fbpx

30 ปีภายใต้ชายคาเจ เอส แอล ของ “วัชระ แวววุฒินันท์”

“วัชระ” ชื่อนี้แปลได้ว่า อาวุธประจำกายของพระอินทร์ นั่นก็คือ “สายฟ้า” และทำให้พระอินทร์เปรียบเสมือนเทพเจ้าแห่งสายฟ้าอีกด้วย แต่ในวงการโทรทัศน์นั้น เทพเจ้าแห่งสายฟ้าคงมีเพียงไม่กี่คนในวงการโทรทัศน์ และเหนือไปมากกว่านั้นเราก็คงไม่เห็นคนๆ หนึ่งทำหน้าที่เป็น “สายฟ้าขององค์กร” ได้มาอย่างยาวนานกว่า 30 ปีโดยไม่เปลี่ยนที่ทำงานเลย

ใช่ และเรากำลังจะพูดถึง “สายฟ้าแห่งวงการโทรทัศน์” ในชื่อของ “วัชระ แวววุฒินันท์” หรือเรารู้จักในนาม “พี่อั๋น” ที่ตอนนี้รับหน้าที่เป็น Chief Operation Officer บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ผู้ที่เริ่มเข้าบ้านหลังนี้ตั้งแต่สมัยก่อนเรียนจบเสียอีก จากครีเอทีฟฟรีแลนซ์ จนกลายเป็นมือขวาให้กับทีมเจ เอส แอลมานานับ 30 ปี

วันนี้ The Modernist จะมาคุ้ยหลังบ้านและบทเรียนที่ได้จากการทำงานมานานกว่า 30 ปีของเขากัน


มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

1
จากเด็กสถาปัตย์ฯ สู่คนเบื้องหลังหน้าจอโทรทัศน์


ทำไมถึงสนใจในการทำรายการทีวี

ตั้งแต่เด็กๆ พี่ชอบสายงานด้านบันเทิง คือทีวีแต่ก่อนมันไม่มีอะไรให้ดูเยอะ เราก็ดูแบบคนดูคนหนึ่ง ทีนี้ตัวของพี่เองเป็นคนชอบเขียนหนังสือ ชอบคิด แต่ก่อนไม่ได้คิดและเขียนเพื่อออกทีวี เพราะมันเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก ถ้าจะเทียบแล้ว สมัยเรียนเราคิด เขียน แล้วก็ทำละครโรงเรียนออกมาเป็นโชว์ที่สนุกสนาน เล่นกันนั่นนี่ พอพี่มาเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคณะนั้นก็มีความสนุกสนานอยู่แล้ว มันก็มีพื้นที่ให้เราได้ทำละครของคณะ ก็ทำให้สิ่งที่เราคิด เราเขียน แล้วเราเป็นคนถ่ายทอดความสนุก มันก็ออกมาเป็นงานที่จับต้องได้และทำให้เราได้ฝึกทักษะ แต่นั่นก็ยังเป็นงานบนเวทีละคร มันคนละแบบกับทีวีซึ่งต้องผ่านกระบวนการอีกแบบหนึ่ง พอทางเจ เอส แอลมาชวน เราก็เลยสนใจว่าอยากลองทำ เพราะเราก็ดูทีวีมาตลอด ถ้าเกิดเราเป็นคนทำบ้างจะเป็นยังไง มันก็เลยทำให้เราได้เรียนผิดเรียนถูก แล้วที่เจ เอส แอลก็คือให้เราทำเลย เพราะเขาชอบความแปลกใหม่ ทำมา 10 อย่าง อาจจะสำเร็จสัก 6 อย่าง อีก 4 อย่างก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าเป็นบทเรียน มันก็เลยเป็นสิ่งที่ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เรียนมา แต่เราใช้สิ่งที่เราชอบโดยส่วนตัว ฝึกทักษะมา แล้วต้องบอกอย่างนี้ว่าเผอิญคณะสถาปัตย์ เขาเรียนให้เห็นถึงภาพรวม ฉะนั้นเวลาที่เราจะทำอะไร เราเอาวิธีการคิดอย่างนี้มาใช้ว่าภาพที่เราอยากเห็นในรายการเป็นอย่างไร แล้วมันก็มีสอนเรื่องการออกแบบด้วย มันไม่ได้แค่ออกแบบเรื่องของฉากหรืออะไร เผอิญพี่ทำละครเวทีมา เป็นการออกแบบตัวอารมณ์ของคนดู ละครเวทีคือความสดใช่ไหม เฮ้ย เราจะเล่นอะไรให้คนดูหัวเราะ เราจะดึงคนดูให้รู้สึกยังไง พวกนี้เราเอามาใช้ในงานทีวีบ้าง เราจะออกแบบวิธีการแสดง วิธีการเล่น การพูดของพิธีกร คนเบื้องหน้า จังหวะของรายการจะเป็นยังไง พวกนี้คือการออกแบบทั้งหมดเลยครับ

รายการแรกที่ทำคือรายการอะไร

แต่ก่อนนั้นที่เริ่มเป็นครีเอทีฟอิสระ ก็คือทำรายการพลิกล็อก มันจะมีโชว์คั่นสัก 4-5 นาที เราก็สนุกที่จะคิดโน่นคิดนี่มา เพราะว่าสถาปัตย์ฯ ก็เป็นแนวสนุกสนานอยู่แล้วเนอะ พอมาทำแบบนี้ก็เหมือนกัน ก็เป็นการฝึกวิชาเราว่าพอมันมาออกทีวี มันมีกระบวนการถ่ายทำว่ามันเป็นยังไง เราเองก็ได้รู้ แล้วจากนั้นพอพี่มาทำจริงๆ เป็นเกมโชว์ที่พี่ต๋อย ไตรภพ เป็นพิธีกร ชื่อรายการ ลาภติดเลข

ต้องคิดประมาณไหนถึงจะได้เป็นหนึ่งรายการออกมา

ตอนนั้นเจ เอส แอลก็สร้างสรรค์ในเรื่องรายการเกมโชว์ เราก็คิดวิธีการเล่นเกมก่อนว่ารายการเล่นเกมทางทีวีอะไรที่น่าจะทำให้คนดูสนุกได้ มันต้องมีความสนุกตาม ไม่ใช่แค่ดูอย่างเดียว ต้องร่วมทาย ร่วมลุ้น ก็คิดว่าอะไรบ้างที่จะทำให้คนดูสนุกตามได้ ต้องบอกอย่างนี้ว่าแต่ก่อน หลายอันเราก็ปรับปรุงมาจากของต่างประเทศ เราก็จับแก่นบางอย่างของมันมา แต่ปรับให้มันเข้ากับความเป็นไทย แล้วก็เอามาปรุงใหม่ และสุดท้ายคนดูก็จะชอบ ชอบเพราะอะไร ที่รู้ก็คือขอให้หัวเราะ ขอให้ได้สนุก ฉะนั้นพอมาเป็นเกมโชว์ในยุคถัดมา มันจะไม่ใช่แค่เกม แต่จะเป็นโชว์ คือต้องให้มันตลก ต้องมีเสียงหัวเราะ จะมาแข่งจริงจังมันไม่ได้แล้ว

