fbpx

เมื่อรางวัลไม่ได้อยู่กับคนที่คู่ควร ทบทวน 10 หนังออสการ์ ที่ไม่ควรได้ออสการ์

เป็นประจำในช่วงกุมภาพันธ์ – มีนาคม อันเป็นช่วงเวลาแห่งการตามล่าดูหนังรางวัลของเหล่าคอหนังวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อทาง Academy หรือออสการ์ ได้ประกาศรายชื่อหนังที่เข้าชิงในสาขาต่าง ๆ ออกมาให้บรรดาคอหนังได้แอบลุ้น แอบเชียร์หนังที่ตัวเองชอบกัน 

โดยในปีนี้ก็ปรากฏรายชื่อหนังที่น่าสนใจพอสมควร อาทิเช่นหนังดราม่าจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง Drive My Car ที่เดินรอยตามรุ่นพี่รวมทวีปอย่าง Parasite ด้วยการเข้าชิงทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม หนังไซไฟยอดเยี่ยมแห่งปีที่ผ่านมาอย่าง Dune ที่เข้าชิงถึง 11 สาขารวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

รวมถึงหนังอย่าง House of Gucci ของ ริดลีย์ สก็อตต์ ที่ก่อนประกาศรายชื่อ หลายคนคิดว่าจะมีชื่อเข้าชิงในหลายสาขา โดยเฉพาะในสาขาของนักแสดง แต่พอถึงเวลาจริงกลับพลิกโผทั้งในรายของ เลดี้ กาก้า ในสาขานักแสดงนำหญิง และ จาเรด เลโต้ ในสาขานักแสดงสมทบชาย ที่ไม่มีชื่อเข้าชิงเลย หรือแม้แต่การเข้าชิงที่ค้านสายตาจนเกิดเสียงวิจารณ์ในรายของภาพยนตร์อย่าง Don’t Look Up ที่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทั้งที่เสียงตอบรับของหนังในแง่คุณภาพแตกเป็นสองฝั่ง 

โดยงานอย่าง The Power of the Dog ของผู้กำกับหญิงอย่าง เจน แคมเปียน กลายเป็นตัวเต็งแห่งปีจากการเข้าชิงถึง 12 สาขาทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบต) ซึ่งก็คว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำมาก่อนแล้ว ซึ่งหากคว้ารางวัลใหญ่ได้ในออสการ์ครั้งนี้ ก็จะสร้างสถิติใหม่โดยเป็นหนังจากสตรีมมิ่งเรื่องแรกที่คว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ ที่ก่อนหน้านี้ก็เคยเฉียดไปเฉียดมาอยู่หลายครั้งโดยเฉพาะในปี 2018 กับงานอย่าง Roma ของ อัลฟองโซ คัวรอน ที่เคยทำได้ดีที่สุดแค่สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม โดยสาขาใหญ่พ่ายให้กับ Green Book 

จะเห็นว่าออสการ์ในปีนี้ก็ยังมีความน่าสนใจอยู่พอสมควร หลังจากที่เงียบสนิทในปีที่แล้วจากพิษโควิดระบาดทั่วโลก ที่ส่งให้กระแสในปีก่อนนั้นเงียบกริบ และทำให้หนังที่เข้าชิงหรือได้รับรางวัลไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าที่ควร 

แต่ก่อนที่เราจะไปลุ้นว่าเรื่องไหนจะชนะในงานประกาศผลในวันที่ 27 มีนาคม (ตามเวลาของสหรัฐอเมริกา) เราลองย้อนกลับไปดูผลรางวัลของออสการ์ในอดีต ในรางวัลใหญ่อย่างสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่เคยสร้างความเคลือบแคลงใจ และสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ที่ว่า มันคือผลรางวัลออสการ์ที่ไม่ควรได้ออสการ์? 

บทความนี้จะนำเสนอว่างานประกาศรางวัลด้านภาพยนตร์ที่คนทั่วโลกจับตาและโด่งดังที่สุดอย่างออสการ์ ก็ตัดสินรางวัลจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งแง่ของประเภทของภาพยนตร์ สถานการณ์โลก กระแสนิยม สังคม และการเมือง มิใช่ตัดสินจากคุณภาพของภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว

Around the World in 80 Days (1956)

คำครหาที่ดำเนินมากว่า 60 ปี และแทบจะติดอันดับทุกครั้งเมื่อมีการกล่าวถึงหนังออสการ์ที่ไม่ควรได้ออสการ์ ยังไงก็ต้องมีหนังเรื่องนี้เข้ามาติดโผ กับหนังผจญภัยเพื่อความบันเทิงเต็มร้อยอย่างเรื่องนี้ ที่ผงาดคว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปแบบงง ๆ ทั้งที่ในปีนั้นมีคู่แข่งที่น่าจดจำทั้ง Giant (ที่คว้าสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครอง), The Ten Commandments และ The King and I 

จากผู้ท้าชิงทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นงานหนังดราม่าอิงประวัติศาสตร์ ไม่ก็เป็นหนังแนว Western (คาวบอย) ที่ยอดเยี่ยม ซึ่งต่างก็ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ดีกว่า Around the World in 80 Days ไปหลายขุมเลยทีเดียว แต่แต้มต่อสำคัญที่ทำให้เป็นผู้ชนะ คือมันเป็นหนังฮิตที่เป็นขวัญใจมหาชน นำมาซึ่งคำครหาในช่วงยุคแรก ๆ ของออสการ์ว่าเลือกให้รางวัลกับผู้ชนะแค่เพราะกระแสสังคมเท่านั้นหรือ?

