fbpx

คุยเรื่ององค์กรที่ทุกคนเป็นเจ้าของกับเพจพูด

“ในวัน ๆ หนึ่ง เพจพูดเขาทำงานกันยังไง?” เป็นคำถามแรกที่เข้ามาในหัวของผมหลังจากเป็นแฟนรายการมาพักใหญ่ แต่จริง ๆ ใจหนึ่งมันก็แอบสงสัยในสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน” กับ “บริษัทที่ทุกคนเป็นเจ้าของ” ที่ตัวเพจเคยพูดถึงผ่านผลงานหลาย ๆ ชิ้น อาจเพราะด้วยความสงสัยในความไม่คุ้นชินกับโครงสร้างบริษัทแบบนี้ เลยทำให้ผมอยากมาชวนเขาคุยและขยายความหน่อย

ต้องขอเกริ่นคร่าว ๆ ก่อนว่าเพจพูดก่อร่างสร้างตัวโดยมีสมาชิกสี่คนคือ
ตวิษา หิรัณยากร (เอม)
ธนภรณ์ อัญมณีเจริญ (น่อม)
ภาณุ นาครทรรพ (นุ / ตานุ)
ฉัตรชัย พุ่มพวง (แชมป์)
ภาวิชช นาครทรรพ (วิชช / ตาแวะ)

ด้วยความที่เป็นแฟนคอนเทนต์ของพูดด้วย เลยขอวิสาสะแทนชื่อทีมงานเป็นชื่อที่เขาใช้ในพอดแคสต์ไปเลยก็แล้วกัน ระหว่างที่อ่านอยากให้ผู้อ่านจินตนาการตามว่ากำลังฟังพอดแคสต์ของพูดอยู่ ถึงนี่จะเป็นบทความที่มีภาพประกอบก็ตาม

จากซ้ายไปขวา: เอมมี่, น่อม, ตานุ, แชมป์, ตาแวะ

แชมป์: จริง ๆ เราไม่เคยนั่งใกล้กันขนาดนี้มาก่อนเลยนะ

ตาแวะ: นั่นนะดิ (หัวเราะ)

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ก่อนจะมาเป็นเพจ “พูด” แต่ละคนเคยทำงานอะไรมาบ้าง?

เอม: เริ่มที่เราเนาะ ก็คือตอนแรกเป็นครูศิลปะและเรียนปริญญาโทไปด้วย ตอนนั้นน่อมที่กำลังเรียนอยู่ต่างประเทศก็ชวนให้มาร่วมงานแต่เราก็ปฏิเสธไปเพราะอยากเรียกให้จบก่อน พอน่อมกลับมาจากต่างประเทศเราก็เรียนจบพอดีเลยเริ่มสนใจ บวกกับที่ ๆ เราสอนอยู่เขาย้ายสถานที่ตั้ง เราไม่สะดวกจะย้ายตามก็เลยมาร่วมทำค่ะ

น่อม: ตอนนั้นเราเรียกหลักสูตร Diploma อยู่ที่ออสเตรเลีย พอเรารู้ว่ามันมีโครงการให้ทุนสื่อหน้าใหม่ของรัฐบาลเลยชวนให้ภาณุมาร่วมกันทำ พอกลับจากต่างประเทศก็เลยได้ลองมาทำด้วยกันดู… แค่นั้นแหละค่ะ

ตานุ: ของเราคือหลังจากเรียนจบก็เล่นหุ้นเพราะว่าไม่รู้จะทำอะไรแล้วตลาดหุ้นก็บึ้มเพราะว่าโควิด ประจวบเหมาะกับตอนที่น่อมชวนสำเร็จพอดีเลยมาคิดได้ว่าที่เล่นหุ้นส่วนหนึ่งก็คือหนีปัญหาแหละ มันเพิ่งเรียนจบอ่ะ แล้วในเมื่อเล่นหุ้นไม่ได้ก็เลยมาลองทำดูเผื่อว่าจะได้ทุน ตอนแรกก็คุยกันว่าถ้าไม่ได้ทุนก็จะเลิก แยกย้าย อะไรประมาณนั้น

แชมป์: ก่อนหน้านี้เราทำงานประจำมาก่อน ก็ย้ายงานไปสอง-สามที่แล้วก็โดนเลิกจ้างเพราะโควิดตอนต้นปี 63 แต่จริง ๆ ภาณุทาบทามมาตั้งแต่ปลายปี 62 แล้วแหละ พอได้คุยรายละเอียดก็เลยสนใจเพราะเราเริ่มคิดอยากจะมีกิจการเป็นของตัวเอง

ตาแวะ: เราเข้าคนสุดท้ายเลยหลังจากที่พูดทำกันมาพอประมาณนึงแล้ว ก่อนหน้านี้เราเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี แต่ด้วยความที่สนิทกับพี่ (ภาณุ) แล้วก็เป็นคนที่ชอบหาความรู้ก็เลยอยากเข้ามาทำด้วยถึงงานที่ทำมันจะไม่ตรงสาย เพราะงานผู้ตรวจสอบบัญชีมันก็แอบเหนื่อย ต้องไปต่างจังหวัดบ่อย บางทีก็เลิกดึกเราเลยไม่รู้ว่าจะทำมันไปได้นานแค่ไหน

ตาแวะ: ตอนนั้นจำได้ว่านั่งกินเหล้าแล้วบลัฟกันเรื่องลาออก สุดท้ายก็เลยแบบ “เชี่ย ออกก็ออกวะ!” พอเข้ามาทำมันเป็นช่วงที่ลูกค้าเริ่มเยอะพอดีแล้วภาณุเขียนบทคนเดียว พากย์ ทำสตอรี่บอร์ดด้วยตัวเองทุกอย่าง งานเลยเริ่มล้นมือ

ตานุ: แล้วอีกอย่างที่สำคัญก็คือไม่มีคนทำบัญชีบริษัทด้วยเพราะไม่มีใครจบบัญชีมา อันนี้ก็คือเป็นตำแหน่งเขียนบทกับนักบัญชีซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่น่าเป็นไปได้

ตาแวะ: เออก็คือพอเข้ามาก็ช่วยเขียนบทก่อน แล้วก็ค่อย ๆ ทำงานเยอะขึ้น ตอนนี้ก็คือเขียนบทกับเขียนสตอรี่บอร์ดเป็นหลักแล้วก็ทำบัญชีด้วยซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อดีเรื่องนี้แหละเพราะว่าเข้าใจว่าบางทีบริษัทเล็ก ๆ แบบนี้จะไม่ค่อยมีพื้นฐานเรื่องบัญชีกัน พอเรารู้มันก็ทำให้ทำงานง่ายขึ้น อย่างเช่นเรื่องภาษีอะไรอย่างนี้

แชมป์: ภาวิชชก็เป็นคนดูแลพอดแคสต์ด้วย

ตาแวะ: อ๋อ ใช่ ๆ

แชมป์: ก็คือดูแลเรื่องการอัด การเทสไมค์อะไรแบบนี้

ตาแวะ: จริง ๆ เป็นคนอัดแล้วก็กดหยุดพอดแคสต์แค่นั้นแหละ (หัวเราะ)

ตานุ: มันไม่ใช่แค่นั้นดิ มันเช็คซาวด์ด้วย พวกความดังอะไรต่าง ๆ

ตาแวะ: เออนั่นแหละ เป็นมุข ๆ

ทั้ง ๆ ที่เรียนจบจิตรกรรมมา อะไรทำให้เราทำได้หลายอย่างขนาดนี้?

