอง มีคนเสนอพี่เยอะมากให้เขียนชีวิตของตัวเอง ซึ่งพี่มองว่าชีวิตของเราไม่ได้น่าสนใจขนาดที่สามารถเขียนเป็นหนังสือได้ พี่ก็เลยไม่เคยตกลงปลงใจที่จะเขียน

จนมีสำนักพิมพ์หนึ่งบอกว่า “ไม่ต้องเขียนชีวิตของตัวเอง ลองเขียนเรื่องกฏหมายไหม” เราก็เลยคิดว่า เฮ้ย ไม่มีใครเสนอแง่มุมนี้กับเรา แล้วเราก็มองว่าถ้าเราจะมีหนังสือสักเล่ม มันต้องไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเองแต่มันต้องเป็นประโยชน์กับคนอื่น ก็เลยเขียนเรื่องเกี่ยวกับกฏหมาย

ข้อดีของพี่ที่มีโอกาสเรียนกฎหมาย และข้อดีของการที่ได้ทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชนคือ เราสามารถแปลงภาษากฎหมายที่เข้าใจยากให้เป็นภาษาทั่วไปที่เข้าใจง่ายๆ ได้ พี่เลยรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันดีนะ หลายๆ คนเคยถามพี่ หรือเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อหาทางแก้ไขเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่ถ้าให้พี่แนะนำ ควรป้องกันไว้เลยจะดีกว่า เพราะถ้าคิดจะแก้ไขอย่างเดียว เรื่องราวจะบานปลายใหญ่โต ขึ้นโรงขึ้นศาลกัน ถ้าป้องกันได้จะได้ไม่เกิดปัญหาให้เราต้องไปแก้ เพราะฉะนั้นพี่ก็เลยเขียนหนังสือเล่มนี้มาเพื่อป้องกันปัญหาค่ะ ก็เลยเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ภูมิใจในชีวิต เพราะว่าถ้าเลือกทำเป็นหนังสือชีวิตเรา ก็อาจจะใช้วิธีการเล่าไปเรื่อยๆ แต่เล่มนี้เป็นหนังสือที่ต้องหาข้อมูลเยอะ และทำยากมาก จนเราต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่คอยช่วย เพราะบางครั้งพี่ต้องการจะแปลงภาษากฎหมายให้เป็นภาษาพูด แต่ภาษามันดิ้นได้ ถ้าภาษาสามารถดิ้นได้แม้เพียงนิดเดียว ความหมายมันอาจจะเพี้ยนกับเคสนั้นๆ ได้ เราก็ต้องตรวจสอบให้ดี”

ข้ามมาที่ปริญญาใบแรกของวงการบันเทิง อย่างการได้รับตำแหน่ง Miss Motor Show ปี 1997 อยากทราบว่านอกจากตำแหน่งที่ได้รับแล้ว เวที Miss Motor Show ให้ประสบการณ์อะไรอีกไหม

เป็นเวทีการประกวดแรกในชีวิตค่ะ มันมีความตื่นเต้น นึกภาพเด็กผู้หญิงที่เรียนโรงเรียนหญิงล้วน แล้วอยู่ในกรอบมาตลอด วันหนึ่งได้มาเห็นหลังเวที พี่จำได้คนประกวด 269 คน แล้วพี่เด็กสุดเลย เขาบอกว่าเกณฑ์ต้อง 16 ปีขึ้นไป แต่พี่อายุ 15 ปี ย่าง 16 ปี เขาเลยอนุโลม คือเป็นผู้เข้าประกวดที่ค่อนข้างเด็กที่สุดในเวทีนั้นเลย

โลกของเราตอนนั้นมันเป็นโลกของเด็ก เวลาเขาบอกว่าให้เดินออกไปประตูนี้ เลี้ยวซ้ายตรงนี้ เดินตรงนี้หมุนตรงนี้ เป็นแพทเทิร์นการเดินบนเวที พี่ทำตัวไม่ถูก เดินออกไปตรงนู้น ชี้นู่นนี้แล้วกลับเลย คือมันมืดแปดด้านไปหมด มันตื่นเต้นไปหมด ใส่ส้นสูงก็ไม่เป็นค่ะ ก็ต้องมาฝึก อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่เห็นโลกที่มันนอกเหนือจากการเรียน เพราะชีวิตช่วงนั้นมีแต่การเรียนอย่างที่บอกไป แล้วได้ไปเจอโลกที่มันแปลกใหม่ ทำไมเขาสวยกันจังเลย พี่ก็เลยนั่งนึกสงสัยตามระสาว่าทำไมพี่ถึงได้ อาจเพราะพี่คงเป็นเด็กมั้ง ด้วยความเป็นเด็ก มันมีความสดชื่นสดใส หรือว่าอาจจะมาจากการพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ตอนนั้นพี่เคยไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น พี่เลยตอบคำถามบนเวที Miss Motor Show เป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วผู้บริหาร หรือคนที่มีตำแหน่งเกี่ยวกับรถยนต์มักจะเป็นคนญี่ปุ่น เขาน่าจะประทับใจ เขาคงมองว่าเด็กคนนี้มันหาข้อมูลมาแล้วเลือกที่จะพูดเป็นภาษาญี่ปุ่น”

ปริญญาโทของชีวิต
ที่คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และตำแหน่งนักแสดงจอแก้วตลอดระยะเวลา 15 ปี

หลังจากเวทีประกวด Miss Motor Show ทำให้คุณก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง อยากให้เล่าบรรยากาศในการทำงานหรือความรู้สึกในวงการบันเทิงช่วงนั้นหน่อย ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

“มันมีความรู้สึกสองแบบ คือความแฮปปี้บวกกับความกังวล ที่รู้สึกกังวลคือเราจะแบ่งเวลาเรียนได้หรือเปล่า แต่ที่รู้สึกแฮปปี้คือทุกอย่างมันดูสวยงาม พี่ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะได้เป็นนักแสดง เพราะไม่มีแวว แต่คนอื่นบอกว่าเราเป็นเด็กตัวสูง ผมยาว หน้าไทยๆ น่าจะเล่นละครได้ แล้วหลังจากประกวด Miss Motor Show เสร็จ เราลงข่าวไทยรัฐ แล้วมีคนเห็นเราเลยเรียกไปแคสติ้ง พี่ก็เลยไปแคสที่แรก แล้วก็ได้เลย

