เวิลด์แบงก์ เผย “ไทย” เหลื่อมล้ำที่สุดในกลุ่มเอเชียตะวันออก สศช. ชี้ คนจนพุ่ง 3.8 ล้านคน แม่ฮ่องสอนเสี่ยงเรื้อรัง

ธนาคารโลก(The World Bank) ได้เผยแพร่รายงาน “ปิดช่องว่าง : ความเหลื่อมล้ำและงานฝนประทศไทย” พบว่า ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดช่องว่างระหว่างคนที่ร่ำรวยที่สุดและยากจนที่สุดเป็นอย่างมาก แต่ความคืบหน้าดังกล่าวได้ชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2556 โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคของรายได้ อยู่ที่ 43.3% ถือเป็นระดับสูงสุดของความไม่เสมอภาคของรายได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และอยู่ในอันดับที่ 13 จาก 63 ประเทศที่มีการรายงานข้อมูลสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคของรายได้ ระดับความเหลื่อมล้ำจะสูงมากเมื่อพิจารณาถึงการกระจุกตัวของรายได้และความมั่งคั่ง พบว่ามีสัดส่วนที่สูงเป็นพิเศษ

โดยในปี 2564 พบข้อมูลว่า คนไทยที่ร่ำรวยที่สุดถือครองรายได้ และความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศหรือคิดเป็น 10% ของจำนวนประชากรของประเทศ และมีความแตกต่างในด้านโอกาสทางการศึกษาและทักษะ รายได้ของเกษตรกรต่ำ ประชากรสูงวัย และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความท้าทายในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย แม้ว่าผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะค่อนข้างน้อย แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ช่องว่างของผลลัพธ์การเรียนรู้และปัญหาหนี้สินในควัวเรือนที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของประเทศไทยเป็นปัจจัยที่ทำให้ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น

เหลื่อมล้ำตั้งแต่เกิด

จากข้อมูลพบว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย จากโอกาสในการพัฒนามนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมกัน และจะคงอยู่ตลอดวงจรชีวิตและสามารถสืบทอดไปถึงรุ่นต่อ ๆ ไป ความเหลื่อมล้ำในระดับอาชีพและการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายใด้ ความแตกต่างเชิงพื้นที่ทั้งระหว่างและภายในภูมิภาคยังส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้อีกด้วย ในปี 2563 ค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวในกรุงเทพฯ สูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 6.5 เท่า ซึ่งมี GDP ต่อหัวต่ำที่สุดในประเทศ

คนไทยจนมากถึง 3.8 ล้านคน

รายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย จัดทำโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า สถานการณ์ความยากจนของในไทยในปี 2565 ภาพรวมปรับตัวดีขึ้นหลังผ่านการระบาดของโควิด-19 โดยล่าสุดมีจำนวนคนจนรวม 3.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจน 5.43% ลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวนคนจน 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนคนจน 6.32%

ขณะที่เส้นความยากจนของคนไทย ก็ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนเช่นกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,803 บาทต่อคนต่อเดือน ในปี 2564 เป็น 2,997 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2565 สำหรับจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 5 จังหวัดในปี 2565 ประกอบไปด้วย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัตตานี ตาก นราธิวาส และ กาฬสินธุ์ โดยที่น่าห่วงคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด และติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกัน 19 ปี ตั้งแต่ปี 2545 สะท้อนให้เห็นปัญหาความยากจนเรื้อรังที่เกิดขึ้น และต้องเร่งหาทางแก้ไขในเชิงนโยบาย

สวัสดิการรัฐไม่เพียงพอขจัดความจน

ตัวชี้วัดหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ การจัดสรรงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เมื่อดูจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ต่างจากจังหวัดอื่นที่มีสัดส่วนคนจนน้อย โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,398 บาทต่อคน เช่นเดียวกับงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณลงไปเท่า ๆ กับจังหวัดเช่นกัน แต่ก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่จบ จึงต้องหาวิธีในการแก้ไขอย่างตรงจุดต่อไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายเรื่องของประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่สูงมาก โดยปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในระดับอาชีพและการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น เพราะหัวหน้าครอบครัวคือหัวหอกในการหารายได้เพื่อเลี้ยงดูคนในครอบครัวและยกฐานะครอบครัว สิ่งสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยก็ต้องคงเป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการปรับโครงสร้างทั้งระบบ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศก็จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมให้แคบลงตามไปด้วย

Content Creator