fbpx

เอ อภินันท์ ธีระนันทกุล : ผู้ที่เกิดมาเพื่อเป็น “นักพากย์”

“เอ อภินันท์ ธีระนันทกุล” ชื่อนี้ใครหลายคนอาจจะไม่ได้คุ้นเคยมากนัก แต่ถ้าหากบอกว่าเขาคือคนพากย์เสียงให้กับหลายตัวละคร ไม่ว่าจะเป็น “แอล” Death Note หรือการ์ตูนอย่าง Frozen และราพันเซล คุณคงอาจจะคุ้นเสียงมากขึ้น และในวันนี้เขากำลังมาพากย์ให้กับอนิเมะที่เขาเคยพากย์ให้เมื่อครั้งแรกที่ฉาย (และแน่นอน มันนานมาแล้ว) นั่นก็คือ Sword Art Online Progressive: Aria of a Starless Night นั่นเอง

วันนี้ เราจะพามาทำคามรู้จักให้มากขึ้น ทั้งเรื่องราวและชีวิตของเขา ตลอดจนความฝันและการปรับตัวสู่นักพากย์ในวันนี้ รวมไปถึงการได้มาพากย์ในเรื่องนี้อีกครั้งว่าความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง? ลองเปิดอ่านดู แล้วคุณจะรักเขามากขึ้นครับ


มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ก้าวแรกสู่วงการนักพากย์

เข้ามาสู่วงการพากย์เสียงได้อย่างไร

ชีวิตผมเริ่มมาจากใช้เสียงมาตลอด ตอนเด็กชอบร้องเพลงเล่นๆ ก๊อปปี้เสียงนักร้อง คิดว่านักร้องคนนี้ต้องเสียงแบบนี้ ก็พยายามทำเสียงให้เหมือนเขา เพราะคิดว่าจะได้เข้ากับเพลง ทีนี้พอเริ่มต้นทำงาน บังเอิญว่าทำงานเร็ว เพราะว่าเรียนครึ่งวัน มีเวลาเหลืออีกครึ่งวัน ก็เลยเปิดวิทยุเจอว่ารับสมัครผู้ช่วยดีเจ หน้าที่คือรับโทรศัพท์ หาแผ่นซีดี ก็ไปสมัครเพราะอยากไปทำงานที่เราฝันในทุกวันคือวิทยุ ก็ขยับไปเป็นผู้ประกาศข่าววิทยุตอนอายุ 18 ปี และถือเป็นช่วงเวลาที่เป็นโอกาสที่ดีครับ พอดีว่าพี่ที่ทำ Parttime เขาลาออก ผมก็เลยขอพี่เขาว่าผมอยากอ่านข่าวได้ไหมครับ พี่หัวหน้าฝ่ายข่าวบอกว่า ได้เลย เอมีเนื้อเสียงที่น่าเชื่อถือ เพราะว่าคนอ่านข่าวต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือ ผมอายุ 18 ปี แต่ว่ามีเสียงเบส โทนต่ำ ๆ เวลาพูดธรรมดาก็จะดูมีความน่าเชื่อถือ เขาก็เลยฝึกจนก็ได้มาอ่านข่าว และได้เป็นดีเจวิทยุจริง ๆ เราเข้าวิทยุเพราะอยากเป็นดีเจวิทยุ

แต่แปลกว่าทุกครั้งเวลาผมทำเดโมส่งทางสถานีวิทยุที่ผมทำงานอยู่ ทางผู้บริหารเจ้าของรายการ พี่หนุ่ย-ชาติชาย คำดี แกจะบอกเสมอว่าผมยังหาตัวเองไม่เจอ เช่น นอกจากเสียงแล้ว ต้องมีวิธีการนำเสนอ เทคนิคการพูดเป็นแบบฉบับของเราเอง แต่เขากลับบอกว่าผมยังหาตัวเองไม่เจอ ตอนนั้นผมก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร เช่น ผมไปฟังดีเจคนหนึ่ง ผมจัดออกมาเป็นดีเจคนนั้น เปลี่ยนไปปุ๊บ อีกสถานี จะเป็นอีกคนหนึ่ง ตอนนั้นผมงงว่าทำไมตอนนั้นเรายังหาตัวเองไม่เจอ จนเปลี่ยนจากดีเจวิทยุ เคยจัดทั้งเพลงหลากหลาย ซึ่งก็มีทำให้กับวง BSO ซึ่งเราไม่เคยเลย ก็มีโอกาสได้ลองทำดู คือจะบอกว่าที่เล่ามาทั้งหมด ที่หาตัวเองไม่เจอจากการเป็นดีเจ ที่ผมสามารถร้องเพลงเลียนแบบได้นี่ คือผมมีทักษะในการเลียนแบบ