ตอนนั้นรู้สึกว่ามีรายการไหนที่ทำแล้วหนักที่สุด

แต่ก่อนที่ยังไม่ได้มีคนทำงานเยอะเท่านี้ ช่องก็มีอยู่ไม่กี่ช่อง บริษัทผู้ผลิตรายการก็ยังมีไม่เยอะ อันนี้ล่ะเป็นจุดที่ทางเจ เอส แอล เปิดโอกาสเลยนะ ให้เราคิดอะไรมา ถ้ามันมีความเป็นไปได้ประมาณหนึ่ง ก็ให้ทำเลย พูดง่ายๆ ว่า แต่ก่อนค่าเสียหายมันไม่แพงเหมือนสมัยนี้ พอทำไป ถ้าไม่สำเร็จ ก็เปลี่ยนใหม่ เพียงแต่ว่าครั้งต่อไปก็คิดให้มันรอบคอบประมาณหนึ่งก่อน ต้องการขายอะไร แล้วก็ทำเลย ซึ่งสมัยนี้มันยากมากกว่าจะออกมาเป็นรายการ ต้องทำแล้วทำอีก แก้ไขแล้วแก้ไขอีก แต่ถ้าถามว่ามีโอกาสที่เครียดไหม มันก็ไม่ถึงกับเครียดมากนะ มันมาจากความสนุกของเราเองก่อน ว่าถ้าเราสนุกจากการทำรายการนี้ คนดูก็น่าจะสนุกด้วยนะ พอขายนาย นายก็จะเสริมว่า พี่ว่าเอาตรงนั้นเพิ่มดีไหม หลายท่านเลย เพราะฉะนั้นกระบวนการคิดอาจจะไม่ได้เครียดมาก แต่จะเครียดเมื่อได้ทำจริงละว่าจะทำยังไงให้ได้ออกมาอย่างที่คิดหรืออย่างที่เราอยากให้มันเป็นครับ

รายการไหนที่ได้คิดแล้ว ทำแล้ว และชอบที่สุด

ก็เป็นรายการ ยุทธการขยับเหงือก ซึ่งแต่ก่อนเป็นรายการที่โด่งดังมากในยุคสัก 30 ปีก่อน ดูกันทุกบ้านเลย และมันเป็นความแปลกใหม่ แล้วคนที่มาเล่น สมัยโน้นเขาใช้คำว่าเป็นตลกปัญญาชน เพราะเป็นตลกที่มาจากรั้วมหาวิทยาลัยหมดเลย เช่น พี่กิ๊ก (เกียรติ กิจเจริญ) ,พี่โค้ก (สมชาย เปรมประภาพงษ์) ,พี่หอย (เกียรติศักดิ์ อุดมนาค) ,พี่โน้ส (อุดม แต้พานิช) ,พี่เปิ้ล (นาคร ศิลาชัย) ,พี่แหม่ม (สุริวิภา กุลตังวัฒนา) มันเลยเป็นรสชาติใหม่ๆ เป็นการนำเสนอความสนุกแบบใหม่ๆ แล้วพี่ว่ามันเป็นเคมีที่ลงตัวสำหรับคนที่เราเรียกว่าเป็นกลุ่มเสนา มีการหักหลังกัน ก็เลยเป็นความสนุกแบบใหม่ๆ ในยุคนั้น อันนี้ทำแล้วสนุกมาก

มีรายการที่มีการนำรูปแบบของละครเวทีเข้ามาอยู่ในรายการทีวีด้วยใช่ไหม

ก็เคยมีรายการวิก 07 ครับ ตอนนั้นคนที่มาอยู่เจ เอส แอล นอกจากกลุ่มสถาปัตย์แล้ว ก็มีกลุ่มของอักษร (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) แล้วก็มีพี่แหม่ม-พิไลวรรณ บุญล้น คือทุกคนชอบละครกันหมด ตัวของผู้บริหารก็ชอบละครเวที งั้นเอาละครเวทีมาไว้บนทีวีไหม แต่มันต้องเป็นรูปแบบสนุกนะ ก็เลยเป็นความแปลกใหม่ทางรายการทีวีสำหรับผม ก็เลยโด่งดังมา ถึงต้องทำตอนพิเศษขึ้นมา แล้วก็มีการแจกรางวัลด้วยนะ เหมือนกับออสการ์เลย ปีนึงก็มีการจัดประกวดผลงาน สนุกสนานไป

ความสนุกสนานในยุคนั้นคือเรามีโอกาสที่จะได้สร้างสรรค์ทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ใช่ไหม

ใช่ แล้วพี่ว่าการทำงานของคนในวงการสมัยนั้นมันต่างจากสมัยนี้ สมัยนั้นมันไม่ได้มีความเป็นค่ายเยอะ คือทุกคนค่อนข้างมีความเป็นอิสระ มีความเป็นพี่น้อง ทุกคนมีความสนุกในการทำโน่นนี่ อย่างเมื่อก่อนทำโชว์วิก 07 คือทุกคนอยากมานะ ได้มาเล่นละครเวทีบนทีวี ได้มาเจอกัน ได้มาทำอะไรแปลกใหม่ ใครก็อยากมา ซึ่งสมัยนี้ทำได้ยากมากๆ เพราะว่าคนนั้นก็อยู่ช่องโน้น คนนี้ก็อยู่ค่ายนี้ คนโน้นก็มีข้อแม้เยอะไปหมด แต่สมัยนั้นไม่มีเลย มันก็เลยทำให้มีความลงตัวที่จะสร้างสรรค์ แล้วก็มีคนที่จะสนุกกับสิ่งที่เราสร้างสรรค์ออกมา

แต่ทำไมปัจจุบันเราหาเกมโชว์ที่หลายคนชอบดู “ตอนเปิดป้าย” ไม่เจอแล้ว?

พี่ว่ามันเป็นพฤติกรรมของคนดูที่เปลี่ยนไป แบบนั้นมันเป็นความที่คนดูเขาก็ไม่รับแล้ว คนดูไม่ได้ปฏิเสธการมีผู้สนับสนุนในรายการนะ แต่ว่าจะอยู่อย่างไรให้มันกลมกลืนและเหมาะสม แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าสุดท้ายมานั่งดูแกขายสินค้าอย่างเดียว มันต้องมีความสนุกน่ะ อันนี้ล่ะคือความยาก แต่ในรายการยุคใหม่ ถามว่ามีการเปิดป้ายไหม มันก็มีนะ แต่ว่าด้วยเทคนิค วิธีการ เราไม่ไปยัดเยียดให้คนดู ให้คนดูดูเพลินไป เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งในเกมของเรา


