fbpx

สถานการณ์การเมืองไทย ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็เจ็บปวด

ในสังคมมนุษย์ ความขัดแย้งถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ต้องมีตามธรรมชาติของคนหมู่มาก ที่มีภูมิหลังร้อยพ่อพันแม่ สังคมไทยเองก็ผ่านความขัดแย้งมานับไม่ถ้วน โดยเฉพาะความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ทว่าในโลกที่เปลี่ยนไปทุกวันนี้ ความขัดแย้งอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ซึ่งยึดถึงหลักการและคุณค่าต่างกัน ทั้งยังมีทัศนคติต่อโลกที่แตกต่างกันอย่างรุนแรง และหลายครั้งเราจะพบว่า ขณะที่คนรุ่นใหม่พยายามขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า คนรุ่นเก่าก็พยายามเกาะกุมโลกนี้ไว้ กลายเป็นรอยร้าวระหว่างช่วงวัยที่ยากจะผสาน

เหตุใดการเปลี่ยนแปลงโลกโดยคนรุ่นใหม่จึงสั่นสะเทือนความรู้สึกของคนรุ่นเก่า และนำไปสู่การปะทะกันทางความคิด? คำตอบที่น่าสนใจคือบริบททางการเมืองและสังคม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมให้คนแต่ละรุ่นมีทัศนคติและความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกัน สภาพสังคมภายใต้รัฐบาลเผด็จการอาจสร้างพลเมืองที่สยบยอมต่ออำนาจโดยไม่ตั้งคำถาม ขณะที่แรงกดดันจากการบริหารประเทศอย่างไร้ประสิทธิภาพก็บีบให้คนรุ่นใหม่ ที่เติบโตมาในยุคเสรีภาพทางการสื่อสาร ต้องลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

คนไทยในแต่ละรุ่นเติบโตมาในสภาพบ้านเมืองแบบไหน และอะไรทำให้พวกเขาคิดอย่างที่พวกเขาคิด และเป็นในสิ่งที่พวกเขากำลังเป็นอยู่ มาไล่ดูกันทีละรุ่นเลย

เบบี้บูมเมอร์: เติบโตใต้เผด็จการ เชื่อฟังรัฐโดยไม่แตกแถว

เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2489 – 2507 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ขณะนั้น สังคมโลกเริ่มเข้าสู่ความสงบและมีเสถียรภาพมากขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัว พร้อมเทคโนโลยีทางการแพทย์ การเกษตร และการผลิตอาหารก้าวหน้ามากขึ้น ส่งผลให้จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นกว่า 2% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่ออัตราการบริโภคขยายตัวจากประชากรที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมจึงเน้นการผลิตสินค้าซ้ำๆ ในปริมาณที่มากที่สุด เร็วที่สุด และต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์

นอกจากนี้ โลกยังเข้าสู่ยุคสงครามเย็น อันเป็นความขัดแย้งกันระหว่างสองขั้วทางการเมือง ได้แก่ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยสหภาพโซเวียตและจีน ทำให้สหรัฐฯ เร่งดำเนินนโยบายเพื่อจำกัดการแผ่อิทธิพลของแนวคิดคอมมิวนิสต์ และไทยก็เป็นหนึ่งในหมากที่สหรัฐฯ ใช้เดินเกมครั้งนี้

สำหรับประเทศไทย นอกจากอัตราการเพิ่มประชากรที่สูงขึ้นถึง 4% ยุคนี้ยังเป็นยุคที่ประเทศไทยถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการ ที่โดดเด่นที่สุดคือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในยุคนี้ รัฐบาลไทยได้จับมือกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ แลกกับการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและการศึกษาจากสหรัฐฯ ทำให้ในยุคนี้ เศรษฐกิจไทยค่อยๆ เติบโต สังคมมีเสถียรภาพ เนื่องจากอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่ไม่มีพื้นที่ให้คนคิดต่าง ควบคู่ไปกับแนวคิดชาตินิยม “ผีคอมมิวนิสต์” ที่รัฐคอยสร้างมาหลอกหลอนประชาชนให้อยู่ในระบบระเบียบ ไม่แตกแถว