พอไม่ได้ทำวิทยุ เพื่อนก็ชวนไปทำการตลาดแห่งหนึ่ง ทำได้ประมาณ 6 เดือน ถามว่าชอบไหม เราก็แค่ยังหาตัวเองไม่เจอครับ เป็นช่วงที่รู้สึกว่าทำอะไรไปก่อนแล้วกัน วันหนึ่งไปซื้อหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตผม ชื่อนิตยสารว่า Hamburger คือกลางนิตยสารเล่มนี้เปิดมาเป็นหน้าตาของทีมพากย์พันธมิตรทั้งหมด มีพี่ๆ ทุกคน หนังจีน หนังเกาหลีที่เราเคยดูในยุคนั้น เราเห็นแล้วว่าคนนี้คือคนพากย์พระเอก นางเอก แล้วก็บังเอิญเจอคนหนึ่ง เป็นเพื่อนที่เคยอยู่คลื่นวิทยุที่เป็นเครือเดียวกัน เขาเป็นนักพากย์ฝึกหัดที่พันธมิตร คือ คุณยุ่ง-นิรมล ผมก็ติดต่อไปว่าเราอยากเป็นนักพากย์ต้องทำยังไง เขาก็บอกว่าเขาไปเรียนกับสมาคมนักพากย์แห่งประเทศไทย ซึ่งกำลังจะเปิดคอร์สพอดี ค่าเรียนตอนนั้นคือ 5,000 บาทครับ เรียนทั้งหมด 8 วัน ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น มีคนเรียนทั้งหมด 60 คน ผู้หญิงจะเยอะกว่าผู้ชายด้วย ผู้ชายแค่ 10 คน ผู้หญิง 50 คน เพราะฉะนั้นผู้ชายเวลาเรียนจะวนหลายรอบมาก เราเจอรุ่นพี่ซีเนียร์ที่เขามา ช่วยสอน เขาก็ถามว่า เอสนใจไปลองเทสต์เสียงกับทางสตูฯ ไหม กำลังรับสมัครนักพากย์ใหม่ๆ อยู่ ก็ได้ไปเทสต์กับนักพากย์กับทางสตูฯ นั้น เป็นพี่ม็อกกับพี่ภิญโญ ซึ่งเป็นคนพากย์เสียงอิคคิวซังกับชินเนมอนซัง หลังจากนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกพากย์

การพากย์เสียงไม่ได้อยู่ในความคิดของเราเลยใช่ไหม

เอาจริงๆ ด้วยความที่โลกสมัยก่อนเป็นโลกปิด ไม่เหมือนโลกสมัยนี้ เรารู้แค่ว่าเราชอบดูการ์ตูนจากน้าต๋อย เซมเบ้ การ์ตูนช่อง 9 ช่วงเช้าเสาร์-อาทิตย์ เราต้องตื่นมาดู เพราะยุคนั้นจะไม่มีเสียงต้นฉบับแน่ ๆ มีแต่เสียงพากย์ไทย หรือแม้กระทั่งตอนเย็นในช่องนั้นช่องนี้ก็ตาม เราก็เป็นคนชอบดูการ์ตูน ผมชอบขนาดที่ว่าผมซื้อหนังสือการ์ตูนมาเยอะมาก จนแม่เอาไปทิ้งล่ะ

แม้กระทั่งตอนที่ผมอ่านการ์ตูน ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นนักพากย์ ด้วยความที่เราชอบดูการ์ตูนพากย์ไทย ดูคนโน้นคนนี้พากย์ มีอยู่วันหนึ่งก็พากย์เสียงขึ้นมา เปิดหนังสือการ์ตูนเล่มนั้นขึ้นมา เป็นหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับพวกต่อสู้ คล้ายๆ สามก๊ก ก็พากย์เป็นตัวนั้นตัวนี้ในหนังสือการ์ตูนเล่มนั้นครับ ในขณะที่ผมกำลังพากย์อยู่ บังเอิญว่าแม่เดินขึ้นมา แล้วเขาก็ถามผมว่าเมื่อกี้พูดกับใคร (หัวเราะ) ผมบอกไม่ได้พูดกับใคร กำลังพากย์อยู่ เขาก็นึกว่าเราบ้าไปแล้ว ซึ่งในชีวิตที่บังเอิญว่าเราเกิดมาจากความชอบการ์ตูน เราอยากเป็นคนที่นำเสนอเสียงเราไปในการ์ตูนบ้าง อยากเป็นตัวการ์ตูนตัวนั้นตัวนี้บ้าง เราไม่เคยคิดเลยนะ ไม่รู้เลยว่าอาชีพนักพากย์คืออะไร รู้แต่ว่าน้าต๋อยเป็นนักพากย์ รู้ว่าเขาให้เสียงตัวละครตัวนี้ แต่ว่ามันไกลเกินเอื้อมมากที่เราจะไปอยู่ตรงนั้นได้ จนกระทั่งวันหนึ่งที่เห็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา อาชีพนักพากย์ที่เรามองว่ามันไกล มันมาอยู่ในมือเราที่จะสามารถเชื่อมต่อไปหาอาชีพนี้ได้