2
เมื่อช่องโทรทัศน์มากขึ้น การแข่งขันกันเองก็เกิดขึ้น


พอทำไปได้สักพัก เริ่มมีช่องโทรทัศน์มากขึ้น เจ เอส แอลปรับตัวยังไงบ้าง

คือก่อนหน้าที่จะมีช่องเยอะๆ นี่ วงการทีวีมีการเปลี่ยนแปลงช่วงหนึ่ง คือช่วงต้มยำกุ้ง ปี 2540 มันกระทบกับการทำธุรกิจทุกภาคส่วน อุตสาหกรรมทีวีกระทบเพราะว่าอยู่ได้เพราะเงินโฆษณา ถ้าเขาขายของไม่ได้หรืออยู่ดีๆ เขาก็เป็นหนี้ขึ้นมาจากต้มยำกุ้ง เพราะฉะนั้นเงินที่เขาจะมาโฆษณามันหายไปเลย เพราะว่าต้องเอาตัวให้รอดก่อน นี่พูดถึงในเชิงสินค้าของลูกค้าเรา ฉะนั้นจากที่เคยทำรายการแล้วขายโฆษณาแล้วจบ มันไม่ใช่ละ มันจะต้องมีเรื่องของการตลาด เรื่องของเชิงธุรกิจเข้ามาปนเยอะ จะขายความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะไม่รอด ทำยังไงให้มีความคิดสร้างสรรค์ได้และธุรกิจก็อยู่รอดได้ มันเลยมีเรื่องของการตลาดเข้ามาเกี่ยวพันเยอะ

ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นลบทั้งหมดนะ เพราะจริงๆ แล้วต้องยอมรับว่าธุรกิจทีวีเป็นการดำเนินงานที่ต้องเอาตลาดนำนั่นล่ะ เพียงแต่เมื่อก่อนการแข่งขันมันยังไม่สูง มันก็เลยใช้ครีเอทีฟนำ มันก็มีของแปลกๆ ใหม่ๆ พวกสินค้าก็มาสนับสนุนเท่านั้นเอง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ ต้องเอาเป็นหลักก่อน นั่นเลยทำให้รายการต่อๆ มา ไม่ใช่แค่ว่าคนดูชอบ ฉันชอบเท่านั้นนะ ต้องขายได้ด้วย เพราะฉะนั้นมันเลยเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เราคิดรายการที่มันไม่อิสระเหมือนเดิม จะว่าเป็นความท้าทายก็ได้ ก็จะทำยากขึ้น ค่าผิดพลาดอะไรสมัยนั้นมันไม่แพง แต่ตอนหลังนี่แพงเลย ฉะนั้นก่อนจะทำอะไรต้องคิดให้หนักๆ ก่อน พอระลอกที่ 3 มา มีทีวีดิจิทัลมาเยอะแยะ เม็ดเงินก็กระจาย นี่คือความยากทั้งในแง่ของช่องและผู้ผลิตอย่างเราด้วยนะ แล้วเดี๋ยวนี้ช่องเยอะไม่ว่า ดันมีออนไลน์เข้ามาอีก มันแชร์คนดูไปเลย การทำคอนเทนต์ก็จะเป็นอีกแบบเลยนะ ซึ่งมันจะมาติดๆ กันเลย แต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงจะทุก 10 ปี เราเหนื่อย แต่ก็พักได้ แต่นี่คือเหนื่อยติดต่อกันเลย

ช่วงที่มีทีวีดิจิทัลเข้ามาอันหนึ่งที่ถือว่าเรายังโชคดีมากก็คือเราไม่ได้ไปประมูลเอง นี่คือวิสัยทัศน์ที่ดีมากของบริษัท ผู้บริหารบอกว่าในเมื่อคนประมูลช่องได้ ก็เหมือนเป็นพื้นที่ห้าง เขาก็ต้องการเอาร้านค้าหรือสินค้าไปลงเพื่อให้ห้างมีคนเดิน เจ เอส แอลก็เป็นหนึ่งในบริษัทในวงการชั้นนำ และเราก็เป็นมิตรกับทุกคน ฉะนั้นก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราสร้างงานให้กับช่องนั้นช่องนี้ได้โดยที่เราไม่ต้องไปแบกรับในตัวของช่องเอง มันก็เป็นความสนุกตรงที่ว่าเราก็ได้ทำงานร่วมกับหลายๆ ช่อง ซึ่งแต่ละช่องก็จะมีตัวตนของตัวเอง เราก็ได้รู้ว่าถ้าเราทำงานกับช่องนี้ มันจะเป็นยังไง ซึ่งก็มีความต่างกัน และแน่นอนว่าก็มีธุรกิจที่ต่างกันด้วย บางช่องต้องดีลอย่างนี้ บางช่องต้องดีลอย่างนั้น ต้องบอกว่ามีทั้งสำเร็จและล้มเหลวนะ

ตัวอย่างเลยก็คือรายการ “เจาะใจ” และ “ยุทธการขยับเหงือก” ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

อย่างเจาะใจเองก็ไปอยู่ช่องวัน 31 สักระยะหนึ่งนะ แล้วก็กลับมาอยู่ช่อง 9MCOT HD เพราะว่าด้วยการเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างนี้ว่า คือของเจาะใจมันมีสาระนิดนึงใช่ไหม แต่ช่องวัน 31 เขาจะมีความบันเทิงปนสาระ ทีนี้เวลาผู้จัดผังเขาก็ต้องเอาสิ่งที่เป็นตัวตนของช่องอยู่ในเวลาที่เหมาะสม รายการนี้ก็อาจจะไม่ได้ลงตรงเวลานี้ ก็อาจจะมีปัญหากับการขายโฆษณา ก็เลยย้ายกันดีกว่า เปลี่ยนช่องไปอยู่ที่เหมาะ

แต่พอเป็นยุทธการขยับเหงือก 5.0 อันนั้นมันก็คือความเหมาะกับช่องนะ เป็นความบันเทิงบวกกับสาระ แต่ก็พบว่ามันเป็นความยากตรงที่รสชาติของความเป็นยุทธการขยับเหงือก เราไม่ได้หมายความว่าต้องให้เหมือนเดิมนะ แต่ว่าเป็นยุทธการแบบใหม่ ทำยังไงที่มันจะถูกคอคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามันก็ต้องเรียนรู้ ออกมาตอนแรกก็ต้องปรับอยู่เยอะ แล้วพอกำลังจะเริ่มจับทางได้ ก็เจอโควิด-19 อีก พังเลย มันขายอะไรไม่ได้เลยนะ ถ่ายทำก็ไม่ได้ ขายก็ไม่ได้ ถ้างั้นก็พักก่อนเถอะ ทั้ง ๆ ที่โฆษณาก็เริ่มเข้าละ ช่องก็โอเคละ มันมีช่วงเวลาที่ทำให้เราเหนื่อยเป็นระยะๆ

