fbpx

AIS ในวันที่ไม่ได้นิยามว่าเป็นค่ายมือถือ แต่คือดิจิทัลไลฟ์สไตล์อันดับหนึ่งของไทย!

หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีที่แล้ว หลายคนคงจะคุ้นเคยกับการที่เอไอเอสเป็นผู้นำของค่ายมือถืออันดับหนึ่งของประเทศไทย ด้วยจำนวนเลขหมายที่มีมากที่สุดของประเทศไทย และส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากมาย แต่ในวันนี้เอไอเอสรุกก้าวสู่หลากหลายธุรกิจด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรมากมาย และนิยามตนเองใหม่เป็น “Digital Life Service Provider” หรือผู้ให้บริการสำหรับการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลอย่างแท้จริงไปแล้ว

แน่นอนว่าในปี 2564 ที่ผ่านมาเอไอเอสยังคงรุกก้าวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเปิดตัว PLAY NEWS ตลอดจนการได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก 2020 ผ่านระบบสตรีมมิ่ง ยังไม่นับรวมถึงการเปิดตัวบริการ Disney+ Hotstar ที่ให้บริการในประเทศไทยด้วยสิทธิพิเศษเฉพาะลูกค้าเอไอเอสอีกด้วย

วันนี้ The Modernist จึงจับเข่าคุยกับหยู-ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไปเอไอเอส ถึงการเติบโตของเอไอเอสในช่วงที่ผ่านมา และการก้าวต่อไปในฐานะผู้นำที่ตอบสนองถึงความต้องการของคนไทยในยุค 5G

รับรองว่าคุณไม่เคยได้ยินจากที่ไหนมาก่อนอย่างแน่นอน!

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรของ AIS ในปีที่ผ่านมาบ้าง

ในภาพกว้างของ AIS ในปีที่ผ่านมา หลายๆ ท่านอาจจะเห็นภาพชัดขึ้นว่า AIS มีการขยายตัวในการให้บริการ จากเดิมต้องเรียกว่าเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่างเดียว แต่เราก้าวไปข้างหน้าโดยที่ก้าวไปสู่การเป็น Digital Life Service Provider แปลง่าย ๆ ว่าเราขยายตัวจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉย ๆ ไปให้บริการอินเทอร์เน็ตที่บ้านด้วย แล้วขยายตัวไปให้บริการดิจิทัลสำหรับลูกค้าองค์กร ซึ่งเป็น Solution ที่เป็นระบบ Cloud สำหรับองค์กร 

แล้วที่เหนือสิ่งอื่นเกินจากตรงนั้นก็คือ ไปทำบริการ Digital Service ซึ่งมีหลากหลาย หนึ่งในนั้นก็คือ AIS Play ที่มีบริการเหมือน Broadcasting และ Video on Demand และมีการร่วมมือกับพันธมิตรมากมาย ล่าสุดที่พวกเราอาจจะเห็นกันตามสื่อ หรืออาจจะใช้อยู่อย่าง Disney+ Hotstar หรือก่อนหน้านี้ก็คือ Netflix เป็นต้นนะครับ เป็นบริการดิจิทัลประเภทวิดีโอ แล้วก็ยังมี E-Money ที่เราทำกับ Rabbit LINE Pay และอื่น ๆ อีกมากมายในกรณีบริการดิจิทัล

ในช่วงปีที่ผ่านมา การจับมือกับ Disney+ Hotstar หรือว่าการรุกตลาดของคอนเทนต์กีฬามากยิ่งขึ้น กว่าจะเป็นแบบนั้นได้ต้องผ่านกระบวนการหรือการคิดค้น พูดคุยอย่างไรบ้าง

ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะเตรียมการมาถึงจุดนี้ได้ ผมคิดว่าการขยายตัวของ AIS ไปให้บริการเชิงดิจิทัลที่เราพูดถึง Video Services ต้องพูดว่าตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมาจะดีกว่าที่เราขยายมามากๆ นะครับ ไม่ว่าในช่วงแรกที่เปิด AIS Play และ AIS Playbox หรือไฟเบอร์ถึงที่บ้านที่เรียกว่า AIS Fiber นะครับ ตอนเปิดตัวเมื่อหลายปีก่อนก็ตั้งใจทำบริการ Video Services มาตอบโจทย์คนที่ดูอยู่ที่บ้านผ่าน AIS Playbox ไปตอบโจทย์คนที่ดูผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเรียกรวมกันว่า AIS Play ก็เปิดแอปพลิเคชั่น AIS Play กับ AIS Playbox ในจุดนั้น 

แล้วก็ร่วมมือกันในยุคนั้นก็มี HBO ในหลายปีก่อนที่เราคุ้นเคยนะครับ แล้วก็ก้าวเข้าสู่การร่วมมือนำคอนเทนต์เพิ่มเติมไปถึง Netflix ซึ่งไปโผล่ทั้งบนมือถือและบน Playbox ด้วย แล้วก็นำคอนเทนต์ใหม่ ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้าที่จะเกิดโอลิมปิกในครั้งนี้ จริง ๆ แล้วเราเตรียมการประมาณ 2 ปีกว่าเลยนะครับจนมาถึงวันนี้ได้ ในเรื่องของกีฬาโอลิมปิก ในครั้งแรกเกือบ 5 ปีที่แล้วที่เราเริ่มถ่ายทอดโอลิมปิก ครั้งนั้นถือว่าเป็นครั้งแรกของ AIS เลย ก็คืออยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัวในการให้บริการวิดีโอนี่แหละครับ 

แล้วก็พอผ่านครั้งแรกมาก็มีประสบการณ์จึงขยับมาครั้งที่สอง ซึ่งครั้งที่สองนี่เตรียมการมาประมาณ 2 ปีกว่า จนมาถึงวันนี้ที่ผมคิดว่าเรามีความพร้อมในการก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ในวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่เราถ่ายทอดพิธีเปิดโอลิมปิกจนถึงวันนี้ ก็ถือว่าเราทำอย่างเต็มที่และหวังว่าคนที่ดูจะชอบนะครับ ได้มีโอกาสดูอย่างเต็มที่ 16 ช่องเต็ม ๆ เลยครับ 