ความเป็นไปได้ตอนนั้นคืออะไร

มันมีความหวังขึ้นมาว่าการจะเป็นนักพากย์ สมัยก่อนไม่รู้ไงว่าทีมพากย์นี้อยู่ตรงไหน สตูดิโอนี้อยู่ตรงไหน เราหาไม่เจอ แต่พอมีหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา (Hamburger) มันเหมือนมีแสงขึ้นมาเลยว่าจะต้องไปเรียนก่อนเพื่อเป็นพื้นฐานในการใช้เสียงให้รู้จักว่าการพากย์เป็นยังไง ตอนแรกในหัวเราแบลงก์มากว่าเขามีขั้นตอนการทำงานยังไง การให้เสียงตัวละครตัวนี้มันจะเป็นยังไง เพียงแต่ว่าเรามีแค่ความกล้าจากการที่เราเคยเป็นคนทำงานหน้าไมค์มาแล้ว เราไม่กลัวไมโครโฟน เราไม่กลัวคนเพราะเคยเป็นพิธีกรและดีเจมา เราก็เลยกล้าที่จะไป กล้าที่จะปล่อยเสียงออกมาตอนที่เรียน ก็คือการทำงานหน้าไมค์เหมือนกัน แต่เรียนทักษะที่ต่างกัน พอไปเรียนเราก็เลยรู้ว่า เราพากย์ได้ คืออย่างแรกของการพากย์ก็คือพูดให้ชัด ซึ่งทักษะการพูดให้ชัดมาจากการที่อ่านข่าว เป็นดีเจ เราฝึกพูดให้ชัด คำควบกล้ำ มันมีพื้นฐานทักษะตรงนั้นอยู่ เพียงแต่ต้องมาเรียนเพิ่มในการฟังเสียง มันไม่ใช่แค่เปิดหนังมาแล้วพากย์เลย มันต้องฟังเสียงให้ได้จังหวะของตัวละครตรงนี้ อารมณ์ตรงนี้คืออะไร ก็จะมีอาจารย์คอยเทรนให้ เราเจออาชีพหนึ่งที่มันซ่อนเอาไว้อยู่ของการใช้เสียง แล้วเราก็คิดว่ามันท้าทายดี ท้าทายตรงที่ว่าจะทำยังไงให้สามารถพากย์ได้ดี เพราะตอนที่เขาสอนว่าต้องปรับตรงนั้นตรงนี้ ตรงนี้ยังนิ่งไปนะ ต้องเพิ่มหน่อยนะ เราก็คิดว่าถ้ามันทำได้ มันก็คงจะเท่มากนะ มันคงดีมากถ้าเกิดมีเสียงเราไปอยู่ในหนังที่ไปฉายในโรงภาพยนตร์นะครับ หรือในหน้าจอทีวีที่เราเคยเป็นแค่คนดู

นานไหมกว่าจะได้พากย์จริงจัง

ไม่นานหรอกครับ เขาก็แค่เหมือนให้เราจินตนาการ บทพากย์ในกระดาษใบนี้ เราจะพูดประโยคออกมาแบบไหน เพราะเขาดูแค่ว่าเสียงเป็นยังไง พูดชัดเจนไหม อารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาแต่ละประโยค จินตนาการออกมาประมาณไหน ก็พอทดสอบแล้วเขาก็บอกโอเค น้องมาเริ่มฝึกได้เลย ถามว่าคิดไหมว่าเราจะได้เลย มันก็ครึ่งหนึ่งนะ จริงๆ เราพกความตั้งใจมาเต็มร้อยล่ะ แต่เราก็ต้องเผื่อใจไว้ว่าถ้าเกิดเขาไม่เลือกเรา หรือเราไม่ตอบโจทย์เขาล่ะ แล้วจะยังไงต่อดี แต่ก็ไม่คิดอะไรมาก ไม่อยากให้เอามากดดันตัวเอง ก็ตั้งใจปล่อยเสียงพากย์ออกไป


เข้าสู่บ้านนักพากย์

สังคมนักพากย์ในเชิงการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง

ต้องบอกว่ายุคของการพากย์มันเปลี่ยนไปนะ คือในยุคที่ผมเข้ามานั้น ถ้าก่อนที่ผมเข้ามา มันจะเป็นนักพากย์แบบเป็นทีม เช่น ทีมพากย์พันธมิตร ทีมพากย์อินทรีย์ ซึ่งทีมก็คือการรวมกลุ่มกันของนักพากย์ คนนี้เป็นหัวหน้าทีมจะชวนคนนั้นคนนี้มา แล้วในยุคนั้นนักพากย์ยังไม่ได้เยอะมากสักเท่าไร ก็เรียกได้ว่าทุกคนงานล้นแน่น การพากย์ที่เป็นทีมทำให้ได้เจอกันบ่อย เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน มิตรภาพมันเกิดขึ้นมาเอง แต่พอยุคสมัยมันเปลี่ยนไป จากที่เป็นทีม มันเริ่มมีการพากย์เจาะคือพากย์คนเดียว พอมายุคนี้ มากกว่าครึ่งครับที่ทำงานคนเดียว จากการที่เราได้เจอคนเยอะๆ ได้มาเจอเพื่อน ได้ไปคุยเล่นระหว่างทำงาน พักเบรก หรือเลิกงานไปไหนกันต่อเป็นกลุ่ม ทำให้ต้องทำงานคนเดียว ซึ่งพากย์แค่ตัวละครตัวเราเอง ข้อดีก็คือเสร็จเร็ว แต่ว่าสิ่งที่ขาดไปคือความสนุกของการทำงานแบบเป็นทีมในการที่ได้เจอเพื่อน

