fbpx

ครบรอบ 50 ปี The Godfather ความยอดเยี่ยมของภาพยนตร์ที่คุณไม่อาจปฏิเสธได้

The Godfather คือชื่อในตำนานที่ผ่านกาลเวลามากว่าครึ่งทศวรรษ นี่คือภาพยนตร์ที่ผ่านการทดสอบด้วยเวลาที่ผันผ่านแล้วว่าสถานะของมันยังสามารถดำรงอยู่บนหิ้งได้อย่างสบาย ๆ (และดูท่าทางว่าจะอยู่บนนั้นไปอีกอย่างน้อยครึ่งทศวรรษ) 

เราคงไม่มาวิเคราะห์ตัวภาพยนตร์หรือวิจารณ์อีก เพราะตัวภาพยนตร์มีนักวิจารณ์ชื่อดังต่างได้เคยสรรเสริญเยินยอความยอดเยี่ยมของหนังและวิเคราะห์มันอย่างทะลุปรุโปร่งกันหมดแล้ว หากแต่เราจะมากล่าวในเรื่องที่ว่าเส้นทางก่อนจะเป็นหนังเรื่องนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจ เพื่อเป็นการบอกถึงเหตุผลที่ว่า หนังเรื่องนี้อาจไม่เกิดขึ้นหากปราศจากความมุมานะและการทุ่มพลังแบบหมดหน้าตักของทีมงานที่เกี่ยวข้อง เอาแค่ว่า ใครจะเชื่อว่าหนังอย่าง The Godfather เคยเป็นหนังที่สตูดิโอแค่อยากจะสร้างให้เสร็จ ๆ ไปโดยแทบไม่คาดหวังอะไรกับมันเลยแม้แต่นิดด้วยซ้ำไป

ผู้กำกับที่เสี่ยงจะโดนไล่ออกอยู่ทุกวี่วัน, แก๊งมาเฟียขู่เอาชีวิตโปรดิวเซอร์, ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการคัดเลือกนักแสดงระหว่างสตูดิโอกับผู้กำกับที่แทบจะแตกหักกันไปข้าง และสารพัดปัญหาร้อยแปดที่หนังเรื่องนี้ต้องเผชิญ ที่กว่า The Godfather จะกลายเป็นตำนานความยอดเยี่ยมของภาพยนตร์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ มันเดินทางผ่านเรื่องราวชวนปวดหัวที่เบื้องหลังกล้องมีแต่ความไม่แน่นอนและแทบไม่มีใครจินตนาการได้เลยว่าหนังจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร 

โปรเจกต์หนังที่เริ่มต้นจากความอับจนหนทาง

หากมองผ่าน ๆ เราอาจจะนึกว่าภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายขายดีแบบนี้ มันต้องเต็มไปด้วยความทุ่มเทของสตูดิโอในการลงทุนลงแรงสร้างออกมาให้ดีที่สุด ต้องเลือกผู้กำกับระดับชั้นนำในวงการในเวลานั้นมากุมบังเหียนเพื่อการันตีคุณภาพ เป็นโปรเจกต์ใหญ่ที่เต็มไปด้วยความคาดหวังระดับสูงลิ่ว แต่ความจริงแล้วไม่มีสิ่งใดเป็นแบบที่กล่าวมาข้างต้นเลยแม้แต่น้อย หากแต่มันคือโปรเจกต์ที่เริ่มต้นจากความอับจนหนทาง ที่สตูดิโอได้สิทธิ์ในการสร้างมาแบบไม่ได้ตั้งใจ เลือกใช้ผู้กำกับที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังอะไร และสร้างมันเพื่อให้มันเสร็จ ๆ ไปเท่านั้น 

ไล่ตั้งแต่ตัวเจ้าของนิยายชื่อดังอย่าง มาริโอ พูโซ ที่เริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้จากความเดือดร้อนเรื่องเงิน โดยหวังว่านิยายเรื่องนี้คงดีพอให้สำนักพิมพ์ให้เงินสักก้อนเพื่อให้เขาสามารถนำไปใช้หนี้พนันที่ค้างเอาไว้ได้เท่านั้น ไม่ได้เป็นการตั้งใจจะเขียนสุดยอดนิยายให้เป็นตำนานแต่อย่างใด แต่จนแล้วจนรอดสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้เห็นค่าต้นฉบับความยาว 50 หน้าของพูโซ จนเขาต้องรอนแรมไปหา โรเบิร์ต อีแวนส์ หัวหน้าฝ่ายโปรดักชั่นของสตูดิโอพาราเมาท์ ในปี 1968 เพื่อเสนอต้นฉบับนิยายให้สตูดิโอสามารถนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ ผ่านการแนะนำของคนรู้จักที่เวทนาชีวิตอันลำบากยากเข็ญของพูโซ (ที่คนรู้จักดังกล่าวก็ไปขอร้องให้อีแวนส์ช่วยยอมให้พูโซเข้าพบและช่วยเหลือพูโซอีกที) 

Image Courtsey of Rapid Rare Books

ท้ายสุดอีแวนส์ก็ยอมให้พูโซเข้าพบและมอบเงินให้พูโซล่วงหน้า 25,000 เหรียญ และจะให้อีก 50,000 หากนิยายเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งนั่นเพียงพอให้พูโซสามารถนำไปใช้หนี้ โดยอีแวนส์แทบไม่ได้ชายตามองต้นฉบับความยาว 50 หน้า ที่มีชื่อเรื่องสั้น ๆ บนกระดาษว่า ‘Mafia’ เลยแม้แต่น้อย เอาเข้าจริงเขาคิดว่าชาตินี้คงไม่ได้พบหน้าพูโซอีกแล้วด้วยซ้ำ จนกระทั่งหนังสือได้ตีพิมพ์ออกมาในปี 1969 แล้วมันก็กลายเป็นหนังสือขายดีโดยติดอันดับของนิวยอร์กไทม์ยาวนานถึง 67 สัปดาห์ รวมถึงถูกซื้อไปแปลเป็นภาษาอื่นอีกนับไม่ถ้วน 