เมื่อพิจารณาจากบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในยุคนี้ จะพบว่า คนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์นั้นเกิดและเติบโตผ่านครอบครัวและระบบการศึกษาที่เน้นป้อนคนเข้าสู่ระบบราชการและสายพานการผลิต สังคมเผด็จการและอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้การสั่งการแบบบนลงล่าง บุคลากรในระบบต้องพร้อมทำตามคำสั่ง อดทนทำงานซ้ำๆ ได้ และคนที่ทำงานมีประสิทธิภาพ คือคนท่องจำเก่ง และแก้ปัญหาที่มีคำตอบสำเร็จรูปได้ ขณะที่คนที่มีพฤติกรรมแตกต่าง คือคนก้าวร้าว ต้องถูกลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรง

สภาพสังคมที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ปราศจากความวุ่นวายภายใต้ระบบเผด็จการ และเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอด้วยการลงทุนจากต่างชาติ แลกกับการเป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคอินโดจีน ส่งผลให้คนที่เติบโตในยุคนี้กลัวการเปลี่ยนแปลง ยึดติดกับภาพความสำเร็จในอดีต และเป็นคนกลุ่มที่รู้สึกไม่ไว้วางใจระบอบประชาธิปไตย เพราะมองว่าจะเป็นระบบที่สั่นคลอนเสถียรภาพทางสังคมที่คงอยู่มาอย่างยาวนาน

เจนเอ็กซ์ (Gen X): เติบโตในยุคมืดของเสรีภาพและบาดแผลทางประวัติศาสตร์

คนเจนเอ็กซ์ เป็นกลุ่มคนที่เกิดและเติบโตในช่วง พ.ศ. 2508 – 2522 ซึ่งยังคงอยู่ในยุคสงครามเย็น และรัฐบาลเผด็จการภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร โฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับอันตรายของคอมมิวนิสต์ยังคงไหลเวียนในสังคม ระบบการศึกษาทำหน้าที่รักษาระเบียบของสังคม และผลิตคนเข้าสู่ระบบราชการ ไม่เน้นการคิดวิเคราะห์และถกเถียง ส่วนสื่อหลักที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารยังคงมีจำกัด และส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ยุคนี้เริ่มมีขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่คอยตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และรัฐบาลทหาร โดยเผยแพร่ข้อมูลด้วยโปสเตอร์วาดมือและหนังสือทำมือ ขบวนการนักศึกษาเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขับไล่ผู้นำเผด็จการในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นำไปสู่ยุคประชาธิปไตยเบ่งบานในช่วงสั้นๆ ก่อนที่แสงแห่งเสรีภาพจะดับวูบลงอีกครั้งในอีก 3 ปีต่อมา จากการเดินทางกลับเข้าประเทศไทยของจอมพลถนอม และตามด้วยการปลุกปั่นเรื่องนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ และต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มีผู้สูญหาย บาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างน่าสลดใจเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้น สื่อเข้าสู่ยุคมืด เนื่องจากรัฐบาลไทยเข้าควบคุมสื่อทั้งหมด และการเผยแพร่ข้อเท็จจริงถือเป็นความผิด

ลักษณะของคนเจนเอ็กซ์ที่เกิดและเติบโตในยุคนี้ จึงสามารถแบ่งได้ออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นนักปฏิวัติ ต้องการการเปลี่ยนแปลง มีความมั่นใจในตัวเอง และกลุ่มที่ยังคงมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ไม่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลง เชื่อในระเบียบ ลำดับชั้นในสังคม และชาตินิยม โดยเฉพาะผู้ที่เกิดและเติบโตในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มักจะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง

ในแง่ชีวิตส่วนตัว เจนเอ็กซ์รวมทั้งกลุ่มเบบี้บูมเมอร์มีลักษณะร่วมกันคือไม่แสดงออกถึงความรู้สึกและความต้องการของตัวเองในฐานะปัจเจก ให้คุณค่ากับการทำงานหนัก เพื่อสร้างฐานะ และปัจจุบันคนกลุ่มนี้เป็นคนทำงานในตำแหน่งสูง มีความรับผิดชอบในฐานะผู้นำองค์กรและผู้นำครอบครัว

เจนวาย (Gen Y): จากอะนาล็อกสู่ดิจิทัล จากประชาธิปไตยสู่รัฐประหาร (อีกครั้ง)

