สื่อสังคมออนไลน์ : เมื่อเกิดความขัดแย้งทางความคิด

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


ความขัดแย้งทางความคิดในสื่อออนไลน์ของสังคมไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งในแง่มุมการเมือง สังคม หรือแม้กระทั่งไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต สังคมออนไลน์มักสร้างพรรคพวก และขับไล่คนที่แตกต่างทางความคิดให้กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือเป็นอื่น เป็นวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม หรือ Binary Opposition สร้างความเป็น “อื่น” “สร้างความผิดปกติ” หรือสร้างตราประทับทางการเมืองและวัฒนธรรมให้กับฝ่ายตรงข้าม อาจให้นิยามความถูก-ผิดให้กับความคิดและความเชื่อของกลุ่มคนนั้น ๆ คือการมองความคิด ความเชื่อ แบ่งออกเป็นสองฝ่ายคู่ตรงข้ามกัน เช่น ขาวกับดำ ดีกับชั่ว ผิดกับถูก ที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ (วรวิทย์ ไชยทอง, 2557)

ปัญหาเหล่านี้นำมาซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทั้งการใช้ประทุษวาจา หรือ Hate Speech ต่อกลุ่มคนที่คิดต่างไปจากตนเอง โดยปราศจากการเห็นอกเห็นใจ หรือ Empathy หมายถึงทักษะความสามารถในการเข้าใจคนอื่นถึงความคิด อารมณ์ หรือความรู้สึกของอีกฝ่ายโดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง สามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายสถานการณ์ ในจดหมายข่าวคณะอนุกรรมการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ได้ออก บทความชื่อว่า Digital Empathy เพราะโลกนี้ไม่ได้มีแค่ (พวก) เรา ปี 2564 โดยมีส่วนหนึ่งกล่าวว่า 

“การที่เราพิมพ์ข้อความหรือใช้ภาษาโจมตี ทำลาย หรือสร้าง ผลเสียให้อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นความรุนแรงเชิงการส่ือสารที่ไปทำร้าย ความรู้สึก และส่งผลต่อร่างกายได้เช่นเดียวกับการใช้กำลังทำร้าย ร่างกาย เพราะอาจไปสร้างความคิดเชิงลบให้เกิดขึ้น ทำให้ผู้รับสาร เสียความมั่นใจ สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง และกลายเป็นโรคซึมเศร้า ได้ซึ่งบางครั้งอาการทางกายก็มีผลมาจากจิตใจ และการ ถูกทำร้ายความรู้สึกทางวาจาหรือถ้อยคำอาจรุนแรงกว่าการทำร้าย ร่างกายเพราะติดอยู่ในใจเราได้ตลอดชีวิต”

ทั้งนี้ ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้กล่าวไว้ว่า “สิ่งที่เราขาดหายไปในการสื่อสาร คือ Empathy คำว่า Em คือ In แปลว่า ข้างใน Path คือ ความรู้สึก Empathy คือ การเข้าไปอยู่ในความรู้สึกผู้อื่น เราควรต้องใคร่ครวญว่าสิ่งที่เราจะสื่อสารคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร หากไปสร้างความรู้สึกทำร้ายเขาเราก็ไม่ควรสื่อสารออกไป”

Digital Empathy ในการสื่อสารออนไลน์ใช้หลักการเดียวกับการสื่อสารในชีวิตจริง สิ่งใดไม่ควรทำในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งนั้นก็ไม่ควรทำในโลกออนไลน์เช่นกัน สำหรับคำแนะนำแบบง่าย ๆ คือ คิดก่อนโพสต์ และอย่าสรุปเอาเองว่า “เขาไม่คิดอะไรหรอก” เพราะอีกฝ่ายอาจคิดไม่เหมือนเราก็ได้ ปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนที่ต้องการให้เขาปฏิบัติต่อเรา ไม่สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้คนอื่น หลีกเลี่ยงการโต้ตอบโดยใช้อารมณ์บนโลกไซเบอร์ ไปจนถึงการเปิดใจรับฟัง และเห็นอกเห็นใจผู้ที่มีความแตกต่าง ไม่เพิกเฉยเมื่อผู้อื่นถูกปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องในสังคมออนไลน์หรือถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

ทั้งนี้แล้วนอกจากการทำความเข้าใจเรื่อง Digital Empathy แล้ว ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ควรให้ความสำคัญในเรื่องการตระหนักรู้ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้การสื่อสารในชีวิตประจำวัน ว่าเมื่อตนเองใช้สื่อแล้ว ต้องตระหนักรู้และรู้คิดการใช้สื่อที่ถูกต้องในตัวของเราด้วย โดยการสร้างการตระหนักรู้นั้นควรปฏิบัติอย่างไรบ้าง

