ประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นกรณีของ “เบียร์ เดอะวอยซ์” ศิลปินสาว ที่โดนมือดีเอาคลิปส่วนตัวมาปล่อยว่อนทั่วโลกออนไลน์ ก่อนที่ชาวเน็ตจะกรูกันเข้ามา “ขอวาร์ปหน่อย” อย่างถล่มทลาย พร้อมกับข้อความแสดงความคิดเห็นในเชิงคุกคามและกล่าวโทษนักร้องสาว จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงบนโลก X (ชื่อเดิมคือ Twitter) ถึงกับมีแฮชแท็กที่คนเข้าไปถกเถียง ฟาดฟัน และด่าทอกันอย่างดุเดือด
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุการณ์ภาพหรือคลิปหลุดคนดังถูกปล่อยบนโลกอินเทอร์เน็ต และทุกครั้งก็จะมาพร้อมกับปรากฏการณ์ “ขอวาร์ปหน่อย” ที่คนบางกลุ่มสามารถมีความสุขบนความทุกข์ทรมานของเหยื่อที่ถูกคุกคาม จนลืมไปว่าความสนุกปากเพียงชั่วครูของตัวเอง คือชีวิตของคนๆ หนึ่งที่กำลังปวดร้าวและแหลกสลาย
The Modernist ชวนทุกคนมองลึกลงไปกว่าการ “ขอวาร์ป” ที่ไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว และวิพากษ์ประเด็นร้อนที่สะท้อนให้เห็น “วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่” ที่ครอบงำความคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม
“แล้วแกจะถ่ายทำไมตั้งแต่แรก?”
นี่คือคำถามที่เห็นบ่อยๆ ในพื้นที่แสดงความคิดเห็นของโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม เวลามีคลิปหรือภาพ “ส่วนตัว” ของใครก็ตามหลุดรั่วออกมา และไม่ว่าจะมีกรณีนี้เกิดขึ้นกี่ครั้ง คนมากมายออกมารณรงค์ให้เลิกพูดสักเท่าไร ก็ยังมีให้เห็นผ่านตา จนเป็นเหมือน default ของชาวเน็ตเวลามีประเด็นแบบนี้เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นพฤติกรรม “การกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming)” ที่ยังคงฝังรากลึกอยู่ในชุดความคิดของคนในสังคม และเป็นการ “ซ้ำเติม” ผู้ถูกกระทำ ตอกย้ำบาดแผลที่เจ็บเจียนตายอยู่แล้ว นับตั้งแต่คลิปส่วนตัวหลุดออกมา
แน่นอนว่าทุกคนมีสิทธิตั้งคำถามและสงสัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ถ้าลองหยุดคิดพิจารณากับตัวเอง ก่อนจะตัดสินใจพิมพ์ข้อความแล้วกดส่งให้คนทั้งโลกได้เห็น ก็อาจจะตระหนักได้ว่า เขาจะถ่ายหรือไม่ เขาจะยินยอมพร้อมใจให้ถ่ายคลิปอย่างไร ก็ไม่เท่ากับเขายินยอมให้นำคลิปหรือภาพเหล่านั้นมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน แล้วเราก็ไม่มีสิทธิไปขอดูอะไรที่เป็นของส่วนตัวที่เขาไม่อยากให้ดูด้วย ดังนั้น เวลามีคลิปหลุดอะไรแบบนี้ออกมา ก็ไม่น่าจะใช่ “หน้าที่” ของ “คนนอก” อย่างเราที่จะไปตั้งคำถามกับผู้เสียหาย แต่ควรตั้งคำถามกับคนปล่อยคลิปมากกว่า ว่าไม่รู้สึก “ละอายใจ” บ้างหรือที่ไปละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของคนอื่นแบบนี้
และถ้ายังพอมีเวลาเหลืออีกนิด ก็ลองตั้งคำถามหรือสงสัยในตัวเองด้วยก็ดี ว่าที่เราไปกล่าวโทษเหยื่อแบบนี้ อาจจะเกิดจาก “กรอบความเชื่อ” ที่ถูกหล่อหลอมมาอย่างยาวนานจากวัฒนธรรมในสังคมหรือเปล่า
แล้วเธอเป็น… หญิงดีหรือหญิงเลว?