กลุ่มคนเจนวาย (Gen Y) คือคนที่เกิดและเติบโตในช่วง พ.ศ. 2523 – 2537 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีจุดเด่นอยู่ที่ทศวรรษ 2530 ในสมัยที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และผลักดันนโยบายการต่างประเทศ ที่รู้จักกันดีในชื่อ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” พร้อมเปิดทางให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการ จนมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเป็น “เสือตัวที่ 5” ของเอเชีย อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2534 เกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รสช. และในปีต่อมา เกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวประท้วงการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนั้นเรียกว่า “พฤษภาทมิฬ”

นอกจากเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูและการดิ่งลงเหวในแง่การเมือง ยุคนี้เป็นยุคที่โลกเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยีอะนาล็อกไปสู่ดิจิทัล เทคโนโลยีการสื่อสารเจริญก้าวหน้าด้วยโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ เพจเจอร์ แฟกซ์ รวมทั้งคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ทำให้การกระจายข่าวสารทำได้ง่ายดายขึ้นกว่ายุคก่อน ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายการ จส.100 สารคดี รวมทั้งหนังสือพิมพ์การเมืองและสื่อเชิงสืบสวน ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น และส่งผลต่อการเติบโตของขบวนการชนชั้นกลางที่ต่อต้านอำนาจ รสช. ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ในแง่ศิลปวัฒนธรรม คนเจนวายเติบโตในยุคที่อุตสาหกรรมดนตรีและภาพยนตร์เฟื่องฟู ที่เรียกกันทั่วไปในขณะนี้ว่า “ยุค 90s” เกิดค่ายเพลงอินดี้และเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟ สะท้อนถึงพลังความคิดสร้างสรรค์อันไร้กรอบของคนรุ่นใหม่

สภาพการเมืองและสังคมในยุคนี้ จึงหล่อหลอมให้คนเจนวาย ชอบความรวดเร็ว มีความคิดสร้างสรรค์ สนุกสนาน มองโลกในแง่ดี แม้จะต้องทำงานหนักเพื่อสร้างฐานะ แต่ก็ยังมองหาสมดุลในชีวิต 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าทั้งเบบี้บูมเมอร์ เจนเอ็กซ์ และเจนวาย ต่างผ่านสถานการณ์รัฐประหารและการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกหมดหวังกับการเปลี่ยนแปลง ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ หลายคนหันหลังและเพิกเฉยต่อการเมือง

นอกจากนี้ คนทั้งสามรุ่นนี้ยังเชื่อในแนวทางแก้ปัญหาแบบอำนาจนิยม เชื่อว่าการใช้คำสั่งบังคับ กำลังทหาร หรือการใช้อำนาจผ่านกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง รวมทั้งไม่มีปัญหากับการรัฐประหาร หากเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบเรียบร้อยในสังคม ขณะที่การถกเถียงและการสร้างความเท่าเทียมในสังคมอาจนำไปสู่ความแตกแยก

เจนซี (Gen Z): ฉันเกิดในยุคสมัยแห่งความวุ่นวายไม่รู้จบ

สำหรับเจนซี (Gen Z) คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2538 – 2552 ซึ่งนอกจากจะร่วมสมัยกับวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก หรือในประเทศไทยเรียกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซาอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้ว ยังตามมาด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงหลายเหตุการณ์ ทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความสูญเสียเท่านั้น แต่ยังถูกตอกย้ำจากกระแสความกลัวอิสลามที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 911 นำไปสู่อคติที่มีต่อคนในพื้นที่ด้วย

ในกรุงเทพมหานครเอง ก็มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ก่อนจะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช. ซึ่งเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 12 ในประวัติศาสตร์ไทย

ในด้านบริบททางสังคม ยุคนี้ถือเป็นยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทอย่างเต็มที่ในสังคม โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียต่างๆ นับตั้งแต่ MySpace, Hi5, Facebook และ Twitter รวมถึงช่องทางสื่อที่กว้างขวางขึ้น และมีต้นทุนการผลิตสื่อที่ต่ำลง ทำให้เราเห็นเคเบิลทีวี วิทยุชุมชน เว็บไซต์และกระทู้ออนไลน์ ซึ่งก่อให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน และกลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเสื้อเหลือง ที่ได้รับข้อมูลจาก ASTV และเสื้อแดงที่เสพข่าวสารจาก Peace TV รวมทั้งการเติบโตของสำนักพิมพ์ใหม่ๆ ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและประวัติศาสตร์ อย่าง ฟ้าเดียวกัน หรือ Illuminations และสำนักข่าวออนไลน์ต่างๆ

สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เปิดโอกาสให้คนเจนซีได้ทำความรู้จักโลกที่อยู่นอกเหนือจากเขตแดนประเทศไทย ได้เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย และพบว่าความหลากหลายไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ส่งผลให้พวกเขาเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ และเริ่มตั้งคำถามต่อกฎเกณฑ์ของคนรุ่นเก่าอย่างเปิดเผย

อย่างไรก็ตาม ช่องว่างระหว่างวัยที่มีกับคนรุ่นเก่า บวกกับการเติบโตในภาวะที่ครอบครัวขาดความมั่นคงทางการเงิน เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คนรุ่นนี้รู้สึกว่าไม่สามารถวางแผนอนาคตของตัวเองได้ รวมทั้งยังต้องแบกความคาดหวังจากคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่มีมาตรฐานความสำเร็จแตกต่างจากคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้คนเจนซีรู้สึกกดดัน ด้อยค่า หลายคนประสบปัญหาสุขภาพจิต ขณะที่หลายคนสะสมความโกรธจากการที่ผู้ใหญ่ใช้อำนาจ และพยายามต่อต้านอำนาจของผู้ใหญ่

เจนอัลฟา (Gen Alpha)

คนเจนอัลฟาเกิดและเติบโตในช่วง พ.ศ. 2553 – 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความบาดหมางทางแนวคิดทางการเมืองร้าวลึกมากขึ้น โดยสะท้อนผ่านการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่กลับถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 99 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โดยไม่มีผู้ใดแสดงความรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ แม้ต่อมา ประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งนำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่สุดท้ายก็เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอีกครั้ง โดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ตามมาด้วยการรัฐประหารครั้งล่าสุด โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความหวังทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้ง จากการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ ทว่าหลังจากการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 พรรคอนาคตใหม่กลับถูกยุบพรรค ส่งผลให้คนรุ่นใหม่เกิดความไม่พอใจ บวกกับการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ นำไปสู่ “ม็อบสามนิ้ว” ที่ประชาชนคนรุ่นใหม่พากันออกมาชุมนุม และส่งเสียงสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างมากมายที่หมักหมมในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ทั้งยังเกิดแกนนำคนรุ่นใหม่ ที่ผลัดเปลี่ยนกันออกมานำการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ

ยิ่งกว่านั้น สถานการณ์โควิด-19 ยังเข้ามาตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างและการบริหารประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพให้หนักหนาสาหัสกว่าเดิม คนรุ่นใหม่ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี ครอบครัวประสบปัญหาเศรษฐกิจในสถานการณ์โรคระบาด ขณะเดียวกัน เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมหลายคนถูกลงโทษโดยพ่อแม่ และต้องเผชิญกับการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จนมีผู้เสียชีวิต และมีนักโทษการเมืองจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มออนไลน์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ และยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ก็หล่อหลอมให้คนรุ่นนี้มีความรักอิสระ เรียนรู้เร็ว ชอบความท้าทาย ให้คุณค่าต่อความหลากหลาย เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลง สิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม ประชาธิปไตย การถกเถียงทางการเมือง การตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์รัฐ

อยู่ร่วมกันต่อไป แม้จะแตกต่างมากมายก็ตาม

นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา จนกระทั่งถึงวันที่พรรคก้าวไกล ซึ่งพัฒนามาจากพรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง และสร้างความหวังว่าประเทศไทยจะหลุดพ้นจากยุคสมัยอันไร้เสถียรภาพและขาดสิทธิเสรีภาพ เราจะพบว่า เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัยล้วนสร้างความเจ็บปวดและบาดแผลในใจคนทุกรุ่น เช่นเดียวกับความเจริญตามยุคสมัย ที่หล่อหลอมให้คนแต่ละรุ่นค่อยๆ เติบโตและเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง

นี่ไม่ใช่การขิงกันว่าใครเจ็บกว่า แต่ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง เราทุกคนล้วนเจ็บปวด และความหลากหลายของความคิดไม่ใช่เรื่องผิด สิ่งที่เราควรทำคือเรียนรู้ความเจ็บปวดของกันและกัน อยู่ร่วมกับบาดแผลเหล่านั้นอย่างเข้าใจ และให้คำมั่นสัญญาว่า “Never Again” คือ “มันจะไม่เกิดขึ้นอีก”

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า