เรามีความเชื่อว่ากีฬาเป็นเรื่องของการร่วมแรงร่วมใจ พอเห็นแล้วเราเชียร์นักกีฬาโดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศไทย เวลาเห็นแล้วได้แรงบันดาลใจ นักกีฬาทำอย่างเต็มที่ แล้วก็มีความรู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมเยอะ ยังไม่พอดูของชาติอื่นก็อินไปด้วยนะเอาจริง ๆ แล้ว วันนั้นดูวอลเลย์บอลก็ลุ้นกันมากเลย ขนาดดูแข่งขี่จักรยานก็มานั่งลุ้นกับเขา 60 กิโลเมตรสุดท้าย ก็ตื่นเต้นมากและมันก็มีแรงบันดาลใจ ซึ่งมันเป็นความเชื่อว่า Live Sports ที่ดีระดับโลกเนี่ย สร้างแรงบันดาลใจ สร้างการมีส่วนร่วมให้กับคนที่เป็นทั้งลูกค้า AIS และคนที่ไม่ได้เป็นลูกค้า AIS ซึ่งหวังว่าในอนาคตก็อยากให้เป็นลูกค้า AIS ด้วย ผมเชื่อว่าอันนี้แหละเป็นเสน่ห์ของกีฬาที่เป็นไลฟ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอลิมปิกครับ

ทำไมถึงตัดสินใจทำ AIS Play ขึ้นมา

เวลาพูดถึงการให้บริการโทรศัพท์มือถือ เราก็ให้บริการอินเทอร์เน็ต ในยุคก่อนหน้านี้ก็โทรกัน ส่งข้อความ แต่ในยุคหลังจะเป็นอินเทอร์เน็ตแล้ว เรียกง่าย ๆ ว่าอินเทอร์เน็ตมันเหมือนเราสร้างถนนความเร็วสูง ถนนนั้นจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรก็แล้วแต่ลูกค้าแต่ละท่าน เราเชื่อว่า AIS สามารถจะร่วมกับพันธมิตรและเพิ่มมูลค่าของการให้บริการที่ดีขึ้นกับลูกค้าได้ การร่วมกับพันธมิตรนี่ก็ทำอยู่หลากหลายแพลตฟอร์ม Video Services เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสำคัญ เราเชื่อว่าถนนความเร็วสูง Mobile Data ซึ่งอยู่ฝั่งโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งส่งไปที่บ้านแบบเครือข่ายใยแก้วนำแสงเป็นถนนความเร็วสูง 

ถ้าเราร่วมกับพาร์ตเนอร์ ผู้ผลิตคอนเทนต์ และสามารถนำคอนเทนต์สตรีมมิ่งไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสดหรือ VOD มาให้บริการกับลูกค้าได้ เราเชื่อว่ามันสร้างมูลค่าในกรณีลูกค้าที่ใช้ AIS พูดง่าย ๆ ว่าให้ประโยชน์มากกว่าเป็นเบสิกอินเทอร์เน็ต จึงเป็นที่มาที่ไปว่าในช่วงหลายปีก่อนที่เริ่มต้น AIS Play ขึ้นมา โดย ณ ขณะนั้นที่ทำอันแรกที่ชัดเจนมากเลยก็คือร่วมกับโทรทัศน์แต่ละช่อง เติมช่องออกอากาศสดมาผ่าน AIS Play ถ้าใครเข้าไปดูก็จะเห็นว่า AIS Play มีช่องทีวีครบทุกช่องที่เป็นไลฟ์ แล้วจริง ๆ มีมากกว่าทีวีดิจิทัลด้วย สมัยก่อนมีทีวีดาวเทียมอยู่น่าจะประมาณร้อยช่องเลย ครบทุกช่องที่สามารถมาออกอากาศได้ ก็ให้ออกอากาศบน AIS Play แล้วเริ่มมี video on demand ค่อย ๆ ทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงนั้นเป็นต้นมา 

ก็อยู่บนแนวคิดที่เราเชื่อว่า ถ้าเราร่วมกับพันธมิตรในการเอาคอนเทนต์ดี ๆ มาวิ่งอยู่บนถนนความเร็วสูง จะสร้างมูลค่า สร้างประโยชน์เพิ่มเติมให้กับลูกค้า ก็เอาแนวคิดนั้นมาปฏิบัติ ซึ่งจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน จริง ๆ แล้วอยู่ที่หลายปัจจัย คุณภาพเครือข่ายสำคัญ คอนเทนต์ที่อยู่สำคัญ แพลตฟอร์มที่เราดูแลก็สำคัญ ซึ่งอันนี้เป็นอะไรที่เราทำมาตลอดหลายปี และผมคิดว่าผู้ใช้บริการค่อย ๆ ทยอยเห็นการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ

การได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดโอลิมปิกมาในครั้งนี้ บ่งบอกศักยภาพในการเป็นผู้นำของ AIS อย่างไรบ้าง

ตัวอย่างที่เราทำมาโดยตลอด คือ AIS ตั้งมั่นว่าจะให้บริการเครือข่ายที่วันนี้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเนี่ยเราใหญ่ที่สุด ครอบคลุมทุกพื้นที่ 5G เราประมูลคลื่นได้คลื่นมามากที่สุดในประเทศ ลงทุนเครือข่ายมากที่สุดครอบคลุมที่สุด ณ ขณะนี้เราให้บริการลูกค้าที่ประกาศไปในไตรมาส 1/2564 ทั้งหมด 42.7 ล้านคน และมีผู้ใช้บริการไฟเบอร์ไปถึงที่บ้านอีก 1.4 ล้านคน ถ้าเอามาบวกกันแล้วเนี่ยก็แปลว่าประมาณ 43 – 44 ล้านคน ประชากรคนไทยมีอยู่สัก 67 ล้านนะครับ ก็มากกว่าครึ่งหนึ่ง จุดแข็งของ AIS คือโครงข่ายที่มีความเข้มแข็ง และมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการต่อเนื่องยาวนาน 