พอไปเล่นละครจริงๆ เขาส่งบทมาให้พี่อ่าน พี่ได้เล่นเป็นเพื่อนนางเอก แบบโห แฮปปี้มาก แต่ผ่านไม่กี่วันเขาบอกว่าไม่ให้เล่นแล้วเรื่องนี้ เพราะว่าผู้กำกับบอกว่าเด็กใหม่ขี้เกียจปั้น มันเสียเวลา ไม่ได้เป็นนางเอกด้วย เป็นแค่เพื่อนนางเอก เราก็เสียใจ ทำไมเขาไม่ให้เราเล่น เราได้บทมาแล้ว (ทำเสียงเลียน) แต่สุดท้ายต้องขอบคุณเขา เพราะละครเรื่องต่อไปเราได้เล่นเป็นนางเอกเลย มันเป็นจังหวะชีวิตคน ถ้าเราได้เล่นเรื่องนั้นเราอาจจะไม่ได้บทที่มันใหญ่ขึ้น ผู้กำกับบอกไม่เอาเรา สุดท้ายได้ไปเล่นอีกเรื่องที่เป็นนางเอก แล้วประสบความสำเร็จด้วย พี่ว่าพี่โชคดีค่ะ ถือว่าจังหวะเหมาะเหมือนจับวาง ทุกอย่างตอนนั้นสวยงาม และสนุกกับการทำงานตลอดค่ะ”

ความสนุกของการทำงานในวงการบันเทิงในช่วงนั้นคืออะไร

“มันเป็นโลกใหม่เลย จากเดิมเราเป็นเด็กที่มีแต่การเรียน อีกอย่างที่น่าภูมิใจมากคือเราสามารถทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปี แล้วมีรายได้ค่ะ แบบโห ไม่อยากจะเชื่อเลย มันดีมาก มันสนุก แล้วมันมีความภูมิใจ โลกเรากว้างกว่าเด็กในวัยเดียวกันมากในตอนนั้น

อีกอย่างคือเราต้องปรับตัว เพราะเราเป็นเด็กแล้วเราต้องไปทำงานกับผู้ใหญ่ มันก็มีมุมของความทรมาน แบบเราเล่นละครไม่ได้ เพราะเราไม่เข้าใจตัวละคร เขาให้เราร้องไห้เพราะในบทเรากำำลังจะโดนพ่อเลี้ยงปล้ำ ทำยังไงอะ เราไม่เคยโดนปล้ำ เราไม่เข้าใจรายละเอียด เราก็เล่นไม่ค่อยได้ แต่โชคดีว่าบทมันใกล้เคียงกับความเป็นเด็กในตัวเราในช่วงเวลานั้น ก็เลยทำให้คนดูเปิดใจรับค่ะ”

ด้วยบุคลิกเชิงบวกของคุณ อะไรทำให้ตัดสินใจรับบท “พิมพ์ดาว” ในฐานะตัวละครนางร้ายครั้งแรกในชีวิตในเรื่อง “แฝดล่องหน”

“ชีวิตที่พี่เล่นละครมาทั้งหมด พี่เล่นเป็นคนดีเนอะ ทั้งหมดปัจจุบันที่เล่นเป็นนางร้ายมี 2 เรื่อง แฝดล่องหน (2544) อันนั้นหนักหน่อย เพราะเราเล่นเป็นฝาแฝด ทั้งฝาแฝดฝ่ายดีและฝ่ายร้าย ตอนนั้นที่เล่นคืออายุ 18 ปี เขาบอกให้กรี๊ด พี่ก็ กรี๊ดยังไงอะ (เสียงเบา) ชีวิตเรามันไม่เคยกรี๊ดอะกรี๊ดยังไง กรี๊ดแบบ อ๊าย (เสียงกรี๊ด) หรือยังไง ด้วยความไม่เป็นของเรา แต่ข้อดีคือสุดท้ายถ้ามันไม่เป็นก็ลุยเถอะ เขาบอกให้เต้น เต้นยังไงวะ เราก็เต้นกะเร้อกะรังไม่ได้เต้นแบบเซ็กซี่ เขาก็เอา choreographer มาสอน เราก็เต้นตามเขา คือถ้าเราสนุกกับมันก็จะทำได้

อีกหนึ่งเรื่องที่พี่เล่นเป็นนางร้ายคือ กลิ่นแก้วกลางใจ (2550) ตอนแรกพี่จะไม่เล่นค่ะที่เป็นนางร้าย พี่ขอไม่เล่น ผู้ใหญ่บอกอยากให้เล่น เราก็ปฏิเสธไป จนสุดท้ายเรายอมเล่น เรื่องนี้แหละเป็นเรื่องที่บอกว่าพี่ไม่อยากเล่นแต่สุดท้ายมันได้เล่น พี่ก็ต้องทำใจรักมันให้ได้ พี่ก็พยายามหาข้อดีว่า อ๋อ ตัวละครนี้มันมีข้อดียังไง จนเล่นไปเล่นมากลายเป็นละครที่ดังมาก (หัวเราะ) เป็นเรื่องที่คนเรียกชื่อตัวละครพี่แทนชื่อพี่ เราก็เลย “อ๋อ เข้าใจเลย แบบนี้นี่เอง มิน่าเขาถึงบอกว่าต้องเป็นเราเล่น”

ในเรื่องคนจะเรียกว่า อาโป สุริเยน เพราะในเรื่องเขาก็จะเดินมาแล้วพูดว่า “ฉันคืออาโป สุริเยน ฉันต้องสมบูรณ์แบบ” คือเราเป็นเซ็นเตอร์ของทุกอย่าง ทุกวันนี้คนเจอหน้าพี่จะชอบบอกว่าเขาตั้งชื่อลูกเขาว่า อาโป เพราะว่าชอบตัวละครเรา เป็นเรื่องที่แบบโอเคมากๆ

พอพี่ต้องมาเล่นอะไรที่มันไม่ใช่เรา มันมีความสนุก มีความตื่นเต้น ลึกๆ แอบกลัวว่ามันจะทำได้ไหม แต่เบื้องหลังของความกลัวมันคือความสนุก เมื่อตัดสินใจเล่นนะ พี่ไหว้พระทุกครั้งเวลาที่พี่ออกมาเล่นละคร พี่บอกขอให้พี่สนุกกับการทำงาน เพราะว่าพี่เชื่อว่าพอมันสนุกแล้วมันจะเหมือนมีแรง ถ้าไม่สนุกไปกองมันจะไปนั่งเซ็งๆ ซังกะตาย ไม่โอเค พี่คิดว่าขอให้พี่สนุก เล่นได้ไม่ได้ยังไงก็ไม่รู้แต่ขอให้พี่สนุกกับการเล่น นี่คือสิ่งที่พี่ต้องการค่ะ”

หากชีวิตของเรา ไม่ได้เป็นอย่างในชีวิตจริง แต่ถูกกำหนดให้เป็นเหมือนชีวิตในตัวละครจากละครไทย อยากเกิดเป็นตัวละครไหนที่เคยเล่นในชีวิตมากที่สุด

