fbpx

2 ปีผ่านไป เรามาไกลกันแค่ไหน? บทสนทนากับเหล่านักสู้แห่งม็อบ 10 สิงหาคม 2565

การชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 ได้เปลี่ยนสังคมไทยเป็นอย่างมาก เมื่อ 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่ม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ยกระดับเพดานของบทสนทนาในสังคมไทยไปตลอดกาล สิ่งที่เคยไม่กล้าพูดและดูสุ่มเสี่ยงอย่างเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายมาเป็นสิ่งที่นำมาพูดถึงในที่สาธารณะโดยคนรุ่นใหม่อย่างไม่เกรงกลัว 

วันเวลาผ่านไป 2 ปี ในวันและเดือนเดียวกัน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้จัดชุมนุมขึ้นอีกครั้งในสถานที่เดิม ผู้คนยังคนเดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมอย่างคึกคัก แม้จะไม่หนาตาเท่าครั้งที่แล้ว แต่ก็ไม่ถือว่าน้อยเลยทีเดียว นอกจากเหล่านักสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ขึ้นไปปราศัยบนเวทีแล้ว วันนี้เราจึงอยากจะพูดคุยกับเหล่านักสู้ทั้งด้านบทและด้านล่างเวที ที่วันนี้แม้จะเดินทางไกลเพียงใด พวกเขายังเดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อร่วมสนับสนุนและเป็นพลังในการต่อสู้เพื่อผลักดันประชาธิปไตยและอุดมการณ์ของพวกเขาต่อไป

เมื่อเราเดินเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม เราก็เจอเข้ากับ เป๋า-ยิ่งชีพ อัชฌานนท์  หรือ เป๋า iLaw ที่วันนี้นอกจากจะมาเปิดบูธ iLaw แล้ว เขายังเป็นหนึ่งในผู้ขึ้นปราศัยอีกด้วย เราถามเขาว่าสังคมไทยในวันนี้เมื่อเทียบกับสองปีที่แล้วมาไกลแค่ไหน “ไกลมาก เร็วไปหน่อยนึง ทำความเข้าใจกันไม่ค่อยทัน” เขาให้คำจำกัดความสั้นๆ แต่ได้ใจความ

เขาขยายความต่อว่า 2 ปีที่ผ่านสังคมเปลี่ยนไปมาก ถ้าเทียบกับ 18 ปีที่เขาทำงานมา “มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะล้มระบอบที่มันอยู่มานานกว่าสิบปี ในเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่การเดินทางมันก็ต้องได้ไปทีละอย่าง เมื่อสังคมมันพร้อม จนทำให้อำนาจที่มันเกาะอยู่มันค่อยๆ พัง มันยังไม่ถึงวันนั้น แต่มันก็ต้องค่อยๆ เดินทางไป” ก่อนจะแยกจากกัน เราถามเขาว่า iLaw กำลังจับตามองเรื่องอะไรเป็นพิเศษในตอนนี้ เขาบอกกับเราว่า “กฎหมายเลือกตั้ง และการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเราเชื่อว่ามันจะไม่ปกติ มันจะแปลกกว่าการเลือกตั้ง 62 เสียอีก” 

ข้างๆ กันกับบูธ iLaw เราพบนิทรรศการขนาดหย่อมๆ ที่มีรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมรูปสีขาวดำ และมีดอกไม้จันทร์ นี่คือผลงานของกลุ่ม คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่เชิญชวนประชาชนให้มาวางดอกไม้จันทร์ไว้อาลัยให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องด้วยกำลังจะสิ้นสภาพนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้ เนื่องด้วยครบวาระ 8 ปี พวกเขาเชิญชวนให้ประชาชนจับตาการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ให้ดีๆ ว่าสุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเครืองมือของชนชั้นนำหรือไม่ 

การชุมนุมในวันนั้นตั้งแต่ฟ้าสว่าง จนถึงตะวันตกดิน เราเห็นประชาชนแวะเวียนมาวางดอกไม้จันทร์อย่างไม่ขาดสาย “จะสาปส่ง หรือเสียใจ ก็แล้วแต่ประชาชน” พวกเขากล่าว

จากนั้นเราจึงเห็นผู้ชายคนหนึ่งที่นั่งอยู่หน้าโต๊ะ ข้างหน้ามีหนังสือหลายเล่มวางเรียงรายอยู่ เมื่อเข้าไปใกล้ ๆ เราจึงเลยจำเขาได้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจากกลุ่ม กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ผู้มีบาดแผลและเจ็บปวดจากคดี 112 และคดีทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง 