จำวันแรกที่เข้าไปพากย์ได้ไหม

จำได้สิ คือวันนั้นผมไม่นึกว่าบทที่เอามาให้ผมเป็นตัวพระเอกเลย ซึ่งตอนนั้นเราคิดว่าที่เราเรียน เราพากย์ได้ คิดว่าน่าจะได้ ปรากฏหนังเล่นมาปุ๊บแล้วพากย์เลย พากย์ไปสัก 1 หน้า พี่ที่เป็นหัวหน้าทีมอีกคนหนึ่งก็บอกว่ายังไม่ได้ อารมณ์ยังไม่ใช่ ตอนนั้นเราไม่แน่ใจว่าอารมณ์ที่ไม่ได้คือยังไง แล้วทำยังไงถึงจะได้ แกก็บอกไม่เป็นไร ถ้างั้นลองอีกทีนึงนะ หนังก็เล่นมาแล้วลองอีกรอบ แกก็บอกยังเหมือนเดิม มันยังไม่ใช่ แกก็ห่วงว่าถ้าปล่อยหนังไป แล้วเราเพิ่งมาใหม่ๆ แล้วกระแสมันจะออกมาไม่ดีหรือเปล่า หรือว่าเดี๋ยวจะโดนคนดูด่าไหม แกก็เลยบอกว่าเดี๋ยวแกพากย์เอง แกบอกเดี๋ยวสลับบทกันนะ ตอนนั้นผมมีคำถามในใจเลยว่าแล้วพากย์เหมือนที่แกบอก พากย์ให้ได้ พากย์ให้ดี มันเป็นยังไง ผมนั่งดูแกพากย์เลยนะ ถึงบทผมเปลี่ยนไปก็จริง แต่ผมยังคงดูบทที่เป็นตัวพระเอกอยู่ แล้วก็นั่งฟังแกพากย์ แล้วผมก็ทำเครื่องหมายไว้ เสร็จตอนเที่ยง ยังมีคำถามในใจอยู่ว่า มันต้องพากย์แบบนั้น ทำยังไงดีเราถึงจะพากย์ได้ ผมบอกน้อง Sound Engineer ว่าฝากเปิดหนังให้หน่อย เปิดหน้าพระเอกตัวนี้ให้หน่อย เพื่อเอาโทรศัพท์มือถือมาถ่ายรูปกลับบ้าน กลับบ้านปุ๊บ เอาบทกลับบ้านไปด้วย ผมก็เปิดหน้าตัวละครตัวนี้ขึ้นมา แล้วผมก็จำทุกอย่าง จำเสียงที่พี่เขาพากย์ไว้ในหัว แล้วผมก็ฝึกพากย์เพื่อที่ว่าต้องทำให้ได้ ต้องทำแบบแกให้ได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุลักทุเล แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่ดีให้เราก้าวต่อไป คือถ้ามันมาง่ายๆ เราจะคิดว่ามันได้ละ แต่จริงๆ ถ้ามันยาก เราจะได้ผลักตัวเองให้ไปต่อได้

วิธีการพากย์ให้ตรงกับตัวละครคืออะไร

หลักของการทำงานทุกอย่างคือ ทำยังไงให้ดี ย้ำๆ ซ้ำๆ ทำทุกวัน วันนี้ทำไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ต้องทำได้แน่ ๆ วันพรุ่งนี้ทำไม่ได้ ผ่านไป 1 ปี ก็ต้องทำได้ เราจะจำจุดผิดพลาดที่เราทำไม่ได้ไว้ ทำยังไงล่ะ ก็แก้ไขไง พรุ่งนี้มาใหม่ ฝึกพัฒนาใหม่ เพราะฉะนั้นการฝึกทำซ้ำ มันคือคีย์ของการทำงานทุกอย่าง แม้กระทั่งงานพากย์ ย้อนกลับไปที่หัวใจสำคัญของงานพากย์ มันใช้สิ่งที่ไม่เหมือนงานอื่นนะ งานอื่นมันอาจจะแค่นำเสนอพูดคุยทั่วไป งานด้านพากย์มันใช้ทักษะประสาทสัมผัสมากกว่างานอื่น หูฟังเสียงต้นฉบับข้างหนึ่ง อีกข้างฟังเสียงไทยคือเสียงเรากับเสียงเพื่อนร่วมงาน สมองทำงานตีโจทย์ว่าบทที่กำลังอยู่ด้านหน้าเป็นอย่างไรบ้าง หนังที่เราดูเป็นยังไงบ้าง หูฟัง สมองคิด ตาดูบทกับดูหน้าจอ แล้วเปลี่ยนภาษาต้นฉบับให้เป็นภาษาไทยในตอนนั้น แล้วเปลี่ยนอารมณ์ในตอนนั้นให้เหมือนกับต้นฉบับที่สุด เพราะฉะนั้นการใช้ประสาทสัมผัสของนักพากย์มันคือการฝึกฝนเพื่อให้ทำอะไรหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน และสามารถที่จะเปลี่ยนจากเสียงต้นฉบับให้เป็นเสียงไทยในตอนนั้น

เคยพากย์เป็นตัวละครอื่นๆ พร้อมกันด้วยไหม

เรื่องปกติของนักพากย์ครับ โดยเฉพาะการพากย์ทีม คิดง่ายๆ อย่างเรื่องหนังทหาร มีตัวประกอบร้อยกว่าตัว นักพากย์มีอยู่ 6-7 คนแค่นั้น เพราะฉะนั้นคนหนึ่งต้องแบกตั้งกี่ตัว ถึงจะ 30-40 ตัวก็ต้องพากย์ครับ มันก็จะมีขั้นตอนบางอย่าง ต่อให้ตัวละครมันชนกัน เราก็แค่เปลี่ยนโทนเสียงนิดหน่อย ต้องดูก่อนว่าตัวละครเป็นแบบไหน ถ้าอะไรที่เหมือนกันแล้วมาชนกัน อันนี้ลำบากมากในการฉีกเพื่อให้ต่าง มันเป็นการเหมือนไปฝืนธรรมชาติของตัวละครเกินไป อันนี้ไม่ควร เพราะฉะนั้นคนแบ่งตัวต้องเข้าใจโจทย์นี้ก่อน จะชนได้ก็ต่อเมื่อตัวละครไม่เหมือนกัน เราถึงสามารถชนได้และเสียงจะออกมาไม่เหมือนกัน