แล้วมีวิธีการพักอย่างไรบ้าง

คือเราต้องยืดหยุ่นและปรับตัวเก่ง ต้องหาความรู้ตลอดเวลา อย่างที่บอกว่าเราเคยมีทีวีอยู่แค่ 4 ช่อง มันกลายเป็น 20 กว่าช่อง เราจะอยู่กับมันอย่างไร ต้องเรียนรู้ ต้องหาความรู้ ยิ่งพอมีเรื่องดิจิทัลเข้ามา มันเป็นอีกโลกหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้ว่า ถึงแม้จะผลิตคอนเทนต์เหมือนกัน แต่คอนเทนต์บนทีวี มันก็จะต่างจากคอนเทนต์บนออนไลน์ ยิ่งออนไลน์เป็นอะไรที่คนดูเยอะมาก ถ่ายทอดสดคนดูก็จะเป็นแบบหนึ่ง บางทีพี่ก็พูดกับกลุ่มเพื่อนๆ วัยใกล้ๆ กันนะว่า พวกเราเป็นกลุ่มคนอนาล็อกเนอะ (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้เป็นดิจิทัลน่ะ บางทีวิธีคิดของเรามันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ ก็เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เอาคนใหม่ๆ มาทำ เอาประสบการณ์หรือมุมมองที่น่าจะเป็นประโยชน์ได้เอามาบวกกัน แต่ทั้งนี้เราต้องปรับตัวไว


3
เจ เอส แอล กับหลากหลายสมรภูมิ


ทำไมเจเอสแอลถึงเลือกกระโดดลงไปทำทีวีดาวเทียมในช่วงหนึ่ง

เราเองมองว่ายังไงก็ตาม เราต้องอย่าตกเทรนด์ อย่างน้อยมันก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่น่าลอง คือย้อนไปมันเหมือนกับเราขายอาหารอยู่แล้ว นี่มันก็คือขายเหมือนกัน เพียงแต่เป็นอีกทำเลหนึ่ง มันก็ไม่ใช่ว่าต้องไปทำอะไรใหม่ เพียงงแต่เราคิดว่าเรามีทักษะตรงที่อื่นแล้ว เรามีของเดิมอยู่ก็เยอะ เพราะเราทำรายการมานาน บางทีมันไม่ต้องผลิตใหม่ทั้งหมดไง ไม่งั้นมันเปลือง ก็ยังมีคนรู้จักเยอะ เลยคิดว่ามันเป็นความคุ้มค่าที่จะทดลองทำดู พอทำไปไม่เท่าไรดี ก็มีมาประมูลช่อง เกือบอีกละ (หัวเราะ)

แล้วการลงเล่นออนไลน์ของเจ เอส แอล เหมือนจะเน้นเจาะใจมากเป็นพิเศษ เพราะอะไร

จริงๆ แล้ว มันก็เหมือนเป็นข้อดีตรงที่ว่าเราไม่ได้เป็นออนไลน์ที่เริ่มต้นจากศูนย์ เรามีฐานอยู่แล้ว เช่น คนที่เคยดูกิ๊กดู๋ เราก็มีออนไลน์ให้ดู ของรายการเปอร์สเปกทีฟก็มี อย่างน้อยเวลาคนที่ไปทางออนไลน์ เขาก็พอจะรู้จัก ก็พอจะมีฐานอยู่แล้วล่ะ คนที่ดูทีวีก็อาจจะมาดูทางด้านนี้ต่อ แต่ต้องยอมรับว่าคอนเทนต์ต้องเป็นอีกแบบหนึ่งนะ เราจะมาทำแบบเดิมไม่ได้ คือมันมีทั้งลงให้ชมย้อนหลังและสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ อย่างรายการกิ๊กดู๋ เราก็เอาที่ออกทีวีมารีรันนั่นล่ะ คนที่ดูทีวีก็อาจมาดูในออนไลน์ได้ ขณะเดียวกันมันมีมุกอีกเยอะแยะเลยที่เราตัดออกก็เอามาทำเป็นคลิปสั้นๆ ที่เหมาะกับออนไลน์ ซึ่งคนดูเขาไม่ได้เห็นทางทีวีด้วย มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนดูได้เห็นกิ๊กดู๋ที่ผลิตสำหรับฉายทีวีได้มาดูบนออนไลน์ หรืออย่างเจาะใจ แน่นอนเราก็เอาที่ออกอากาศทางทีวีมาออนไลน์ ขณะเดียวกันเราก็พบว่าคนดูที่เป็นแฟนเจาะใจเป็นกลุ่มคนที่ชอบสาระความรู้ นอกจากเราจะเอามาบนออนไลน์แล้ว เราก็สร้างเหมือนเป็นคอลัมน์ในนิตยสารที่สามารถจะป้อนคนนี้ได้เป็นช่วงต่างๆ เช่น คนชอบสุขภาพ เราก็มีเจาะใจ Health Hack หรือคนชอบเรื่องนวัตกรรม ก็เป็นเจาะใจ The trend คือลูกค้าก็อาจจะมีความต่างกันที่ว่าสินค้าของฉันตัวนี้เหมาะกับคอลัมน์นี้ของคุณนะ

เจ เอส แอล ยุคนี้ทำบนแพลตฟอร์มหรือเริ่มจากคอนเทนต์

แต่ก่อนเราบอกว่าเราเป็นผู้ทำทีวี แต่มันก็คือว่าเราเป็นผู้ทำคอนเทนต์บนทุกแพลตฟอร์มนั่นแหละ หมายความว่า มันไม่ใช่แค่ทีวีที่เป็นดิจิทัลทีวี แต่เป็นออนไลน์ เป็นกิจกรรมด้วย มันต้องไปด้วยกัน คือเราทำคอนเทนต์ให้คนดูใช่ไหม เราต้องดูว่าคนดูคนนั้นเป็นใคร และอยู่บนแพลตฟอร์มอะไร คือตัวแพลตฟอร์มมันเป็นสะพาน เรารู้ว่าปลายทางสะพานเป็นใคร เราเองเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์และจะรู้ด้วยว่าคอนเทนต์นี้จะไปอยู่สะพานไหนดี คือมันมีสะพานที่เหมาะแต่ละครเทนต์ไป

อนาคตจะอยู่บนทีวีหรืออยู่บนออนไลน์มากกว่ากัน

เราไม่ได้พึ่งพาทีวีเป็นหลักเหมือนแต่ก่อนแล้ว ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็อาจจะใช้เป็นครึ่งๆ ดีกว่า ยังไงก็ตามทีวีก็ยังเป็นสื่อหลักอยู่ แต่ทีวีอย่างเดียวก็ไม่รอด ต้องทีวีบวกออนไลน์ และเราก็ไม่ได้เกิดมาเป็นออนไลน์ตั้งแต่แรก ไม่เหมือนบางเจ้าที่เกิดมาออนไลน์แต่แรก และเขาก็จะออนไลน์อย่างชัดเจนและแข็งแรงจ๋า แต่เราใช้ความเป็นตัวเราในความเป็นทีวีบวกกับออนไลน์ ซึ่งก็มีคนทำออนไลน์เคยมาพูดกับผมนะว่า พี่อั๋นโชคดีนะที่มีทีวีเป็นหลักอยู่น่ะ อย่างน้อยมันก็เป็นอะไรที่มันเกื้อหนุนกันได้ บางทีผมทำออนไลน์ ทำแทบตาย ก็ได้ประมาณนี้ล่ะ