เอาแค่ว่าทุกวันนี้ มีคนจดจำ Around the World in 80 Days ในฐานะหนังออสการ์หรือไม่? ไม่หรอก ผู้คนจดจำมันได้แค่หนังผจญภัยในตำนานเรื่องหนึ่งที่เคยโด่งดังเท่านั้นเอง

The Bridge on the River Kwai (1957)

นี่มันหนังสงครามอิงประวัติศาสตร์จากฝีมือของ เดวิด ลีน ผู้กำกับระดับตำนาน มันจะเป็นหนังที่ไม่ควรได้ออสการ์ได้ยังไง! 

โอเค กรณีของปีนี้อาจจะขึ้นอยู่กับวิจารณญาณแต่ละบุคคลที่ไม่มีถูกผิด แต่ขอนำเสนอความเห็นให้อ่านกันสักหน่อย จริงอยู่ ที่หนังสงครามอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในระดับที่ไม่ควรได้แน่นอน มันเต็มไปด้วยงานสร้างที่ใหญ่โต และการถ่ายทอดเรื่องราวของสงครามในบ้านเราอย่างเหตุการณ์สะพานข้ามแม่น้ำแควได้น่าจดจำ และสามารถอยู่ร่วมกับชั้นวางหนังสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นหิ้งได้อย่างสบาย ๆ 

แต่เราลองมาดูคู่แข่งในปีนั้นกันหน่อย เราจะเห็นงานอย่าง 12 Angry Men ของผู้กำกับชั้นครูอย่าง ซิดนีย์ ลูเม็ต งานดราม่าในชั้นศาลที่อุดมไปด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยม ด้วยการที่หนังตลอดทั้งเรื่องวนเวียนอยู่กับเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีในชั้นศาล นั่นหมายถึงตัวบทภาพยนตร์ การกำกับ ต้องเด็ดขาดและเอาคนดูให้อยู่ตลอด 90 นาที ที่เราต้องดูตัวละครเดินไปเดินมาในสถานที่เดียวและพูดกันทั้งเรื่อง ซึ่งไม่ใช่แค่เอาคนดูอยู่ แต่มันยังน่าติดตาม ชวนลุ้นระทึก และส่งสารที่ว่าด้วยเรื่องการตัดสินคนจากภายนอก หรือการไหลไปตามกระแสความเห็นคนหมู่มาก ทั้งที่ไม่รู้ความจริง ไปถึงคนดูได้อย่างร่วมสมัยอีกด้วย ลงท้ายเป็นงานระดับครู ที่กลายเป็นหนังที่ถูกหยิบมาสอนบรรดานักเรียนภาพยนตร์ในปัจจุบันไปโดยปริยาย

The Bridge on the River Kwai สมควรได้รางวัลในปีนั้นหรือไม่? ก็อาจจะ แต่หากเราลองมาวิเคราะห์ดี ๆ ถึงปัจจุบันว่าเมื่อเวลาผ่านพ้นไป ผู้คนจดจำเรื่องไหนได้มากกว่ากัน และโดยส่วนตัวขอสรุปว่าผลรางวัลของ The Bridge on the River Kwai ที่ได้ไป ก็เพราะเรื่องราวของหนังที่ยิ่งใหญ่ระดับสงครามโลกครั้งที่สอง และตัวหนังที่ยิ่งใหญ่ด้วยงานโปรดักชั่นมากกว่าที่จะพิจารณาในแง่ของคุณภาพของศิลปะภาพยนตร์

Driving Miss Daisy (1989)

งานหนังฟีลกู้ดที่ว่าด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์น่าประทับใจของหญิงสูงอายุผิวขาวผู้เคร่งขรึมและถือตัว กับคนขับรถผิวสี ดูผ่าน ๆ นี่ก็คือหนังดราม่าที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ไม่มีสีผิวมาแบ่งแยกได้น่าประทับใจดี 

