fbpx

ThisAble.me เว็บไซต์คนพิการที่อยากให้คนทุกวัยเข้าใจมากขึ้น

หากพูดถึงเว็บไซต์ที่พูดถึงเรื่องความเสมอภาพของผู้พิการ ก็คงหนีไม่พ้นเว็บไซต์ ThisAble.me กันอย่างแน่นอน ด้วยเนื้อหาเว็บไซต์ที่พูดถึงเรื่องราว ปัญหา และสังคมของผู้พิการแทบจะทุกประเภท ประกอบกับเนื้อหาและการเล่าเรื่องที่เข้าถึงผู้คนได้ง่าย ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ได้เป็นหนึ่งกระบอกเสียงในการสื่อสารออกไปสู่สาธารณชน และก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น จนนำมาสู่หลายๆ เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้พิการได้รับความเสมอภาพมากขึ้น

วันนี้ The Modernist จะพาทุกคนมาทำความรู้จักเว็บไซต์แห่งนี้กัน ผ่าน 3 คน 3 มุมมอง ได้แก่ “หนู-นลัทพร ไกรฤกษ์” บรรณาธิการเว็บไซต์ฯ, “รักษ์-คชรักษ์ แก้วสุราช” และ “ฝน-พิชญา เตระจิตร” Content Creator ของเว็บไซต์ฯ ซึ่งเราจะมาเรียนรู้ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ พวกเขาต้องผ่านด่านอะไรกันมาบ้าง แล้วอะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนของพวกเขากัน

จากซ้ายไปขวา : “ฝน-พิชญา เตระจิตร” Content Creator / “หนู-นลัทพร ไกรฤกษ์” บรรณาธิการ / “รักษ์-คชรักษ์ แก้วสุราช” Content Creator จากเว็บไซต์ ThisAble.me

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

1
จากเด็กค่ายประชาไท สู่เว็บไซต์ผู้พิการอันดับ 1


Thisable.me จริงๆ เริ่มจากอะไร แล้วต่อยอดไปสู่เว็บไซต์จริงๆ ได้อย่างไร

หนู: เรากับรักษ์เป็นเด็กค่ายของประชาไทที่ชื่อว่า ‘ค่ายเขียนข่าวเพื่อพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ’ โดยการกำเนิดของค่ายนี้เกิดมาจากการที่ ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ เดินเข้ามาในออฟฟิศประชาไทเพื่อบอกกับ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ว่า ‘อยากให้มีค่ายเขียนข่าวเพื่อคนพิการจังเลยเพราะตอนนั้นชูเวชได้ทำโครงการเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลคนพิการในชุมชน เขามีกองข้อมูลอยู่ แต่ไม่มีพื้นที่ที่จะปล่อย ชูเวช เลยเข้ามาปรึกษาสำนักข่าวประชาไทว่า ‘เรามาจัดค่ายร่วมกันมั้ย?’ นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเกิดค่ายครั้งที่ 1 และเรากับรักษ์ก็เป็นผลผลิตของค่ายครั้งนี้

และหลังจากเสร็จค่ายครั้งที่ 1 ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ ก็ชวนเรามาฝึกงานต่อที่ประชาไท ทำอยู่ประมาณ 7-8 เดือน ก็เริ่มทำค่ายครั้งที่ 2 มันเหมือนเป็นค่ายต่อจากครั้งที่ 1 แหละ ตอนนั้นก็ดึงรักษ์มา ดึงหลายคนจากค่ายครั้งที่ 1 มาเป็นพี่เลี้ยงในค่ายครั้งที่ 2 นี้ด้วย 

และค่ายสอง ก็ใช้ชื่อเดิมคือ ‘ค่ายเขียนข่าวเพื่อพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ’ ก็มีทั้งคนที่พิการและไม่พิการมาสมัคร พอทำค่ายก็ค้นพบคำถามว่า ‘พอคนที่มาค่ายเขาเรียนรู้การเขียน มีเนื้อหา เป็นของตัวเองแล้ว เขาจะเอางานไปปล่อยที่ไหน’ มันไม่มีที่ลงงาน พอไม่มีที่ลงคนก็หาย คนมาอบรมแล้วก็หายไป เหมือนเป็นแค่ Portfolio ของตัวเองเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็เลยคุยกันว่าพอจบค่ายครั้งที่ 2 จะต้องมีแพลตฟอร์มนึง เพื่อให้มันเป็นพื้นที่ แต่ในตอนแรกมันเป็นพื้นที่แค่สำหรับคนที่มาค่าย ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้องกว้างขวางขนาดนั้น โดยมีเราเป็นคนจัดการเนื้อหาส่วนนี้ แรกเริ่มของ Thisable.me มันก็เกิดขึ้นมาแบบนั้น

การพัฒนาเว็บไซต์ของเราไปในทิศทางไหนต่อบ้างหลังจากเริ่มเปิดเว็บฯ

หนู: ในไทยไม่มีแพลตฟอร์มที่ทำงานเพื่อคนพิการอย่างจริงจัง พอ Thisable.me เริ่มขึ้นมา ช่วงแรก ๆ เราก็ไม่ได้วางแผนว่าจะเป็นสื่อที่จะมีคนรู้จักมากมาย อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่า เราวางตัวเองเป็นพื้นที่เท่านั้น แต่พอมันเกิดขึ้น และโชคดีที่มันได้รับความสนใจจากสื่อออนไลน์เยอะมาก มีคนเข้ามาคุยมาสัมภาษณ์ว่าเราคิดยังไง ทำไมเราถึงทำมันขึ้นมา มันก็เลยช่วยโปรโมทไปในตัวว่า Thisable.me ทำอะไร 

พอยิ่งดังยิ่งมี Challenge ใหม่ (หัวเราะ) เหมือนมันแบกความคาดหวังอะไรบางอย่างของสังคม ว่าพอคุณดัง คุณต้องยิ่งทำมัน เพราะฉะนั้นที่เราเคยฝันว่าเราเป็นแค่พื้นที่ มันก็จะใหญ่ขึ้น เราเริ่มเป็นสื่อ เราเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนพิการได้ และไม่ใช่แค่สำหรับคนที่มาร่วมค่ายเท่านั้น  อาจเป็นคนพิการและคนไม่พิการอื่น ๆ ในสังคม ที่มีความฝันร่วมกัน ว่าอยากเห็นงานประเด็นคนพิการมันจะต่อไปทางไหนยังไงได้บ้าง


2
จากพื้นที่เล็ก ๆ สู่กองบรรณาธิการ


บรรยากาศการทำงานในช่วงแรกๆ ไหลลื่นหรือติดขัดยังไงบ้าง

หนู: ตอนนั้นก็จะมีเรา มีน้องฝึกงาน และก็จะมีรักษ์ มาช่วยคิดนู่นคิดนี่ มาช่วยงานเรื่อย ๆ เพราะค่ายก็ทำตอนที่รักษ์มันเรียนอยู่ หลังจากมี Thisable.me รักษ์มันก็ยังเรียนไม่จบ แต่ก็มาช่วยทำคอนเทนต์ ทำวิดิโอนี่แหละ แต่ว่าถ้าถามว่าตอนแรกเริ่มเป็นยังไง เราคิดว่ามันเป็นเรื่องลำบากใจ ก็อย่างที่รู้ว่าประชาไททำประเด็นการเมืองค่อนข้างเข้มข้น ที่นี้ การที่เราทำประเด็นคนพิการคนเดียวมันก็ค่อนข้างโดดเดี่ยว คือประชาไทเข้าใจเรื่องการเมือง แต่ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจเรื่องคนพิการ แม้มันจะอยู่ในกรอบเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่มันก็ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงมาก 