คืออันหนึ่งที่พี่ประหลาดใจคือทีมงานบอกว่า พี่อั๋นรู้ไหม เจาะใจที่เขาลองทำ TikTok ดู มีคนดูเป็นแสนนะ คือตลอดเวลาพี่คิดว่า TikTok คือเรื่องของความบันเทิงนะ เลียนแบบท่าเต้น แต่มันก็มีคนอีกกลุ่มที่ไม่น้อยที่สนุกกับสิ่งที่เป็นสาระ พี่เองยังทึ่งเลย นี่ล่ะเราเองยังต้องเรียนรู้ไปด้วย ฉะนั้นสิ่งที่เจเอสแอลมีมาตลอดกว่า 40 ปีคือคลังของความรู้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และบวกกับประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเกิดเทียบเป็นอาหาร เราก็มีตัววัตถุดิบดีอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะปรุงออกมายังไง มันก็เป็นแค่วัตถุดิบนั่นล่ะ เราต้องรู้วิธีปรุงยังไงให้มันถูกรสชาติคนดู

40 ปีที่ผ่านมา คิดว่าเจเอสแอลให้อะไรกับคนดูบ้าง

เราให้โอกาส ความคิด สติปัญญากับคนดู นี่คือสิ่งที่บริษัทวางแนวทางของการที่เราเป็นสื่อมวลชนมาตั้งแต่แรก เราต้องอย่าเป็นพิษเป็นภัยกับสังคม และต้องให้อะไรกับผู้ชมเสมอ นี่คือสิ่งที่เจเอสแอลยังคงยืนหยัดอยู่ถึงแม้ว่าเราจะต้องปรับตัวให้มันเข้ากับยุคนี้ บางอย่างเดี๋ยวนี้สังเกตไหมว่าเจเอสแอลก็ไม่ได้ทำเฉพาะคอนเทนต์ แต่ก็มีขายสินค้าของตัวเองด้วยนะ แต่สินค้าที่บริษัทเลือกขายก็อุดมไปด้วยคุณภาพจ๋า พูดง่ายๆ อาจจะไม่ใช่ครีมหน้าเด้งอะไร แต่เราต้องทำให้คนได้ใช้สินค้าที่ดี


4
อีกหน่อยรายการจะอายุสั้น?


วิธีการทำรายการในยุคนี้ของเจเอสแอลมีอะไรบ้าง

อันดับแรก เราต้องหาแก่นรายการให้เจอว่ามันคืออะไร ที่พูดออกมาเป็นแค่ 1-2 ประโยคพอ แล้วมันมีความต่างจากรายการที่มีอยู่ยังไง จุดขายมันคือยังไง ต้องหาให้เจอ แล้วต้องทำตัว 1-2 ประโยคนี้ให้มันแข็งแรง ให้มันชัดออกมาทุกอย่างด้วยวิธีการนำเสนอ แล้วเราค่อยมาดูว่าในแง่การตลาดแบบนี้ แก่นแบบนี้มันขายได้ไหม หลายอันบางทีก็ตกไปเลยนะ ความจริงมันเป็นแก่นที่ดีนะ แต่ไม่แข็งแรงพอจะขายในยุคนี้หรือในช่วงเวลานี้ ก็เก็บไป อีกสัก 2 ปี ค่อยหยิบมา แต่ก็ต้องปัดฝุ่นนะ มาปรุงใหม่ให้มันเข้ากับยุคนั้น

ทำไมถึงตัดสินใจยุติรายการ “กิ๊กดู๋ สงครามเพลงเงินล้าน”

ต้องบอกอย่างนี้ว่านี่คือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกอุตสาหกรรมทีวีปัจจุบันนี้นะครับ คือการทำรายการนี้มันมีความแข็งแรงมากว่ามันคือพี่กิ๊ก-พี่ดู๋ (สัญญา คุณากร) สองคือเงาเสียง ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ปรุงเป็นระยะๆ แน่นอนว่าพอทำมาระยะหนึ่ง การเคลื่อนไหวของมันเริ่มไม่ได้มีอะไรใหม่หรือฉีกไปกว่าเดิมแล้ว โลกของคนดูทุกวันนี้เห็นอะไรกว้างมากเยอะแยะไปหมด เพราะมันมีโลกออนไลน์ สิ่งที่เราพยายามที่จะทำให้มีอายุที่ยาวขึ้น พี่บอกเลยว่าอีกหน่อยมันจะไม่มีรายการไหนที่มีอายุยาวเลย เพราะมันจะมีรอบที่สั้น เพราะคนดูเปลี่ยนพฤติกรรมบ่อย โอเค เราพัฒนาจนถึงจุดหนึ่งแล้วที่เราคิดว่าถ้าทำรายการต่อ คนดูก็ยังมี แต่ก็ไม่ใช่เปรี้ยงปร้างสำเร็จอย่างแต่ก่อนแล้ว เพราะคนดูชอบแสวงหาอะไรที่ใหม่ๆ ขณะเดียวกัน มันก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ ก็เลยถอยตอนนี้เลยดีกว่า

ก็เลยยังคิดว่าถ้าเกิดจะสร้างรายการใหม่ มันก็อาจจะมีความพิเศษขึ้น บวกกับต้องเรียนอย่างนี้ว่า แต่ก่อนเราอาจจะมีเงินลงทุนกับรายการล้านกว่าน่ะได้ เพราะเรามีผู้สนับสนุน แต่เดี๋ยวนี้คุณลงทุนล้านกว่า คุณมั่นใจเหรอ จากธุรกิจตอนนี้ ยิ่งเจอโควิดเข้าไปด้วย เราก็ต้องทำรูปแบบให้มันเหมาะสมกับความอยู่รอดทางธุรกิจ แต่คุณภาพของวัตถุดิบต้องดีนะ อันหนึ่งที่รับประกันได้คือตัวเอกของเรา พี่กิ๊ก พี่ดู๋ อย่างน้อยคู่นี้มันมีความสนุกที่เป็นรสชาติประจำอยู่แล้ว แต่เขาจะไปสนุกบนอะไรล่ะ เราก็คิดว่า อ้อ สนุกบนนี้แล้วกัน

แล้วอย่างรายการเจาะใจ ทำไมถึงอยู่มาได้ 31 ปี

อันหนึ่งคือแแก่นรายการที่ง่าย ตรง และเป็นจริง เจาะใจคือการนำเสนอมุมมองและชีวิตของคน ซึ่งมุมมองและชีวิตของคนมันมีทุกยุคทุกสมัย ฉะนั้นอยู่ไปอีก 40-50 ปี หรือ 100 ปี พี่คิดว่าแก่นอย่างนี้มันโดนใจคน คนดูก็ยังอยากที่จะฟังเรื่องราวของคนนะ เผอิญว่าถึงแม้เราจะบอกว่ารายการเจาะใจเป็นเรื่องราวของคนก็จริง แต่ต้องอยู่บนฐานของความเป็นห่วง คือทุกคนมันต้องการพลังบวกให้กับตัวเอง ยิ่งถ้าเกิดบางคนดาวน์ๆ นะ พี่ไม่ได้พูดเอง มันสะท้อนมาจากคนดู ก็มากกว่าที่เราคิด แน่นอนเรารู้เราทำรายการ มันให้อะไรกับคนดูเสมอ แต่บางทีมันให้มากกว่าที่เราคิด บางคนพูดกับเราว่า “พี่ ขอบคุณมากเลยนะ หนูกำลังจะฆ่าตัวตายอยู่แล้ว ได้ดูรายการนี้ หนูมีพลังเลย” เราก็ขนลุก มันคือมากกว่าที่เราคิดไว้อีกน่ะ คือยังไงก็ตาม พี่ว่าคนมันต้องการพลังบวกน่ะ ซึ่งรายการนี้มีให้ ให้มากหรือน้อยก็แล้วแต่แขกรับเชิญ ซึ่งพี่เห็นว่าทุกยุคทุกสมัย คนมันต้องการอย่างนี้กันหมด แต่เราต้องปรับตัวรูปแบบ ตัวพิธีกร การนำเสนอให้มันเข้ากับยุคนั้นเองอีกทีนึงนะ ฉะนั้นก็ตอบคำถามที่ว่าทำไมรายการนี้จึงอยู่ได้ยาว เพราะมันคืออะไรที่มันตรงกับคนน่ะ