แต่ด้วยความสัตย์จริง นอกจากเรื่องราวที่แข็งแรงและการเล่าเรื่องอันราบรื่นแล้ว ตัวภาพยนตร์ไม่ได้มีองค์ประกอบของความดีความชอบในแง่ภาพยนตร์ถึงขนาดที่สามารถคว้ารางวัลได้ เอาแค่ว่าสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม หนังเรื่องนี้ยังไม่ได้มีชื่อเข้าชิงเลยด้วยซ้ำ ยิ่งหากลองมองไปที่คู่แข่งแล้ว จะเห็นว่ามีตัวเต็งทั้ง Born on the Fourth of July และ Dead Poets Society 

เรื่องแรกคืองานดราม่าของ โอลิเวอร์ สโตน ที่สานต่อเรื่องราวของสงครามเวียดนาม (หลังจากที่เคยสร้าง Platoon หนังสงครามเวียดนามในตำนานจนได้ออสการ์มาแล้ว) ในการถ่ายทอดบาดแผลและความเจ็บปวดของทหารผ่านศึกจากสมรภูมิรบที่เวียดนาม ซึ่งสโตนในฐานะทหารที่เคยรบในสงคราม ก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีจนคว้าออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมตัวที่สองมาครอง นอกจากนั้น นี่คืองานแสดงภาพยนตร์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของ ทอม ครูช 

เรื่องที่สองคืองานดราม่าที่สร้างแรงบันดาลใจกับมนุษย์ โดยเฉพาะกับเด็กวัยรุ่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อได้อย่างยอดเยี่ยม เรื่องราวของครู จอห์น คีตติ้ง ที่พลิกตำราเรียนทิ้งไปและสอนการใช้ชีวิตให้กับเด็กนักเรียนของเขา จนกลายเป็นงานอันน่าประทับใจ ที่จนถึงตอนนี้ประเด็นของหนังก็ยังแข็งแรงและอยู่คู่ความทรงจำของนักดูหนังไม่เสื่อมคลาย และแน่นอนนี่คือบทบาทที่น่าจดจำที่สุดอีกบทบาทของนักแสดงผู้ล่วงลับอย่าง โรบิน วิลเลียมส์ 

เอาแค่ว่า ณ ตอนนี้ใครจดจำหนังอย่าง Driving Miss Daisy ได้บ้าง? และใครจดจำหนังอย่าง Dead Poets Society ได้บ้าง? คำตอบน่าจะอยู่ในใจของบรรดาคอหนังทุกคนอยู่แล้ว

Dances with Wolves (1990)

งานกำกับหนังเรื่องแรกของนักแสดงขวัญใจมหาชนในเวลานั้นอย่าง เควิน คอสเนอร์ ที่กลายเป็นดาราหนังทำเงินอย่างต่อเนื่อง และทันทีตัดสินใจประเดิมงานกำกับครั้งแรก ก็ได้ออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวมถึงตัวเขาเองก็ได้รางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมอีกด้วย กับงานดราม่าอิงประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องย้อนกลับไปช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา กับเรื่องราวความสัมพันธ์ของทหารอเมริกันกับชนเผ่าอินเดียนแดงที่ถูกกดขี่ 

หากมองที่ตัวหนัง ตัวหนังนั้นนับเป็นหนังดราม่าชั้นดีได้อีกเรื่อง และคอสเนอร์ก็ดูจะสอบผ่านกับบทบาทผู้กำกับได้อย่างสวยหรู เพราะตัวหนังก็ได้รับเสียงตอบรับในแง่บวกทั้งสิ้น และคำครหาอาจไม่เกิดขึ้น หากไม่มีคู่แข่งเป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า Goodfellas 

Goodfellas คืองานหนังแก๊งสเตอร์จากฝีมือของ มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับระดับตำนาน ที่ยอดเยี่ยมแทบจะทุกองค์ประกอบของหนัง โดยเฉพาะฝีมือการกำกับอันแพรวพราวที่ใช้วิธีด้านภาพยนตร์ทั้งการกำกับ งานด้านภาพ จังหวะการตัดต่อ และดนตรีประกอบ ที่ทุกเสียงยกให้เป็นหนึ่งในงานมาสเตอร์พีซของสกอร์เซซี นอกจากนั้นนี่คือหนังแก๊งสเตอร์ในตำนานที่มักจะถูกหยิบมาพูดถึงทุกครั้งที่มีการจัดอันดับ

เรื่องแรกเป็นหนังดราม่าชั้นดีที่มีเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ขณะที่เรื่องหลังเล่าเรื่องของชีวิตชายหนุ่มกับเส้นทางมาเฟียในมุมมืดของสังคมที่ตัวหนังเต็มไปด้วยความแพรวพราวด้านศิลปะภาพยนตร์ แน่นอนว่าออสการ์ก็เลือกแบบแรก ตามสไตล์องค์กรของอเมริกันชนที่ภาพลักษณ์มาเป็นเบอร์หนึ่ง

ผลรางวัลในปีนี้จึงสร้างเสียงวิจารณ์อีกครั้ง เพราะสกอร์เซซีที่สร้างผลงานระดับมาสเตอร์พีซ แต่กลับไม่ได้ออสการ์แม้แต่สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และมาได้ออสการ์ในอีก 16 ปีให้หลังในงานอย่าง The Departed โดยแลกกับคำครหาที่ว่านี่เป็นรางวัลปลอบใจจากออสการ์ให้กับสกอร์เซซี ด้วยการให้รางวัลกับหนังที่ไม่ได้ดีที่สุดของสกอร์เซซีเอง

Shakespeare in Love (1998)

เป็นอีกปีที่ผลรางวัลออกมาช็อคทั้งโลกชนิดที่หักปากกาเซียนกันหมด! 

