fbpx

5 มีนาคม : วันนักข่าว – รู้จักที่มาของวันนักข่าว

ทุกวันที่ 5 มีนาคม ของแต่ละปี จะตรงกับวันนักข่าว ในปีนี้ก็เวียนบรรจบมาครบอีกหนึ่งปี วันนี้ส่องสื่อจึงขอเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของวันนักข่าวกันว่าเป็นไปมาอย่างไรบ้าง? รวมไปถึงความสำคัญในวันนี้ ติดตามจากบทความนี้ได้เลยครับ

ก่อนอื่นต้องเล่าการกำเนิด “สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย” ก่อน ซึ่งไม่ได้เกิดจากที่ไหนไกลเลย นอกจาก “สวนลุมพินี” โดยแกนนำ 15 คน คือ โชติ มณีน้อย, เท่ห์ จงคดีกิจ, ประจวบ อัมพะเสวต, วิเชียร โรจนวงศานนท์, ถาวร มุ่งการดี, สนิท เอกชัย, เชาว์ รูปเทวินทร์, จรัญ โยบรรยงค์, กุศล ประสาร, ชลอ อาภาสัตย์, อนงค์ เมษประสาท, วิสัย สุวรรณผาติ, นพพร ตุงคะรักษ์, วิภา สุขกิจ และเลิศ อัศเวศน์ นัดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมีชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุม ซึ่งประชุมนัดแรกในวันที่ 5 มีนาคม 2498

ที่มาของสมาคมนี้คือ เนื่องจากได้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นกับสมาคมหนังสือพิมพ์ที่มีมาแต่เดิม คือสมาชิกได้วอล์กเอ้าต์จากห้องประชุม จนเกือบหมดในการประชุมสามัญประจำปี ด้วยความไม่พึงพอใจ ในการแถลงงบดุลอย่างคลุมเครือประการหนึ่ง และด้วยเป็นที่ประจักษ์ว่า สมาคมนั้นถูกครอบงำโดยอำนาจ ทางการเมืองอีกประการหนึ่ง ไม่กี่วันต่อมาได้มีนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งจับกลุ่มกันคิดที่จะก่อตั้งสมาคมใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์ตรงกับ อุดมการณ์ของตนใช้ชื่อว่าสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย

ส่วนสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2508 เนื่องจากคนในวิชาชีพต้องการจะก่อตั้งสถาบันที่มาแก้ไขความเสื่อมโทรมในวงการวิชาชีพที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น โดยใช้ชื่อสถาบันว่า “สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”

หลังจากวันที่ 5 มีนาคมเป็นวันนักข่าวแล้ว หนังสือพิมพ์ทุกฉบับเลยนัดกันเป็นประเพณีให้วันที่ 6 มีนาคม เป็นวันที่จะหยุดการวางแผงของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แต่เนื่องจากในภายหลังมีข่าวค่อนข้างมากและเพื่อความรวดเร็วในการรับข่าวสาร จึงทำให้ต้องล้มเลิกประเพณีนี้ไปในที่สุด

หลังจากการกำเนิดของ “สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย” ในปี 2498 และ “สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ในปี 2508 ซึ่งทั้งสองสมาคมต่างก็มีจุดมุ่งหมายและการทำงานที่คล้ายคลึงกัน ในปี 2543 ทั้งสองสมาคมจึงได้รวมตัวเป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพในองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ให้สามารถทำหน้าที่ผดุงไว้ซึ่งมาตรฐานทางวิชาชีพ และจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น

โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยมีคณะกรรมการสมาคมมีทั้งหมด 15 คน มีวาระในการดำรงตำแหน่งวาระละ 1 ปี โดยเป็นผู้แทนมาจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ที่มีสมาชิกสมาคมสังกัดอยู่ และได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สมาชิกสมาคมซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี สมาคมฯ มีสำนักงานเลขาธิการซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำทำงานเต็มเวลา จำนวน 8 คน

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ซึ่งสมาคมเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรณรงค์เคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนและสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน เช่น การรณรงค์ให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ การเรียกร้องต่อรัฐบาลในการเปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณางบประมาณประจำปี การติดตามการทำงานของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางราชการ ฯลฯ

กิจกรรมด้านการฝึกอบรม เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพวงการสื่อสารมวลชน ซึ่งสมาคมดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมทั้งในระดับของนักศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ อาจารย์ที่สอนวิชาการหนังสือพิมพ์ นักหนังสือพิมพ์ทั้งในระดับประเทศและนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ตลอดจนมีการจัดอบรมเฉพาะทางสำหรับนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ด้วย นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังจัดกิจกรรมในการเปิดโอกาสให้นักข่าวได้พบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับแหล่งข่าว ซึ่งนอกจากนักข่าวจะได้ประเด็นข่าวที่จะรายงานต่อประชาชนแล้ว ยังได้ความรู้ในแต่ละประเด็นอย่างลึกซึ้งอีกด้วย นักข่าวทั่วไปรู้จักกิจกรรมนี้ในนามของ เสาร์เสวนา เป็นอย่างดี เพราะสมาคมได้ริเริ่มจัดอย่างต่อเนื่องทุก ๆ วันเสาร์

กิจกรรมด้านสวัสดิการสมาชิก สมาคมมีบทบาทในการดูแลสมาชิกครอบคลุมทั้งสวัสดิการรักษาพยาบาล ประกันชีวิต คลอดบุตร ทุนการศึกษาบุตร สวัสดิการมรณกรรม และดูแลนักข่าวอาวุโสโดยการจัดตั้งกองทุน เหยี่ยวปีกหัก เพื่อให้ความช่วยเหลือ

กิจกรรมด้านต่างประเทศ สมาคมฯ เป็นองค์ผู้ร่วมก่อตั้ง International Freedom of Expression eXchange (IFEX) และ South East Asian Press Allian (SEAPA) ซึ่งทำงานด้านการรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในภูมิภาคอาเซียน โดยสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกสมทบของ International Federation of Journalists (IFJ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านการประสานเครือข่ายนักหนังสือพิมพ์ทั่วโลก รวมทั้งการมีบทบาทในการสนับสนุนนักข่าวไทยเข้าอบรมและสัมมนาร่วมกับนักหนังสือพิมพ์ในระดับนานาชาติ

กิจกรรมด้านการจัดประกวดข่าว สมาคมฯ จัดกิจกรรมประกวดข่าวเป็นประจำทุกปี แบ่งการประกวดเป็น 5 ประเภท คือ การประกวดข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุล การประกวดข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยอดเยี่ยม และการประกวดข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา รางวัลพิราบน้อย และนอกจากนี้ยังมีส่วนสนับสนุนการจัดประกวดข่าวโทรทัศน์ของมูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ ด้วย

กิจกรรมด้านการส่งเสริมจริยธรรม สมาคมฯ ส่งเสริมให้มีการตรวจสอบและควบคุมจริยธรรมระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเอง โดยที่ประชุมใหญ่สมาชิกของสมาคมจะเลือกตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมจำนวน 5 คน เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลจรรยาบรรณนักหนังสือพิมพ์ให้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของสมาชิกสมาคม และยังทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการเป็นของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติด้วย

ในการทำหน้าที่นักข่าวและการกำเนิดของสมาคมฯนี้ ยังมีประวัติ และเส้นทางที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ใครที่สนใจอยากอ่านเพิ่มเติม สามารถเข้าไปได้ในเว็บไซต์ของสมาคมฯ เลยทาง www.tja.or.th

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า