แล้วทำไมถึงกลับมาที่ช่อง 7 อีกครั้ง

พี่ว่ามันเป็นจังหวะของหลายอย่างที่มาลงตัวกัน คือเราเป็นคนผลิตรายการ ถ้าเราผลิตรายการที่มีคนดูเยอะ เราก็จะมีความสุขนะ แฮปปี้ ซึ่งช่อง 7 ก็เป็นช่องอันดับหนึ่ง แล้วเราก็เหมือนกับเคยทำอาหารร้านนี้มาแล้วน่ะ เรารู้ว่าคนกินร้านนี้ชอบรสชาติอะไรนะ ฉะนั้นถ้าเกิดเราจะกลับมาทำที่ร้านอาหารร้านเดิมอีก เราก็นึกออกล่ะ แต่เราก็ต้องปรุงให้มันถูกกับพฤติกรรมของคนในยุคนี้ด้วยนะ ขณะเดียวกันทางช่องเอง พี่ว่าทุกช่องเหมือนกันหมดคืออยากจะได้ตัวรายการที่สร้างชื่อเสียงให้กับช่อง สร้างเรตติ้ง เราเคยมีประสบการณ์ที่ดีกับช่อง มันก็เหมือนมาในจังหวะดี เพราะเราก็มีรูปแบบรายการที่เหมาะกับช่องมากเลย ก็เลยมีการมาคุยกัน ทางช่องก็อยากได้ แต่ไม่ใช่ว่ามันง่ายนะ ทุกอย่างทำตามขั้นตอนของช่องหมดเลย ต้องมีกระบวนการทีละขั้นตอนเลยว่ารูปแบบเป็นยังไง ทำตัวอย่างมาให้ดูหน่อย มีบอร์ดวิเคราะห์กัน ไม่ใช่ว่าจะมาได้เลย ทุกอย่างต้องเป็นขั้นเป็นตอนที่ช่องต้องพิจารณาละเอียด ถึงบอกว่าถึงแม้เราจะเคยร่วมงานกัน แต่มันก็เป็นความท้าทายว่ากลับมาเนี่ย ต้องสำเร็จไปด้วยกันให้ได้กับโลกธุรกิจตอนนี้ด้วยนะ พี่จะทำรายการแพงมากก็ไม่ไหว (หัวเราะ) อย่างที่บอกล่ะว่าทำรายการที่เหมาะสม ขายได้ ช่องมีเรตติ้งนั่นล่ะคับ

พูดถึงสองรายการที่จะมาปีหน้า มาลัยไฟท์เตอร์ และ ไมค์คู่ ไม่รู้ใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร

พูดถึงไมค์คู่ ไม่รู้ใครก่อน เรารู้ว่าพระเอกของเราคือพี่กิ๊ก พี่ดู๋ แต่พี่กิ๊กกับพี่ดู๋จะต้องมาทำอะไรดีล่ะที่มันต้องต่าง และไม่ได้เอากิ๊กดู๋กลับมาทำใหม่ กิ๊กดู๋อันเดิมเขาเล่นกับคนดู คนแข่งทางบ้านที่เป็นเรื่องของเงาเสียง เพราะฉะนั้น รายการนี้ก็ต้องอย่าไปซ้ำ ดังนั้นก็เอาเป็นคนดังสิ และเมื่อคนดังจะมา อย่างน้อยเอาเป็นคนทำงานเพลง บางคนอาจจะบอกว่ารายการร้องเพลงจะเยอะ แต่เราลองมานึกดูว่ายังไงก็ตามคนดูก็ยังชอบ มันเป็นความรื่นรมย์ง่ายๆ เพียงแต่ว่าคุณจะมาร้องเพลงด้วยวิธีไหนล่ะ เราก็คิดว่าเอาคนดังมาร้องเพลงกันไหม แล้วก็มาพัฒนาเป็นว่า ลองมาจับคู่กันดูไหม มันอาจจะได้รสชาติใหม่ๆ เราไม่เคยเห็นคนนี้ร้องกับคนนี้นี่หว่า ออกมาจะเป็นยังไง คือมันก็ค่อยพัฒนากันไปเรื่อย ๆ ก็เลยออกมาเป็นไมค์คู่ไม่รู้ว่าใคร ด้วยรูปแบบรายการที่เป็นการ Featuring บวกกับใส่ความคิดสร้างสรรค์ไปอีกว่าจะเติมมุกยังไง จะแก๊กยังไง วางหมากไว้ยังไง เพราะว่าอันหนึ่งที่คนสนุกกับพี่กิ๊กพี่ดู๋คือตัวพิธีกรเองที่จะกัดผู้เข้าแข่งขัน ก็เปิดพื้นที่ด้วยว่าจะร้องรอดไหมวะ คนในวงการที่มาก็จะสนิทกันอยู่แล้ว ก็จะอำกันได้ มีความท้าทายกันได้ คนดูก็จะได้เห็นว่าคู่นี้ร้องด้วยกัน จะออกมาเป็นยังไงไม่รู้นะ