มองออกนอกบ้านนักพากย์

ถ้ามองตลาดปัจจุบัน ถือว่าตัวนักพากย์ขาดแคลนไหม

ไม่ขาดแคลน ด้วยความที่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไป หนังกลายเป็นย้ายไปอยู่ใน Netflix หรือในออนไลน์ จำนวนหนังกับนักพากย์ก็เปลี่ยนไป สมัยก่อนการจะเสาะแสวงหาเป็นนักพากย์ คือไม่รู้ว่าทีมพากย์อยู่ไหน นักพากย์แต่ละคนกว่าจะเกิด ใช้เวลา ในขณะที่ในยุคนี้ ทุกอย่างเชื่อมโยงหากัน แค่มีความอยากจะพากย์หนัง คลิกเข้าไปในออนไลน์ ฝึกพากย์ ก็ขึ้นแล้วว่าจะฝึกที่ไหน มีกรุ๊ปตรงไหน มีเพจไหนที่รวมกลุ่มคนฝึกพากย์ด้วยกัน แล้วก็ไปฝึกด้วยกัน มี Discord มีโปรแกรมที่สามารถไปจับกลุ่มฝึกการพากย์ได้ ก็ทำให้ทุกวันนี้มีนักพากย์จำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่หนัง จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ถือว่าน้อยนะ แต่พอเจอโควิด-19 ที่ผ่านมา มันส่งผลกับทุกอย่างมากเลย เช่น โรงหนังปิด ช่องทีวีลดต้นทุนในการซื้อหนังหรือสารคดีเข้ามา ไปวนฉายหมดเลย ทำให้ตอนนี้ก็เหลือแค่รูปแบบออนไลน์ ในขณะที่จำนวนนักพากย์เพิ่มมากขึ้น แต่ว่าปริมาณหนังลดลง

พอทุกอย่างปรับเป็นออนไลน์ ทีมนักพากย์ได้รับผลกระทบแค่ไหน

เรียกว่านักพากย์มีการปรับตัวมากกว่า จากการที่เราทำงานเป็นทีม อาจใช้เวลาเยอะหน่อยในวันหนึ่ง แต่ว่ามันพากย์เสร็จแล้วจบเลย แต่ตอนนี้กระบวนการมันเพิ่มมากขึ้น แบ่งย่อยเป็นนักพากย์คนๆ ไป เพราะฉะนั้นจากที่เรา 4 เรื่อง อาจจะพากย์จบภายในวันเดียว ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เป็น 4 เรื่องต้องพากย์ 1 อาทิตย์ เพราะนักพากย์ต้องไปคิวนั้น คนนึง 2-3 ชั่วโมง ทำให้เวลาในการทำงานของสตูดิโอเพิ่มมากขึ้น แต่มาตรฐานก็เพิ่มขึ้นด้วย เพราะว่าการพากย์เจาะค่อนข้างที่จะเน้นละ มันเห็นว่าเราพากย์อยู่คนเดียว เหลือขาดอารมณ์ไม่ได้ เราเห็นแน่ ๆ ต้องแก้ตรงนั้นเลย มาตรฐานที่ออกมาจะค่อนข้างแม่นยำกว่าพากย์ทีม

พอมาในยุคออนไลน์ ทักษะของนักพากย์ยังต้องปรับเพิ่มขึ้นด้วยไหม

ก็มีส่วนนะ ผมกำลังคิดว่าการที่พากย์ทีม จากที่เราเคยพากย์หนังให้มันเยอะ เช่น หนังตลก พอมันเป็นการพากย์ที่มันต้องจำกัดตามต้นฉบับ คราวนี้โจทย์มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นนักพากย์ก็เลยต้องปรับวิธีการพากย์ให้เป็นปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น พูดง่ายๆ คือทำตามความต้องการของนายจ้าง แต่ทักษะนั้นเรายังคงอยู่ในการที่เราสามารถพากย์ตลกได้ พากย์มุกได้

วิธีการพัฒนาทักษะการพากย์ ทำอย่างไรบ้าง

ตอนพี่เริ่มฝึกพากย์ใหม่ๆ พี่เคยเห็นพี่นักพากย์คนหนึ่งสมัยที่เราเห็นคลิปตอนที่ไปเรียน พี่เขาฝึกโดยการไปแปะหน้าตัวละครจากนิตยสารมา แปะติดกำแพงไว้ แล้วคิดว่าถ้าพากย์หน้านี้ต้องเสียงแบบไหน ก็คล้ายๆ วิธีที่ผมเคยฝึกโดยการถ่ายรูปมาแล้วเอากลับมาพากย์ เพราะฉะนั้นผมก็เริ่มจากการฝึกคล้ายๆ แบบนั้น โดยการที่ผมไปห้าง ผมเห็นคนสองคนเดินคุยกัน แล้วผมก็เปลี่ยนเสียง ก็พากย์นรกให้เขา โดยที่เขาไม่รู้ว่าผมกำลังฝึกอยู่ แต่เราก็ไม่ได้พากย์เสียงดังมาก คนนี้อย่างน้อยต้องเป็นเสียงอย่างนี้นะ คุยกัน โดยอาศัยการตีความจากการกระทำของเขา