“โฮ้ (เสียงยาว) พี่ก็เล่นมาเยอะนะ ถ้านึกเร็วๆ นะเวลาพี่อยากเป็น ธารทิพย์ ใน เลือดกากี เพราะว่าเขาเป็นตัวร้ายที่มีความน่ารักอยู่ในตัวเขา เป็นคนที่ถ้ารักก็รักมาก เกลียดก็เกลียดมาก เศร้าก็เศร้ามาก ถ้าเราเป็นคนนอก เราคงมองว่าผู้หญิงคนนี้เป็นคนน่าเอ็นดู เป็นผู้หญิงที่มีสีสันมากในชีวิต คนน่าจะอยากอยู่กับผู้หญิงอย่างนี้เพราะมันไม่น่าเบื่อ แม้บางครั้งอาจจะจัดจ้านไป แต่ข้อดีคือเขาเป็นคนที่รักใครแล้วรักจริง รักแฟน รักลูก เขาทำทุกอย่างเพื่อคนที่เขารักได้ ในมุมของการทำงานเราสนุกทุกครั้งที่เล่นตัวละครนี้ มันแต่งตัวสวยๆ เดี๋ยวก็มีคิดแผนการ ทำนู่นทำนี่มากมาย เขาเป็นคนสนุกมากจริงๆ ถ้าเราได้ลองเป็นนะ ก็อยากลองเป็นเขาสักวันจริงๆ ว่ามันจะสนุกเหมือนตอนที่เราเล่นไหม”

ปริญญาเอกของชีวิต
ที่คณะวารสารศาสตร์ฯ สาขาสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และบทบาทอื่นๆ ที่เข้ามาในชีวิต

มองเรื่องราวในละครผ่านมุมมองของคนที่เรียนวารสารฯ สื่อสารการเมืองอย่างไรบ้าง

เวลาพี่เรียน พี่ต้องวิเคราะห์อะไรเป็นทฤษฎี เราต้องเอาทฤษฎีไปจับกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมให้ได้ ว่ามันมีมุมมองแบบนี้ให้มอง แล้วเราก็จะเข้าใจว่าเขาทำแบบนี้เพราะอย่างนี้นี่เอง อย่างเวลาเรามองตัวละครที่เราเล่น ว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึกแน่ๆ มันน่าจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่มันมากกว่านั้น

ทำไมผู้ชายถึงมีหลายเมียทั้งๆ ที่เขารู้ว่าเราควรจะมีรักแค่หนึ่งเดียว เขามองว่าสมัยนั้น การมีเมียหมายถึงอำนาจ บารมี ไม่ใช่แค่เรื่องความรัก การมีหลายเมียหมายถึงว่าฉันรวย ฉันสามารถดูแลผู้หญิงทุกคนได้ดี ถ้าเราเอาทฤษฎีไปจับ ไปวิเคราะห์ เราจะรู้ว่ามุมมองเป็นแบบนี้ มันถึงสนับสนุนให้สามารถทำในสิ่งที่ผิดได้ ทั้งๆ ที่เขารู้ว่ามันมีรักมาก และเขาไปสัญญากับผู้หญิงว่าจะมีแค่เธอคนเดียว สุดท้ายแล้วก็ไปมีคนอื่น ซึ่งในมุมมองของความเป็นเมียเขายกย่องคนนี้เป็นเมียเอก และเขาต้องมีเมียหลายๆ คนเพื่อที่จะมีเพิ่มบารมี มีอำนาจมากขึ้น

พอเราเข้าใจ วิเคราะห์ตัวละครได้ เราก็จะเข้าใจตัวละครมากขึ้น แม้กระทั่งตอนนี้ที่พี่กำลังเล่นเรื่องเลือดกากี พี่ไม่ได้มองตัวเองแค่เป็น ธารทิพย์ แต่พี่มีอีกหมวกที่เป็นผู้จัด เวลาพี่อธิบายนักแสดง พี่ก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทำไมผู้ชายคนนี้ถึงมีหลายเมีย เขาคิดยังไง อาจจะอธิบายว่าเหมือนเวลาเขากินอาหาร วันนี้เขาชอบกินผัดไทย อีกวันชอบกินส้มตำ เพราะถ้ากินผัดไทยทุกวันก็น่าเบื่อ กินส้มตำทุกวันก็น่าเบื่อ วันนี้ฉันชอบแบบนี้ อีกวันฉันชอบแบบนี้ นี่คือที่มาของความคิดของตัวละครว่าทำไมเขาเป็นแบบนี้

เวลาเราเล่นเป็นตัวละครตัวหนึ่ง ถ้าเราไม่เข้าใจระบบพื้นฐานลึกๆ ของเขา เราจะไม่อินเวลาแสดง เหมือนที่พี่เล่นเป็นตัวร้าย ถ้าเราคิดว่าเขาเป็นตัวร้าย เราอาจจะเล่นให้ดูร้ายอย่างเดียวเลยก็ได้ แต่พี่ไม่ได้มองว่าเขาเป็นตัวร้ายอย่างเดียว พี่มองว่าเขาก็เหมือนคนทั่วไป ถึงแม้เขาจะร้ายเยอะหน่อย แต่เขาก็มีมุมเศร้า มุมน่าสงสารนะ ผู้ชายไม่มานอนด้วยทั้งๆ ที่เป็นเมียเอก สุดท้ายฉันเป็นที่หนึ่งของพระนคร แต่ผู้ชายฉันไปหาผู้หญิงคนอื่น เวลาที่เราเล่นแบบนั้นเราจะสงสารตัวละคร เวลาร้องไห้เราจะร้องไห้จริงๆ แต่ถ้าเราคิดว่าเราเป็นนางร้ายเฉยๆ เวลาเราร้องไห้เราก็จะร้องแบบพื้นๆ เวลาเราคิดเราก็พยายามนึกอะไรไปนอกเหนือจากบทที่เขาเขียนมา เพื่อเวลาเราเล่นมันจะได้ถ่ายทอดไปได้ลึกมากขึ้น

อีกอย่างเราก็สนุกด้วยเวลาได้เล่น เพราะเราได้เล่นอะไรจากสิ่งที่เราไม่ได้เป็น อย่างง่ายๆ เรื่องนี้ (เลือดกากี) พี่ไม่เคยแต่งงาน หรือมีสามี หรือมีลูก ฉะนั้นพี่จะไม่เข้าใจว่าทำไมมันต้องหึงอะไรกันขนาดนั้น วันแรกๆ มันก็ไม่อิน มันจะรักอะไรมันเพิ่งมาเจอกัน แต่เราก็ใช้เทียบเคียงความรู้สึก พอได้เล่นไปเรื่อยๆ มันอินแบบไม่ต้องเทียบเคียงอะไรเลย เราเป็นตัวละครตัวนั้น เราเกลียดเราก็เกลียดจริงๆ โกรธก็โกรธจริงๆ ร้องไห้ก็ร้องออกมาจากความรู้สึกจริงๆ มันเหมือนเราเป็นตัวละครตัวนั้นจริงๆ พอเราทำแบบนั้นแล้วมันจะสนุก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นฉันเล่นได้ทุกเทค จะให้เล่น 10 เทคก็ยังได้ ฉันร้องไห้ได้ทุกเทคเพราะว่าเราเป็นตัวละครตัวนั้น