ในปีนั้น หนังอย่าง Saving Private Ryan ของผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก เดินนำมาเป็นตัวเต็งมาตั้งแต่ออกฉาย นักวิจารณ์หลายคนต่างเอ่ยปากยกย่องหนังเรื่องนี้ในฐานะหนึ่งในหนังสงครามที่ดีที่สุดที่เคยสร้างมา และแน่นอนว่ามันจะกลายเป็นตัวเต็งในเวทีออสการ์อย่างไม่ต้องสงสัย

เสียงยกย่องกับหนังเรื่องนี้ถือเป็นเอกฉันท์ มันไม่ได้อยู่ในเฉพาะหมู่นักวิจารณ์ แต่คนดูทั่วไปต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่านี่คืองานมาสเตอร์พีซอีกชิ้นของพ่อมดฮอลลีวูด เอาแค่ฉากเปิดเรื่องของหนังอย่างฉากยกพลขึ้นบกหาดโอมาฮ่าที่นอร์มังดี ฉากเดียวก็อาจพูดได้ว่าคุ้มกับค่าตั๋วที่จ่ายไปแล้ว เพราะมันคือหนึ่งในฉากสงครามสมจริงและดีที่สุดของโลกภาพยนตร์ฉากหนึ่งอย่างไม่มีใครกล้าปฏิเสธ 

ตัวหนังกวาดรางวัลจากแทบทุกสถาบันจนมาถึงออสการ์ ที่มองยังไงก็ไม่น่าจะพลิกโผ สองรางวัลใหญ่อย่างผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมน่าจะตกเป็นของหนังสงครามเรื่องนี้ได้ไม่ยาก และดูจะยิ่งเป็นไปตามนั้นเมื่อรางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมก็ตกเป็นของสปีลเบิร์กตามคาด แต่ทันทีที่ประกาศสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผลรางวัลกลับตกเป็นของ Shakespeare in Love ไปเสียอย่างนั้น

Shakespeare in Love เป็นงานหนังโรแมนติกคอมเมดี้ ที่หยิบเรื่องราวของกวีเอกชาวอังกฤษในตำนานอย่าง วิลเลียม เชคสเปียร์ มาตีความและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบหนังรัก ซึ่งเอาเข้าจริง มันไม่ใช่หนังที่แย่ ตัวหนังเต็มไปด้วยงานโปรดักชั่นที่สวยงามอลังการ และการเล่าเรื่องในเชิงหนังโรแมนติกก็ทำได้ดี ซึ่งจัดเป็นหนังโรแมนติกชั้นดีอีกเรื่องได้ 

แต่หากถามว่าในเชิงของด้านภาพยนตร์ มันดีพอที่จะได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และดีกว่า Saving Private Ryan หรือไม่? ก็อาจจะต้องบอกตามตรงว่า ไม่เลย ในทุกประการ 

แตกต่างตรงที่ว่า Shakespeare in Love เป็นหนังของสตูดิโอมิราแมกซ์ ซึ่งเป็นของ บ็อบ และ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน สองโปรดิวเซอร์มือเก๋าในฮอลลีวูด โดยเฉพาะรายของฮาร์วีย์ ที่ว่ากันว่าเขาได้ดำเนินการแอบล็อบบี้เหล่าคณะกรรมการให้เลือกหนังของเขาในรางวัลใหญ่ แล้วก็สำเร็จเสียด้วย 

ปีนี้จึงเป็นอีกปีที่ออสการ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์และเกิดคำครหาอย่างหนักถึงความไม่เหมาะสมด้านผลรางวัล และเป็นปีตำนานของออสการ์ในแง่ลบ ที่ได้รับการกล่าวถึงมาจนปัจจุบัน 

Chicago (2002)

ในประวัติศาสตร์ของฮอลลีวูด มักจะมีช่วงที่เป็นยุคทองของแนวหนังแต่ละประเภท ที่ได้รับความนิยมในแต่ละช่วงเวลาที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังแนว Western (คาวบอย), หนังพีเรียด (ย้อนยุค), หนังเอพิกยิ่งใหญ่ หรือแม้แต่หนังแนว Musical (หนังเพลง) ที่ต่างก็เลือนหายไปตามกาลเวลาที่ผ่านเลยยุคสมัยไป 

