fbpx

เพราะธงรุ้งเดือน Pride มันมาคนละเฉด ดังนั้นจะมาเท่าเทียมเหมือนกันไม่ได้

เดือนมิถุนายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นเดือน Pride เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ และสนับสนุนให้เกิดการยอมรับและผลักดันกฎหมายเพื่อเท่าเทียม ซึ่งตลอดทั้งเดือนนี้ ทั้งไทยและทั่วโลก ต่างร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ พร้อมทั้งประดับธงรุ้งโดยทั่วไป 

สำหรับเพศที่หลากหลายเหมือนสีรุ้ง เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ การขึ้นธงรุ้งนั้น กลายเป็นสัญลักษณ์ร่วมที่ได้รับความนิยมในแง่ของ Pop Culture แม้แต่ในอุตสาหกรรมต่างๆก็พร้อมใจกันเพิ่มความหลากหลายทางเพศเข้ามาด้วย ทั้งในภาพยนตร์ซีรีส์ที่เพิ่มเติมตัวละครความหลากหลาย รวมถึงแบรนด์ต่างๆที่จัดแคมเปญร่วมไปด้วยทั้งช่วง Pride Month และเวลาปกติ

แต่กระนั้น ความ Pride ที่เพิ่มมากขึ้น ก็เลยกลายเป็นว่ามีหลายแหล่งที่การขึ้นธงรุ้ง ไม่ได้มาในรูปแบบของการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศจริงๆ หรอกนะเออ

เพราะฉะนั้น มันเลยมาเป็น Pride เหมือนกันไม่ได้

ธงรุ้ง และ นัยยะทางการเมืองที่แยกออกจากกันไม่ขาด

จุดเริ่มต้นของธงรุ้ง ไม่ว่าจะอย่างไร ก็เป็นเรื่องราวของการเมืองและการเรียกร้องในด้านของกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ทลายอคติในภาพจำของ HIV ในอเมริกา นำไปสู่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการรับรองสมรสเท่าเทียม และสิทธิในการมีบุตรของชายรักชาย สัญลักษณ์ธงรุ้งจึงเกี่ยวข้องกับการรวมตัวกันของเพศหลากหลาย ที่ถูกผลักให้กลายเป็นชายขอบของสังคม แทนสัญลักษณ์ด้วยสีทั้ง 6 เฉด และตัวอักษร LGBTQ ที่เรียงมาร่วมกัน

การเดินทางของธงรุ้งนั้นเริ่มมาจากปลาย 80’s ลากยาวมาถึงปัจจุบันและลามไปในหลายประเทศ ทำให้เรื่องราวของการขับเคลื่อนทางเพศในปัจจุบัน อยู่กับสองประเด็นที่สำคัญเสมอ คือ 1.การผลักดันกฎหมาย และ 2.เพื่อลดอคติทางสังคม ในบางประเทศที่ถึงแม้การผ่านกฎหมายยอมรับความเท่าเทียมทางเพศจะผ่านไปแล้ว แต่การทำแคมเปญรณรงค์เพื่อลดอคติในสังคมยังคงทำต่อไป และงาน Pride Month ก็ยังจัดขึ้นเพื่อตอบสนองสิ่งนี้นั่นเอง

การชูธงรุ้ง จึงเป็นสองมิติที่สำคัญคือการเมืองและสังคม ซึ่งสองสิ่งนี้ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ขาด เพราะบ้างก็บอกว่า การยอมรับทางสังคมจะเกิดขึ้นได้ หากกฎหมายแก้ก่อน บ้างก็บอกว่า กฎหมายจะแก้ได้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม มันก็แยกออกจากกันไม่ได้อยู่ดี

เพราะสีรุ้งมันสง่าเหมือนดาว และมีมูลค่า

จากยุคที่สีธงรุ้งเป็นเรื่องของการเมืองอย่างจัดจ้าน ในประเทศต่างๆเริ่มแก้กฎหมาย และลดการเคลื่อนไหวในเชิงการเมืองลง เหลือเพียงการลดอคติทางสังคม และเพิ่มความหลากหลายเข้ามา ทำให้ธงรุ้งและ LGBTQ ถูกลากเข้ามาเป็นสีสัน ความแตกต่าง และเพิ่มความพิเศษให้กับมูลค่าต่างๆในอุตสาหกรรมมากขึ้น

