fbpx

14 ตุลา วันแห่งชัยชนะของประชาชน จริงหรือ?

เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก ว่าวันแห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยวันหนึ่งที่ควรค่าแก่การยกย่องและเรียนรู้ คือเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ถูกขนานนามว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของประชาชน วันแห่งสงครามระหว่างประชาชนกับเผด็จการ บางครั้งมันถูกจัดให้เป็น วันแห่งประชาธิปไตย 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราไม่เคยตั้งคำถาม หรือสงสัยกับบางสิ่งบางอย่างที่หลบอยู่หลังฉาก ไม่มีคำอธิบายกับบางเหตุการณ์ที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุและผล เพราะด้วยชัยชนะอันหอมหวานและน่ายินดี ทำให้แม้แต่ประชาชนที่ต่อสู้ในเหตุการณ์นั้นไม่แม้แต่ฉุกคิดว่าชัยชนะที่ได้มานั้น เป็นของประชาชนจริง ๆ หรือเป็นของใครกันแน่ 

แต่ก่อนที่เราจะมาวิเคราะห์ถึงเรื่องนั้น เราอาจต้องย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของเหล่าเผด็จการที่ทำให้เกิด 14 ตุลา กันก่อน

ยุคของเผด็จการที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

การเมืองไทยในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – 2500 จัดเป็นเหมือนละครฉากยาว โดยมีจุดเริ่มต้นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นฉากแรกของเรื่องราวอันยาวนานที่ส่งผลต่อกัน เป็นซีรีส์เรื่องยาว ซึ่งหากผู้อ่านอยากศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงเวลานี้ แนะนำให้ไปหาอ่านข้อมูลอื่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ภาพประวัติศาสตร์นั้นกระจ่างและชัดเจนยิ่งขึ้น 

แต่หากกล่าวอย่างรวบรัดตัดความ เหตุการณ์ 14 ตุลา จุดเริ่มต้นของมันเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงคราม หลังจากชนะการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่าสกปรกที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่พรรคเสรีมนังคศิลาชนะการเลือกตั้งไป โดยเกิดการลุกฮือของประชาชนเพื่อประท้วงการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมและเรียกร้องให้จอมพล ป. ลาออก โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สร้างภาพลักษณ์ของตัวเองต่อประชาชนในฐานะวีรบุรุษ เขาได้สั่งการเปิดทางให้ประชาชนเดินขบวนอย่างอิสระ รวมถึงออกคำสั่งไม่ให้ทหารทำร้ายประชาชน นำมาซึ่งวาทกรรมอมตะอย่าง ‘พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ’ ที่เขาได้ประกาศผ่านวิทยุยานเกราะ ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2500 

วันที่ 15 กันยายน ประชาชนได้เดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ทว่าจอมพล ป. ไม่อยู่ จึงเดินขบวนไปบ้านของจอมพลสฤษดิ์แทน ยิ่งเป็นการบอกชัดเจนว่าในสายตาของประชาชน จอมพลสฤษดิ์และกองทัพ ดูจะเป็นความหวังเดียวที่จะสามารถขับไล่รัฐบาลจอมพล ป. ออกไปได้ มันคือละครฉากเดิมของการเมืองไทยที่ไม่ว่าหกสิบปีที่แล้วเป็นอย่างไร ประชาชนก็เหมือนไม่เคยเรียนรู้บทเรียนในอดีตนั้นเลยเพราะเหตุการณ์แบบนี้เกิดซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าในเวลาต่อมา

ในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลได้เตรียมการจับกุมจอมพลสฤษดิ์ในฐานะกบฏ แต่ไม่ทันการเสียแล้ว เพราะในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 คณะปฏิวัติ ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลจอมพล ป. ได้สำเร็จ ปิดฉากสองผู้ยิ่งใหญ่อย่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม และนายพลแห่งรัฐตำรวจอย่าง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ที่ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศและไม่มีโอกาสได้กลับมาที่ประเทศไทยอีกเลย

แน่นอนว่าฉากหน้า จอมพลสฤษดิ์คือผู้ที่จบปัญหาวุ่นวายทั้งหมด แต่ฉากหลังนั้น ภายในรัฐบาลจอมพล ป. ได้มีการแบ่งขั้วการเมืองกันภายในรัฐบาล และเดินเกมการเมืองและหาทางเป็นใหญ่กันอยู่แล้ว ขั้วการเมืองภายในรัฐบาลที่ว่าแบ่งเป็นสามขั้วคือ ฝั่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องเดินเกมรักษาอำนาจตน โดยการวางมือซ้ายและมือขวาเพื่อคานอำนาจให้ตัวเอง โดยแบ่งเป็นกลุ่มซอยราชครู ที่นำโดย จอมพล ผิน ชุณหะวัณ และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ และกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, พลโท ถนอม กิตติขจร, พลโท ประภาส จารุเสถียร และ พันเอก กฤษณ์ สีวะรา แต่ท้ายสุดจอมพล ป. ก็รักษาอำนาจไว้ไม่ได้ กลุ่มซอยราชครูต้องหมดอำนาจไป และกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ก็ถึงคราวเรืองอำนาจ  