ในปีนั้นเองมีหนังอยู่สองเรื่องที่ต่างแนวกัน มีความโดดเด่นต่างกัน และขบเขี้ยวกันมา ก็คือหนังอย่าง The Pianist และ Chicago เรื่องแรกเป็นงานหนังดราม่าอิงประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักเปียโนเชื้อสายยิวชาวโปแลนด์ ที่ต้องหนีจากการจับกุมของทหารเยอรมันในการกวาดล้างชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยตัวหนังมีคุณภาพทั้งในแง่ของการเล่าเรื่องและการกำกับ นอกจากนั้นยังเป็นผลงานหนังที่กลับมาคืนฟอร์มของ โรมัน โปลันสกี้ ผู้กำกับที่เคยโด่งดังมากในช่วงยุค 70 

ส่วนเรื่องหลังคือหนังดราม่าแนว Musical ที่ห่างหายไปนาน ซึ่งโดดเด่นทั้งในแง่การฉาก เพลงประกอบและการแสดงจากนักแสดงฝีมือดีทั้ง เรเน่ เซลวีเกอร์, แคธลีน ซีต้า โจนส์ และ ริชาร์ด เกียร์ ความแพรวพราวในรูปแบบการนำเสนอของแนวภาพยนตร์ที่ไม่ได้เห็นมานาน ทำให้ตัวหนังก็ได้เสียงตอบรับจากทั้งนักวิจารณ์และคนดู 

งานปีนั้นจึงก่ำกึ่งและคาดเดาได้ยากพอสมควร แต่หากว่ากันตามเนื้อผ้าของภาพยนตร์ งานอย่าง The Pianist ดูจะเหนือกว่าพอสมควร แต่ผลลัพธ์ของออสการ์ก็ออกมาในแนวรักพี่เสียดายน้อง โดยมอบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้กับ The Pianist เป็นการปลอบใจ และให้รางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้กับ Chicago 

เรื่องไหนดีกว่ากัน เรื่องไหนสมควรได้มากกว่า คงต้องเป็นเรื่องของคนดูที่ต้องพิจารณาตามความชอบของแต่ละคนไป แต่อย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ ออสการ์มักจะให้การต้อนรับอย่างดีเสมอเมื่อมีหนังที่มีคุณภาพถึงและเป็นแนวภาพยนตร์ที่หายไปนาน และ Chicago เป็นหนังแนว Musical ที่หายไปนาน จึงได้รางวัลนี้ไปในที่สุด

Crash (2004)

เป็นอีกปีที่วุ่นวายพอสมควรกับผลรางวัลออสการ์ที่ถูกตั้งคำถาม เพราะในปีนี้มีประเด็นทั้งในแง่ของสถานการณ์สังคม การเมือง ร่วมถึงประเด็นเรื่องการเหยียดความหลากหลายทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ในปีนั้นมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่โดดเด่นมาก ๆ และดูมีทีท่าว่าจะมีบทบาทสำคัญบนเวทีรางวัล ก็คือหนังอย่าง Brokeback Mountain ของผู้กำกับชาวไต้หวันอย่าง อั้งลี่ ที่เล่าเรื่องราวความรักต้องห้ามของชายหนุ่มสองคนที่มีอาชีพดูแลแกะบนภูเขาโบรคแบ็คในช่วงปี 60 ความรักต้องห้ามที่ต้องเก็บซ่อนในสภาพสังคมอเมริกันที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องมีครอบครัว ความรักลับ ๆ ที่กินเวลาถึง 20 ปี

แน่นอนว่าตัวหนังได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ดีมาก ในแง่ของหนังดราม่าโรแมนติกเรื่องเยี่ยมที่ทั้งซาบซึ้งและประทับใจ ผ่านการแสดงของ เจค จิลเลนฮาล และ ฮีธ เลดเจอร์ นักแสดงยอดฝีมือผู้ล่วงลับ 

ในช่วงใกล้งานประกาศรางวัล มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ดูจะเป็นม้านอกสายตาปรากฏให้ผู้ชมได้รับรู้ ก็คืองานหนังดราม่าอย่าง Crash ที่เล่าเรื่องของชีวิตมนุษย์หลายตัวละครที่ต้องพบเจอชะตากรรมที่เกี่ยวข้องกัน โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มจากปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ 

อย่างไรก็ตามกระแสของ Brokeback Mountain ยังมาแรงต่อเนื่อง และเดินหน้าคว้ารางวัลในเวทีต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งถึงงานประกาศออสการ์ ที่มองยังไงก็ไม่น่าพลิกโผ แต่คล้ายกับเหตุการณ์เดจาวู เมื่อรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมตกเป็นของอั้งลี่แบบไม่พลิก แต่รางวัลใหญ่นั้นสร้างความประหลาดใจอีกครั้ง เมื่อผลออกมาเป็นของหนังม้านอกสายตาอย่าง Crash 