แชมป์: ต้องเท้าความก่อนว่าช่วงแรก ๆ อ่ะเรามีความอยากให้มันคล้าย ๆ ช่อง Vox

ตานุ: ใช่ ๆ คือเราก็ดูเอาว่าพวกวิดีโอจากเพจที่เราชอบเขานำเสนอคำพูดของเขาให้ออกมาเป็นวิช่วลยังไง อันนี้ก็ต้องให้เครดิตทีมแอนิเมชั่นเพราะว่าบางทีเราเขียนสตอรี่บอร์ดไปอย่างโง่เลยอ่ะ แล้วแผนกแอนิเมชั่นเขาก็จะไปเติมแต่งลูกเล่นหรือความละเอียดให้มันมากขึ้น

ตาแวะ: คืออย่างตอนนี้ผมเป็นคนเขียนสตอรี่บอร์ดใช่มั้ย วิธีการทำงานก็คือเขียนเป็นคำพูดอย่างเดียวไม่มีวาดอะไรในสตอรี่บอร์ด เป็นแค่ไดเรคชั่นคร่าว ๆ แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ทีมกราฟฟิคไปจินตนาการทำต่อเอง แต่เราก็จะมีเขียนสไตล์ที่อยากได้กำกับเข้าไปด้วย ซึ่งสไตล์ที่ว่ามันก็มาจากการที่เราดูยูทูบหลาย ๆ ช่องนั้นแหละ พอเวลาอัดบทกันมันเลยชอบมีวิช่วลกระโดดเข้ามาในหัวเอง

ตานุ: มันเหมือนมีคลัง reference ในหัวเพราะดูมาบ่อย

ตาแวะ: ใช่ เพราะดูมาบ่อยก็เลยรู้ว่าอยากได้ภาพแบบไหน เรารู้สึกว่าวิช่วลมันสื่อสารได้ดีก็เลยเลือกจะทำแบบนั้น แต่ส่วนมากก็คือเน้นว่าทำยังไงก็ได้ให้คนเห็นแล้วเข้าใจเร็วที่สุด

แชมป์: เพราะว่าเพจเราทำไมนะ? พูดสโลแกนดิ๊ (หัวเราะ)

ตานุ: เล่าเรื่องอะไรนะ… เล่าเรื่องสนุก… เล่าเรื่องให้… แปปนึงนะ สโลแกนคืออะไรแล้ววะ

(หัวเราะกันพร้อมหน้า)

ตานุ: อ๋อ! สโลแกนตอนขอทุนคือเขียนว่า “เป็นเพจที่ให้ความรู้ แต่ดูแล้วก็สนุกด้วย”

เอม: เหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง

ทำไมต้องชื่อว่า “พูด”?

ตานุ: เรารู้สึกว่ามันเป็นเทรนด์ในช่วงนั้นที่ร้านอาหารมันจะชอบมีชื่อพยางค์เดียวอย่างร้านชื่อ “ป้อน” หรือ “หุง” อะไรอย่างนี้ แล้วพอฟังชื่อคือมันได้เซนส์ว่าเอกลักษณ์ของแบรนด์เขาคืออะไรอ่ะ เลยคิดว่าอยากตั้งชื่อเพจให้มันเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำซึ่งมันก็คือการพูดอ่ะ ตอนแรกจะใช้ชื่อว่า “แพล่ม” แต่พอปรึกษาตาแวะ ๆ บอกว่าอย่าเลย คำว่าแพล่มมันไม่ใช่คำที่ทุกคนเก็ทขนาดนั้นอะไรอย่างนี้ ก็เลยเปลี่ยนเป็น “พูด” เท่านั้นแหละจบแล้ว… เกือบชื่อเพจแพล่มแล้ว (หัวเราะ)

ตาแวะ: มันไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจจริง ๆ นะว่าแพล่มแปลว่าอะไร

ผม: มันก็แอบเป็นศัพท์ที่แอบเฉพาะนิดนึงอ่ะเนาะ

เอม: แล้วถ้ามันเขียนเป็นภาษาอังกฤษมันก็จะไม่สวย มันอาจเพี๊ยนไปเป็น “แพล็ม” อะไรแบบนี้

แชมป์: เป็นแพล็มนี่จบเลยนะ (หัวเราะ)

การก่อร่างสร้างตัวของเพจเกิดขึ้นมาได้ยังไง ตอนนั้นเรามองศักยภาพของตัวเองยังไงบ้าง?

ตานุ: อย่างที่บอกไปว่าผมชอบเล่าเรื่องให้เพื่อนฟังอยู่แล้ว แล้วตอนนั้นไอ้น่อมมันไปเรียนแอนิเมชั่นมามันเลยรู้สึกว่าเราจับคู่กันได้ แต่ว่ามันไม่มีแรงจูงใจเพราะคิดว่าทำไปก็คงไม่รอดจนกระทั่งน่อมมันบอกว่ามีทุนรัฐบาลสำหรับสื่อหน้าใหม่เลยฟอร์มทีมกัน ก็ไปทาบทามแชมป์กับเอมมี่… แน่นอนอยู่แล้วแหละว่ามันไม่มีใครคิดหรอกว่ามันจะเป็นงานประจำได้ ช่วงแรกเลยเป็นการทำเพื่อขอทุน ก็ทำมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งประกาศผลว่าเราไม่ได้ทุนแต่คนก็ติดตามเพจเป็นหมื่นแล้วก็เลยลุยกันต่อ ก็กินเงินตัวเองไปอีกไม่นานก็มีลูกค้าเข้ามา พูดก็เลยกลายเป็นบริษัทที่เป็นการเป็นงานแล้วก็เป็นงานของทุกคนจนถึงทุกวันนี้ครับ

แต่ละวันเพจพูดทำงานกันยังไงบ้าง?