ระหว่างนั้น ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ในวัย 30 ปี กำลังโลดแล่นในฐานะนักทำหนังหน้าใหม่ที่มีแววไปได้ดีหลังจากที่กำกับหนังเรื่อง The Rain People (1969) เสร็จและได้เสียงตอบรับค่อนข้างดี เขาได้รับการติดต่อจากสตูดิโอพาราเมาท์ว่าเขากำลังเป็นตัวเลือกในการให้มากำกับหนังจากที่สร้างจากนิยายเรื่อง The Godfather เขาจึงรีบหานิยายมาอ่าน แต่ทันทีที่อ่านแล้วก็กลับทำให้คอปโปลาประหลาดใจ ไม่ใช่เพราะมันมีเรื่องราวที่น่าสนใจของวงการครอบครัวมาเฟียแต่อย่างใด หากแต่เนื้อหาของมันที่คอปโปลาคิดว่ามันถูกเขียนขึ้นเพื่อเอาเงินมากกว่าจะเป็นนิยายที่ดี อีกทั้งเรื่องราวของมันก็ดูจะเทน้ำหนักไปที่เรื่องแปลก ๆ เช่นในพื้นที่ลับบนร่างกายของตัวละคร ลูซี มันชินี่ กับศัลยแพทย์ ที่ความสัมพันธ์ก็พัฒนาเป็นความรัก มากกว่าจะเล่าเรื่องหักเหลี่ยมเฉือนคมในโลกของมาเฟีย 

ในคราวแรก คอปโปลาตั้งใจจะปฏิเสธงานนี้ (เพราะอ่านแล้วไม่อินเอาเสียเลย) แต่สถานะทางการเงินที่บีบบังคับ หน้าที่ของคุณพ่อลูกสอง (ที่ลูกคนที่สามกำลังจะลืมตามาดูโลก) รวมถึงหนี้สินท่วมหัวที่คอปโปลาเคยกู้ยืมมาเพื่อสานต่อความฝันในการทำหนังอิสระและก่อตั้งบริษัทในช่วงก่อนหน้านี้ ที่กำลังมาเคาะประตูหน้าบ้านเขาอยู่ร่อมร่อ ทำให้คอปโปลาไม่อาจปฏิเสธโปรเจกต์นี้ได้ เขาจึงหันกลับไปทบทวนเรื่องราวของนิยายอีกครั้งอย่างตั้งใจ พอเขาเริ่มตกผลึกทางความคิดก็พบว่าภายใต้การนำเสนอที่ดูไร้แก่นสารและหยาบโลน มันคือเนื้อหาของครอบครัวที่มีพ่อเปรียบดังราชา โดยมีลูกชายสามคนเป็นตัวแปรสำคัญ มันคือเรื่องราวของครอบครัวท่ามกลางโลกมาเฟียสีดำที่เต็มไปด้วยเหลี่ยมคมของคนในโลกมืด การเอาตัวรอด และการสืบทอดอำนาจ

คำถามสำคัญตามมาว่าทำไมสตูดิโอต้องเลือกคนที่ชื่อฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา มาเป็นผู้กำกับ ทั้งที่นี่เป็นโปรเจกต์ที่สร้างจากนิยายขายดี และในเวลานั้นก็มีผู้กำกับชื่อดังมากมายเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเขา เพราะคอปโปลาก็แค่ชายหนุ่มนักทำหนังหน้าใหม่คนหนึ่งที่ว่ายเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมฮอลลีวูด 

คำตอบนั้นแสนง่าย เหตุก็เพราะสตูดิโอไม่ได้คาดหวังกับโปรเจกต์นี้อยู่แล้วตั้งแต่แรก เพราะเพิ่งเจ็บตัวมากับหนังมาเฟียเรื่อง The Brotherhood (1968) อันเป็นโปรเจกต์ที่สตูดิโอคาดหวังสูง มีทั้งนักแสดงเบอร์ใหญ่อย่าง เคิร์ก ดักลาส แสดงนำ แต่ท้ายสุดก็ล้มเหลวทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ทำให้สตูดิโอเข็ดขยาดกับความผิดหวัง และขอไม่เอาด้วยกับหนังแนวมาเฟียอีกแล้ว โปรเจกต์ The Godfather จึงเป็นโปรเจกต์ที่สตูดิโอแค่ต้องการสร้างให้มันเสร็จ ๆ ไป โดยอาจจะอาศัยความนิยมจากตัวนิยายมาช่วยเกาะกระแสนิดหน่อย และให้ผ่านไปแบบไม่ต้องมีใครจดจำ ซึ่งแน่นอนว่าโปรเจกต์แบบนี้มันไม่จำเป็นต้องเสียเงินทองจ้างผู้กำกับชื่อดังเข้ามาหรอก 

อย่างที่สองเพราะคอปโปลาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาสามารถเขียนบทและกำกับหนังได้ดีพอสมควร และสามารถทำหนังด้วยทุนสร้างที่ต่ำออกมาได้มาตรฐานที่โอเค แถมเพิ่งสร้างชื่อกับการได้ออสการ์สาขาเขียนบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Patton (1970) แต่กระนั้น เขาก็ยังเป็นผู้กำกับมือใหม่ที่ค่าจ้างถูกและคงควบคุมได้ง่าย นอกจากนั้น เขาเป็นชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายอิตาลี 

แต่สตูดิโอนั้นคิดผิดที่มองว่าคอปโปลาจะเป็นเพียงมือปืนรับจ้างที่ทำงานตามใบสั่งแบบไม่อิดออดและงอแง เพราะคอปโปลาไม่ได้มองหนังเรื่องนี้เป็นแค่หนังที่เข้ามาและผ่านไป แต่มันคือหนังที่เขาต้องทุ่มเทงัดวิสัยทัศน์ออกมาโดยแทบไม่ได้คำนึงถึงทุนสร้างที่สตูดิโอมอบให้เลยแม้แต่นิด ในเมื่อความทะเยอทะยานในงานนั้นสวนทางกัน จึงเกิดปัญหาการทะเลาะกันใหญ่โตของสตูดิโอและผู้กำกับตามมา