ที่เห็นได้ชัดเจนอย่างอุตสาหกรรมบันเทิง ที่สอดรับกับการโอบรับความหลากหลายทั้งสีผิว เพศ เชื้อชาติอย่างชัดเจน ผ่านภาพยนตร์ ซีรีส์ เพลง และสื่อบันเทิงหลากหลายรูปแบบ สตูดิโอผลิตคอนเทนต์ยักษ์ใหญ่ ก็ไม่รีรอที่จะพูดว่าเขาสนับสนุนธงรุ้ง และเปิดกว้างทางเพศมากพอที่จะให้พื้นที่กับทุกเพศในเนื้องานของตัวเขาเอง อย่างเช่น Disney หรือ Netflix รวมถึงอัลกอริทึ่มของ Social Media ที่มีระบบตรวจจับ Hate Speech ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ และมีระบบแบนผู้ใช้ที่แสดงความเห็นในเชิงเหยียดคนชายขอบทันที

ในภาคเอกชนเอง การเพิ่มความหลากหลายทางเพศเข้ามาเป็นแคมเปญ ไม่เพียงแต่เป็นการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกระแสสากล แต่ยังเป็นการเพิ่มไลน์การตลาดและเพิ่มกลุ่มลูกค้ามากขึ้น กับการยอมให้โปรดักส์ของตัวเองมีภาพลักษณ์ที่สนับสนุน LGBTQ นั้น ทำให้หลายแบรนด์มีสีสัน และได้รับการยอมรับจากผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งกลายเป็นประโยชน์ต่อแบรนด์มากขึ้นกว่าเดิม

สิ่งเหล่านี้เริ่มทำงานในเชิงมูลค่าการตลาดอย่างชัดเจนขึ้น ในยุคที่เริ่มมีการเข้าถึง Social Media และเห็นเป็นตัวเลขมูลค่าที่ชัดเจน ประหนึ่งว่าธงรุ้ง เป็นการเปิดประตูบานใหม่ของโลกที่หลากหลายกว่าเดิมก็ว่าได้

เฉดที่ซับซ้อนของไทยและ Pride แบบลงกล่อง

ในสังคมไทยนั้น อาจจะแตกต่างออกไป ด้วยความซับซ้อนของการยอมรับเพสหลากหลาย ที่ไม่ใช่ลักษณะของขาวกับดำ เหยียดแบบสุดทางดังเช่นประเทศทางตะวันตก หรือรัฐศาสนาอื่นๆ สังคมไทยเป็นสังคมที่มีทั้งกลุ่มเกลียดกลัวเพศหลากหลายแบบสุดทาง แต่ก็ยังคละเคล้าไปด้วยกลุ่มคนที่รับได้กับการมีเพศหลากหลายอยู่ในสังคม ตราบเท่าที่พวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม และประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรมอันดี กล่าวคือ สังคมไทยเป็นสังคมที่ Terrolance หรือ อดทนอดกลั้นต่อเพศหลากหลาย แต่ยังไม่ Acceptance หรือ ยอมรับได้อย่างแท้จริง

ค่านิยม และประเพณี ที่ถูกผูกไว้กับสถาบันหลักของไทย บีบให้เพศหลากหลาย จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของ “คนดี” ตามขนบ ซึ่งด้วยความเป็นเพศที่เป็นประชากรชั้นรองลงมา การเป็นคนดี ก็ไม่อาจจะเพียงพอ จะถูกบีบให้ต้องพิสูจน์ตัวเองให้กลายเป็นเพศที่มีความคิดสร้างสรรค์ให้กับโลก และตลกร่าเริงซ้ำเข้าไปอีก ภาพจำของเพศหลากหลายของไทย จึงถูกจับใส่กล่องเอาไว้ให้เป็นบทบาทตายตัวในสังคม ซึ่งจะถูกยอมรับได้แต่เพียงภาพจำที่ง่ายที่สุด ส่วนการกดทับ และความยากลำบากจากการต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในสังคม จะถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัวโดยทันที

นั่นทำให้ชาวเพศหลากหลายแต่เดิม จะต้องมีเส้นทางชีวิตที่ไม่สมหวังไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเป็นเส้นทางที่ “ถ้าเลือกได้ ก็ไม่อยากให้คนใกล้ตัวเผชิญ” แต่ถ้าใครประสบความสำเร็จได้ ก็จะกลายเป็น “อย่างน้อย เขาก็เก่ง และเป็นคนดี” โดยไม่ได้ดูว่าในรายละเอียดระหว่างทาง มีสิ่งที่เพศหลากหลายในไทย ต้องจ่ายมากกว่าอยู่เยอะกว่าเพศชายหญิงในสังคม