ตาแวะ: ถ้าให้พูดคร่าว ๆ คือแต่ละคนทำงานไม่เหมือนกัน ทำเวลาไม่เท่ากัน ทำวันก็ไม่ตรงกันนะ 

ตานุ: แต่ว่าขอให้แค่งานเสร็จ

ตาแวะ: ใช่ คือเราก็มีเดดไลน์ว่าจะลงวิดีโอทุกอาทิตย์ ก็วางแผนล่วงหน้าอย่างเช่นเขียนบทก็เขียนก่อนสักสอง-สามอาทิตย์ประมาณนี้ แล้วก็มาวางสตอรี่บอร์ด ทำกราฟฟิค… ก็ทำให้มันเสร็จทันก็พออ่ะ ทุกคนจะรู้หน้าที่ตัวเอง

ตานุ: ซึ่งนั่นก็หมายความว่าวันหยุดเราไม่เท่ากัน แต่ว่าไม่เท่ากันโดยจงใจเพราะบางคนขี้เกียจเช่นผมเนี่ย… คือไม่ใช่ว่างานเยอะอะไรหรอก

เอม: ต้องบอกว่าแต่ละคนมีลักษณะนิสัยที่ไม่เหมือนกัน

ตานุ: ใช่ สมาธิสั้นชอบทำงานหลายวันแต่วันละน้อย ๆ

เอม: เอ้อ บางคนชอบทำรวดเดียวให้เสร็จแล้วก็พักยาว ๆ

ตานุ: คือเฉลี่ยแล้วมันไม่ได้มีใครมีเนื้องานมากไปกว่าใครเท่าไหร่ มันพอ ๆ กัน

ตาแวะ: คืออย่างกราฟฟิคเนี่ยเขาจะทำประมาณสามวันถึงสี่วันก็คือจันทร์ถึงพฤหัสฯ เพราะว่าเราลงวันพฤหัสฯ ก็เลยกะทำให้เสร็จวันพฤหัสฯ หรือไม่ก็วันพุธ ถ้าเป็นพี่นุจะทำหกหรือห้าวัน ก็คือพากย์วันละสอง-สามชั่วโมงแล้วก็มาเขียนบทบ้างอะไรอย่างนี้ ส่วนแชมป์ก็สาม-สี่วัน แต่ว่ามีหน้าที่เสริมคือคุยกับลูกค้ากับอัดพอดแคสต์ด้วย

ก็คือพูดง่าย ๆ ว่าฟรีสไตล์กันเลยใช่มั้ยครับ? ยังไงก็ได้แค่งานเสร็จ

แชมป์: ใช่ครับ บางทีพักกลางวันสามชั่วโมงด้วย (หัวเราะ) เราก็ค่อย ๆ ปรับอ่ะเพราะตอนแรกมันไม่ได้ทำอย่างนี้ ตอนแรกมันก็ทำขั้นต่ำห้าวันแล้วก็ปรับมาเรื่อย ๆ เราก็ทดลองวิธีการทำงานหลายอย่างจนลดเหลือสี่วัน พอมาปีนี้ก็เหลือวันทำงานแค่สามวัน

ตาแวะ: จริง ๆ จุดหนึ่งคิดว่าเพราะทุกคนเก่งขึ้นด้วยแหละ คือช่วงแรกก็อาจจะยังไม่คล่อง ปกติเขียนบทก็ใช้เวลาสอง-สามวัน พากย์เสียงเป็นอาทิตย์อะไรอย่างนี้ ตอนนี้เหมือนทำบ่อยจนทุกคนก็เริ่มคล่อง

ตานุ: เปลี่ยนวิธีการทำงานด้วย อย่างฝั่งตัดต่อที่ตอนแรกจะโยนวิดีโอให้แต่ละคนตัดคนละชิ้นเลย พอมาตอนหลังก็รู้ว่าสามคนรุมตัดต่อชิ้นอ่ะสบายกว่าเยอะ เพราะว่าแต่ก่อนจะมีความรู้สึกว่าถึงงานจะเสร็จช้าแต่มันจะมีงานตุนไว้ลงอยู่

เอม: ถ้าถามว่าเคยทำงานชิ้นหนึ่งนานแค่ไหนเนี่ย อย่างคลิปแรก ๆ นี่ทำตั้งแต่เช้ายันเย็นแต่ทำอยู่เดือนนึงก็ยังไม่เสร็จเลย

ตานุ: แล้วพากย์เสียงก็พากย์อยู่ครึ่งเดือนอ่ะ เพราะว่าทำไม่เป็น

เอม: ช่วงที่จะเอาวิดีโอไปส่งเอาทุนเนี่ย แค่ทำซับก็คือใช้เวลาหลายวันแล้วเพราะต้องเปลี่ยนไปมาให้ข้อความมันถูกที่สุด ไหนจะ fact check เรื่องข้อมูลอีก

แชมป์: จำได้เลยว่าคลิปวิดีโอแรก ๆ อ่ะตอนที่ตรวจซับอ่ะเครียดกันมากเลย แบบดูกันหลายรอบมาก

เอม: ใช่ พวกคำว่า เขา เค้า และ ก็ อะไรพวกนี้

แชมป์: แต่พอทำความเข้าใจตรงกันมันก็เหมือนร่นเวลาไปได้เยอะอ่ะ

ขั้นตอนการเตรียมการในแต่ละงานอย่างไรบ้าง?

ตานุ: ถ้าเป็นแต่ก่อนผมจะเป็นคนหาข้อมูลแล้วก็เขียนบท เขียนสตอรี่บอร์ด พากย์เสียงแล้วก็ส่งให้ทีมตัดต่อประมาณนี้ แต่ว่าหลัง ๆ ภาวิชชจะเป็นคนหาข้อมูล พอหาข้อมูลเสร็จเราก็มาเขียนบทกัน

ตาแวะ: เขียนบทกันสองคน

ตานุ: ใช่ รุมเขียนกันสองคนมันเร็วกว่าเยอะอ่ะ เป็นระบบว่าหาข้อมูลน่ะหาคนเดียว แต่รุมสองคนตอนเขียนบท

ตาแวะ: คือแบบถ้าเขียนบทคนเดียวเราจะคิดเยอะและเครียดกับตัวเองว่าแบบ ประโยคนี้กูจะเขียนออกมาให้หน้าตายังไงดี แต่พอมีสองคนก็จะเหมือนแค่พูดให้ฟัง

ตานุ: แบบพูดให้ฟังว่า “ประโยคต่อไปเอาอันนี้ดีป่ะ” แล้วเหมือนพอมันได้พูดประโยคนั้นออกมามันก็จะรู้เลยว่าคำนี้ได้หรือไม่ได้เลย

ตาแวะ: โปรเซสมันไวขึ้นเยอะพอเขียนสองคน

แชมป์: คือให้นึกภาพว่าการเขียนบทของเรามันไม่ใช่นั่งเขียน มันเป็นเหมือนนั่งคุยกันมากกว่า แล้วก็มีคนพิมพ์