สิ้นสุดยุคของจอมพล. ป ที่ครองอำนาจมายาวนานร่วมสิบปี มาถึงยุคใหม่ที่ในคราแรกมันดูสวยงาม เต็มไปด้วยความหวัง แต่ใครจะรู้ว่าคนไทยต้องเผชิญเผด็จการในคราบวีรบุรุษที่สืบทอดอำนาจต่อกันไปอีกนับสิบปีต่อจากนี้

หลังจากยึดอำนาจการปกครอง คณะรัฐประหารได้แต่งตั้ง พจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว จนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 ก็มีการเลือกตั้ง และพรรคที่ได้รับชัยชนะก็คือพรรคชาติสังคมที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นหัวหน้าพรรค แต่จอมพลสฤษดิ์ก็เลือกพลโทถนอมให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดไปก่อน เหตุเพราะปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยที่ตัวเองขอดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกตามเดิม และได้เดินทางออกนอกประเทศไปรักษาตัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 

แต่คล้อยหลังไปได้ไม่นาน การเมืองระบอบรัฐสภาก็กลับมามีปัญหาแบบเดิม ไม่ว่าจะเรื่องฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาล และการแก่งแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกถนอม กิตติขจร (ได้รับพระราชทานเลื่อนยศ) มีทีท่าว่าจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การเมืองในสภาให้สงบเรียบร้อยได้ จอมพลสฤษดิ์จึงเดินทางกลับมาจากต่างประเทศแบบเงียบ ๆ และตัดสินใจให้พลเอกถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และภายในวันเดียวกันนั้นเอง ก็ได้ประกาศรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตำนานของจอมพลสฤษดิ์ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และบริหารแผ่นดินด้วยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ที่มีมาตรา 17 เป็นมาตราอันลือลั่นที่มอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งการใด ๆ ก็ได้ และถือว่าคำสั่งนั้นชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้ใช้มาตรานี้สั่งประหารชีวิตคนไปถึง 76 คน ที่มาพร้อมวาทกรรมอมตะอย่าง ‘ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว’ ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องสงสัยคดีวางเพลิง ลักทรัพย์ ฆ่าผู้อื่น มีพฤติกรรมฝักใฝ่ระบอบคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่เป็นผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ต่างก็สามารถโดนมาตรา 17 เล่นงานได้ทั้งหมด

หลังครองอำนาจราว ๆ 5 ปี ที่ไม่มีการพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ต้องเอ่ยถึงการเลือกตั้ง จนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์ก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคไตพิการเรื้อรังและโรคอื่น ๆ (เป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวจนถึงปัจจุบันที่เสียชีวิตในขณะที่ดำรงตำแหน่ง) พลเอกถนอม กิตติขจร ก็ขึ้นสืบทอดอำนาจต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก ส่วน พลเอกประภาส จารุเสถียร ก็ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 

และในปี พ.ศ. 2507 พลเอกประภาสก็ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอีกตำแหน่ง เป็นจุดเริ่มต้นของยุคเผด็จการ ถนอม – ประภาส ที่ครองอำนาจยาวนานจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ

ในปัจจุบัน เรามีนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมานานถึง 7 ปีแล้ว ผ่านสองรัฐบาลอันได้แก่รัฐบาลเผด็จการทหาร และรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ที่มีระบบการเลือกตั้งอย่างแบ่งสันปันส่วนผสม มี ส.ส.ปัดเศษ และมีสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารทั้งหมด ที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย แม้จะดูช่างน่าถอนหายใจ แต่สิ่งนี้ยังเทียบไม่ได้เลยกับช่วงปี พ.ศ. 2501 – 2516 เพราะมันคือระยะเวลาร่วม ๆ 15 ปี ที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้เผด็จการเต็มรูปแบบ ภายใต้ยุคสฤษดิ์ และต่อด้วยยุคถนอม – ประภาส โดยมีช่วงสั้น ๆ ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2512 – 2514 เท่านั้นที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

หลังครองอำนาจต่อมาหลายปี ก็ถึงคราวที่รัฐธรรมนูญที่รอคอยร่างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 ได้ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2511 และมีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 10 ปี ในปี พ.ศ. 2512 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมชนะการเลือกตั้งมากที่สุด 75 เสียง ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมและเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แต่การบริหารแผ่นดินในรัฐบาลแบบรัฐสภาก็ดูจะไม่ง่ายเหมือนเดิม เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจมากมายจากการที่สหรัฐอเมริกาเริ่มถอนทหารออกจากประเทศไทย และยกเลิกการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากสภาวะที่สงครามเย็นใกล้สิ้นสุด และสหรัฐฯ จำต้องถอนตัวจากสงครามเวียดนาม 

