fbpx

‘ย้อนวันวาน อิทธิพลจากสื่อไทย…ทำอะไรใน ‘6 ตุลา 19’ 

ครบรอบ 44 ปี ของการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังคงกล้ำกลืนอยู่ในหัวใจของผู้ที่สูญเสีย และยังคงไม่มีผู้ที่ออกมารับผิดชอบหรือแม้แต่จะแสดงความเสียใจต่อการกระทำที่กระทำต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ดั่งชีวิตพวกเขาเป็นผักปลา

‘6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ ประโยคนี้ที่อ้างอิงจากชื่อหนังสือ “6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” คงจะใช้ในการอธิบายภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้มากที่สุด 

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ภายหลังจากชัยชนะในวันที่ 14 ตุลาคม ที่กลุ่มประชาชนและนักศึกษา ที่ประกอบไปด้วย นักศึกษา ชาวนา และแรงงาน ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง สามารถขับไล่รัฐบาลทหารของจอมพล ถนอม กิตติขจร ออกไปได้ แต่ชัยชนะในครั้งนั้นกลับเป็นชัยชนะแบบไม่เบ็ดเสร็จ ประหนึ่งเป็นแผนลวงที่กลุ่มประชาชนและนักศึกษาถูกหลอกว่าพวกเขาได้รับชัยชนะ

ทางด้านถนอม กิตติขจร ภายหลังจากที่ต้องออกนอกประเทศและลี้ภัยในต่างแดน แต่แล้วในวันที่ 19 กันยายน 2519 ถนอม ที่ถูกขับไล่ ได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยในฐานะพระถนอม ซึ่งการกลับมาในครั้งนั้นทำให้มวลชนทั้งประชาชนและนักศึกษาแสดงความไม่พอใจ จนออกมาร่วมกันประท้วงเป็นจำนวนมาก เพราะหลังจากพระถนอม ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยได้เพียงหนึ่งปี เขาก็ทำการสึกจากการเป็นพระ

หลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์แขวนคอพนักงานการไฟฟ้าทั้ง 2 คน ซึ่งพวกเขาเป็นผู้ไปแจกใบปลิวเพื่อต่อต้านการกลับมาของถนอม อีกทั้งสื่อไทย ‘ดาวสยาม’ ได้ทำการตีแผร่ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ จากการที่นักศึกษาแสดงละครแขวนคอเพื่อทำการประท้วง โดยที่ ดาวสยาม ได้กล่าวอ้างว่านักศึกษาจงใจล้มล้างสถาบัน จากการที่ ดาวสยาม เลือกใช้รูปใบหน้าของนักศึกษาที่แสดงเป็นคนที่ถูกแขวนคอว่ามีใบหน้าคล้ายคลึงเจ้าฟ้าชาย

ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ของดาวสยามฉบับนั้น และเสียงจากวิทยุยานเกราะ นำมาซึ่งการปลุกละดมให้มวลชนฝ่ายขวา กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง เข้าปิดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั่นเอง จึงเกิดการปะทะเพื่อสลายการชุมนุมของนักศึกษานับพันที่ชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเหตุการณ์นองเลือดที่คร่าชีวิตผู้ชุมนุมไปอย่างน้อย 41 คน และมีบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

จากการที่สื่อมากมาย ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุกระจายเสียงในเวลานั้น ทำการโฆษณาชวนเชื่อ และการใส่ร้ายป้ายสีที่รุนแรงอยู่ตลอดเวลา จนสร้างความโกรธแค้นให้มวลชนฝ่ายขวา จนเกิดเป็นความเลือดเย็น ที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ภายใต้แนวคิดทางการเมืองที่ต่างกัน อย่างไม่เห็นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะวิธีการที่ฝ่ายขวาใช้พิฆาตซ้าย ทำให้เกิดการการนำร่างผู้เห็นต่างไปแขวนต้นไม้และใช้เก้าอี้ฟาด การลากร่างไร้วิญญาณไปตามพื้น การเผานั่งยาง หรือแม้กระทั่งการล่วงละเมิดทางเพศ 

ภาพ : บันทึก 6 ตุลา

อิทธิพลจากสื่อ ได้ชี้ชัดให้เห็นผ่านม่านประวัติศาสตร์ทางการเมืองในวันที่ ‘6 ตุลา’ ได้อย่างมากมาย และเช่นเดียวกันนั้น อิทธิพลที่สื่อได้รับจากการหนุนหลัง โดยกลุ่มเผด็จการฝ่ายขวา เลยทำให้เหตุการณ์ภายในรั้วธรรมศาสตร์ ลุกลามไปเป็นการฆาตกรรมหมู่ แม้จากวันนั้นจนวันนี้จะผ่านมา 44 ปี แล้วก็ตาม แม้จะยิ่งมีการขุดคุ้ยทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นที่เป็นร่องรอยชิ้นสำคัญจาก ‘6 ตุลา’ เอาไว้ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ชุมนุม และยืนยันว่าสื่อมีการปลุกกระแสที่สร้างความเกลียดชัง 

