fbpx

52 ปีไทยทีวีสีช่อง 3 อีกหนึ่งสถานีโทรทัศน์ที่อยู่ในทุกช่วงเวลา

On This Day วันนี้ขอร่วมแสดงความยินดีกับไทยทีวีสีช่อง 3 ในโอกาสครบรอบปีที่ 52 ของการออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ในวันนี้ (26 มีนาคม 2565) ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไทยทีวีสีช่อง 3 ได้สร้างประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำกับประชาชนชาวไทยทุกคนมาอย่างมากมาย และล้วนมีคุณค่าให้ได้เรียนรู้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

โดยเริ่มแรก บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สีโดยร่วมทุนกับบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2510 หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการลงนามสัญญาร่วมดำเนินการกิจการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในนามของ “สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปีถัดมา ถัดมาอีก 1 ปี (พ.ศ. 2512) ช่อง 3 ก็ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ บริเวณกิโลเมตรที่ 19 แขวงค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร และได้ก่อสร้างอาคารสถานี พร้อมดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องส่งโทรทัศน์และเครื่องส่งวิทยุจนเสร็จสิ้น และดำเนินการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2513 เป็นวันแรก ด้วยเครื่องส่งโทรทัศน์กำลังส่ง 25 กิโลวัตต์ 2 เครื่องขนานกัน รวม 50 กิโลวัตต์ อัตราขยายของสายอากาศ 13 เท่า ซึ่งมีกำลังส่งออกอากาศที่ปลายเสา 650 กิโลวัตต์ ที่ความถี่ช่อง 3 ระบบ VHF ความถี่ 54-61 MHz ตามมาตรฐาน CCIR PAL-B 625 เส้น จากเสาอากาศสูง 250 เมตร จากพื้นดินซึ่งเป็นเสาอากาศที่สูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น

สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ดำเนินการออกอากาศในระบบแอนะล็อกมาจนถึง 25 เมษายน 2557 บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ได้ดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยในขณะนั้นประมูลได้ทั้งหมด 3 ช่อง คือ ช่องเด็กและครอบครัว, ช่องวาไรตี้ ความคมชัดปกติ และช่องวาไรตี้ ความคมชัดสูง ซึ่งได้ดำเนินการออกอากาศแยกออกจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 แต่หลังจากนั้นในวันที่ 10 ตุลาคม 2557 หลังจากที่ได้มีการดำเนินการทางกฎหมายทั้งฝั่งของ กสทช. และฝั่งของบีอีซี เวิลด์ จนได้ข้อสรุปว่าจะนำสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนานกับช่อง 3HD หมายเลข 33 จึงได้ทำการออกอากาศคู่ขนานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในวันที่ 30 กันยายน 2562 บีอีซี เวิลด์ได้ดำเนินการยุติการออกอากาศของช่องเด็กและครอบครัว และช่องฃวาไรตี้ ความคมชัดปกติ เพื่อออกอากาศช่อความคมชัดสูงเพียงอย่างเดียว

หลังจากนั้นในวันที่ 12 มีนาคม 2563 บีอีซี เวิลด์ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม OTT ของตนเองภายใต้ชื่อ 3Plus โดยเป็นบริการ OTT แบบลูกผสม กล่าวคือ มีทั้งการรับชมแบบมีโฆษณา และการจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในนาม 3Plus Premium หลังจากนั้นจึงได้ย้ายเว็บไซต์หลักของสถานีมาที่ www.ch3plus.com ในอีก 2 ปีถัดมา

และหลังจากนั้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้ขายหุ้นใน บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ , ข่าววันใหม่ , เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง และรับจัดคอนเสิร์ตให้กับศิลปินทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงรับผลิตรายการวิทยุให้กับสองคลื่นในช่อง 3 ได้แก่ 95.5 และ 105.5 MHz อีกด้วย โดยดีลในครั้งนี้เป็นการขายยกล็อตให้กับไบร์อัน ลินด์เซ มาร์การ์ หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของบีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ในจำนวนหุ้นทั้งหมด 119,999,950 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 59.99 ของหุ้นในฝั่งบีอีซี เวิลด์ถือทั้งหมด มูลค่ารวมทั้งหมด 15 ล้านบาท ทำให้บีอีซี-เทโร หลุดสถานะจากการเป็นบริษัทย่อยในบีอีซี เวิลด์

ปัจจุบันในงบการเงินประจำปี 2564 ของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากทุกช่องทาง 5,718 ล้านบาท และกลับมาทำกำไรเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ 761 ล้านบาท นับเป็นการกลับมาทำกำไรของช่อง 3 อีกครั้งหนึ่งจากแนวทาง Single Content Multiple Platform โดยรายได้หลักมาจากการขายโฆษณาและการให้ใช้ลิขสิทธิ์เป็นหลัก

สำหรับในปี 2565 นั้นทางบีอีซี เวิลด์ยังขยายไปยังธุรกิจเพลงซึ่งจะทยอยเปิดตัวศิลปินคนต่อไปในเร็วๆ นี้ ต่อจาก “แต้ว ณฐพร” อีกด้วย และยังต่อยอดขยายฐานไปยังการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์กับผู้ผลิตภาพยนตร์ในปี 2565 รวมถึงการสร้าง “BEC STUDIO” ซึ่งจะเน้นการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อออกอากาศทั้งบนทีวีและออนไลน์บนช่องทาง CH3 Plus ซึ่งจะมี Original Contents และ On-demand Contents

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า