ศักยภาพพื้นฐานอันนี้เป็นตัวที่เรียกว่าเบสิกเลยที่เวลาเราทำงานร่วมกับพันธมิตร เวลาที่เขามีคอนเทนต์ที่ดี เขาก็จะมองศักยภาพว่ามาถึงคนเยอะไหมในการร่วมมือกัน ดังนั้นจุดแข็งตรงนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้พันธมิตรแต่ละรายตัดสินใจร่วมกับ AIS ในการนำของที่ดียอดเยี่ยมมาสู่ฐานลูกค้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เราได้เห็นจากการร่วมงานกับ Netflix ล่าสุด Disney+ และที่เราคุยกันตอนนี้ก็คือโอลิมปิก ผมคิดว่านี่คือในเชิงการทำงานร่วมกับพันธมิตร แต่ในเชิงลูกค้าเนี่ยชัดเจนว่าหากเขาใช้บริการกับ AIS ซึ่งมีเครือข่ายที่เข้มแข็งและใหญ่ที่สุด นอกจากเครือข่ายแล้วยังได้ประโยชน์อื่นเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องในการที่จะนำมาซึ่งบริการใหม่ ๆ บริการที่ดี คอนเทนต์ที่ดียอดเยี่ยมในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ผมคิดว่าอันนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าเราเองต้องขอบคุณลูกค้าที่ทำให้เรามีศักยภาพนี้ที่ทำให้เรามีฐานลูกค้าเยอะ ร่วมกับพันธมิตรยอดเยี่ยมในระดับโลก เอาของเข้ามาให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นเรื่องดีเป็นวงจรบวกให้กันและกัน 

จึงหวังว่านี่จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาองค์กรต่อไปว่า AIS จะอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งซึ่งกันและกันระหว่างลูกค้าที่อยู่กับเรากับพันธมิตรที่ร่วมกับเราครับ  

ทิศทางของ AIS Play ในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง

มันจะถูกทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่คนผลิตคอนเทนต์ทุกท่านสามารถมาร่วมกับเราได้ คือ AIS Play อยากจะขออนุญาตในเชิงพันธมิตร มองว่ามันเป็นแพลตฟอร์มที่ลูกค้าของ AIS รวมถึงลูกค้าคนอื่นด้วยนะครับ สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่ยอดเยี่ยมได้ และมันเป็นแพลตฟอร์มเปิดที่เราจะร่วมกับผู้ผลิตคอนเทนต์ในเมืองไทยทุกรายรวมถึงต่างชาติด้วย ที่จะนำเอาคอนเทนต์ที่ยอดเยี่ยมเหล่านั้นมาสู่ฐานของคนไทย ณ วันนี้พวกเราคุ้นเคยอยู่แล้วว่า ถ้าจะนำคอนเทนต์มาสู่สายตาประชาชนอาจจะผ่าน Facebook อาจจะผ่าน YouTube หรือผมอยากจะเสริมไอเดียว่าหรือผ่าน AIS Play เพิ่มเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงฐานของประชาชนคนไทยในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นความร่วมมือกับ AIS ที่จะนำแพลตฟอร์มตัวนี้มาเป็นประโยชน์กับทั้งผู้ผลิตคอนเทนต์และกับลูกค้าครับ 

ความท้าทายในยุคที่ OTT มันเกิดขึ้นมากมาย ต่อตัว AIS Play เป็นอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าเวลาพูดถึงวิดีโอสตรีมมิ่ง ในแง่ของ OTT เนี่ย ในความเห็นผมถ้ามองธุรกิจนี้คงมองเป็นสองส่วนนะครับ ส่วนแรกก็คือส่วนที่เราเรียกว่า Subscription ที่พูดง่าย ๆ ว่าหากจะใช้บริการก็ต้องสมัครแล้วเสียค่าบริการรายเดือน กับอีกส่วนหนึ่งที่ใหญ่กว่า Subscription มาก ก็คือเข้ามาใช้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พูดง่าย ๆ ว่าดูโดยไม่เสียเงินนั่นล่ะครับ ซึ่งสองอันนี้เป็นสินค้าและบริการ ถ้าพูดในเชิงสินค้านั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อันนึงคนต้องรู้สึกว่าอยากจะเสียค่าบริการ เสียแล้วมันคุ้มค่ากับการดูคอนเทนต์ไหม อีกอันหนึ่งเข้าไปดูเฉย ๆ สนุกสนานได้ทุกเวลา มีสองอันตรงนี้ 

ความท้าทายของอันแรกก็คือว่า เวลาเข้าไปดู Subscription Service เนี่ย ก็จำเป็นจะต้องมีความหลากหลายของคอนเทนต์ที่คนยอมเสียเงินในราคาเท่าไรก็ตามแต่ แล้วคนรู้สึกว่าตอบโจทย์ในการใช้ชีวิต บางคนอาจจะบอกคุ้มค่า บางคนอาจจะบอกว่าใช่เลยอันนี้คือสิ่งที่เรายอมเสียเงินเพื่อจะดู ความท้าทายอยู่ตรงนี้ มีผู้เล่นหลายคนนะครับในทั่วโลก แม้กระทั่งเมืองไทยเองพวกเราก็เห็นมี Video on Demand หรือ Streaming Service อยู่หลายบริการด้วยกันที่มีการสมัครแบบเสียเงิน ในขณะนี้ความท้าทายคือ ทำอย่างไรถึงจะมีคอนเทนต์ยอดเยี่ยมต่อเนื่องให้คนสมัครแล้วมีความพึงพอใจ ขยายตัวกลุ่มเป้าหมาย หรืออย่างน้อยสมัครอยู่แล้ว อยู่ต่อเนื่องโดยที่ไม่ยกเลิกไป เหตุในการยกเลิกอาจจะเพราะเบื่อ คอนเทนต์ไม่พอไม่สดใหม่อะไรแบบนี้นะครับ นี่คือความท้าทายแรก 