แล้วเหตุใด Crash ถึงเป็นฝ่ายที่ได้รางวัลไป? เพราะในช่วงเวลานั้น เกิดปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในสังคมอเมริกันค่อนข้างสูง ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมตึกเวิร์ดเทรด เซ็นเตอร์ ในวันที่ 11 กันยายน 2001 ที่มีกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ที่นำโดย โอซามา บิน ลาเดน เป็นตัวการ ทำให้ชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายตะวันออกกลางต่างก็ถูกคนอเมริกันเหยียดจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และภาพยนตร์เรื่อง Crash นั้นถ่ายทอดสารที่ว่าด้วยผลกระทบจากปัญหาสังคมนี้โดยตรง ซึ่งบอกชัดเจนว่าสถานการณ์การเมืองและสังคมของอเมริกา มีผลอย่างมากต่อผลรางวัลออสการ์ แม้ว่า Crash จะเป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่งก็ตาม แต่มันต้องแลกมากับคำวิจารณ์ที่ตามมา

เพราะทำให้ภาพยนตร์ที่สมควรได้มากกว่าในแง่ของคุณภาพอย่าง Brokeback Mountain ที่เล่าเรื่องราวความรักของชายกับชายได้ถูกมองข้าม และใช้วิธีให้รางวัลปลอบใจเป็นรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมอีกครั้ง 

ออสการ์ในปีนี้จึงได้รับเสียงวิจารณ์อย่างสูง ทั้งแง่ที่ว่าหนังที่ได้รางวัลไม่สมควรได้ แต่ได้เพราะการปัญหาสังคมและการเมือง รวมถึงถูกตั้งคำถามว่าออสการ์นั้นเหยียดคนที่มีรสนิยมรักร่วมเพศหรือไม่? 

The King’s Speech (2010)

ถือเป็นปีที่ลุ้นค่อนข้างสนุก และเป็นการวัดใจออสการ์อยู่เหมือนกัน เมื่อตัวเต็งสองเรื่องต่างก็ดูไม่ได้มีเรื่องใดที่มีกระแสนำโด่งแบบนอนมาขนาดนั้น ซึ่งนับว่าเป็นมวยถูกคู่ เพราะเป็นการแข่งกันของภาพยนตร์อย่าง The King’s Speech และ The Social Network 

เรื่องแรก คือผลงานกำกับของ ทอม ฮูเปอร์ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของพระเจ้าจอร์จที่ 6 กษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร กับเพื่อนนักบำบัดการพูดที่เข้ามาใกล้ชิดกับพระองค์เพื่อแก้ไขอาการพูดติดอ่าง นี่คือหนังดราม่าที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของกษัตริย์กับสามัญชนธรรมดาที่ก่อเกิดจนกลายเป็นมิตรภาพ 

เรื่องที่สองคืองานกำกับของ เดวิด ฟินเชอร์ กับเรื่องราวของ มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Facebook กับการเล่าเรื่องที่มาการกำเนิดของเว็บไซต์เปลี่ยนโลก ว่ากว่าที่เว็บไซต์นี้จะกำเนิด มันมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และซักเกอร์เบิร์กต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง กว่าชื่อของเขาจะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

มันคงพูดไม่ได้ว่า The King’s Speech ไม่เหมาะสมกับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะตัวหนังเองก็มีดีพอทั้งองค์ประกอบเรื่องราวที่แข็งแรง การเล่าเรื่องที่ทรงพลัง การแสดงที่ดี แถมยังมีแต้มต่อในฐานะที่มันเป็นหนังอิงประวัติศาสตร์ แต่ The Social Network มีทุกอย่างเหมือนกัน เรื่องราวที่แข็งแรงกับชีวิตของซักเกอร์เบิร์กที่ตั้งคำถามถึงความยิ่งใหญ่กับความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง ว่ามันคุ้มที่จะแลกหรือไม่? รวมถึงการแสดงที่ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือฝีมือการกำกับที่เปี่ยมด้วยพลังขับเคลื่อนและแพรวพราวของฟินเชอร์ 

และแม้ว่าจะก่อนถึงวันงานประกาศรางวัล คนดูจะเดาได้ยาก แต่ทันทีที่เห็นว่า The King’s Speech ชนะทั้งสาขานักแสดงนำชาย (โคลิน เฟิร์ธ) และรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม คนดูก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่าผลรางวัลใหญ่จะเป็นของใคร และมันบ่งบอกอีกครั้งว่าไม่ว่ายังไงออสการ์ก็ยังมีรสนิยมชอบหนังที่อิงประวัติศาสตร์และเรื่องราวมิตรภาพที่สวยงาม มากกว่าหนังที่พูดกันหูดับตับไหม้ที่ว่าด้วยเรื่องของ Facebook ที่มีตัวละครนำเป็นแค่ไอ้หนุ่มเนิร์ดเห็นแก่ตัวคนหนึ่ง ที่ยอมหักหลังเพื่อนเพื่อความยิ่งใหญ่ของตัวเอง