ระเบิดเวลาที่ชื่อ มาร์ลอน แบรนโด

“ในฐานะประธานของพาราเมาท์พิคเจอร์ส ผมขอบอกคุณตรงนี้เลยว่า มาร์ลอน แบรนโด จะไม่มีวันได้ปรากฏตัวใน The Godfather และในฐานะประธาน ผมขอสั่งห้ามคุณยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอีก” 

วาจาสิทธิ์ที่เด็ดขาดและเต็มไปด้วยอารมณ์อันเดือดดาลของ สแตนลีย์ เจฟฟ์ ประธานพาราเมาท์ ดังขึ้นในห้องประชุมในสตูดิโอในวันหนึ่ง 

นี่ดูจะเป็นเรื่องหนักหนาเรื่องแรก ๆ ที่คอปโปลาต้องเผชิญกับการทำงานช่วงเตรียมงานสร้างหนังเรื่องนี้ แต่เอาเข้าจริงก่อนจะมาถึงเรื่องการคัดเลือกนักแสดง คอปโปลามีปัญหากับสตูดิโอมาก่อนแล้วโดยเฉพาะเรื่องที่เขาต้องการจะสร้างหนังที่มีฉากหลังย้อนกลับไปในช่วงยุค 40 อันเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับในนิยาย แต่สตูดิโอกลับต้องการให้มันถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบันเพื่อความร่วมสมัย (และประหยัดเงินทุน) เสียมากกว่า 

การตัดสินใจแบบนั้นด้วยทุนสร้างที่มีให้แค่ 2.5 ล้านเหรียญ ทำให้การเตรียมงานเต็มไปด้วยความเครียดที่ส่งต่อถึงทีมงาน เพราะนอกจากต้องหาทางประหยัดงบแล้ว การหารถยนต์หรือพร็อพประกอบฉากย้อนยุคมันก็ยากขึ้นเท่าตัวด้วยเงินที่สตูดิโอมอบมาให้ กระแสต่อต้านคอปโปลาที่มีปัญหากับสตูดิโอก็เริ่มก่อตัวขึ้นเงียบ ๆ ในหมู่ทีมงาน

กลับมาที่เรื่องของนักแสดงอย่างมาร์ลอน แบรนโด นี่คือนักแสดงชื่อดังเบอร์ต้นของฮอลลีวูดที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธฝีมือการแสดงอันยอดเยี่ยมที่พิสูจน์มาแล้วจากหนังหลาย ๆ เรื่องที่เขาแสดงนำ ในช่วงเวลานั้นแบรนโดถือเป็นนักแสดงชั้นยอดบนห่วงโซ่อาหาร ไม่ใช่แค่ฝีมือการแสดง แต่รวมถึงข่าวคราวแง่ลบในเรื่องพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้ของแบรนโดอีกด้วย 

เป็นที่รู้กันดีในวงการว่ามาร์ลอน แบรนโด มักจะมีพฤติกรรมชวนปวดหัวที่คาดเดาได้ยากเหลือเกิน และในมุมหนึ่งเขาก็คือแบดบอยตัวเอ้ของวงการในเวลาเดียวกัน พฤติกรรมที่สร้างปัญหาให้กับกองถ่าย เช่นการมาสาย ไม่ชอบอ่านบทก่อนแสดง หรืออยู่ดี ๆ ก็หายตัวไปดื้อ ๆ ในขณะถ่ายทำ สร้างชื่อเสียงในทางลบไปทั่ว ซึ่งสตูดิโอก็มักจะหลบเลี่ยงในการทำงานกับนักแสดงคนนี้หากว่าเลือกได้ เพราะคิดว่าแบรนโดคือระเบิดเวลาที่ไม่รู้จะสร้างความหายนะให้กองถ่ายเมื่อไหร่

และกับโปรเจกต์ที่ไม่มีใครคาดหวังอย่าง The Godfather กำกับโดยผู้กำกับหนุ่มอายุแค่ 30 ปี ที่เข้ามาบอกในที่ประชุมว่าอยากได้มาร์ลอน แบรนโดมาแสดงนำ

มันคือเรื่องที่บรรดาผู้บริหารสตูดิโอระเบิดอารมณ์ทันทีที่ได้ยินความคิดนี้จากปากคอปโปลา

แต่ในมุมมองของคอปโปลา แน่นอนว่าในฐานะหนุ่มบ้าหนังที่ใฝ่ฝันอยากเป็นผู้กำกับ แบรนโดคือนักแสดงในดวงใจที่เขาอยากร่วมงานด้วย และจากความที่ต้องการจะซื่อตรงต่อนิยายต้นฉบับ ในความคิดของคอปโปลา แบรนโดก็คือตัวละคร ดอน วิโต้ คอร์เลโอเน่ แบบชัดเจนแบบแทบไม่ต้องคิดถึงนักแสดงคนไหนอีก ซึ่งความคิดนี้ของคอปโปลาก็ผ่านการเห็นด้วยจากเจ้าของนิยายอย่างมาริโอ พูโซ (ที่ได้รับมอบหมายจากสตูดิโอให้มาเขียนบทหนังร่วมกับคอปโปลา) ที่คิดตรงกันว่าวิโต้ คอร์เลโอเน่ ต้องเป็นมาร์ลอน แบรนโดเท่านั้น

โชคดีตอนนั้นคอปโปลาได้เริ่มติดต่อไปหาแบรนโดก่อนแล้ว โดยแนะนำให้แบรนโดลองอ่านนิยาย และพิจารณาว่าเขาอยากรับบทผู้นำตระกูลคอร์เลโอเน่หรือไม่ ซึ่งหลังจากเริ่มมีปากเสียงในที่ประชุม ไม่กี่วันหลังจากนั้นแบรนโดก็โทรมาให้คำตอบว่าเขาสนใจ วินาทีนั้นคอปโปลามีความหวังขึ้นมาทันที แบรนโดคือนักแสดงในดวงใจ และเขาเชื่อจริง ๆ ว่าเขากำลังจะมอบบทที่จะเป็นตำนานสำหรับนักแสดงคนนี้ 