ตานุ: ส่วนพวกฟุตเทจก็ให้คนที่เป็นคนเขียนสตอรี่บอร์ดต้องไปหาฟุตเทจ เพราะว่าก็จะต้องบอกเพื่อนว่าใช้ฟุตเทจอันนี้นะ

แชมป์: แล้วก็ต้องอธิบายในส่วนที่ไม่ใช้ฟุตเทจว่าจะเป็นโมชั่นกราฟฟิคหรือแอนิเมชั่นอะไรก็ว่าไป

ตาแวะ: สิ่งที่ช่วงหลัง ๆ เราทำก็คือว่าเราไม่ได้ใช้ฟุตเทจตรงกับที่พูดขนาดนั้นเพราะรู้สึกว่าบางทีมันไม่จำเป็นอ่ะ บางประโยคที่มันเข้าใจง่ายอยู่แล้ว มันไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลยแค่วางรูปวางฟุตเทจแค่ให้เห็นไอเดียก็พอ ไม่ได้ถึงขั้นที่เป็นสิ่งที่เขาทำเป๊ะ ๆ ตามที่เราพูดเป๊ะ ๆ อะไรอย่างนี้

ตานุ: ซึ่งถ้าพูดถึงฟุตเทจที่อาจจะไม่ต้องเกี่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ต้องถามเอมมี่เพราะว่าเอมมี่จะชอบไปหาฟุตเทจการ์ตูนมา

เอม: คือเราชอบดูการ์ตูนแล้วก็ถ้าดูคลิปของพูดมาก็จะเห็นว่าจะมีช่วงบางตอนที่คำพูดมัน abstract มากแบบ…

ตานุ: คือบางคำพูดมันไม่สามารถจะมีฟุตเทจไหนเกี่ยวกับมันได้ เช่นบอกว่า “เอาล่ะ แต่ว่ายังไงกันเนี่ย” อะไรอย่างนี้นึกออกมั้ย แบบมันเป็นคำเชื่อมอ่ะ มันไม่รู้จะเอาอะไรมาอุด เอมมี่จะเซียนเรื่องนี้มากเช่นอยู่ ๆ มันก็จะเอาฟุตเทจจากเรื่อง SpongeBob มาใส่ แล้วมันก็ลงตัวพอดี

เอม: คือเราดูการ์ตูนเยอะแล้วก็ชอบจำว่าฉากนี้มันตลกดี หรือซีนนี้มันสามารถเก็บเอาไว้ใช้ทำอะไรได้ เราก็จะส่งให้เพื่อนเอาไว้ใช้

แชมป์: มันจะมียุคนึงที่เรามีวิดีโอจตุรัสที่เรียกว่า “พูด มินิ” มันทำให้เราได้สั่งสมประสบการณ์การใช้มีมกับสต็อกโฟโต้ ใช้อีกรสนิยมนึงมาผสม มันก็เลยทำให้เรามีอุปกรณ์ในการอธิบายหรือเปรียบเทียบให้คนเข้าใจง่าย ๆ แบบเก็ทความรู้สึกว่าเราพูดถึงอะไรอยู่ประมาณนี้

ตานุ: การใช้มีมพูดมินิเป็นหนึ่งในฟุตเทจที่อาจจะไม่ต้องเกี่ยวเป๊ะ ๆ กับคำพูดก็ได้ แต่มันเวิร์คไง แล้วบางทีมันก็กวนตีนเหี้ย ๆ เลย อย่างในคลิป “พม่าไม่ได้เผากรุงศรี” ที่ในบทพูดจะบอกว่า “แม่ทัพพม่าเขาบอกว่ากรุงอโยธยาตียาก” เราก็ไปเอาฟุตเทจเบื้องหลังกองถ่ายที่สัมภาษณ์นักแสดงที่เล่นเป็นแม่ทัพพม่ามาอธิบายว่ามันตียากเว้ย

แล้วในด้านแอนิเมชั่นล่ะ?

ตานุ: อันนี้ต้องถามน่อมกับเอมมี่ อย่างน่อมก็พูดได้ว่าต้องไปอ่านหนังสือ หา reference แอนิเมชั่นที่ชอบอะไรอย่างนี้

น่อม: ก็ดูไปเรื่อย ๆ อ่ะ เราชอบดูพวกแอนิเมชั่นต่างชาติเยอะ ๆ พอดูเยอะก็รู้ว่าเขาใช้ทรานซิชั่นยังไง ตัดทอนยังไง เคลื่อนไหวยังไงให้คนเข้าใจง่ายขึ้น ดูแล้วก็คิดตามว่างานเราทำแบบนี้มันจะโอเคมั้ย

เอม: น่อมมันจะชอบส่งไอจีศิลปินที่ทำโมชั่นแล้วเป็น GIF มาให้ดูเอาแล้วก็ถามว่าคลิปนี้เอาแบบนี้มั้ย อะไรประมาณนี้

ตาแวะ: จริง ๆ มันก็คือ art director นั่นแหละ ที่นี่ทุกคนทำหลายตำแหน่งมาก สลับไปสลับมามั่วมาก (หัวเราะ)

ตานุ: คือน่อมมันเป็นคนที่ชอบดูแอนิเมชั่นทุกวันอยู่แล้ว สไตล์ต่าง ๆ ที่มันชอบมันก็เก็บไว้เยอะ เพราะฉะนั้นเวลามันต้องคิดแอนิเมชั่นมันก็จะมีแอนิเมชั่นในคลังสมองเยอะเหมือนกันที่จะเลือกเอามาใช้

แชมป์: จริง ๆ ก่อนจะไปถึงขั้นนั้นมันจะมีสตอรี่บอร์ดของเฉพาะส่วนที่เป็นแอนิเมชั่นหรือโมชั่น เอมมี่ทำยังไงหลังจากที่ได้บรีฟ

เอม: เราก็เอามาคุยกับน่อมว่าเราจะทำเป็นภาพยังไง แล้วเราก็มาดูว่าจะใช้สไตล์ไหนดี แต่ว่าสุดท้ายน่อมก็จะเป็นคนวาดมันออกมาแล้วกระจายไฟล์ให้แชมป์กับเรา พอกระจายไฟล์ไปก็จะเป็นหน้าที่ของแต่ละคน เรามีอีกหน้าที่หนึ่งคือตัดพาร์ทว่าใครจะทำตรงไหนบ้าง สมมติว่าได้เสียงมาเราก็จะเป็นคนตัดว่าโอเคพาร์ทนี้น่อมทำนะ เราทำนะ แชมป์ทำนะ แล้วก็เป็นคนตรวจซับด้วย คือเอาบทที่ใส่เรียงกันเยอะ ๆ มาทำเป็นซับ

การเป็นเพจให้ความรู้แสดงว่าต้องมาจากพื้นฐานการเป็นคนชอบอ่าน อ่านหนังสือกันเยอะขนาดไหน?