การกล่าวโทษเหยื่อเป็นผลมาจากการจัดกรอบ “หญิงดี – หญิงเลว” ซึ่งเป็นผลผลิตของระบบความคิดแบบ “ชายเป็นใหญ่” ที่กำหนดคุณค่าของผู้หญิงจากการกระทำและพฤติกรรมของผู้หญิงคนนั้น “หญิงที่ดี” ต้องรักนวลสงวนตัว รู้จักวางตัวให้เหมาะสม จิตใจดี เรียบร้อย ไม่แต่งตัวโป๊ ไม่เปลี่ยนแฟนบ่อย ทว่า “เบียร์ เดอะวอยซ์” ถูกจัดวางให้อยู่ตรงข้ามกับคุณค่าความเป็นหญิงที่สังคมยกย่องเชิดชูอย่างสิ้นเชิง ชื่อของเธอมักจะถูกพ่วงด้วยคำว่า “สาวเซ็กซี่” และมีข่าวเรื่องความรักวนเวียนมาให้เห็นตามหน้าข่าวซุบซิบดาราของบ้านเรา จนเบียร์กลายเป็น “เป้าหมาย” ให้ชาวเน็ตพูดจาสองแง่สองง่ามและคุกคามมาอย่างยาวนาน
ในสังคมที่ไม่เคยพิจารณาว่า “เกิดอะไรขึ้น” เมื่อเป็นเหตุการณ์เรื่องเพศ แต่จะดูก่อนว่า “เป็นใคร” จึงทำให้กรณีคลิปหลุดของเบียร์กลายเป็น “เรื่องสนุกสนาน” ที่ชาวเน็ตพร้อมใจกันสาดข้อความเลวร้ายทำลายจิตใจของผู้เสียหาย ถือเป็นเรื่องบันเทิงอีกเรื่องหนึ่งที่ผ่านเข้ามาแล้วก็จะผ่านไป เป็นเรื่อง “ขำๆ แซวเล่นๆ อย่าคิดมาก” และเมื่อสังคมมองว่าเบียร์คือสาวเซ็กซี่ที่สามารถแสดงความคิดเห็นแทะโลมได้อย่างเปิดเผย เธอจึงไม่ได้รับความเห็นใจจาก “ชายแทร่” (และหญิงแทร่) ทั้งหลายที่เข้ามาขอวาร์ปกันอย่างน่าไม่อาย
“ก็อยากตั้งกล้องถ่ายเอง แถมเป็นสาวเซ็กซี่ เปลี่ยนแฟนบ่อยแบบนี้ ก็ขอวาร์ปได้แบบไม่ต้องอายเลยแล้วกัน” และนี่คือภาพสะท้อนของ “สังคมชายเป็นใหญ่” ที่จริงแท้และชัดเจนมากที่สุด
“ชายเป็นใหญ่” ไม่ใช่คำด่ามนุษย์เพศชาย (แค่เพศเดียว)
กรณีของเบียร์ เดอะวอยซ์ในครั้งนี้ ตอกย้ำความเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ที่ยัง “แข็งแรง” มากๆ ของสังคมไทย ผ่านพฤติกรรมการกล่าวโทษเหยื่อ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของ “ค่านิยมหญิงดี – หญิงเลว” ที่จัดกรอบผู้หญิง เพื่อให้การทำงานของระบบชายเป็นใหญ่เป็นไปได้ง่าย และโลกโซเชียลมีเดียก็สะท้อนการทำงานของระบบชายเป็นใหญ่นี้ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี เวลาที่ชาวเน็ตสักคนจะหยิบยกคำว่า “ชายเป็นใหญ่” มาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เราก็จะเห็นมนุษย์ “เพศชาย” หลายคนออกมาตีอกชกหัวตัวเอง โกรธแค้นและฟาดฟัดชาวเน็ตคนนั้นอย่างรุนแรง จนไม่แน่ใจว่ามนุษย์เพศชายเหล่านั้นเข้าใจคำว่า “ชายเป็นใหญ่” มากน้อยแค่ไหน หรือเพียงเพราะมันมีคำว่า “ชาย” อยู่ในชื่อ ก็เลยรับไม่ได้ แบบนั้นหรือเปล่า?
แน่นอนว่า “สังคมชายเป็นใหญ่” มีความแตกต่างกันออกไปตามบริบทพื้นที่ วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา และศาสนา แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมชายเป็นใหญ่มีร่วมกันคือ “เป็นสังคมที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง” และถึงแม้จะมีคำว่า “ชาย” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ชายก็เกิดมาพร้อม “พรีวิเลจ” บางอย่างที่เหนือกว่าผู้หญิง ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีแค่ผู้ชายเท่านั้นมีโอบรับเอาค่านิยมชายเป็นใหญ่มาใช้ เพราะผู้หญิงเองก็รับเอาค่านิยมดังกล่าวมาให้กำหนดบทบาทหน้าที่ของตัวเองและของ “ผู้หญิงคนอื่น” ด้วยเช่นกัน เลยกลายเป็นว่า เราเห็นผู้หญิงจำนวนหนึ่งร่วมขอวาร์ปและสนุกสนานไปกับการประณามหยามเหยียดเบียร์ เดอะวอยซ์ เพราะ “เธอไม่ทำตัวตามครรลองที่ผู้หญิงดีควรทำยังไงล่ะ!”
เราทุกคนล้วนถูกครอบงำด้วยค่านิยมชายเป็นใหญ่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเราคือสมาชิกของสังคมที่ค่านิยมดังกล่าวยังคงฝังรากลึก แต่แน่นอนว่าเวลาเปลี่ยน ความคิดและความเชื่อของคนในสังคมก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ผู้ชายหลายคนอาจจะบอกว่า “ผู้หญิงผู้ชายเท่าเทียมกันหมดแล้ว!” และ “เราก็ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เบียร์ต้องเจอ” ซึ่งถ้าคุณคิดแบบนั้นหรือไม่ได้มีพฤติกรรมเข้าข่ายสิ่งที่ชาวเน็ตเขานิยามให้เป็น “ชายแท้” ก็อย่าได้ร้อนตัว จนต้องออกมาโจมตีคนอื่นอย่างรุนแรง และถ้าคุณเข้าใจความหมายของคำว่า “ชายเป็นใหญ่” และเข้าใจว่าคนทุกเพศล้วนเป็นเหยื่อของค่านิยมนี้ ก็มาช่วยกันถอนรากถอนโคนเจ้าสิ่งนี้ที่มันกดทับเราให้หายไปจากสังคมนี้กันเถอะ
เว้นเสียแต่ว่าคุณจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นในกรณีนั้น คุณก็คงต้องสู้รบกับเฟมินิสต์และโลกที่กำลังก้าวไปข้างหน้าไปอีกนาน สู้ๆ นะ!!
เรื่อง : ณัฐฐฐิติ คำมูล