ทฤษฎีของ AIS ที่จะทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ตรงนี้ก็คือว่า เรากับพาร์ตเนอร์แต่ละรายช่วยกันโพรโมต และช่วยกันคัดสรรหาคอนเทนต์ที่ดีที่สุด จริง ๆ แล้วเราร่วมกับ Netflix, Disney แล้วก็ยังมีอีกหลาย ๆ เจ้าที่ร่วมกัน จุดอ่อนจุดแข็งไม่เหมือนกันนะครับ แต่ละเจ้าก็มีคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย วันนี้เราเริ่มเห็น WeTV ซึ่งมีผู้ชมเยอะมากเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ก็จะมีแกนของคอนเทนต์แตกต่าง บางคนก็จะเป็นละครเกาหลีเยอะ บางคนก็จะเป็นภาพยนตร์จีนเยอะ การวางราคาที่ไม่เหมือนกัน ความท้าทายคือทำอย่างไรให้โดนใจลูกค้า ฐานลูกค้าใหญ่โดนใจแล้วเขาอยู่อย่างต่อเนื่อง ผมคิดว่าตรงนี้เป็นส่วนของสิ่งที่เรียกว่า Paid Content 

แต่ส่วนของฟรีอันนี้จริง ๆ ต้องบอกว่าท้าทายกว่า เพราะว่าฟรีทีวีวันนี้โดยโครงสร้างของ Over-The-Top หรือ OTT เนี่ย แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในตลาดบ้านเรามาก ๆ อย่างที่ผมกล่าวก่อนหน้านี้คือ YouTube, Facebook และอาจจะมี Instagram มี TikTok อันนี้คือเราใช้ฟรี เราก็เข้าไป Business Model ให้อยู่บนพื้นฐานของการทำแล้วได้มูลค่าของค่าสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ พูดง่าย ๆ ก็คือการใช้เงินสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ไปสร้างแพลตฟอร์มให้ใหญ่ขึ้น ความท้าทายคือถ้าแพลตฟอร์มไม่ใหญ่พอ สื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ก็จะไม่มีเม็ดเงินไหลลงมามากพอ จะทำแพลตฟอร์มต่ออย่างไรให้มีคุณภาพ ความท้าทายคือตรงนั้น 

แล้วคอนเทนต์ที่ไปอยู่ตรงนั้นมีความหลากหลายไหม อย่างพวกเราทำคอนเทนต์กันแล้วไปโพสต์ตามช่องทางต่าง ๆ ผมว่าพวกเราเองเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ด้วย ก็จะรู้ว่าถ้าอันไหนดีคนก็จะไปตรงนั้นเยอะ อันไหนมีผู้ชมเยอะก็จะไปตรงนั้นเยอะ ดังนั้นการแข่งขันคือการทำให้แพลตฟอร์มนั้นมีคนใช้งานเยอะ หากมีคนใช้งานเยอะก็มีคนอยากผลิตเยอะ เมื่อกำลังผลิตเยอะก็จะมีรายได้จากค่าโฆษณาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ให้นึกภาพประมาณนั้นนะ นี่คือความท้าทาย ทำอย่างไรให้ดียอดเยี่ยม คนอยากจะเข้าใช้และขยายแพลตฟอร์ม ผมว่านี่เป็นความท้าทายพื้นฐานของธุรกิจฟรี 

ทีนี้ความยากมันอยู่ตรงที่ว่าไม่ใช่ใคร ๆ ก็กระโดดมาทำแล้วประสบความสำเร็จนะครับ ยุทธศาสตร์หลักของ AIS ไม่ใช่ทำเพื่อรายได้โฆษณา ผมอยากให้เห็นถึงความชัดเจนจุดนี้ เราไม่ได้ทำเพื่อรายได้โฆษณา เราทำเพื่อสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าได้บริการที่ดีขึ้นแล้วใช้บริการ AIS ต่อเนื่อง เราจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อลูกค้าไว้วางใจใช้งานโทรศัพท์มือถือของเรา ใช้อินเทอร์เน็ตของเรา อันนี้สำหรับเราคือส่วนที่เป็น digital service ไปตอบโจทย์ของชีวิตเขา ดังนั้นโครงสร้างการปฏิบัติงานก็จะไม่เหมือนกัน ไม่ใช่มาแล้วมีโฆษณาเยอะแยะ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ที่มาร่วมมีรายได้ดีต่อเนื่องด้วย เพราะว่าผู้ที่มาร่วมผลิตคอนเทนต์ย่อมหวังว่าจะมีรายได้มาจุนเจือการพัฒนาผลิตคอนเทนต์ ซึ่งตรงนี้เป็นความท้าทายที่มันจะต้องผสมลงตัวจริง ๆ นะครับ 

AIS Play จะไปอยู่ตรงไหนใน OTT streaming

AIS Play มีความหลากหลายของคอนเทนต์ แต่ไม่ได้โดดเด่นมากจนชนะทุกคน AIS Play เกิดจากไลฟ์สตรีมมิ่งเป็นตัวตั้ง ซึ่ง ณ วันนี้ในเมืองไทยก็ไม่มีคนโฟกัสการไลฟ์สตรีมมากนัก ระยะหลัง Facebook กับ Google เริ่มมีไลฟ์สตรีมมากขึ้น ในวันที่เกิด AIS Play วันแรกไม่มีใครโฟกัสที่ไลฟ์สตรีมเลย ไม่ว่าจะเป็นทีวีไลฟ์สตรีมมิ่งหรือสตรีมมิ่งสด คอนเสิร์ตสด และอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นที่ AIS Play โฟกัสต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้คือไลฟ์สตรีมมิ่งของคอนเทนต์ที่สดใหม่ บวกกับการรวบรวมคอนเทนต์ที่เป็นวาไรตี้ที่อยู่ในเมืองไทยและต่างประเทศมารวมกัน ผมคิดว่าในส่วนของคอนเทนต์วาไรตี้ที่เป็น video on demand ยังมีอะไรที่ AIS Play ต้องพัฒนาอีกมาก ต้องเพิ่มอีกพอสมควรเลยกับการร่วมกับพาร์ตเนอร์ 

ซึ่งการร่วมกับพาร์ตเนอร์ก็มีหลากหลายโมเดลด้วยนะครับ เช่นยกทั้งสโตร์มารวบรวมเข้าไปด้วยกันเลย ทำให้สามารถสนุกทั้งคอนเทนต์ที่ AIS Play มีหรือพาร์ตเนอร์สโตร์มีร่วมกัน หรือจะมาเป็นเรื่องต่อเรื่องก็มี ดังนั้นในพาร์ตที่สองทำให้พวกเรารู้สึกว่าคอนเทนต์มีความหลากหลายแต่มันเด่นอันไหนอะไรแบบนี้ครับ ดังนั้นตรงนี้ทำให้เราต้องพัฒนาอีกมากพอสมควร ถึงแม้วันนี้เรามีคอนเทนต์ข่าว คอนเทนต์วาไรตี้ ดราม่า สารคดีเข้ามามากขึ้น ซึ่งมีหลากหลายประเภทแต่ผมเชื่อว่ามันเพิ่มได้มากกว่านี้พอสมควรครับ 

เทรนด์ในการรับชมกีฬาในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากครั้งที่ยังไม่มี OTT Platform เข้ามาอย่างไรบ้าง

Live Sports ณ วันนี้ก็มีปริมาณคนที่ชอบดูอยู่เยอะ แต่ก็มีอีกเทรนด์หนึ่งที่เกิดขึ้นมาก็คืออีสปอร์ตนี่แหละครับ ว่านอกจาก Live Sports Content แล้ว มันยังมีกีฬาอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิมเข้ามาแข่งกันเรื่องเวลา คือแย่งเวลาของกลุ่มคน Millennial ซึ่งก็เริ่มมีความสนใจในกีฬาชนิดใหม่ที่เรียกว่าอีสปอร์ตมากขึ้น ดังนั้นในสงครามของการแย่งเวลาคนจะไปอยู่ตรงนี้ แต่ก่อนดูไลฟ์แข่งฟุตบอล บาสเกตบอลและอื่น ๆ อีกมากมาย วันนี้เริ่มมีอีกแขนงหนึ่งก็คืออีสปอร์ตเพิ่มเข้ามา เห็นภาพกว้าง ๆ ประมาณนี้ โดยเฉพาะในกลุ่ม Millennial ส่วนกลุ่มเดิมผมคิดว่ากีฬาก็ยังเป็นหลักอยู่นะครับที่ไม่ใช่อีสปอร์ต 

ทีนี้เราก็ต้องดูนะครับว่าหลัก ๆ เขาดูผ่านอะไร พฤติกรรมก็ชัดเจนว่าวันนี้มันผสมผสานระหว่างจอใหญ่ จอแก้ว กับเริ่มเสพคอนเทนต์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ตรงนี้ชัดเจนว่าการผสมผสานมันค่อย ๆ มากขึ้น หรือบางคนอาจจะมีประสบการณ์ร่วมเดียวกัน คือหน้าจอเปิดโทรทัศน์อยู่ และดูมือถือไปพร้อม ๆ กันด้วย อันนี้คือ Multiple Screen นี่คือเทรนด์ ดังนั้นมันก็จะเติบโตต่อกันไปอย่างนี้แหละครับ ก็ผสมผสาน เวลาก็จะถูกแชร์กัน แล้วแต่ว่าเราจะชอบจอไหน พูดง่าย ๆ ว่าอยากดูจอไหนก็จะดู ว่าอย่างนั้นดีกว่า โดยเฉพาะกลุ่มที่ Technology-Oriented นิดหนึ่งตรงนี้อาจจะเป็นเรื่องปกติแล้วก็ได้ ไม่มีใครไม่ดูผ่านทางมือถือ แต่จะดูกี่นาที ดูบนจอแก้วกี่นาทีเท่านั้นเอง ขณะนี้มันก็ผสมกันประมาณนั้น 

ทีนี้ถ้าพูดเฉพาะเจาะจงเมืองไทย ผมก็เชื่อว่ากีฬาที่โดดเด่นก็ยังเป็นฟุตบอลนะครับ วันนี้เริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นว่ามีเทรนด์การติดตามวอลเลย์บอลมากขึ้น ผมอินเลยนะครับมีแฟนพันธุ์แท้วอลเลย์บอลมหาศาลเลย วันนั้นเราได้รับฟีดแบ็กผ่านทางสื่อออนไลน์เต็มเลยว่าทำไมไม่ถ่ายทอดคู่นี้ เต็มพันทิปเลย เราก็ว่าตายละ โอลิมปิกไม่ได้ถ่ายทอดมาเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรก็มีตรงนี้ วันนี้แบดมินตันกลายเป็นกีฬาระดับชาติ เพราะว่าน้องเมย์ นักกีฬาของเรา ต่อไปคงเป็นเทควันโดนะครับ แต่ก่อนไม่อิน พอน้องเทนนิสได้ ตอนนี้เริ่มอินแล้ว ดังนั้นผมคิดว่าความนิยมชมชอบในกีฬาวันนี้ ผมรู้สึกว่านอกจากฟุตบอลก็มีมากขึ้นในกีฬาอื่น ๆ ด้วยในบ้านเรา 

ก็กลับมาสมการเดิมว่าเขาจะดูผ่านช่องทางไหน ผมเองก็เชื่อมั่นว่ามันเป็นแบบผสมผสานทั้งบนจอใหญ่ และจอเล็ก ทั้งเลือกที่จะดูเวลาไหนก็ได้ แต่ส่วนมากเวลาดูกีฬาที่สนุกที่สุดคือดูแบบไลฟ์ ลุ้นกันตอนนั้น อยากจะติดตามและหลังจากนั้นก็จะมีการดูย้อนหลังอีก (After Live) อยากจะดูซ้ำ อันนี้ดี จะดูไฮไลต์ ตรงนี้ก็เป็นตลาดที่ผมเชื่อว่ามันจะขยายตัวมากขึ้น เพราะความนิยมชมชอบในกีฬาที่ควรจะมีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ นี่คือสิ่งที่เราสังเกตเห็น ณ ขณะนี้ครับ

ปีนี้ AIS Play รุกค่อนข้างหนักเรื่องโอลิมปิก มีการใช้ Code ไปลงตามสำนักข่าวออนไลน์หลาย ๆ เจ้าให้ดูฟรีทั้งหมด 3 ช่อง อันนี้เป็นกลยุทธ์อย่างไร

ในแง่ของการร่วมกับหลายสำนักข่าว เว็บไซต์หลายเว็บไซต์เนี่ย นี่คือพันธมิตรในเชิงสื่อ ซึ่งจริง ๆ แล้วเรามีความตั้งใจอย่างต่อเนื่องยาวนานในการทำงานร่วมกับพันธมิตรสื่ออย่างตลอดเวลา ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญซึ่งหลังจากการพูดคุยแล้วเราเชื่อว่าโอลิมปิกควรไปถึงคนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อ AIS ได้รับสิทธิ์ เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมกันนำสิทธิ์ตัวนั้นและระบบเข้ามาตอบสนองต่อการเข้าชมให้อยู่ทุกที่ที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ คิดว่าวัตถุประสงค์ชัดเจนร่วมกันและทำให้คนไทยเข้าถึงได้มากที่สุด ผมเองก็เชื่อมั่นว่ามันจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนนะครับ อย่างพันธมิตรในเชิงสื่อก็หวังว่าผู้ที่ใช้งานเว็บไซต์จะมีความพึงพอใจเพิ่มมากขึ้นเพราะมีคอนเทนต์ที่ยอดเยี่ยมเข้ามาครับ

ความพิเศษของโอลิมปิก 2020 ที่ต้องรับชมด้วยตาของตนเองคืออะไร?