ตานุ: คือเราอ่ะจะชอบอ่านบทความกับดูวิดีโอมากกว่า ส่วนคนอื่นก็มีอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ภาษาไทย มันก็เลยเหมือนเสพทุกสื่ออ่ะ

ตาแวะ: แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงทำวิดีโอแบบนี้ออกมาน่าจะมาจากยูทูบซะเยอะ คือชอบดูช่องของฝรั่งแล้วบางทีมันก็จะเกิดความสงสัยไปเรื่อย ๆ เอง

ตานุ: ใช่ ๆ เพราะบางทีถ้าดูยูทูบในส่วนที่เป็นช่องความรู้ของฝรั่งมันจะมีทุกคำถามบนโลกเท่าที่จะคิดได้อ่ะ อย่างขี้มูกคืออะไรอย่างนี้ หรืออย่างคลิป “ฝุ่นทำจากอะไร ทำไมหน้าตาแบบนั้น?” อันนี้ก็ได้ไอเดียมาจากฝรั่ง คือถ้ามีความสงสัยมันก็ไปได้เรื่อย ๆ อ่ะ

ตาแวะ: บางทีเราก็ได้ไอเดียจากหนังสือที่อ่านเพราะอ่านทุกประเภทอยู่แล้ว ถ้ามันเจออะไรที่น่าสนใจก็จะเก็บไว้ แต่ก็ไม่ได้ใช้ความรู้เก่าที่มีมาทำนะ บางทีมันก็เป็นแค่ความสงสัยที่เกิดจากการอ่านบทความอื่นมาเฉย ๆ แล้วก็มาถามกันว่าจะทำเรื่องนี้มั้ย ถ้าทุกคนโอเคก็ไปศึกษาเพิ่ม

แชมป์: สิ่งที่เราทำมันคือการจับใจความอ่ะว่าเราจะอธิบายเรื่องนี้ให้คนอื่นเข้าใจได้ยังไง แล้วก็บวกกับความอยากรู้เหมือนกันเพราะว่าเราอยากรู้หลายเรื่อง… บอกว่าอยากรู้ทุกเรื่องเลยก็ได้

ตานุ: แต่จริง ๆ วิดีโอหลาย ๆ ชิ้นนี่เหมือนทำเพื่อตอบความอยากรู้ของตัวเองอ่ะ อย่างเรื่องเห็ดที่ทำไปล่าสุดนี่คือน่อมรีเควสมาแล้วก็ทำจริง ก็เลยได้รู้ว่าเห็ดคืออะไร

ตาแวะ: อย่างเรื่องที่เพิ่งทำไปเมื่อเดือนที่แล้วคือเรื่องสีม่วงอ่ะ อันนี้เราไปอ่านประวัติศาสตร์ของโรมันมาแล้วเหมือนเจอแค่มันเขียนไว้ท่อนนึงว่ามีอาชีพหนึ่งที่เป็นคนทำสีม่วงแค่สีเดียวเลย ก็รู้สึกว่าน่าสนใจเลยมาคุยกันว่าจะทำ

ตานุ: แล้วสุดท้ายก็ทำแล้วก็ได้เรื่อง “โลกยุคโบราณ: เมื่อสีม่วงแพงดั่งทอง!” ออกมา

ตาแวะ: ใช่ ก็มาจากอะไรประมาณนี้ ตอนนั้นที่อ่านก็รู้แค่นั้นแหละว่ามันมีอาชีพนี้ ก็ไปศึกษาปรากฏว่ามันมีอะไรน่าสนใจอีกเยอะเลย

มาคุยเรื่องพอดแคสต์บ้างครับ ในส่วนนี้เราทำงานกันยังไง?

แชมป์: คือตอนแรกอ่ะเราก็คุยกันว่าจะทำแค่วิดีโอ การเกิดขึ้นของพอดแคสต์มันมาจากที่คนเขาคอมเมนต์มาเยอะมากเลยว่าจะทำมั้ย

ตานุ: ส่วนเรื่องการเลือกแขกเนี่ย มันจะมีช่วงที่เราร่วมงานกับ Common School ของคณะก้าวหน้า แล้วในคณะก้าวหน้าก็มี อ.ปิยบุตร ธนาธร หรือคนอื่น ๆ อยู่ ซึ่งมันก็แน่นอนว่าน่าเชิญเขามาออกพอดแคสต์เพราะว่าเขาก็เป็นคนที่น่าสนใจทั้งนั้นอ่ะ นี่เราก็เชิญมาออกเกือบหมดคณะแล้วมั้ง (หัวเราะ)

แชมป์: เราก็เริ่มจากแวดวงคนใน Common School ก่อนแล้วก็ไล่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งถึงเราจะมีเนื้อหาที่หลากหลาย แต่จะมีซีรี่ส์หนึ่งที่เราเน้นก็คือซีรี่ส์ “มุมดาร์กคนทำงาน” ก็จะเชิญอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่พยาบาล คนกวาดขยะ คนทำงานกองถ่าย ไล่มาเรื่อย ๆ ซึ่งเรารู้สึกว่ายังไม่มีพอดแคสต์ช่องไหนในไทยที่ทำเรื่องเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งถ้าได้ติดตามพูดมาก็จะเห็นว่ามีหลายวิดีโอที่เราพูดถึงขบวนการแรงงาน สหภาพแรงงาน เราสนใจเรื่องพวกนี้มาก ๆ และอยากที่จะทำให้เห็นว่าคนแต่ละอาชีพหรือคนทำงานประเภทต่าง ๆ เขาต้องเจออะไรบ้าง

ตาแวะ: แต่จริง ๆ มันก็เกิดจากความบังเอิญในระดับหนึ่งนะ คือนอกจากพูดเนี่ย แชมป์เขาก็ทำงานที่เกี่ยวกับแรงงานอยู่ด้วยก็คือ “สหภาพคนทำงาน” เลยรู้จักกับคนที่เอามาออกพอดแคสต์

ตานุ: พูดง่าย ๆ ว่าหลัก ๆ ของแขกคือถ้าไม่ได้มาจาก Common School ก็คือมาจากขบวนการแรงงานนี่แหละ

ตาแวะ: ใช่ บางคนที่เป็นเพื่อนก็มี ด้วยตัวเพจและตัวพวกเราเองก็อยากสัมภาษณ์คนให้เยอะมากที่สุดเพื่อจะได้เห็นมุมมองของคนแต่ละสายอาชีพในสังคม ซึ่งก็คิดว่าน่าจะเป็นโปรเจคที่จะทำไปยาว ๆ นะ