เขาบอกกับเราว่าผลของการต่อสู้เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 ส่งผลต่อสังคมไทยในทุกมิติ เห็นได้ชัดจากการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญในโรงภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มปฏิเสธประเพณีรับน้อง การไม่เข้ารับปริญญาของคนรุ่นใหม่ หรือบางพรรคการเมืองมีการเสนอแก้ ม.112 เขาบอกกับเราว่าวันนี้เขามาเพื่อยืนยันในข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อที่เคยมีการเสนอไปเมื่อ 2 ปีก่อน “ข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่เสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะต้องเดินหน้าต่อไป เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงจะมาเมื่อมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย”

หลังจบบทสนทนากับสมยศ เราจึงเดินไปบูธของ เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ที่กำลังรณรงค์เชิญชวนให้คนมาลงชื่อยกเลิก ม.112 เราพูดคุยกับ เจมส์-เจษฎา ศรีปลั่ง เราถามเขาว่า สองปีผ่านไปเรื่องของ ม.112 ในสังคมไทยเปลี่ยนไปแค่ไหน “เปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนหากใครพูดถึง 112 คนคนนั้นไม่ใช่แค่จะไม่มีที่ยืน แต่จะไม่มีวันขายของได้” เขายกกรณีของร้านบะหมี่ตั้งฮกกี่ ที่หลังจากโดนโจมตีว่าเป็นบะหมี่ล้มเจ้า ก็กลับขายดีจนต้องปิดรับออร์เดอร์ออนไลน์ แล้วพฤติกรรมการใช้ ม.112 ของผู้มีอำนาจเปลี่ยนไปแค่ไหน เขาบอกว่าทำให้สามารถต่อสู้ในชั้นศาลได้มากขึ้น หรือในกรณีการชุมนุมเมื่อ 19 กันยายน 2563 หากเป็นเมื่อสิบปีก่อนอาจถูกเข้าคุกเลยทันที แต่ในปัจจุบันก็สามารถเรียกร้องและต่อสู้จากข้อกล่าวหานี้ได้

ระหว่างกำลังเดินอยู่ในงาน เราบังเอิญเจอผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ท่าทางใจดีและเป็นมิตร เขายิ้มให้กับเรา เราจำเขาได้ทันที น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ ที่วันนี้แม้เขาจะไม่ได้เตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องมือการแพทย์ใดๆ มา แต่ในมือของเขาถือขวดเจลแอลกอฮอล์ไว้ให้ใครต่อใครที่เดินมาทักทายเขาได้ล้างมือกันเพื่อความปลอดภัย จากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จนมาถึงวันนี้อะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง  ในฐานะคนที่เคยผ่านเหตุการณ์อย่าง พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 มาก่อน เขาบอกกับเราว่าการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ “มันทำให้เรามีความหวัง” แต่เขาก็ย้ำเตือนและฝากไว้ว่าแต่ทุกคนก็ต้องออกมากันด้วย อย่าให้คนที่มาชุมนุมต้องสู้อย่างลำพัง แล้วรอรับความสำเร็จ “ถ้าเราอยากได้สังคมที่ดี รัฐบาลที่ดี เราก็ต้องออกแรงกันด้วย” 

ในบริเวณพื้นที่ข้างซ้ายเวที เราเห็นความคึกคักเป็นพิเศษ เมื่อเราเดินเข้าไปบริเวณนั้น มีการเชิญชวนให้เราเข้าไปกินข้าว ที่มีทั้งแกงส้ม และขนมจีน ที่เหล่าผู้ชุมนุมใจดีได้ทำมาแจกให้กับผู้ชุมนุมได้รับประทาน แต่นอกจากแถวรับอาหาร เราเจออีกแถวหนึ่ง เมื่อมองดี ๆ ก็พบว่าเป็นแถวที่กำลังรอถ่ายรูปกับ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ ซึ่งเตรียมตัวจะขึ้นปราศัยในวันนี้ด้วยเช่นกัน เราเดินเข้าไปทักทายและชวนเขาพูดคุยถึงการเดินทางของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา “มันเป็น 2 ปีที่เร่งสปีดมาก ถ้าเราเทียบว่ามันไปถึงจุดที่เราคิดหรือยัง มันคงยังไม่ถึงในเร็วๆ นี้หรอก แต่ถ้าเราเทียบระยะทางกับเวลา ถือว่ามันคุ้มค่ามากๆ” 