ถ้าตามทักษะของการพากย์หนัง มันจะมี 2 อย่าง อย่างแรกถ้าพากย์ทีมคือพากย์ให้เข้าหน้า กับอีกแบบคือพากย์เจาะ เป็นพากย์ปัจจุบันให้เข้ากับต้นฉบับ มันจะแยกจากกัน ถ้าพากย์เข้าหน้ากับทีม มันต้องเสียงใหญ่ ตัวใหญ่เสียงใหญ่ ตัวเล็กเสียงเล็ก หน้าตาดีต้องเสียงแบบนี้ หน้าตานี้ต้องเสียงแบบนี้ ตัวลูกน้องต้องเสียงแบบนี้ แต่พอมาเป็นพากย์เจาะแบบปัจจุบัน ไม่ใช่ละ ต้องให้เหมือนเสียงต้นฉบับ เพราะฉะนั้นพี่ต้องฟังแล้วเสียงน้องเป็นเสียงแบบไหน แล้วก็ต้องพยายามเลียนแบบให้เหมือน

อะไรที่ทำให้ตัดสินใจมาสตรีมเกมด้วย

มันเริ่มจากการที่เราเห็นคนมา Live Streaming กัน ก่อนหน้านี้ก็เคยถ่ายทอดสดผ่านหน้าเพจอยู่แล้ว คือนานมากกว่าจะกดถ่ายทอดสด คือเอามือถือมา แล้วก็สวัสดีทุกคน มีคอมเมนต์ขึ้นมาทักทายเรา แล้วก็หายไป จนกระทั่งมีอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อตอนปลายปีที่แล้วที่ไปพากย์ดาบพิฆาตอสูรมา แล้วกระแสตอบรับก็ดีมาก ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงถึงจะสามารถคุยกับทุกคนได้ เผอิญว่าน้องที่เรารู้จักชวนไปสัมภาษณ์ในช่องของเขา ก็คุยผ่าน Discord ทำให้เราเห็นช่องทางเพิ่มมากขึ้น ทีนี้เราก็คิดว่าถ้าเราทำบ้างล่ะ ก็เลยลองทำดูครับ ทำให้เปิดโลกมากขึ้นให้เราได้เจอแฟนคลับง่ายขึ้น แรกๆ ก็ทุลักทุเลมาก แต่คนเข้ามาดูเยอะมากเลย เขาคงอยากเจอเรา เราเองก็อยากเจอเขา ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราได้มาเจอกัน ช่วงนั้น Streaming ต่อเนื่อง 8 วันต่อกันเลยครับ แบบว่ามีคนฟังแม้กระทั่งวันสิ้นปีฉลองปีใหม่ เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราเจอแฟนคลับครับ

ทำไมใน Facebook ถึงต้องใช้ชื่อว่านักพากย์เรนเจอร์ by เอ-อภินันท์

ด้วยความที่เป็นนักพากย์ ก็จะตั้งชื่ออะไรดีที่ทำให้เขารู้ว่าเราคือใคร ก็เลยมาเป็นนักพากย์ ส่วนเรนเจอร์ บางคนอาจจะนึกว่าผมพากย์หนังแปลงร่าง อเวนเจอร์ คือก็พากย์นะ แต่ผมคิดว่าถ้าเป็นไปได้ ผมอยากจะรวบรวมนักพากย์จำนวนหนึ่งมาอยู่ในเพจผม เรนเจอร์ก็คือขบวนการนักพากย์ที่มาอยู่ในนี้ เป็นเรื่องราวของนักพากย์คนนั้นคนนี้เพื่อให้สื่อสารส่งต่อบอกข่าวต่อไปให้น้อง ๆ ทุกคนได้รู้ว่านักพากย์คนนี้ทำอะไร เคยมีนักพากย์เอามา Streaming เช่น หนังเรื่องนี้กำลังจะเปิดตัว ก็ไปชวนเขามาคุย เพื่อทำให้เป็นขบวนการนักพากย์ แต่สุดท้ายก็เหลือแค่เรา (หัวเราะ)

จุดเริ่มต้นของห้องเรียนนักพากย์ที่เรียนฟรีคืออะไร

มันจะมีทั้งห้องเรียนที่เสียเงินกับไม่เสียเงิน ถ้าเสียเงินก็ตาม academy ทั่วไปที่ผมไปสอนให้ ส่วนที่ไม่เสียเงินคือเป็นโครงการของกระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้งบประมาณมาเพื่อจะมาเผยแพร่สิ่งที่เป็นความรู้ให้กับเยาวชน แล้วก็มีห้องเรียนที่ใช้เสียงพากย์ มีผมเป็นคนสอน เป็นโครงการที่ดีครับ ซึ่งคนที่มาเรียน ด้วยความที่เปิดฟรี ถ้ารับเยอะมากมันจะไม่ทั่วถึง จึงเอาตามจำนวนที่เราพอไหวตามสัดส่วน ปัจจุบันน้อง ๆ นักพากย์ที่อยู่ในวงการก็มาเรียนคอร์สผมนี้เยอะมากครับ แล้วสุดท้ายเขาก็ตามฝันของเขาได้จนได้เป็นนักพากย์ที่พากย์กันจริงจังทุกวันนี้

