fbpx

2 สถาบันทางการแพทย์ของราชวงศ์ งบปี 2565 จัดสรรให้เท่าไหร่?

ในงบประมาณของปี 2565 ที่เพิ่งอนุมัติไปไม่นานมานี้ มีงบประมาณส่วนหนึ่งที่ใครหลายคนอาจมองข้ามไป และในช่วงนี้ยังเป็นช่วงสำคัญสำหรับพวกเขาเลยก็ว่าได้ในการข้ามผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดอย่างโควิด-19 นั่นก็คือ “งบของ 2 สถาบันทางการแพทย์” ที่ปีนี้มีการพิจารณาอนุมัติ “โดยไม่ตัดงบสักบาท” วันนี้ทีมข่าว Modernist จึงขอนำเสนองบประมาณประจำปี 2565 ของ 2 สถาบันทางการแพทย์ของราชวงศ์มาฝากกัน

เริ่มต้นที่ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” กันก่อนเลย โดยราชวิทยาลัยแห่งนี้เกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการพัฒนาต่อยอดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลด้านการวิจัย รักษา และดูลผู้ป่วยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง รวมถึงการรวมวิทยาลัยด้านการแพทย์ในเครือให้เป็น “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” โดยมุ่งเน้นให้ความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์สมัยใหม่

ปัจจุบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอำนาจตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ อยู่ภายใต้การบริหารในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นสถาบันการวิจัยชั้นสูง จัดการศึกษาทางด้านวิชาการและวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์ และสาธารณสุข มีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยการบริหารงานแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ สำนักงานราชวิทยาลัย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โดยมีสภาราชวิทยาลัยกำกับดูแล

สำหรับรายได้ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้นแบ่งเป็น เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี, เงินบริจาค, เงินกองทุนที่จัดตั้งขึ้นและกำไรที่ได้จากการจัดตั้งกองทุน, ค่าธรรมเนียมและค่าบริการของราชวิทยาลัย, การลงทุนของราชวิทยาลัย และรายได้อื่นๆ ทั้งในเชิงของการใช้ที่ราชพัสดุและอื่นๆ ซึ่งในงบประมาณปี 2565 ที่รัฐจัดสรรให้กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้น มีจำนวน 4,740 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นแผนงานพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัย จำนวน 399 ล้านบาท, แผนงานส่งเสริมสุขภาพ 3,887 ล้านบาท และแผนงานด้านทรัพยากรมนุษย์ 457 ล้านบาท

สำหรับรายได้ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้น ตามพระราชบัญญัติฯ กำหนดไว้ว่าไม่ต้องนำรายได้ส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมาย และในกรณีที่งบประมาณของราชวิทยาลัยไม่เพียงพอในเชิงค่าใช้จ่าย ให้รัฐบาลจัดสรรตามความจำเป็น ซึ่งการจัดสรรจะเกิดก็ต่อเมื่อราชวิทยาลัยไม่สามารถจัดหารายได้จากช่องทางอื่นๆ ได้นั่นเอง ทั้งนี้งบประมาณที่รัฐจัดสรรนั้น พระราชบัญญัติให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการประกันคุณภาพทางการศึกษานั่นเอง

ข้ามมาในส่วนของสภากาชาดไทยกันบ้าง ซึ่งชื่อเดิมคือ “สภาอนุโลมแดง” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2436 เป็นองค์กรการกุศลที่ก่อตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบระหหว่างไทยกับฝรั่งเศสในช่วงการพิพาทในเขตลุ่มแม่น้ำโขง และท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้กราบทูลให้สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดตั้งองค์กร

หลังจากนั้นในปีพ.ศ.2461 มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยาม มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้และบาดเจ็บในสงครามและยามสงบ กับทั้งทำการบรรเทาทุกข์ในเหตุการณ์สาธารณภัยพินาศ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ สัญชาติ ลัทธิ ศาสนา หรือความเห็นในทางการเมืองของผู้ประสบภัย ยึดหลักมนุษยธรรมเป็นที่ตั้ง และต่อมาในปี พ.ศ. 2463 ก็ได้จัดระเบียบสภากาชาดสยามเป็นสมาคมอิสระ

ยังผลให้คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศรับรองสภากาชาดสยาม เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2463 และสันนิบาตสภากาชาดมีมติรับสภากาชาดสยามเป็นสมาชิกเมื่อปีพ.ศ.2464 จนกระทั่งการออกพระราชบัญญัติ ฉบับที่ 5 วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2550 ซึ่งได้เพิ่มข้อความในพระราชบัญญัติปี พ.ศ.2461 ว่า “ให้สภากาชาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินการอันเป็นสาธารณกุศลเพื่อมนุษยธรรม ตามหลักการกาชาดสากล และพึงได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากรัฐ”

ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นสภานายิกาสภากาชาดไทย และอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีคณะกรรมการสภากาชาดไทยคอยกำกับดูแลและบริหารงาน

ได้แก่ กลุ่มภารกิจการชาดและสนับสนุนงาน โดยมีองค์กรหลักๆ ได้แก่ สำนักงานยุวกาชาด, สำนักงานอาสากาชาดสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ และสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด ส่วนต่อมาคือกลุ่มบริหารทางการแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา, ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และศูนย์วิจัยโรคเอดส์ ส่วนสุดท้ายคือกลุ่มบริการโลหิต อวัยวะ และผลิตภัณฑ์ชีววัตถุ ได้แก่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ, ศูนย์วงตา, ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ และสถานเสาวภา

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา, มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย และสำนักงานตรวจสอบสภากาชาดไทย ซึ่งสภากาชาดไทยถือเป็นหน่วยงานที่ถูกแยกออกมาเป็นอิสระ และในปีงบประมาณ 2565 นั้นรัฐจัดสรรให้กับสภากาชาดไทยเป็นจำนวนเงิน 8,265 ล้านบาท ทั้งหมดถูกนำมาใช้ผ่านแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองหน่วยงานนี้มีหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกัน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีหน้าที่หลักในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่เน้นการวิจัยเป็นหลัก และเน้นการพัฒนาการวิจัยชั้นสูง ส่วนสภากาชาดไทยมีหน้าที่หลักคือการให้ความช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์อันยากลำบากต่างๆ และการดูแลบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมอีกด้วยนั่นเอง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า