หลังจากได้คำตอบ คอปโปลากลับมาที่ห้องประชุมโดยหยิบหัวข้อนี้กลับมาพูดอีกครั้ง พร้อมบอกว่าแบรนโดสนใจจะเล่นจริง ๆ เมื่อได้เห็นคำตอบของนักแสดงแบดบอยจากปากคอปโปลา ผู้บริหารจึงคิดประนีประนอมด้วยการยื่นข้อแม้ว่า หนึ่ง แบรนโดต้องเล่นหนังเรื่องนี้ฟรี ๆ สอง แบรนโดต้องทดสอบหน้ากล้อง และสุดท้าย แบรนโดต้องวางเงินประกันหนึ่งล้านเหรียญ เพื่อการันตีว่าเขาจะไม่ประพฤติตัวแบบที่สร้างปัญหาให้กับกองถ่าย 

ซึ่งเป็นการยื่นข้อเสนอที่มองยังไงก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่คอปโปลาที่อยู่ตรงนั้น ได้แต่ครุ่นคิดถึงการที่จะได้แบรนโดอยู่ในหนังของเขา ว่ายังไงมันก็คุ้มค่ากับการเสี่ยง เขาตอบตกลง และเริ่มคิดถึงวิธีอย่างแรกที่ต้องทำ คือการทำให้แบรนโดทดสอบหน้ากล้องให้ได้ จะโทรไปบอกตรง ๆ ให้แบรนโดมาทดสอบหน้ากล้องก็คงไม่ดี เพราะแบรนโดคงปฏิเสธแน่ ๆ เขาจึงใช้วิธีการขนทีมงานส่วนหนึ่งบุกไปหาแบรนโดที่บ้านในเช้ามืดของวันหนึ่งเลย 

การดำเนินการเป็นไปอย่างสงบและเงียบเชียบ คอปโปลารู้กิตติศัพท์ของแบรนโดดีว่าหากไปสร้างเสียงอันไม่พึงประสงค์และความวุ่นวายต่อเจ้าของบ้าน มีหวังโดนไล่ตะเพิดออกมาแน่ ๆ เขาจึงสั่งทีมงานให้สวมชุดดำ และส่งเสียงให้เบาที่สุด รอจังหวะเจ้าของบ้านตื่นและลงมายามเช้า และถึงเวลาแบรนโดก็เดินลงพร้อมชุดนอน มาเจอกับคอปโปลาและทีมงานส่วนหนึ่งตั้งกล้องรอเขาอยู่แล้ว 

ท่ามกลางความลุ้นระทึกต่อการแสดงออกของแบรนโด คอปโปลาก็กล่าวทักทายก่อน แบรนโดก็ตอบมาด้วยเสียงงึมงำที่ฟังไม่ได้ศัพท์ แต่ไม่กี่อึดใจหลังจากนั้น แบรนโดก็เริ่มดูออกว่าคอปโปลาและทีมงานเดินทางมาทดสอบหน้ากล้องกับเขา อยู่ดี ๆ เขาค่อย ๆ เสยผมขึ้นและเดินกลับเข้าห้องไป หลังจากนั้นก็ออกมาพร้อมกับผมสีดำที่ถูกป้ายด้วยแวกซ์รองเท้า ชุดนอนถูกเปลี่ยนเสื้อเป็นเสื้อเชิ้ต และเมื่อเอ่ยคำพูด เสียงพูดของเขาเปลี่ยนไปทันที เสียงอันแหบพร่าอันเป็นตำนานได้ถูกเอ่ยออกมา พร้อมกับรูปหน้าที่เหมือนหมาบลูด็อก 

มาร์ลอน แบรนโดกลายเป็นวิโต้ คอร์เลโอเน่ ได้ช่วงเวลาไม่กี่นาที คอปโปลาและทีมงานได้แต่ยืนอึ้ง เหมือนกับคนตรงหน้าไม่ใช่แบรนโดอีกต่อไป แต่กลายเป็น ดอน คอร์เลโอเน่ ไปแล้ว วินาทีนั้น คอปโปลายิ่งกว่าแน่ใจ เขากลับมาด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม นี่คือเทปการทดสอบหน้ากล้องที่ใครเห็นก็ต้องตะลึง แต่แทนที่คอปโปลาจะนำเทปไปให้ผู้บริหารดู เขากลับข้ามขั้นเดินทางไปหา ชาร์ลี บลูฮอร์น เจ้าของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ แอนด์เวสเทิร์นที่ถือกรรมสิทธิ์ในพาราเมาท์อีกที ซึ่งทันทีที่บลูฮอร์นได้ดูเทปทดสอบหน้ากล้อง เขาอุทานออกมาว่า “เฮ้ย ไม่น่าเชื่อ” 

อากัปกริยาของบลูฮอร์นที่ออกมา ทำให้คอปโปลารู้ทันทีที่เขาได้แบรนโดมาอยู่ในหนังของเขาแล้ว ในเมื่อบลูฮอร์นพอใจแบบนี้ ผู้บริหารทุกคนก็ไม่มีใครกล้าขัด นอกจากนั้น พวกผู้บริหารได้ลืมเงื่อนไขในการวางเงินประกันหนึ่งล้านเหรียญไปหมดเลย ทันทีที่เห็นเทปการทดสอบหน้ากล้องของแบรนโด 