อย่างเวลาทำงานเราก็อยากมีคนที่เราปรึกษาได้ คนที่เราแรกเปลี่ยนข้อมูลได้ในลักษณะของกองบรรณาธิการ แต่ว่าตอนทำงานคนเดียว ‘เราจะคุยกับใครวะ’ คุยกับใครเราก็เป็นคนที่รู้มากที่สุด พอเราไปถามกับคนอื่น ทุกคนก็เด๋อด๋ากันหมด ไม่รู้ว่าจะตอบยังไง ตอนนั้นเลยค่อนข้างเป็นความรู้สึกเหงาและคิดว่ามันไม่เวิร์ค ถ้าเป็นคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวก็คงรู้ว่ามันเป็นความทุกข์ อยู่ตรงนั้นมันรู้สึกว่าแบกความหวังของพี่ ๆ ที่พยายามฝึกงานเรามาตั้ง 7-8 เดือน เขาคงคาดหวังอะไรในตัวเราอยู่บ้าง อีกส่วนหนึ่งก็คงแบกความคาดหวังตัวเอง ที่เข้ามาทำแล้วก็อยากทำให้มันดี 

รักษ์: เราคิดว่ามันยากในการ Set up ประเด็นด้วยนะ เวลาเราก่อตั้งอะไรขึ้นมาสักอย่าง โดยเฉพาะในการทำงานคอนเทนต์ มันมีการคิดว่าสิ่งไหนเราควรทำ สิ่งไหนที่เราไม่ทำ และเราทำสิ่งเหล่านี้ไปทำไม มันต้องอาศัยวงคุยแม้จะเรื่องงานการเมือง มันดีตรงที่ว่าเรายืนอยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชน เรื่องคนเท่ากัน แต่มันก็มีรายละเอียดเยอะมากที่เราต้องคุย เช่น หลักความพิการในสมาคมที่ต้องคุยกันในแต่ละพื้นที่ คนหูหนวกมีประเด็นปัญหาของตัวเอง คนวีลแชร์ คนตาบอดก็มีปัญหาของตัวเอง รวมไปถึงปัญหาเชิงระบบ เชิงนโยบาย มันก็เลยยากเหมือนกันตอนที่เราเข้ามา

อุปสรรคในการเป็นสื่อออนไลน์เมื่อ 5 ปีที่แล้วเป็นยังไง มีข้อท้าทายยังไงบ้าง

หนู: เราคิดว่าจะทำยังไงถึงยืนระยะได้ ไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวเกินไป ถ้าพูดย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ตอนที่ Thisable.me เพิ่งเกิดขึ้น ประเด็นทางสังคมก็ยังไม่ได้เข้มแข็งเหมือนทุกวันนี้ ตอนนี้หลายคนต่อสู้เรื่องที่ดิน เรื่องสิทธิที่ทำกิน เรื่องชาติพันธุ์ เรื่อง LGBTIQ+ การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์มันเป็นไปได้จริง แต่เมื่อก่อนภาพมันไม่ชัดเท่านี้ ว่าการทำงานบนพื้นที่ออนไลน์มันแก้ปัญหาได้จริงรึเปล่า

รักษ์: มันก็ไม่ใช่ทุก ‘The’ ที่เกิดได้เนอะ เมื่อก่อนพวกเพจเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังไม่ค่อยเกิด โดยเฉพาะประเด็นสังคมพวกนี้ ไม่ได้แมสอะไรแบบนี้เลย ประเด็นเชิงที่ดินต่าง ๆ ก็ไม่ได้ความสนใจ แล้วคนดูก็ไม่ได้ Emotional หรือความรู้สึกต่าง ๆ จะพรั่งพรูออกมากับงานที่แล้วเราทำได้เท่ากับสมัยนี้


3
เพื่อคนพิการ สู่คนไม่พิการ


คอนเทนต์แต่ละชิ้นมีสารตั้งต้นจากอะไร และช่วยกันพัฒนาไอเดียยังไง

หนู: ช่วงแรก ๆ งานจะเกิดมาจากชุดประสบการณ์ส่วนตัวเยอะ เราว่ามันน่าจะคล้ายกันในทุก ๆ ที่ คือพอเราใหม่ เราไม่ได้มีแหล่งข่าว เราไม่ได้มีอะไรในมือ เราไม่ได้มี Source มากที่จะหยิบมาใช้ ก็จะมีตัวเรานี่แหละ (หัวเราะ) ที่จะหยิบออกมาได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะทำประเด็นที่เป็นประสบการณ์ของตัวเอง ประสบการณ์ใกล้ตัวต่าง ๆ เช่น การเรียน การเดินทาง อะไรแบบนั้น 

รักษ์: เราเริ่มมาจากการไม่รู้จักคนพิการเลย เมื่อต้องมารู้จักคนพิการ ก็ต้องมาทำความเข้าใจใหม่หมด เพราะสิ่งที่เราไม่รู้ เราก็ต้องรู้ คนพิการมันไม่ได้มีประเภทเดียว แต่พอเราทำไปเรื่อย ๆ เราก็ได้เห็นคนที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น คนที่นั่งวีลแชร์ก็แตกต่างกันถูกไหม บางคนขยับช่วงล่างได้ บางคนขยับไม่ได้ การจัดการก็ต่างกันไป เราคิดว่ามันมีอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา สำหรับเรามันเป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน อาศัยจากการที่คุยกับคนพิการ คุยกับพี่ ๆ น้อง ๆ คนรู้จัก หรือเพื่อนเรา

ในฐานะของคนไม่พิการที่เข้ามาทำงานประเด็นนี้ ยากหรือง่ายอย่างไร

รักษ์: มีคอนเทนต์นึงที่มาจากค่ายที่เราไปนี่แหละ เขาให้เราไปกับพี่คนนึง พี่เป็นผู้พิการนั่งวีลแชร์ เขาบอกให้เราไปกับพี่คนนี้ ไปกินข้าว เราก็งงว่าจะไปกินยังไง เรานึกไม่ออกว่าเราจะต้องช่วยคนพิการข้ามสะพานลอยยังไง หรือเราต้องอุ้มพี่เขาข้ามสะพานลอยคนเดียว ร้านอยู่ตรงข้าม แล้วถนนก็หลายเลน ไกลมาก พอไปถึงรถปรากฎว่าพี่เขาสามารถย้ายตัวเองขึ้นรถได้ เขาก็พาเราไปกินข้าวได้ เหมือนเราได้เห็นภาพใหม่ ว่าจริงแล้ว ๆ ก็มีคนพิการที่ดูแลตัวเองได้ จากแต่ก่อนที่เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภาระ สิ่งนี้มันเปลี่ยนโลกทัศน์เรา เช่น ในสถานที่เดิมที่เราเคยใช้ชีวิต แต่เมื่อเราได้ไปกับคนพิการ อย่างพี่หนู หรือพี่อีกหลาย ๆ คน เราก็พบว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนไป จากที่เราเดินของเรา 5-10 นาที แต่พอไปกับพี่คนพิการ ปรากฎว่าเราต้องเดินตัดเข้าไปในถนนเลย เพราะว่ามันไม่มีทางที่จะเดินขึ้นไปได้ หรืออย่างการข้ามสกายวอล์ค ปกติเราเดินนาทีเดียวก็ถึง แต่พอไปกับพี่คนพิการสองคนสามคน ต้องเรียกคนมายก ต้องดูสถานที่ว่าติดอุปสรรคมั้ย จากสิบนาทีมันเป็นหนึ่งชั่วโมง เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหา

ในฐานะคนเล่าเรื่อง มันก็ต้องเล่าในสิ่งที่คนพิการเห็น สร้างความเข้าใจให้คนไม่พิการรู้จักมุมมองของคนพิการ หรือสิ่งที่เขากำลังเผชิญ อย่างหลาย ๆ คอนเทนต์ เราคิดว่ามันได้รับความสนใจเพราะว่ามันขายให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างตอนที่สัมภาษณ์พี่คนนึง เขาพูดว่า ‘คนอื่นนั่งรถเมล์ไปกินข้าว ไปทำงาน 10-20 บาท ก็ถึงที่ทำงานแล้ว แต่เขาทำไม่ได้ เขาต้องเสียเงินกว่าครึ่งหนึ่งของเงินเดือนไปกับค่าเดินทาง’ ปรากฎว่าโพสต์นั้นคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเยอะมาก Feedback ก็ดีมาก  สำหรับเรา ๆ คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งคนไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้และเข้าใจมาก่อน

ฝน: มันยากมากสำหรับเรา ที่ต้องมาทำคอนเทนต์คนพิการ โดยที่เราไม่เคยใช้ชีวิตร่วมกับคนพิการเลย เราเคยเห็นคนพิการทั่ว ๆ ไปนั่นแหละ แต่เราจะเห็นในภาพที่เป็นคนขอทานบ้าง คนตาบอดที่ขายลอตเตอรี่บ้าง และเราก็ไม่รู้ว่าจริง ๆ ว่าเขาใช้ชีวิตยังไง เรายังมีความคิดของคนปกติที่มองคนพิการอยู่เยอะในคอนเทนต์ที่เราทำ เรารู้สึกว่าอาจจะต้องค่อย ๆ ปรับไปเรื่อย ๆ อยู่กับคนพิการไปเรื่อย ๆ และเรามักจะโดนคนมาพูดใส่เมื่อเขารู้ว่าเราทำงานให้กับคนพิการว่า ‘โอ้ยดีมากเลย มันเป็นบุญมาก ๆ เลยนะ เราช่วยเหลือเขา’ คนรอบข้างอาจจะคิดแบบนั้น และพูดแบบนั้นตลอด แต่ในใจคือ เรามาทำเพื่ออยากพัฒนาให้เขาได้มีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกับคนในสังคม มันเป็นสิทธิ์ที่เขาควรได้รับตามรัฐธรรมนูญ แต่เราไม่ได้เถียงเขานะ แค่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้มาทำบุญ

หนู: หรือชั้นจะขายบุญดีวะ? (หัวเราะ)

จัดการปัญหาหรือทัศนคติของผู้อื่นที่มีต่อเราอย่างไร

หนู: โดยบุคลิกของเรา เราเป็นคนไม่ค่อยสื่อสาร ไม่ค่อยบอกความรู้สึกของตัวเองให้คนอื่นฟัง เพราะกังวลว่าคนอื่นจะไม่เข้าใจ เราเคยมีความพยายามที่จะทำแบบนั้นแล้ว แต่ด้วยบริบทของความพิการที่ทำให้ชีวิตของเราต่างกัน การที่เราสื่อสารอะไรบางอย่างไป กลายเป็นถูกมองว่าทำไมเรื่องแค่นี้เราถึงต้องเครียดกับมัน หรือ ‘เรื่องแค่นี้คิดมากไปเปล่า?’  สำหรับเราเรื่องนี้แม่งใหญ่มากนะ เราเคยบอกกับเพื่อนว่า ‘การเป็นคนพิการแม่งเหนื่อยมากเลย กับการที่กูต้องขอความช่วยเหลือทุกวัน เหนื่อยงานไม่พอ กูยังต้องไปขอให้ยามเปิดประตูบีทีเอสให้กูทุกวัน’ เราก็ไม่ได้อยากเป็นคน Friendly ทุกวัน ยิ้มเพื่อบอกเขาว่า ‘พี่คะ เปิดประตูให้หนูหน่อย’ เรารู้สึกว่าเรื่องนี้แม่งขัดใจ คือเราไม่ได้อยากเป็นคนก้าวร้าวหรอก แต่ว่าบางวันแม่งเหนื่อย ก็อยากหน้าเหวี่ยง ๆ ก็ไม่ได้อีก พอไปเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็บอกว่า ‘ทำไมเรื่องแค่นี้ต้องคิดเยอะด้วยอะ’ พอเราเจออะไรแบบนี้หลาย ๆ ครั้ง การพูดอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับบริบทความพิการ และพูดไปถึงคนที่ไม่มีความพิการ เขาไม่เข้าใจ และมักจะ Ignore มัน เลยจะมีแค่ไม่กี่คนที่รู้สึกว่าเล่าได้และไม่ถูกตัดสิน ก็จะแชร์ให้คนนั้นฟัง การแก้ปัญหาก็เลยอยู่ที่ความรู้สึกว่าถ้าเราเล่าได้ ก็อยากเล่า 

คุณไม่ชอบแสดงออกถึงความรู้สึกตัวเอง แต่สารตั้งต้นในการสร้างชิ้นงานกลับมาจากความรู้สึกของตัวเอง ยากไหมที่จะแสดงความรู้สึกเหล่านี้ออกมา

หนู: (คิด) สำหรับเราการพูดสื่อสารมันยาก แต่ในแง่นึงเราไม่ได้ปฏิเสธการสื่อสารนะ เรามีประเด็นที่อยากสื่อสาร ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เราเคยทำ Photo Set ที่ถ่ายจากมุมคนที่นั่งวีลแชร์ คือเรารู้สึกว่ามุมนี้เป็นมุมที่ไม่เคยมีเพื่อนเราคนไหนเห็นเลย เนื่องจากเขายืน เขาเดิน และสูงตลอด เขาไม่เห็นมุมที่เห็นแต่ก้นคนอื่นตลอดเวลา เราทำรูปถ่ายเซตนี้ และจัดแสดงในระดับสายตาของเราด้วย คือถ้าจะดูก็ลากเก้าอี้มานั่งดู แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น คือการที่เราพยายาม Balance ความรู้สึกตัวเองมากกว่า เราไม่อยากสื่อสารมาก จนมันมาทำร้ายตัวเอง บางครั้งมันก็ก้ำกึ่งระหว่างงานกับความรู้สึกตัวเอง 

