fbpx

รู้จัก 3 ผู้สมัครอิสระ ในสมรภูมิชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. อันร้อนระอุ

ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้ เราคงได้เห็นการต่อสู้ ผลักดันนโยบายกัน ผ่านหน้าโซเชียลและเวทีดีเบตต่าง ๆ อย่างดุเดือด ท่ามกลางการประชันของบรรดาเหล่าตัวเต็งไม่กี่คนที่เราคุ้นหน้ากันเป็นอย่างดี อาจทำให้เราหลงลืมไปว่าในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ มีผู้สมัครถึง 31 คน (โดนตัดสิทธิ์ไป 1 คน) ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ แม้เราอาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตานัก แต่แต่ละคนก็มีประสบการณ์ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ดังนั้นวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับผู้สมัครอิสระทั้ง 3 คนซึ่งต่างก็มีพื้นเพแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งเป็นอดีตผู้จัดการโครงการ อีกคนรับราชการมาอย่างยาวนาน และคนสุดท้ายเป็นคนที่ลงสมัครในตำแหน่งนี้มาแล้วกว่า 7 ครั้ง มาดูกันว่าพวกเขาแต่ละคนมีแนวคิดและมุมมองอย่างไร

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

วีรชัย เหล่าเรืองรัตนะ: ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น “นักบริหารมืออาชีพ แต่เป็นนักการเมืองฝึกหัด”

จากอดีต Project Manager ผู้คลุกคลีกับการบริหารและการจัดการโครงการมาตลอด ผ่านงานมาทั้งภาครัฐและเอกชน ในครั้งนี้เขาลงสมัครพร้อมชูจุดแข็งในด้านทักษะการจัดการของตัวเอง และยังแสดงความโปร่งใสอย่างหนักแน่นด้วยการท้าว่าหากเขาทุจริตคอร์รัปชัน เขาจะให้เงินกับคนที่หาหลักฐานได้ไปเลย 5 ล้านบาท

จาก Project Manager สู่การมาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม.

ผมเป็น Project manager มามากกว่าสิบปี ดังนั้นจึงคิดว่าประสบการณ์ของการเป็นผู้จัดการโครงการมันนำมาใช้ในการบริหารกรุงเทพฯ ได้

ตอนนี้ปัญหาของเราอย่างหนึ่งก็คือ คนที่เป็นหัวของกรุงเทพฯ ยังใช้หลักการในการบริหารไม่เต็มที่ เช่น การประชาสัมพันธ์ ถ้าคุณเป็นผู้บริหาร คุณต้องประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนเข้าใจเหมือนที่คุณเข้าใจ แต่ที่ผ่านๆ มาก็จะพลาดตรงนี้ บริหารการประชาสัมพันธ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าเราเข้ามา เราก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้ดี ให้ประชาชนรู้ เพื่อจะให้เขามาร่วมกับเรา มาช่วยพัฒนากรุงเทพฯ ด้วยกัน

มีผู้สมัครบางส่วนที่เป็นวิศวกร หรือเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มาก่อน ซึ่งคุณวีรชัยเองก็เช่นกัน คิดว่าวิธีคิดแบบวิศวะสามารถนำมาใช้บริหารกรุงเทพฯ ได้อย่างไร

ตอนคุณเข้าไปเรียนวิศวะ เขาจะสอนให้คุณต้องทำทุกอย่างให้ได้ ขอแค่คุณมีความรู้ มี Know-how ที่เหลือคุณจะต้องนำมาประยุกต์ได้ ดังนั้นผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมวิศวกรถึงเป็นผู้บริหารเยอะ เพราะพอการที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการบริหารพวกนี้มันนำไปใช้ในการจัดการได้ง่ายมาก และพอมีความรู้ด้านการบริหาร พอต้องมาติดต่อหรือประสานงาน มันจะมีหลักการเลยว่าอันไหนเราต้องทำก่อนทำหลัง อันไหนเร่งด่วน อันไหนไม่เร่งด่วน ซึ่งหลักการพวกนี้มันมีประโยชน์มากครับ

คนรอบตัวคิดยังไงกับการตัดสินใจลงสมัครในครั้งนี้บ้าง

จริงๆ ผมเตรียมเรื่องนี้มา 6-7 ปีแล้ว ตั้งแต่ตอนหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หมดวาระ แต่ก็ไม่ได้มีการเปิดให้ลงสมัคร ผมก็คอยบอกคนอื่นตลอดนะว่าผมตั้งใจจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เพราะผมก็เตรียมตัวมาแล้ว แต่ทุกคนก็อาจจะขำๆ เพราะคิดว่าในตอนนั้นมันไม่มีการเลือกตั้ง ดังนั้นพอผมมาลงในวันนี้ทุกคนก็ เฮ้ย เอาจริงหรอ? 