การเลื่อยขาเก้าอี้ผู้กำกับ แก๊งมาเฟียขู่ และสารพัดปัญหาการถ่ายทำ

หลังจากจบการเตรียมงานสร้าง คอปโปลาก็ได้ทีมนักแสดงครบชุด ไล่ตั้งแต่มาร์ลอน แบรนโดในบทดอน วิโต้ คอร์เลโอเน่ โรเบิร์ต ดูวัลล์ ในบท ทอม เฮเกน ทนายความและที่ปรึกษาประจำตระกูลคอร์เลโอเน่ เจมส์ คาน ในบท ซานติโน่ (ซอนนี่) คอร์เลโอเน่ ลูกชายคนโต จอห์น คาสเซิล ในบท เฟรโด คอร์เลโอเน่ ลูกชายคนรอง และ อัล ปาชิโน่ ในบท ไมเคิล คอร์เลโอเน่ ลูกชายคนเล็ก โดยในรายของคานและดูวัลล์ คอปโปลาเลือกใช้งานเพราะทั้งคู่เคยแสดงหนังเรื่อง The Rain People ที่คอปโปลาเคยกำกับ ส่วนหน้าใหม่อย่างอัล ปาชิโน่ คอปโปลาได้ไปเห็นจากผลงานการแสดงละครเวที ที่แม้คอปโปลาจะมั่นใจว่าเขาเหมาะกับบทไมเคิล แต่สตูดิโอกลับไม่ค่อยเห็นด้วย จนปาชิโน่ต้องไปทดสอบหน้ากล้องครั้งแล้วครั้งเล่าจนจะถอดใจอยู่ร่อมร่อ แต่เป็นคอปโปลาเองนี่ยังพยายามตื้อให้ปาชิโนอย่าเพิ่งยอมแพ้ จนในที่สุดปาชิโน่ก็ได้บทในตำนานที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปจนได้ 

หากขั้นตอนการเตรียมงานเป็นดั่งการวางแผนสงครามที่ดุเดือดก่อนลงสนามรบที่ตัวผู้กำกับอย่างคอปโปลาต้องฟาดฟันแล้ว ขั้นตอนการถ่ายทำก็เหมือนกับการเอาชีวิตรอดบนสมรภูมิรบ ที่ต้องต่อสู้และแก้ปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งเรื่องของนักแสดง และทีมงานที่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับผู้กำกับ และเรื่องนอกกองถ่ายอย่างแก๊งมาเฟียตัวจริงที่คอยขู่และรังควาน!

เริ่มจากกรณีของแบรนโดที่จนแล้วจนรอดก็มีพฤติกรรมที่น่าปวดหัวเข้ามาจนได้ คือเขามักจะมาสายเป็นประจำ ซึ่งกรณีของแบรนโดการมาสายถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะตัวละครของเขาต้องใช้เวลาเมคอัพแปลงโฉมก่อนเข้าฉากถึงราว ๆ 3 ชั่วโมง จนทำให้ตารางงานส่วนอื่นกระทบทั้งหมด  แม้จะไม่หนักข้อเท่ากับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับหนังเรื่องอื่น ๆ แต่กับบรรดาผู้บริหารที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการเอาแบรนโดมาเล่นตั้งแต่แรกก็เริ่มเพ่งเล็งทันที 

และแม้คอปโปลาจะรู้อยู่เต็มอกว่าตัวเองสามารถโดนไล่ออกได้ทุกเมื่อหากมีปัญหาร้ายแรงเกิดขึ้นหรือเขาทำอะไรพลาดไป แต่กับทีมงานบางส่วนก็ดูมีท่าทางว่าต้องการให้คอปโปลาโดนไล่ออกสักที โดยมีสองแกนนำได้แก่ สตีฟ เคสตัน ผู้ช่วยผู้กำกับ และ แอราม อวาเคียน มือตัดต่อของหนัง ที่ปลุกระดมทีมงานให้ต่อต้านและคาบข่าวเสีย ๆ หาย ๆ ไปบอกสตูดิโอ ซึ่งว่ากันว่าหากคอปโปลาโดนไล่ออกจริง ๆ ตัวอวาเคียนเองนี่แหละที่จะรอเสียบตำแหน่งผู้กำกับต่อเลย

แต่ทันทีที่คอปโปลาทราบเรื่อง เขาก็ตัดสินใจเด็ดขาดในการชิงไล่ทีมงานที่คิดไม่ซื่อและไม่เต็มใจจะทำงานกับเขาออกทันที รวมแล้วกว่า 12 ชีวิตเลยทีเดียว  

นอกจากนั้นปัญหาในเรื่องนักแสดง ยังมีเรื่องของอัล ปาชิโน่ ด้วยความที่ตอนนั้นปาชิโน่ถือเป็นหน้าใหม่สุด ๆ ที่ต้องมารับบทสำคัญของเรื่อง แน่นอนว่าบรรดาผู้บริหารและทีมงานต่างก็ยังกังขาถึงความเหมาะสมและความสามารถทางการแสดงของเขา ว่ากันว่าในขณะที่ปาชิโน่กำลังเข้าฉาก จะมีเสียงหัวเราะเบา ๆ ออกมาจากทีมงานอยู่บ่อยครั้ง เล่นเอาปาชิโน่หงุดหงิดอยู่ไม่น้อย

ท่ามกลางความไม่แน่นอนและการจ้องจับผิดของผู้บริหาร คอปโปลาจึงแก้เกมด้วยการยกฉากที่ไมเคิลควักปืนมายิงซอลลอสโซและผู้กองแม็คคลัสกี้ในร้านอาหารมาถ่ายก่อนเลย เพราะอ่านขาดว่าการแสดงของปาชิโน่ในฉากนี้ น่าจะตัดปัญหาและลบคำครหาของทีมงานและผู้บริหารได้แน่นอน ซึ่งคอปโปลาคิดถูก เพราะปาชิโน่ในฉากนี้ฉายแววความนิ่ง ความสงบที่เงียบงันก่อนมาถึงของพายุลูกใหญ่ ที่บทจะโหดเลือดเย็นก็ทำได้อย่างไร้ที่ติ ซึ่งหลังจากผู้บริหารได้เห็นฉากนั้น ปัญหาเรื่องคำครหาในตัวปาชิโน่ก็หายไปทันที

“หนังสืออย่าง The Godfather มีแต่จะกระตุ้นความรู้สึกน่าสะอิดสะเอียน”

