5 ผู้เล่นใหม่ในวงการ ‘Podcast’ ไทย วงการที่เคยเป็นเทรนด์ จนตกเทรนด์ และอาจกลับมาเป็นเทรนด์อีกครั้ง

หากพูดถึงเทรนด์ของสื่อในยุคที่ ‘Social Media’ กลายเป็นโลกไร้พรมแดน ใครจะดู จะเสพเนื้อหาอะไรจากที่ไหนในโลกก็ได้ เทรนด์ของสื่อในรูปแบบภาพและเสียงก็มีกระแสตอบรับเพิ่มมากขึ้น จากภาพและเสียงในรูปแบบสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อภาพยนตร์ มันได้เข้ามาอยู่ในจออุปกรณ์พกพา รวมถึงตัวคอนเทนต์ก็กระจายอยู่ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อย

เช่นเดียวกับสื่ออีกรูปแบบที่มีความเฉพาะทางสูง ใช้รูปแบบภาษาในการสร้างสรรค์ที่แตกต่างออกไปอย่างสื่อที่มีเพียงเสียงอย่างเดียว เมื่อก่อนก็คงจะฟังได้จากวิทยุเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ก็มีเจ้า ‘Podcast’ ที่เข้ามาช่วยให้สื่อเสียงกลับมาน่าสนใจมากขึ้น

ย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา Podcast ในไทยเองก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีการแข่งขันสูง จากกระแสของผู้จัดทำรายการ และผู้ฟังที่รับรู้ถึงการมีอยู่ของสื่อประเภทนี้มากขึ้น

ซึ่งจริง ๆ แล้ววงการพอดแคสต์ในไทยนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2555 โดยจากข้อมูลเท่าที่พบ รายการพอดแคสต์ของประเทศไทยที่เก่าที่สุดน่าจะเป็นรายการ ‘WiTcast’ รายการพอดแคสต์วิทยาศาสตร์เบาสมองของ ‘แทนไท ประเสริฐกุล’, ‘อาจวรงค์ จันทมาศ’ และ ‘อาบัน สามัญชน’ ที่ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาประมาณ 11 ปี ที่วงการพอดแคสต์ไทยผ่านทั้งช่วงขาขึ้น ขาลง กำลังทรง ๆ จนอาจจะกลับมาอยู่ในสภาวะอยู่ตัวได้แล้ว ด้วยการที่สื่อเก่า สื่อใหม่หลายเจ้าต่างเอาตัวเองลงมาเล่นในตลาดสื่อเสียงออนไลน์กันมากขึ้น ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย

เราเลยขอแนะนำผู้เล่นใหม่ รวมถึงผู้เล่นเดิมที่คัมแบ็คกลับสู่วงการ Podcast ไทยอีกครั้งในรอบเดือนที่ผ่านมา ให้คุณได้รู้จักกัน หรืออาจจะลองกดฟังเพื่อทำความรู้จักกับพวกเขาให้มากขึ้นก็ได้

Goodday Podcast

คลิปโปรโมตช่อง ‘Goodday Podcast’

ผู้เล่นหน้าใหม่กลุ่มแรกที่น่าสนใจสำหรับเราเลยคือ ‘Goodday’

ก่อนหน้านี้เราเห็น Goodday เป็นมาหลายอย่าง เป็นช่องที่เอา ‘เบน ชลาทิศ’ มาพูดคำหยาบคายระหว่างทำอาหารได้อย่างสนุก เอา ‘ว่าน ธนกฤต – ตู่ ภพธร – ทอม อิศรา’ มาใช้ชีวิตด้วยกันได้อย่างกลมกล่อม เอา ‘พี่เอ็ด 7 วิ – หลุยส์ Rap is Now’ สองนักแร็ปแห่งยุค มาทำรายการ Rap Battle ที่ไม่ได้เอาคนมาสาดคำด่าใส่กัน แต่เอาคนมาสาดคำชมใส่กันแทน

Goodday นำเสนอ ‘อีกด้าน’ ของคนบันเทิงที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ผ่านความคิดสร้างสรรค์ และตัวตนที่สบายขึ้น ต่างจากสื่ออื่น ๆ ที่เราคุ้นเคย รวมถึงความสดใหม่ของทั้งคนเบื้องหลัง และคนเบื้องหน้า ที่ผสมรวมกันทำให้รสชาติของช่อง Youtube Goodday กลายเป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์วิดีโอออนไลน์ที่น่าสนใจในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