ทั้งที่หากตัดความอคติออกไปแล้ว The Social Network ถ่ายทอดภาพความเป็นมิติความเป็นมนุษย์ได้ยอดเยี่ยม เต็มไปด้วยองค์ประกอบด้านภาพยนตร์ทั้งบทภาพยนตร์ ดนตรีประกอบ การตัดต่อและการกำกับที่ชัดเจนกว่า 

และต้องขออนุญาตบอกว่าทุกวันนี้เรายังนึกถึงและหยิบ The Social Network มาเปิดดูซ้ำบ่อยครั้ง แต่เราไม่เคยนึกถึงและหยิบ The King’s Speech มาดูซ้ำเลย

Argo (2012)

โดยปกติแล้วเป็นที่รู้กันว่า การเข้าชิงรางวัลใหญ่ของสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เรามักจะเห็นว่ารางวัลใหญ่ มักจะคู่กับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมเสมอ เพราะแน่นอนว่าองค์ประกอบด้านการกำกับ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อตัวภาพยนตร์ แต่ไม่ใช่ว่าในอดีตจะไม่มีผลรางวัลที่ออกมาในรูปแบบว่าชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ไม่ได้รางวัลในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม 

และก็เหมือนฉายหนังซ้ำ เพราะความผิดปกติของออสการ์ในปีนั้นคือภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลใหญ่อย่าง Argo ไม่ใช่แค่ตัวผู้กำกับ เบน แอฟเฟล็ค ไม่ชนะในสาขาผู้กำกับ แต่ไม่มีชื่อเข้าชิงเลยด้วยซ้ำ! 

ในขณะที่ปีนั้น มีภาพยนตร์อีกเรื่องซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญคือ Life of Pi ภาพยนตร์ดราม่า-ผจญภัย ของผู้กำกับอั้งลี่ เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ต้องพบกับเหตุการณ์เรือล่ม และลอยอยู่กลางทะเลบนเรือกับเสือตัวหนึ่ง ที่ทั้งสองเรื่องต่างมีกระแสตีคู่กันมา เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีจุดโดดเด่นทั้งการเล่าเรื่องผ่านงานภาพที่มี Spacial Effects ที่สวยงามดั่งงานศิลปะ ประกอบกับวิธีการเล่าเรื่องที่มีลูกล่อลูกชน มีจุดพลิกผันและชวนตีความ ผสานกับเรื่องราวดราม่าเรื่องความเชื่อได้อย่างลงตัว 

ในขณะที่ Argo คือภาพยนตร์ดราม่า-ระทึกขวัญ ที่เล่าเรื่องจริงของปฏิบัติการของหน่วยซีไอเอ ที่ต้องช่วยเหลือกลุ่มเจ้าหน้าที่สถานฑูตอเมริกันในประเทศอิหร่าน ที่กำลังหลบหนีการจับกุมในขณะที่ประเทศอิหร่านกำลังเกิดการปฏิวัติในปี 1979 

Argo คือหนังที่ไม่ว่าจะใครดูก็ชอบ เพราะนี่คือหนังที่สนุกและดีทั้งแง่ของวิธีการเล่าเรื่อง การกำกับและการตัดต่อ ทำให้ตัวหนังทำหน้าที่ทั้งการเป็นหนังลุ้นรางวัลและหนังที่เอนเตอร์เทนคนดูได้ในเวลาเดียวกัน (โดยเฉพาะฉากไคลแมกซ์ในสนามบินที่ลุ้นระทึกจนลืมหายใจ) 

แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลาประกาศผลรางวัล ผู้กำกับอย่างอั้งลี่ก็ได้ออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมตัวที่สองในชีวิตไปอย่างไม่พลิกโผ แต่พอมาถึงจังหวะประกาศรางวัลสาขาใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก็ปรากฏวีดิโอของ มิเชลล์ โอบาม่า สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น เป็นผู้ประกาศรายชื่อภาพยนตร์ที่ชนะ วินาทีนั้นคนส่วนใหญ่รู้ทันทีว่าภาพยนตร์เรื่องไหนจะเป็นผู้ชนะ วิธีการประกาศผลแบบนี้ ไม่มีทางเลยที่ชื่อที่ประกาศออกมาจะเป็น Life of Pi 

Argo ก็กลายเป็นหนังที่คว้ารางวัลใหญ่ในปีนั้นไป แต่มันนำพามาซึ่งคำครหาที่ไม่ใช่ว่า Argo ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ชนะ แต่วิธีการของออสการ์มันดูบ่งบอกเสียเหลือเกินว่าผลรางวัลในปีนี้ การตัดสินมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบด้านภาพยนตร์อย่างเดียว แต่มันเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์และการเมืองอเมริกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

