fbpx

สรุปอภิปรายงบฯ ปี 65 – สามัญสำนึก | กราบ | ปาหี่

ผ่านพ้นไปแล้วกับการประชุมสภาฯ เพื่ออภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ตกลงเรื่องกรอบเวลากันไว้ และการประชุมสภาฯ ในครั้งนี้ มีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย ทั้งเรื่องงบประมาณที่ร่างฯ ฉบับนี้ถูกตั้งข้อสังเกตมากมาย รวมถึงวิวาทะต่าง ๆ ที่น่าสนใจตลอดการอภิปรายครั้งนี้ เราจะสรุปทุกเรื่องน่าสนใจให้ฟังใน Big Story จาก News Rewind สัปดาห์นี้

งบประมาณฯ ปี 65: งบลด (ทั้งที่ไม่ควรลด)

งบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดกรอบวงเงินอยู่ที่ไม่เกิน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากวงเงินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ราว 1.85 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 5.6 ของงบประมาณฯ 2564) ประมาณการรายได้สุทธิไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ลดลงจากประมาณการรายได้จากเมื่อปี 2564 ที่ 2.67 ล้านล้านบาท และกำหนดวงเงินชดเชยการขาดดุลไว้แล้วที่ 7 แสนล้านบาท

การจัดทำงบประมาณในปีงบประมาณนี้ รัฐบาล โดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2565 จะขยายตัวจากอุปสงค์ต่างประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ทั้งในมุมของภาคครัวเรือน และภาคการท่องเที่ยวที่ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มจะเริ่มเดินทางอีกครั้งในเงื่อนไขของการมีวัคซีนพาสปอร์ต

เมื่อแยกดูงบประมาณตามแต่ละกระทรวงแบบภาพรวมในเอกสารร่างงบประมาณฯ พบว่า ถูกตัดลบงบประมาณ แทบจะทุกกระทรวง เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่เรากำลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เว้นแม้กระทั่งกระทรวงที่สำคัญ อย่าง กระทรวงสาธารณสุขที่ต้องนำงบประมาณมาใช้ในการจัดการสาธารณสุขในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือ กระทรวงศึกษาธิการเองก็ถูกตัดงบประมาณลงด้วยเช่นกัน รวมไปถึงกระทรวงที่ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณ อย่าง กระทรวงกลาโหม ก็ไม่วายโดนตัดงบเหมือนกัน แต่ถ้าเทียบสัดส่วนงบประมาณแล้ว กระทรวงกลาโหม ยังได้รับงบประมาณในสัดส่วนที่เยอะกว่า กระทรวงสาธารณสุข อยู่ดี

แม้กระทรวงต่าง ๆ จะออกมาแก้แล้วว่า งบประมาณลด จากการตัดงบส่วนต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น แต่ประชาชนก็ยังตั้งข้อสังเกตในกระทรวงที่มีความสำคัญต่อสถานการณ์นี้ว่า ทำไมถึงมีการตัดงบ? ส่วนกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นกระทรวงที่ถูกตั้งข้อสงสัย ตั้งแต่ปีที่แล้ว เรื่องการจัดซื้อของใช้สำหรับพลทหารใหม่ ที่ใช้งบประมาณสูงเกินเหตุ ยังไม่วายโดนประชาชนตั้งคำถามถึงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงเวลานี้ว่าจำเป็นหรือไม่? แม้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม จะชี้แจงแล้วว่างบการจัดซื้ออาวุธฯ มีสัดส่วนอยู่ที่ 1 ใน 3 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร และจำเป็นต้องมีการจัดซื้อเพื่อใช้ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

หนึ่งข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในงบประมาณนี้ คือ งบประมาณสำหรับการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของปีงบประมาณ 2565 “หายไป” จากเดิมที่เมื่อปีงบประมาณ 2564 มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นปีงบประมาณที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปีแรก และสถานการณ์ไม่รุนแรงเท่ากับในปีงบประมาณที่จะถึงนี้

อ้างอิงข้อมูล: สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี

งบสถาบันกษัตริย์: ครั้งแรกที่งบดังกล่าวถูกพูดถึงกลางสภา (และไม่ถูกตัดกลางอากาศ)

อีกหนึ่งในประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจไม่แพ้กัน คือ การพูดถึงงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ของ คุณเบญจา แสงจันทร์ สมาชิก ส.ส. จากพรรคก้าวไกล

ส.ส.เบญจา กล่าวในการอภิปรายว่า เมื่อดูงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณที่ พบว่ามีการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างน้อย 33,712 ล้านบาท ยังไม่รวมงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันฯ ที่อาจซ่อนอยู่ในโครงการก่อสร้างที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท 

ส.ส.เบญจา กล่าวเพิ่มเติมว่า เงินจำนวนกว่า 3 หมื่นล้านไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่ประเด็นที่หยิบมาอภิปราย คือ ผลผลิต และประสิทธิภาพของโครงการที่ได้รับงบประมาณไป ควรจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่ที่ประชาชน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงอีกหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดการงบประมาณในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้เสนอแผนบูรณาการโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้น โดยให้หน้าที่หลักในการจัดการแผนนี้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน จัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และเพื่อให้เกิดความสะดวกในการตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ของสภาผู้แทนราษฎร