อย่างตอนเราเล่นละครสมัยเด็กเราจะแบบ “พี่ทำไมมันต้องร้องไห้ โดนว่าแค่นั้น” มันดูติงต๊องนะคะในมุมเรา ผู้กำกับบอกว่า “น้องเอ๊ะร้องไห้ล่าสุดเมื่อไหร่” “อืม ร้องไห้ล่าสุดทะเลาะกับคุณแม่อะค่ะ คุณแม่เรียกมากินข้าวแล้วไม่กิน” เขาบอกว่า “ติงต๊องไหมล่ะ แค่แม่เรียกไปกินข้าวแล้วไม่กิน” เออจริง ทำไมตอนนั้นเราร้องได้ เพราะมันเป็นเรื่องของเราไง เราเลยมองว่ามันไม่ติงต๊อง พี่ถึงบอกว่าถ้าเราอินตัวละครตัวไหนเราจะเข้าใจเหตุผลของตัวละคร

เหมือนอย่างละคร มงกุฏกรรม ที่พี่ทำ ทำไมตัวนางเอกต้องยอมไปเป็นเมียน้อยทั้งๆ ที่เขาเกลียดการเป็นเมียน้อยมาก เขาต้องเป็นเมียน้อยของผู้ชายที่ซาดิสท์ด้วย มันมีเหตุผลว่าเพราะลูกของเขาไง เขาเกลียดการเป็นเมียน้อยนะ แต่เขาเกลียดยิ่งกว่าตอนเห็นลูกไม่มีข้าวกิน ไม่มีเงินเรียนหนังสือ นี่คือเป็นเหตุผลที่ทำให้เขายอมเป็นเมียน้อยแล้วก็เป็นตราบาปของเขามาตลอดชีวิต”

ทุกคนล้วนมีครั้งแรกในชีวิต วินาทีแรกที่ขยับตัวเองมาเป็น “ผู้จัดละคร” รู้สึกอย่างไรบ้าง

“เอาจริงๆ ก็ดีใจ แต่มีความกลัวอยู่ เพราะว่าเราเป็นผู้จัดตั้งแต่ตอนยังไม่ถึง 30 ปีเลย เรื่องแรกพี่ทำ ข้าวนอกนา ประมาณปี 2556 แค่วันที่ 3 ของการถ่ายทำพี่ยกกอง ตอนนั้นพี่คิดว่าจบสิ้นแล้ว ต้องกลับไปเล่นละครอย่างเดิมแล้วแหละ วันที่ 3 เองยกกองได้ไง ตอนนั้นมันเป็นประสบการณ์ที่มันไม่ดี แต่ผ่านมาพี่ต้องขอบคุณเลย เพราะมันทำให้เราตั้งสติมากขึ้น

ข้าวนอกนา เป็นเรื่องของคนผิวคล้ำ ลูกครึ่งคนผิวดำ วันฟิตติ้งก็ทำงานกันในห้องแอร์ ก็ฟิตติ้งไปไม่มีอะไร แต่พอไปถ่ายจริงมันไม่มีห้องแอร์ พอเหงื่อมันออก คอของนักแสดงที่ทาสีดำไปก็เป็นด่างขาวๆ เพราะเราใช้รองพื้นทั่วไปลงผิวคนผิวขาวให้กลายเป็นคนผิวดำ มันฉาบแค่ข้างนอก พอมีรอยยับนิดหนึ่งมันก็เด้งหลุดออกมา เราขูดหน้านักแสดงจนหน้าเขาแพ้ แดงเห่อทั้งหน้า สุดท้ายก็ต้องยกกอง

คุณแม่บอกเราว่า “ยกกองแล้วก็เดินออกมาจากกอง อย่าร้องไห้ให้ใครเห็นนะ” จำได้เลย แม่บอกเก็บไว้ ให้มาร้องไห้กับแม่ เพราะว่าถ้าเราร้องทีมงานเขาจะกลัว เขาจะใจสั่นเนอะ สุดท้ายพี่ก็กลับมาบ้านแล้วก็ตั้งสติแล้วก็ไปหาช่างเอฟเฟกต์ ตอนนั้นคุณแม่บอกว่าถ้าทนไม่ไหว หรือมันทรมาณมากก็กลับไปเล่นละครอย่างเดียวก็ได้ ไม่ต้องเป็นผู้จัดแล้ว แต่โชคดีที่พี่ยังสู้ต่อ แล้วมันก็เป็นประสบกาณ์ที่ดีเพราะมันทำให้พี่พยายามเตือนตัวเองให้มีสติมากขึ้นในการทำงาน อย่าดีใจหรืออย่าเสียใจเกินเหตุ เพราะว่าอาชีพผู้จัดเป็นอาชีพที่พร้อมจะมีอะไรที่ไม่คาดคิดมา และต้องแก้ไขให้ได้ เราคิดว่าเราอยู่ในกอง เขาแก้แบบนั้น เราก็ทำแบบนั้น แต่จริงๆ ไม่ใช่มันมีเหตุการณ์อะไรเหมือนกันเลย อย่างภาวะ COVID-19 เนี่ยทำให้เราต้องปรับตัว แล้วพี่ชื่อว่าเดี๋ยวจบวิกฤตนี้มันจะมีเหตุการณ์อะไรที่ไม่คาดคิดมาอีก มันจะมีอะไรที่ทำให้เราต้องปรับตัว เพราะเป็นอาชีพของเรา”

เพื่อปูพื้นฐานให้กับผู้อ่าน จริง ๆ แล้ว “ผู้จัดละคร” มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

“บางคนยังไม่เข้าใจเลยว่า ผู้จัด กับ ผู้กำกับ ต่างกันยังไง แต่บางทีผู้กำกับกับผู้จัดเป็นคนเดียวกันในบางกองก็มี