เริ่มต้นทุกคนเขายังไม่เห็นนโยบายผม เขาก็จะคิดว่าลงไปเล่นๆ รึเปล่า แต่พอเขาเริ่มเห็นนโยบาย เริ่มเห็นบทสัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ เขาก็เชียร์เลย เขาบอกว่านี่แหละใช่ นี่คือสิ่งที่เขาอยากได้จากนักการเมืองรุ่นใหม่ แนวคิดก้าวหน้า ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหาร มันคือสิ่งที่เขารอคอยมาหลายสิบปี

สำหรับคุณวีรชัยที่ดูเป็นผู้บริหารมาโดยตลอด ไม่ได้มีภาพลักษณ์แบบนักการเมืองเท่าไร ภาคการเมืองมันใหม่สำหรับเราไหม

ผมเคยไปให้สัมภาษณ์แล้วผมบอกว่า ผมเป็นผู้บริหารมืออาชีพ แต่ผมเป็นนักการเมืองฝึกหัด ตอนนี้ผมก็เหมือนแค่มาฝึกหัดนะ ก็เรียนรู้อะไรไปได้หลายสิ่งหลายอย่าง และด้วยความโชคดี ก็มีคนมาสนับสนุน มีคนจากต่างจังหวัดที่มาสอนผมว่าการเมืองท้องถิ่นต้องทำอะไรยังไง ผมอาจเริ่มช้ากว่าคนอื่น แต่ตอนนี้ผมพร้อม

ผมเองก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ผ่านการใช้สิทธิ์เลือกตั้งมา สิ่งหนึ่งที่เห็นนักการเมืองมาโดยตลอดเลยก็คือเขาพูดเก่ง เขาไม่จำเป็นต้องมีสคริปท์ แต่อย่างผมไม่ได้พูดเก่ง สิ่งที่ผมทำคือผมบริหารเก่ง ดังนั้นเวลาที่ผมจะพรีเซนต์ ผมจะมีทุกอย่างเตรียมเอาไว้ เพื่อช่วยให้ผมอธิบายงานให้ทุกคนเข้าใจ แตกต่างจากนักการเมือง นักการเมืองจะต้องพูดให้ทุกคนจินตนาการตาม ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนของผม ผมยอมรับ ดังนั้นเวลาผมไปสัมภาษณ์ผมจะมีสคริปท์ติดมือในช่วงเวลาที่ผมกลัวหลุด เพราะเราไม่ได้เป็นมืออาชีพในการพูด เพราะฉะนั้นเราจึงกันไว้ด้วยกันดูสคริปท์หน่อยนึงแล้วกัน ซึ่งผมก็ต้องขอประทานอภัย และจะพยายามฝึกให้เป็นนักการเมืองมืออาชีพให้ได้เร็วที่สุดครับ

ต้องยอมรับว่าสองอาทิตย์แรกที่ลงสมัคร ผมเคว้ง แอบร้องไห้ มีคนมาด่าเรา ทำไมเราต้องมาเสียเงิน เปลืองตัว เปลืองแรง แต่ด้วยความที่ผมเชื่อในเรื่องกฎแรงดึงดูด ถ้าเราทำความดี จะมีคนดีๆ เข้ามาหาเรา มี สก.บางท่าน แม้เขาจะอายุน้อยกว่าผม เขาเป็นรุ่นพี่ผมในสนามครั้งนี้  เขาแอดคุยกับผม เพราะเห็นนโยบายแล้วเขาอยากจะให้กำลังใจ หรือมีบางคนที่นั่งรถบัสเดินทางมาจากต่างจังหวัด มาจากระนอง เพื่อมาสอนงานผมว่าควรทำอะไรยังไง

สองอาทิตย์แรกผมเสียคะแนน ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ และผมได้เจอพวกพี่เขาก่อน ผมมั่นใจว่าตอนนี้คะแนนผมจะดีกว่านี้อีกเยอะ

ในครั้งนี้ ผู้สมัครหลายท่านเสนอนโยบายที่นำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในการบริหารเมืองมากขึ้น แล้วทางฝั่งของคุณวีรชัยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ยังไงบ้าง

ผมใช้คอนเซ็ปต์ที่ชื่อว่า Smart City นะ ซึ่งจะมีหลายมุม ในมุมที่สำคัญที่สุดก็คือ Smart People เมืองอัจริยะ ต้องมีประชาชนอัจฉริยะด้วย ซึ่งผมต้องทำหน้าที่นำเขาไปก่อน ส่วนนโยบายเทคโนโลยีของผู้สมัครท่านอื่นๆ ผมก็ยังฝากให้ทุกคนได้คิดด้วยนะครับ ว่าคุณกำลังแก้ปัญหาที่ต้นเหตุหรือปลายเหตุ เพราะปัญหาที่แท้จริงต้องแก้ที่ต้นเหตุครับ ผมไม่ได้บอกว่าแต่ละคนแก้ปัญหายังไงนะ คุณไปพิจารณากันเองแล้วกัน

ปัญหาเร่งด่วนของ กทม. ที่หากคุณวีรชัยได้เข้ามาทำหน้าที่จะรีบทำทันที

อย่างแรกคือ เศรษฐกิจต้องมาก่อนเลย ตอนนี้คนเริ่มจะอยู่ไม่ได้แล้ว คนกรุงเทพฯ ชนชั้นกลางมีสมบัติพอสมควรที่คุณเก็บเอาไว้ คุณเอามาทำเป็นตลาดมือสองก่อนไหม เอาของที่ไม่จำเป็นเอามาขาย ซึ่งของที่ไม่จำเป็นสำหรับคุณมันอาจจำเป็นสำหรับคนอื่น เขาก็จะได้ซื้อของดีราคาประหยัด ข้อดีของมันคือมันก็จะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบ ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก ผมแค่บอกว่าวันนี้สีลมขอปิดหนึ่งซอยเพื่อทำตลาดนัดมือสองสำหรับคนในท้องที่นี้ ซึ่งอันนี้คุณทำได้เลย ไม่ต้องรอผมมาสอน มาฝึกกันใหม่

