fbpx

ย้อนดูตำนาน 5 งูเห่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

คำว่า “งูเห่า” หลายคนอาจคุ้นเคยกันในฐานะเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษ แต่คำว่า “งูเห่า” ในทางการเมือง เพิ่งเกิดขึ้นและเห็นตามหน้าข่าวการเมืองในช่วง 30 ปี ย้อนหลังมานี้ โดยคำนี้มาจากปากของนักการเมืองเจ้าของฉายา “ชมพู่ผ่าซีก” อย่าง คุณสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพูดครั้งแรกเมื่อช่วงปลายปี 2540

และตลอด 30 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยก็เกิดงูเห่ากลุ่มใหญ่ ๆ โดยเฉพาะย้อนกลับไปตั้งแต่การเริ่มต้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2562 การเมืองไทยมีงูเห่าเกิดขึ้นแล้วมากถึง 3 กลุ่มใหญ่ ๆ

วันนี้ Modernist ชวนทุกคนทำความรู้จักคำว่า “งูเห่า” และพาทุกคนย้อนกลับไปดูการเกิดขึ้นของ “งูเห่า” ในสภาฯ ตลอดช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมากัน

ทำความรู้จัก “งูเห่า” ทางการเมือง

“งูเห่า” ในทางวิทยาศาสตร์ หรือชีววิทยา หลายคนจะรู้จักกันว่า เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษรุนแรง ส่งผลต่อระบบประสาทและสมองได้ หากถูกกัด

แต่ในทางการเมือง “งูเห่า” เป็นคำที่ใช้เปรียบเปรยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่ลงมติขัดแย้งกับมติของพรรคการเมืองต้นสังกัด เพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากฝ่ายที่ลงคะแนนให้ เปรียบได้กับนิทานอีสปเรื่อง “ชาวนาและงูเห่า” ที่ชาวนาให้ความช่วยเหลือดูแลงูเห่า แต่สุดท้ายงูเห่าก็แว้งกัดกลับมาทำร้ายชาวนาเสียเอง

ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ตำนานงูเห่ากลุ่มแรก

คำว่า “งูเห่า” ถูกพูดเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2540 จากกรณีที่ คุณสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ณ เวลานั้น กล่าวถึง ส.ส.กลุ่มปากน้ำ นำโดย คุณวัฒนา อัศวเหม ซึ่งสังกัดพรรคเดียวกัน แต่กลับยกมือโหวตให้ คุณชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ณ ขณะนั้น ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่พรรคฯ สนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

ชนวนนี้ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดคำใหม่ในทางการเมืองเท่านั้น แต่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งคุณสมัคร และส.ส.กลุ่มดังกล่าว แตกคอกัน และย้ายขั้วการเมืองไปอยู่ฝั่งรัฐบาล พร้อมกับการได้ 4 ที่นั่งรัฐมนตรีในรัฐบาลอีกด้วย

10 ปีให้หลัง งูเห่าเพิ่มขึ้นอีก 1 กลุ่ม

นับตั้งแต่กรณี ส.ส.กลุ่มปากน้ำ 10 ปีต่อมา มี ส.ส.งูเห่าเกิดขึ้นอีกครั้ง ในระหว่างการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อช่วงปี 2551 ภายหลังที่ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 5 ปี กรณีการทุจริตการเลือกตั้งของ คุณยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรค

ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน 23 คน นำโดย คุณเนวิน ชิดชอบ ย้ายข้างไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย และร่วมจัดตั้งรัฐบาลและยกมือโหวตให้ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ณ ขณะนั้น เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ผลสรุปสุดท้าย คุณอภิสิทธิ์ ได้เป็นนายก ส่วน ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งสังกัดพรรคภูมิใจไทย ได้เก้าอี้กระทรวงใหญ่ ๆ ระดับเกรดเอถึง 4 ตำแหน่ง

งูเห่ากลุ่มใหม่ หลังเลือกตั้ง 62

การเลือกตั้งปี 2562 การเลือกตั้งที่จัดว่าได้ความหลากหลายเป็นอย่างมากจากกติกาการเลือกตั้งใหม่ ที่ทำให้ได้พรรคการเมืองในสภาหลากหลาย ตั้งแต่พรรคใหญ่ หลักร้อยที่นั่ง ไปจนถึง พรรคเล็ก ที่นั่งไม่ถึง 10 ที่ จนทำให้สภาฯ มีสภาวะเสียงปริ่มน้ำ เพราะจำนวนเสียงพรรคร่วมรัฐบาลต่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ได้ห่างกันแบบมีนัยสำคัญ

และปรากฎการณ์งูเห่าก็เกิดขึ้น และเกิดขึ้นถี่กว่าช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเสียงปริศนาจากพรรคร่วมฝ่ายค้านโหวตให้ คุณชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ

แต่นั่นยังไม่ได้ประเด็นมากเท่ากับการมี ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ โหวตสวนมติพรรคมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ทั้งเรื่องร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 การโหวตพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วาระที่ 1 และอีกสารพัดเรื่อง

จนในที่สุด พรรคอนาคตใหม่ มีมติขับ 4 สมาชิกออกจากพรรคฯ ได้แก่ นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พันตำรวจโท ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี นางสาวศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ และนายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี ด้วยมติ 250 ต่อ 5 คะแนน

แต่งูเห่าฝูงนี้ ไม่ได้จบเพียงแค่นี้ หลังมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคอนาคตใหม่ ปรากฎชื่อ 10 ส.ส.จากพรรคเดิม ที่พลิกขั้วไปฝั่งรัฐบาลด้วย ส่วน ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ที่เหลือ รวม 55 ที่นั่ง ก็ย้ายไปสังกัดใหม่ ‘พรรคก้าวไกล’

‘ก้าวไกล’ กับงูเห่าระลอกใหม่

ย้อนกลับไปในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อช่วงต้นปี 2564 เกิด ส.ส.งูเห่า ขึ้นอีกครั้ง จากการที่ 4 ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดย นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายพีรเดช คำสมุทร นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย และนายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี โหวดสวนมติฝ่ายค้าน ไว้วางใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และ ส.ส. รายเดิมก็โหวดสวนมติอีกหลายครั้ง ตั้งแต่การโหวตเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน จนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด เมื่อ 31 ส.ค.-3 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็ทำหน้าที่ปกป้องรัฐบาลได้อย่างดี

ด้านพรรคก้าวไกล ตัดสินใจให้ทั้ง 4 ส.ส. อยู่ในพรรคต่อไป แต่จะไม่มีการส่งลงสมัครและทำกิจกรรมทางการเมืองอีกต่อไปและปล่อยให้ลาออกเอง เพราะพรรคเห็นว่าอาจเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” เพิ่มจำนวนเสียง ส.ส.ฝั่งรัฐบาลได้ เพราะการถูกขับออกจากพรรค ยังสามารถหาพรรคที่ต้องการสังกัดใหม่ได้ใน 30 วัน แต่การยื่นหนังสือลาออกเอง จะหมดสถานภาพการเป็น ส.ส. ในทันใด

พรรคเพื่อไทย กับงูเห่ากลุ่มล่าสุด กรณีโหวตสวนมติอภิปรายฯ

กรณีล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ คือ กรณี ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ถูกคณะกรรมการจริยธรรมพรรคฯ ลงโทษ จำนวน 7 ส.ส. โหวตสวนมติพรรค โดย 2 คนที่เป็นกรณีใหญ่สุด คือ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และนางพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ที่โดนลงโทษด้วยยาแรงที่สุด คือการขับออกจากพรรค โดยนายศรัณย์วุฒิ มีสาเหตุคือพฤติการณ์พูดให้ร้าย ทำให้พรรคเสื่อมเสียชื่อเสียง และนางพรพิมล มีสาเหตุคือ ไม่เคยร่วมประชุมและทำกิจกรรมพรรคเลยและโหวตสวนมติพรรคอยู่บ่อยครั้ง ส่วน ส.ส. 5 คนที่เหลือ มีทั้งถูกภาคทัณฑ์และถูกตักเตือน

อย่างไรก็ตาม มติการขับ 2 ส.ส. ออกจากพรรค จะใช้คะแนนเสียงของ ส.ส. พรรคฯ อย่างน้อย 3 ใน 4 เพื่อเป็นการชี้ชะตาว่าจะขับออกจากพรรคหรือจะอยู่ต่อ โดยขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันประชุมเพื่อลงมติขับ ส.ส. แต่อย่างใด

การเกิด ‘งูเห่า’ ในสภาฯ เป็นเรื่องที่ห้ามกันได้ยากมากถึงมากที่สุด แต่นี่เป็นการสะท้อนภาพการเมืองไทยได้ว่าค่อนข้างอ่อนแอ และอาจเป็นภาพสะท้อนไปถึงผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนได้ว่า มองเห็นผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าการทำหน้าที่เพื่อประชาชนผู้ที่เลือกตนมาทำหน้าที่


ที่มา:

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=งูเห่า
https://www.thaipost.net/main/detail/115549
https://workpointtoday.com/ตำนานงูเห่าการเมือง-ภาค/
https://www.bangkokbiznews.com/politics/941641
https://www.youtube.com/watch?v=qy8SLKDGjVk
https://www.matichon.co.th/politics/news_2937367

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า