แน่นอนว่าปัญหาเดิม ๆ ในรูปแบบการเมืองแบบรัฐสภาที่มีทุกยุคทุกสมัยก็เกิดขึ้นอีกครั้ง บรรดา ส.ส. ในสภาเริ่มจะออกอาการงอแง ความวุ่นวายเรื่องขอตำแหน่งในพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็เดินเกมถล่มรัฐบาลในสภาอย่างต่อเนื่อง จอมพลถนอมจึงตัดสินใจกระทำการสุดคลาสสิกที่เหล่าเผด็จการมักเลือกทำตลอดมา นั่นก็คือการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองในปี พ.ศ. 2514 คล้ายกับตอนที่จอมพลสฤษดิ์ทำในปี พ.ศ. 2501 เพื่อตัดปัญหาวุ่นวายในรัฐสภา ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง และรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ตัวเองอีกครั้ง 

การยึดอำนาจน่ะทำได้ แต่สิ่งที่ทำไม่ได้คือย้อนเวลากลับไปแบบเดิม เพราะเวลาที่เดินไปข้างหน้า และด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มเกิดการต่อต้านอยู่ลึก ๆ เพราะรัฐธรรมนูญที่รอคอยมานานร่วมสิบปี พอประกาศใช้ได้แค่ราว ๆ สามปี ก็ฉีกทิ้งและต้องวนกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการแบบเดิม

ในช่วงเวลาก่อนนั้นไม่นาน ก็ได้เกิด ‘ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)’ โดยมี ธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการ ที่เป็นศูนย์รวมของบรรดานิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีแนวคิดอยากเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในเรื่องสังคมและเศรษฐกิจ และเริ่มเคลื่อนไหวอย่างเงียบ ๆ

ในเวลาต่อมา ก็ได้กลายเป็นช่วงที่ถูกขนานนามว่าเป็นยุคของ 3 เผด็จการ ได้แก่ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ผู้เป็นบุตรชายของจอมพลถนอม ที่ต่างรู้กันดีว่าเป็นตัวแทนในการสืบทอดอำนาจจากบิดาในอนาคต นอกจากนั้นเผด็จการทั้งสามยังมีความแน่นแฟ้นทางความสัมพันธ์ในแบบที่โค่นล้มได้ยากยิ่ง เพราะความสัมพันธ์ของทั้งสองจอมพลเริ่มต้นตั้งแต่ยังเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย ร่วมสู้ร่วมรบมาตั้งแต่สงครามกลางเมืองกับกบฏบวรเดชในปี พ.ศ. 2476 ไต่เต้าจนเป็นใหญ่ครองแผ่นดิน จนมาถึงรุ่นลูกก็ใช้วิธีสืบสานความสัมพันธ์ต่อด้วยการที่พันเอกณรงค์ได้แต่งงานกับ สุภาพร จารุเสถียร ธิดาของจอมพลประภาส ทำให้สถานะของจอมพลประภาสนั้นถือเป็น ‘พ่อตา’ ของพันเอกณรงค์ที่ถูกวางตัวให้ขึ้นเป็นใหญ่ต่อจากพ่อในอนาคตอีกด้วย 

ปัญหาต่อมาคือเรื่องการต่ออายุราชการ จริง ๆ แล้วใน พ.ศ. 2513 จอมพลถนอมที่มีอายุครบ 60 ปี จะต้องเกษียณอายุราชการ พ้นตำแหน่งผู้นำกองทัพ แต่เมื่อการหาผู้สืบทอดตำแหน่งและปัญหาในกองทัพเจรจากันไม่ลงตัว จึงตัดสินใจต่ออายุราชการตัวเองไปอีก 1 ปี 

ถึงตอนนี้ เราต้องมาทำความรู้จักกับตัวละครสำคัญอีกตัวอย่าง พลเอก กฤษณ์ สีวะรา รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่รอวันจะก้าวสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมานานแล้ว เป็นที่รู้กันดีในกองทัพอยู่แล้วว่านายทหารระดับสูงนั้นมีลำดับการเป็นใหญ่ในสายตำแหน่งของตัวเอง และการขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดอย่าง ผบ.ทบ มีลำดับขั้นตอนตามความอาวุโส รวมถึงการต้องคำนึงถึงเวลาที่มีจำกัดที่อายุ 60 ปี ก่อนเกษียณราชการอีกด้วย