อย่างที่สองคือกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนไร้บ้าน คนเรร่อน พวกนี้เขากำลังจะตาย ต้องแก้เร่งด่วนเลย จริงๆ ปัญหาของกลุ่มคนเปราะบางมันพัวพันไปสู่ปัญหาอื่นๆ ด้วย สิ่งที่เราต้องทำคือพาคนเหล่านี้เข้าระบบ ถ้าเขาอยู่กระจายแบบนี้เราจะจัดการยาก เราจึงต้องหาศูนย์พักพิงที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน มีห้องอาบน้ำ มีน้ำดื่ม มีข้าวให้เขากิน ซึ่งเราอาจขอพื้นที่จากสนามกีฬาหรือวัด ถ้าพวกเขาปัจจัยสี่ครบ พวกเขาก็รอดตายแล้ว 

สเต็ปถัดไปคือหางานให้เขา เอาพวกเขาเข้าสู่ระบบ จริงๆ ในกรมการจัดหางานก็จะมีงานค้างอยู่ในระบบอยู่แล้ว แต่ไม่มีตลาดแรงงานให้ป้อน เรามีศูนย์ฝึกฝีมือ ก็ให้ทั้งศูนย์ฝึกฝีมือและกรมการจัดหางานติดต่อเลยว่ามีงานไหนที่ขาด และนำคนเปราะบางเหล่านี้มาเรียนและป้อนสู่ตลาด และเขาก็จะเข้าสู่สังคมได้ กระบวนการแบบนี้ก็จะลดคนเรร่อนได้ แต่เร่งด่วนที่สุดเลย ต้องอย่าให้พวกเขาตาย

อย่างที่สามซึ่งจริงๆ ก็พัวพันมาจากปัญหาที่แล้ว คือขยะ กรุงเทพฯ มีขยะเต็มพื้นที่ไปหมด ปัญหาเหล่านี้มันก็เกิดจากพวกเราทุกคนนั่นแหละ สิ่งที่ผมจะทำก่อนคือรณรงค์บอกประชาชนว่าขยะมันเริ่มกลับมาแล้วนะ ซึ่งจริงๆ กรุงเทพฯ มีกฎหมายเรื่องขยะอยู่ หลังจากการรณรงค์เสร็จผมก็จะบอกว่าผมจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแล้วนะ ให้เทศกิจลงพื้นที่อย่างเข้มข้น คอยดูว่าจุดไหนมีปัญหาขยะซ้ำซาก เทศกิจก็ต้องใส่ใจกับปัญหานั้นให้มาก บอกกับชาวบ้านแถวนั้นให้ช่วยดูแลด้วย เพราะลำพังเทศกิจคนเดียวเดินดูพื้นที่ของกรุงเทพฯ ตลอด 1,569 ตร.กม.ไม่ครบหรอก เพราะฉะนั้นต้องให้ประชาชนร่วมมือด้วย ช่วยเตือนกันเองด้วย เพราะเราทำแบบนี้ปัญหาขยะก็จะลดลง แล้วปัญหาน้ำท่วมก็จะลดลงด้วย คุณไปดูได้เลย น้ำท่วมทีไร คุณจะเห็นขยะลอยมาเต็มไปหมด 

ทั้งสามอย่างนี้คือสิ่งที่ผมจะทำเป็นอันดับแรกครับ

ทำไมคนกทม. ถึงต้องเลือกวีรชัย เหล่าเรืองรัตนะเบอร์ 5

ข้อแรก ผมเป็นคนรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์ หัวก้าวหน้า ข้อสองผมไม่สังกัดพรรค ทำงานได้กับทุกคน และข้อสามผมไม่คอร์รัปชัน ผมกล้าท้าให้ล่าค่าหัวตัวเอง ถ้าผมโกง ผมยินดีมอบเงิน 5 ล้านบาทให้กับคนที่มีหลักฐาน ถ้าศาลสั่งฟ้องว่าผมทุจริตคอร์รัปชัน วันนั้นคุณได้รับเงินไปเลย 5 ล้านบาททันที 

ดร.ประยูร ครองยศ: ลูกหม้อ กทม. ผู้ทำงานรับใช้บ้านแห่งนี้มานานกว่า 40 ปี

ผู้สมัครแต่ละท่านก็มาจากสายงานที่แตกต่างกันไป ดร.ประยูร ครองยศ โดดเด่นด้วยประสบการณ์การราชการมานานกว่า 40 ปี เริ่มต้นจากกงานด้านการศึกษาจนได้ไปสัมผัสกับงานด้านการบริหารกรุงเทพฯ ในหลายๆ มิติ เขาเชื่อว่าด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปี เขานี่แหละที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับกรุงเทพมหานครได้

จากการที่ ดร.ประยูร อยู่ในวงการราชการมาอย่างยาวนานมากกว่า 40 ปี ทำไมถึงตัดสินใจมาลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