แต่พอดแคสต์มันง่ายกว่าทำวิดีโอเยอะ ส่วนมากก็คือถ้ารู้ว่าจะเชิญใครมาก็แค่เหมือนกับนั่งลิสท์คำถามกันคร่าว ๆ ว่าจะพูดเรื่องอะไรเฉย ๆ เช่นถ้าเป็นนักการเมืองก็จะพูดเรื่องนโยบายหรือปัญหาด้านหนึ่งของประเทศ ถ้าเป็นสายอาชีพก็จะเป็นปัญหาของอาชีพนั้น ๆ แล้วก็เป็นความคิดเห็นเรื่องการแก้ไข แล้วก็ส่งคำถามให้เขาดูล่วงหน้า

แชมป์: เรื่องแขกรับเชิญเนี่ย เราพยายามสร้างสมดุลระหว่างคนทั่วไปกับคนมีชื่อเสียงด้วยแหละ เราไม่อยากให้พอดแคสต์เรามีแต่คนมีชื่อเสียง

แล้วมีการเลือก subject แต่ละคนยังไงบ้างครับ? อย่างเช่นตอน “มุมดาร์กคนกวาดขยะ กทม.” นี่มาจากการเดินไปขอเขาเลยรึเปล่า?

แชมป์: อันนี้น่าจะเป็นอันแรก ๆ เลยมั้งที่ทำให้เรารู้สึกว่าน่าทำเป็นซีรี่ส์ จริง ๆ คำตอบมันก็อยู่ในคำถามแหละเพราะอย่างที่บอกว่าเราทำขบวนการสหภาพแรงงาน แล้วมันมีช่วงหนึ่งที่เราทำโครงการศิลปะ เราก็ทำเรื่องไรเดอร์ส่งอาหาร คนกวาดขยะ คนทำงานโรงงานอะไรอย่างนี้ก็เลยไปขอสัมภาษณ์เขาแล้วก็ได้คอนแทคมาจากตรงนั้น มันเลยจุดที่ทำให้เราได้รู้จักเขา แล้วเราก็ชวนเขามาออกพอดแคสต์

ก็คือชีวิตในพูดก็จะวนเวียนอยู่กับขบวนการแรงงาน การเมือง เราเป็นคนที่ไปเชื่อมกับคนหลาย ๆ กลุ่มเพื่อที่จะเชิญมาออกพอดแคสต์ด้วย หรือบางครั้งก็เป็นภาณุกับภาวิชชที่มีเพื่อนที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ๆ หรือบางทีก็เป็นน่อมที่อ่านหนังสือแล้วอยากคุยกับนักเขียนคนนั้น ๆ เราก็จะชวนเขามา

เคยเจอปัญหาอะไรบ้างในการทำคอนเทนต์ท่ามกลางยุคสมัยที่เต็มไปด้วย echo chamber ?

ตานุ: คือคำถามนี้มันสามารถตีความได้สองอย่าง ผมตอบในแง่ที่ว่าตัวผมไม่ได้อยู่ใน echo chamber เพราะว่าผมไม่ได้ฟังแต่ฝั่งซ้าย… จริง ๆ เคยฟังแต่ฝั่งขวาอยู่ช่วงนึงด้วยเลยชินกับข้อโต้แย้งของเขาจนค่อนข้างมั่นใจว่ามันผิดหมดอ่ะ 

ผม: แบบ fact check งี้เหรอ?

ตานุ: อืม… ก็เลยคิดมาถึงจุดยืนทางการเมืองของตัวเองว่ามันไม่ได้มาจากการฟังฝั่งเดียว ถ้าฝั่งขวาผลิตข้อโต้แย้งที่มันถูกขึ้นมาเราก็ยินดีที่จะยอมรับว่าเขาถูกนะ แต่ว่าเขาแค่ไม่เคยทำแบบนั้นได้เท่านั้นเอง… แต่ช่วงนี้เราก็ทำเรื่องการเมืองน้อยลงไปนิดนึง

ตาแวะ: ส่วนตัวเรารู้สึกว่าวิดีโอของพูดมันไม่ได้ echo chamber เพราะเราแทบไม่เคยฟันธงอะไรเลยนะ มันเป็นการเสนอไอเดียมากกว่า มันเป็นการพูดให้คนเห็นภาพเปรียบเทียบกันมากกว่าว่าทำไมวิธีคิดแบบนี้ถึงมีอยู่แล้วทำไมมันถึงดี แต่ก็ไม่ได้บังคับว่ามึงต้องฟังกู คนอื่นแม่งเหี้ยอะไรอย่างนี้

ตานุ: แต่ว่าตัว audience จริง ๆ ก็ไม่ได้เห็นตรงกันเสมอไป เถียงกันเองบ่อยก็มี

แชมป์: จริง ๆ วิดีโอเราก็มีทัวร์ลงเยอะนะ

ตาแวะ: มันก็มีบางคนที่มาแบบไม่เห็นด้วยแต่มีเหตุผล แล้วมันทำให้เกิดดีเบตขึ้นในคอมเมนต์ที่เป็นดีเบตที่ดีอ่ะ มันทำให้เกิดความรู้ใหม่ คนที่เข้ามาร่วมก็จะรู้สึกว่าได้อะไรไปจากการที่เถียงกันเรื่องนี้

แชมป์: หรือเราเองในฐานะครีเอเตอร์ก็ได้อ่านความเห็น ได้เห็นว่าคนคิดยังไงหรือสะท้อนยังไงกับเนื้อหาของเรา มันก็สนุกแล้วก็เป็นธรรมชาติดี

แชมป์: แล้วเราก็ไม่ได้คอมเมนต์หรือบล็อกใคร ก็ให้คอมเมนต์ได้เต็มที่

หมุดหมายสำคัญของเพจ อยากทำอะไรสุด ๆ อยากผลักดันเพจไปทางไหน?

ตานุ: แน่นอนว่าเรื่องที่เพจพูดอยากผลักดันก็คือเรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงาน แล้วก็เรื่องขบวนการแรงงานเป็นหลักเพราะจะเห็นได้ว่ามันมีเรื่องนี้แทรกเข้าไปตลอดในการสร้างความเท่าเทียมในสังคม ทำไมเราถึงต้องมีขบวนการแรงงาน? เราจะทำยังไงให้ที่ทำงานเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น? ทำยังไงให้แรงงานมีปากมีเสียงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น? อันนี้ก็จะเป็นโปรเจคยาวที่ก็จะเห็นว่าแทรกเข้ามาในพูดตลอด

แชมป์: ทั้งในวิดีโอแล้วก็ในพอดแคสต์ด้วย ซึ่งตอนนี้ในพอดแคสต์ก็จะเยอะหน่อย

ตานุ: จริง ๆ จะบอกว่าเราทำเรื่องการเมืองน้อยลงก็ไม่ได้หรอก เรียกว่าคอนเทนต์วิดีโอหลักอ่ะไม่ค่อยการเมือง แต่ว่าพอดแคสต์อ่ะทำเรื่องการเมืองเยอะ

