fbpx

12 ตุลาคม 2546: ช่วงช่วง – หลินฮุ่ย ครบรอบการมาถึงของแพนด้าทูตสันถวไมตรีไทย – จีน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ปี 2546 แพนด้าคู่แรกได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึง จ.เชียงใหม่ ด้วยเที่ยวบินพิเศษ “เรารักแพนด้า” ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ท่ามกลางความชื่นชมยินดีจากชาวเชียงใหม่ ก่อนที่จะนำแพนด้าทั้งคู่ไปที่สวนสัตว์เชียงใหม่ โดยทางไทยได้มีการสร้างสถานที่พัก ส่วนงานวิจัยและสถานที่จัดแสดงขึ้นแบบควบคุมอุณหภูมิ ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2546

แพนด้ายักษ์ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการทูตของเมืองจีน โดยทางจีนได้ส่งแพนด้ายักษ์คู่นี้มาเพื่อให้เป็นทูตสันถวไมตรีไทย-จีน เพื่อสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จีนได้ยกเลิกการใช้หมีแพนด้าในฐานะทูตสันถว ไมตรี โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีการให้ “ยืม”จัดแสดง เป็นเวลา 10 ปี โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีข้อกำหนดว่าลูกของแพนด้ายักษ์ใด ๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของจีน

กระแสแพนด้าฟีเวอร์คู่นี้ได้รับความนิยมจากชาวไทยเป็นอย่างมากถึงขั้นทรูวิชันส์ได้เปิดช่องถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของแพนด้าแบบเรียลลิตี้ 24 ชั่วโมง ให้เห็นความน่ารักของคู่รักแพนด้าในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนอน เดิน กินใบไผ่  ซึ่งเป็นกระแสอย่างมากในช่วงนั้น หลินฮุ่ยเองได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าซึ่งเกิดจากการผสมเทียมสำเร็จ

หลังจากหลินฮุ่ยให้กำเนิดลูกแพนด้าน้อยตัวแรกในเมืองไทยเมื่อ 27 พฤษภาคม 2552 ต่อมาได้มีการประกวดโครงการตั้งชื่อลูกหมีแพนด้า  ซึ่งมีผู้ส่ง sms ผ่านโทรทัศน์ถึง 54,000 ชื่อ จากนั้นคณะกรรมการได้คัดเลือกเหลือเพียง 4 ชื่อ ได้แก่ หญิงหญิง   ไทจีน ขวัญไทย และหลินปิงให้ประชาชนได้ร่วมตั้งชื่อลูกหมีแพนด้าผ่านไปรษณียบัตร ร่วมลุ้นชิงโชคจนท้ายที่สุดได้ชื่อเรียกแพนด้าตัวน้อยนี้ว่า “หลินปิง” ซึ่งมีความหมายว่า ป่าของแม่น้ำปิง

เดิมทีไทยจะต้องส่งคืนช่วงช่วง แพนด้าเพศผู้กลับคืนจีนในปี 2556 ตามสัญญาครบรอบ 10 ปี แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ จีนจึงต่อสัญญาขยายเวลายืมจัดแสดงช่วงช่วง-หลินฮุ่ยอีกครั้งไปจนถึงปี 2566 

แต่เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ช่วงช่วง แพนด้าเพศผู้ได้จากไปอย่างกะทันหันในวันที่ 16 กันยายน ด้วยอายุ 19 ปี ซึ่งสาเหตุการตายมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว ส่งผลให้อวัยวะภายในทั่วร่างกายขาดออกซิเจน  ภายหลังที่ช่วงช่วงตายลง ได้เกิดกระแสทวงคืนหลินฮุ่ยขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ในจีน

อย่างไรก็ดี ตามกฎการให้ยืมแพนด้าของจีนทางไทยจึงได้ส่งหลินปิงกลับคืนสู่เมืองจีนที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า เมืองเฉิงตู เมื่อปลายเดือนก.ย. 2556 และหลินปิงได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าแฝดเพศเมีย  ส่วนหลินฮุ่ยยังคงอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอายุเกือบ 20 ปี มีสุขภาพที่ดี เลี้ยงดูตามมาตรฐานที่ทางจีนกำหนด 

แม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ช่วงช่วง แพนด้าเพศผู้ทูตสันถวไมตรีไทย-จีนได้จากไปแล้ว ตลอดหลายปีมานี้ได้สร้างความสุขให้กับคนไทยมากมาย ทางเราเชื่อว่าเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวนี้จะอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกคนเสมอ 

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า