บางงานเรารู้สึกอินมาก ‘นี่คือเรา ในเวอร์ชั่นที่เราพยายามบอกว่าตัวเองเป็นคนอื่น’ แต่พอเราไม่สามารถบอกคนอื่นได้ว่านี่คือเรา เราก็จะไปหาคนอื่นที่จะสามารถ Represent ความรู้สึกของเราได้ มีงานนึงที่เราทำ เราไปสัมภาษณ์พี่คนนึงที่เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นโรคเดียวกับเราเลย เขามีน้องสาว และเป็นพี่สาวเหมือนกับเรา เรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาตอบคือสิ่งที่เรารู้สึกเลย เขาพูดว่า ‘เขารู้สึกว่าเขาไม่สามารถเป็นพี่สาวที่ดีมากพอสำหรับน้องเขา’ เนื่องจากทุกสิ่งที่อย่างที่ครอบครัวมี เงิน ความรัก การดูแลการเอาใจใส่ ถูกทุ่มมาที่เขาคนเดียว ขณะที่น้องสาวของเขา ซึ่งไม่ได้ทำผิดอะไรเลย  ก็แค่เกิดมาเป็นน้องเขา กลับไม่ได้รับในสิ่งที่ตัวเขาได้รับเลย 

บางครั้งเราก็สื่อสารผ่านตัวเราตรง ๆ ไม่ได้ เลยเอาไปสื่อสารผ่านงานอยู่บ้าง เราคิดว่ายิ่งทำงานก็ยิ่งได้เรียนรู้ ถ้าเราคุย หรือกล้าที่จะบอกความรู้สึกตัวเองมากขึ้น มันจะทำให้คนเข้าใจได้มากขึ้น บางทีเราตัดสินคนอื่นไปแล้วว่า เขาอาจจะไม่เข้าใจ หรือเขาอาจจะ Ignore มัน แต่ช่วงหลังเราก็เปิดตัวเองมากขึ้น เลือกที่จะไว้ใจคนอื่นบ้าง ว่าเขาก็มีวิจารณญาณในการรับฟังในแบบของเขา และถ้าเขาไม่เข้าใจทั้งหมดก็ไม่เป็นไร เพราะเราต่างก็มีชุดประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกัน เราเองก็ไม่เข้าใจเขาทั้งหมดหรอก

“ฝน-พิชญา เตระจิตร” Content Creator – ThisAble.me

4
จากความหดหู่สู่อารมณ์ขัน


ช่วงหลังมานี้เริ่มมีคอนเทนต์ที่ “กวน” และ “ยียวน” รัฐไทยเยอะขึ้น มันมาจากอะไร

รักษ์: มันก็เป็นสิ่งที่เราคุยกันเล่นสนุก ๆ เราเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เวลาไปเที่ยว เวลาเดินทาง หรือมีนัดสัมภาษณ์ จะไปไหนเราก็เจอแบบนั้น ก็เลยลองถ่ายรูปเล่น ทำกันบ่อยแต่ไม่ค่อยเป็นงานเท่าไหร่ หลัง ๆ ก็ลองทำเป็นงานดู เราคิดว่ามันคงใกล้ชิดกับคนมากขึ้นล่ะมั้งครับ ซึ่งมันก็ตรงกับ Point ที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นนะ ให้เหมือนกับพี่หนูเป็นเพื่อนคนนึง เดินทางไปด้วยกัน ไปกินข้าวกัน ไปช้อบปิ้ง และถ้าคุณไปกับเขาคุณจะได้เห็นอะไร 

จริง ๆ ในเรื่องคอนเทนต์ ก่อนหน้านี้เราก็ความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจต่าง ๆ  ผ่านรูปแบบวิดิโอ อย่างเช่น รายการ WHOLE IN ONE, รายการ Where Chill View Share แบบวิดิโอยุคโคตรเก่าเลย มันเป็นการสำรวจทัศนคติ วิธีคิดของคน หรือตั้งคำถามต่าง ๆ เช่น ‘คนพิการมีอารมณ์ทางเพศมั้ย?’ ‘คนพิการรู้สึกยังไง?’ เราก็พยายามชวนคุย แต่พักหลัง ๆ งานมันก็คงมีความตลกกันมากขึ้นแหละ

หนู: อย่าเครียดมาก (หัวเราะ) มันมีคอมเมนต์ในงานช่องนนทรีด้วยนะว่า ‘พิการจริงเปล่า ทำไมหน้าระรื่นจัง’ เราคิดว่าคอมเมนต์มันแสดงให้เห็นเลย ว่าทัศนคติของคนที่มองต่อคนที่มีความพิการมันเป็นยังไง เขามองว่าคนพิการจะต้องเศร้า มองว่าคนพิการจะต้องแต่งตัวซอมซ่อ ดูไม่ค่อยมีเงินอะไรแบบนั้น เราก็อยากทำให้เห็นว่า ‘คนพิการมันก็คน ๆ นึงแหละวะ’ ที่ต้องมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตในสังคมได้เหมือนคนอื่น ๆ

แต่ถ้ามองจริงๆ ก็ไม่ได้ตลกเท่าไหร่เลยใช่ไหม

หนู: มันก็ตลกร้ายนะ คิดว่ามันตัดสินใจง่ายเหรอที่จะลงถนน บอกเลยว่าคิดอยู่นานมาก กลัวตาย มันเป็นการตัดสินใจที่ลำบาก ที่เห็นในรูปอาจรู้สึกว่า ‘ไอ้เชี่x ทำไมกล้าลง’ แต่ไอ้ความกล้านั้นมันก็คือความไม่กล้าที่เป็นมาก่อนแล้ว มันไม่มีทางอื่น ไปไหนก็ไปไม่ได้ ถ้าจะให้ย้อนกลับไป ก็ต้องย้อนไปที่สถานีรถไฟเลย ไกลมาก

ตอนไปมันก็มีวินมอเตอร์ไซต์มาเสนอตัวช่วย ว่าเดี๋ยวช่วยยกขึ้นสกายวอลค์ แต่ ‘ การยกขึ้นสกายวอคล์ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันไม่ใช่บันไดสามขั้น’ แล้วมันใช่งานของเขาเหรอที่จะต้องมาช่วยยก ถ้าเกิดเขาเจ็บหลังมาเราทำอะไรได้? ได้แต่ความรู้สึกผิดกลับบ้าน เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายและสนุกเลย แต่ก็อยากให้เห็นว่านั่นคือที่ ๆ เราไม่มีทางเลือกอย่างแท้จริง ทำให้เราต้องเอาตัวเองลงไปเสี่ยงอยู่บนถนน ทั้งที่รู้ว่าบนถนนมันไม่ใช่ที่ของเรา 

ทีมงานและนักศึกษาฝึกงานของ ThisAble.me

4
Universal Design แบบไทย ๆ


Universal Design หรือการออกแบบเมืองในไทยมันเป็นอย่างไรบ้าง

หนู: เราคิดว่ามันต้องถูกคิดให้ใช้งานได้จริงด้วย ไม่ใช่คิดมาครึ่ง ๆ กลาง ๆ และเราพบว่ามันเป็นแบบนั้นตลอดเลย อย่างแถวห้วยขวางก็เป็น จากฝั่งออฟฟิศเรามันจะมีทางลาดลง แต่อีกฝั่งไม่มีทางลาดขึ้น เป็นฟุตปาธธรรมดา ‘แล้วลงไปเราขึ้นทางไหน ให้กลับทางเดิมรึไง’ เคยวิ่งลงไปรอบนึง แต่ไปต่อไม่ได้ ต้องกลับทางเดิม มอเตอร์ไซค์ตรงนั้นงง เกิดอะไรขึ้นวะ (หัวเราะ) 