ซึ่งทั้งสองจอมพลดูจะยังไม่ยอมปล่อยตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพให้ดำเนินต่อไปตามลำดับง่าย ๆ ทั้งที่เกินอายุราชการตัวเองไปแล้ว นี่ยังไม่รวมถึงกรณีที่พันเอกณรงค์ กิตติขจร ได้อภิสิทธิ์พิเศษจากพ่อที่ลำดับยศและตำแหน่งขึ้นเร็วกว่าปกติ ชนิดที่ข้ามหน้าข้ามตานายทหารอาวุโสที่รอวันใหญ่กันอยู่ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจกับบรรดานายพลอีกหลายคนในกองทัพที่รอเป็นใหญ่แต่ไม่ได้เป็นสักที แถมลูกนายก็ดูจะถูกดันให้ใหญ่แบบข้ามหน้าข้ามตากันเกินไป ว่ากันว่าพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ก็คือหนึ่งในนั้น แม้ว่าหลังจากรอมานานถึง 7 ปี เขาก็ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ก็ตาม

การเคลื่อนไหวของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา เริ่มจริงจังและได้ผลมากขึ้นเรื่อย ๆ ไล่ตั้งแต่การประท้วงต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นช่วงปลายปี พ.ศ. 2515 ประท้วงการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์จาก 50 สตางค์เป็น 75 สตางค์ รวมถึงการรณรงค์เรื่องต่าง ๆ เช่นการรณรงค์ให้ใช้ผ้าดิบ ทั้งหมดนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากรัฐบาล ที่ก็ยอมถอยตามที่นิสิตนักศึกษาประท้วง ทำให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาได้รับความนิยมและการยอมรับมากขึ้นจากบรรดานิสิตนักศึกษา คนรุ่นใหม่ และประชาชน 

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 เกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งตกที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มันคือเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก หมายเลข ทบ.6102 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย พร้อมทั้งมีการตรวจพบซากสัตว์ป่าภายในลำทั้งกระทิง เก้ง กวาง และปืนล่าสัตว์หลายกระบอก มีการเปิดเผยจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า คณะทหาร ตำรวจ และผู้มีอิทธิพล ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์สองลำไปล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นเขตป่าสงวน โดยลำที่เกิดอุบัติเหตุคือลำที่กำลังขนซากสัตว์ป่ากลับกรุงเทพฯ 

นี่คือชนวนแรกของวันมหาวิปโยคที่จะเกิดขึ้น 

มีการขอให้สื่อมวลชนงดทำข่าวอุบัติเหตุครั้งนี้ แต่มีการคัดค้านจากสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยทันที เนื่องจากเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าว จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุนี้ว่า คนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกนั้นตายขณะปฏิบัติราชการลับ และซากสัตว์ในเครื่องบินเป็นของที่คนอื่นฝากมา คำตอบนี้ของจอมพลถนอม สร้างความไม่พอใจต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา ที่มองว่ารัฐบาลกำลังปกป้องคนผิด เนื่องจากกลุ่มนักล่าสัตว์เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงที่มีความสนิทชิดเชื้อกับคนในรัฐบาล (บางข่าวรายงานว่าพันเอกณรงค์นี่แหละที่เป็นผู้พาคนเหล่านี้เข้าไป) ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาจึงได้จัดอภิปรายเกี่ยวกับคดีทุ่งใหญ่ฯ ยื่นคดีนี้ต่อศาล และทำหนังสือชื่อ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ ซึ่งเป็นที่นิยมและขายหมดอย่างรวดเร็ว

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ชมรมคนรุ่นใหม่ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ออกหนังสือชื่อ มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัยและการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ซึ่งหน้า 6 ของหนังสือ มีเนื้อหาที่ล้อเลียนคดีทุ่งใหญ่ฯ และกรณีต่ออายุราชการของจอมพลถนอม โดยมีเนื้อหา 4 บรรทัดว่า

“สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ
มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี
เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก
เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ” 

จะเกิดขึ้นจากอำนาจมืดเบื้องบนหรืออย่างอื่นก็ไม่ทราบได้ แต่ทันทีที่ทราบเรื่อง ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้สั่งให้ลบชื่อของนักศึกษาทั้ง 9 คนที่มีชื่อทำหนังสือเล่มนี้ ให้พ้นสภาพนักศึกษา และทันทีที่ทราบข่าว ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาก็เคลื่อนไหวต่อต้าน เกิดการชุมนุมใหญ่หน้ามหาวิทยาลัย ย้ายไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีจำนวนผู้ชุมนุมหลักหลายหมื่นคน 

ท้ายสุดด้วยแรงกดดันจากสังคมและมวลชนมหาศาล มหาวิทยาลัยได้ประกาศยกเลิกการลบชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คน และกลับมาเรียนได้ตามเดิม แต่ไหน ๆ มวลชนก็จุดติดขนาดนี้แล้ว ทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาจึงเห็นโอกาสในการเรียกร้องประชาธิปไตย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 6 เดือน 