ผู้จัดละครก็เป็นคนที่อ่านนิยาย อ่านพล็อตแล้วชื่นชอบ เอาพล็อตนี้ไปเสนอช่อง ช่องอนุมัติงบประมาณมาให้ทำเรื่องนี้ เอางบประมาณไปจัดสรรนักแสดง ทีมงาน ผู้กำกับต่างๆ โดยที่เราสามารถเลือกเองได้ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบของช่อง พอช่องอนุมัติ ฟอร์มทีมเรียบร้อย ก็เริ่มต้นทำ pre-production คือ ไปดูโลเคชั่น ฟิตติ้งนักแสดง ทีมงานมีใครบ้าง ประชุมกันเรียบร้อยแล้วก็มาสู่ขั้นตอน production คือออกกอง ไปกองถ่าย ผู้จัดมีหน้าที่ไปดูกองสิมีอะไร จัดสรรให้มันเรียบร้อย ถ่ายทำเสร็จไปถึงขั้นตอน post-production ตัดต่อ ลงเสียง PR ประชาสัมพันธ์ต่างๆ สุดท้ายออกอากาศจบเอาเรตติ้งมานั่งดูกันว่ามันดีเพราะอะไร ไม่ดีเพราะอะไร เพื่อที่จะปรับปรุงให้เข้ากับงานใหม่ของเรา นี่คืออาชีพผู้จัดค่ะ ดูทุกอย่าง

ส่วนผู้กำกับจะรับบรีฟจากผู้จัด เพราะผู้จัดจะเป็นคนคุยความต้องการของช่องแล้วมาสื่อสารต่อคนในกองถ่าย เพราะฉะนั้นตรงนี้คือเราต้องรู้ทุกอย่างค่ะ เช็คเทปเอง มันต้องผ่านตาเราหมดทุกอย่าง”

จากผลงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของคุณเป็นนักแสดงละคร และการเป็นผู้จัดละคร เลยอยากทราบว่าทำไมถึงเลือกอาชีพหลักอยู่กับวงการละครไทย

“พี่เล่นละครมาประมาณ 15 ปีมั้ง แล้วพี่ก็ชอบมัน แต่ต้องบอกว่าแรกๆ พี่ไม่ได้ชอบการแสดง แค่มีโอกาสได้เล่นก็เล่น แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ เรารู้สึกชอบในมัน รักในมันเลย เรารู้สึกว่านี่คืออาชีพของเรา ทำให้เราสามารถหาเงินให้ครอบครัวเราได้ เป็นอาชีพสุจริตที่เราสามารถบอกทุกคนได้ว่าเราเป็นนักแสดง ทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ได้

และพอเราเล่นละครไป เราก็เก็บเกี่ยวข้อมูล ความรู้ต่างๆ ระหว่างที่เราเป็นนักแสดง เราหาจังหวะเหมาะๆ ลองเสนอช่องขอมาทำเป็นผู้จัด ที่แรกก็คือช่อง 8 จนผ่านมาถงตอนนี้ เราเห็นมาหมดแล้วในกองเวลาเขามีปัญหา เขาทำกันยังไง เราก็เอาข้อมูลตรงนี้มาเก็บไว้ เพื่อตอนนี้ที่เราเป็นผู้จัด เราก็สามารถที่จะหยิบความรู้ตรงนั้นมาใช้ได้”

หลังจากละครเรื่อง “น้องเมีย” เมื่อปี 2555 ก็ไม่ได้เล่นละครอีกเลย จนถึงละครเรื่องใหม่ที่กลับมาเล่นอย่าง “Club Friday The Series” (Broken Anniversary-2565) และ “เลือดกากี” เป็นเวลาครบ 10 ปีพอดี ทำไมถึงไม่รับงานแสดงระหว่างเป็นผู้จัดละครด้วย

“ในระยะเวลา 10 ปีที่หายไป 4 ปีแรกเป็นพี่เป็นผู้จัด มันเป็นงานใหม่ และเป็นงานใหญ่ เราเลยคิดว่ายังไม่พร้อมที่จะกลับมาเล่นละคร รวมถึงช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เราปูพื้นฐานเพื่อการเรียนปริญญาเอกค่ะ ไม่สามารถทำอะไรได้เพิ่มแล้วในช่วงเวลาเหล่านี้ นอกจากแค่รับงานพิธีกรเพิ่ม 1 รายการ คือรายการ Z-TV เท่านั้นเอง

ระหว่าง 8 ปีที่ไม่ได้รับเล่นละครก็มีผู้จัดติดต่อมาตลอด เราบอกเขาว่า “ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ ขอเรียนให้จบก่อน แล้วติดต่อมาอีกนะคะ” จนเราเรียนจบก็รับเล่นเลย 2 เรื่อง ด้วยจังหวะชีวิตนั่นแหละ

เราคิดเสมอว่าวันที่เราตัดสินใจเป็นผู้จัด และเรียนปริญญาเอก ถ้าไม่มีใครจ้างงานเราในฐานะนักแสดง หรือถ้าเราไม่ได้เป็นที่ต้องการแล้วเราต้องรับให้ได้ แต่สุดท้ายพอเราเรียนจบกลับมาเขายังติดต่อเรามา อันนี้เราดีใจ แล้วก็ขอบคุณโอกาสที่ดีเหล่านั้นมากๆ ค่ะ”

ทำไมถึงเลือก “ข้าวนอกนา” มาเป็นละครเรื่องแรกภายในตำแหน่ง “ผู้จัดละคร”

ข้าวนอกนา เป็นเรื่องที่อยู่ในความทรงจำของพี่ตั้งแต่เด็ก เพราะพี่เป็นคนผิวคล้ำ คนก็จะชอบเรียกเราว่า “เด็กดำ” “น้องดำ” พี่ว่าคนที่เรียกพี่เขาเรียกแบบให้เกียรติ เขาไม่ได้เรียกว่าอีดำๆ พี่เลยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการบูลลี่ หรือเป็นการแซว และไม่ได้เป็นปมในใจขนาดนั้น

พี่ชอบเรื่องนี้เพราะเป็นละครดังในอดีต แล้วก็สนุก มันเป็นเรื่องของผู้หญิง 2 คน คนหนึ่งผิวคล้ำที่ถูกมองว่าไม่สวย อีกคนเป็นลูกครึ่งฝรั่งที่ถูกมองว่าสวย ชีวิต 2 คนนี้เดินไปด้วยกันคนหนึ่งต่ำ คนหนึ่งสูง วันหนึ่งมีเหตุที่ทำให้คนหนึ่งลงต่ำ คนหนึ่งขึ้นไปสูง เส้นเรื่องของเด็กที่มันคู่กันมันสนุก แต่ถ้าในทางกลับกันมาปัจจุบันพี่จะไม่เลือกทำเรื่องนี้ เพราะยุคนี้ เวลานี้ เรื่องผิวมันเป็นเรื่อง sensitive แล้วพี่กลับมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ดำไม่ได้หมายถึงไม่สวย เพราะว่าโลกเราเปลี่ยนไปแล้ว