รักษ์: หน่วยงานรัฐหรือคนที่รับผิดชอบในเรื่องแบบนี้ มักคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำไปก็ไม่มีคนใช้ อย่าง Braille Block เราว่ามันเป็นสิ่งที่หลายคนเคยคิดว่ามันไม่ถูกใช้จริง ไม่เคยเห็นคนตาบอดใช้ Braille Block หรือ เดินตาม Braille Block เลย แต่ในความเป็นจริงคือ คนตาบอดไม่ใช้ เพราะมันเสี่ยงตาย บางจุดมันก็ริมถนนมาก เสี่ยงรถเฉี่ยวชน บางจุดมันก็ติดกับผนังปูน หัวโขก หัวแตกกันมาเยอะแล้ว คนตาบอดเลยเลือกไม่ใช้

มันไม่ใช่แค่การมี Braille Block อย่างเดียว มันจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีด้วย รวมถึงช่วงที่มันมีกระแส ลูเต้อร์ สุนัขนำทาง คนก็นึกว่า ‘โอ้ สุนัขนี่แหละจะช่วยคนตาบอด เราต้องควรทำเลย’ แต่ในความเป็นจริงมันก็ไม่พออยู่ดี ต่อให้คุณผลิตสุนัขนำทางเพื่อคนตาบอดออกมาเยอะ แต่มันก็ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีและเหมาะสมด้วย ไม่ใช่ว่าคนตาบอดเดินไป หมามันลอดป้ายได้ แต่คนลอดไม่ได้ หัวโขก มันต้องประกอบกันในหลาย ๆ อย่าง  จะบอกว่าสะพานลอย ทางม้าลาย หรือสกายวอล์คนี่ดีไปหมด เชื่อมห้างได้ ใช้ในห้างได้ แต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้ใช้ในห้างตลอด และห้างไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง

แล้วมีการเปลี่ยนแปลงบ้างไหมในปัจจุบัน?

หนู: เรารู้สึกว่ามันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแหละ คงไม่ได้มีอะไรแย่ลง ๆ แต่เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ผ่านมา แล้วมันเปลี่ยนได้แค่นี้ เราว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมากจนแทบไม่เห็นเลยด้วยซ้ำ 

เราจำได้นะ เราเป็นเด็กจุฬาฯ และเราก็ใช้สกายวอล์คตรงพารากอน เพื่อเดินไปเซ็นทรัลเวิลด์ตลอดเวลา แล้วเมื่อก่อนสกายวอลค์ตรงนั้นจะมีบันไดอยู่สามขั้น อยู่ตรงแยกอังรีดูนังต์ มันจะเป็นทางลงสะพานลอยตรงถนนอังรีดูนังต์ แล้วจุดที่เชื่อมกันตรงนั้น มันจะมีบันไดสามขั้นที่บอกนั่นแหละ เราเคยแจ้งไปทางเขตตั้งแต่อยู่ปีหนึ่ง ว่ามันมีบันไดสามขั้นนี้แล้วมันทำให้เราไปไม่ได้ จบปีสี่ยังไม่แก้เลย เราไม่เข้าใจว่ามันใช้เวลาอะไรขนาดนั้น จนกระทั่งเราจบไปประมาณปีนึง ตอนนี้มันเลยทำใหม่ไปแล้ว ทำเป็นทางลาดหมดแล้ว 

เรารู้สึกว่าเขาก็คงอยากจะแก้แหละมั้ง แต่มันก็ช้าเหลือเกิน ในฐานะพลเมืองคนนึง การแก้ปัญหาที่ล่าช้าแบบนี้ มันทำให้เราเสียโอกาสในชีวิต เราไม่ได้มีอายุเป็นอมตะนะ อายุของเรามันมากขึ้นเรื่อย ๆ โอกาสในชีวิตของเรามันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ คุณจะชดเชยโอกาสที่เราเสียไปยังไงจากการที่เราไม่ได้รับสิทธิ์ในการใช้ชีวิต? เรารู้สึกว่าเขาไม่มีทางชดเชยอะไรได้เลย เขาไม่สามารถชดเชยเวลาหลายปีที่ผ่านมา ที่เราไม่สามารถมีสังคมร่วมกับสังคมได้ เรื่องตรงนี้มันไม่เคยถูกพูดถึง ว่าเขาจะเยียวยาคนที่ไม่มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตในนโยบายที่ห่วยแตกได้ยังไง

เด็กพิการหลายคนไม่ได้เข้าเรียนนะ พลาดโอกาสที่จะเรียน เพราะว่าเขาไม่สามารถไปโรงเรียนได้ หรือว่าโรงเรียนไม่รับเขา ถ้าตอนนี้เด็กคนนั้นไม่ได้เรียนจนอายุ 18 โรงเรียนจะรับเขาเข้าเรียนป.1 มั้ยอะ? เรารู้สึกว่าโอกาสและเวลาเหล่านั้นมันไม่สามารถย้อนกลับไปได้ เพราะฉะนั้นเราคิดว่าเรื่องอะไรที่มันเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตคน มันไม่ควรจะต้องรอ และบอกว่า ‘เรากำลังทำ’ ‘เรากำลังพัฒนา’ เพราะว่าบางคนเขารอไม่ได้


5
ความพิการกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง


การเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองในปัจจุบัน เรื่อง ‘ความพิการ’ เข้าไปอยู่ในกระบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้มากพอรึยัง

หนู: ไม่ (หัวเราะ) เราคิดว่ามันยังน้อยอยู่ ถึงแม้จะมีความพยายามของคนพิการที่อยากทำม็อบเอง หรืออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมหลาย ๆ อย่าง ก็ทำให้คนพิการขาดการมีส่วนร่วม ม็อบหรือคนจัดม็อบเอง ก็ไม่ได้คำนึงถึงความหลากหลายตรงนี้มากพอ เราเจอเพื่อนหูหนวกเยอะมากที่ถามว่า ‘ม็อบเขาพูดอะไรกัน’ ‘ม็อบเขาทำอะไรกัน’ ‘เห็นเขามีธงรุ้ง เราก็เป็น LGBT นะ’ 

เราคิดว่าในฐานะฝั่งประชาธิปไตยและที่เป็นคนทำม็อบ ยังไม่ละเอียดอ่อนมากพอที่จะทำให้คนทุกกลุ่มสามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมได้ อันนี้ไม่ได้ตำหนิเขานะ แต่เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความหลากหลายตรงนั้นไม่เกิดขึ้น 