และด้วยในวันนี้เราเห็นเขาใส่เสื้อพรรคก้าวล่วง เราจึงชวนคุยเกี่ยวกับพรรคก้าวล่วงเล็กน้อย “พรรคก้าวล่วงกำลังวางแผนเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งถ้าพรรคไหนไม่แน่ พรรคก้าวล่วงน่าจะแน่ที่สุดแล้ว” เขากล่าวต่อเกี่ยวพรรคก้าวล่วงอย่างเป็นกันเองว่า “พรรคก้าวล่วงไม่มีตังค์ พรรคก้าวล่วงมีทุกอย่างยกเว้นตังค์ ไม่มีแม้กระทั่งตังค์จดทะเบียนพรรคครับ (หัวเราะ)” 

หลังจากแยกจากครูใหญ่ เราจึงพบกับ เบนจา อะปัญ ที่มือหนึ่งกำลังถือข้าวแกงส้มกุ้งที่เพิ่งไปรับมา ส่วนอีกมือหนึ่งมีกล้องฟิล์ม Minolta Hi-Matic AF ห้อยอยู่ เธอบอกกับเราว่าเธอเริ่มถ่ายกล้องฟิล์มมาตั้งแต่ปี 2557 แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เอากล้องฟิล์มมาถ่ายในการชุมนุมเท่าไรนัก แต่ในการชุมนุมวันนี้ เธอไม่มีภารกิจต้องขึ้นปราศัย เธอจึงพกกล้องฟิล์มตั้งใจจะมาถ่ายด้วย 

เธอบอกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ชีวิตเธอเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่สังคมนั้นเปลี่ยนไปเยอะกว่า “ความเข้าใจของคนไทยเกี่ยวกับเรื่องสถาบันฯ มันไปไกลมากๆ เลยนะ เด็กประถมเริ่มพูด เริ่มวิพากษ์กันแล้ว มัน Major change อยู่นะ” จากนั้นเราจึงขอตัว เพราะเห็นว่าเธอไม่ได้กินแกงส้มกุ้งที่เธอรับมาเสียที แต่หลังจากนั้น ยังคงมีสื่อและมิตรสหายเดินเข้ามาทักทายเธออยู่เรื่อยๆ เราไม่แน่ใจว่าวันนั้น สุดท้ายแล้วเธอได้กินแกงส้มกุ้งที่เธอรับมาตอนกี่โมง

บรรยากาศเริ่มคึกคัก คนเริ่มเดินทางมายังที่ชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ เราเจอกับ วรวรรณ แซ่อั้ง หรือ ป้าเป้า ที่เรายืนรอเธออยู่นาน เพราะเธอกำลังยืนคุยอย่างออกรสกับเหล่าคนรุ่นใหม่ที่ยืนล้อมวงตั้งใจฟังเธออยู่ เธอบอกกับเราว่าวันนี้เธอมากับเพื่อนพากันมาช่วยขายของ และมาแสดงพลังเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกไปเสียที เธอบอกกับเราเธอมาชุมนุมที่ธรรมศาสตร์อยู่เสมอ และคนก็มามากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะเทคโนโลยีที่ทำให้คนมาร่วมตัวกันง่ายขึ้นด้วย

เราเดินเข้าไปทักทายกับ ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์ ที่พึ่งเสร็จภารกิจในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณากฎหมาย #สมรสเท่าเทียม และเดินทางมาจากรัฐสภาเกียกกาย เขาบอกว่าช่วงนี้ กมธ. กำลังเร่งให้ร่างฯ เสร็จสิ้นภายในกันยายนนี้ พร้อมบอกเราว่า “ถ้าไม่มียุบสภาก่อนนะ (หัวเราะ)” ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ เราถามเขาว่าการชุมนุมของธรรมศาสตร์ในสมัยของเขาเป็นอย่างไร “ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณ และก็มีกรณีกรือเซะ ตากใบ ก็ทำให้คนไม่ค่อยโอเคกับเรื่องนี้ ก็มีการเดินขบวน มีการล่ารายชื่อ แต่มันก็มีลักษณะที่ผิดปกติมากๆ เพราะเป็นการรวมตัวของคนกรุงเทพฯ เสื้อเหลือง มาล่ารายชื่อในมหาวิทยาลัย เพื่อถอดถอนทักษิณ ทั้งที่นายกทักษิณมาจากการเลือกตั้ง เป็นความประหลาดมาก” 

เขาเสริมต่อว่ารูปแบบการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ในสมัยที่เขาเรียนกับในสมัยนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งเรื่องเนื้อหา และเพดานทางความคิด “ในสมัยนั้นมันยังเป็นเรื่องของชนชั้นกลางที่หวาดกลัวคอรัปชัน และก็เอะอะอะไรก็คอรัปชันหมดเลย แต่ตอนนี้ผ่านมาสิบกว่าปี เราเห็นได้ว่าสิ่งที่พูดถึงมันขยายไปมากขึ้น เนื้อหาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น พูดถึงเรื่องการตรวจสอบ เรื่องการเมืองเชิงอัตลักษณ์ มีความหลากหลาย พุ่งไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง และมันก็ผลักดันโดยคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่คนวัยกลางคนยันคนแก่เหมือนตอนพันธมิตรฯ” 