เชื่อไหมสมัยเด็กคนก็บอกว่า “น้องเอ๊ะผิวคล้ำ” พี่ก็จะแบบ “มันคงไม่สวยใช่ไหม มันหมายถึงไม่สวยหรือ” แต่โชคดีที่พี่ได้เล่นละคร เงาอโศก มันเปลี่ยนชีวิตพี่เลย เพราะว่าเรื่องนั้นประสบความสำเร็จ แล้วสาเหตุที่พี่ได้เล่นเพราะอะไรรู้ไหม เป็นเพราะคาแรคเตอร์นางเอกต้องผิวคล้ำ ผิวสีน้ำผึ้ง พี่ก็เลยได้เล่นเรื่องนั้น คาแรคเตอร์นางเอกในนิยายอ่านมาก็คือพี่เลย ตัวสูง แขนขายาว ผิวสีน้ำผึ้ง แล้วพี่ก่อนหน้าพี่คิดว่าผิวคล้ำมันไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็มาคิดว่าผิวเราคล้ำ เราถึงได้เล่นเรื่องนี้ แล้วดังด้วย คนดูก็ชื่นชอบในสีผิวของเรา อย่างถ้้าหันมาดูยุคนี้โลกมันกว้างขึ้น เราได้เห็นคนผิวคล้ำสวยๆ เยอะเลย แล้วเราไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ดี จะมาบอกว่าเขาเป็นลูกครึ่งผิวสีเขาไม่สวย พี่ว่าคนจะไม่อินแล้ว เหมือนกันถ้าคนอ้วนหมายถึงไม่สวย คนจะไม่อิน บริบทมันต่างกัน เหมือนกันการเลือกเรื่องที่จะนำมาสร้างละครต้องอยู่ในสถานการณ์และช่วงเวลานั้นๆ ด้วยค่ะ เหมือนแต่ก่อนถ้าเราเลือกเรื่องแบบนี้ อาจจะทำได้ แต่ปัจจุบันก็อาจจะทำไม่ได้ หรืออย่างแต่ก่อนพระเอกที่อายุน้อยกว่านางเอก คนจะไม่ค่อยอิน ลองมาดูทุกวันนี้ คนชอบก็มี มันก็ต้องเลือกเรื่องที่เหมาะสมกับช่วงเวลา”

ร่วมงานละครกับช่อง 8 เป็นอย่างไรบ้าง

ต้องขอบคุณทางช่อง 8 มากๆ เลยค่ะ ที่ให้โอกาสให้พี่ได้มีอาชีพใหม่ เพราะทุกวันนี้พี่ก็สามารถพูดได้แล้วว่ามันเป็นอาชีพของเรา ก่อนหน้านั้นพี่เป็นนักแสดง แล้วการที่เราจะมีอาชีพใหม่ที่ทำได้ยาวนาน มันไม่ใช่แค่ตัวเรา มันต้องได้รับโอกาส และช่อง 8 ตอนนั้นก็เป็นช่องแรกที่ให้โอกาสพี่เลย ซึ่งในเวลานั้นคนอื่นอาจจะเห็นภาพพี่ในการเป็นนักแสดง แต่ยังไม่มีใครเคยเห็นภาพพี่ในฐานะผู้จัด เขาจะเชื่อมั่นได้ไหมว่าเราเอาเงินหลายๆ สิบล้านของเขาไปทำให้มันเป็นรูปร่างที่ดีได้ หรืออาจจะเอาเงินเขาไปทิ้ง ทำเละเทะ แล้วไม่มีผลงานออกมา ไมมีใครการันตีได้ แต่ทางช่องเชื่อมั่นเรา แล้วให้โอกาสเราได้ทำ ทำต่อมาเรื่อยๆ ขอบคุณมากๆ ค่ะ

ทุกวันนี้พี่มีความสุขกับการเป็นผู้จัด พี่ตื่นขึ้นมาพี่พร้อมจะรับปัญหานะ และพี่ก็คิดว่าก็แค่แก้ไขมันไป แรกๆ ปัญหามามันตื่นเต้น มันเครียด ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเครียดอยู่นะคะ เวลามีปัญหามาเราต้องพร้อมรับแล้วแก้ไป แต่เป็นการแก้ที่นิ่งมากขึ้น ไม่ใช้อารมณ์ ทำใจกลางๆ ไว้ประมาณหนึ่ง เพราะสมัยเด็กพี่เป็นคนที่เวลาดีใจ หรือเสียใจ จะจมอยู่กับอารมณ์นั้น ทำอะไรคิดเร็วไปเร็ว 

แต่พอเราผ่านเวลามาช่วงเรียนปริญญาเอก นิสัยพี่เปลี่ยนไปเลย อย่างเวลาพี่เป็นพิธีกรรายการสด หรือรายการโชว์ตัวอีเวนต์ ทีมงานจะบอกพี่ว่าอย่าให้มีเดดแอร์ เราก็พูดไปเรื่อยๆ จนได้ไปเรียนปริญญาเอก เราก็คิดว่าอาจารย์ถามอะไรมาเราต้องช่วยกันตอบ ให้อาจารย์รู้สึกว่าเรามีส่วนร่วม พี่โดนติงจากอาจารย์ว่า “คิดก่อนค่อยตอบ ถ้ามั่นใจค่อยตอบ” พี่มานั่งคิดว่า จริง สิ่งที่เราตอบไปเร็วๆ มันอาจจะไม่ใช่ กลับมานั่งคิดทบทวนก่อน ทำอะไรไม่ต้องเร็วมาก เพราะถ้าทำอะไรเร็วมาก มันจะเป็นการกระทำจากความรู้สึก ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป”

สำหรับอีกบทบาทหนึ่งที่ได้รับอย่างการเป็นพิธีกร ในช่วงแรกๆ มั่นใจตัวเองกับบทบาทนี้มากน้อยแค่ไหน

เอาตรงๆ ไม่มั่นใจค่ะ พี่เป็นคนไม่ชอบเวที เพราะตอนพี่ประกวด Miss Motor Show แล้วพี่ไปอำลาตำแหน่งตอนอายุ 16 ปี ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งเด็กมาก บนเวทีมีขั้นบันได แล้วมีควันลอยท่วมเวที เรามองไม่เห็นพื้นเวทีเลย ระหว่างเราเดินต่อหน้าผู้ชม พี่ตกบันได มงกุฏกระเด็นไปเลย คนเงียบกันหมดทั้งฮอลล์ พี่ลุกขึ้น คว้ามงกุฏมาใส่แล้วก็เดินยิ้มต่อ แต่ในใจมันทำให้กลัวเลย พี่ฝังใจมากว่าพี่คงไม่ถูกชะตากับเวที และนี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมพี่ถึงไม่ยอมเป็นนางแบบ เพราะพี่ไม่ชอบเวที