อีกเรื่องที่เราคิดว่าเป็นข้อจำกัดมากคือ ‘สภาพแวดล้อม’ แม้ม้อบจะอยู่กลางเมือง อยู่ราชประสงค์ แต่เขาปิดรถไฟฟ้า เราคิดว่าอะไรแบบนี้มันจำกัด ไม่ต้องปิดรถไฟฟ้าคนพิการก็มายากอยู่แล้ว การเดินทาง หรือสภาพแวดล้อมมันเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงอยู่แล้ว และพอยิ่งมีม็อบ หรืออะไรที่เดินทางไปลำบาก สิ่งเหล่านี้มันยิ่งจำกัดสิทธิ์ในการเป็นพลเมืองที่ Active ของคนพิการมาก เราเคยฟังน้องคนนึง เขาอยากมาทุกม็อบเลย เขานั่งวีลแชร์ และพยายามจะมาให้ได้ทุกม็อบ ปรากฎว่าค่าเดินทางเยอะมาก! เพราะทุกครั้งที่มีม็อบ เขาต้องนั่งแท็กซี่มาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อมาม็อบที่อนุเสารีย์ประชาธิปไตย มาเข้าม็อบที่สยามอะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นการออกจากบ้านหรือออกมาร่วมม็อบ มันมีต้นทุน เราคิดว่าคนพิการไม่ได้อยากอยู่บ้าน และรอดูว่าเข้าทำอะไรกันหรอก

รักษ์: ในความเห็นเรา ๆ ว่าคนพิการขาดการมีส่วนร่วมในทุก ๆ พื้นที่อยู่แล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องม็อบอย่างเดียว ลองสังเกตในเทศกาล งานใหญ่ ๆ งานเฟสติวัล งานดนตรี เราเห็นคนนั่งวีลแชร์ไปบ้างมั้ยล่ะ เราว่าไม่น่าจะเคยมีคนเห็น หรือไม่ก็น้อยมาก มันยากอยู่แล้ว 

แล้วการตระหนักถึงความพิการมันต้องแก้ตรงไหน?

หนู: สำหรับเรา ๆ คิดว่ามันเป็นสองเลเวลคือ ‘เลเวลของคนทั่วไป’ กับ ‘เลเวลของผู้กำหนดนโยบาย’ 

ในระดับคนทั่วไป มันไม่ได้มีความยากลำบากในการที่จะเปลี่ยนทัศนคติ ยิ่งในปัจจุบัน เรารู้สึกว่าคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเปิดรับแนวคิดเรื่องความแตกต่างมากขึ้นอยู่แล้วโดยส่วนตัว เขามี Empathy มากพอที่จะรับฟังคนอื่นอย่างเห็นอกเห็นใจ แต่ด้วยเรื่องสภาพแวดล้อมซึ่งมันเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าคน ๆ นึงจะแก้ไขได้ ตราบใดที่สภาพแวดล้อม โรงเรียน สถานที่ทำงาน ตึกราบ้านช่อง อนุเสารีย์มันยังเป็นแบบนี้ คนพิการก็จะถูกมองว่ายังเป็นคนที่ต้องถูกช่วยเหลือ มันไม่มีทางเปลี่ยนภาพนั้นได้เลย 

เพราะฉะนั้นในเลเวลระดับปัจเจก ระดับของคนทั่วไปในสังคม ภาพของเขาสามารถเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา เมื่อสถานการณ์คนพิการเปลี่ยนไป ถ้าเกิดเราเห็นกันในระดับปัจเจกที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ เราคิดว่าคนในสังคมไม่ใจร้ายเกินไป ที่จะยังมองคนพิการแบบกดทับ หรือไม่เท่ากัน เรารู้สึกว่าความไม่เท่ากันมันมีเหตุผล ไม่ใช่ว่าเขาเกิดมาแล้วเขามองเหยียดคนพิการเลยซะหน่อย

แต่ในระดับนโยบาย เราว่าไม่จำเป็นที่คุณจะต้องมาเข้าใจคนพิการในเลเวลเดียวกับปัจเจก คุณมีหน้าที่ทำให้เขาได้รับสิทธิ์ คุณไม่ต้องมานั่งฟังปัญหาทุกปัญหา ไม่ต้องมานั่งฟังปัญหาแล้วถึงแก้ สิ่งที่มันควรเกิดขึ้นคือ แผนนโยบายที่ถูกคิดมาตั้งแต่ต้น 

ไม่ใช่ให้ไปแจ้งเขตถึงทำ นี่ชั้นก็เคยแจ้งนะ เคยแจ้งเสากั้นมอเตอร์ไซค์หน้า MRT ห้วยขวางว่ามันขวาง มันไม่มีเลน ไม่มี C Curve ไม่มีอะไรเลย เป็นตัว i ตรง ๆ แล้วชั้นไปไม่ได้ แต่มอเตอร์ไซค์ไปได้ มีเราไปไม่ได้คนเดียวตรงนั้น เราก็ต้องเอาตัวเองไปถ่ายรูปว่าไปไม่ได้นะ และก็ส่งไปเขตห้วยขวาง อีกสามวันถึงมาแก้ ‘แต่มันใช่เรื่องกูมั้ย?’ ต้องเอาตัวเองไปทำแบบนี้กับเสากั้นมอเตอร์ไซค์ทั่วประเทศเลยรึเปล่า?

เพราะฉะนั้นในฐานะผู้ออกนโยบายก็ควรจะคิดให้มันครอบคลุมตั้งแต่ต้น แม้คุณจะรู้จักคนพิการหรือไม่รู้จักคนพิการ ไม่ต้องมี Empathy ต่อคนพิการ ไม่ต้องรู้จักเหี้*อะไรเลยก็ได้ แต่มันควรเป็นนโยบายว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมี แม้เมืองคุณหรือประเทศคุณจะไม่มีคนพิการมันก็ต้องมี เพราะวันใดวันนึงคนที่เดินอยู่ ก็อาจจะขาเจ็บ ขาหัก รถชน ขาขาดได้ เขาเหล่านั้นก็ควรโอกาสที่จะกลับเข้าไปในสังคมเดิมที่เขาเคยใช้อยู่

นโยบายของรัฐที่ต่อความพิการมันเพียงพอ หรือตอบสนองคนพิการขนาดไหน

หนู: เวลาเราเห็นนโยบายคนพิการแต่ละอย่างที่มันทำให้คนพิการถูกแยกออกไปจากครอบครัว ถูกแยกออกไปจากคนที่เขารัก หรือว่าเพื่อน ๆ ที่เขาคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก เราคิดว่า ‘ทำไมคุณไม่ย้อนกลับไปถามตัวเองบ้างว่านั่นคือชีวิตที่คุณอยากได้เหมือนกันรึเปล่า’ ถ้ามันไม่ใช่แม้แต่ชีวิตที่คุณอยากจะใช้ ทำไมคุณถึงออกนโยบายที่ทำให้คนอื่นต้องเป็นแบบนั้น 