จริง ๆ แล้วผมเป็นคนรักในการเมืองมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ยังไม่สึกจากสามเณร เห็นนักการเมืองมาหลายคนไม่ว่าจะเป็น สมัคร สุนทรเวช, คึกฤทธิ์ ปราโมช  ผมเป็นคนที่ชอบการบ้านการเมืองมาตั้งแต่แรกๆ ซึ่งในช่วงรับราชการเนี่ยผมก็จะเป็นผู้แทนครู เป็นนักการเมืองของครู เป็นบอร์ดสูงสุดของกทม. คือเป็น กก. เขาเรียกว่า คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร ในสมัยท่านสมัคร สุนทรเวช และท่าน อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร  ดังนั้นการช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรม ก็เลยถือเป็นหัวจิตหัวใจที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ ก็เลยสนใจในเรื่องของการเมือง 

ดังนั้นพอมีโอกาส เพื่อนพ้องน้องพี่บอกว่าเราให้โอกาสกับนักการเมืองและพรรคการเมืองมาแล้วหลายรอบ แต่รอบนี้อยากให้เราลงเอง เราก็บอกว่ามันยากนะ เพราะว่าคนพี่น้องที่เลือก ก็เป็นคนที่มีชื่อเสียง สร้างภาพขายฝัน และทุนหนา สื่อก็จะนำเสนอแบบนี้มาโดยตลอด ดังนั้นเราก็บอกว่ารอบนี้เราจะลองสู้ดู ไม่ลองไม่รู้ ซึ่งตอนนี้ก็ถือเสียงก็ดีขึ้นตามลำดับ 

จริงๆ แล้วถ้าในบางประเด็นที่เป็นเรื่องลับสุดยอดถูกเปิดเผยออกมา ก็จะถือว่าดังระเบิดเถิดเทิงทั้งโลก ทั้งประเทศเลยก็ว่าได้ คนที่ว่าดีๆ คนที่ว่าเด่นๆ ดังๆ เนี่ย อาจจะจบไม่เป็นท่าก็ได้นะครับ ดังนั้นเลยมั่นใจว่าผมเป็นลูกหม้อกทม.คนเดียว ที่อยู่บ้านหลังนี้มา 40 ปีกับอีก 1 เดือน ย่อมรู้จุดออกจุดแข็ง ที่สำคัญได้เห็นผู้ว่าฯ แต่ละคนทำงานมา และที่เข้ามานั้นส่วนใหญ่มาทำให้ หรือมาทำเอา พี่น้องประชาชนก็รู้เอง ไม่ต้องไปบอก แต่คนนี้ (ดร.ประยูร) มั่นใจได้ว่าจะมาทำให้ เพราะไปตรวจสอบย้อนหลังเราดูได้ เป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ กินบำนาญสุจริต 

คือเงินบำนาญผมมากกว่าเงินเดือนนายกฯ คือได้ 78,100 บาท ได้ค่าหายใจนะครับ ก็ไม่ลำบาก แต่ว่าอยากเห็นนักการเมืองที่รักประชาชนอย่างแท้จริง คือต้องเห็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้งเป็นสำคัญ และก็มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของความขัดแย้งต่างๆ ควรจะหมดไปได้แล้ว เพราะประชาชน 70-80% ของประเทศ หรือแม้กระทั่งของกทม.เอง ยังมีคนจนเมือง คนด้อยโอกาส ที่ต้องรอความช่วยเหลือจากผู้ว่าฯ กทม. อย่างแท้จริงยังมีอยู่จำนวนมากครับ

ท่ามกลางเหล่าบรรดาผู้สมัครตัวเต็งทั้งหลายที่สื่อนำเสนอ เราในฐานะผู้สมัครอิสระ รู้สึกยังไง

คือนี่แหละ อยากจะเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของสื่อและของพี่น้องประชาชน ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนก็ยังเป็นทาสของสื่อ สื่อเองก็ยังคิดว่าพี่น้องประชาชนชี้นำได้ ถ้าสื่อไม่ได้มามัวห่วงเรื่องผลประโยชน์ ทุกคนก็ต้องยอมรับความจริงว่าที่ไปเสนอข่าวเช้าสายบ่ายเย็นนั้น มีผลประโยชน์อะไรตอบแทนกันรึเปล่า ผมถึงบอกว่าผมจะได้คะแนนเท่าไรอยู่ที่พี่น้องประชาชน แต่ขออย่างเดียว สื่อที่เรียนวารสารศาสตร์มา จริยธรรม จรรยาบรรณ เป็นอย่างไร ผู้สมัครแต่ละคนที่เขามีความมุ่งมั่นตั้งใจจะรับใช้พี่น้องประชาชน ก็นำเสนอเลย 

อย่าง ดร.ประยูร เบอร์ 12 ข้าราชการการศึกษา ก็ปริญญา 4 ใบ ปริญาตรี 1 ใบจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ปริญาโท 2 ใบจากจุฬาฯ ทั้งครุศาสตร์ และรัฐศาสตร์ และปริญญาเอกสาขาการบริหารการศึกษาและผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญที่ผู้สมัครคนอื่นไม่เหมือนเลย ก็คือเป็นผู้ช่วย ผอ.เขต และผอ.เขตมา ใครก็ตามที่ได้ผ่านงานการเป็นผู้อำนวยการเขต กทม. ถือว่าผ่านยุทธจักรการบริหาร การบริการ การแก้ปัญหา การพัฒนา ของพี่น้องประชาชนเต็มรูปแบบ 