จนกระทั่ง Goodday ขยับขยายตัวเองออกสู่พื้นที่ใหม่ ๆ ที่รวมถึงช่อง ‘Goodday Podcast’ ที่ยังคงนำเสนอความเป็นตัวตนอีกด้านของ ‘คนบันเทิง’ ได้อย่างกลมกล่อม ผ่านการนำคนบันเทิงเหล่านั้นมารับหน้าที่ ‘ผู้ดำเนินรายการ’ อย่างเช่น ‘พลอย หอวัง’ ผู้ดำเนินรายการ ‘เมาท์มอยกับพลอยหอ’ ที่วางตัวตนของพลอยผ่านมุมสบาย ๆ ในห้องนั่งเล่น พร้อมกิมมิคของไมค์สีส้มแสนโดดเด่นของรายการ ที่ให้ทั้งผู้ดำเนินรายการและแขกรับเชิญถือแทนการติดไมค์ที่ตัว รวมถึงการเปิดรายการก็ไม่มีปี่มีขลุ่ย อยู่ ๆ ก็ถ่าย อยู่ ๆ ก็เข้ารายการ

รายการ ‘เมาท์มอยกับพลอยหอ’ EP.1 – PALOY เมาท์กับยายแป๋ม ครีเอทีฟตัวทวด

หรืออย่างรายการ ‘Once Upon a Good Time’ ของ ‘นิติ ชัยชิตาทร’ หรือที่ทั้งวงการเรียกเธอว่า ‘ยายป๋อมแป๋ม’ ก็ใช้ความชอบในเรื่องราวเก่า ๆ ของ Pop Culture ในไทย อย่างที่เธอเคยนำเสนอผ่าน ‘เทยเที่ยวไทย’ หรือ ‘ทอล์ก-กะ-เทยส์’ อยู่บ่อย ๆ จึงเอามาทำให้อยูในบรรยากาศอบอุ่น จริงจังขึ้น ผ่านรายการพอดแคสต์ในช่อง Goodday Podcast

รายการ ‘Once Upon a Good Time’ EP.1 – สเตฟาน ฐสิษฐ์

นี่เป็นเพียง 2 จาก 5 รายการที่ Goodday Podcast เริ่มออกอากาศเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเปิดตัวได้สวย และเป็นอีกหนึ่งช่อง Podcast ที่น่าจับตามองต่อไปในอนาคต

สามารถกดฟังรายการของ Goodday Podcast ได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้เลย @GoodDayPodcast

ไหนพาปัง Podcast

‘หนังพาไป’ รายการโทรทัศน์ไทยในรูปแบบโฮมเมดจากช่อง Thai PBS ก็เป็นอีกหนึ่งรายการที่ขยับตัวเองมาเริ่มต้นทำ Podcast เป็นครั้งแรกเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาเอง จากซีซั่น 1 ตอนที่ 1 ที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รายการ ‘หนังพาไป’ ซีซั่น 1 EP.1 – เมือง Stuttgart ประเทศเยอรมนี [1]

จนถึงวันนี้ เกือบ 13 ปีที่ผ่านมา ทั้ง ‘บอล-ทายาท เดชเสถียร’ และ ‘ยอด-พิศาล แสงจันทร์’ เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก เพื่อตามหาจุดหมายปลายทางที่แตกต่างจากรายการท่องเที่ยวอื่น ๆ รวมถึงเรื่องราวที่เรียงรายระหว่างการเดินทางทุกวินาที เพื่อรวบรวมทุกรสชาติของ ‘ความเป็นจริง’ เอาไว้ให้ได้มากที่สุด

หากมองโดยภาพรวม ก็ถือเป็นเรื่องยากพอสมควรที่ทั้ง ‘บอล-ยอด’ จำเป็นต้องบันทึกภาพเกือบทุกวินาทีของการเดินทาง เพื่อทำให้เรื่องราวไม่ตกหล่นเวลานำมาเล่าเป็นรายการความยาว 1 ซีซั่น บางวินาทีที่เหนื่อยล้า เศร้าโศก โกรธ หรือกระวนกระวายใจกับอะไรบางอย่าง ก็คงต้องบันทึกภาพเอาไว้สถานเดียว

นั่นจึงทำให้ความเคลื่อนไหวของการทำรายการ Podcast ของเขาทั้งสองคนน่าสนใจ จากเรื่องราวชีวิตหรือการเดินทางที่เข้มข้น และประเด็นการนำเสนอที่น่าสนใจ เหมือนอย่างที่เราเคยดูรายการในรูปแบบโทรทัศน์เมื่อหลาย ๆ ซีซั่นที่ผ่านมา

รายการ ‘ไหนพาปัง Podcast’ EP.1 – ลองไปเป็น ‘นักเรียนนอก’

โดยในรายการพอดแคสต์ ‘ไหนพาปัง Podcast’ ซีซั่นแรกของ ‘บอล-ยอด’ ว่าด้วยเรื่องราวการไปเป็นนักเรียนนอกของพวกเขาทั้ง 2 คน ที่โรงเรียน Pines International Acadamy ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ชื่อ ‘บาเกียว (Baquio)’

เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าในรูปแบบรายการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ที่พวกเขาพบเจอมา จะฟังสนุกไม่ต่างจากเรื่องราวจริง ๆ ที่เราเคยได้ดูในเวอร์ชั่นรายการโทรทัศน์แน่นอน

สามารถกดฟังรายการของ ไหนพาปัง Podcast EP. แรก ได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้เลย

BrandThink Podcast

‘BrandThink Podcast’ ถือเป็นผู้เล่นเดิมที่หวนกลับสู่วงการ Podcast อีกครั้ง จากซีซั่นแรก ๆ ของบริษัท ที่ทุ่มทุน และทุ่มเทเวลาทำรายการพอดแคสต์ในทุก ๆ แบรนด์สื่อย่อย ทั้ง ‘Moody’ เพจคอนเทนต์ที่เล่าเรื่องราวจากภายในจิตใจของมนุษย์ เพื่อให้เข้าใจตัวเอง และเพื่อให้ชีวิตเติบโตไปได้อย่างมีคุณภาพ ที่มีรายการ ‘Moody Podcast’ เป็นรายการหลัก

‘Sauce เรื่องราวกินได้’ สื่อที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่อ่านง่าย และย่อยง่าย ที่มีรายการ ‘Life in a Lunchbox’ เป็นรายการหลัก

หรือ ‘BrandThink Cinema’ สื่อเชิง Community ที่ตั้งใจสร้างสรรค์เพื่อพูดคุย และส่งเสริมวงการหนังไปพร้อม ๆ กัน ที่มีรายการ ‘หนังจบคนเจ็บ’ และ ‘Cinema Paradiso’ เป็นรายการพอดแคสต์ในเครือ เป็นต้น

โดยเนื้อหาจากทั้ง 7-8 รายการพอดแคสต์ของ BrandThink ในซีซั่นก่อน ๆ ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ แต่อาจจไม่ได้รับความสนใจจากผู้ชมผู้ฟังมากเท่าไหร่นัก

การกลับมาในซีซั่นใหม่ล่าสุดของ ‘BrandThink Podcast’ จึงเป็นอีกสถานีที่น่าเอาใจช่วย และน่าลองกดฟังแต่ละรายการเหมือนกัน เพราะรายละเอียดแต่ละรายการล้วนน่าสนใจเช่นเคย ไล่เรียงตั้งแต่ ‘ด้วยรักและปรัชญา’ ซีซั่น 2 โดย ‘Moody’ รายการตอบคำถามจากปัญหาชีวิตวัยรุ่น ที่ไม่ได้ชี้ถูก ชี้ผิด แต่ชี้หลากหลายลู่ทางของคำตอบที่ไม่ได้ถูกจำกัดแค่คำตอบเดียว

‘Life in a lunchbox’ ซีซั่น 2 โดย ‘Sauce เรื่องราวกินได้’ รายการเล่าเรื่องราวชีวิตที่เติบโตและผูกติดกับกล่องข้าวกลางวันเมื่อวันวาน

และรายการ ‘คนกองร้องกรี๊ด’ โดย ‘BrandThink Cinema’ ที่ได้ ‘ทราย เจริญปุระ’ มาเล่าเรื่องราววายป่วง ผ่านมุมมองดาราที่เคยเป็นคนกอง (ถ่าย) ในหลายภาคส่วน และพร้อมเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขาผ่านเรื่องราวที่นำมาเล่าในรายการ

รายการ ‘คนกองร้องกรี๊ด’ EP.1 – เจ้าแม่หนังผี กับเรื่องเฮี้ยนๆของคนกองคิวกลางคืน

สามารถกดฟังรายการของ BrandThink Podcast ได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้เลย

https://www.youtube.com/@BrandThinkme/podcasts

https://www.youtube.com/@SauceChannel/podcasts

https://www.youtube.com/@moody5575/playlists

https://www.youtube.com/@brandthinkcinema/playlists

Beartai Podcast

เจ้าพ่อไอทีรายนี้ก็เคยทำ Podcast มาก่อนเหมือนกันนะ

Beartai เติบโตมาจากรายการโทรทัศน์ดาวเทียมในยุคอีกี้ครองเมือง หรือราว ๆ พ.ศ. 2549 ก่อนจะกลายเป็นสื่อออนไลน์ที่ทำคอนเทนต์ได้เนี้ยบ ทันสมัย และนำเสนอข่าวสารวงการไอที รวมถึงวงการอื่น ๆ ที่แตกแขนงออกไปจากเดิมได้อย่างน่าสนใจ

ตัวอย่างรายการล็อตแรก ๆ ของช่อง ‘beartaiPod’

ซึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง Beartai ก็ขยายวิธีการเล่าเรื่องจากรูปแบบวิดีโอ หรือบทความ และบทสัมภาษณ์ สู่รูปแบบ Podcast เมื่อราว 2 ปีที่แล้ว ในชื่อ ‘beartaiPod’ ผ่านหลากหลายรายการพอดแคสต์อย่าง ‘หนุ่ย Talk หนุ่ยโทร’ รายการที่ ‘หนุ่ย-พงศ์สุข’ จะโทรเพื่อสนทนาอย่างเป็นกันเองเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจในสัปดาห์นั้น ๆ ‘ยืนหนึ่ง พอดแคสต์’ รายการเล่าเรื่องประเด็นร้อนในวงการฟุตบอล ‘หนุ่ยคุย’ รายการที่ ‘หนุ่ย-พงศ์สุข’ จะมาเล่าประเด็นต่าง ๆ ในสังคม ผ่านมุมมองจากหลากหลายประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต และ ‘Pop Culture Podcast’ รายการที่ ‘ป๊อป-ณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์’ CCO ของ Beartai จะคุยเรื่องสัพเพเหระที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณ ตั้งแต่แวดวงบันเทิง วิถีชีวิต แนวคิดการทำงาน จนถึงประเด็นร้อนในสังคม

รายการ ‘ไอทีรีตอง Podcast’ EP.1 – พรรคก้าวไกลกับการใช้โซเชียลหาเสียง

ซึ่งหลังจากนั้น Beartai Podcast ก็หยุดทำการไปเกือบ 1 ปี ก่อนจะกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กับรายการใหม่อย่าง ‘ไอทีรีตอง Podcast’ รายการพอดแคสต์ที่นำทุกประเด็นที่เกี่ยวพันกับวงการไอที หรือโลกออนไลน์ มาเล่าให้ฟังแบบสบาย ๆ เข้าใจง่าย และได้ความรู้

สามารถกดฟังรายการของ Beartai Podcast ได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้เลย

https://www.youtube.com/@beartaipodcast

Sarakadee-Muangboran Podcast

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาก ๆ ของวงการพอดแคสต์ไทย คือการที่ ‘เครือสำนักพิมพ์สารคดี’ ผันตัวมาทำคอนเทนต์เสียงให้เราได้ฟังกัน

จากสำนักพิมพ์ที่เผยแพร่เนื้อหาสาระมากมายในรูปแบบสิ่งพิมพ์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ขยับมาทำคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอ และบทความลงเว็บไซต์มากขึ้นในห้วงเวลาที่สังคมออนไลน์ครองเมือง จนเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เครือสารคดีได้ประกาศตัวว่าจะมีรายการพอดแคสต์ใหม่ทีเดียว 5 รายการ

เริ่มจากรายการ ‘ประวัติศาสตร์นอกขนบ’ โดย ‘สุเจน กรรพฤทธิ์’ รายการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในอีกมุมหนึ่งที่อาจจะแตกต่างจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก, ‘๑๐ เกร็ด เสด็จเตี่ย’ โดย ‘ศรัณย์ ทองปาน’ ซีรีส์พอดแคสต์ที่จะชวนคุณมาฟังเรื่องเล่าของ ‘เสด็จเตี่ย (กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์)’ เจ้านายไทยที่มีพระประวัติที่น่าสนใจในหลากหลายแง่มุม, ‘ยุคสมัยประวัติศาสตร์ศิลปะ’ โดย ‘’ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์’, ‘ตามรอยสามก๊กในจีน’ โดย ‘ปริวัฒน์ จันทร’ และรายการ ‘สารคดี 101’ โดย ‘วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง’

รายการ ‘ประวัติศาสตร์นอกขนบ’ EP.1 – กรุงแตกแบบไหน?

โดยรายการทั้งหมดน่าจะมาเป็นซีซั่น คือมีจำนวนตอนที่กำหนดชัดเจน และเราก็คาดว่าในอนาคตจะมีซีรีส์พอดแคสต์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจจากเครือสำนักพิมพ์สารคดี ตามมาให้เราได้รับฟังกันอีก

สามารถกดฟังรายการของ Sarakadee-Muangboran Podcast ได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้เลย

https://www.youtube.com/@Sarakadee_MB

นี่แค่เพียงระยะเวลา 1-2 เดือนเท่านั้น ที่วงการพอดแคสต์ในไทยกลับมาเติบโตอีกครั้ง ด้วยหลากหลายรายการที่น่าฟัง และหลากหลายเรื่องราวที่ชวนให้คุณไปลองค้นหา และ The Modernist เชื่อว่าพวกเขากำลังรอให้ผู้ฟังเปิดใจรับฟัง เพื่อขับเคลื่อนวงการพอดแคสต์ในไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : readthecloud / brandthink / wikipedia / สำนักพิมพ์ สารคดี

Content Creator