ตาแวะ: แต่จริง ๆ จุดมุ่งหมายก็คืออยากให้ประเทศนี้ดีขึ้นนั่นแหละ (หัวเราะ) คือรู้สึกว่าไหน ๆ เราก็มีเครื่องมือที่สามารถสร้าง awareness ให้เรื่องที่บางคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนได้ ยิ่งตอนนี้ทุกคนเริ่มรู้หน้าที่ของตัวเองในฐานะพลเมืองที่มีผลต่อการเมืองและประเทศเลยรู้สึกว่าของแบบนี้มันขายได้ดีเลย

แชมป์: มันเหมือนว่าจริง ๆ แล้วส่วนหนึ่งที่พูดเติบโตจนถึงขนาดนี้ได้มันก็มาพร้อมกับขบวนการประชาธิปไตยด้วยส่วนหนึ่งด้วยอ่ะ มันก็เป็นเหมือนจุดก้าวกระโดดขึ้นมา… ก็นั่นแหละก็อยากผลักดันเรื่องที่ภาณุพูดเพราะมันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนเป็นเจ้าของบริษัท อยากให้ช่วยขยายความหน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง?

ตานุ: คือเวลาที่พูดถึงประชาธิปไตยอ่ะเราจะคิดแค่เรื่องไปเลือกตั้งถูกมั้ย แต่ว่าจริง ๆ คือระบบเศรษฐกิจมันสามารถเป็นประชาธิปไตยขึ้นก็ได้ เช่นตัวอย่างที่เรายกบ่อย ๆ ก็คือในยุโรปที่บางประเทศมีกฏหมายว่าถ้าคุณมีคนงานเกินเท่านี้ บอร์ดบริษัทจำนวนเท่านี้ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือกฏหมายแรงงานของเขาที่แข็งแรง และแน่นอนว่าพอมีสหภาพที่แข็งแรงกว่าเรามากเนี่ย ตัวลูกจ้างหรือคนทำงานที่เป็นคนส่วนมากเขาก็ต่อรองคนส่วนน้อยที่มีเงินได้ มันอาจจะไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบแต่อย่างน้อยมันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แล้วมันก็ทำให้ทุกคนมีชีวิตดีขึ้นไง 

แต่ว่าประเทศเราไม่เคยเห็นประชาธิปไตยในมุมนี้เลย เท่าที่สัมผัสได้จากหลาย ๆ คนคือมองประชาธิปไตยในแค่แง่การเมืองการปกครองส่วนเรื่องในบริษัทก็แล้วแต่เจ้านายเอา ในความเป็นจริงมันก็คือเป็นเรื่องการเมืองที่ใกล้ตัวเรากว่าในสภาด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเราจะทำยังไงให้การเมืองในที่ทำงานของเราเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผมสนใจคอนเซปต์นี้แล้วทุกคนก็เห็นด้วยเลยตั้งพูดขึ้นมาโดยใช้ความคิดที่ทุกคนเป็นเจ้าของบริษัทเท่ากัน แบ่งเงินเท่ากันแล้วก็ไม่มีใครเป็นหัวหน้าใคร

หลายคนอาจจะคิดว่ามันไม่ทางเป็นไปได้หรอกที่จะให้เงินทุกคนเท่ากันเลยอยากขยายความตรงนี้หน่อยว่าพวกบริษัทที่ดำเนินกิจการในรูปแบบ cooperative (สหกรณ์ – ต่อไปขอใช้คำว่า co-op) ใหญ่ ๆ ก็ไม่ได้ให้เงินเท่ากัน แต่ความต่างจากบริษัททั่วไปคือบอร์ดบริหารของบริษัทมาจากการเลือกตั้งของคนงาน เพราะฉะนั้นถึงมันจะมีส่วนต่างแต่อย่างน้อยเงินเดือนของผู้บริหารมันยังยึดโยงกับคนส่วนมากในองค์กร 

สิ่งที่เราสัมผัสจากการบริหารองค์กรแบบนี้ก็คือมันดีทั้งในด้านสุขภาพจิต เงินในกระเป๋า แล้วทุกคนก็ตั้งใจทำงานด้วย และด้วยความที่ทุกคนเป็นเจ้านายมันก็เลยเหมือนไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะต้องรีบขยายกิจการหรือรับคนเพิ่มเพื่อทำงานเยอะกว่าเดิม สุดท้ายมันได้ work-life balance ซึ่งเรื่องนี้นอกจากจะมีงานวิจัยมาสนับสนุนว่ามันดีกว่าแล้ว เราว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทำให้ทุกคนตั้งใจทำงานมันมาจากการที่เราทุกคนเป็นเจ้าของบริษัทอ่ะ คุณไม่ใช่แค่ลูกจ้างที่ถูกสั่งให้ทำงาน

แชมป์: คือถ้าเทียบกับตอนที่เราเคยทำงานที่ก่อน ๆ เรารู้และเชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำแต่ถูกสั่งโดยหัวหน้าหรือเจ้าของบริษัททั้ง ๆ ที่บางทีเขาอาจจะไม่มีความรู้เรื่องนั้นก็ได้ พอมาทำพูดมันก็ได้คุยกันเรื่องงานว่าเราจะทำชิ้นนี้ดีมั้ย เราจะทำงานนี้ออกมาในลักษณะไหน ไปจนถึงเราจะเพิ่มงานดีมั้ย วิดีโอจะทำกี่ชิ้นต่อเดือน พอดแคสต์จะจัดกี่ตอน พอมาในเรื่องเงินเดือนเราก็มีสิทธิ์ตัดสินใจกันว่าจะขึ้นเงินเดือนรึเปล่า มันคือเกิดจากการตัดสินใจร่วมกัน

ตานุ: เอาง่าย ๆ เลยคือในระบบ co-op ผู้ถือหุ้นและคนทำงานคือสิ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นสุดท้ายในทางปฏิบัติ คนทำงานคือศูนย์กลาง ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต รายได้และความสุขของคนทำงานคือศูนย์กลางของบริษัท แต่บริษัทแบบขนบทั่วไปจะมีศูนย์กลางก็คือทำยังไงให้พูดถือหุ้นแม่งรวยที่สุดอ่ะ มันจะต่างกันตรงนี้

ตาแวะ: คือถ้ามีคนที่เป็นสายธุรกิจจ๋ามามองก็คงรู้สึกว่าพูดมีโอกาสทำเงินมากกว่านี้ สามารถขยายรายได้ ผลิตวิดีโอได้แปดอันต่อเดือน หรือว่าจะเพิ่มลูกจ้างเพิ่มแผนกได้ แต่เรารู้สึกว่าเท่านี้ก็พอแล้วในระดับหนึ่ง เราแฮปปี้ดีแล้วกับงานที่ออกมาเท่านี้ เรารู้สึกว่าการทำน้อย ๆ อย่างนี้มันก็ทำให้มีคุณภาพดีด้วย มากกว่าการไปอัดกันเยอะ ๆ

กระแสตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ช่วงเปิดเพจจนถึงตอนนี้ เราเรียนรู้อะไรจากมันบ้าง?