ส่วนมาลัยไฟท์เตอร์ ความจริงมันยังมีคนที่ยังร้องเพลงดีๆอยู่เยอะที่เป็นคนทางบ้าน และยังต้องการเวทีอยู่ แต่จะแข่งขันด้วยรูปแบบไหน การแข่งขันที่แบบจริงจัง ต้องมาเป็นแชมป์ซึ่งเขาทำดีนะ งั้นเราอย่าไปแข่งกับเขา เราอาจจะไม่สนุกเท่าเขา ไม่ได้ประทับใจคนดูเท่าเขา แต่ให้มาแข่งกันอย่างสนุกสนาน สังเกตไหมที่มาแข่งเงาเสียง คนมาแข่งเขาไม่ได้อยากมาแข่งจริงจังนะ เขามาสนุกมากกว่า ฉันมีความสามารถทางการร้องเพลงที่เป็นเสียงคนนี้ ถึงแม้จะโดนโคลนอะไรก็ไม่รู้สึกเสียหาย คนชนะไปก็ไม่ได้รู้สึกว่ายิ่งใหญ่เป็นแชมป์ คือมันเป็นการแข่งขันที่ไม่ต้องซีเรียส เราก็เลยให้มา แล้วก็ความต่างคือถ้าเป็นเวทีอื่น เขาจะมีข้อจำกัดเรื่องอายุว่าต้องเอาวัยนี้เท่านั้นนะ เพราะมันจะได้มีรูปแบบชัดเจน แต่ของเราคือคุณวัยไหนก็ได้ มีอาชีพอะไรก็ได้ แต่ร้องเพลงดี คุณก็มา มันก็มีความหลากหลาย แล้วพอเอามาใส่ในรายการ มันจะสนุก อันนี้เรามีแนวคิดที่ว่าเอาแข่งทางบ้านมาแข่งกันโดยที่ไม่ต้องซีเรียส แต่ความซีเรียสเกิดจากคนที่มีชื่อเสียงเข้ามาช่วย มีคนที่เป็นแขกรับเชิญที่เหมือนจะมาเลือกว่าฉันอยากจะเชียร์ใครให้อยู่ในทีมฉัน แต่การเชียร์ต้องเดาสุ่มเอานะ ไม่รู้ใครจะร้องเพลงดีหรือไม่ดี ถ้าคิดว่าคนนี้ดีว่ะ ก็ใช้มาลัยเป็นเครื่องมือในการเลือกว่าฉันอยู่ทีมเดียวกันนะ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็แอบคิดว่าแกจะร้องได้ดีแค่ไหนวะ จริงๆก็ตัดสินด้วยคะแนนล่ะ แต่เราเรียกว่าเป็นมาลัย เพราะมันเป็นพฤติกรรมของความบันเทิงแบบไทยที่ว่าชอบนักร้อง ก็เอามาลัยไปคล้องคอ แล้วมันก็เข้ากับความเป็นช่อง 7 น่ะ รายการนี้สุดท้ายคนที่มาแข่งกันก็จะได้มาลัยทั้งคัน คือชนะ ก็เป็นการแข่งขันร้องเพลงที่ไม่อยากจริงจัง มีความสนุก ความอำกัน แล้วพี่วิลลี่เขาทำหน้าที่ได้สนุกมาก


5
เพราะทำทีวี ถึงต้องดูทีวี?


ในฐานะที่เป็นคนดู รายการทีวียุคนี้ต่างจากยุคก่อนยังไง

ต่างมากตรงที่ว่าความหลากหลายมันน้อยลง เข้าใจว่าด้วยระบบของธุรกิจนั่นล่ะ คือทุกคนต้องพยายามเอาตัวให้รอด เพราะฉะนั้นก็ต้องทำสิ่งที่ชัวร์ๆ ว่าจะขายได้ ซึ่งพอเป็นอย่างนี้ปั๊บก็อาจจะไปจำกัดความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ นานาลง อย่างรายการที่เราทำ มันก็ไม่ใช่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน ไม่ได้แปลกใหม่อะไร เพียงแต่ว่าเราทำด้วยดีที่สุดในสิ่งที่เรามีและคนดูอยากดู เห็นเป็นร้องเพลงอีกละ มันก็จะเหมือนข่าว ข่าวทุกช่องเห็นไหมว่าแทบจะเหมือนกันหมดเลย ทั้งวิธีการนำเสนอข่าวหรือตัวข่าว เพราะเป็นสิ่งที่เหมือนกับชัวร์ว่าคนดูต้องอยากดู แต่เผอิญพี่อาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่พี่เราเป็นคนทำทีวีมาตลอด แล้วเราก็ดูด้วย ดูจนกระทั่งสิ่งที่พี่ดู มันไม่ใช่สิ่งที่คนดูอยากจะดูนะ เพราะมันเป็นอีกรสนิยมหนึ่ง

ปกติดูอะไรบ้าง

อย่างข่าว พี่ก็ดูช่องข่าวไปเลย เพราะมันจะเป็นอีกแนวหนึ่งน่ะที่มันต่างออกไป แต่บางทีก็แวะมาดูข่าวทั่วไปด้วยว่าเขามีอะไรไปถึงไหนกันแล้ว หรืออย่างละครเอง เราก็ต้องดู เพราะเราอยู่ในวงการ ใครพูดถึงอะไร เราก็ต้องรู้ แต่พี่ไม่ได้เป็นคนดูละครแล้วติดนะ ถ้าดูแล้วติดก็คือดู Netflix ดูซีรีส์ คือมันมีทั้งดูเพื่อทำงานและดูเพื่ออรรถรส ก็ใช้วิธีเลือกดู ซึ่งมันก็พอมีให้เราเลือกได้นั่นล่ะ

ถ้าเป็นคนดู คนดูทีวียุคนี้ต้องมีอะไรบ้าง

พี่ว่าคนดูยุคนี้ต้องรู้ว่าตัวเองชอบอะไร เพราะจริงๆ แล้วแต่ละช่องก็จะมีตัวตนของมันนะ แล้วในช่องเดียวกัน มันก็จะมีความแตกต่างของแต่ละรายการ คนดูเขาก็มีสิทธิ์เลือกนะ มีทีวีให้ดู 24 ช่อง (หัวเราะ) ถามตัวเองว่าชอบอะไรก่อน จากนั้นก็ไปดูในสิ่งที่ช่องไหนมีให้ตัวเอง แต่พี่แนะนำว่าอย่าดูอย่างนั้นอย่างเดียว ให้มันดูความหลากหลายที่มันต่างไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของมุมมอง มุมมองนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมุมมองทางการเมืองอย่างเดียวนะ แต่คือทุกอย่าง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม เพื่อให้เป็นคนดูทีวีที่มีความรอบรู้ ดูก็ไม่ได้ดูแต่ช่องนี้ ดูช่องอื่นด้วย ดูละครแบบนี้ ก็ต้องดูละครแบบอื่นด้วย แล้วคุณจะได้เป็นคนดูที่มีความเท่าทันโลก แต่ที่พูดนี่ พี่เองก็ไม่ได้เป็นคนดูอย่างนั้นเสมอนะ บางทีเหนื่อยเหลือเกิน

บางทีเวลาดูแล้วแยกสมองระหว่างคนทำกับคนดูไม่ได้ มีวิธีจัดการอย่างไรบ้าง

มีนะ ซึ่งอันนี้ทีวียังไม่ค่อยเป็นมาก แต่กับหนังน่ะเป็น บางทีต้องดูหนังสองรอบ โดยที่รอบแรกทำใจนะ ดูแบบคนดู ให้มันดื่มด่ำไปกับเรื่องราว อย่าไปดูในเชิงเบื้องหลังเยอะ อาจจะมีติดบ้างล่ะ เอ๊ะ อันนี้ใช่หรือเปล่า ถ้าดูแบบคนดูปกติ เขาจะไม่ดูอย่างนี้นะ รอบแรกให้ดูแบบคนดูปกติ อย่าไปคิดอะไรเยอะ ถ้าเกิดมันดีพอ เราก็จะดูครั้งที่สองแบบคนทำละ ตรงนี้ถ่ายยังไงวะ จัดแสงยังไง ตรงนี้มันต้องการสื่อถึงเราด้วยอะไร ทำไมบทนี้มันดีจัง แต่ยุคนี้ดีตรงที่ว่าหลายอย่างที่เป็นหนัง มันมีให้เราเลือกดูได้ พอจะย้อนดู เราก็มากดดูซ้ำไป บางทีพี่ดูหนังบางเรื่อง พี่ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกนะ เพื่อที่จะเข้าใจมัน พอยิ่งดู มันยิ่งเห็นน่ะ โอ้โฮ ฉลาดจังเลยเว้ย แต่ความฉลาดของมันเนี่ย คนดูครั้งแรกมันจะทันไหมวะ (หัวเราะ)