ในฐานะเด็กที่โดยทำอย่างนั้นมาตลอดเวลา เราเป็นคนที่ย้ายโรงเรียนตลอดเลย เพราะห้องเรียนเรามันสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ตอนป.1 ห้องอยู่ชั้นหนึ่ง ป.2 เริ่มขึ้นไปอยู่ชั้นสอง ป.6 ขึ้นไปอยู่ชั้นหก และมันให้เราไม่สามารถไปเรียนได้ เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระคนอื่นที่จะต้องมาอุ้มเราขึ้นไปเรียน ถ้าการเรียนจะต้องเป็นภาระขนาดนั้น เราก็รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ทำให้เราต้องลาออกจากที่ที่เรามีเพื่อน มีครู มีสังคม มีทุกคนที่เราไว้ใจ เราก็ต้องลาออกมันบ่อย ๆ ทุก ๆ สองปี สิ่งนี้แม่งสร้างบาดแผลมากเลย กลายเป็นว่าเราไม่อยากสนิทกับใครเลย การสนิทกับคน ๆ นึงมันแลกมากับความเจ็บปวดเมื่อเราต้องจากกับเขา  เพราะฉะนั้น เรารู้สึกว่าคุณไม่ควรทำหรือสร้างบาดแผลแบบนี้ให้กับคนอื่น ควรมี Empathy ต่อกันหน่อย ว่าคนเราไม่ได้ต้องการชีวิตแบบนี้ คนพิการก็คน ๆ นึง มีความรู้สึก มีจิตใจ มีสังคม


6
DNA ของคนเมืองพุทธ
วัฒนธรรมแห่งความสงสารของไทย


ชุดความคิด “สงสารผู้พิการ” ในสังคมไทยสร้างปัญหาอย่างไรบ้าง

หนู: ในฐานะมนุษย์เมืองพุทธ ความสงสารมันห้ามยากมากเลย เพราะเราถูกบอกถูกสอนผ่านศาสนาอยู่แล้ว ว่ามันจะมีคนกลุ่มนึงที่น่าสงสาร คนกลุ่มนึงที่มีกรรม คนกลุ่มนึงที่เกิดมาแล้วเขาไม่ครบ เราจะต้องช่วยดูแล เราถูกสอนมาแบบนั้น การที่จะบอกไม่ให้เขาสงสารมันก็ยาก

แต่การสงสารคนพิการบางครั้งมันไม่ได้มาแค่ความสงสาร มันพ่วงมากับการกดทับ พ่วงมากับการประเมินคุณค่าบางอย่างในตัวเขา และการลดทอนคุณค่าบางอย่างในตัวคนพิการ ว่าเราเป็นคนที่มีเส้นมาตรฐานต่ำกว่าคนอื่นในสังคม เช่น ‘สงสารจัง หน้าตาก็โอเคไม่น่านั่งวีลแชร์เลย’

รักษ์: ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าความสงสารเหล่านี้มันไปอยู่ในเลเวลของคนที่คิดนโยบายรัฐ​ หรือคนที่ทำงานเรื่องนโยบายมันจะน่ากลัวกว่าเดิม พอเขาคิดว่าคนพิการน่าสงสาร มันเลยกลายมาเป็นนโยบายที่จัดงานแบบนั้น ว่าจะต้องมาช่วยกันผลิตภัณฑ์ให้คนพิการ ได้บุญ ให้ส่งต่อบุญต่าง ๆ

รวมไปถึงนโยบายของสิ่งเหล่านั้น ยิ่งคุณเอาศาสนาหรือความเชื่อส่วนตัวมาครอบ มันก็จะเป็นแบบหนังสือธรรมะเพื่อคนตาบอด ทั้งที่คนตาบอดก็ไม่ได้ฟังเรื่องธรรมะ หรือภาษามือมีแค่ในสารคดี รายการบันเทิงความรู้ ละครคุณธรรมอะไรแบบนั้น  ทั้งที่คนตาบอดเค้าอยากดูตบจูบ อยากดูหนังโป๊ หรืออยากดูรายการเพลง แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่เคยเกิดขึ้น เพราะรัฐมัวแต่คิดว่า คนพิการมันคิดได้นี้ ทำได้แค่นี้ เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันสะท้อนออกมาจากความสงสาร ถ้าคุณสงสารแล้วมันจะไปต่อยังไง คุณไม่ได้จัดการ คุณไม่ได้แก้ปัญหา หลายครั้งมันก็กลายเป็นการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม ‘ชั้นได้ช่วยแล้ว’ ‘ชั้นเป็นองค์กรที่ดี’ อะไรแบบนั้น

สิ่งเหล่านี้มันทำลายภาพของคนพิการ ย้อนกลับไปที่บอกว่ารัฐมีทรัพยากร มีบุคลากร เขาสามารถทำอะไรได้เยอะ แต่ความจริงเบี้ยคนพิการมันก็แค่ 800 บาท แล้วคุณจะผลักดันให้เขาใช้ชีวิตแบบมีศักยภาพได้ยังไง  

ฝน: เราคิดว่าลึก ๆ แล้ว ชุดความคิดเรื่องเบี้ยคนพิการ มันมาจากความสงสารเหมือนกัน เป็นเรื่องที่รัฐคิดว่าเขาต้องให้นะ แต่ทำไมรัฐไม่คิดว่าจะพัฒนาคนพิการให้สามารถทำงานได้เท่าเทียมกับคนอื่นแทน? อาจจะมีแคมเปญที่เราเห็นได้ถึงความพยายามของรัฐที่จะทำให้คนพิการได้มีอาชีพ เช่น อบรบให้เป็น Graphic Designer หรือเป็น Youtuber แต่ได้ความรู้แล้วยังไงต่อ? องค์กรเหล่านั้นรับคนพิการเข้าทำงานมั้ย? จริง ๆ แค่เขาจะออกจากบ้านก็ลำบากแล้ว


7
Thisable.you


แล้วต่อจากนี้มองอนาคตหรือการต่อยอดของ thisable.me ยังไงบ้าง

หนู: ก็มีสิ่งที่เราคิดว่าจะทำกันน่ะนะ จากการทำงานหลายปีที่ผ่านมา การนิยามคำว่าคนพิการ หรือความพิการในเมืองไทยยังแคบมาก ถ้าดูตามกฎหมายมันก็แบ่งเป็น 7 ประเภทแล้วแหละ แต่ในกระทรวงต่าง ๆ มันก็ยังนิยามไม่เท่ากัน มันจะถูกนิยามว่า ‘เป็นคนที่สูญเสียอวัยวะ หรือมีอวัยวะบางส่วนที่ใช้ไม่ได้’ ซึ่งถ้าเกิดมาดูกันจริง ๆ มันจะเป็นการนิยามทางการแพทย์ นิยามว่าคุณสูญเสียไปมากกว่ากี่เปอร์เซ็นต์คุณถึงจะถูกนับว่าเป็นคนพิการ ปัญหาที่เห็นชัดตอนนี้ แต่อาจจะงง ๆ หน่อย คือ ‘ตาบอดข้างนึงไม่พิการ’ เพราะว่ายังถือว่ามีข้างที่มองเห็นอยู่ คุณยังไม่ได้สูญเสียการมองเห็น หรือ ‘หูหนวกข้างนึงไม่ถือว่าพิการ’ เพราะคุณยังได้ยินอยู่ หรือ ‘นิ้วบางนิ้วหายไปไม่ถือว่าเป็นความพิการ’ อะไรแบบนี้