นี่คือข้อความบางส่วนของจดหมายถึงพาราเมาท์ที่มาจากสมาคมสิทธิพลเรือนของชาวอิตาเลียน-อเมริกัน ที่มีโต้โผใหญ่คือ โจเซฟ โคลอมโบ ซีเนียร์ ผู้นำของหนึ่งในห้าครอบครัวใหญ่ในนิวยอร์ก ที่รู้กันดีว่าเขาก็คือมาเฟียตัวจริงเสียงจริงในนิวยอร์กนี่แหละ 

ความไม่พอใจในเนื้อหาที่อาจทำให้ภาพลักษณ์ ‘มาเฟีย’ ของพวกเขาถูกเพ่งเล็ง ทำให้หนังเรื่อง The Godfather คือสิ่งอันตรายที่พวกเขาไม่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยสมาคมเดินเกมขู่สตูดิโออย่างหนัก โดยเฉพาะ อัลเบิร์ต เอส. รัดดี้ โปรดิวเซอร์ของหนัง ที่ถูกสะกดรอยตาม จนเขาต้องสลับรถใช้กับทีมงานคนอื่น โดยครั้งหนึ่งเขาสลับรถกับ เบ็ตตี้ แม็คคาร์ต ผู้ช่วยของเขา ในคืนนั้นเกิดเสียงปืนดังสนั่น เบ็ตตี้ที่ตกใจสุดขีดออกมาดูก็พบว่ากระจกรถแตกละเอียด มีรอยกระสุนปืนกระจายทั่ว และที่กระจกหน้ารถก็มีโน้ตกระดาษเขียนไว้ว่า ‘เลิกทำหนังเรื่องนี้ซะ ไม่งั้นเดี๋ยวรู้เรื่อง’ 

เรื่องเริ่มเลยเถิดไปถึงโรเบิร์ต อีแวนส์ ที่ได้รับโทรศัพท์สายตรงจากโจเซฟ โคลอมโบ ว่าหากไม่อยากให้เขาและครอบครัวต้องตกอยู่ในอันตราย ให้รีบไปจากเมืองนี้และเลิกสร้างหนังเรื่องนี้ซะ อีแวนส์และรัดดี้จึงเริ่มเห็นตรงกันว่าควรต้องเริ่มเจรจากับโคลอมโบให้รู้เรื่องเสียที

รัดดี้จึงนัดพบกับโคลอมโบที่โรงแรมเชอราตันในบ่ายวันหนึ่ง โดยรัดดี้ได้พยายามอธิบายว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการถ่ายทอดภาพที่เลวร้ายของชุมชนชาวอิตาเลียน-อเมริกันเลย ทุกตัวละคร ทุกฝ่ายจะมีดีมีเลวพอ ๆ กัน หนังมีทั้งที่ตัวละครอย่างตำรวจเลว และโปรดิวเซอร์ชาวยิวที่ขี้โกง และไม่มีความต้องการจะว่าร้ายคนอิตาเลียนเลยสักนิดเดียว

โดยหลังจากนั้นโคลอมโบก็เดินทางมาหารัดดี้ที่ออฟฟิศเพื่อมาอ่านบท แต่อ่านไม่กี่หน้าก็เลิกอ่าน และเริ่มทำข้อตกลงกับรัดดี้ โดยให้เงื่อนไขเดียวว่าหนังต้องตัดคำว่า ‘มาเฟีย’ ออกจากบทหนัง รัดดี้ก็รีบตอบรับทันทีว่าไม่มีปัญหา พร้อมกับจะแบ่งเงินจากรายได้ของหนังเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับโคลอมโบอีกด้วย หลังจากนั้นการแถลงข่าวระหว่างสมาคมฯ กับรัดดี้ว่าทั้งสองฝ่ายตกลงให้ความร่วมมือการในการสร้างหนังเรื่องนี้แล้ว ภาพถ่ายที่มีรูปของรัดดี้กับแก๊งมาเฟียในงานแถลงข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ในเช้าวันรุ่งขึ้น 

หลังจากปัญหานี้จบลง การถ่ายทำก็รุกคืบไปมาก เพราะทางสมาคมฯให้ความช่วยเหลือเต็มที่กับการถ่ายทำ บางฉากที่มีประชาชนมุงดูเยอะเกินไป สมาคมฯ ก็ส่งคนมาจัดการให้การถ่ายทำราบรื่น และไม่น่าเชื่อว่ามีคนอิตาเลียน-อเมริกันจำนวนมากยินยอมพร้อมใจในการเป็นนักแสดงประกอบในหนังอย่างเต็มที่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังเขม่นกันอยู่เลย

แม้จะมีปัญหาอีกยิบย่อยมากมายที่ตามมา แต่ท้ายสุดคอปโปลาก็สามารถถ่ายทำจนเสร็จในวันที่ 5 กรกฎาคม 1971 โดยเป็นการถ่ายทำที่เกาะซิซิลีเป็นฉากสุดท้าย 

ตำนานภาพยนตร์กับโศกนาฏกรรมครอบครัว

“ตอนนั้นผมผ่านอะไร ๆ มาจนคิดจริง ๆ นะว่าหนังจะต้องออกมาแย่มาก มันจะต้องมืดเกิน ยาวเกิน และก็น่าเบื่อเกิน”

นี่คือสิ่งที่ออกจากปากคอปโปลา เพราะแม้ว่าเขาจะทุ่มเทสุดตัวในการสร้างสรรค์หนังเรื่องนี้ให้ออกมาดีที่สุด แต่เอาเข้าจริง เขาก็ยังไม่แน่ใจกับมัน การตัดต่อหนังเรื่องนี้ก็จึงเกิดเรื่องประหลาดอย่างหนึ่ง คือในการตัดต่อดราฟต์แรกความยาวของหนังอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 15 นาที ไม่แน่ใจว่าคอปโปลากลัวว่าหนังจะยาวจนน่าเบื่อไปหรือเปล่าจนตัดหนังซะเหี้ยนแบบนี้ ซึ่งทันทีโรเบิร์ต อีแวนส์ได้ดูหนัง เขาก็ยืนกรานกับคอปโปลาเองว่าหนังต้องมีความยาวมากกว่านี้ 