เห็นอะไรจากเด็กยุคนี้ที่อยากเป็นนักพากย์บ้าง

เห็น ความชอบของเขา เห็นความตั้งใจของเขาที่มาอยู่ใน Discord ผม ผมอยู่ใน Discord ที่เป็นชุมชนจากที่ว่าไม่รู้เรื่องจนกลายเป็นเจ้าของ Discord ที่สามารถทำได้ทุกอย่าง แล้วก็มีทีมหลังบ้านที่คอยช่วยด้วย ก็ต้องขอบคุณเขาด้วย เขาก็จะเปิดห้องใน Discord เอาไว้ ให้น้อง ๆ เหล่านี้มาฝึกพากย์กัน ทุกวันนี้ผมเข้าไปเปิด Discord เห็นเขามาฝึกพากย์กันนะ มีประมาณ 10 ห้อง บางคนฉีกแนวมาเลยโพสต์ขอความช่วยเหลือ มาช่วยทำการบ้านข้อนี้ให้หน่อย ผมก็คิดว่าเจ๋ง มันเป็นชุมชนที่ดีมาก นอกจากมาฝึกพากย์ พูดคุย แชร์ประสบการณ์กันแล้ว ยังมาช่วยทำการบ้านได้ ทำให้น้อง ๆ ได้มาเจอกัน และเอาความชอบ ความตั้งใจของพวกเขามารวมกัน ฝึกพากย์กัน


ในวันที่ติดโควิด-19

ตอนติดโควิด-19 รู้สึกยังไงบ้าง

จะบอกว่าทุกคนอย่าเป็นเลย ต่อให้ทุกวันนี้โลกเปิดก็ตาม ก็ต้องใส่หน้ากากอนามัย 1 เดือนที่ประสบมา คนที่เคยเป็นจะพูดประโยคเดียวว่าไม่เป็นไม่รู้หรอก ว่าตอนเป็นมันใช้ชีวิตลำบากแค่ไหน มันน่าเบื่อแค่ไหน มันน่ากลัวแค่ไหน โดยเฉพาะถ้าเกิดลงปอด ต่อให้ฉีดวัคซีนครบแล้วก็ตาม ผมเองมีภูมิจากการเป็นมาแล้ว วัคซีนสองเข็มแล้ว ผมก็ยังกลัวมาก ไปห้างผมไปนะ แต่ผมไม่ถอดหน้ากากอนามัย ผมไม่กินข้าวในห้าง ผมซื้อน้ำในห้าง ผมเดินจากชั้นสองมานั่งกินในรถ ก่อนจะกิน ผมล้างมือก่อน ทำความสะอาดทุกอย่างก่อน ของกินผมซื้อกลับบ้านมา ผมไม่เคยนั่งกินในร้าน ผมรู้ว่าคีย์ของมันคือการถอดหน้ากากอนามัย เมื่อไรก็ตามที่ถอดหน้ากากอนามัยคือความเสี่ยง

1 เดือนที่หายไปสอนอะไรให้กับเราในการใช้ชีวิตบ้าง

รักตัวเองมากขึ้น และอยากทำอะไรให้ทำเลย เพราะไม่รู้ว่าถ้ามันลงปอด และมีข่าวคนเสียชีวิตที่ผ่านมา เขาเสียชีวิตไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะฉะนั้นผมกลับมาบ้านผมจะหาความสุขให้กับตัวเองก่อน ก่อนหน้านี้ผมจะเล่นเกมก่อนนอน แล้วมันเครียด ก็เปลี่ยนเลยทำยังไง เราจะต้องนอนหลับแบบมีความสุขก่อนนอน ก็จะเปิดหนังประเภทรักโรแมนติกคอมเมดี้ ดูแล้วก็มีความสุขแล้วก็หลับ ตื่นมาด้วยอารมณ์ที่มีความสุข เพราะเราหลับอย่างมีความสุข ในขณะที่ถ้าเราไปเล่นเกม เราเครียด หัวร้อน มันก็จะมีผลตอนเช้า จะเครียดเหมือนเก็บความหงุดหงิดไว้ในใจ ก็เลยจะพยายามดูหนังที่อยากดู


ในวันที่ได้กลับมาพากย์เรื่องเดิมอีกครั้ง

เคยกลับมาดูหนังหรือคอนเทนต์ที่ตัวเองเคยพากย์บ้างไหม

ดูครับ โดยเฉพาะตอนแรกๆ หนังใหญ่เรื่องแรก ผมเข้าไปดูในโรง 10 รอบนะ ผมดูจนจำได้ ประโยคนั้นผมเคยพูดไว้ยังไง ต่อไปตัวละครต้องพูดอย่างนี้ ดูเพื่อสร้างความภูมิใจให้กับตัวเราเอง เราได้พากย์หนังใหญ่เรื่องแรกเรื่องนี้นะ แล้วก็ตรวจสอบงานว่าพากย์เป็นยังไงบ้าง หาจุดบกพร่องของตัวเองไปด้วย เพราะผมคิดว่าถ้าเราหยุดพัฒนา งานเรามันก็จะหยุดแค่นั้นล่ะครับ แต่ถ้าเราปรับตัวเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปเรื่อย ๆ เราจะไม่หยุดอยู่กับที่ครับ

รู้สึกยังไงที่เขาให้เรามาพากย์เป็นคิริโตะอีกครั้งใน Sword Art Online Progressive: Aria of a Starless Night