ต้องเรียกว่าถ้ายังไม่มีโอกาสได้รับชม อาจเป็นเพราะไม่มีเวลาหรืออะไรก็ตามแต่นะครับ บางครั้งแข่งจบไปแล้ว เห็นเพื่อนโพสต์ใน Facebook ว่าน้องเมย์เข้ารอบ ไม่ได้ชม ผมอยากจะเรียนเชิญและเชิญชวนจะดีกว่า สมมติว่าไม่เคยชมดู อยากให้ลองคลิกเข้าไปชมกันดู ย้อนหลังก็ได้ครับ เราอาจจะรู้จักกีฬาบางประเภท เราอาจจะได้ยินมาว่าคนไทยได้เข้าชิงในรอบที่แล้วมันมาก ธรรมดาหาดูไม่ได้ แต่วันนี้สิ่งที่ AIS ได้เตรียมเอาไว้ ก็พร้อมที่ให้แต่ละท่านเข้าชมเวลาไหนก็ได้ ดูไม่ทันก็ไปดูย้อนหลังได้ ไม่ว่าจะเป็นคู่ที่โด่งดัง เช่นคู่ที่น้องเทนนิสชนะ ที่เราตื่นเต้นกัน ก็แซ็วกันนะ 7 วินาทีสุดท้าย ตื่นเต้นมากนะสำหรับผม จริง ๆ วันนั้นผมดูไม่ทันด้วยนะ ผมทำอะไรอยู่ไม่รู้ ก็ต้องมาย้อนดู ขนาดตอนย้อนดูก็รู้สึกตื่นเต้น 

ผมเชื่อว่าถ้าได้มีโอกาสเราก็จะพบความรู้สึกสนุกของการที่เราเชียร์นักกีฬาคนไทยเวลาได้ชัยชนะหรือต่อให้แพ้ก็ตาม พี่ ๆ น้อง ๆ นักกีฬาทำกันเต็มที่ วันนั้นดูยิงปืนเป้าบินก็สนุก น้องก็ได้ลำดับ 4 ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ดูแล้วก็ตื่นเต้นและภูมิใจไปด้วย ผมคิดว่าจะได้ความรู้สึกนั้นก็เลยอยากจะเชิญชวนท่านที่ยังไม่มีโอกาสได้ลองชมว่าเข้าไปชมได้ ถ้าหากนึกไม่ออกว่าจะดูตรงไหน จริง ๆ เข้าที่ไหนก็ได้นะครับน่าจะเห็นทั้งหมดเลย เข้าเว็บไซต์ AIS ก็ได้ครับจำง่าย ๆ เลย ในนั้นก็จะเห็นอยู่และจะนำพาให้ได้ชมครับ

กลยุทธ์นับจากนี้จะมี Original Content ของทาง AIS Play ให้ขมมากน้อยเพียงใด?

จะมีอย่างต่อเนื่องครับ ใน Original Content เนี่ยถือเป็นยุทธศาสตร์หลักเลย อาจจะเรียกว่าร่วมกับผู้ผลิตคอนเทนต์เพื่อผลิตใหม่อาจจะชัดเจนกว่า อย่างข่าวที่หลาย ๆ ท่านได้เห็นอย่างพี่สุทธิชัย (หยุ่น) บ้าง หรือว่าอีกสามสี่ท่านก็เป็นคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นมาใหม่เพื่อ AIS Play โดยเฉพาะ ซึ่งเรามีความเชื่อว่าการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) การสร้างพันธมิตรเนี่ยจะนำมาซึ่งประโยชน์กับลูกค้า ผู้ผลิตคอนเทนต์ และกับเราเองด้วย ก็อยากจะเรียนทุกท่านว่าจะเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในเชิง Original Series ทั้ง Original Content ประเภทอื่นที่จะผลิตขึ้นมา ซึ่งเราเองก็คาดหวังนะครับ AIS Play จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการนำคอนเทนต์ที่ยอดเยี่ยมที่มีอยู่แล้วหรือผลิตขึ้นมาใหม่ ให้เข้าถึงสายตาของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าของ AIS ที่อยู่ประมาณ 43 กว่าล้านรายครับ

การเติบโตของ AIS Play ในช่วงที่ผ่านมามีคนเข้ามาดูคอนเทนต์มากขึ้นไหม

มากขึ้นครับ ณ ขณะนี้เมื่อเทียบกับหลายเดือนก่อนเราน่าจะมีผู้ชมมากขึ้นประมาณ 5-6 เท่า เป็นวันละหลายล้านคน เป็นภาพกว้าง ๆ นะครับ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างสิ่งที่เราคุยกันทั้งหมดนะครับ ซึ่งเรามีความตั้งใจว่าเราจะเตรียมระบบ เตรียมคอนเทนต์ไปให้มากกว่านั้นอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างขึ้นกับคอนเทนต์ อย่างที่พวกเราเคยได้ยินว่า “content is king” ซึ่งนี่คือสำคัญเลยนะครับ ตัวแพลตฟอร์ม AIS ก็เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ผู้ผลิตคอนเทนต์หรือคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมาถือเป็นปัจจัยอันดับหนึ่ง  ซึ่งเราหวังว่าการมีแพลตฟอร์ม การมีลูกค้าที่สามารถเข้าชมได้ การมีพันธมิตรในหลายภาคส่วนรวมถึงสื่อด้วยเนี่ยจะเป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้เกิด ecosystem ในเชิงบวกให้กับผู้สร้างคอนเทนต์ในประเทศครับ