ดังนั้นคนที่เป็นผู้อำนวยการเขตมานะครับ สามารถจะเป็นได้ทุกตำแหน่งในประเทศไทย ให้เป็นรัฐมนตรีก็ได้ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ ดังนั้นผมมั่นใจว่าคุณสมบัติเบื้องต้นไม่ด้อยไปกว่าใครเลย จึงขอเรียกร้องสื่อ ไม่ว่าจะเป็นทีวี หนังสือพิมพ์ หรือจะเป็นในโซเชียลต่างๆ ขอให้เห็นแก่บ้านเมือง สร้างความยุติธรรม สร้างบรรทัดฐานที่ดีให้เกิดขึ้น เมื่อวันก่อนผมก็พูดเอาไว้ สื่ออยากจะให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น แต่สื่อเองก็มีอคติ นำเสนอแบบลำเอียง ผมมั่นใจว่าถ้าสื่อนำเสนอทุกแง่ ทุกมุม ทุกแนวความคิดให้พี่น้องประชาชนได้ฟัง เสนอชัชชาติ เสนอสุชัชวีร์ยังไง ก็เสนอประยูรด้วย เมื่อกี้ก็ออกไปสวนหลวง ไปประเวศ วันก่อนก็ไปชุมชนวัดอิน ไปเจอคนยากคนจน ก็ออกสิครับ ก็ส่งข่าวให้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ออก วันนี้จึงต้องขอบคุณสื่อนะครับ ที่ได้ให้โอกาสมานั่งคุยกัน

ย้อนกลับไปในช่วงตุลาคม 2563 ที่ดร.ประยูร ถูกคนร้ายรุมทำร้ายด้วยการใช้แป๊ปเหล็กกระหน่ำตีที่หน้าบ้านพัก จนได้รับบาดเจ็บสาหัส พอมาปีนี้ที่ดร.ประยูร ตัดสินใจลงสมัครในตำแหน่งนี้ กระโจนเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว ทางครอบครัวรู้สึกยังไง

ทางครอบครัวก็มีการขอร้องให้หยุดตั้งแต่แรก แต่เราบอกว่าคนเรานั้นเกิดมา ก็ตายครั้งเดียว เรื่องกฎแห่งกรรมมีจริง ใครทำยังไงก็ต้องรับอย่างนั้น 

จริงๆ แล้วเรื่องนี้มันมีผลย้อนไปตั้งแต่ตอนยังไม่เกษียณอายุราชการ จริงๆ แล้วผมควรจะต้องเกษียณในตำแหน่งสูงกว่ารอง ผอ.สำนัก แต่ว่าช่วงนั้นก็มีการแต่งตั้งข้ามศีรษะกันอยู่สองรอบ พอรอบที่สองก็ถือโอกาสฟ้องเลย ฟ้องผู้ว่าฯ ฟ้องปลัดฯ ว่าลุแก่อำนาจ การแต่งตั้งไม่เป็นธรรม การฟ้องผมมีเหตุผลอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือการสร้างบรรทัดฐานให้ถูกต้อง ว่าถ้าข้าราชการที่รับราชการมาเขาต้องการความเจริญก้าวหน้า ทุกคนเหมือนกันหมดเลย ดังนั้นถ้ามีคนไหนมีเส้นมีสาย จะอยู่กันยังไง 

ข้อที่สอง เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเองด้วย ทุกคนก็บอกว่า ดร.ประยูรอาวุโส ดร.ประยูรเก่ง ดร.ประยูรมีความสามารถ ผ่านงานทั้งผู้ช่วยเขต ผอ.เขต ผู้ตรวจราชการ รองสำนัก เหตุไฉนเขาไม่แต่งตั้ง เพื่อพิสูจน์ให้เห็น ก็ฟ้อง ปปช. ก็ฟ้องศาลปกครอง แต่ดีนะครับที่ปลัดกทม.สมัยนั้น เขาขอเจรจา เขาบอกเขายอมรับผิด สุดท้ายฝ่ายข้าราชการประจำเขายอม แต่ฝ่ายผู้ว่าฯ ไม่ยอม จึงเกิดการฟ้องร้องกัน แต่ทางศาลปกครองก็ยังไม่ตัดสิน 

ผมรับราชการมาจากสายครู สายด้านการบริหารมาโดยตลอด จากนั้นเกษียณมา 11 วันก็เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น ก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ 

ในมุมมองของคนทั่วไป คนที่มาจากระบบราชการมักจะนอบน้อม ไม่กล้าชน แต่ ดร. ประยูรก็ดูกล้าสู้ กล้าชนเหมือนกัน ชนกับผู้ว่าฯ ก็ชนมาแล้ว

กับประชาชนเราก็อ่อนน้อมถ่อมตน กับผู้ใต้บังคับบัญชาเช่นกัน แต่เมื่อไรที่เราถูกรังแกเราก็ไม่ยอม เป็นแบบนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะพี่น้องประชาชน เราก็มีจิตสำนึกว่าเราเป็นคนรับใช้ประชาชน เพราะเงินเดือนทุกบาททุกสตางค์มาจากภาษีของประชาชน แต่ถ้าเมื่อไร ไม่ว่าจะสูงกว่าเรา จะเป็นผู้บังคับบัญชาระดับไหนก็ตาม ถ้าคิดว่ามีอะไรไม่ถูกต้อง เราไม่ยอม เราไม่ถอยเด็ดขาด

