fbpx

ทำความรู้จักสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

กว่า 64 ปีที่ผ่านมาที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ. 5) ได้ก่อกำเนิดขึ้นมาเพื่อความมั่นคงของชาติ และนำคุณค่าของข่าวสาร สาระ และบันเทิงออกสู่สายตาของผู้ชมมาอย่างยาวนาน แต่หลายท่านอาจจะหลงลืมถึงการก่อกำเนิดของช่องนี้ว่าในสมัยก่อนทำไมเขาถึงทำช่องนี้ วันนี้ผมและทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อจึงมีข้อมูลนำเอามาฝากกันครับ

ที่มาของ ททบ.5

ก้าวแรกของ ททบ. 5 เริ่มจากปี พ.ศ. 2495 กระทรวงกลาโหมออกข้อบังคับ ว่าด้วยการมอบหมายงานแก่เจ้าหน้าที่กองทัพบก โดยกำหนดให้กรมการทหารสื่อสาร (สส.) จัดตั้งแผนกกิจการวิทยุโทรทัศน์ ขึ้นตรงต่อกองการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 มีการกำหนดอัตรากำลังพลประจำแผนกโทรทัศน์ในอัตราเฉพาะกิจ สังกัดกรมการทหารสื่อสาร จำนวน 52 นาย เพื่อปฏิบัติงานออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ผลิต และถ่ายทอดรายการโทรทัศน์

จากนั้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ประกอบด้วย พลเอกไสว ไสวแสนยากร เป็นประธานกรรมการ และพันเอก (พิเศษ) การุณ เก่งระดมยิง เป็นเลขานุการ มีหน้าที่จัดทำโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พร้อมทั้งวางแผนการอำนวยการ และควบคุมการดำเนินกิจการวิทยุโทรทัศน์ รวมถึงมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติงานให้ได้ผลตามที่ราชการทหารมุ่งหมาย

ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน มีพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในบริเวณกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ สนามเป้า ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร โดยทำสัญญายืมเงินกับกองทัพบก เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้าง และจัดหาอุปกรณ์ จำนวน 10,101,212 บาท

ที่มาของภาพ : Bloggang

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 เริ่มต้นออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 จากอาคารสวนอัมพร เป็นภาพขาวดำโดยใช้ระบบ FCC – Federal Communication Committee 525 เส้น ทางช่องสัญญาณที่ 7 ด้วยเครื่องส่งออกอากาศกำลังส่ง 5 กิโลวัตต์ และทวีกำลังเพิ่มขึ้นอีก 12 เท่า บนสายอากาศสูง 300 ฟุต รวมกำลังส่งออกอากาศทั้งสิ้น 60 กิโลวัตต์

หลังจากนั้นเมื่อก่อสร้างอาคารของสถานีเสร็จสมบูรณ์ จึงเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการในทุกวันพุธ แล้วจึงเพิ่มวันจันทร์และวันศุกร์ในระยะถัดมา จึงทำให้ออกอากาศเป็นวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เฉลี่ย 3 วัน/สัปดาห์ โดยรายการส่วนมากที่นำมาออกอากาศนั้นเป็นสารคดีและภาพยนตร์ต่างประเทศ

ที่มาของภาพ : Bloggang

ททบ. 5 มีวิวัฒนาการมาโดยตลอด โดยปรับปรุงระบบเครื่องส่งโทรทัศน์ จากเดิมที่ใช้ระบบ 525 เส้น ภาพขาวดำ ช่องสัญญาณที่ 7 ปรับเป็นระบบ 625 เส้น ในย่านความถี่ VHF (Very-High Frequency) ทางช่องสัญญาณที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2517 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ. 5) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ททบ.5 เริ่มออกอากาศด้วยภาพสีในระบบ PAL – Phase Alternation Line เป็นครั้งแรกด้วยการถ่ายทอดสดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต

และในปี พ.ศ. 2539 ททบ. 5 เป็นผู้ริเริ่มใช้เฮลิคอปเตอร์ที่ติดตั้งกล้องวิดีโอ และรถถ่ายทอดเคลื่อนที่ผ่านระบบดาวเทียม (D-SNG – Digital Satellite News Gathering) มาใช้กับการถ่ายทอดสดและรายงานข่าว เป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนั้นในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 ททบ. 5 ยังดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ในระบบดิจิตอลไปยังทุกภูมิภาคทั่วโลก ตามโครงการไทยทีวีโกลบอลเน็ตเวิร์ก โดยปัจจุบันสามารถรับชมในกว่า 170 ประเทศ

ผู้นำคอนเทนต์ ต้องยกให้ช่อง 5

คราวนี้ถึงมาคราวของรายการทีวีกันบ้าง เริ่มจาก “คอนเสิร์ต คอนเทสต์” รายการวาไรตี้แสดงสดและการประกวดร้องเพลง ผลิตโดย บริษัท เจเอสแอล จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด) เริ่มออกอากาศครั้งแรก วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 และออกอากาศครั้งสุดท้ายในวันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2531 โดยเสนอเป็นประจำทุกวันเสาร์ เวลา 12.30 – 14.00 น. มี ปัญญา นิรันดร์กุล และ ผุสชา โทณะวณิก เป็นพิธีกร