ที่เป็นเรื่องแปลกก็เพราะว่าโดยปกติแล้วจะมีแต่ทางสตูดิโอจะมาบอกให้ผู้กำกับตัดหนังให้สั้นลงเพื่อให้รอบฉายแต่ละวันมากขึ้น แต่คราวนี้ดันเป็นคนของสตูดิโอเองที่มาบอกให้ผู้กำกับตัดหนังให้ยาวขึ้นเสียอย่างนั้น 

“คือเราถ่ายมามันระดับหนังมหากาพย์เลยนะ แต่ดันไปตัดให้มันกลายเป็นแค่หนังตัวอย่างซะงั้น”

อาจเป็นเพราะอีแวนส์มั่นใจหนังมากกว่าที่คอปโปลาคิด จนสุดท้ายหนังฉบับสมบูรณ์ก็มาจบที่ความยาว 2 ชั่วโมง 55 นาที และเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่นิวยอร์กในวันที่ 14 มีนาคม 1972 

Image Courtsey of Thinkmovies

งานนั้นเหมือนเป็นงานที่รวบรวมคนสำคัญ อาทิ เฮนรี คิสซิงเกอร์ ที่ปรึกษาคนสนิทของอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน รวมถึงแก๊งมาเฟียที่อยากเป็นสักขีพยานรับชมหนังเรื่องนี้ในวันแรก มีเรื่องตลกที่ว่ารัดดี้ต้องไปลักเอาตั๋วรอบปฐมทัศน์ส่วนหนึ่งมาแจกบรรดาแก๊งมาเฟียด้วย ซึ่งคนฉายหนังได้บอกกับรัดดี้ว่า ตั้งแต่ทำอาชีพฉายหนังมา เขายังไม่เคยได้ทิปด้วยแบงค์พันมาก่อนเลย และมีคนให้กับเขาในวันนี้หลังจากที่หนังจบลง เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่ามีคนรักหนังเรื่องนี้มากขนาดไหน

หนังเข้าฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มีนาคม 1972 วันนั้นรัดดี้และปาชิโน่ตัดสินไปดูหนังด้วยกันเพื่อทดสอบปฏิกิริยาของคนดู ซึ่งรัดดี้ยอมรับว่าช่วงที่ไฟเปิดหลังหนังจบลง เป็นช่วงเวลาที่น่าขนลุกที่สุดในชีวิต เพราะปฏิกิริยาของคนดูนั้นเงียบสงัด ไม่มีเสียงใดออกมาแม้แต่เสียงเดียว ไม่มีเสียงปรบมือ ทุกคนได้แต่นั่งนิ่งอยู่แบบนั้นเพราะความทึ่ง และแน่นอนว่าหลังจากนี้คือการเดินทางของหนังที่ไม่มีใครคาดเดาได้อีกต่อไป

หนังเข้าฉายทั่วอเมริกาในสัปดาห์ให้หลัง มันใช้เวลา 6 เดือนในการเดินทางสู่การเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลก ณ เวลานั้น โค่นล้มสถิติของ Gone with the Wind (1939) ที่ครองมา 33 ปีได้สำเร็จ เดินทางต่อไปถึงเวทีออสการ์ด้วยการเข้าชิงถึง 11 สาขา และคว้าชัยมาได้ 3 สาขา ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (มาร์ลอน แบรนโด) และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

บรรดานักแสดงและผู้กำกับต่างก็เป็นส่วนร่วมในการสร้างงานมาสเตอร์พีซชิ้นนี้ ได้แจ้งเกิดและก้าวเดินต่อไปในเส้นทางของตัวเอง รายของมาร์ลอน แบรนโด งานชิ้นนี้กลายเป็นงานแสดงที่ดีที่สุดของเขาอย่างไร้ข้อกังขา และคว้าออสการ์ตัวสุดท้ายในอาชีพจากหนังเรื่องนี้ อัล ปาชิโน่ ก็แจ้งเกิดอย่างเป็นทางการและได้กลับมารับบทไมเคิล คอร์เลโอเน่ อีก 2 ครั้งใน The Godfather: Part 2 (1974) และ The Godfather: Part 3 (1990) ได้เข้าชิงออสการ์ทั้งหมด 9 ครั้ง และคว้าชัยมาได้ 1 ครั้งจากภาพยนตร์เรื่อง Scent of a Woman (1992) กลายเป็นนักแสดงตำนานคนทั่วโลกให้การยอมรับในปัจจุบัน 

ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา แจ้งเกิดเป็นผู้กำกับระดับเอลิสต์ได้ด้วยวัยเพียง 33 ปี โดยเป็นกลายเป็นหัวหน้ากลุ่มนักทำหนังรุ่นใหม่แห่งยุค 70 ที่จะเปลี่ยนโฉมฮอลลีวูดไปโดยสิ้นเชิงในเวลาต่อมา ที่คนในกลุ่มประกอบด้วย จอร์จ ลูคัส และ สตีเวน สปีลเบิร์ก เขากลับมาสานต่อเรื่องราวของครอบครัวคอร์เลโอเน่ใน The Godfather: Part 2 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนังภาคต่ออีกเรื่องที่มีคุณภาพดีไม่แพ้ภาคแรก และเขาก็สามารถคว้าออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมได้จากเรื่องนี้

หลังจากนั้นเขาก็ทะเยอทะยานไปกับการสร้างหนังสงครามเวียดนามในตำนานอันเป็นที่เล่าขานในฮอลลีวูดในฐานะหนังที่ในตอนถ่ายทำมันคือนรกไม่ต่างกับสมรภูมิรบในหนัง ที่ไปด้วยโดยปัญหาและแทบทำให้คอปโปลาล้มละลาย ก็คืองานอย่าง Apocalypse Now (1979) 

