หลังจากอินสตาแกรมสตอรีของ แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ลูกชายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่แสดงความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมืองออกมา 9 ข้อ ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเพียง 2 วัน ก็ได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายในทันที
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเกิดความสงสัยมากที่สุดคงหนีไม่พ้นว่าอินสตาแกรมสตอรีดังกล่าวนั้นต้องการจะสื่อถึงอะไรในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเช่นนี้

The Modernist เป็นเพจที่เชื่อในความหลากหลายทางการแสดงออก ความหลากหลายทางความคิดเห็น กองบรรณาธิการจึงได้พิจารณาและแสดงความคิดเห็นอย่างมีหลักการ รวมถึงชวนตั้งคำถามต่อเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปพร้อมกัน
• “ไม่มีทางแก้ไขมาตรา 272 ได้”
มาตรา 272 เป็นกฎหมายที่ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หลายๆพรรคการเมืองมีการหาเสียงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญหลังการโหวตนายกรัฐมนตรี แม้กระทั่ง ส.ว. หลายคนก็งดออกเสียง และบอกว่าอยากตัดอำนาจตัวเอง
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่พรรคก้าวไกลจะลองเสนอให้แก้ไขมาตรา 272 ตามที่นักการเมืองในระบบรัฐสภาที่ได้เสียงจากประชาชนจะเห็นด้วยตามการแก้ไขครั้งนี้ หรือแม้กระทั่งในภาคประชาชนที่ก็เกิดความรู้สึกว่าอยากจะแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ปฏิกิริยานักการเมืองในสภาจะเป็นแบบใด เพราะอยากรู้ เลยต้องลองเสนอแก้ไขมาตรา 272
• “ไม่มีทางแก้กฎหมายที่หลายคนเห็นต่าง”
‘สภา’ ความหมายของคำนี้แปลว่า ‘สถานที่ที่ใช้ถกเถียง’ ดังนั้นจึงหมายความว่า กฎหมายทุกข้อสามารถนำไปถกเถียงในสภาได้ เพื่อให้เห็นถึงเหตุผลในการแก้ไขและถกเถียงถึงปัญหาของข้อกฎหมายบางอย่างที่อาจไม่ทันยุคทันสมัย หรืออาจสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
ดังนั้น การตั้งหลักความเชื่อไว้ก่อนว่า ‘กฎหมายบางมาตรา เป็นกฎหมายที่ไม่สามารถแก้ไขได้’ อาจไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องนัก การทำให้เกิดข้อถกเถียงในสภา น่าจะเป็นการเสนอความคิดและการพูดคุยได้ดีที่สุด เพราะประชาชนได้เข้าใจ ได้รับฟังข้อเสนอทั้ง 2 ด้าน และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยแบบสากล
• “พิธาจะไม่มีวันเป็นนายกรัฐมนตรีได้”
เมื่อเกิดมุมมองที่ว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ อาจเท่ากับว่าผู้เขียนกำลังดูถูกเสียงของประชาชน ‘ส่วนใหญ่’ ที่เลือกพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาล
ที่สำคัญกว่านั้น ยังแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนคาดว่าพิธาที่อาจไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนี้ อาจรอได้ แต่ในครั้งถัดไปจะได้เสียงถล่มทลายแล้วจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้งหรือเปล่า
• “หากก้าวไกลยังคงฝืนส่งแคนดิเดตนายกฯ ก็จะไม่มีวันชนะ”
หากการบอกว่าถ้าก้าวไกลพยายามฝืนส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อไป ไม่ว่าอย่างไรก็จะไม่มีวันชนะ อีกแง่หนึ่งเราอาจต้องมองไปยังความชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ ความชัดเจนของพรรคก้าวไกลที่เล่นตามกฎกติกา และชัยชนะที่พรรคก้าวไกลได้จากการเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่พรรคอันดับหนึ่งจะสามารถส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของตัวเองขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว
การเลือกตั้งที่ผ่านมาถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เป็นเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการเห็นพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะก้าวไกลเป็นพรรคที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นอันดับ 1 และ ส.ส.เขต จำนวนมาก จึงยิ่งแปลกเข้าไปใหญ่ที่พรรคซึ่งชนะการเลือกตั้ง จะไม่สามารถส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของตนเองในรัฐสภา และจะแปลกมากถ้าพรรคก้าวไกลยอมใส่พานมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับพรรคอื่น โดยที่ไม่พยายามต่อสู้หรือยืนหยัดตามมติของประชาชน
• ‘ส้ม’ และ ‘แดง’ ต่างกันแค่ 10 เสียง
ในประเด็นนี้ อาจไม่ต้องเขียนอะไรให้มากมาย แต่อยากชวนให้ผู้อ่านทุกคนตั้งคำถามไปพร้อมกันว่า 10 เสียงในสภาที่ผู้เขียนบอกว่าห่างกันเพียงนิดเดียว นั้นคือเสียงของประชาชนกว่า 3 ล้านเสียง เท่ากับว่านี่คือการลดทอน ‘เสียง’ ของประชาชนทั่วประเทศที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 หรือเปล่า
• ชัยชนะของไทยรักไทย 65% เมื่อปี 2548
หากมองประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะพบว่าการที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2548 เป็นการรวมกลุ่มการเมืองหลายมุ้ง พรรคการเมืองหลายพรรคเข้าด้วยกัน จึงไม่อาจบอกได้ว่าชนะด้วยอุดมการณ์ของพรรคไทยรักไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว นี่จึงเป็นความตื้นเขินทางการเมืองที่ไม่อาจปฏิเสธได้
• “Gender Ideology และ Woke ที่ไร้สาระ”
หรือผู้เขียนกำลังจะบอกว่าประเด็นเรื่องเพศต้องรอไปก่อน?
วลีดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้บ่อยในสังคมไทย เมื่อประเด็นเรื่องเพศ เฟมินิสต์ ความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) และประเด็นอื่นใดเกี่ยวกับเรื่องเพศ มักถูกพูดถึงว่าเป็นเรื่องรอง เป็นสิ่งที่สามารถรอไปก่อน เป็นสิ่งที่ไม่ต้องรีบร้อน เพราะว่าในสังคมไทยยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่จะต้องเร่งจัดการและแก้ปัญหา
แต่คำถามที่อยากจะชวนให้ผู้อ่านทุกคนขบคิดคือ รัฐบาลที่จะบริหารประเทศ ไม่สามารถขับเคลื่อนปัญหาต่างๆ ของพี่น้องประชาชนไปพร้อมกันได้เลยหรือ?
ประโยคที่ว่า “gender ideology and woke performative bullshit” นั้นสร้างความสับสนงงงวยให้กับเราอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างง่ายๆ จากการที่ผู้เขียนข้อความดังกล่าวนำเรื่องราวของเศรษฐกิจ นายทุน ปากท้องของพี่น้องเกษตร มารวมอยู่ในหมวดเดียวกับประเด็นทางเพศ แล้วบอกว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งไร้สาระ
ที่จะต้องถามอีกครั้งว่าเราจะสามารถล่วงรู้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้อย่างไร ว่าเกษตรกรไม่ได้อยากได้การผลักดันเรื่อง Gender Ideology เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพี่น้องแรงงานจำนวนมากไม่ได้กำลังถูกประเด็นทางเพศกดทับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เราจะรู้แน่ชัดได้อย่างไรว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศไทย ไม่ได้ถูกคุกคาม ถูกล่วงละเมิด ถูกลิดรอนสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ ถูกทำให้ตายด้วยประเด็นทางเพศ
ตัวเลขการเสียชีวิตของหญิงสาวที่ถูกข่มขืน ตัวเลขเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกายเพราะอคติทางเพศ ตัวเลขความรุนแรงในครอบครัวจากปัญหาเรื่องเพศ ตัวเลขเด็กและเยาวชนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ คือสถิติที่ใครๆ ก็สามารถหาอ่านได้ตามอินเทอร์เน็ต ทำให้เห็นว่าสังคมไทยนั้นยังเต็มไปด้วยความรุนแรง
ถ้ามองออกจากสถิติจำนวนมาก เราจะเห็นได้ว่านอกเหนือจากความรุนแรง ประเด็นเรื่องการเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny) และผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Homophobia) ที่หากไม่ได้มองแค่สถิติ เพียงแค่ตั้งใจมองในวงสังคมใกล้ตัว หลายครั้งเราอาจได้เห็นการกดทับที่ว่าอยู่ตลอดเวลา ที่เราคงไม่สามารถพูดได้เต็มบอกว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระและไม่จำเป็น
แล้วทำไมถึงยังมองว่า “gender ideology and woke performative bullshit”
• ไม่มีใครอยากให้คุณได้อำนาจ มีแค่เด็กเกเรเอาแต่ใจเท่านั้น
จากการกล่าวว่ามีแค่เด็กเอาแต่ใจสนับสนุนพรรคก้าวไกลนั้น อาจสมาทานได้ว่าผู้เขียนกำลังมองอย่างขาดหลักการและขาดวุฒิภาวะที่มีต่อการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะเราสามารถเห็นได้ว่า ผู้คนที่เดินเข้าคูหาเพื่อกาพรรคก้าวไกลนั้นไม่ได้มีเพียงแค่คนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ผู้คนหลากหลายช่วงวัย ก็มองว่านโยบายจำนวนมากของพรรคที่ได้ชัยชนะอันดับหนึ่งนั้นตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘เด็กเอาแต่ใจ’ สุดท้ายก็คือกลุ่มคนที่มีเสียงข้างมากในสังคมไทยอยู่ดี
• พรรคการเมืองอายุ 2 ปี และ 5 ปีที่ผ่านมาไม่มีผลงาน ซ้ำร้ายแกนนำพรรคยังถูกตัดสิทธิ์
หากมองว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ไม่มีผลงานใดๆ ที่สามารถจับต้องได้เลย ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ก้าวไกลไม่ใช่รัฐบาล และได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของประชาชน ทั้งการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น ประเด็นเรื่องตั๋วช้าง บ้านพักหลวง ส่วยประเภทต่างๆ สมรสเท่าเทียม ทุนสีเทา การตัดลดงบสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ตลอดจนการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐและกองทัพ ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นผลงานเลยแม้แต่น้อยจริงหรือ
หากมองในมุมตรงกันข้าม ก็จะเกิดคำถามซ้ำอีกว่าถ้าพรรคก้าวไกลไม่มีนโยบายเพื่อประชาชน แล้วอยู่เฉยๆ โดยไม่สร้างผลงาน ก็คงไม่สามารถซื้อใจให้ประชาชนเลือกมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งหรือเปล่า
เรื่อง: กองบรรณาธิการ The Modernist