อีกหนึ่งคนที่เดินทางมาจากรัฐสภา คือ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ​ พรรคก้าวไกล เธอบอกว่าการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ก็ส่งเสริมการทำงานของพรรคการเมืองในสภาในลักษณะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เธอกล่าวว่าตอนนี้พรรคก้าวไกลก็พยายามฟังเสียงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ในตอนนี้เข้าสู่โหมดเตรียมเลือกตั้งแล้ว พรรคก้าวไกลก็ตั้งใจว่าจะต้องเป็นพรรคที่ครองเสียงอันดับหนึ่งให้ได้ ก่อนแยกจากกัน เราถามเธอว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับกรณีวาระ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เธอตอบกับเราสั้นๆ ว่า “ด้านเนอะ” เราถามเธอก่อนแยกจากกันว่าประโยคนี้เราลงได้ใช่ไหม เธอตอบกลับมาว่า “ได้ค่ะ ในสภาก็ด่า (หัวเราะ)”

ในบริเวณริมสนามหญ้า เราเห็นผู้หญิงคนหนึ่ง เราคุยกับทีม ไม่แน่ใจว่าเธอคือ ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิก กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือไม่ แต่เหมือนว่าเธอจะได้ยินเรา เราจึงแน่ใจว่าใช่เธอแน่ เธอบอกว่าชีวิตของเธอในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปเยอะมาก เธอได้คดีความมาไม่ต่ำกว่า 20 คดี รวมถึงคดี 112 ด้วย และอีกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเธอคือกำไล EM ที่ติดอยู่ที่ข้อเท้าของเธอ ซึ่งทำให้เธอใช้ชีวิตอย่างลำบาก เธออยู่กับกำไล EM มากว่า 6 เดือนโดยไม่มีกำหนด 

เราถามเธอทิ้งท้ายว่าชินกับมันหรือยัง เธอตอบกลับอย่างหนักแน่นว่า “ไม่ชินค่ะ” ราวกำลังจะสื่อนี่ไม่ใช่เรื่องที่จะชินชากันได้ง่ายๆ หรือไม่มีใครควรชินชากับสิ่งนี้

หลังจากสนทนากับศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของธรรมศาสตร์ไปบางส่วน เราจึงได้เจอกับ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อถามเขาว่า 2 ปีที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์เปลี่ยนไปแค่ไหน “ตัวธรรมศาสตร์เองก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมือง ถ้าเกิดว่าจะมีพื้นที่สาธารณะที่จัดให้คนมาได้เจอกันทางการเมือง ถ้าหากมีกลุ่มนักศึกษาที่เป็นกำลังหลักในการจัดการชุมนุมทางการเมือง มันก็คงต้องเป็นที่ธรรมศาสตร์ และภาพตรงนี้ สัญลักษณ์อันนี้มันไม่ได้หายไป เมื่อมีการจัดการชุมนุม ผู้คนต่างก็พากันเดินทางกันมา ถึงแม้ว่ารังสิตจะค่อนข้างห่างไกล และก็ลำบาก เพราะงั้นธรรมศาสตร์ก็ยังคงเป็นหมุดหมายของฝ่ายประชาธิปไตยได้ อย่างไม่ลดน้อยถอยลง”

และคนสุดท้ายที่เราจะไม่พูดคุยด้วยก็ไม่ได้ นั่นคือ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้เปรียบเสมือหนึ่งในผู้จุดไฟและยกระดับเพดานให้กับสังคมไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราเธอสั้นๆ ว่า ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปมากแค่ไหน “เปลี่ยนไปเยอะมากค่ะ ทุกอย่าง ทั้งระบบวิธีคิด สภาพจิตใจ วิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ทุกเรื่องเลยแหละเอาจริง ๆ มันก็เป็นจุด Shift เนอะ มันก็เป็นปกติของวัยรุ่นอยู่แล้วที่จะมีจุดเปลี่ยน แต่ของเรามันก็พิเศษหน่อยที่มันเป็นสถานะทางการเมืองขึ้นมาด้วย แต่ก็ไม่เป็นไรค่ะ เราก็รู้สึกว่าทั้งหมดที่ผ่านมามันเป็นบทเรียนให้เรา และสอนอะไรเราหลายอย่างมาก ที่จะทำให้เราใช้ชีวิตต่อจากนี้ได้อย่างหนักแน่น เข้มแข็ง และระมัดระวังมากขึ้น”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า