แม้ในปัจจุบันชื่อของคอปโปลาดูจะเลื่อนหายไปจากสารบบของฮอลลีวูดไปแล้ว เพราะกลายเป็นผู้กำกับเคยดังอีกคนที่ไม่อาจปรับตัวเข้ากับภาพยนตร์สมัยใหม่ได้จนถูกลืมไปตามกาลเวลา แต่งานมาสเตอร์พีซของโลกภาพยนตร์ที่เขาเคยทำไว้กับ The Godfather สองภาคแรก มันก็เพียงพอแล้วที่บรรดาคอหนังยังจดจำชื่อเขาได้ดีเมื่อนึกถึงหนังเรื่องนี้ 

The Godfather กลายเป็นหนังที่ได้รับคะแนนโหวตให้เป็นหนังดีที่สุดเป็นอันดับสองในเว็บไซต์ Imdb ด้วยคะแนน 9.1 โดยเป็นรองแค่ The Shawshank Redemtion (1994) ที่ได้ไป 9.2 คะแนน และได้รับการจัดอันดับจากสถาบันภาพยนตร์อเมริกา (AFI) ในปี 2017 ให้ติดอันดับ 100 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของอเมริกาในอันดับที่สาม โดยเป็นรองแค่ Casablanca (1942) และ Citizen Kane (1941)

The Godfather มีอะไรดีขนาดนั้น?

อาจเพราะตัวหนังได้แฝงการสื่อสารผ่านการใช้สัญลักษณ์และศิลปะภาพยนตร์อยู่แทบทุกฉากในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดแสงมืดทึมที่สื่อสารถึงบุคลิกและอารมณ์ของตัวละคร หรือฉากการฆ่าที่ฉากหลังคือด้านหลังของเทพีเสรีภาพอันเป็นสัญลักษณ์ของอเมริกาที่อาจสื่อสารว่านี่คือโลกของตัวละครไม่อาจหยุดยั้งได้ด้วยกฏหมาย หรือจะเป็นจังหวะการตัดต่อของฉากพิธีในโบสถ์ของไมเคิลในช่วงท้ายของหนัง ที่ตัดสลับกับฉากการฆ่านองเลือดจากคำสั่งของผู้ที่อยู่ในพิธีทางศาสนาที่อาจสื่อสารว่าคำสอนของศาสนาไม่อาจหยุดยั้งความคิดเข่นฆ่าของมนุษย์ในร่างที่ไร้วิญญาณอย่างไมเคิลได้อีกต่อไป หรือแม้แต่การเลือกใช้สีของเสื้อผ้าที่บ่งบอกถึงโลกที่แตกต่างกันกันโดยสิ้นเชิงของตัวละครได้เป็นอย่างดี 

ทั้งหมดนี้อาจเป็นเหตุผล แต่โดยส่วนตัวกลับคิดว่าประเด็นหลักที่ทำให้เรื่องนี้อยู่เหนือกาลเวลา เพราะมันคือเรื่องราวของครอบครัว เรื่องราวของพ่อกับลูกชาย 

“พ่อไม่เคยอยากให้แกมาลงเอยแบบนี้เลย ไมเคิล พ่อคิดเอาไว้ว่าเมื่อถึงเวลาของแก แกจะต้องได้เป็นคนที่ถือเชือกชักนั้น อย่างวุฒิสมาชิกคอร์เลโอเน่ ท่านผู้ว่าคอร์เลโอเน่”

นี่คือคำพูดของท่านดอน คอร์เลโอเน่ ที่พูดกับลูกชายในช่วงที่ใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต แต่ชีวิตก็คือชีวิต มันควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปแบบที่ท่านดอนตั้งใจไม่ได้ ด้วยโชคชะตาและสถานะครอบครัวที่โลกในโลกสีดำ มันบีบบังคับตามสถานการณ์ที่ไมเคิลจำเป็นต้องรับช่วงต่อและก้าวขึ้นมาเป็นดอนแทนที่พ่อของเขา 

ไมเคิลที่ไม่เคยอยากยุ่งเกี่ยวกับครอบครัว ไม่เคยเห็นด้วยกับธุรกิจโลกมืดของพ่อ ซ้ำยังแหกกฏครอบครัวไปสมัครเป็นทหารอเมริกันเพื่อรับใช้ชาติในภาวะสงคราม ไมเคิลไม่มีอะไรที่เหมือนกับครอบครัวเลยแม้แต่น้อย แต่โชคชะตาก็เปลี่ยนให้เขาต้องกลายเป็นคนที่ไม่เคยอยากเป็น เพื่อคนรัก เพื่อพ่อ เพื่อครอบครัว แต่มันกลับถลำลึกไปในแวดวงของอำนาจที่ทำลายจิตวิญญาณ จนกลายเป็นเขาที่ทำลายครอบครัวให้แหลกสลายด้วยมือตัวเอง และท้ายสุด ไมเคิลก็แค่เป็นฆาตกรเลือดเย็นในร่างที่ไร้วิญญาณโดยสมบูรณ์ในหนังภาคสอง

ไม่ว่าคนจะจดจำหนัง The Godfather แบบไหน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ขอจดจำมันในฐานะหนังว่าด้วยโศกนาฏกรรมครอบครัว เรื่องราวของการสร้างอาณาจักรให้รุ่งเรื่องถึงจุดสูงสุดด้วยน้ำมือของพ่อ แต่กลับถูกทำลายจนแหลกสลายไม่มีชิ้นดีด้วยน้ำมือของลูกชายที่พ่อรักที่สุด

ในโอกาสครบรอบ 50 ปี The Godfather จะถูกนำกลับมาเข้าฉายใหม่อีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้

อ้างอิง
บทความเบื้องหลังงานสร้าง The Godfather โดย Vintage Motion 
บทวิจารณ์ The Godfather และ The Godfather: Part 2 โดย รศ.ดร. กฤษดา เกิดดี
www.imdb.com
https://en.wikipedia.org/wiki/AFI%27s_100_Years…100_Movies

ภาพประกอบ
Paramount Pictures
Rolling Stones

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า