เมื่อไม่เห็นว่ารัฐบาลจะสนใจการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จึงเกิดการแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ มีกลุ่มนักศึกษาถือป้ายโปสเตอร์ข้อความเช่น ‘จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย’ ที่ตลาดนัดสนามหลวง กลุ่มผู้เรียกร้องเดินจากสนามหลวง ไปบางลำพู จนถึงประตูน้ำ ก็ถูกตำรวจนครบาลรวบตัวไป 11 คน ด้วยข้อหามั่วสุมทางการเมือง ตามประกาศของรัฐบาลที่ห้ามชุมนุมเกินห้าคน

วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นวันแรกของการสอบประจำภาคของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตำรวจพบเอกสารคอมมิวนิสต์ทั้งภาษาไทย อังกฤษ จีน เป็นจำนวนมากในบ้านของผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ แสดงว่าคอมมิวนิสต์ต่างประเทศแทรกแซงการเคลื่อนไหวของนักศึกษา และมีแผนจะล้มรัฐบาล 

นักศึกษาเลิกสอบและจัดชุมนุมทันที องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดประชุมด่วน มีมติให้เลื่อนสอบอย่างไม่มีกำหนด 

เช้าวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ 2516 มีภาพธงดำครึ่งเสาเหนือยอดโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีป้ายงดสอบติดหน้าประตู และป้ายผ้าผืนใหญ่มีข้อความว่า ‘เราเรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นกบฏหรือ’ มีการจัดชุมนุมโดยมีแกนนำอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นขาประจำขึ้นไปพูดบนเวทีอภิปราย ขณะเดียวกัน ไขแสง สุกใส ทนายความและอดีต ส.ส. ก็เข้ามอบตัวตามหมายจับ รวมกับที่ถูกจับไปก่อนหน้าทั้งหมด 13 คน ซึ่งรัฐบาลก็ประกาศผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่าบุคคลทั้ง 13 คน มีแผนล้มล้างรัฐบาล 

เกิดการชุมนุมใหญ่ตามมา กลุ่มนิสิตนักศึกษาเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน เริ่มมีการเคลื่อนไหวจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ตามมา เช่น องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และอีกหลายมหาวิทยาลัย โดยประกาศว่าจะประท้วงจนกว่าจะชนะ 

ไม่ว่าจะนักศึกษาแพทย์ศิริราช นักเรียนอาชีวะ นักเรียนช่างกล วิทยาลัยครูธนบุรี นักเรียนมัธยมทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ต่างก็เข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ที่ลานโพธิ์จนเต็ม และย้ายไปที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

11 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ผู้ต้องหา 13 คนประกาศประท้วงอดอาหารตลอดทั้งวัน นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วสารทิศตรงไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวนผู้ชุมนุมถึงหลักห้าหมื่นคน จอมพลประภาส จารุเสถียร ยินยอมเปิดการเจรจากับ สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์นิสิตนักศึกษา แต่การเจรจาไม่เป็นผล ไม่สามารถตกลงกันได้

รัฐบาลได้เปิดศูนย์ปราบปรามจราจลที่สวนรื่นฤดี โดยจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และพลเอกกฤษณ์ สีวะรา เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ สั่งตำรวจสกัดกั้นรถที่ขนนักศึกษาจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร ก็เหมือนเป็นการราดน้ำมันลงกองไฟ เพราะมวลชนมีแต่จะขยายใหญ่ขึ้นจนรัฐบาลไม่อาจต้านได้อีก

12 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มวลชนจากทั่วทุกสารทิศเข้าร่วมชุมนุมถึงหลักแสน ในเวลาเที่ยงตรงมีประกาศจากศูนย์นิสิตนักศึกษา โดยยื่นคำขาดให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่ทำตาม ก็จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดต่อไป

13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อไร้การตอบรับจากรัฐบาล จึงเกิดการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผู้ชุมนุมในวันนั้นปรากฏจำนวนไม่ต่ำกว่าครึ่งล้านที่เดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าถนนราชดำเนิน ไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มวลชนมหาศาลในวันนั้นคล้ายเป็นคลื่นมนุษย์ที่มีแถวยาวสุดลูกหูลูกตา 

ระหว่างที่รอผลการเจรจาระหว่างตัวแทนศูนย์นิสิตนักศึกษากับจอมพลประภาส คลื่นมนุษย์กว่าห้าแสนยังคงปักหลักรอการเจรจาและเคร่งเครียด ราวๆ ห้าโมงครึ่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุลได้นำมวลชนเคลื่อนที่ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และราว ๆ เที่ยงคืนก็นำมวลชนเดินขบวนไปที่พระตำหนักจิตรลดาฯ เพื่อขอเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9