ในทางกลับกัน ‘6 ตุลา’ ยิ่งนานวันยิ่งถูกทำให้เลือนลาง ไม่มีการพูดถึงจากรัฐหรือสื่อหลัก ไม่มีการดำเนินคดีและหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้น และยังมีผู้สนับสนุนฝ่ายขวาอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังคงเชื่อว่า ‘การชุมนุมใน มธ. คือ พวกคอมมิวนิสต์ ถูกหนุนโดยต่างชาติ และไม่วายที่พวกเขายังคงเชื่อว่าการสังหารหมู่ในรั้วธรรมศาสตร์ในวันนั้น คือสิ่งที่ชอบธรรม เพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ และสถาบัน

ตลอดเวลาหลายสิบปี สถานะทางเมืองในประเทศไทย ท่ามกลางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันยังคงเดินกันอยู่บนเส้นขนาน สื่อจึงมีบทบาทที่สำคัญต่อผู้คน และได้เข้ามีอิทธิพลในชีวิตประจำวันต่อการตัดสินใจของผู้คนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นอิทธิพลจากสื่อที่บีบคั้นหัวใจมวลชนฝ่ายขวา จนเปลี่ยนความโกรธภายในจิตใจของผู้คน ให้ออกมาร่วมกันทำการสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ สื่อได้ล้มลุกคลุกคลานมากับสถานะทางการเมืองไทยที่ร้อนระอุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้มาโดยตลอด

หากเทียบกันระหว่างสื่อไทยในอดีตและปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า สื่อไทยในอดีต สมัยที่ผู้คนมากมายยังไม่สามารถเลือก platfrom ในการเสพข่าวได้มากนัก สื่อทีวีแบบอนาล็อก และวิทยุกระจายเสียง จึงมักถูกควบคุมโดยกองกำลังฝ่ายขวา จะเห็นได้จากในทุกๆเหตุการณ์บ้านเมือง นอกเหนือจากเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ ภายหลัง 30 ปีต่อมา เมื่อเกิดการรัฐประหาร 49 และการรัฐประหารปี 57 สื่อทีวีแบบอนาล็อกมักถูกควบคุมให้นำเสนอข่าวที่กองทัพได้เข้าทำการรัฐประหารตลอดทั้งวันทั้งคืน 

แน่นอนว่า ในปี 63 บทบาทของสื่อในยุคนี้แตกต่างจากสื่อในยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง เพราะสื่อในสมัยใหม่ที่ปรากฏอยู่บน platfrom ตาม social media ต่างๆ มีอิสระมากขึ้น และปราศจากการถูกควบคุมจากรัฐโดยตรงอย่างในสมัย ‘6 ตุลา’  จึงไม่ง่ายเลยสำหรับกองกำลังฝ่ายขวา หากพวกเขาจะยังใช้วิธีการปลุกเร้ามวลชนด้วยการป้ายสีผู้เห็นต่างทางการเมืองแบบเดิมๆ และนับเป็นความท้าทายกับปฏิบัติการ IO ที่พยายามแทรกซึมพื้นที่บนโลกออนไลน์ จากความพยายามที่ฝ่ายขวาเองก็ใช้วิธีการใหม่ๆ เพื่อทำลายขบวนการนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย 

วันนี้ 6 ตุลาคม 2563 ผ่านมา 44 ปี สถานการณ์ทางการเมือง ก็ยังคลับคล้ายคลับคลาไม่ต่างจากที่ผ่านๆมานัก  เพราะทุกครั้งที่ประชาธิปไตยกำลังจะเบ่งบานเมื่อใด สิ่งที่เหล่านักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังคงต้องเจอ ก็คือความสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขาเอง แต่ในการต่อสู้จากวันนั้นจนวันนี้ ก็เป็นสิ่งที่ประจักษ์ในสังคมว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตยยังคงไม่เลือนหายและรอคอยเวลาที่จะได้กลับมาเบ่งบานอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง และไม่ว่าในท้ายที่สุด เหตุการณ์ต่อจากนี้จะเป็นเช่นไร แต่เหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ ก็คงไม่มีใครลืมได้ลง และยังคงจำไม่ลืม และจะยังเป็นวันที่ระลึกถึงวีรชนผู้กล้าหาญตลอดไป 

ภาพโดย : เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า