ต้องบอกว่าผมเคยพากย์เรื่องนี้สมัยเป็นซีรีส์มาก่อน ผมเองก็ไม่คิดว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะดัง เพราะตอนนั้นคือพากย์เจาะ แล้วก็ไม่รู้เนื้อเรื่องทั้งหมดเท่าไร ก็ไม่คิดว่ามันจะดังและคนดูจะชอบ จนกระทั่งกระแสมา ว่าพี่เอ คิริโตะ มีคนทักเรา แสดงว่าคนเขาชอบดูเรื่องนี้กัน ก็เลยเข้าใจว่าเด็กเขาชอบดูหนังเรื่องนี้ แนวนี้นะ เพราะว่าการ์ตูนมันมีหลากหลายแนวมาก มันมีทุกอย่าง และเชื่อว่าเขาน่าจะดูทุกแนว แล้วพอได้มาพากย์หนังเรื่องนี้ มันเหมือนย้อนความทรงจำไปครับในช่วงเวลาที่เราเคยอยู่ในสตูดิโอ ผมจำได้ช่วงเวลานั้นได้ ตอนนั้นผมเจ็บหลัง (หัวเราะ) จนน้อง Sound Engineer ต้องเอาเก้าอี้เข็นในสำนักงานเขามาเข็นให้ แล้วก็พากย์ไปด้วยอาการเจ็บๆ

และพอกลับมาพากย์เรื่องนี้ในสตูดิโออีกครั้ง ความทรงจำตรงนั้นมันคืนกลับมา พอวันนี้ที่เรากลับมาพากย์ตัวละครตัวนี้ ที่ผ่านมาผมก็ดูนะ ทำไมเขาชอบเรื่องนี้ เคยย้อนกลับไปเปิดดู เคยมีคนบอกว่า คิริโตะมันหล่อ เท่ ซึ่งเสียงต้นฉบับมันก็เท่จริง และหล่อ เขาก็เลยชอบ เราก็เลยดีใจนะที่ผ่านมาประมาณ 9-10 ปี เวลามันช่างผ่านไปเร็วมาก แต่ตัวละครยังคงเดิม (หัวเราะ) แล้วนี่คือย้อนกลับไปในช่วงจังหวะแรกๆ ที่เป็นช่องว่างของหนังที่เป็นซีรีส์อยู่มาเป็นส่วนต่อเติมขยายให้ซีรีส์ในช่องว่างนั้นให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อยากรู้ต้องไปดูเองในหนังครับ

พอมาพากย์เป็นหนัง มันมีความยาก-ง่ายยังไงจากที่เคยพากย์เป็นซีรีส์มาก่อน

จริงๆ ความยาก-ง่ายมันก็น่าจะพอๆ กัน เพียงแต่ว่าพอเป็นหนัง ผมมีความละเมียดละไมและมีความพิถีพิถันตั้งใจในการให้เสียงค่อนข้างเยอะมากทีเดียว เช่น ประโยคนี้มันยังไม่ได้ ผมขออีกที ด้วยเลยความที่เป็นหนังใหญ่แล้วคนคาดหวังในตัวเราที่เป็นคนพากย์ขนาดนี้ เราต้องไม่ทำให้เขาผิดหวัง เพราะฉะนั้นเราก็เต็มที่ครับ

คนดูจะได้อะไรจากเรื่องนี้

อย่างแรกก็คือได้ตั๋วหนังอย่างที่ซื้อไปนะครับ (หัวเราะ) คนดูได้ความสนุกแน่ ๆ คนที่เป็นแฟนคลับเรื่องนี้ที่เขาติดตามมานาน เขาก็เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะมีหนังมา ตอนนี้ก็มาแล้ว แล้วก็เชื่อว่าน้อง ๆ ที่เฝ้ารอก็น่าจะไปดูแน่ ๆ ครับ แล้วก็ได้ความสนุก ได้เติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปของตัวซีรีส์ แล้วที่สำคัญ กับคำถามที่ว่าพอเป็นหนังกับซีรีส์  มันต่างกันยังไง ในแง่ของเสียงและภาพ ต่างกันแน่ ๆ ภาพก็คือสวยกว่า มันจะมีมิติที่สวยกว่า เสียงถ้าไปดูในโรงก็จะสนุกมาก มาเต็ม ๆ เลย เพราะฉะนั้นความสนุกในการไปดูในโรงหนังย่อมสนุกกว่าการดูในบ้านแน่นอนครับ

ตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา เรียนรู้อะไรมาบ้าง

ผมเชื่อว่าทุกคนเรียนรู้จากความผิดพลาด กว่าที่เราจะเติบโตมา ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยทำผิดพลาดไม่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราก็แค่ต้องจำก่อนว่าทำไมเราถึงทำแบบนั้นผิดพลาด แล้วก็ต้องแก้ไขในจุดที่เราเคยผิดพลาดในเส้นทางชีวิต ผมเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสในการแก้ตัวใหม่ เปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ และพยายามที่จะหาสิ่งที่เราชอบ และพยายามเพิ่มทักษะในสิ่งที่เราชอบให้มันมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นว่าบางคนพอจับจุดได้ อย่างชอบขายของ ก็ไปขายของออนไลน์ กลายเป็นเศรษฐีเฉยเลย สุดท้ายแล้วหลังจากที่เรามีความสุขจากการทำงาน เติมเต็มทุกอย่างในชีวิตไปแล้ว ก็อยากให้แบ่งปันความสุขที่ว่าให้กับคนอื่นด้วย คนเรามันอยู่ได้ด้วยการแบ่งปันและแชร์ความสุขให้กันและกัน โลกทุกวันนี้มันถึงจะมีรอยยิ้มและมีความสุขไปด้วยกันครับ

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า