ต่อมากับรายการ “เจาะใจ” รายการโทรทัศน์ประเภทสนทนาปกิณกะ ซึ่งออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2534 ในทุกคืนวันพฤหัสบดี อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดของประเทศไทยคือ 25 ปี โดยไม่ได้เปลี่ยนชื่อรายการ วัน เวลา และช่องโทรทัศน์ที่แพร่ภาพ โดยออกอากาศเป็นครั้งสุดท้ายที่ ททบ.5 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปัจจุบันออกอากาศทุกวันเสาร์ 22.05 น. ทางช่อง 9MCOT HD

ต่อกันด้วย “โลกดนตรี” คอนเสิร์ตทางโทรทัศน์ที่ออกอากาศมานาน ถ่ายทอดสดทุกวันอาทิตย์ เวลา 12.00 น.โดยมี เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ เป็นพิธีกร และ บุญชาย ศิริโภคทรัพย์ กับทีมงานคณะ “72 โปรโมชั่น” เป็นผู้ผลิตรายการ

นอกจากนั้นยังมีรายการเกมส์โชว์ระดับตำนานอย่าง “พลิกล็อค” รายการโทรทัศน์ประเภทเกมโชว์ในประเทศไทย ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในอดีต เริ่มออกอากาศครั้งแรกเดือนมกราคม พ.ศ. 2525 เป็นเกมโชว์ที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข โดยให้ทายการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขว่า “มากกว่า” หรือ “น้อยกว่า” โดยรายการนี้ได้รับความนิยมอย่างยาวนาน เพราะออกอากาศในช่วงเวลา 11.00 น. ของวันอาทิตย์ต่อเนื่องนานถึง 8 ปี จนถึงเทปสุดท้ายออกอากาศวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2532 แต่ภายหลังจากนั้น รายการพลิกล็อก ก็ได้มีการนำกลับมาทำใหม่อีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2539-2541

การก้าวสู่ยุคโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล

ททบ. 5 เป็นสถานีแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการผลิตและควบคุมการออกอากาศ ด้วยระบบดิจิตอล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2540 ซึ่งในขณะนั้นก็ได้มีการขึ้นตัวอักษรกำกับไว้ที่โลโก้ของช่องว่า “DIGITAL” อีกด้วย

หลังจากนั้นในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้อนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกันทดลองออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัล โดยมอบหมายให้ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ. 5) เป็นผู้ดำเนินการ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในย่านความถี่ UHF (Ultra-High Frequency) ช่องสัญญาณที่ 36 ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ช่องรายการคือ 6 ช่องทวนสัญญาณจากช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial) ด้วยความละเอียดมาตรฐานตามปกติ สำหรับอีก 2 ช่องรายการ จะทดลองออกอากาศโทรทัศน์ความละเอียดสูง คือ ช่องรายการโทรทัศน์ความละเอียดสูงซึ่งผลิตโดย ททบ. และการทวนสัญญาณจากช่องไทยพีบีเอส ซึ่งออกอากาศในระบบความละเอียดสูงผ่านดาวเทียมอยู่แต่เดิม โดยมีรัศมีรอบเสาส่งสัญญาณบนยอดอาคารใบหยก 2 เป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร ครอบคลุมเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ต่อมา กสทช. ได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคงแก่ ททบ. 5 โดยเริ่มนำสัญญาณภาพและเสียงออกอากาศคู่ขนานไปจาก โทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อกทางช่อง 5 เดิม เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 ต่อมา ททบ.5 ตั้งชื่อช่องรายการที่ออกอากาศในระบบดิจิตอลว่า ทีวี 5 เอชดี 1 (TV5 HD1)

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ทำการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกครั้งแรกในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ในสถานีส่งอำเภอแม่สะเรียง และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และในปี พ.ศ. 2560 ยุติการออกอากาศ 2 ระยะ โดยระยะแรก ในวันที่ 1 มกราคม ที่สถานีส่งเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ,อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และสถานีส่งจังหวัดร้อยเอ็ด และวันที่ 31 ธันวาคม ที่สถานีส่งจังหวัดชัยภูมิ ,จังหวัดเลย และสถานีส่งอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2561 ททบ. ได้ยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกจากสถานีกรุงเทพมหานครและ 33 สถานีที่เหลือ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน เวลา 9.29 น.

และนี่คือการเดินทางกว่า 64 ปีของ ททบ. 5 ในฐานะผู้นำทางด้านโทรทัศน์เพื่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งแน่นอนว่าในปีนี้เราก็ยังคงจับตามอง ททบ. ต่อไปถึงก้าวในอนาคต รวมไปถึงเนื้อหาข่าวสาร สาระ ความบันเทิงที่จะมีมากขึ้นอีกด้วย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า