จนกระทั่งราว ๆ ตีสามที่ร่วงเลยเข้าวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ธีรยุทธ บุญมี ได้ฝ่าฝูงชนนำข่าวมาแจ้งกับเสกสรรค์ว่ารัฐบาลตกลงยอมปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนแล้ว และรับปากว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในหนึ่งปี และในเวลาตีห้า ก็มีตำรวจประจำราชสำนัก อ่านพระบรมราโชวาทให้ผู้ชุมนุมฟังว่า ‘รัฐบาลยินยอมตามคำเรียกร้องของผู้ชุมนุมแล้ว ขอให้ทุกคนกลับบ้าน’ ผู้ชุมนุมยืนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและเตรียมตัวสลายการชุมนุม โดยเดินขบวนกลับไปทางถนนพระราม 5 และสี่แยกราชวิถี แต่กลับพบแผงตำรวจกั้น โดยมีตำรวจคอมมานโดยืนสกัดอยู่ ให้เหตุผลที่ห้ามผ่านเพราะเป็นเส้นทางไปที่บ้านของจอมพลถนอม 

กลุ่มตำรวจคอมมานโดที่มีทั้งไม้พลอง โล่ แก๊สน้ำตา ภายใต้การบัญชาการของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แต่การเจรจาขอผ่านทางไม่เป็นผล การกระทบกระทั่งจึงเกิดขึ้น ฝูงชนที่ถูกขวางทางเริ่มปาข้าวของใส่ตำรวจ เกิดการต่อสู้กัน ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชน มีการขับรถพุ่งเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ตำรวจใช้ไม้กระบองตีผู้ชุมนุมแบบไม่เลือกหน้า 

ผู้ชุมนุมเริ่มหนีโดยการลงไปในคูน้ำรอบพระตำหนักจิตรลดา โดยเจ้าหน้าที่ก็เปิดประตูวังให้ผู้ชุมนุมเข้ามาหลบในพระราชฐาน ตามคำสั่งของในหลวงรัชกาลที่ 9 และได้เสด็จออกมาเยี่ยมผู้ชุมนุมด้วยตัวเองในเวลาต่อมา 

อย่างไรก็ตาม การเริ่มปะทะกันในจุดนี้เอง ที่ลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง 

มีข่าวแพร่ออกมาว่าเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ข่าวเหล่านี้ลุกลามอย่างรวดเร็วในหมู่นิสิตนักศึกษาและประชาชน คนที่สลายการชุมนุมไปแล้วก็กลับมารวมตัวกันใหม่ และมีประชาชนจำนวนมากออกมาร่วมด้วยเนื่องจากความโกรธแค้น 

ฝั่งรัฐบาลส่งทหารและตำรวจเข้าปราบปรามประชาชนทันที เกิดการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนทั่วถนนราชดำเนิน บางลำพู และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทหารและตำรวจบางส่วนได้ใช้กระสุนจริงในการปราบปราม ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตหลายราย ฝูงชนบุกเผาป้อมตำรวจที่ท่าพระจันทร์หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผากรมสรรพากรและกรมประชาสัมพันธ์ เผาสำนักงานกินแบ่งรัฐบาล ประชาชนต่อสู้แบบไม่ยอมแพ้ ยึดรถเมล์ขับชนรถถัง พร้อมกับช่วยเหลือผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลศิริราช

ในช่วงบ่าย ปรากฏภาพเฮลิคอปเตอร์ทหารลำหนึ่งบินอยู่เหนือถนนราชดำเนิน มีการยิงกราดลงมาใส่เหล่าผู้ชุมนุมบนถนน มีรายงานแจ้งว่าผู้ที่ยิงลงมาก็คือพันเอกณรงค์ กิตติขจร โดยพันเอกณรงค์ได้ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ในภายหลังว่าไม่เป็นความจริง 

สงครามกลางเมืองลุกลามไปจนเย็น จนกระทั่ง 18.00 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยออกข่าวว่าจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว และมีประกาศจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อขอร้องให้ยุติการปะทะกัน พร้อมกับประกาศแต่งตั้งให้ สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและดูแลการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จ

แต่เหตุการณ์ยังคงลุกลามต่อ กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงโกรธแค้นและไม่เชื่ออย่างสนิทใจว่าเหตุการณ์ได้สงบลงแล้ว มีการปักหลักชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ยังมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ กองบัญชาการตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจนางเลิ้งถูกเผา จนถึงช่วงเย็นวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อข่าวประกาศว่า จอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ ได้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงสงบลง 

สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แถลงผ่านโทรทัศน์ขอให้ประชาชนและทุกหน่วยอยู่ในความสงบ พร้อมกับประกาศแต่งตั้งให้พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบ พร้อมกับสัญญาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประกาศใช้ภายใน 6 เดือน

สิ้นสุดเสียงปืนและสงครามกลางเมืองแสนวิปโยค ก็ปรากฏจำนวนประชาชนที่เสียชีวิต 71 คน และมีผู้บาดเจ็บ 857 คน 

ประชาชนประกาศชัยชนะต่อเผด็จการ กลุ่มนิสิตนักศึกษาโห่ร้องตะโกนถึงการเมืองยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวัง 

แต่คำถามที่ตามมา และจนถึงเวลานี้ก็ยังคงเป็นปริศนาที่หาคำตอบไมได้ มันคือความลับในเดือนตุลาคมที่แอบหลบอยู่หลังฉาก ที่ได้ตั้งคำถามกับประชาชนในเวลาต่อมาว่า นี่คือชัยชนะของประชาชน หรือประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจอีกกลุ่มที่ต้องการโค่นล้มผู้ครองอำนาจเดิมกันแน่? 