ในฐานะ Thisable.me เอง เราก็อยากมีนิยามความพิการของตัวเองว่า Thisable.me นิยามความพิการเป็นยังไง อย่างในบางประเทศ นิยามความพิการของเขากว้างฉิบหาย มีร้อยกว่าเงื่อนไขที่จะเข้าสู่ความพิการ หรือแม้แต่ในพรบ.คนพิการของสหรัฐอเมริกา (ADA) เขาก็นิยามความพิการไว้กว้างมาก รวมถึงเป็นความพิการที่คาดว่าจะเป็นด้วยนะ แค่ ‘คาดว่า’ ก็ถือว่าเป็นคนพิการแล้ว เพราะว่าคนที่คาดว่าจะเป็น เช่น รักษ์มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้ แล้วอีก 5 ปี รักษ์อาจจะกลายเป็นคนที่เดินไม่ได้ รักษ์ไม่จำเป็นต้องรอ 5 ปีเพื่อที่จะได้การช่วยเหลือ แต่รักษ์ควรจะได้รับการรักษา ได้รับการฟื้นฟู ควรจะได้เรียนรู้วิธีการใช้วีลแชร์ตั้งแต่ตอนที่รักษ์ยังไม่ได้ต้องนั่ง มันควรมีการเตรียมอะไรแบบนี้ 

รวมถึงการคิดว่าถ้ามันสามารถเปลี่ยนได้จริง ๆ คำว่าคนพิการมันจะครอบคลุมกว้างมากขึ้น มันจะมีคนที่ไม่ต้องกลายเป็นคนพิการถาวรอีกเยอะมาก ๆ ก็เลยเป็นงานที่เราพยายามทำกันอยู่ พยายามที่จะขยายการรับรู้เกี่ยวกับความพิการให้มันกว้างขึ้น

แต่ว่าเงินทุนก็ยังเป็นปัญหาสำคัญอยู่ดี

หนู: ส่วนเรื่องทุน มันก็ยังเป็นปัญหาเดิม (หัวเราะ) เราคิดว่า ยิ่งพอประเทศเราก้าวเข้าสู่การเลือกตั้ง หรือเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยแล้ว แหล่งทุนค่อนข้างหายากขึ้น เราคิดว่าแหล่งทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแหล่งทุนที่จะสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาก็จะสนับสนุนพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง มีความยากลำบากในการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อเราเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ก็เลยยากขึ้นในการหาทุน เพราะเขามองว่าประเทศเรามีเสถียรภาพมากพอที่จะแก้ปัญหาได้แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ประเด็นมันยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน และยังไม่ได้ถูกแก้อะไรเลยด้วย ก็เลยเป็นเรื่องที่ท้าทาย ว่าเราจะทำงานต่อไปยังไง ให้ยังสามารถมีเงินเลี้ยงองค์กรได้ 

เพราะฉะนั้นมันก็ยังเป็นเรื่องที่คิดไม่ตกเหมือนกัน ตอนนั้นก็ได้ให้สัมภาษณ์กับปังปอนด์ไว้ ตอนนั้นก็พูดถึงเรื่องทุน มันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ มันทำให้เราไม่สามารถขยายองค์กรไปได้เท่ากับที่เราอยากเป็น

เราเห็นว่ามีน้องนักศึกษาฝึกงานเข้ามาเยอะมาก เห็นพลังอะไรในน้องๆ ที่มาร่วมงานกับเราบ้าง

โดยส่วนตัว Thisable.me มันจะมีน้องฝึกงานวนเข้ามาเรื่อย ๆ แต่มันไม่ยั่งยืน ถ้าจะทำให้มันยั่งยืน เขาต้องอยู่ได้ ต้องทำงานมีค่าตอบแทน เขาถึงจะอยู่ได้ งานถึงจะอยู่ได้ ระบบน้องฝึกงานจะอยู่ได้แค่ 3 เดือนเท่านั้น แล้วมันก็จะวนลูป ไม่มีความต่อเนื่องยั่งยืน 

รักษ์: คือเราก็ไม่สามารถให้ค่าตอบแทนได้ แต่เราคิดว่าต้องมีสิ่งที่เขาควรจะได้ไป อย่างน้อยก็เป็นประสบการณ์ความรู้ หรือทำให้เขาเห็นว่าเขามีอุดมการณ์เดียวกันกับเรา เชื่อและเห็นถึงความเป็นคนเท่ากัน เราก็พยายามให้สิ่งเหล่านั้นกับน้อง ๆ อย่างน้อยเมื่อน้อง ๆ เขาไปทำงานอย่างอื่น อาจจะไปทำแวดวงสื่ออื่น ทีวีโทรทัศน์ วิทยุ เขาจะติดสิ่งเหล่านี้ไป และเขาจะสามารถเล่าเรื่องคนพิการที่ไหนก็ได้ สมมุตถ้าเขาไปอยู่ช่อง One เขาไปเป็นโปรดิวเซอร์ เขาก็อาจจะสามารถเลือกคนพิการมาทำรายการ มาเป็นพิธีกร หรือไปทำอย่างอื่นก็ได้ เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันจะทรงพลังมาก

ฝน: เรารู้สึกว่าน้องบางคนที่เข้ามาก็จะตอบคล้าย ๆ กัน ในเชิงที่มองเห็นว่าประเทศไทยมีปัญหา อย่างเช่น เห็นปัญหาในเรื่องฟุตปาธเลยอยากมาทำตรงนี้ อย่างน้องล่าสุดที่เข้ามาฝึกงาน ก็เพราะเหตุผลนี้เหมือนกัน เขาก็มีพลังที่อยากจะเข้ามาทำเรื่องนี้ แต่จริง ๆ คอนเทนต์นี้มันก็ช้ำไปแล้ว มีคนพูดถึงเยอะอยู่แล้ว เราก็ต้องให้ความรู้ใหม่น้อง ว่ามันมีประเด็นอื่นที่เล่นได้อีกนะ และอาจมีมุมมองใหม่ที่จะไปถ่ายทอดให้เพื่อนฟัง ไปเล่าให้คนอื่นฟัง

จากการทำเว็บไซต์เพื่อคนพิการ ลึกๆ แล้วยังมีความหวังในสังคมนี้อยู่ไหม

หนู: ไม่ต้องความหวังในสังคมไทย เอาความหวังในตัวเราเองเนี่ยแหละ เรา รักษ์ ฝน ไม่ได้คิดว่าความฝันสูงสุดคือการทำ Thisable.me ตลอดไป เราคิดว่าแต่ละคนก็คงมีความฝันที่ตัวเองอยากทำ ถ้าประเทศเราปลดล็อกเรื่องคนพิการ เราคงไปทำอย่างอื่น

เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่า เราก็ยังดำเนินไปด้วยความหวังว่ามันจะเปลี่ยน แล้วก็คิดว่า 2-3 ปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมมากขึ้น หรือว่าเห็นน้อง ๆ เด็ก ๆ มัธยมที่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคม เราคิดว่ามันยิ่งดูมีความหวังนะ บางเรื่องเขา Creative มากนะในการนำเสนอประเด็นทางสังคม ให้มันป็อป ให้มันเป็นประเด็น เป็นข่าวเป็นกระแส เรารู้สึกว่านี่ก็เป็นสิ่งที่แวดวงคนพิการจะต้องเรียนรู้เหมือนกันว่าเราจะทำประเด็นคนพิการยังไงให้มัน Creative เหมือนน้อง ๆ ก็รู้สึกว่ามีความหวังมากขึ้น

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า