เราเป็นแบบนี้มาตลอด เป็นคนที่มีอุดมการณ์มีความคิด เพื่อนจึงสนับสนุนว่าเราเหมาะ มีความเป็นผู้นำสูง กล้าเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็กล้าบอกประชาชนว่าคลองเน่าเหม็นเพราะอะไร  อะไรต้องออกข้อบัญญัติ อะไรต้องขอความร่วมมือกับประชาชน คนเป็นผู้ว่าฯ เป็นผู้นำต้องกล้า แต่ต้องกล้าในสิ่งที่ถูกต้องด้วยนะครับ 

ปัญหาเร่งด่วนที่ ดร.ประยูร จะเร่งแก้เมื่อได้เข้าดำรงตำแหน่งมีอะไรบ้าง

เป้าหมายของผมคือให้พี่น้องประชาชนกินอิ่ม ยิ้มได้ นอนหลับ ขยับเท้าเดิน เพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและปลอดภัย ข้อความนี้ครอบคลุมหมดเลย ทั้งเรื่องปากท้อง สุขภาพ ความปลอดภัย คนเราเกิดมามีอยู่ 2 อย่างคือ ภาระ และความเสี่ยง ภาระก็มีทั้งเรื่องครอบครัว การศึกษา คุณภาพชีวิตต่างๆ ส่วนความเสี่ยงนั้นอยู่ในบ้านก็เสี่ยง เช่น อัคคีภัย หรือไฟฟ้าลัดวงจร ออกมากนอกบ้านก็เสี่ยง ทั้งอุบัติเหตุ อุบัติภัย และอาชญกรรมต่างๆ ทั้งหมดนี้แหละล้วนเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ผู้ว่าฯ ที่ผ่านมาไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้ สนใจแต่โครงการใหญ่ๆ ที่มีผลประโยชน์ตอบแทน ผมสนใจเรื่องนี้เพราะไปเจอกับชาวบ้านมา 40 ปี เดินมากี่ล้านก้าวไม่ทราบได้ แต่มั่นใจได้เลยว่าจะเป็นผู้ว่ากทม.ที่เห็นใจประชาชน เห็นใจทุกกลุ่มสาขาอาชีพ เขาเข้ามาประกอบอาชีพใน กทม. เราพร้อมจะเป็นผู้ว่าที่ดีของทุกคน จะเป็นลูกจ้างที่ดีของประชาชน 

ทำไมคนกทม. ต้องเลือก ดร.ประยูร ครองยศ เบอร์ 12 เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ผมมีความพร้อมทั้งคุณสมบัติ ทั้งวิธีคิด และเรื่องนโยบาย ในเรื่องคุณสมบัติผมสะสมประสบการณ์มา 40 กว่าปี รู้พื้นที่ มีประสบการณ์ รู้งาน รู้ปัญหาและวิธีแก้ ต่อมาคือวิธีคิด ผมขอเป็นลูกจ้างของประชาชน ให้ประชาชนเป็นนายจ้าง จะซื่อสัตย์ อดทน และบริการแก่นายจ้างให้ดีที่สุด เงินเดือนผู้ว่าฯ 4 ปีแค่ประมาณ 6 ล้านบาท จะมากอบโกยกันทำไม เราต้องมาทำให้ ไม่ใช่มาทำเอา และนโยบายของผม 12 ยุทธศาสตร์ 12 ด้านนั้น ครอบคลุมหมดเลย จะทำให้สังคมกทม.เป็นสังคมประชาธิปไตย และเศรษฐกิจแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

คุณสมบัติผมไม่ได้เป็นรองใครเลย วิธีคิดก็มั่นใจว่าเหนือกว่าทุกคน ทุกคนเข้ามาด้วยวิธีคิดว่าจะเป็นนายของประชาชน และเราก็จะได้ผู้ว่าฯ ไม่แตกต่างจากเดิม นโยบายของหลายคนก็เป็นโยบายเพ้อฝัน บางเรื่องที่หลายเบอร์พูดก็เป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง เราไม่ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เราไม่ใช่นายกฯ เราเป็นผู้ว่ากทม. หน้าบ้านน่ามอง คลองสวย น้ำใส จัดการยาเสพติด ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ทำเมืองให้น่าอยู่ ทำเมืองให้ปลอดภัย คนก็จะได้มาท่องเที่ยว  ปากท้องกับความเป็นอยู่ต้องมาควบคู่กัน นี่แหละคือหน้าที่ของผู้ว่าฯ ทั้งหมดนี้จับต้องได้ และนั่นคือเหตุผลที่ทำไมต้องเลือกเบอร์ 12 ดร.ประยูร ครองยศ เป็นผู้ว่ากทม.