ผู้ชนะตัวจริง? 

‘เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ (วิสา คัญทัพ)

หากอิงจากประโยคนี้ และกระแสสังคม ก็คงต้องบอกว่าประชาชนดูเป็นผู้ชนะ จากพฤติกรรมที่พลังของศูนย์นิสิตนักศึกษากลายเป็นหนึ่งกระบอกเสียงที่รัฐบาลต้องรับฟัง การที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงพลังในแทบทุกเรื่องในสังคม

แต่หากมองลึกลงไป มันมีข้อสงสัยที่ชวนให้วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ 14 ตุลามากกว่านั้น ข้อสงสัยที่ในตอนนั้นความยินดีปรีดาในชัยชนะได้บดบังความจริงเบื้องหลังไว้จนหมดสิ้น ว่าผู้ชนะคือประชาชนจริงหรือ?

ความเป็นไปได้ที่หนึ่ง: การรัฐประหารเงียบของทหารอาวุโสอีกกลุ่ม 

สืบเนื่องมาจากการครองอำนาจอันยาวนาน และไม่มีทีท่าว่าจะยอมปล่อยของทั้งจอมพลถนอม และจอมพลประภาส ไล่ตั้งแต่การต่ออายุราชการให้ตัวเองจนทำให้บรรดานายพลที่รอเป็นใหญ่ไม่มีหวังจะได้เชิดหน้าชูตาด้วยตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพบ้าง แถมยังมีแผนวางตัวผู้สืบทอดอำนาจทางสายเลือดอย่างพันเอกณรงค์ กิตติขจร ที่ข้ามหน้าข้ามตาคนเก่าคนแก่และมีตำแหน่งก้าวกระโดดทั้งที่อายุราชการยังไม่มาก 

ทั้งหมดนี้อาจจะส่งผลให้เกิดคลื่นใต้น้ำในกองทัพอยู่เงียบ ๆ มานานแล้ว ที่บรรดาผู้ใหญ่ในกองทัพรู้สึกว่ายอมรับไม่ได้อย่างยิ่งหากสองจอมพลต้องการครองอำนาจประเทศไว้แต่เพียงผู้เดียวต่อไป และไม่ยอมปล่อยให้เป็นตามระบบเสียที ซึ่งหากไม่ขัดขวางตั้งแต่ตอนนี้ ก็อาจไม่มีโอกาสอีกเลย เหตุการณ์มันจึงประจวบเหมาะพอดีกับกระแสสังคมที่เทไปทางกลุ่มนิสิตนักศึกษา ที่เริ่มยิ่งใหญ่และได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ทางกองทัพจึงใช้วิธีนี้ในการแอบสนับสนุนอยู่ห่าง ๆ และรอคอยสถานการณ์ที่สุกงอม

ซึ่งสถานการณ์ที่ว่าก็คือการเกิดสงครามประชาชนกลางเมือง ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะมีน้ำหนักและเหตุผลมากพอที่สามารถโค่นสามเผด็จการอย่าง ถนอม ประภาส ณรงค์ ที่อยู่ไม่ได้และต้องหนีออกจากประเทศไทยไป โดยมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปะทะที่พระตำหนักจิตรลดาฯ 

ทั้งที่ตอนนั้นเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรแล้ว การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับตัวแทนศูนย์นิสิตนักศึกษาเป็นไปด้วยดีและหาทางตกลงกันได้ ดังนั้นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่เอื้อให้เกิดการปะทะกัน น่าจะเป็นสิ่งที่ทั้งสองจอมพลไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเป็นแน่ เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ กับทั้งสองจอมพลแล้ว มันอาจลามไปถึงสงครามกลางเมืองที่ควบคุมไม่ได้ แต่แล้วก็เกิดขึ้นจนได้ 

บางทฤษฏีก็ว่าด้วยยุคสมัยนั้นการติดต่อสื่อสารกันของตำรวจยังไม่ดีพอ ทำให้เกิดการออกคำสั่งที่ล่าช้าและคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดการปะทะกันอย่างที่ไม่ควรจะเกิด แต่บางทฤษฏีก็เป็นการตั้งคำถามว่า มันเป็นคำสั่งลับจากใครบางคนที่หลบอยู่หลังฉาก ใครที่มีอำนาจสั่งการและต้องการสร้างสถานการณ์ให้การปะทะต้องเกิดขึ้น เพื่อโค่นล้มทั้งสองจอมพล นอกจากนั้นยังมีข้อมูลบางส่วนที่บอกว่า มีการให้ข่าวปลุกปั่นจากบุคคลไม่ทราบชื่อ ในเรื่องตำรวจฆ่าประชาชน โดยการโทรศัพท์ไปบอกตามบ้านประชาชน ซึ่งผลลัพธ์ก็คือประชาชนโกรธแค้นและออกไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมในการต่อสู้บนท้องถนนจำนวนมาก