แต่การเป็นพิธีกรของพี่ มีสิ่งหนึ่งที่พี่ชอบมันคือ การเป็นพิธีกรมันฝึกให้พี่เป็นคนคิด แก้ไขสถานการณ์ได้ พี่ชอบเวลามือหนึ่งถือสคริปต์ แล้วมีไมค์อยู่ในมืออีกข้างหนึ่ง เป็นโมเมนต์ที่เราชอบและสนุกกับมัน แต่เราก็ไม่ได้เชื่อมั่นว่าเราทำได้ดี เพียงแค่เราสนุกที่จะทำ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีความสนุกกับการทำพิธีกรทุกครั้ง”

วิธีการเยียวยาตัวเองจากความกลัวในชีวิตของคุณเป็นอย่างไร

“พี่เป็นเด็กขี้กังวล มีความกลัวแฝง ข้อดีอย่างหนึ่งของพี่คือต่อให้เรากลัว เวลาเราทำ เราทำมันสุดตัวเลย แม้ว่าจะมีข้ออ้างมาก่อนว่า “จะทำได้ไหม” ถ้าไม่มีความกดดัน เราจะทำ สู้กับมันแค่ประมาณหนึ่ง แต่ถ้ามีความกดดันมากๆ ก็จะสู้สุดตัวเลย (หัวเราะ) อะไรมีข้อจำกัดเยอะๆ เหมือนเราถูกบีบ พอถูกบีบฉันสู้สุดใจเลย อย่ามาบีบฉัน ฉันไม่ชอบให้ใครมาบีบ

แต่บางครั้งก็ไม่ดีนะ อย่างตอนที่พี่ออกจากโรงเรียนช่วง ม.4 คนก็พูดว่าพี่ก็คงเรียนไม่จบ หรือมาพูดกับคุณแม่พี่ว่าทำไมถึงเลือกเส้นทางนี้ให้พี่ คือเรารู้สึกแบบ ไม่ได้ อย่าว่าแม่เรานะ สุดท้ายเราก็สู้เต็มที่เลย ไปเอ็นทรานซ์ อ่านหนังสือเองอะไรเอง คือมันเหมือนว่าความกดดันมันเป็นแรงกระตุ้น ในทางกลับกันเราก็ไม่ชอบว่าใคร ตัดสินใครด้วยนะ เพราะเราไม่รู้เบื้องหลังเขาจริงๆ”

ครอบครัวสำคัญกับคุณยังไงบ้าง

“สำคัญมากค่ะ ครอบครัวเป็นสิ่งที่ทำให้เรายังใช้ชีวิตถึงทุกวันนี้ คนอาจมองว่าพี่เป็นคนขี้กลัว แต่จริงๆ แล้วไม่กลัวหรอก เพราะข้างหลังยังมีครอบครัว พี่รู้ว่าเวลาเกิดอะไรขึ้น พี่มีคนที่พร้อมซัพพอร์ต และยังทำให้เราไปต่อได้ บางครั้งทุกวันนี้มีอะไรที่ไม่เป็นตามหวัง พี่ว่ามันเป็นบทเรียนที่ดีของพี่

ชีวิตเราถ้ามันจะสำเร็จราบรื่นไปหมดทุกอย่าง มันคงจะราบเรียบ และคงไม่มีภูมิต้านทานอะไรเลย แต่ถ้ามีดีบ้างทุกข์บ้าง มันจะบทเรียนที่ดีให้เรา แล้วเราจะไปต่อได้ พี่เป็นคนที่ถ้าพลาดอะไรจะพยายามไม่ให้พลาดอีก ถ้าพลาดครั้งแรกก็ช่างมันเถอะ หาบทเรียนก็พอ แล้วพี่ก็ไม่ชอบคนที่พลาดซ้ำด้วย เหมือนถ้าเราเคยทำผิดอะไรมา มันต้องเป็นบทเรียนให้เราแล้ว อย่าผิดพลาดซ้ำจุดเดิม

อย่างในงานผู้จัดของพี่ แม่พี่จะสอนเกี่ยวกับการทำงานตลอดเลย บางคนบอกว่าพี่เชื่อคุณแม่ทุกอย่าง จริงๆ ไม่ได้เชื่อทั้งหมด สิ่งที่ดีของครอบครัวเราคือเราถกเถียงกันได้ พี่อาจจะดูเป็นเด็กที่คุณแม่สั่งอะไรได้ แต่อะไรที่มันไม่ถูกต้อง พี่ก็จะบอกว่ามันไม่ถูกต้อง มีการทะเลาะกันด้วยนะในเรื่องของการทำงาน เพราะการเห็นต่างกัน แต่สุดท้ายพอพูดกันไปเรื่อยๆ เราก็จะเลือกตรงกลางได้ว่าจะเป็นไปทิศทางไหนดี คุณแม่พี่ก็จะเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังชีวิตเราจริงๆ อีกทอดหนึ่ง

คุณแม่เป็นคนคิดนอกกรอบมาก กลับกันพี่เองค่อนข้างมีกรอบของตัวเองอยู่ แต่คุณแม่จะเป็นคนฉีกให้พี่ออกนอกกรอบ เราสองคนไม่ค่อยเหมือนกัน เลยทำให้เราสามารถทำอะไรที่หลากหลายได้ มันทำให้โลกเรากว้างขึ้น งานเรามีความใหม่ขึ้น ทำให้เราไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบของตัวเองมากเกินไป”

ทราบมาว่าคุณเป็นอาจารย์พิเศษประจำมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย เหตุใดถึงเลือกบทบาทอาชีพนี้เพิ่มเติมเข้ามาในชีวิต

“เท้าความก่อนว่าตอนพี่เรียนปริญญาเอก ค่าเทอมพี่ถูกมาก คลาสพี่มี 4 คนที่เรียนด้วยกัน แต่พี่เรียนสื่อสารฯ การเมือง แค่คนเดียว ที่เหลือเขาเรียนสื่อสารระหว่างประเทศ

พี่ได้เรียนกับศาสตราจารย์ที่ทุกคนต้องการตัว แต่ศาสตราจารย์ท่านนั่งสอนพี่แบบตัวต่อตัว 3 ชั่วโมงติดกันทั้งเทอม พี่รู้สึกว่าพี่โชคดีที่สุดแล้ว เลยคิดว่าถ้าเรามีโอกาส เราอยากตอบแทนตรงนี้ คือการที่พี่จะไปสอนตอบแทนความตั้งใจที่พี่ได้รับ ใครเชิญพี่มาพี่สอนหมด ถ้าพี่มีความรู้ที่ตรงกับเนื้อหา”