วรัญชัย โชคชนะ: ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งนี้มายาวนานกว่า 32 ปี และมีเป้าหมายในการสร้างประชาธิปไตยให้กับคนกรุงเทพ 

สำหรับคนรุ่นใหม่ หรือ New Voters อาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตาเขานัก แต่หากเป็นคนที่ติดตามกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างยาวนาน จะต้องคุ้นเคยกับเขาแน่นอน เขาเป็นผู้สมัครคนเดียวที่ลงชิงตำแหน่งนี้มากว่า 32 ปี จนเขากล้าพูดอย่างเต็มปากว่าเขาเป็นผู้สมัครที่มีประสบการณ์มากที่สุด

ครั้งนี้เป็นการลงสมัครครั้งที่เท่าไร

ผมสมัครครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 เป็นคนที่ลงสมัครในตำแหน่งนี้เยอะที่สุดในประเทศไทย และในโลกด้วย ผมก็รอรับรางวัลประชาธิปไตยแห่งชาติอยู่ เขามีรางวัลศิลปินแห่งชาติ ผมก็น่าจะได้รางวัลประชาธิปไตยแห่งชาติ ผมลงสมัครมาเรื่อย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533, 2535, 2539, 2543, 2547, เว้นไปครั้งหนึ่งตอนปี พ.ศ. 2552 และก็ลงอีกทีตอนปี พ.ศ. 2556 และก็ครั้งนี้ปี พ.ศ. 2565 นี่คือผม เป็นผู้สมัครที่มีประสบการณ์เยอะมาก 

คิดยังไงกับการที่สื่อเขาไม่ค่อยให้ความสนใจกับผู้สมัครแบบเรา

เป็นแบบนี้มานานแล้วครับ หลายครั้งหลายหน เวลามีการเปิดรับสมัคร สื่อเขาก็จะเลือกเอาแต่คนที่ดัง คนที่มีพรรคหนุน หรือถ้าไม่มีใครหนุนก็จะเป็นคนที่มีชื่อเสียง ครั้งนี้มีคนสมัคร 31 คน โดนตัดสิทธิ์ไป 1 คน เหลือ 30 คน เสร็จแล้วปรากฏว่าเขาก็ดูคนที่มีป้าย คนที่มีป้ายเขาก็จะไปตาม ซึ่งหลังๆ ผมก็มีป้ายอยู่บ้างนะ รวมๆ แล้วก็ประมาณ 6 คน นอกนั้นที่เหลืออีก 20 กว่าคน ก็ไม่สน ไม่ตาม ไปตายเอาดาบหน้าเอาแล้วกัน

เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา มีการรวมตัวกันหาเสียงของผู้สมัครอิสระ 9 คนที่จตุจักร ซึ่งก็มีคุณวรัญชัยอยู่ด้วย แนวคิดการรวมตัวกันหาเสียงในครั้งนี้ เป็นมายังไง

จริงๆ แล้วเริ่มรวมตัวกันครั้งแรกที่ร้านอบอร่อย แถวนวมินทร์ ครั้งต่อมาก็มาที่จตุจักร ครั้งที่สามที่โรงแรมหรรษา ราชดำริ ที่เรามาร่วมกันเพราะว่าเราเห็นใจสื่อ มีสื่อบางคนบอกว่ามีผู้สมัครหลายคนไม่รู้จะตามใครดี ผมเลยเสนอให้มารวมตัวกัน จะสัมภาษณ์บ้าง จะแสดงความเห็นบ้าง หรือจะมีปราศัย เดินพบประชาชน ก็ไปด้วยกันนี่แหละ สื่อมวลชนก็จะได้ทำข่าว เพราะผู้สมัครแบบเราไม่สามารถเชิญสื่อมวลชนมาทำข่าวเฉพาะตัวได้ แนวคิดมันก็เป็นแบบนี้เอง

กลุ่มคนที่สนับสนุนคุณวรัญชัยเป็นคนแบบไหน

คนที่เคลื่อนไหวด้านการเมืองและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการมา เพราะผมอยู่กับม๊อบมาตลอด ยิ่งตอนหลังที่ไล่ประยุทธ์กัน ผมไปไม่เคยขาด นอกจากว่าเขาเห็นใจผม เห็นหน้าผม เขาเลยอยากลงคะแนนให้ผมก็อีกเรื่องหนึ่ง ผมเป็นนักประชาธิปไตย ผมก็ยังมีนโยบายให้เลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พระราชบัญญัติโรคติดต่อ ที่ไปจำกัดสิทธิ์เขา ไปจับเขาเข้าตาราง ทุกวันนี้ก็ใช้ข้ออ้างนี้แหละที่จับคนเข้าคุกเข้าตาราง

ในฐานะผู้สมัครที่อายุเกือบจะมากที่สุด (เป็นรองแค่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6 และวิทยา จังกอบพัฒนา เบอร์ 31) คิดว่าจะดึงฐานเสียงของคนรุ่นใหม่มาได้อย่างไร

ผมเป็นคนที่สนับสนุนคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มนักเรียนเลว ผมก็ยังไป ผมเข้าใจพวกเขา ผมยังเสนอให้พวกเขาเลิกเรียกตัวเองว่าเป็นนักเรียนเลว เด็กๆ อายุ 15-17 มีความคิดดีทั้งนั้น ผมอยากให้พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มนักเรียนก้าวหน้า นอกนั้นกลุ่มนักศึกษาที่นำประชาชนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผมจำชื่อได้หมดเลย  กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มราษฎร, กลุ่มเยาวชนปลดแอก, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มทะลุแก๊ส, กลุ่มทะลุวัง, กลุ่ม Car mob และ กลุ่ม REDEM (อุทานว่า ‘อูย’ เสียงยาว) ผมจำได้หมดแหละ ทุกครั้งที่มีการชุมนุมผมก็ไป สัมผัสมาหมด เหลือแค่ว่าพวกเขาจะเลือกผมรึเปล่าแค่นั้นเอง