6
เรียนรู้ที่จะปรับตัว และทำทุกวันให้ดีที่สุด


ตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานที่เจเอสแอลบ้าง

พี่ว่าเราต้องเคารพตัวเองก่อนและผู้ชม ผู้ฟัง หรือคนที่เสพงานของเรา เคารพตัวเองหมายถึงว่าเราเป็นคนทำงานสื่อ สื่อมันมีพลัง ฉะนั้นเราต้องเคารพตัวเองว่าจะคิดทำอะไร ต้องคิดในสิ่งที่ดี ถึงแม้บางอย่างไม่ได้เป็นประโยชน์มาก แต่ก็อย่าไปทำร้ายคนหรือสังคม แต่ถ้าสิ่งที่เราทำมีทั้งสิ่งที่เป็นสาระและความบันเทิง ซึ่งความบันเทิงก็เป็นประโยชน์กับผู้ชมนะ อย่างน้อยก็ทำให้คนมีความสุข ถ้าเกิดเราเคารพตัวเองและคิดงานออกไป ยิ่งหากเป็นงานที่แปลกใหม่ ให้ประโยชน์กับผู้ชมได้ มันก็ยิ่งดีใช่ไหม ฉะนั้นเราต้องเคารพตัวเราเองก่อนว่าต้องทำอะไรที่ดีๆ ออกไป อย่าทำไปชุ่ย ๆ แล้วต้องเคารพผู้ชมด้วย ยิ่งเป็นรายการทีวี ทำไมเขาต้องยอมเสียเวลา 1 ชั่วโมงเพื่อมาดูเรา ก็แปลว่าเราต้องให้อะไรกับเขานะ ให้ความสนุก มีความสุข ให้เขามีมุมมองที่ดี ให้เขาไปสร้างโอกาสกับชีวิต เราทำรายการไปเพื่ออะไร ต้องตอบให้ได้ เพื่อความสนุกสุดยอด ก็ต้องทำให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ อย่ามากั๊ก แต่ก็อย่าเป็นพิษเป็นภัยกับผู้ชม แล้วก็อย่างที่บอกว่าต้องปรับตัวตลอดเวลา แต่ปรับตัวยังไง ก็อยู่บนพื้นฐานว่าเรามีผู้ชม คนเสพงานเราอยู่นะ

คุณได้เรียนรู้อะไรในชีวิตมาจนถึงตอนนี้บ้าง

คือแน่นอนว่าคนเราทำอะไรไม่มีทางที่จะสำเร็จหรือสมหวังทุกอย่าง บางทีก็ได้มากกว่าที่คิด บางทีก็ได้น้อย หรือเสมอตัว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่น ฟังดูมันก็เป็นคำพูดที่ชินๆ หูนะ ดูเชยด้วยซ้ำไป แต่ถ้าจะให้แปลในมุมของพี่คือ ทำให้ออกมาดีที่สุดแล้วจบ ทำแบบสุดตัวนะ ใส่ทุกอณูที่คุณมีพร้อมกับทีมงาน แต่ทุกอย่างไม่ได้อยู่ที่เราไง แต่คนดูล่ะชอบหรือเปล่า สปอนเซอร์ซื้อไหม นั่นเป็นผลนะ ตัวสถานีแฮปปี้ไหม ถ้าเราทำดี ผมออกมาเป็นยังไง สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับมัน ถ้าเราสำเร็จมาก ก็ดีไป ถ้าสำเร็จน้อยหน่อย ก็อาจจะดีใจน้อยหน่อย แต่ถ้าล้มเหลว ก็โอเค ยอมรับ แล้วก็จบ ไปทำอย่างอื่นต่อ มันเลยทำให้เราอยู่มาได้ เหมือนกับเราไม่ไปยึดติดกับมัน ไม่ยึดติดกับความสำเร็จหรือล้มเหลวนะ แล้วก็ทำให้เราไม่เครียด เพราะถ้าเราเครียดกับมันนะ โอ้โฮ (หัวเราะ) ตายเลย

มองอนาคตของตัวเองไว้ยังไงบ้าง

พี่ยังสนุกกับการทำงานอยู่นะ แต่อาจจะต้องปรับตัวความสนุกตามบทบาทที่เหมาะสม คือเดี๋ยวนี้มันเป็นโลกของคนยุคใหม่ เป็นพื้นที่ของคนยุคใหม่ละ แต่ว่าเราจะใช้ประสบการณ์ของเราคอยประคองคนยุคใหม่ให้ไปได้กับการทำธุรกิจ คือมันไม่ใช่การทำการกุศลนะ เพราะมันเป็นธุรกิจ มันต้องอาศัยคนมีประสบการณ์ ใช้ Connection ปัญหาบางอย่างจบง่ายมากเลยถ้าเรารู้จักคนนี้ โอเค จบ พี่ก็คงใช้อย่างนี้กับทางบริษัทจนรู้สึกพอแล้ว มันเป็นพื้นที่ของคนยุคใหม่อย่างเต็มที่แล้ว พี่ก็คงมีความสุขที่อาจจะไม่วุ่นวายขนาดนี้ครับ (หัวเราะ)

อยากบอกอะไรกับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาทำสื่อในยุคนี้บ้าง

พี่ก็จะบอกว่าสื่อเป็นสิ่งที่มีพลังมาก ถ้าเกิดคนไหนศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยนะ แต่สื่อเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ ที่เขาใช้เป็นพวกโฆษณาชวนเชื่อในสมัยก่อน ยังไม่มีออนไลน์ เป็นสื่อตรงๆ อย่างนี้ล่ะ แค่ปากต่อปาก มันก็เปลี่ยนเลยนะ เปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคม วิธีคิดของคนได้ ขณะเดียวกัน มันก็มีด้านลบด้วย ยิ่งในยุคนี้คุณเป็นทั้งคนสร้างและเสพสื่อ ถ้าคุณจะสร้างสื่ออะไรขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น คุณไปโพสต์อะไรสักอย่าง คุณก็เป็นคนสร้างสื่อแล้ว ควรคิดให้มากว่าคุณควรสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวคุณและสังคมหรือเปล่า แต่ขณะเดียวกันถ้าคุณเป็นคนเสพสื่อ ก็ต้องเป็นคนเสพสื่ออย่างมีสติ คุณดูแล้วก็อย่าเพิ่งเชื่อนะ ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไปหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าที่มาที่ไปมันต้องเลวร้ายนะ แต่ต้องดูให้มันเท่าทัน และเรียนรู้ไปกับมัน แล้วคุณจะกลายเป็นทั้งคนเสพสื่อและสร้างสื่อที่สมาร์ท

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า