ในฐานะของผู้สอน คุณมีมุมมองอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างจากช่วงที่เป็นผู้เรียน

“ต้องบอกว่าโลกมันเปลี่ยนไป พี่เป็นอาจารย์มาตั้งแต่กำลังเรียนปริญญาโท อาจารย์เอ๊ะตอนนั้นกับอาจารย์เอ๊ะตอนนี้ก็แตกต่างกัน แต่เป้าหมายที่เหมือนกันคืออยากให้เด็กได้ความรู้ 

เชื่อไหมว่าเวลาสอนเหนื่อยยิ่งกว่าถ่ายละครอีกค่ะ เพราะเราอยากให้เขาได้ความรู้ เราใส่พลังทั้งหมดที่มีให้เด็กในคลาส บางคลาสมีเด็กร่วม 200 กว่าคน เราต้องหาวิธีว่าทำยังไงให้เด็กรู้สึกสนุก มันเหนื่อยยิ่งกว่างานโชว์ตัวบางงานที่อาจจะแค่ใส่พลังที่มีไป แต่งานนี้มันความยาว 3 ชั่วโมง

สมัยก่อนพี่ตะลุยสอนคนเดียวเลย one man show 3 ชั่วโมง ทุกวันนี้พี่ให้เด็กมีส่วนร่วม ให้เขารู้สึกว่าเขาทำได้ Cheer Up เขา ให้เขาทำได้และทำต่อไป มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนเราทุกคนมีความรู้อยู่แล้ว แต่เราต้องขุดมันออกมาให้ได้ พี่จะพยายามเชียร์นักศึกษา แต่ในมุมหนึ่งพี่แค่ไกด์ ให้เขาไปหาข้อมูลต่อ เพราะพี่เชื่อว่าถ้าเราสอนอย่างเดียว มันจะเป็นแค่การจดจำ แต่ถ้าพี่ไกด์ว่าลองไปหาข้อมูลนะ เด็กได้ไปดูเอง เขาจะได้ความรู้มากกว่าที่พี่สอน ปัจจุบันพี่จะใช้วิธีแบบนี้เพราะมันเหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้ แล้วเด็กก็จะได้ความรู้จริงๆ”

นอกจากการสอนนักศึกษา คุณเรียนรู้อะไรจากการสอนนักศึกษาในยุคนี้บ้าง

“เชื่อไหมว่าอย่างไอเดียการทำละคร หรือหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกันก็ได้มาจากนักศึกษา บางครั้งเราสอนวิชาละคร ไอเดียของเด็กเป็นไอเดียที่ดูถูกไม่ได้เลย มันบรรเจิดมาก มันฟุ้งมาก แต่ฟุ้งไม่ได้แปลว่าไม่ดีนะ เวลานักศึกษาพูดอะไรมาสักสิบอย่าง แค่เราหยิบมาหนึ่งอย่างแล้วเอาไปใช้ได้จริง หนึ่งอย่างนั้นจะเป็นอะไรที่มีคุณค่ามาก

ทางฝั่งคนทำงานแบบเรามีปัญหาครอบอยู่หนึ่งเรื่องคือ เราก็จะคิดแค่ในกรอบ แต่เด็กเขาไม่เคยทำงานเขาก็จะคิดอะไรได้เยอะ ความฟุ้งของเขาบางครั้งมันใช้งานได้จริง มันมีประโยชน์ มีความสดใหม่ มันเป็นเป้าหมายบางอย่างของเราคือทำให้งานมัน mass ไม่เฉพาะผู้ใหญ่ ไม่เฉพาะเด็ก จะทำงานให้ถูกตลาดผู้ใหญ่ต้องถามผู้ใหญ่ จะทำงานให้ถูกตลาดเด็กต้องถามเด็ก ในมุมนั้นเขาสอนเรา เขาทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราคิดไม่ได้ถูกต้องเสมอไป เหนือสิ่งอื่นใดทำให้พี่ยอมรับในความคิดของคนทุกคน ไม่ใช่ว่านักศึกษาตอบมาแบบนี้แล้วจะผิดทันที หลังจากผ่านเวลาไปมันอาจจะถูกก็ได้ เมื่ออยู่ในวัยของเขา หรือยุคของเขา เราแค่ไกด์ว่า “โอเค หนูอายุเท่านี้ หนูจะมองแบบนี้ แล้วถ้าอาจารย์ถามกลับกันในสถานการณ์แบบนี้ คนที่เขาอายุเท่านี้เขาคิดยังไง” ให้เด็กเขาตอบ อันนี้เป็นสิ่งที่เราถ่ายทอดความรู้ให้เขา แต่เขาก็ทำให้เราฉุกคิดอะไรได้หลายอย่างมากๆ การสอนมันเปิดโลกของเราด้วย ไม่ใช่แค่เปิดโลกของเด็ก มันทำให้เรารู้ว่าตอนนี้โลกมันไปถึงไหนแล้ว”

ตั้งแต่ได้รับตำแหน่ง Miss Motor Show จนถึงตอนนี้ที่ได้รับบทบาทมากมายทั้งใน และนอกวงการบันเทิง คุณเรียนรู้อะไรจากการทำงานตรงนี้บ้าง

“พี่เชื่อว่าคุณค่าของพี่ เกิดจากการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมาในชีวิตพี่เลย หลายคนคงเคยเห็นว่านักแสดงหลายคนเข้ามาแล้วก็ไป บางคนมีข่าวเยอะมาก แต่ทำไมยังยืนหยัดอยู่ได้ เพราะเหนือสิ่งอื่นใดคือ งานที่เขารับผิดชอบอยู่มันดี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้างานเขาดีเขาจะยังคงมีงานต่อ

มันคือสิ่งที่ทำให้พี่เป็นคนจริงจังในการทำงาน ถ้าพี่ไม่พร้อมพี่ไม่รับงานนั้น ถ้าพี่รับแล้วถึงแม้ว่าจะไม่อยากรับ แต่พี่จะทำงานนั้นให้ออกมาดีที่สุด เพราะคนจะเห็นพี่เห็นจากผลงาน  งานจะสะท้อนความเป็นตัวตนเราในแง่มุมที่หลากหลาย งานบางงานทำให้คนเห็นเสน่ห์ของเราที่อาจจะไม่เคยเห็นเลยในงานอื่นๆ และมันก็ถูกทำให้คนรับรู้ตัวตนนั้นของเราที่ถ่ายทอดออกมาสู่ผลงานได้ เพราะฉะนั้นในทุกๆ งาน และทุกๆ บทบาทที่ได้รับ พี่พยายามทำผลงานให้ดีที่สุดเพราะพี่เชื่อว่าค่าของคนอยู่ที่ผลของงานจริงๆ”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า