เว็บไซต์ ประชาไท เคยรวบรวมข้อมูลงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ จากเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พบว่ามีงบประมาณมากถึง 37,228 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายโดยตรง (โครงการที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์โดยตรง) อยู่ที่ 20,309 ล้านบาท และรายจ่ายโดยอ้อม (โครงการของหน่วยงานที่เป็นไปตามพันธกิจนั้น ๆ เช่น โครงการหลวง, TO BE NUMBER ONE เป็นต้น) อยู่ที่ 16,919 ล้านบาท

อ้างอิงข้อมูล: https://prachatai.com/journal/2020/08/89306

สีสันอภิปราย: เวทีรุมถล่ม และละครปาหี่

สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ในการอภิปรายร่างงบประมาณฯ ครั้งนี้ คือ วิวาทะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดการอภิปรายของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล

เริ่มตั้งแต่ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ติงร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล ว่า การจัดงบขาดสามัญสำนัก ขาดการจัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องไหนเป็นเรื่องไม่สำคัญ

อีกหนึ่งบุคคลที่น่าสนใจ คือ คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ออกมาตำหนิรุนแรงต่อการบริหารงานของรัฐบาล ก่อนปิดด้วยการกราบให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้คนยังได้จดจำในฐานะชายชาติทหาร พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นทหารที่เก่งแต่ไปไม่รอด หาเงินไม่เก่ง ใช้จ่ายเกินตัว ก่อหนี้มหาศาล ระบบเศรษฐกิจพังแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว และเตือนว่า ประเทศไทย ถึงเวลาเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว

สลับมาที่ฝั่งของรัฐบาลกันบ้าง เริ่มด้วย คุณตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มาชี้แจงเรื่องการถูกตัดงบของกระทรวงศึกษาธิการ และการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่ามีการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย 5 รูปแบบ เพื่อช่วยให้บุตรหลานไม่หยุดการเรียนรู้ บางโรงเรียนที่มีเครื่องมือต่าง ๆ สามารถจัดการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์ได้ และหากไม่มีอินเตอร์เน็ต ก็สามารถเรียนผ่านทางโทรทัศน์ได้ เพราะเชื่อว่าทุกบ้านน่าจะมีทีวีแน่นอน จนกระแสโซเชียลพากันมองว่า รัฐมนตรีท่านนี้ น่าจะมัวแต่อยู่บนหอคอย ไม่เคยลงมาสัมผัสปัญหาของประชาชน

อีกวลีเด็ด จาก ส.ส.ฝั่งรัฐบาล อย่างคุณชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ซึ่งอยู่ฝั่งรัฐบาล กลับติงเรื่องงบประมาณตั้งแต่วันแรกของการอภิปราย โดยเฉพาะงบของกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกตัดไปเป็นจำนวนไม่น้อย จนต้องตัดพ้อพร้อมฝากข้อความถึง คุณอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กลางสภาว่า “ถ้าเขาไม่รัก ก็กลับ​บ้านเราเถอะครับ” ก่อนที่ภายหลังจะออกมาบอกกับสื่อมวลชนว่า แค่งอนเฉย ๆ

ปิดท้ายด้วย วลีเด็ด จาก ส.ส.ฝ่ายค้าน อย่าง คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ชวนให้คว่ำร่างงบประมาณฯ ปี 65 เพื่อให้ได้งบสาธารณสุขและงบการศึกษาในกรอบเดิมคืน หรือจะเป็นเพียงลิเกโรงใหญ่ ที่ทำเพื่อที่จะต่อรองผลประโยชน์ รวมทั้งกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ยินเสียงแว่วจากลำโพงว่า จะลงมติรับหลักการ แสดงให้เห็นว่า อภิปรายอย่างราชสีห์ ลงมติอย่างหนู ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นแค่ลิเกโรงใหญ่ หรือละครปาหี่จริง ๆ เพราะ ส.ส.ภูมิใจไทย ยังลงคะแนนรับหลักการเช่นเดิม

สรุปผลการโหวตรับร่าง ก่อนเจอยก 2 เงินกู้ 5 แสนล้าน

สรุปผลการลงมติ จากจำนวน 471 เสียง พบว่า ส.ส.มีมติรับหลักการร่างงบประมาณฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ด้วยคะแนนเสียง 269 ต่อ 201 งดออกเสียง 2 เสียง ผ่านวาระที่ 1 เป็นที่เรียบร้อย โดยขั้นตอนต่อไป จะเป็นการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ โดยคณะกรรมาธิการพิจารณาฯ จำนวน 72 คนที่มีการตั้งขึ้น และเกิดเสียงฮือฮามากมาย ทั้งกรณีคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนา ย้ายขั้วการเมืองจาก เพื่อไทย สู่ พลังประชารัฐ และประเดิมทำงานเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างดังกล่าว และการกลับมาสภาอีกครั้งของ คุณปารีณา ไกรคุปต์ ที่ถูกศาลสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จากคดีบุกรุกป่า

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีศึกที่ 2 ที่ต้องสู้ต่อ นั่นคือ การอภิปรายร่าง พ.ร.ก. เงินกู้ กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะมีการพิจารณากันในวันที่ 9-10 มิถุนายนที่จะถึงนี้

ต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลนี้จะยังผ่านศึกต่อ ๆ ไปอย่างฉลุยอีก จนอยู่ครบ 4 ปี เหมือนที่เคยหวังไว้หรือไม่ ?

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า