มีการสำรวจบ้างไหมว่า AIS Play คนดูคอนเทนต์ประเภทไหน

ลึก ๆ ตัวที่มามากจะเป็นไลฟ์คอนเสิร์ตหรือไลฟ์คอนเทนต์ที่ไม่มีที่อื่นจะได้รับความนิยมสูงมาก ถ้าพวกเราพอจำได้ ทุก ๆ ปีเราจะ Broadcast มันใหญ่มาก (Big Mountain Music Festival) ที่เขาใหญ่นะครับ คุ้น ๆ นะครับถ้าไม่มีโอกาสได้ไปชมก็ชมผ่านทาง AIS Play อันนั้นเป็นตัวอย่างที่พอจะจับต้องได้ว่ามีคนชมเป็นจำนวนมาก และเราก็มีคอนเสิร์ตตลอดทั้งปีในช่วงก่อนหน้าโควิดนะครับ ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รองลงมาก็จะเป็น Original Content ขึ้นมา ณ ขณะนี้ก็กลับไปสู่ Live Sports เพราะอยู่ในช่วงโอลิมปิกครับ

ในอนาคต AIS Play จะเป็นแพลตฟอร์มที่ยกระดับอุตสาหกรรมกีฬาอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ผมคิดว่าคีย์เวิร์ดที่พวกเราคุยกันคือกีฬาเนี่ยผูกพันกับสิ่งที่เป็นไลฟ์ หมายความว่าดูกีฬาสดดีสุด ดูย้อนหลังก็ได้ แต่ดูสดดีที่สุดเพราะตื่นเต้นที่สุด น่าจะเป็นคอนเทนต์น้อยชนิดมากนะครับทั่วโลกที่จำเป็นจะต้องดูเวลานั้นถึงจะได้อรรถรสสูงสุด ผมมองว่าอย่างนั้น ดังนั้นแพลตฟอร์ม AIS Play ที่มีความพร้อมของการนำไลฟ์คอนเทนต์ไปสู่สายตาประชาชนเป็นจำนวนมาก น่าจะเป็นจุดส่งเสริมโดยตรงกับอุตสาหกรรมกีฬา การที่สามารถมีช่องได้ไม่จำกัด การที่สามารถจะดูย้อนหลังได้ไม่จำกัด การที่วิ่งไปได้ทุกแพลตฟอร์มหน้าจอตั้งแต่หน้าจอเล็กไปยังหน้าจอใหญ่ก็ควรจะเป็นตัวเสริม บนทีวีก็ดูได้นะครับ ทีวี Samsung มีไอคอน AIS Play อยู่ จิ้ม ๆ ไปเล่นได้เลย หรือที่บ้านมี Playbox เล่นได้ อยู่บนมือถือ บนแท็บเล็ต บน Apple TV อะไรต่าง ๆ นานา ก็พูดง่าย ๆ ว่า across platform ที่เราพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นมันควรจะเป็นตัวส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬาที่ทำให้คนเห็นได้มากขึ้น และเราหวังว่าการเห็นได้มากขึ้นจะทำให้กีฬาแต่ละประเภทได้รับความนิยมสูงขึ้นนะครับ

ความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้างสำหรับภาพรวมของโอลิมปิกในปีนี้

สำหรับผมเป็นความรู้สึกที่แปลกเพราะว่ามันไม่มีคนในสนาม มันคนละอารมณ์เลยนะครับกับโอลิมปิกทุกครั้ง วันนั้นคุยกันไปรอบหนึ่งตอนเปิดเหมือนกันว่าอารมณ์ของผู้ชมจะเป็นอย่างไร ผมเองมีความเชื่อว่าวันนี้หลาย ๆ คนรวมถึงตัวพวกเราเองด้วย อยู่ในสภาวะที่ไม่ได้ชื่นมื่นสักเท่าไร เพราะว่าสภาวะรอบตัว ไม่ว่าคนที่เรารู้จัก เราเห็นหลายคนในสังคมไทย ในประเทศไทยเจ็บป่วยจากโควิด หลายคนเสียชีวิต สำหรับผมอันนี้เป็นความเศร้าใจ มันมีความรู้สึกนี้อยู่ตลอดเวลา ตลอดวันด้วย และยังคงต้องคิดต่อว่าในอีกสองสามสัปดาห์ข้างหน้า หนึ่งเดือนข้างหน้าว่าสภาวะรวมจะเป็นอย่างไร อันนี้เป็นความรู้สึกที่จริง ๆ แล้วฟังดูไม่ค่อยสนุกสนาน เมื่อดูกีฬาโอลิมปิกมันมีความรู้สึกนี้ผสมอยู่เหมือนกัน แต่ว่าดูแล้วมันมีความบันเทิงผสมไป มันสมดุลกันขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง

เหมือนเราดูข่าวตอนเช้าเห็นข่าวน่ารัก ๆ เราก็ดีใจขึ้นมานิดหนึ่ง พอเห็นข่าวคนเสียชีวิต คนเป็นมาก เข้าไม่ถึงบริการต่าง ๆ นานาก็รู้สึกไม่ดีกับมัน ผมคิดว่ามันเป็นความรู้สึกผสมผสานแต่มีเชิงบวกและอย่างน้อยก็ลืมความเศร้าไปได้นิด ๆ นะครับ พอตอนดูมันรู้สึกพิเศษกว่าปีอื่นเพราะมันไม่มีคนชม พอดูนั่งวิพากษ์วิจารณ์กันกับภรรยาว่าคนแข่งจะรู้สึกอย่างไรไม่มีคนปรบมือเลยอย่างนี้เป็นต้น หรือว่าการไม่มีนี่มันดีหรือไม่ดีกว่าเพราะบางทีปรบมือมาก เชียร์ทีมตัวเองก็ไปกดดันทีมคู่แข่ง ก็เป็นความรู้สึกที่ผสมผสานมาก พิเศษมากพอสมควรนะครับ ผมเองก็ไม่มั่นใจว่าท่านอื่นรู้สึกอย่างไร แต่ถ้าชมเองก็รู้สึกประมาณนั้น แต่ว่าทุก ๆ เย็นวันนี้ก็เลือกที่จะเปิดกีฬาสดก่อนดูอย่างอื่น เพราะรู้สึกว่ามันน่าติดตาม ผมก็คิดว่าช่วงนี้ได้รับในเชิงบวก ในช่วงที่จริง ๆ แล้วมีความเศร้าหมองอยู่เยอะมากพอสมควรครับ

การขยายความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์หลาย ๆ เจ้าในภายภาคหน้า มีทิศทางอย่างไรบ้าง

จริง ๆ แล้วขยายตัวต่อเนื่องนะ พาร์ตเนอร์คนสำคัญของเราไม่ว่าจะเป็น GMM Grammy หรือช่อง 8 เนี่ยความจริงแล้วร่วมงานกันมาหลายสิบปีมากนะครับ ในหลากหลายภาคส่วนตั้งแต่เพลงในสมัยก่อนจนมาถึงภาพยนตร์ในปัจจุบัน และก็มีแผนงานที่จะขยายตัวในการทำตรงนี้มากขึ้น แต่อย่างที่เรียนว่าไม่ได้จำกัดอยู่กับพันธมิตรที่เราทำงานต่อเนื่องเป็นสิบปี เราเองก็ยังเปิดที่จะทำงานกับผู้ผลิตคอนเทนต์ที่หลากหลาย จริง ๆ แพลตฟอร์มดิจิทัลนำมาซึ่งอะไรที่ใหม่มาก หมายความว่าคนที่มีไอเดียสร้างสรรค์ คนที่มีความสามารถก็สามารถขึ้นมาผลิต สามารถสร้างสตอรีขึ้นมาได้ซึ่งตรงนั้นเป็นจุดที่เราเริ่มทำงานมากขึ้นกับผู้ผลิตที่ไม่ใช่ผู้ผลิตรายเดิม มีเรื่องราว มีศักยภาพความสามารถที่จะนำคอนเทนต์นั้นมาสู่สายตาประชาชนได้ ก็ต้องเรียนว่าขยายตัวอย่างต่อเนื่องนะครับ

ในอนาคตจะมีการต่อยอดหรือพัฒนาบริการเสริมอย่างอื่นอย่างไรบ้างกับกลุ่มลูกค้าทั่วไป

ณ วันนี้เนี่ยสิ่งที่เราเดินหน้าอย่างเต็มที่คือบริการ 5G ซึ่งเป็นสิ่งที่เราลงทุนอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ให้บริการ 5G เป็นลำดับต้น ๆ ของโลกนะครับ หมายความว่าเราเร็วเทียบเท่ากับจีน อาจจะช้ากว่ากันในระดับเดือนเท่านั้นเอง ณ วันนี้คนที่เร็วที่สุดในโลกคือจีน เราเองก็เร็วใกล้เคียงกัน เราเปิดให้บริการ 5G ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดบางเรื่องเป็นแห่งแรกของโลกนะครับ ดังนั้นบริการพิเศษต่าง ๆ ที่จะมาถึงลูกค้าในแง่ของ 5G เนี่ยจะพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง AR และ VR ถือเป็นตัวอย่างของบริการอันหนึ่งนะครับ หรือ cloud gaming เป็นบริการที่ใช้ประโยชน์สูงสุดของ 5G ในระยะนี้ หมายความว่า AR VR มันรวดเร็ว ผ่านเครือข่ายที่มีความเร็วสูง การตอบสนองเร็ว เป็นบริการที่เราตั้งใจพัฒนาต่อเนื่องกับผู้ผลิตคอนเทนต์และผู้ผลิต application service ให้มีความหลากหลายต่อเนื่องอยู่บนพื้นฐานของเครือข่าย 5G ครับ อันนี้เป็นอะไรที่เราตั้งใจทำตั้งแต่วันแรกที่ประกาศ 5G และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องนะครับ 

อันที่สองผมเชื่อว่า 5G จะมาให้ประโยชน์ในการให้บริการกับลูกค้าทั่วไปในแง่ของ Internet of Things หรือ IoT ซึ่งในอนาคตอันใกล้ อุปกรณ์ทุกอย่างก็ต่ออินเทอร์เน็ตกันหมด หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานก็คือ 5G ที่จะทำให้มันเป็นไปได้ วันนี้ถ้าเราซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ก็จะต่อ Wi-Fi แต่ในอนาคตก็จะต่อ 5G ดังนั้น Internet of Things ในแง่ของผู้บริโภคจะทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ที่จะยกระดับการใช้ชีวิต ซึ่งอาจจะผูกพันกับบริการด้านสุขภาพ ด้านความปลอดภัยและอื่น ๆ อีกมากมายที่จะเข้ามา อยากให้อดใจรอกันนะครับ 

แต่ส่วนที่จริง ๆ แล้วผมเองไม่ได้ดูแลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่ามีส่วนในด้านการทำงานอยู่มาก คือนอกจากการบริการกลุ่มลูกค้าทั่วไปแล้ว เราเองยังมุ่งมั่นที่จะขยายไปสู่การให้บริการกลุ่มลูกค้าประเภทธุรกิจ เช่น บริษัท หรือเดี๋ยวนี้เราอาจจะเรียกว่าผู้ประกอบการ แต่ละคนเป็นเจ้านายตัวเอง เป็นเจ้าของบริษัทเอง เป็นผู้บริโภคด้วย ซึ่งในบริการที่จะขยายไปของการให้บริการจึงเป็นอะไรที่ผสมผสานครับ จะเรียกว่า Consumer ก็ได้ จะเรียกว่า Business ก็ได้ ในแง่ของบริการ Cloud อย่างเราทำ Production วันนี้เรามีซอฟต์แวร์ที่เก็บการออกอากาศ ในอนาคตจะมี Cloud Facility ให้ใช้กันอย่างเต็มที่ และจะมี Solution มากมายซึ่งอันนี้เป็นความตั้งใจของ AIS ที่จะสร้าง Solution สร้าง Cloud ให้สามารถตอบสนองต่อการใช้บริการในอนาคตได้ครับ

พิสูจน์อักษร: วรรณรัตน์ ทองแผ่น

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า