หลังจากที่ได้มีการโปรดเกล้าฯ นายเศรษฐา ทวีสิน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมกับแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลนายเศรษฐาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ผลปรากฏว่า เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ หรือที่เรียกว่า “กระทรวงเกรด A” ดูเหมือนจะอยู่ในมือของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า สถานการณ์เช่นนี้อาจจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าได้
แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า กระทรวงเกรด A, B, C คืออะไร วัดกันที่ตรงไหน และการได้ครอบครองกระทรวงเกรด A สำคัญอย่างไรต่อสถานการณ์การเมืองไทย The Modernist จะพาไปหาคำตอบ ที่นี่เลย
กระทรวง หมายถึง ส่วนราชการสูงสุดของราชการบริหารส่วนกลาง มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นหัวหน้า โดยประเทศไทยในปัจจุบันนี้มีกระทรวงทั้งหมด 20 กระทรวง ซึ่งรวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีฐานะเทียบเท่ากับกระทรวงด้วยเช่นกัน ความสำคัญของกระทรวงต่างๆ นั้น ในมุมมองของนักการเมืองได้จำแนกกระทรวงออกเป็น 3 เกรดหลักๆ คือ A B และ C
กระทรวงเกรด A คือกระทรวงที่มีความสำคัญในเรื่องของการใช้นโยบายและกฎหมายในการดำเนินทิศทางต่างๆของรัฐบาล ซึ่งบางครั้งนโยบายและกฎหมายเหล่านี้ก็เอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องของนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองด้วยกัน หรือนักธุรกิจ โดยเฉพาะนักการเมืองที่ต้องการเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเกรด A เพื่อให้ตนนั้นมีผลงานสำหรับใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งถัดไป นอกจากนี้ยังเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณในการทำงานที่มหาศาล ทำให้สามารถสนับสนุนการกระทำดังกล่าวข้างต้นได้
ส่วนกระทรวงเกรด B และ C คือกระทรวงที่มีความสำคัญน้อยกว่ากระทรวงเกรด A ทั้งในด้านการใช้นโยบายและกฎหมายเพื่อเอื้อผลประโยชน์ รวมถึงงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งกระทรวงในลักษณะนี้มักเป็นกระทรวงที่มีแผนงานในลักษณะที่เป็นนามธรรมมากกว่า ทำให้ได้รับงบประมาณในการดำเนินงานน้อยลงไปด้วย โดย The Modernist ได้จัดลำดับกระทรวงต่างๆ ไว้เป็นเกรด C, B และ A ดังนี้

กระทรวงเกรด C
เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณที่น้อยกว่ากระทรวงเกรด A มาก และอาจจะเทียบเท่ากับกระทรวงเกรด B หรือไม่กระทรวงเกรด C บางกระทรวงอาจจะได้รับงบประมาณที่มากกว่ากระทรวงเกรด B แต่ไม่สามารถกำหนดนโยบายและทิศทางการทำงานของกระทรวงตนได้ หรือเป็นกระทรวงที่นักการเมืองมองว่าอาจสร้างผลงานของตนได้ยาก ดังจะเห็นได้จาก “กระทรวงการต่างประเทศ” ที่ไม่ได้แสดงบทบาทของตนเท่าไหร่นักจากกรณีการรัฐประหารและการต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ. มิน อ่อง หลาย ในประเทศเมียนมา หรือแม้กระทั่ง “กระทรวงวัฒนธรรม” ที่ไม่ได้มีการกำหนดนโยบายของตนที่เป็นรูปธรรมมากนัก ซึ่งแตกต่างจากกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการผลักดัน soft power ของตนจนสามารถสร้างมูลค่าหลายพันล้านวอนเข้าสู่ประเทศได้
กระทรวงที่อยู่ในเกรดนี้ ได้แก่
-กระทรวงการต่างประเทศ
-กระทรวงวัฒนธรรม
-กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
-กระทรวงแรงงาน
-กระทรวงยุติธรรม
กระทรวงเกรด B
เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากกว่ากระทรวงเกรด C แต่น้อยกว่ากระทรวงเกรด A แต่บางกระทรวงอาจได้งบประมาณพอๆ กับกระทรวงเกรด A แต่เรื่องของนโยบายของกระทรวงอาจจะสร้างผลงานได้ไม่ชัดเจนจนสามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการหาเสียงครั้งต่อไปได้ กระทรวงเหล่านี้มักจะเป็นกระทรวงที่มีผลงานทั้งในรูปธรรมและนามธรรม แต่บางกระทรวงก็สามารถเปลี่ยนเป็นกระทรวงเกรด A ได้ถ้ามีนโยบายที่สร้างผลงานให้กับนักการเมืองได้ เช่น “กระทรวงศึกษาธิการ” เป็นต้น
กระทรวงที่อยู่ในเกรดนี้ ได้แก่
-กระทรวงศึกษาธิการ
-กระทรวงอุตสาหกรรม
-กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
-กระทรวงสาธารณสุข
-กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
กระทรวงเกรด A
เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดในแต่ละปีงบประมาณ แต่ก็มีบางกระทรวงที่ได้รับงบประมาณเทียบเท่ากระทรวงเกรด B และ C แต่ถ้าเป็นกระทรวงที่สามารถดำเนินนโยบายเพื่อสร้างผลงานที่จับต้องได้ง่าย ก็อาจจะนับเป็นกระทรวงเกรด A ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น “กระทรวงพลังงาน” ที่ถึงแม้จะได้รับงบประมาณพอๆ กับกระทรวงเกรด B และ C แต่กระทรวงพลังงานนั้นควบคุมรัฐวิสาหกิจที่สามารถสร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋ารัฐบาลได้ คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) กับ “กระทรวงกลาโหม” ที่เป็นกระทรวงแห่งความมั่นคงของรัฐบาลที่ต้องมีรัฐมนตรีผู้ซึ่งสามารถทำงานกับรัฐบาลและกองทัพได้ เพื่อรักษาเสถียรภาพและผลประโยชน์ร่วมกันได้ เป็นต้น
กระทรวงที่อยู่ในเกรดนี้ ได้แก่
-กระทรวงกลาโหม
-กระทรวงมหาดไทย
-กระทรวงการคลัง
-กระทรวงคมนาคม
-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
-กระทรวงพาณิชย์
-กระทรวงพลังงาน
ผู้เขียน : ณัฐชนน จงห่วงกลาง
ที่มา : pptvhd36 / thaipbs / waymagazine / the101 / bkktribune / brandinside / matichon