การจัด Pride และการยอมรับเพศหลากหลายของไทยจึงเป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือการหยิบยืมแต่เพียงภาพสวยงาม และความสำเร็จของเพศหลากหลายที่เป็นไปในเชิงบุคคล ธงสีรุ้งที่มาในลักษณะของความสนุกสนาน เป็นอีเวนท์ที่เอาไว้เปลี่ยน Interface ดึงคนมาถ่ายรูปและติดแฮชแทค พ่วงกับโปรโมชั่นที่จะช่วยเพิ่ม Awareness และกลุ่มตลาดใหม่ รวมไปถึงการที่คนมีชื่อเสียง ต่างลงมาร่วมถือธงรุ้ง ติดแฮชแทค #PRIDEMONTH กันเพราะมันอินเทรนด์ดี แต่เลือกที่จะไม่มอง และไม่ให้ธงรุ้งของตัว ไปเกี่ยวข้องกับนัยยะทางการเมืองอื่นๆ 

ทั้งหมด ทำอยู่บนโครงสร้างกฎหมายไทย ที่ไม่สนับสนุนอะไรทั้งสิ้น

กฎหมายที่มาแบบคนละเฉด

ตลอดระยะเวลาที่ยาวนานความหลากหลายทางเพศในไทย การส่งเสียงอย่างแข็งขันว่า สิทธิในเรื่องเพศ = สิทธิมนุษยชน นั้น ไม่ใช่การส่งเสียงที่ง่าย เพราะนอกจากจะต้องขัดง้างกับผู้มีอำนาจ ที่ไม่ยอมเสียพื้นที่ผลประโยชน์ของตัวเองในเรื่องเพศไปแล้ว อคติในสังคม ยังเสริมพลวัฒน์ทางอำนาจนั้น กดให้เสียงของการเรียกร้องในเชิงกฎหมายไทย ให้ยากขึ้นไปอีก

สิ่งที่สะท้อนมาสู่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือมีสองทางเลือกที่ชัดเจน คือการกลับไปแก้ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายใหญ่ และมาตราที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดคือมาตรา 1448 ที่ว่าการสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายที่ก่อให้เกิดช่องโหว่มากมายของการเลือกปฏิบัติทางเพศ เพราะเพียงแค่ประโยคเดียว แต่มันไม่ครอบคลุมความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นมากในสังคม และทำให้เกิดมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมายลูกอื่นๆที่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง

ส่วนอีกฉบับ คือการใช้วิธีโปะเพิ่ม งอกออกมาเป็น “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ที่เหมือนเป็นกฎหมายเพิ่มพิเศษ ให้สิทธิในการสมรสกับเพศสภาพอื่นๆได้ แต่ พ.ร.บ. จะไม่เหมือนกับกฎหมายใหญ่ เสมือนว่าเป็นการแยกพิเศษออกมา ไม่ใช่การใช้กฎหมายเดียวกันกับคนอื่นๆในสังคม

ตลอดเวลาของการเรียกร้องเรื่องนี้ มีการปัดตกร่างการแก้ไข ปพพ.1448 มาโดยตลอด โดยรัฐบาลและศาลรัฐธรรมนูญที่เคยให้แถลงการณ์ไว้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ว่า

“ในสังคมไทย มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า การสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น ป.พ.พ. มาตรา 1448 จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน วัตถุประสงค์ของการสมรส คือ การที่ชาย-หญิง อยู่กินฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ มีการสืบทอดทรัพย์สิน มรดก มีการส่งต่อความผูกพันระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการสมรสในระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้”

ซึ่งคำแถลงการณ์นั้น ได้สวนกระแสทุกอย่างที่โลกกำลังจะเดินไป พร้อมกับงอกกฎหมาย DLC มาให้ลองใช้เป็นของขวัญเสียอย่างนั้น

การเรียกร้อง กับสิ่งที่เป็นไปของสังคมที่ไปกันคนละทาง กลับทำให้เห็นว่าการเดินทางของการขับเคลื่อน LGBTQ และธงรุ้ง กลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และมีเรื่องของมูลค่าในตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มาก ทำให้เป้าหมายแท้จริงของการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ถูกเบี่ยงเบนประเด็นไปได้มากในกระแสธารแห่ง Social Media Awareness ซ้ำร้าย ในสังคมไทย ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการงอกกฎหมายที่ย้ำเติมความไม่เท่าเทียมได้อีกด้วย

ฉะนั้น การยืนยันเพื่อให้เกิดการแก้กฎหมายใหญ่ที่กดทับ ดูเหมือนเป็นเพียงทางออกเดียวเท่านั้น ที่จะยุติความเหลื่อมล้ำทางเพศ และสร้างความเสมอภาคให้กับสังคม ในขณะที่การเรียกร้องให้อคติต่อเพศหลากหลาย และการโอบรับให้มากขึ้น จึงจะเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อๆไป เป็นอันดับรองลงมา เพื่อให้ Pride และ ธงรุ้ง ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ ได้มีจุดร่วมเป็นเฉดสีเดียวกันอย่างแท้จริง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า