ตานุ: สิ่งที่ผมเรียนรู้ก็คือการได้ไปปะทะกับสังคม หมายความว่าพอผมได้แชร์ความคิดของตัวเองผ่านผลงานลงไปมันทำให้เราได้เห็นว่าเอ้อ คนมันคิดกันยังไง หรือเวลาที่ผู้ชมเสพผลงานเราแล้วเขามีข้อโตแย้งที่มีเหตุผลมันก็ทำให้เราต้องกลับมาลับวาทกรรมและข้อโต้แย้งของเราให้ดีขึ้น เราต้องออกแบบการเล่าเรื่องหรือการนำเสนอวิธีคิดของเราให้มันดีกว่านี้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่คิดว่าเรียนรู้มากที่สุดตลอดที่ทำพูด โดยเฉพาะในฐานะคนที่เขียนบท

ผม: เรียนรู้จากคลิปไหนมากที่สุดอ่ะ

ตานุ: อย่างคลิป “ทำไมไทยยังไม่มีรัฐสวัสดิการ??” เนี่ย คือเราไม่เคยคิดมาก่อนว่าผู้ชมจะให้ผลตอบรับเหมือนกันหมดคือในเชิงไม่เห็นด้วยเพราะภาษีในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการมันแพง เราก็เลยทำอีกวิดีโออีกชิ้นคือ “ รัฐสวัสดิการ: “เห้ย แต่ภาษีเขาแพงอ่ะ!” ” เพื่อที่จะบอกว่าภาษีแพงแล้วมันทำไม พูดง่าย ๆ คือถ้าไม่เคยปะทะกับสังคมเราก็ไม่รู้ว่าคนคิดแบบนี้กันเยอะขนาดนี้ เราก็เลยได้รู้ว่าจะต้องตอบคำถามผู้ชมว่าทำไมการขึ้นภาษีมันถึงคุ้ม อะไรอย่างนั้นอ่ะ

ตาแวะ: สิ่งที่ได้เหรอ… สิ่งที่ได้ก็คือเพิ่งรู้ว่าตัวเองเขียนบทได้ (หัวเราะ) ก็คือเรียนบัญชี ทำบัญชีอยู่สามปี พอได้ทำงานที่นี่มันก็ค่อนข้างจะหลุดแนวจากเดิม คือเหมือนว่าพอมาเขียนบทจริง ๆ ก็เลยรู้ว่าที่เราอ่านหนังสือมามันช่วยแค่ไหน อย่างการวางประโยคให้มันเข้าใจง่ายอะไรอย่างนี้… คือบางทีของที่เราไม่เคยทำจริง ๆ บางทีมันก็ทำได้นะ ต้องลองดูก่อน

แชมป์: สิ่งที่เราเรียนรู้ชัดเจนมาก ๆ ตลอดเกือบสองปีที่ผ่านมาคือคำว่าประชาธิปไตยในที่ทำงาน มันคือเครื่องมือที่จะทำให้คนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้จริง ๆ แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะมีทุนมาทำธุรกิจแบบ co-op มันก็เลยต้องมี “สหภาพแรงงาน” ไว้เป็นเครื่องมือให้คนทำงานได้ต่อสู้เพื่อค่าโอทีหรือวันหยุดกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เราไม่รู้ว่าอำนาจของเราคืออะไรมันก็เลยต้องมีสิ่งนี้เพื่อให้คนมันรวมพลังกันได้ ต่อรองสิ่งที่ทุกคนช่วยกันสร้างคืนมา อันนี้คือสิ่งที่เราเรียนรู้แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ

เอม: ของเราก็คล้าย ๆ แชมป์ ตอนแรกคือเรามาเพราะเพื่อนชวนเท่านั้นแหละ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิด ไม่มีอะไรในหัวเลย พอได้มาทำพูดก็เลยเห็นข้อเปรียบเทียบกับที่ทำงานเก่าเพราะตอนนั้นเราเป็นแค่ลูกจ้าง เรามีหน้าที่สอนและถ่ายวิดีโอเพื่อไปตัดต่อทำโฆษณาให้กับโรงเรียนนี้ด้วย ถึงเราทำอยู่ที่นั่นมาปีกว่าแต่เรารู้สึกว่าฝีมือเรา วิธีการตัดวิดีโอของเรามันไม่ได้พัฒนาเลยเพราะการทำงานสอนห้าวันแถมต้องตัดวิดีโอให้เขาวันต่อวันมันทำให้เราไม่มีเวลาหาความรู้เพิ่ม แต่พอมาทำที่นี่เลยมีเวลาหาข้อมูลเพื่อพัฒนาตัวเองมากขึ้น แล้วก็เรียนรู้อีกอย่างหนึ่งคือการเป็นเจ้าของธุรกิจมันไม่ง่าย มันเหมือนมีอิสระแต่ถึงไม่เหนื่อยกายแต่บางทีก็เหนื่อยใจอ่ะ มันก็มีบางช่วงที่กังวลว่าธุรกิจเราจะไปรอดมั้ย

น่อม: เราเป็นคนที่ไม่มั่นใจอะไรเลย ไม่มั่นใจทุกอย่าง ไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่มันดีรึยัง แต่พอทำงานกับคนหลาย ๆ คนแล้วเขาโอเคกับสิ่งที่เราทำก็เลยได้รู้ว่าเราทำให้มันได้นะ ข้อดีก็คือมันทำให้เราพัฒนาไปแบบไม่หยุดไง ถ้ามันยังไม่ดีก็ทำไปอีก ๆ

แชมป์: ขอสรุปจบแบบสั้น ๆ คือก็เราได้เรียนรู้ว่าจริง ๆ แล้วคนเรามันสามารถที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ได้ หลายอย่างที่เราไม่เคยทำอย่างการเขียนใบเสนอราคา หรือตัดต่อวิดีโอเราก็ได้มาทำและได้พิสูจน์ว่าเราทำได้ อยู่ที่นี่มันเหมือนได้ทดลองเต็มที่อ่ะเลยรู้สึกว่าจริง ๆ เราก็ทำอะไรได้หลายอย่างนะ คล้ายที่น่อมพูดคือมันเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองว่ากูก็ทำได้นี่หว่า

ภาพประกอบเสริม: ช่อง พูด

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า