การสร้างการตระหนักรู้ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสาร

ความตระหนัก (Awareness) เป็นแนวคิดทฤษฎีด้านการสื่อสาร โดยใช้แนวคิดเชิงจิตวิทยาเข้ามาผสมผสานกับแนวคิดเชิงพฤติกรรมศาสตร์ Good (1973) กล่าวถึง กระบวนการเกิดความตระหนักว่าเป็นผลมาจากกระบวนการปัญญา (Cognitive Process) กล่าวคือ เมื่อบุคคลได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าแล้ว จะเกิดความคิดรวบยอดและนำไปสู่การเรียนรู้ เมื่อมีความรู้ในสิ่งนั้นจะนำไปสู่การเกิดความตระหนักในที่สุด ซึ่งความรู้และความตระหนักต่างก็จะนำไปสู่การกระทำหรือการแสดงพฤติกรรมของบุคคลต่อสิ่งเร้านั้น ๆ

องค์ประกอบที่ก่อให้เกิดความตระหนัก ตามแนวคิดของ เบรกเลอร์ (1986: 45) ได้กล่าวว่า ความตระหนักเกิดจากทัศนคติที่มีต่อสิ่งเร้า อันได้แก่ บุคคล สถานการณ์ กลุ่มสังคม และสิ่งต่าง ๆ ที่โน้มเอียง หรือที่จะตอบสนองในทางบวกหรือทางลบ เปิดสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์ โดยองค์ประกอบสำคัญที่ก่อให้เกิดความตระหนักมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ดังนี้

1. ความรู้ความเข้าใจ (cognitive component) จะเริ่มต้นจากระดับง่ายและมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ต้องสร้างระดับความรู้เท่าทันสื่อ การใช้สื่ออย่างมีสติให้กับผู้ใช้สื่อทั่วไป ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้สื่อทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงการให้ความรู้ความเข้าใจในระดับโครงสร้างทางสังคม เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา ฯลฯ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับกระบวนการคิดของมนุษย์ได้

2. อารมณ์ความรู้สึก (affective component) เป็นความรู้สึกด้านทัศนคติ ค่านิยม ความตระหนักชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี เป็นองค์ประกอบในการประเมินสิ่งเร้าต่าง ๆ ในบริบทวัฒนธรรมไทยด้านการเมืองมีความขัดแย้งมาอย่างยาวนานทำให้เกิดปัญหามาโดยตลอด ทำให้อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในประเทศไทยเกิดทัศนคติในทางการเมืองออกมาในรูปแบบสองขั้วมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้การสร้างความตระหนักรู้ในด้านอารมณ์ความรู้สึกต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมในสังคมไทยระดับมหภาค ให้เกิดความรู้และความเข้าใจในรูปแบบเดียวกันของประชากรในประเทศไทย

3. พฤติกรรม (behavioral component) เป็นการแสดงออกทั้งทางวาจา กิริยา ท่าทางที่มีต่อสิ่งเร้า หรือแนวโน้มที่บุคคลจะกระทำ การสร้างวาทกรรมความเกลียดชังทางการเมืองล้วนแล้วแต่เกิดมาจากวาจา กิริยา และท่าทางที่เกิดจากสิ่งเร้า คือความคิดที่แตกต่างจากขั้วตรงข้าม ทำให้คู่ตรงข้ามทั้งสองพยายามที่จะสร้างวาทกรรมมาเอาชนะอีกฝ่าย การจะสร้างความตระหนักรู้ในระดับพฤติกรรม ต้องเกิดจากการเปลี่ยนกระบวนการคิดของบุคคลนั้น ๆ ทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดปัญหาการสร้างความเกลียดชังที่เกิดขึ้นบนพื้นที่โลกออนไลน์

การใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ดีนั้น ผู้ใช้สื่อต้องตระหนักรู้ในตนเอง เข้าใจความรู้สึกผู้อื่นเห็นอกเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ในใจเรา โดยทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้น หวังเป็นแนวทางในการสร้างสังคมสื่อออนไลน์ที่ดีและเป็นมิตรกับทุกคน โดยปราศจากความรุนแรงและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มองทุกคนเป็นศัตรูและมุ่งแต่จะสร้างความเกลียดชัง หากลองย้อนมองตัวเองสักนิด คิดก่อนที่จะโพสต์ เราเองก็จะมีทั้งความสุขและความสบายใจในการใช้ชีวิตต่อไป

Content Creator

Graphic Designer