เพราะเนื้อหาที่เล่าในหนังอย่าง Argo มันก็ช่างเชิดชูอเมริกันชนในคติความเป็นอเมริกันฮีโร่เสียเหลือเกิน

12 Years a Slave (2013)

หนังดราม่าคือหนังที่ถูกจัดอันดับแล้วว่าเป็นประเภทหนังที่ชนะรางวัลออสการ์มากที่สุด เพราะหนังแนวนี้สามารถนำเสนอทั้งเรื่องราวในแง่ของความเป็นมนุษย์ในระดับที่ลงลึกในตัวละคร รวมถึงเลือกวิธีการเล่าเรื่องที่หลากหลายตามสไตล์ของผู้กำกับ เปิดโอกาสให้นักแสดงสามารถโชว์ศักยภาพด้านการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้ชม (และแน่นอนว่าโอกาสในการมีชื่อเข้าชิงก็มากตาม)

12 Years a Slave ของผู้กำกับ สตีฟ แม็คควีน คือหนังดราม่าที่เล่าเรื่องจริงของชายผิวสีในยุคที่อเมริกายังมีการแบ่งชนชั้น มีการค้าทาสที่เป็นชาวผิวสี ที่ถูกกดขี่ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งตัวผู้กำกับนั้นเลือกที่จะเล่าเรื่องออกมาด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม คือเน้นการเล่าเรื่องที่บีบคั้นและสร้างความสะเทือนใจต่อคนดู จากฉากวิบากกรรมที่ตัวละครถูกคนขาวกดขี่และรังแก รวมถึงการทรมานอย่างไร้มนุษย์ธรรม ให้คนดูเห็นฉากแล้วฉากเล่า 

ซึ่งตัวหนังก็ทำหน้าที่นั้นออกมาได้อย่างเถรตรงและสำเร็จในแง่การสร้างอารมณ์สะเทือนใจต่อคนดู มันก็ไม่แปลกที่ในปีนั้น หนังเรื่องนี้จะมีบทบาทสำคัญและอาจถึงคว้ารางวัลใหญ่ได้สำเร็จ เอาเข้าจริง คนที่ติดตามออสการ์มานานน่าจะเดาผลรางวัลใหญ่ในปีนั้นได้อยู่แล้วด้วยซ้ำ 

แต่ลองมองไปที่คู่แข่งในปีนั้น ที่เราเห็นทั้ง Gravity หนังดราม่า-ไซไฟของผู้กำกับอัลฟองโซ คัวรอน (ที่ได้รางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมไปปลอบใจตามเคย) หรือ The Wolf of the Wall Street ของมาร์ติน สกอร์เซซี ที่ทั้งสองเรื่องจัดเป็นแนวดราม่าทั้งคู่ แต่สิ่งที่แตกต่างคือความคิดสร้างสรรค์ในวิธีการเล่าเรื่องของผู้กำกับที่แตกต่าง มีลูกล่อลูกชน ดูสนุกและแพรวพราวกว่าอย่างชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ฉากที่มีความรุนแรงทางอารมณ์ใส่คนดูด้วยซ้ำ 

มันควรจะเป็นอีกปีที่เดาผลรางวัลได้ไม่ยากเลย เพราะรู้รสนิยมของออสการ์อยู่แล้ว และมันแสดงให้เห็นอีกครั้งว่าออสการ์เลือกผู้ชนะเพียงเพราะมันเป็นประเภทหนังที่ตัวเองชอบ และหนังดราม่าเข้มข้นที่มีท่าทีอนุรักษ์นิยมเสียเหลือเกินเรื่องนี้ ก็ได้รางวัลไปแบบคนดูได้แต่กลอกตามองบนด้วยความเบื่อหน่าย  

ภาพยนตร์เป็นเรื่องรสนิยมความชอบของแต่ละคน และบทความนี้ไม่ได้ทำหน้าที่บอกว่าหนังเรื่องไหนแย่ เรื่องไหนดี แต่ทำหน้าที่บอกว่าแม้แต่ออสการ์ รางวัลด้านภาพยนตร์ที่คนติดตามที่สุดในโลก ก็ไม่ได้ตัดสินภาพยนตร์จากตัวภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นมากมายที่มาเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น หนังที่ได้รางวัล ไม่ได้เป็นหนังดีเสมอไป และเช่นเดียวกัน หนังที่ไม่ได้รางวัล ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ดีเสมอไป เพราะท้ายสุดแล้วคุณค่าของหนัง ไม่อาจตัดสินได้ที่รางวัล แต่ตัดสินได้จากการถูกจดจำ หรือการถูกยกย่อง ที่แม้เวลาผ่านไปจนผู้สร้างงานไม่อยู่แล้ว ผลงานของเขาก็ยังดำรงเป็นงานชั้นครู ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป 

คุณค่าของงานศิลปะที่ดี ทำหน้าที่แบบนั้น มิใช่ผลรางวัลจากที่ไหนเป็นตัวกำหนด

อ้างอิง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า