คุณวรัญชัยชูนโยบายว่าตัวเองเป็น ‘ผู้ประสานสิบทิศ’ ทำไมตรงนี้จึงเป็นจุดแข็งของเรา

ปัญหาของกทม.มันไม่ได้มีแค่ส่วนที่ผู้ว่ารับผิดชอบนิ มันมีการต้องประสานงานกับองค์การต่าง ๆ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ รถเมล์ ขสมก. รถไฟ ตำรวจนครบาล การเคหะแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคม (อุทานว่า ‘อูย’ เสียงยาวอีกครั้ง) ดูแลหมดเลย ถ้าไม่ประสานก็เสร็จเลย ตาย

นอกนั้นผมก็จะมีคำวัญ “จงเพิ่มล้อ แต่อย่าเพิ่มรถ” เพิ่มรถขนส่งมวลชนให้มากขึ้น และอีกอันก็คือ “ผู้ว่าเท้าติดดิน” ผู้ว่าที่สัมผัสได้

ปัญหาเร่งด่วนที่คุณวรัญชัยจะทำ หากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

อันดับแรกคือเข้าไปสร้างประชาธิปไตย โดยการให้เปิดเวทีให้ชาวบ้านมาแสดงความเห็นว่าต้องการอะไร ผมต้องทำงานร่วมกับหัวหน้าเขต เพราะผู้ว่ากทม.ทำงานคนเดียวไม่ได้ 

อันดับที่สองคือจัดการกับคน แขนขาของผู้ว่าจะมี รองผู้ว่า 4 คน ปลัด 1 คน รองปลัดอีก 4 คน ต้องเอาท่านเหล่านี้มาช่วยงาน มาดูแลด้านคนและด้านเมือง คนนี่คือคนยากคนจนทั้งหมด ผมมีนโยบาย 4 ดี เกิดดี อยู่ดี กินดี ตายดี และมีนโยบาย 6 ส. สะอาด สะดวก สบาย สว่าง สงบ สวยงาม นี่แหละที่จะให้ทำ และต้องไม่ทำให้ผิดหวัง ให้สมกับที่เลือกตั้งมา

อันดับที่สามคือการบริหารเมือง ปัญหาที่มีอยู่ทุกวันนี้ เช่น ถนนที่ขุดกันอยู่และยังสร้างกันไม่เรียบร้อย เต็มไปหมดเลย และผมไม่สบายใจที่น้องๆ นักศึกษาถูกจับโดยอ้างว่ามาเรียกร้องประชาธิปไตย ใช้พรก.ฉุกเฉิน ผมทนไม่ได้ ผมต้องไปประสานงานให้ยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน และผมจะแก้ข้าวของแพง น้ำมันแพง ลอตเตอรี่แพง เพราะตอนนี้คนเดือดร้อนมาก

ทำไมคนกทม. ถึงต้องเลือกวรัญชัย โชคชนะ เบอร์ 22

ผมเป็นผู้มีประสบการณ์และนักประสานที่ดี เข้าถึงปัญหา ไม่ทำให้คนกรุงเทพฯ ผิดหวัง และผมคิดว่าผมเป็นลูกจ้าง มารับใช้ ไม่ได้มาเป็นเจ้าเป็นนาย เขาให้เวลา 4 ปี หรือ 48 เดือน ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปีมีคุณค่าหมด จะมาทำแบบสบายๆ แบบผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่สนใจปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ และจะต้องส่งเสริมประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเดี๋ยวนี้มีแต่ต้นไม้ ซึ่งจริงๆ เขาสร้างไว้ให้รำลึกถึงประชาธิปไตย ให้คนมาทำกิจกรรมได้ แต่เดี๋ยวนี้มีไว้ให้รถมาวนขวาเฉยๆ สนามหลวงก็เอารถมากั้นหมดเลย คนต้องไปเดินถนนเอา 

ถ้าครั้งนี้ไม่ชนะ อีก 4 ปีจะลงอีกไหม

จริงๆ ครั้งนี้ผมก็กะจะไม่ลง เพราะไม่มีค่าสมัคร (50,000 บาท) ก็มีกลุ่มคนที่รักประชาธิปไตยสงสารผมรวบรวมเงินค่าสมัครมาให้ ป้ายผมก็ไม่มีนะ เขาก็ทำป้ายมาให้ผม มันก็เป็นแบบนี้

ในอีก 4 ปีก็ต้องขอดูก่อน ข้อแรก ดูสุขภาพร่างกายก่อนว่าจะไหวไหม ข้อสอง ดูผู้ว่าฯ ที่ได้รับเลือกมาแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ ได้ไหม ถ้าเขาทำได้ แก้ปัญหาได้ ผู้คนชื่นชม ครั้งหน้าเขาลงอีก ก็คงได้รับเลือกอีก แต่ที่ผ่านมาก็ผิดหวังกันมาทั้งนั้น

สรุปคือถ้าผู้ว่าฯ ที่ได้รับเลือกมาทำงานไม่ดี อีก 4 ปีเจอวรัญชัยอีกแน่

ใช่ครับ ก็ดูสุขภาพด้วยนะ

หลังจากทำความรู้จักกับตัวตนและแนวคิดของผู้สมัครอิสระทั้งสามคนไปแล้ว หากถูกใจแนวคิดหรือนโยบายของผู้สมัครท่านไหน วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2565 นี้ ก็อย่าลืมออกจากบ้านไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลือกผู้สมัครในดวงใจ เพื่อมาเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ให้ดีกว่าเดิม

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า