อีกอย่างที่น่าสนใจ คือหลังจากที่เหตุการณ์นองเลือดยุติลง แม้จะมีนายกรัฐมนตรีพระราชทานอย่างสัญญา ธรรมศักดิ์ แต่ก็เป็นที่รู้กันดีในยุคนั้นว่าผู้มีอำนาจตัวจริงที่ค้ำยันรัฐบาลอยู่คือพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบอีกตำแหน่งหนึ่ง 

มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน มีตำแหน่งผู้อำนวยการรักษาความสงบที่มีอำนาจแบบรวมศูนย์ หากเป็นเรื่องบังเอิญ ก็ดูเป็นความคล้ายกับวิธีที่คณะรัฐประหารมักจะทำกันมากทีเดียว 

ความเป็นไปได้ที่สอง: การแฝงตัวของคอมมิวนิสต์

ในเวลานั้นเป็นยุคที่สงครามเย็นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังระอุ จากทั้งสงครามเวียดนาม สงครามที่ลาว และประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นความหวังของฝ่ายประชาธิปไตยโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการไม่ให้ไทยเป็นอีกประเทศที่ถูกระบอบคอมมิวนิสต์กลืนกินตามหลักทฤษฏีโดมิโน สหรัฐฯ จึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับการบริหารแผ่นดินของรัฐบาลไทยเพื่อชูนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์แบบสุดตัว และต้องแลกมาด้วยการให้เงินสนับสนุนรัฐบาลเป็นจำนวนมากตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร 

มันจึงมีความเป็นไปได้เช่นกันว่าสิ่งที่จอมพลประภาสให้สัมภาษณ์ว่าพบเอกสารเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ในบ้านของผู้ชุมนุม หรือมีกลุ่มคอมมิวนิสต์แฝงตัวอยู่ในกลุ่มนักศึกษาเพื่อหวังโค่นล้มรัฐบาลอาจเป็นความจริง เพราะคอมมิวนิสต์แฝงตัวอยู่ได้ทุกที่ และกลุ่มนักศึกษาก็อาจมีคอมมิวนิสต์แฝงตัวอยู่ก็ได้

แต่ท้ายสุดความเป็นไปได้นี้ก็ถูกปัดตก เนื่องจากหลังจบเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ให้เห็นว่าเป็นการกระทำแบบคอมมิวนิสต์อีกเลย 

หลังสิ้นสงครามประชาชน มันนำมาซึ่งยุคที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ศูนย์นิสิตนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมกับทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย ที่คราวนี้มาในฐานะผู้ชนะที่รัฐบาลจำเป็นต้องรับฟัง 

จนกระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ก็เกิดโศกนาฏกรรมกับเหตุการณ์สังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ กลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการให้คนลืม เพราะเต็มไปด้วยการยุยง ปลุกปั่นความเกลียดชัง จากสื่อและผู้มีอำนาจที่ต้องการกำจัดอำนาจประชาชนให้สิ้นซาก เพื่อรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้ โดยมีข้อหาอย่างคอมมิวนิสต์และล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เป็นเครื่องมือชั้นดีในการสร้างความชอบธรรมและสร้างความเกลียดชังในการล้อมฆ่าอย่างทารุณโดยเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนด้วยกันเอง ปิดท้ายด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ 

จบสิ้นศูนย์นิสิตนักศึกษา พลังประชาชนที่ยิ่งใหญ่แตกสลาย บาดเจ็บล้มตาย ต้องหนีเข้าป่าเพื่อเอาชีวิตรอด 

และนี่คือเหตุการณ์ที่บอกว่า ‘ผู้ชนะตัวจริง’ ได้กลับมาทวงอำนาจคืนแล้ว 


อ้างอิง

  • หนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี โดย ณัฐพล ใจจริง
  • หนังสือ ประวัติศาสตร์ที่เราลืม เล่ม 4 โดย วินทร์ เลียววาริณ
  • คลิปรายการ ส่องการเมืองไทยหลังยุคคณะราษฎร ตอนที่ 6 ‘14 ตุลา 2516 นักศึกษาไม่ได้ชนะ’ โดย ส. ศิวรักษ์ จากช่อง เสมเสวนา SEM Talk –  https://www.youtube.com/watch?v=HnoZPBPEPf4
  • https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/103802
  • https://ilaw.or.th/node/4670
  • https://bsite.in/2018/10/14/oct-14/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า